สรุปความสำคัญ

จำเลยเป็นชาวบ้านทั่วไปที่มีพื้นเพที่แตกต่างกันแต่มีความเชื่อมโยงกันคืออยู่ในกลุ่มไลน์สหพันธรัฐไทและมีเสื้อที่มีสัญลักษณ์ขององค์กรที่เรียกว่า สหพันธรัฐไทในครอบครอง โดยจำเลยแต่ละคนถูกจับมาในเวลาใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน และถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 โดยที่มีพฤติการณ์แห่งคดีแตกต่างกันไป

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายกฤษณะ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางประพันธ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายเทอดศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายกฤษณะ
    • นางประพันธ์
    • นายเทอดศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • สุรางคณาง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางสาววรรณภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางสาววรรณภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางสาวจินดา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางสาวจินดา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

30 ส.ค. 2561 เวลาประมาณ 05.30 น. ขณะที่กฤษณะ (สงวนนามสกุล) ขับรถออกจากบ้านไปทำงาน ที่โรงงานเอกชนแห่งหนึ่ง ได้เจอรถฮัมวี่ของทหารพร้อมรถฟอร์จูนเนอร์สีขาวขับมากั้นหน้ารถไว้ ทหารในเครื่องแบบ 4 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 12-15 นาย มีผู้หญิงประมาณ 2 คน กฤษณะเล่าว่า ทหารได้เดินเข้ามาหาเขาและยึดโทรศัพท์มือถือ จากนั้นให้เขาลงจากรถเข้าไปในบ้าน

ทหารบอกว่าเขาโพสต์เฟซบุ๊กต่อต้าน คสช. ทหารให้เขาบอกรหัสผ่านมือถือ แล้วเข้าดูมือถือของตน จากนั้นได้ค้นบ้านและยึดของเกี่ยวกับองค์การสหพันธรัฐไท ได้แก่ ใบปลิวประมาณ 400 แผ่น และสติ๊กเกอร์ประมาณ 40 แผ่น ใบปลิวกับสติ๊กเกอร์มีใจความว่า สหพันธรัฐ คือการกระจายอำนาจ ประชาชนอยู่ดีกินดี, เสื้อยืดสีดำหน้าอกซ้ายมีรูปธงสีขาวแดง ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์องค์การสหพันธรัฐไท ด้านหน้าเขียนตัวหนังสือว่า Federation ด้านหลังเขียนตัวหนังสือว่า Staff จำนวน 9 ตัว, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่อง ยี่ห้อเอเซอร์, มือถือ 2 เครื่อง ยี่ห้อโซนี่และโนเกีย เจ้าหน้าที่ตรวจคอมพิวเตอร์ และมือถือของตน โดยดูดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์และมือถือ ทั้งข้อมูลกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก และรูปภาพต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องทั้งหมด รวมทั้งเบอร์โทรที่อยู่ใน contact ด้วย เจ้าหน้าที่ให้เขาลงชื่อในบันทึกตรวจค้น แต่ไม่ได้ให้สำเนาไว้ให้ เหตุการณ์ดำเนินไปประมาณครึ่งวัน ทหารจึงได้นำตัวตนขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์สีขาว ขับไปจนกระทั่งถึงบริเวณทางด่วนเข้ากรุงเทพฯ ทหารได้ปิดตาตน

กฤษณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารซึ่งเขาทราบภายหลังว่าเป็น มทบ.11 รวม 7 วัน โดยเกือบทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่มาซักถาม เขาจำไม่ได้ว่ากี่รอบโดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร 2-3 นาย ผลัดเปลี่ยนกันยืนเฝ้าที่ประตูด้านในห้องตลอดเวลา

เจ้าหน้าที่นำโพสต์ในเฟซบุ๊กของเขาตั้งแต่ปี 2553 มาถาม ให้เขาเซ็นกำกับยอมรับว่าเขาเป็นผู้โพสต์ภาพ ข้อความนั้นๆ จริง พร้อมกับบันทึกวิดีโอขณะซักถาม มีการนำเบอร์โทรศัพท์ในเครื่องของเขา ปริ้นท์ออกมาให้เขาเขียนว่าแต่ละเบอร์คือเบอร์โทรศัพท์ของใคร ระหว่างการซักถามเขาถูกตบที่ต้นคอ 1 ครั้ง เพื่อเค้นให้เขาตอบว่า คนในกลุ่มไลน์เป็นใครบ้าง ซึ่งเขาไม่รู้จริงๆ รู้จักแต่ชื่อไลน์กันเท่านั้น

3 ก.ย. 2561 ในเวลาช่วงเช้า บริเวณในปั๊มเชลส์ ก่อนถึงลาดพร้าว 106 ทหารในเครื่องแบบ 2 คน และมีเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุสังกัดไม่ต่ำกว่า 7-8 คน เข้าจับกุมเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ที่รถ แจ้งว่า เขาทำผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร และยุยงปลุกปั่น และจะพาตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยให้ขับรถยนต์ส่วนตัวของเขาไปเอง มีเจ้าหน้าที่ 2 คน นั่งคุมตัวไป

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าเคาะประตูห้องพักนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) ประพันธ์เล่าว่า เธอไม่เปิด เนื่องจากยังไม่ได้อาบน้ำแต่งตัว จนกระทั่งตำรวจขึ้นมาเต็มหน้าห้องและบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เธอจึงเปิดประตู จากนั้นเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อคล้ายเสื้อเกราะพกปืนสั้นก็กรูเข้าในห้อง ยึดโทรศัพท์และค้นห้อง เอาของที่เกี่ยวกับคนเสื้อแดงรื้อมาวางบนเตียงแล้วก็ถ่ายภาพ เช่น บัตรและเสื้อ นปช., รูปภาพและหน้ากากทักษิณ ยึดโทรศัพท์ไปประมาณ 5 เครื่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ให้เธออาบน้ำ แต่งตัว โดยมีเจ้าหน้าที่หญิง เฝ้าอยู่ในห้องด้วย 2 คน และให้เตรียมเสื้อผ้า 4-5 ชุด ใส่กระเป๋า ก่อนควบคุมตัวขึ้นรถแท็กซี่ มีการเปลี่ยนรถ 2 ครั้ง ก่อนที่เธอจะถูกปิดตา

ทั้งเทอดศักดิ์และประพันธ์ถูกนำตัวไป มทบ.11 (ทราบภายหลัง) เจ้าหน้าที่แยกควบคุมตัวและซักถาม รวมทั้งตรวจดูข้อมูลในโทรศัพท์ จนกระทั่งวันที่ 5 ก.ย. 2561 ทั้งสองถูกพาตัวไปที่กองปราบ พร้อมนายกฤษณะ โดยมีแพทย์มาตรวจร่างกาย ก่อนที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา ยุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 ซึ่งนายกฤษณะให้การปฏิเสธ ขณะที่ประพันธ์และเทิดศักดิ์ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน
ถูกควบคุมตัวจนถึงวันที่

7 ก.ย. 2561 ทั้งสามถูกควบคุมตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง โดยยังไม่มีญาติมายื่นประกันตัว

6 ก.ย. 2561 ประมาณ 7.00 น. สุรางคณาง (นามสมมติ) ประกอบอาชีพช่างเสริมสวย ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวไปจากบ้านย่านเขตประเวศ กรุงเทพฯ หลังกลับจากจ่ายตลาดพร้อมกับลูกสาว อายุ 11 ปี โดยมีทหารในเครื่องแบบ 4 นาย ชายในชุดสีดำประมาณ 5-6 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหญิงสวมเสื้อสีดำติดตราเครื่องหมาย เดินทางมาด้วยรถตู้สีเทาหนึ่งคัน และรอสุรางคณางอยู่ที่หน้าบ้าน

หลานสาวระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับสุรางคณางว่าขอพูดคุยด้วยเรื่องเสื้อยืดของเธอที่มีโลโก้ลายขาวสลับแดง และขอดูเสื้อดังกล่าว โดยไม่ได้มีหมายค้นใดๆ เธอจึงนำเจ้าหน้าที่หญิงกับทหารชายหนึ่งนายขึ้นไปตรวจดูเสื้อดังกล่าวที่ชั้นสองของบ้าน ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารจะยึดเสื้อที่เธอมีอยู่ 1 ตัวไป ยึดโทรศัพท์ของสุรางคณาง ค้นข้าวของบางส่วนในห้อง และได้มีการยึดโทรศัพท์ในห้องไปด้วย ขณะนั้นลูกสาวของสุรางคณางยังนั่งรับประทานอาหารรอไปโรงเรียนอยู่ ทหารได้รอจนลูกสาวเธอรับประทานอาหารเสร็จ ระหว่างนี้ได้ยึดโทรศัพท์ที่ลูกสาวเล่นอยู่ไปด้วย จากนั้นจึงนำตัวลูกสาวขึ้นรถตู้ไปพร้อมกับสุรางคณาง เพื่อไปส่งลูกสาวที่โรงเรียน ก่อนคุมตัวสุรางคณางไป และแจ้งกับลูกสาวว่าจะนำตัวแม่ไปในเมือง โดยจะนำมาตัวกลับมาส่งที่บ้านตอนบ่าย 3 โมง

ต่อมา เวลาประมาณ 9.00 น. สุรางคณางได้โทรศัพท์ติดต่อมาที่หลานสาว ก่อนแจ้งว่า ไม่รู้ว่าอยู่ไหน เพราะถูกปิดตาขณะมาในรถ แต่ยังปลอดภัยอยู่ หลานสาวของสุรางคณางเล่าว่าประมาณ 2-3 เดือนที่แล้วสุรางคณางได้สั่งซื้อเสื้อยืดสีดำที่มีลายลักษณะดังกล่าวมาทางอินเตอร์เน็ท จากนั้นเมื่อ 1 เดือนก่อน ได้ใส่เสื้อดังกล่าว แล้วมีบุคคลคล้ายทหาร 2 นาย แต่งชุดดำเข้ามาขอคุยด้วยที่ร้านเสริมสวย แต่เธอได้ปฏิเสธการคุยเพราะมีลูกค้าอยู่ ชายทั้งสองคนจึงเดินทางกลับไป

สุรางคณางกลับถึงบ้านในเวลา 20.30 น. เธอเล่าว่าเธอถูกนำตัวไป มทบ.11 และถูกเจ้าหน้าที่ทหารสอบถามเกี่ยวกับเสื้อดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ยังห้ามเธอใส่และห้ามซื้อเสื้อเพิ่มอีก อีกทั้งทหารยังบอกว่าทหารได้คุมตัวคนขายแล้วและได้มีการซัดทอดถึงผู้ผลิตแล้ว สุรางคณางเล่าว่าเครื่องมื่อสื่อสารที่ถูกยึดไปเจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูเนื้อหาการคุยและประวัติการใช้งานโทรศัพท์ แต่ตอนปล่อยตัวเธอได้รับคืนมาหมดแล้ว และเจ้าหน้าที่ได้ให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองและการควบคุมตัวเป็นไปโดยไม่มีการทำร้าย ขู่เข็ญ

วันเดียวกันวรรณภา (สงวนนามสกุล) ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปจากห้องเช่าย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเวลาประมาณ 6.00 น. เศษ ขณะนั้นนางวรรณภาและลูกสองคนยังนอนหลับอยู่ ส่วนแฟนของนางวรรณภาออกไปทำงานแล้ว ได้มีคนมาเคาะประตูห้องเช่าเสียงดัง เมื่อลูกชายคนโตของวรรณภาลุกขึ้นไปเปิดประตู ก็พบว่า มีทหารในเครื่องแบบประมาณ 6 นาย อีก 2 คน แต่งชุดสีเทายืนอยู่หน้าห้อง และสอบถามว่าคนชื่อวรรณภาอยู่หรือไม่ ลูกชายจึงได้เรียกมารดาออกไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่

จากนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้เข้ามาค้นในห้อง โดยไม่ได้ถอดรองเท้า และได้เหยียบไปบนที่นอนที่ปูอยู่บนพื้นด้วย โดยเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อค้นที่ราวตากผ้า กระสอบใส่เสื้อยืดที่วางกองอยู่ และตรวจดูตามซอกมุมของห้องต่างๆ ระหว่างการตรวจค้น ลูกชายระบุว่าทหารได้สอบถามแม่ซ้ำๆ ว่าเอาเสื้อมาจากไหน และเสื้อเป็นของใคร

หลังการตรวจค้น ทหารได้นำกระสอบที่บรรจุเสื้อทั้งหมด ถุงสำหรับแพ็คเสื้อ สมุด 1 เล่ม และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ซึ่งเป็นของลูกชายคนโตไป แม้ลูกชายจะพยายามบอกว่าเป็นของตนก็ตาม พร้อมกับนำตัววรรณภาออกไปด้วย โดยไม่ได้บอกลูกว่าจะพาตัวไปที่ไหน ลูกชายคนโตเองก็ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่นำตัวแม่ไปเพราะเหตุใด

หลังจากออกไปประมาณ 15 นาทีแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารก็ได้นำตัวนางวรรณภากลับมาที่ห้องใหม่ พร้อมกับนำเสื้อที่ยึดไปออกจากกระสอบมาวางกองที่พื้นห้อง และให้วรรณภานั่งถ่ายรูปกับเสื้อ ก่อนนำตัววรรณภาและเสื้อยืดทั้งหมดออกไป

ต่อมา เวลาประมาณ 10.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 4 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เดินทางกลับมาที่ห้องเช่า โดยนำเงิน 500 บาท มาให้กับลูกชายของวรรณภา ซึ่งไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ แฟนของวรรณภาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขาทราบภายหลังจากร้านค้าหน้าปากซอยว่า เจ้าหน้าที่เดินทางมาโดยรถ 2 คัน และจอดเฝ้าอยู่ซักพัก ก่อนที่จะเข้าไปที่อาคารซึ่งเป็นห้องเช่าของครอบครัววรรณภา

หลังจากนั้น วันที่ 7 ก.ย. 61 ลูกชายของวรรณภาระบุว่า เวลาประมาณ 16.00 น. วรรณภาได้ใช้เบอร์โทรศัพท์ที่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ติดต่อมา โดยโทรติดต่อมาสองครั้ง ครั้งละประมาณ 30 วินาที แจ้งให้ลูกชายดูแลน้องให้ดี ๆ และใช้จ่ายอย่างประหยัด

เหตุการณ์ควบคุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหารจากเหตุครอบครองเสื้อดำปรากฏเป็นข่าวหลังสุรางคณางและวรรณภาถูกควบคุมตัว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การจับกุมครั้งนี้เพราะมีการนำเสื้อที่มีสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท ซึ่งสื่อความหมายของการแบ่งแยกการปกครอง

ขณะที่ศูนย์ทนายความฯ ได้ออกแถลงการณ์ ถึงกรณีที่มีการจับกุมตัวบุคคลครั้งนี้ “การควบคุมตัวโดยไม่ชอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เหตุการณ์ไม่ปกติเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติซึ่งไม่อาจยอมรับได้ รัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าการกระทำใดเป็นความผิดก็ควรที่จะดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเราเรียกร้องให้ปล่อยตัว นางวรรณภา และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าวในทันที”

11 ก.ย. 2561 เวลา 17.00 น. ทหารนำตัววรรณภาส่งกองบังคับการปราบปราม หลังถูกคุมตัวอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) 6 วัน โดยมี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. และทนายความจากสภาทนายความเดินทางมาด้วย ทั้งนี้ ตำรวจแสดงหมายจับศาลอาญาข้อหาเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209

ทั้งนี้ ในกระบวนการรับตัววรรณภาและทำบันทึกจับกุมของพนักงานสอบสวน มีอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

12 ก.ย. 2561 พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามแจ้งข้อหาเพิ่มเติม นางวรรณภา ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หลังจากวานนี้แจ้งข้อกล่าวเป็นอั้งยี่ตามหมายจับ ช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนนำตัวนางวรรณภาไปศาลอาญา เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ครั้งที่ 1 ระหว่างที่ยังสอบสวนคดีไม่เสร็จ

(https://tlhr2014.com/?p=8769, https://tlhr2014.com/?p=8784, https://tlhr2014.com/?p=8859 และ https://tlhr2014.com/?p=8873)

12 ก.ย. 2561 จินดา แม่ค้าขายขนมในชลบุรีถูกควบคุมตัวที่บริเวณสวนของน้องสาวของตน ห่างจากบ้านพักประมาณ 20 เมตร จินดาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ที่มาควบคุมตัวมีประมาณ 10 คน มีหนึ่งคนใส่ชุดทหาร ได้ทำการแสดงบัตร และคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่เหลือใส่ชุดนอกเครื่องแบบมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จากนั้นได้ควบคุมตัวตนไปที่บ้านพักให้นำค้นรถยนต์ พบเสื้อยืดและเสื้อโปโลสีดำ มีตราสัญลักษณ์ขาวแดงที่หน้าอก จำนวน 16 ตัว และกล่องพัสดุไปรษณีย์ (ยังไม่ได้ระบุชื่อผู้รับหรือผู้สั่งซื้อ) พร้อมทั้งยึดสมุดจดบันทึกซึ่งมีรายชื่อที่อยู่ของผู้สั่งซื้อเสื้อ สมุดบัญชี และโทรศัพท์มือถืออีก 2 เครื่อง ที่มีข้อความสนทนาทางไลน์เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และรายการสั่งซื้อเสื้อ เจ้าหน้าที่ได้เอาสมุดบัญชีธนาคารไป 6 เล่ม ซึ่งเป็นสมุดบัญชีที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายเสื้อเพียงเล่มเดียว รวมทั้งริบบิ้นสีขาวแดง จำนวน 3 ม้วน

เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวแจ้งว่าจะพาตัวไปที่ มทบ.11 ขณะที่อยู่ มทบ.11 มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง 2 คนสลับกันเฝ้าตลอดการควบคุมตัว สองวันแรกเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อญาติหรือคนอื่นเพื่อแจ้งว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน ระหว่างถูกควบคุมตัวมีเจ้าหน้าที่มาซักถามข้อมูลเกี่ยวกับสหพันธรัฐ การสนทนาในกลุ่มไลน์ และการผลิตเสื้อ

18 ก.ย. 2561 จินดาถูกทหารนำตัวไปส่งที่กองปราบ เพื่อทำบันทึกจับกุมและบันทึกการสอบสวน ก่อนที่วันต่อมาถูกนำตัวไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขังที่ศาลอาญารัชดา

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 21-01-2020
ศาลอ่านคำพิพากษาคดีสหพันธรัฐไท คดีนี้เป็นคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) กับพวกรวม 5 คน ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 พิพากษา ลงโทษจำเลยทั้ง 4 ใน มาตรา 209 วรรค 1 จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 และ 3 รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 จำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญาและยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 จำเลยที่ 1,2 และ 4 ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีในศาลอุทธรณ์ ในเวลา 16.30 น. ส่วนนางประพันธ์จำเลยที่ 3 ยังคงถูกขังเนื่องจากไม่มีญาติมายื่นประกันตัว
 
วันที่ : 07-04-2020
โจทก์ได้ยื่นขอขยายอุทธรณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ศาลอนุญาตให้โจทก์ขยายอุทธรณ์ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2563
 
วันที่ : 20-04-2020
จำเลยยื่นอุทธรณ์

ภูมิหลัง

  • นายเทอดศักดิ์
    พนักงานขับรถของบริษัทเอกชน
  • นางประพันธ์
    เปิดร้านนวดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
  • นางสาวจินดา
    แม่ค้าขายขนมในตลาด
  • นางสาววรรณภา
    พื้นเพเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม เคยมีอาชีพขายขนม ต่อมา ขับวินมอเตอร์ไซค์รับส่งผู้โดยสารบริเวณย่านสำโรง มีบุตรชาย 2 คน อายุ 14 ปี และ 9 ปี กำลังศึกษา วรรณภาไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน และเธอยังมีอาการปวดหัวไมเกรน ต้องมีการไปรับยามารับประทานเป็นประจำด้วย
  • นายกฤษณะ
    พนักงานขับรถของบริษัทเอกชน

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายเทอดศักดิ์
    ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจนต้องเปลี่ยนงานบ่อยๆ
  • นางประพันธ์
    ต้องเลิกกิจการนวดซึ่งตนเองเป็นเจ้าของ, ต้องย้ายที่อยู่อาศัยและเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์