สรุปความสำคัญ

26 ก.ย. 2561 สิชล หรือนที ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพขณะเดินอยู่ริมถนน และนำตัวไปดำเนินคดีที่ ปอท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อปี​ 2559 แสดงความเห็นต่อ​พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 แม้ในภายหลังอัยการทหารจะสั่งไม่ฟ้องในความผิดตาม ม.112 แต่อัยการพลเรือนยังยื่นฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตาม ม.116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงเช่นเดียวกัน และศาลพิพากษาว่า สิชลมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดเหลือจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท

สิชลถูกศาลออกหมายจับในข้อหาตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่เขาถูกจับกุมในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่มีปรากฏการณ์ของการไม่พยายามนำข้อกล่าวหาตาม ม.112 มาใช้ดำเนินคดี ทำให้อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องเขาในข้อหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิชลยังถูกฟ้องในความผิดตาม ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน สะท้อนให้เห็นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ม.116 เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แทน ม.112

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สิชล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

26 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 13.00 น. สิชลถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าจับกุมขณะเดินอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 98/1 ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ จ.23/2559 ลงวันที่ 5 เมษายน 2559 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สิชลถูกคุมตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการอาคาร B

พนักงานสอบสวน ปอท.แจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุเหตุที่เขาถูกดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 สิชลได้โพสต์​​แสดงความคิดเห็นต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว สิชลให้การรับสารภาพ เขาถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง 2 คืน ก่อนถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง และถูกนำตัวไปขังในระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 26 กันยายน 2561 และคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 28 กันยายน 2561)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 13-11-2018
พนักงานสอบสวน ปอท. ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีจึงเหลือเพียงข้อหา​ตาม​ พ.ร.บ.คอม​พิวเตอร์​ฯ​ ทำให้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร และได้คืนสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพขอยุติการฝากขังผู้ต้องหา และนำตัวสิชลไปขออำนาจศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ฝากขัง พร้อมทั้งส่งสำนวน​การสอบสวนคดีดังกล่าว​ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ​​เป็นผู้สั่งคดี​

วันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาสิชลเพิ่มเติมที่ศาลอาญา โดยแจ้งข้อกล่าวหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพิ่มเติม จากการโพสต์แสดงความเห็นต่อพระราชดำรัสของ ร.9 นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อกล่าวหาสิชลตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอม​พิวเตอร์​ฯ​ จากการโพสต์แสดงความเห็นต่อสถานะของพระเจ้าแผ่นดินเพิ่มอีก 1 กรรม สิชลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
วันที่ : 14-11-2018
อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา​​มีความเห็นสั่งฟ้องสิชล และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ถนนรัชดา ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(3),(5) โดยไม่คัดค้านการให้ประกันตัว
 
วันที่ : 16-11-2018
ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางเงินสด 20,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้าติดตามตัวหรือ EM
 
วันที่ : 12-12-2019
ศาลนัดอ่านคำพิพากษา โดยระบุว่า ยกฟ้องความผิดตามมาตรา 116 เนื่องจากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และพนักงานสอบสวนก็เบิกความรับว่าคดีนี้มีการตั้งเรื่องโดยใช้มาตรา 112

ส่วนความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากจำเลยรับว่าจำเลยโพสต์ข้อความทั้งหมด อันเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อจำเลยโพสต์และแชร์ ก็เข้าองค์ประกอบตาม 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (3) พิพากษาจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท อ้างเหตุลดโทษตามมาตรา 65 ลดโทษหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี พิพากษาลงโทษ เนื่องจากถึงแม้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นจิตเภทจริง เพราะมีแพทย์เจ้าของไข้มาเป็นพยาน แต่ขณะที่โพสต์ จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าขณะนั้นไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือไม่

ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิม
 
วันที่ : 07-04-2020
ทนายจำเลยและสิชลเดินทางไปยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาที่ศาลอาญา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษลงเบากว่าเดิม และรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสได้เข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช
 
วันที่ : 22-06-2020
ศาลอาญารัชดา มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หลังทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยเสียชีวิต โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 สิชลหายตัวไปจากบ้าน ก่อนจะพบเป็นศพในวันที่ 12 เมษายน เสียชีวิตเนื่องจากกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย หลังจากพยายามมาแล้วสองครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

ภูมิหลัง

  • สิชล (นามสมมติ)
    สิชล เป็นผู้ป่วยจิตเภท เขาคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ต่างดาวที่มาสวมร่างมนุษย์และเป็นพระพุทธเจ้า ชอบมีความคิดเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว โครงการลับของสหรัฐอเมริกาคิดมากจนปวดหัว จึงไปหาหมอ และได้รู้ว่าตนเองเป็นโรคจิตเภท แต่รักษาขาดๆ หายๆ เพราะ “กลัวหมอมัดมือมัดเท้า” สิชลบอกว่าปกติตัวเองเป็นคนปกติ แต่เมื่อเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต จะมีสัญญาณเน็ตมาต่อเชื่อมกับระบบประสาท ทำให้มีความรู้สึกโกรธมากและควบคุมตัวเองไม่ได้ การโพสต์ข้อความต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นเมื่ออาการโกรธคลายลง เขาก็จะไล่ลบข้อความที่ตัวเองได้โพสต์ไป

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • สิชล (นามสมมติ)
    การถูกจับและดำเนินคดีทำให้เขามีความเครียดเพิ่มมากขึ้น และอาการทางจิตกำเริบ

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์