ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ อ. 3406/2561
แดง อ. 3323/2562

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ. 3406/2561
แดง อ. 3323/2562
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์

ความสำคัญของคดี

สิชล หรือ นที ถูกจับกุมดำเนินคดีในปี 2561 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อปี​ 2559 แสดงความเห็นต่อ​พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 โดยสิชลรับว่าโพสต์​ข้อความ​จริง แต่ทำไปเนื่องจากอาการป่วย​ทางจิต​ จึงไม่สามารถควบคุม​ตนเองได้​ อย่างไรก็ตาม อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องสิชลในข้อหาตาม ม.112 แต่อัยการพลเรือนยังยื่นฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตาม ม.116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงเช่นเดียวกัน และศาลพิพากษาว่า สิชลมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดเหลือจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท

สิชลเป็นผู้ป่วยจิตเภท มีอาการกระวนกระวาย หลงผิด คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า และมีอำนาจบางอย่างบังคับตัวเองอยู่ การที่เขาถูกดำเนินคดีและพิพากษาจำคุกจากการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย แม้เขายืนยันว่า ทำไปเพราะอาการทางจิต สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อผู้ป่วยจิตเภท ความไม่เข้าใจอาการของผู้ป่วย ตลอดจนช่องโหว่ของกฎหมายที่กลายเป็นการทำร้ายและละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ซ้ำเติมการที่ผู้ป่วยต้องต่อสู้กับภาวะจิตเภทของตนในระดับชีวิตประจำวันยิ่งขึ้นไปอีก

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสิชล ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, นำเข้าและเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือการก่อการร้าย โดยบรรยายฟ้องว่า

1. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อเดียวกับชื่อจำเลย (ภาษาอังกฤษ) โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข้อความปรากฏบนพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยว่า "จงเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดชีวิต เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอด พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และตั้งค่าเป็นสาธารณะ แล้วจำเลยได้พิมพ์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชดำรัสนั้น

2. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีดังกล่าวโพสต์ภาพถ่ายรายการจดทะเบียนรถยนต์ ระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ" และตั้งค่าเป็นสาธารณะ แล้วจำเลยได้พิมพ์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์

ซึ่งเมื่อบุคคลทั่วไปได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันอันเป็นที่เคารพบูชาและเป็นศูนย์รวมใจของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ อันเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปั่น่ป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราขอาณาจักร และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรตามประมวลกฏหมายอาญา อีกทั้งการที่จำเลยลงภาพและข้อความดังกล่าวไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ จ.23/2559 ลงวันที่ 5 เมษายน 2559 ขณะเดินอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 98/1 สิชลถูกคุมตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุเหตุที่เขาถูกดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 สิชลได้โพสต์​​แสดงความคิดเห็นต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว สิชลให้การรับสารภาพโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวน จากนั้นเขาถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง
  • หลังถูกขังที่ สน. ทุ่งสองห้อง 2 คืน สิชลถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน - 9 ตุลาคม 2561 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักสอบสวนยื่นคำร้อง จากนั้นสิชลถูกส่งตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยยังไม่มีญาติมายื่นประกันตัว

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ คำร้องที่ ฝพ.1/2561 ลงวันที่ 28 กันยายน 2561)
  • นทีถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 10 - 21 ตุลาคม 2561 เนื่องจากยังต้องสอบพยานอีก 2 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหา ศาลมีคำสั่งอนุญาต

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2561)
  • เนื่องจากกำหนดฝากขังครั้งที่ 2 จะครบกำหนด 12 วัน ในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจากยังต้องสืบพยานอีก 1 ปากและรอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา ศาลมีคำสั่งอนุญาต

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2561)
  • เนื่องจากกำหนดฝากขังครั้งที่ 3 จะครบกำหนด 12 วัน ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 3 - 14 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจากต้องรอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา ศาลมีคำสั่งอนุญาต

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561)
  • พนักงานสอบสวน ปอท. ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีจึงเหลือเพียงข้อหา​ตาม​ พ.ร.บ.คอม​พิวเตอร์​ฯ​ ทำให้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร และได้คืนสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน

    จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพขอยุติการฝากขังผู้ต้องหา และนำตัวสิชลไปขออำนาจศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ฝากขัง พร้อมทั้งส่งสำนวน​การสอบสวนคดีดังกล่าว​ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ​​เป็นผู้สั่งคดี​

    วันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาสิชลเพิ่มเติมที่ศาลอาญา โดยแจ้งข้อกล่าวหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพิ่มเติม จากการโพสต์แสดงความเห็นต่อพระราชดำรัสของ ร.9 นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อกล่าวหาสิชลตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอม​พิวเตอร์​ฯ​ จากการโพสต์แสดงความเห็นต่อสถานะของพระเจ้าแผ่นดินเพิ่มอีก 1 กรรม สิชลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา (เพิ่มเติม) บก.ปอท. ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561)


  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ​​มีความเห็นสั่งฟ้องสิชล และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, นำเข้าและเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือการก่อการร้าย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(3),(5) โดยไม่คัดค้านหากศาลจะพิจารณาการให้ประกันตัว

    ทั้งนี้ คำฟ้องของอัยการ บรรยายถึงการกระทำที่เป็นความผิดของสิชลรวม 2 กรรม คือ โพสต์แสดงความเห็นต่อพระราชดำรัสของ ร.9 และโพสต์แสดงความเห็นต่อสถานะของพระเจ้าแผ่นดิน ตามที่พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561)
  • ศาลอาญาเบิกตัวสิชลจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาอ่านฟ้องให้ฟังและสอบคำให้การเบื้องต้น จำเลยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มกราคม 2562 เวลา 13.00 น.
  • บิดาของนายสิชลยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยให้วางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 20,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้าติดตามตัวหรือ EM

  • ศาลอธิบายฟ้องและถามคำให้การอีกครั้ง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ พร้อมยื่นคำให้การเป็นเอกสาร

    คู่ความยื่นพยานหลักฐาน​ต่อศาล​ โดยอัยการแถลง​ขอ​สืบพยานบุคคลรวม​ 8 ปาก​ ได้แก่​ ผู้กล่าวหา​, ผู้สืบสวนและพิสูจน์​ตัวบุคคล​ที่ใช้เฟซบุ๊ก​โพสต์​ข้อความ​, บิดา​จำเลย, ​คนกลางผู้อ่านข้อความจำน​วน​ 3 คน​, นักวิชาการ​คอมพิวเตอร์​ผู้ตรวจสอบ​ข้อมูล​จราจร​ทางคอมพิวเตอร์ และพนักงานสอบสวน​

    ฝ่ายจำเลย​แถลงแนวทางต่อสู้คดี​ โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์​ข้อความ​จริง แต่เนื่องจากจำเลยมีอาการป่วยเป็นจิตเภท ไม่สามารถควบคุม​ตนเองได้ มีอาการหลงผิด หวาดระแวง​ ฝ่ายจำเลยประสงค์​สืบพยานบุคคล​ 5 ปาก​ ได้แก่ จำเลย ซึ่ง​อ้างตนเองเป็นพยาน, บิดา​จำเลย ซึ่งจะถามค้านในคราวเดียวกัน​กับโจทก์ และแพทย์​ผู้ตรวจรักษา​จำเลยจำน​วน​ 3 คน

    ศาลนัดสืบพยาน​โจทก์​วันที่ 8-9 ต.ค.​ 2562 และนัดสืบพยาน​จำเลยวันที่​ 10 ต.ค.​ 2562 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 ลงวันที่ 21 มกราคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=10555)
  • นัดสืบพยานโจทก์ โจทก์นำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 4 ปาก

    พยานโจทก์ปากที่ 1: ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 และเป็นคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เบิกความว่าเมื่อปี 2561 พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อขอให้พยานให้ความเห็นต่อภาพพร้อมข้อความที่โพสต์อยู่บนเฟซบุ๊กซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ รวม 2 โพสต์ ว่า กระทบต่อการเมืองการปกครองและผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการล่วงละเมิด จาบจ้วงต่อพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสูงสุดของประชาชนจะละเมิดไม่ได้ และภาพดังกล่าวสร้างกระแสความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพระมหากษัตริย์

    ในช่วงทนายจำเลยถามค้าน ได้ขอบันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวนของพยานปากนี้ อัยการแจ้งว่าให้ไม่ได้แต่ยืนยันว่า พยานเบิกความตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวน

    ผศ.ทวี ตอบคำถามของทนายจำเลยว่า โพสต์ของจำเลยไม่ได้มีคนมาแสดงความเห็น แต่ไม่ทราบว่ามีการแชร์ออกไปหรือไม่ เมื่อพยานได้อ่านข้อความแล้วรู้สึกไม่สบายใจ แต่ไม่ทราบว่าจากโพสต์ของจำเลยมีการลุกฮือของประชาชนหรือไม่ พยานไม่ทราบด้วยว่า โดยปกติแล้วคนที่จะโพสต์ถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่เคารพ จะใช้ชื่อ-นามสกุลจริงหรือไม่

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า ในการให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งพยานว่า เป็นเรื่องความมั่นคง

    พยานโจทก์ปากที่ 2: พ่อของสิชล เบิกความต่อศาลว่า สิชลเรียนจบ ปวส.สาขาการบัญชี หลังเรียนจบไปสมัครเป็นพนักงานบัญชีบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ไม่ผ่านทดลองงาน จากนั้นไปสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ทำได้แค่ 3 เดือน โรงแรมก็ให้ออกเพราะสิชลประสาทไม่ดีไปคุยรบกวนลูกค้าไม่หยุด ตั้งแต่นั้นสิชลก็ไม่ได้ทำงานที่ไหนอีก

    พ่อของสิชลเบิกความต่อว่า สิชลมีความคิดเห็นว่าทุกศาสนาบนโลกนี้ไม่ดี และเขาอยู่เหนือทุกศาสนา ซึ่งพยานเห็นว่า ลูกชายมีความคิดผิดปกติ จึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลเดชาเมื่อประมาณธันวาคมปี 2558 แต่ได้พบแค่แพทย์ทั่วไป เนื่องจากไม่มีหมอจิตเวช และได้รับยานอนหลับมาบรรเทาอาการนอนไม่หลับ เกรงว่าจะมีคนมาทำร้าย พยานจึงคิดจะไปหาจิตแพทย์อีก แต่สิชลก็หนีออกจากบ้านไปเมื่อต้นปี 2559

    พยานเบิกความอีกว่า ไม่ได้ใช้ทั้งเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ แต่ที่บ้านติดอินเตอร์เน็ตของ 3BB เอาไว้ให้สิชลใช้ โดยพยานทราบว่า สิชลขายของผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่ทราบชื่อบัญชีและไม่เคยเข้าไปดู พยานทราบเรื่องที่สิชลก่อเหตุหลังจากที่มีตำรวจมาที่บ้านแล้ว ภายหลังพยานได้ไปพบพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. เห็นข้อความที่สิชลโพสต์แล้วก็ตกใจเพราะเคยเตือนสิชลไว้แล้วว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะนามสกุลของครอบครัวเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานมา อีกทั้งครอบครัวก็จงรักภักดีมาโดยตลอด

    พ่อของสิชลเบิกความตอบทนายจำเลยว่า สิชลอยู่ในการดูแลของพยานมาโดยตลอดหลังพยานแยกทางกับแม่ของสิชลเมื่อเขาอายุเพียง 7 ปี เวลาสิชลอยู่ที่บ้านจะเล่นแต่อินเตอร์เนตในห้องคนเดียว เขาจะกลัวคนอื่นมาทำร้าย และมีพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นช่วงๆ คือเดินไปเดินมารอบบ้านครั้งละ 2-3 ชั่วโมง สิชลบอกว่าเขาไม่สามารถหยุดตัวเองได้ บางครั้งสิชลก็ดูเหมือนคนปกติ หลังสิชลถูกให้ออกจากงานกลางปี 2558 เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนา โดยสิชลจะคิดว่าตัวเองพระอรหันต์หรือเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในวันที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านก็ได้ยึดหนังสือเล่มนั้นไปด้วย

    พ่อของสิชลตอบทนายจำเลยต่อว่า อาการของสิชลกำเริบขึ้นตอนเขาอยู่ในเรือนจำจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากที่สิชลได้ประกันตัว พยานได้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แพทย์วินิจฉัยว่า สิชลเป็นจิตเภท มีความคิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้าและมีความหมกมุ่นในเรื่องศาสนา หลังจากนั้นก็เข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจนถึงปัจจุบัน โดยแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นจิตเภทเช่นกัน

    ทนายความถามพ่อของนทีว่า ตอนที่ไปพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้เแจ้งว่า สิชลทำความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ใช่หรือไม่ พ่อของนทีตอบว่าใช่

    พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ กองกำกับการ 3 บก.ปอท. ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Nathee ...” จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 มีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมพระราชดำรัส ซึ่งโพสต์ดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะ และยังมีการโพสต์ข้อความประกอบ ซึ่งพยานอ่านแล้วรู้สึกว่าในหลวงถูกดูหมิ่นจาบจ้วงเหมือนมีสติปัญญาน้อย (ศาลขอให้พยานเปลี่ยนสรรพนามที่พูดถึงในหลวงเป็น “ผู้ถูกโพสต์ถึง”) จากนั้นพยานได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสืบหาตัวคนโพสต์ ทำให้เห็นการโพสต์ภาพสมุดทะเบียนรถที่มีชื่อของผู้ถูกโพสต์ถึงอีกเมื่อ 25 มี.ค. 2559 และโพสต์ข้อความประกอบ ซึ่งเมื่อพยานอ่านแล้วเข้าใจว่าผู้ถูกโพสต์ถึงอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริง

    พ.ต.ท.ไพรัช เบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2559 วันต่อมาพยานได้ไปตรวจค้นบ้านของจำเลย แต่ไม่พบตัวจำเลยนอกจากญาติ พยานไม่ทราบการดำเนินการหลังจากนั้น เนื่องจากไปรับราชการที่อื่น

    พ.ต.ท.ไพรัช เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานเคยเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมแล้วไม่ถึง 5 คดี ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมีทั้งใช้ชื่อจริงและไม่ใช้ชื่อจริงในการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งด้วยวาจาให้พยานสืบสวนคดีนี้ และเมื่อตรวจสอบแล้วพยานมีความเห็นในเบื้องต้นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้เห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 116 โดยเมื่อพยานได้อ่านข้อความแล้วเขารู้สึกไม่ดีกับจำเลย ไม่ใช่รู้สึกไม่ดีกับในหลวง หลังจากจำเลยโพสต์แล้วก็ไม่พบว่ามีใครโพสต์ตาม และก็ไม่มีใครออกมาสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความไม่สงบหรือมีการก่อจลาจล

    พยานตอบทนายจำเลยโดยรับว่า คนทั่วๆ ไปไม่มีใครโพสต์ลักษณะเดียวกับจำเลย รวมทั้งการโพสต์บอกว่าตัวเองเป็นมนุษย์ต่างดาว และโพสต์แบบทดสอบเปรียญธรรม 10 ประโยค ซึ่งคนโพสต์คิดว่าตนเหนือกว่าคนอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้วการสอบเปรียญธรรมมีไม่ถึง 10 ประโยค

    พยานโจทก์ปากที่ 4: พ.ต.ท.สุธีรพงศ์ ชัยสิริ อดีตรองสารวัตร กองกำกับการ 3 บก.ปอท. มีหน้าที่สืบสวนคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี เบิกความว่า เมื่อมีนาคม 2559 เขาได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่อ “Nathee ...” ที่มีการโพสต์ข้อความที่คนทั่วไปเข้าถึงได้เนื่องจากตั้งค่าเป็นสาธารณะ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวเป็นการนำภาพที่มีข้อความพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องน้ำครึ่งแก้วมากล่าวถึง และเขียนข้อความประกอบในลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยเขียนให้เข้าใจว่าคนโพสต์นั้นมีสติปัญญาและความรู้สูงกว่า จากการสืบสวนพบอีกว่าเมื่อ 25 มี.ค. 2559 เฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์ภาพสมุดทะเบียนรถที่มีชื่อของในหลวง และมีข้อความประกอบ พยานยังพบว่า เฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์ขายของและแบบทดสอบในเว็บ dek-d.com เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าผู้โพสต์แบบทดสอบใช้ชื่อว่า Nathee1989 ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกัน จึงได้ประสานขอ IP address จากเว็บ dek-d.com ซึ่งเป็นของ 3BB โดยทางบริษัทได้ให้ข้อมูลว่าเป็น IP ที่ติดตั้งอยู่ที่ในบ้านของสิชล พยานจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

    พ.ต.ท.สุธีรพงศ์ เบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยรับว่า คนปกติทั่วไปไม่น่าจะโพสต์ว่า ตัวเองได้ตายไปแล้วแต่เขาเป็นคนอื่นที่ใช้เทคโนโลยีถ่ายความทรงจำมาอยู่ในร่างนี้ แล้วก็จะนำยานมาลงจอดในไทย พยานยังรับว่า เมื่อได้อ่านข้อความที่ถูกดำเนินคดี พยานรู้สึกไม่ดีกับคนโพสต์ และก็ไม่ได้เชื่อตามโพสต์ดังกล่าว

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15058)

  • จำเลย และพ่อของจำเลยมาศาล คดีมีเจ้าหน้าที่จาก ilaw และศูนย์ทนายฯ สังเกตการณ์คดี อัยการแถลงว่า มีพยานโจทก์มาศาล 1 ปาก อีกปากหนึ่งทราบว่าได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ไม่มาศาล และปากพนักงานสอบสวน ติดเป็นพยานที่ศาลอื่น โจทก์ยังติดใจจะนำพยานทั้งสองปากเข้าสืบ โดยจะขอนำเข้าสืบในวันพรุ่งนี้

    พยานโจทก์ปากที่ 5: นายกำธร ตรีรัตนาพิทักษ์ อาชีพทนายความ เบิกความว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2560 พยานนำลูกความคดีอื่นไปพบพนักงานสอบสวน ปอท. พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าจะขอสอบคำให้การเป็นพยานในอีกคดีหนึ่ง โดยแจ้งว่าเป็นคดีเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีผู้กล่าวถึงในหลวงในทางที่ไม่ดี พยานจึงยินดีเป็นพยาน เพราะมีความรักและเคารพในพระองค์ท่าน

    กำธรเบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้ให้ดูเอกสารที่เป็นภาพแคปจากโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 2 แผ่น ภาพแรกโพสต์เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ไม่ได้ระบุปี แต่ทราบว่าเป็นปี 2559 ภาพที่สองโพสต์เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 59 เมื่ออ่านข้อความในภาพแรกแล้ว ทำให้ตนรู้สึกโกรธ เพราะข้อความเป็นการดูถูก สบประมาทพระอัจฉริยภาพของในหลวง ส่วนภาพที่สองเห็นว่า เป็นการนำพระองค์ท่านมากล่าวเล่น ถ้าเป็นคนที่จงรักภักดีอยู่แล้วได้อ่านข้อความ ก็คงไม่คิดไปในทางที่ไม่ดี แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่ได้ศรัทธาในหลวง ก็จะเอาไปแชร์ต่อ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติ

    กำธรเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยทางเฟซบุ๊ก และไม่ได้เห็นข้อความของจำเลยทางเฟซบุ๊กหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่เห็นจากเอกสารที่ตำรวจนำมาให้ดู โดยพนักงานสอบสอนแจ้งให้พยานมาให้ความเห็นต่อภาพและข้อความ โดยไม่ได้บอกว่าเป็นความผิดตามมาตราใด แต่พยานดูข้อความแล้วเห็นว่าเป็นการโพสต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้เสื่อมเสีย และอาจทำให้คนไม่พอใจ ในภาพจากเอกสารพยานไม่ได้เห็นว่ามีการกดไลท์กดแชร์โพสต์ดังกล่าวหรือไม่ และพยานไม่ได้เชื่อตามข้อความในเอกสาร ส่วนในช่วงปี 2559-60 จะมีการก่อความไม่สงบอะไรหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีกลุ่มที่ไม่จงรักภักดี รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ และแสดงความคิดเห็นอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลเลื่อนให้อัยการนำพยานโจทก์ที่เหลืออีก 2 ปากมาสืบในวันพรุ่งนี้ พร้อมสืบพยานจำเลย

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15058)
  • อัยการนำพยานโจทก์ปากที่ 5 เข้าเบิกความ

    พยานโจทก์ปากที่ 5: พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง บก.ปอท. พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับสิชลในมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในทางสืบสวนพบข้อมูลว่า เหตุเกิดวันที่ 10 มีนาคม 2559 การสอบปากคำเพิ่มเติมพบภาพทะเบียนรถ หลังจากทราบข้อมูลทุกอย่าง พยานได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาเสนอเข้าคณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นสั่งฟ้อง จากนั้นเสนอความเห็นให้ ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง หลังจากทำสำนวนเสร็จส่งให้พนักงานอัยการแล้ว พยานได้ย้ายจาก ปอท. มากองปราบฯ

    พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานเป็นพนักงานสืบสวน ปอท. ช่วงปี 2553-2560 พยานทำคดีหมิ่นฯ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มักใช้ชื่อแฝงหรือชื่อปลอมในการโพสต์ แต่ในคดีนี้ผู้โพสต์ใช้ชื่อจริงเป็นชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก ทำให้ไม่ยุ่งยากในการสืบสวน ผู้กล่าวหาในคดีนี้มาร้องทุกข์กับพยานว่า มีผู้โพสต์ข้อความเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่มีข้อหาตามมาตรา 116 หมายจับที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพก็ออกตามมาตรา 112พยานก็เห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง หลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งสองโพสต์ ไม่มีใครโพสต์แบบจำเลยหรือแชร์ออกไป มีแต่การแสดงความเห็นไม่พอใจต่อผู้โพสต์ แต่ไม่มีการปั่นป่วนหรือก่อความไม่สงบจากการที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งสอง พยานไม่ทราบด้วยว่า อัยการฟ้องจำเลยข้อหาอะไร

    เสร็จการสืบพยานโจทก์ปากนี้ โจทก์แถลงว่า ยังติดใจสืบพยานอีก 1 ปาก เป็นพยานให้ความเห็น แต่พยานไม่มาศาล ไม่สามารถติดต่อได้ หากฝ่ายจำเลยรับว่า พยานปากนี้ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การที่นำส่งต่อศาล โจทก์ก็จะไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ ฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงแถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนไปสืบพยาจำเลย 3 ปากในนัดหน้า ศาลนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 25 ต.ค. 2562

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15058)
  • ทนายจำเลยนำพยานบุคคลเข้าเบิกความรวม 3 ปาก

    พยานจำเลยปากที่ 1: สิชลอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า เป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้อง พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่อายุ 15-16 ปี พยานอยู่กับพ่อ จบการศึกษา ปวส.3 สาขาการตลาด จบแล้วไปทำงานมาหลายที่ ส่วนใหญ่ทำงานไม่ได้ ไม่ผ่านทดลองงาน เพราะชอบไปพูดถึงเรื่องมนุษย์ต่างดาว แล้วเขาไม่ชอบ พยานศึกษาเรื่องนี้จากอินเทอร์เน็ต จากการศึกษาคิดว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว หลังจากจบการศึกษาและระหว่างทำงาน พยานอยู่แต่ในห้องส่วนตัว หมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ต มีความคิดเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว โครงการลับของสหรัฐอเมริกา คิดมาก ปวดหัว เลยไปหาหมอที่โรงพยาบาลเดชา ปัจจุบันโรงพยาบาลปิดตัวไปแล้ว หมอให้ยามากินและพักผ่อน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น แต่ไม่ไป เพราะกลัวว่าจะโดนมัดมือมัดเท้า ก็ไม่ได้ไปพบหมอหลายปี

    พยานรับว่าได้โพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้อง เพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนมีพลังงานบางอย่างมาครอบงำ หลังจากโพสต์ข้อความไปก็กลัวว่าจะมีคนตามจับ เพราะมีคนส่งภาพหมายจับมาทางเฟซบุ๊ก เลยหนีออกจากบ้านไปเรื่อย ไม่มีจุดหมาย จนถูกตำรวจจับ แต่จำไม่ได้ว่าถูกจับในปีไหน ตำรวจแจ้งข้อหาว่า นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อหาอื่นจำไม่ได้ พยานให้การกับตำรวจตามความเป็นจริงว่า พยานมีอาการป่วย จากนั้นพยานถูกขังที่เรือนจำ 48 วัน ภายหลังศาลทหารปล่อยตัว เพราะมีคำสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 112

    สิชลเบิกความต่อว่า ขณะอยู่ในเรือนจำ มีอาการกลัว ก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เขาจับมัดมือมัดเท้าเป็นซอมบี้ แล้วให้กินยา พอได้กลับบ้านก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา มีอาการควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ทรมาน ปัจจุบันไปพบหมอเพื่อรับยาทุก 2 เดือน

    สิชลตอบคำถามอัยการว่า ไม่รู้เรื่องการเมือง ไม่เคยแสดงออกทางการเมืองเลย พยานเริ่มมีอาการป่วยหลังจากเรียน รด.จบแล้ว ในปี 2557 พยานเคยโพสต์คลิปขอโทษที่โพสต์ดูหมิ่น พยานเคยโพสต์ข้อความดูหมิ่นหลายครั้ง พอได้สติขึ้นมาก็พยายามไล่ลบ อาการดังกล่าวเริ่มมีตั้งแต่ปี 2557 หรือก่อนหน้านั้นก็แต่จำไม่ได้ จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้คิดว่าว่าตนเองป่วย เมื่อรู้ตัวแล้วค่อยไปลบโพสต์ ต่อมา พยานรู้ว่าทำผิดจึงได้ปิดเฟซบุ๊กและหนีออกจากบ้าน ไม่ได้กลับไปบ้านอีก ตอนนั้นพยานจำไม่ได้ว่า มีอาการป่วยไหม พยานถูกจับได้ในปี 2561 แถวลาดพร้าว ที่ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในข้อหามาตรา 116 พยานเข้าใจข้อหานี้แล้ว

    พยานจำเลยปากที่ 2: แพทย์หญิงชูนุช เจริญพร นายแพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลจำเลย เบิกความว่า พยานรับราชการอยู่ที่เรือนจำบางขวาง ขณะเกิดเหตุเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนถึงต้นปี 2562 เพิ่งย้ายไปบางขวางได้ 8 เดือน ตอนที่ทำงานที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์พยานรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยจิตเวชด้วย
    แพทย์หญิงชูนุชเบิกความอีกว่า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพเอาตัวจำเลยมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จำเลยมีอาการร้องไห้ตลอดเวลา โวยวายจะทำร้ายตัวเอง ขณะพยานทำการตรวจ จำเลยมีอาการพูดคุยวนๆ ไม่สามารถจับใจความได้ จึงรับตัวไว้สังเกตอาการใกล้ชิด และตรวจหาสาเหตุเบื้องต้น เนื่องจากผู้ต้องขังไม่มีประวัติมาก่อน จึงตรวจเลือดและให้การรักษาด้วยยา แต่หลังจากที่ดูอาการ 1 วัน วันรุ่งขึ้นจำเลยไปศาล ทราบว่าต่อมาภายหลังได้รับการปล่อยตัว จำเลยมีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลเดชา 5 ปีที่แล้ว หมอได้ทำความเห็นแพทย์ไว้ด้วย

    แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตอบคำถามของโจทก์ว่า พยานไม่ทราบว่า ขณะจำเลยทำความผิดในปี 2559 จำเลยมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ โดยความเห็นของพยาน อาการของจำเลยมีอาการป่วยทางจิต หรือจิตเวช แต่เนื่องจากไม่มีประวัติจึงวินิจฉัยไม่ได้ว่าป่วยมานานแล้วเพียงใด

    พยานจำเลยปากที่ 3: นายแพทย์วิญญู ชะนะกุล นายแพทย์ผู้รักษาพยาบาลจำเลย รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เบิกความว่า จำเลยมารักษาที่สถาบันครั้งแรก 19 พฤศจิกายน 2561 โดยญาติพามา มีอาการกระวนกระวาย หลงผิด คิดว่ามีคนปองร้าย คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า มีอำนาจบางอย่างบังคับตัวเอง ในทางการแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต มีอาการจิตเภท ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ญาติบอกว่ามีอาการดังกล่าวก่อนมาพบพยานประมาณ 4 ปีก่อน สาเหตุของอาการจิตเภทยังไม่สามารถหาเหตุผลที่แท้จริงได้ หลังจากนั้นจำเลยก็มาพบแพทย์ตามที่กำหนด ช่วงแรกทุกๆ เดือน ปัจจุบันทุก 2 เดือน จำเลยมาที่โรงพยาบาลครั้งสุดท้าย 19 สิงหาคม 2562 อาการดีขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องกินยาปรับสารเคมีในสมองอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการ มีโอกาสหาย 30%

    นายแพทย์วิญญูตอบคำถามของโจทก์ว่า ในปี 59 ที่เกิดเหตุ พยานยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยมีอาการทางจิตเภทหรือไม่ ความเครียดก็อาจจะทำให้อาการเกิดได้ เป็นๆ หายๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาจจะเป็นอากาศ ความเครียด การใช้สารเสพติด การเจ็บป่วยทางร่างกาย ความรู้สึกตัวรับผิดชอบขึ้นอยู่กับอาการของโรค ว่าเป็นมากหรือเป็นน้อย

    ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 ธันวาคม 2562

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15058)
  • สิชลและพ่อเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยกัน ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 811 ทั้งคู่ต่างมีรอยยิ้มเล็กน้อย หวังว่าศาลจะยกฟ้อง ต่อมา เวลา 09.45 น. มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาในห้องพิจารณาคดี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของศาลว่าในคดีที่มีโทษจำคุกจะต้องมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่ด้วย และต้องใส่กุญแจมือไว้ในขณะที่ฟังคำพิพากษา ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลได้ติดต่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลมานั่งในห้องพิจารณาคดีระหว่างศาลอ่านคำพิพากษาด้วย

    เวลา 09.53 น. ผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี สิชลลุกขึ้นยืน แต่ผู้พิพากษากล่าวว่าให้นั่งได้ โดยไม่มีการใส่กุญแจมือ และอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่ค่อนข้างเบา จับใจความได้ว่า ความผิดมาตรา 116 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 116 และพนักงานสอบสวนก็เบิกความรับว่าคดีนี้มีการตั้งเรื่องโดยใช้มาตรา 112

    เหลือส่วนความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากจำเลยรับว่าจำเลยโพสต์ข้อความทั้งหมด อันเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อจำเลยโพสต์และแชร์ ก็เข้าองค์ประกอบตาม 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (3) พิพากษาจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท อ้างเหตุลดโทษตามมาตรา 65 ลดโทษหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี

    พิพากษาลงโทษ เนื่องจากถึงแม้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นจิตเภทจริง เพราะมีแพทย์เจ้าของไข้มาเป็นพยาน แต่ขณะที่โพสต์ จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าขณะนั้นไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือไม่

    ขณะนั่งฟังการอ่านคำพิพากษา สิชลตัวสั่นเป็นระยะๆ และทวีความสั่นขึ้นเรื่อยๆ จนผู้พิพากษาอ่านจบ

    หลังจากอ่านคำพิพากษาแล้ว ผู้พิพากษาบอกต่อทนายจำเลยเรื่องการไปยื่นประกันตัวชั้นอุทธรณ์ และกล่าวถ้อยคำปลอบสิชลหลายครั้ง

    จากนั้นเมื่อจำเลยและผู้เกี่ยวข้องลงชื่อในเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงพาตัวสิชลลงไปในห้องขังใต้ถุนศาลทันที โดยที่สิชลและพ่อยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันแม้แต่น้อย

    ในขณะที่ทนายจำเลยและพ่อของสิชล เร่งดำเนินเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิม ในเวลา 15.21 น. โดยทนายจำเลยจะดำเนินเรื่องอุทธรณ์คดีต่อไป.

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3363/2562 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15058)
  • ทนายจำเลยและสิชลเดินทางไปยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาที่ศาลอาญา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษลงเบากว่าเดิม และรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสได้เข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ไม่ต้องประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือได้รับโทษจำคุกให้มีมลทินมัวหมองอันจะทำให้จำเลยไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ และเพื่อให้จำเลยมีโอกาสได้สร้างคุณงามความดีตอบแทนสังคมต่อไป

    ประเด็นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์มี 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องข้อกฎหมาย โดยฝ่ายจำเลยยืนยันว่า ในเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย จึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อหานำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จึงไม่เป็นความผิดไปด้วย ศาลจึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาลงโทษจำเลยได้

    ประเด็นที่สอง ในเรื่องข้อเท็จจริง คำอุทธรณ์ยืนยันเรื่องอาการป่วยของจำเลย ว่าขณะเกิดเหตุในคดี จำเลยป่วยเป็นจิตเภท โดยมีหลักฐานทั้งจากใบรับรองแพทย์ คำเบิกความของพยานซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลย และคำเบิกความของตัวจำเลยเอง

    “จำเลยนำสืบว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยไม่สามารถบังคับตนเองได้ จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยโพสต์ขอโทษเรื่องที่จำเลยลงข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์… และเคยโพสต์ข้อความลักษณะดูหมิ่นสถาบันบ่อยครั้งเนื่องจากควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยแพทย์หญิงชูนุช เจริญพร นายแพทย์วิญญู ชะนะกุล แพทย์ด้านจิตเวช เบิกความว่าอาการของจำเลยเป็นอาการของผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นอาการของโรคที่รักษาหายขาดได้ยาก”

    พยานบุคคลทั้งหมด ได้แก่ ตัวจำเลย บิดาของจำเลย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชซึ่งเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียในคดี ได้เบิกความชัดเจนว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิต เป็นจิตเภท ทั้งก่อน ขณะ และหลังกระทำความผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคหนึ่ง

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3406/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3363/2562 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=17414)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดีนี้ เนื่องจากจำเลยเสียชีวิต โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 สิชลหายตัวไปจากบ้าน ก่อนจะพบเป็นศพในวันที่ 12 เมษายน เสียชีวิตเนื่องจากกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย หลังจากพยายามมาแล้วสองครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

    หลังจากทนายยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดี ศาลได้นัดกำหนดวันนัดพร้อมระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อสอบถามการตาย ในวันที่ 22 มิ.ย.63

    ผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะเป็นเช่นไร สิชลไม่มีโอกาสได้รับรู้อีกต่อไป และผลคำวินิจฉัยจากศาลชั้นต้นที่ทำให้เกิดคำถามหลายประการนั้น ก็ไม่ได้ถูกทบทวนโดยศาลชั้นที่สูงขึ้นไป

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=17414)
  • ศาลอาญารัชดา มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=17414)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิชล (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิชล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 12-12-2019

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์