สรุปความสำคัญ

นายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดแว่นในจังหวัดเชียงราย ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จาก ปอท. เข้าตรวจค้นที่บ้านพัก พร้อมกับตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแฟลชไดรฟ์ไป โดยไม่มีหมาย และอาศัยอำนาจตาม ม.44 ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา ในข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกทหารซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของนายสราวุทธิ์มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร เข้าแจ้งความดำเนินคดีกล่าวหาว่า โพสต์ภาพพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) และข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 59

นายสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยยืนยันว่าตนไม่ได้โพสต์ภาพและข้อความตามข้อกล่าวหา เขาไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงแรก แต่ภายหลังศาลให้ประกันตัวหลังญาติยื่นประกันรวม 4 ครั้ง และสราวุทธิ์ถูกคุมขังในเรือนจำรวม 38 วัน โดยมีเงื่อนไขห้ามแสดงความเห็นด้วย

นายสราวุทธิ์ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเป็นระยะหลังการรัฐประหาร ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตลอดมา การดำเนินคดีนายสราวุทธิ์ด้วยมาตรา 112 จึงกล่าวได้ว่า เป็นความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มต่อต้าน คสช.

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายสราวุทธิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายสราวุทธิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

[26 ส.ค. 2559]

เวลาประมาณ 6.30 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เดินทางไปที่บ้านของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) อ้างว่ามีผู้กล่าวหาว่านายสราวุทธิ์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พร้อมกับขอเข้าตรวจค้นบ้าน แต่ไม่ระบุแน่ชัดว่าเป็นการโพสต์ในเรื่องใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแฟลชไดรฟ์ 1 อัน พร้อมพาตัวสราวุทธิ์ไปยัง สภ.เมืองเชียงราย โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นการจับกุมหรือไม่

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสราวุทธิ์ไปตรวจค้นบ้านอีกหลังหนึ่งของเขา ซึ่งเป็นบ้านหลังเก่า และบ้านของมารดาที่ อ.พาน จ.เชียงราย แต่ไม่ได้ตรวจยึดสิ่งใดเพิ่มอีก ในการตรวจค้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้มีการขอหมายค้นจากศาล มทบ.37 ค้นบ้าน 2 หลังใน อ.พาน แต่บ้านหลังแรกที่ถูกค้น ในบันทึกการตรวจค้นระบุว่า ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

เจ้าหน้าที่ ปอท. ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดมาจากบ้านของสราวุทธิ์ที่ สภ.เมืองเชียงราย สราวุทธิ์จึงทราบว่าการถูกนำตัวมายังไม่ได้เป็นการจับกุม และยังไม่มีการแจ้งข้อหา แต่อยู่ในขั้นตอนการตรวจค้นและหาพยานหลักฐานอยู่ เย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่จึงให้สราวุทธิ์เดินทางกลับได้ โดยแจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมของผู้บังคับบัญชาต่อไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่าการแสดงความคิดเห็นใดของเขาที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเข้าข่ายมาตรา 112 กระทั่งหลังการตรวจค้นราวหนึ่งเดือนเศษ จึงมีการติดต่อจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเชียงราย ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา


[11 ต.ค. 2559]

สราวุทธิ์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย หลังได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้คิดจะหลบหนีและให้ความร่วมมือตลอดมา ตั้งแต่ที่ถูกเข้าตรวจค้นบ้านเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559

เมื่อไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จ.เชียงราย แจ้งว่า เฟซบุ๊กชื่อเดียวกับสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร พร้อมข้อความบรรยายภาพ ก่อนถูกลบภายใน 2-3 นาที แต่เจ้าหน้าที่ กกล.รส. บันทึกภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ไว้ จากนั้น เฟซบุ๊กชื่อสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพชลาตัน อิบราฮิโมวิช นักฟุตบอลชาวต่างประเทศ ที่มีรอยสักตามร่างกายสวมเสื้อกล้ามสีดำและสีขาว พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบภาพ

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ กกล.รส. มทบ.37 ผู้กล่าวหาคดีนี้ ได้เฝ้าติดตามสราวุทธิ์ เนื่องจากสราวุทธิ์แสดงความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง เมื่อนำเรื่องราวไปปรึกษากับอัยการศาล มทบ.37 และรายงานผู้บัญชาการ กกล.รส. มทบ.37 แล้ว จึงได้รับมอบหมายให้มากล่าวโทษดำเนินคดีกับสราวุทธิ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) และ (5)

เบื้องต้นสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นการสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวสราวุทธิ์ไปยังศาลทหาร มทบ.37 เพื่อขอฝากขังในระหว่างสอบสวน ซึ่งศาลทหารอนุญาตฝากขังสราวุทธิ์เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ต.ค. 2559 ที่เรือนจำกลางเชียงราย

ต่อมา ทนายความของสราวุทธิ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้โฉนดที่ดิน มีชื่อน้องชายสราวุทธิ์และภรรยาเป็นเจ้าของ มูลค่ากว่า 400,000 บาทเป็นหลักประกัน พร้อมให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งมีบุตรคนเล็กเพิ่งคลอดได้ 3 เดือน แต่ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอย่างอื่น จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2398)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 17-11-2016
ศาลทหารเชียงรายอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1 แสนบาท หลังพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผัดที่ 4 และญาติของนายสราวุทธิ์ได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 4 เช่นกัน โดยศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันว่า ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งห้ามแสดงความคิดเห็น หรือกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบในหมู่ประชาชน หรือก่อให้ผู้อื่นเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในทางที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม จากนั้น นายสราวุทธิ์จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงรายในช่วงค่ำวันเดียวกัน ภายหลังถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 38 วัน
 
วันที่ : 29-12-2016
อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของนายสราวุทธิ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และยื่นฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ภายหลังจากครบฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน จำนวน 7 ผัด และพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการทหารก่อนหน้านี้แล้ว

เบื้องต้น นายสราวุทธิ์ระบุว่าตนไม่ได้โพสต์ในลักษณะเดียวกับที่คำฟ้องคดีระบุ และยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป
 
วันที่ : 12-07-2019
นัดสืบพยานโจทก์ปากคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งนับเป็นพยานโจทก์ปากที่ 8 ในคดี แต่พยานโจทก์ปากนี้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน

ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า หัวหน้า คสช. มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยศาลพิเคราะห์ว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฏาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีชั่วคราวออกไปก่อน แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งอีกครั้ง และให้สัญญาประกันยังคงมีผลต่อไป
 
วันที่ : 21-10-2019
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดพร้อมหลังคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร ศาลได้สอบถามคู่ความว่ายังเหลือพยานจะนำสืบอีกกี่ปาก ฝ่ายอัยการพลเรือน ซึ่งรับสำนวนต่อมาจากอัยการทหาร ระบุว่าฝ่ายโจทก์ยังเหลือพยานที่ต้องการนำสืบอีก 3 ปาก โดยเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดี ขณะที่ฝ่ายจำเลยประสงค์จะนำสืบพยานจำนวน 4 ปาก

ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานให้ฝ่ายละหนึ่งนัด และให้กำหนดวันนัดหมายในห้องพิจารณาเลย โดยไม่ต้องไปที่ศูนย์นัดความ เนื่องจากศาลเห็นว่าเห็นว่าคดีใช้เวลามานานแล้ว จึงอยากให้กำหนดวันนัดให้รวดเร็ว อัยการโจทก์และทนายจำเลยจึงได้ตกลงวันนัดสืบพยานสองนัด ในวันที่ 4 และ 6 ธ.ค. 62 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป และศาลให้ออกหมายเรียกพยานของทั้งสองฝ่ายมาเบิกความในวันดังกล่าว

ภูมิหลัง

  • นายสราวุทธิ์
    สราวุทธิ์เป็นคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย สนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีกลุ่มสังกัดโดยตรง ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค

    หลังรัฐประหาร สราวุทธิ์ถูกควบคุมตัวในค่ายเม็งรายมหาราช 7 วัน ก่อนถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากกรณีที่นายสราวุทธิ์ กับเพื่อนได้ไปชูป้ายในพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ทำกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหารที่ถูกทหารควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค.57 โดยในป้ายมีคำว่า “ชูป้ายไม่ใช่อาชญากร” “ปล่อยลูกพ่อขุน” และป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย

    ศาลทหารเชียงรายได้พิพากษาเมื่อวันที่ 14 ส.ค.57 โดยให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 1 ปี

    หลังจากนั้น สราวุทธิ์ ยังถูกเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านอีกมากกว่า 10 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัว หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่เดินทางมาพบที่บ้าน โดยเป็นการมา “พบปะ” ตามรอบและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าว หรือมีสันติบาลโทรศัพท์มาสอบถามการเคลื่อนไหวบ้าง ส่วนใหญ่เกิดในช่วงปีแรกหลังรัฐประหาร ในช่วงหลังก็ลดความถี่ลงไป โดยก่อนการถูกบุกเข้าตรวจค้นครั้งนี้ ก็ยังไม่มีการเรียกพบใดๆ มาหลายเดือน

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายสราวุทธิ์
    สราวุทธิ์เปิดเผยว่า "คดีนี้ทำให้มีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ต้องคิดถึงการเฝ้ามองจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในคดีที่ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ก็ยังต้องถูกพิจารณามาเป็นเวลานาน ไม่พอยังมีการรบกวนโดยการเรียกไปพบหรือเดินทางมาพบ เรารู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว ต่อให้คดีนี้จบ เราก็คงไม่รู้สึกปลอดภัยอยู่ดี เราถูกเลือกมาเป็นเหยื่อของเขาแล้ว มันกลายเป็นว่ามีคนหมายหัวเราแล้ว คือกลายเป็นอารมณ์ส่วนตัวไปแล้ว ไม่ใช่ว่าทำเพื่อชาติ หรือทำตามหน้าที่ คือส่วนตัวแล้ว แต่ว่าเขาใช้อำนาจที่มีมาเป็นเครื่องมือ”

    อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.tlhr2014.com/?p=16766

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์