ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 21/2559

ผู้กล่าวหา
  • พันโท อิสสระ เมาะราศี นายทหารฝ่ายข่าว มทบ. 37 (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 21/2559
ผู้กล่าวหา
  • พันโท อิสสระ เมาะราศี นายทหารฝ่ายข่าว มทบ. 37

ความสำคัญของคดี

นายสราวุทธิ์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กโดยมีภาพและข้อความเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 59 และถูกดำเนินคดีตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 นายสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงแรก แต่ภายหลังศาลให้ประกันตัวหลังญาติยื่นประกันรวม 4 ครั้ง และสราวุทธิ์ถูกคุมขังในเรือนจำรวม 38 วัน

คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. และถูกโอนย้ายมาอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลพลเรือน ในเดือน ก.ย. 62 ทั้งนี้ รวมเวลา 2 ปี 9 เดือนที่คดีนี้อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร แต่การสืบพยานโจทก์จำนวน 10 ปาก ไม่แล้วเสร็จ เป็นปัญหาความล่าช้าของศาลทหารที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกดำเนินคดี

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 59 เวลากลางวัน จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ราชวงศ์จักรี โดยจำเลยได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการโพสต์พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งมีจำนวน 2 ภาพ เรียงต่อกันซ้ายและขวาในลักษณะเปรียบเทียบให้เห็นว่าภาพด้านซ้ายซึ่งเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์ ลักษณะทรงยืนรับการถวายความเคารพจากเจ้าหน้าที่ คู่กับสุภาพสตรีไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด กับภาพด้านขวาที่ทับซ้อนกับภาพด้านซ้าย บางส่วนเป็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พร้อมกับโพสต์ข้อความว่า “ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ” ในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว

จำเลยได้โพสต์โดยตั้งค่าเป็นการแชร์ต่อสาธารณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเห็นภาพและข้อความดังกล่าวได้ และได้มีเพื่อนสมาชิกเข้ามาแสดงความเห็นถูกใจ (Like) จำนวนมาก เป็นการกระทำที่ไม่บังควรต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท อันเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือการติชมทั้งปวง และจะละเมิดมิได้ เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและโดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติคุณ ทรงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2559)

ความคืบหน้าของคดี

  • สราวุทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย หลังได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้คิดจะหลบหนีและให้ความร่วมมือโดยตลอดมา ตั้งแต่ที่ถูกเข้าตรวจค้นบ้านเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จ.เชียงราย แจ้งว่า เฟซบุ๊กชื่อเดียวกับสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร พร้อมข้อความบรรยายภาพ ก่อนถูกลบภายใน 2-3 นาที แต่เจ้าหน้าที่ กกล.รส. บันทึกภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ไว้ จากนั้น เฟซบุ๊กชื่อสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพชลาตัน อิบราฮิโมวิช นักฟุตบอลชาวต่างประเทศ ที่มีรอยสักตามร่างกายสวมเสื้อกล้ามสีดำและสีขาว พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบภาพ

    ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ กกล.รส. มทบ.37 ผู้กล่าวหาคดีนี้ ได้เฝ้าติดตามสราวุทธิ์ เนื่องจากสราวุทธิ์แสดงความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง เมื่อนำเรื่องราวไปปรึกษากับอัยการศาลทหาร มทบ.37 และรายงานผู้บัญชาการ กกล.รส. มทบ.37 แล้ว จึงได้รับมอบหมายให้มากล่าวโทษดำเนินคดีกับสราวุทธิ์ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.b2550 มาตรา 14 (3) และ (5)

    เบื้องต้นสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นการสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวสราวุทธิ์ไปยังศาลทหาร มทบ.37 เพื่อขอฝากขังในระหว่างสอบสวน ซึ่งศาลทหารอนุญาตฝากขังสราวุทธิ์ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ต.ค. 2559 ที่เรือนจำกลางเชียงราย ตามคำขอของพนักงานสอบสวน

    ต่อมา ทนายความของสราวุทธิ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้โฉนดที่ดิน มีชื่อน้องชายสราวุทธิ์และภรรยาเป็นเจ้าของ มูลค่ากว่า 400,000 บาทเป็นหลักประกัน พร้อมให้เหตุผลว่า สราวุทธิ์ ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งมีบุตรคนเล็กพึ่งคลอดได้ 3 เดือน แต่ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอย่างอื่น จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2398)
  • หลังจากครบกำหนดฝากขังครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2559 และศาล มทบ.37 อนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. - 3
    พ.ย. 2559 ญาติและทนายความได้ยื่นขอประกันตัวนายสราวุทธิ์ เป็นครั้งที่สอง โดยยื่นโฉนดที่ดินเดิม มูลค่าประเมินกว่า 4 แสนบาท พร้อมกับเพิ่มหลักทรัพย์เป็นเงินสดอีก 1 แสนบาท รวมเป็นหลักทรัพย์มูลค่ากว่า 5 แสนบาท พร้อมระบุเหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี โดยมาพบตามที่เจ้าหน้าที่ติดต่อไป และผู้ต้องหายังมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งมีบุตรคนเล็กเพิ่งคลอดได้ 3 เดือน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศาล มทบ. 37 ได้รับเอกสารคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไว้ แต่ระบุว่าตุลาการศาลทหารเดินทางไปพิจารณาคดีอื่นที่ศาลทหารเชียงใหม่ ทำให้ไม่มีตุลาการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวในวันนี้ ต้องรอให้ตุลาการเดินทางกลับมาก่อน

    วันต่อมา ญาติและทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลทหารว่า ตุลาการมีความเห็นให้ยกคำร้องขอประกันตัว เนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม โดยตามคำสั่งเดิมระบุสาเหตุการไม่ให้ประกันตัวว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอย่างอื่น

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2582)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นผัดที่ 3 โดยระบุว่ายังต้องทำการสอบสวนพยานในคดีเพิ่มเติมอีก 3 ปาก และรอผลตรวจสอบลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นเวลาอีก 12 วัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้มีการเบิกตัวผู้ต้องหามาศาลเมื่อครบกำหนดฝากขังสองครั้งที่ผ่านมา

    ในวันนี้ ญาติของนายสราวุทธิ์ได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 3 ด้วยหลักทรัพย์เดียวกับครั้งก่อนหน้านี้ คือโฉนดที่ดินมูลค่ากว่า 4 แสนบาท พร้อมเงินสดจำนวน 1 แสนบาท รวมหลักทรัพย์ขอประกันตัวกว่า 5 แสนบาท โดยในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่าผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานทั้งในการเข้าตรวจค้นบ้านพัก เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559 และในการที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตั้งแต่แรกที่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดี

    นอกจากนั้นผู้ต้องหายังมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 2 คน อายุ 5 ปี และ 4 เดือน ตามลำดับ ซึ่งบุตรสาวคนเล็กปัจจุบันยังมีปัญหาทางร่างกายต้องเข้าตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ทำให้ภาระต่างๆ ในครอบครัวตกอยู่ที่ภรรยา รวมทั้งพนักงานสอบสวนเองก็ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ผ่านมาแต่อย่างใด

    ต่อมา ศาลทหารได้วินิจฉัยให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดี การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2672)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผัดที่ 4 โดยระบุว่ายังต้องสอบสวนพยานในคดีเพิ่มเติมอีก 1 ปาก ก่อนที่ศาลทหารจะอนุญาตให้ฝากขัง ในวันนี้ ญาติของนายสราวุทธิ์ได้เดินทางไปยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลทหารเชียงรายเป็นครั้งที่ 4

    ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยืนยันเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ว่าผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานทั้งในการเข้าตรวจค้นบ้านพัก เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559 และในการที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตั้งแต่แรกที่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดี อีกทั้งผู้ต้องหายังมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 2 คน อายุ 5 ปี และ 4 เดือน ตามลำดับ ซึ่งบุตรสาวคนเล็กปัจจุบันยังมีปัญหาทางร่างกายต้องเข้าตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่กรุงเทพฯ ทำให้ภาระต่างๆ ในครอบครัวตกอยู่ที่ภรรยา รวมทั้งพนักงานสอบสวนเองก็ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว

    เมื่อศาลทหารได้พิจารณาคำร้อง ได้มีการสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และให้ความร่วมมือในการสอบสวนด้วยดี ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2559 ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งห้ามแสดงความคิดเห็น หรือกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบในหมู่ประชาชน หรือก่อให้ผู้อื่นเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในทางที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม จากนั้น นายสราวุทธิ์จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงรายในช่วงค่ำวันเดียวกัน ภายหลังถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 38 วัน

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2800)
  • อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของนายสราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นตาในจังหวัดเชียงราย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และยื่นฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ภายหลังจากครบฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน จำนวน 7 ผัด และพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการทหารก่อนหน้านี้แล้ว โดยคดีนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มณฑลทหารบกที่ 37 เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้

    คำฟ้องของอัยการทหารระบุว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 59 เวลากลางวัน จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ราชวงศ์จักรี โดยจำเลยได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการโพสต์พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งมีจำนวน 2 ภาพ เรียงต่อกันซ้ายและขวาในลักษณะเปรียบเทียบให้เห็นว่าภาพด้านซ้ายซึ่งเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์ ลักษณะทรงยืนรับการถวายความเคารพจากเจ้าหน้าที่ คู่กับสุภาพสตรีไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด กับภาพด้านขวาที่ทับซ้อนกับภาพด้านซ้าย บางส่วนเป็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พร้อมกับโพสต์ข้อความว่า “ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ” ในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว

    คำฟ้องยังระบุว่าจำเลยได้โพสต์โดยตั้งค่าเป็นการแชร์ต่อสาธารณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเห็นภาพและข้อความดังกล่าวได้ และได้มีเพื่อนสมาชิกเข้ามาแสดงความเห็นถูกใจ (Like) จำนวนมาก เป็นการกระทำที่ไม่บังควรต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท อันเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือการติชมทั้งปวง และจะละเมิดมิได้ เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและโดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติคุณ ทรงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์

    เบื้องต้น นายสราวุทธิ์ระบุว่าตนไม่ได้โพสต์ในลักษณะเดียวกับที่คำฟ้องคดีระบุ และยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป โดยศาลทหารได้นัดหมายสอบถามคำให้การในคดี ในวันที่ 7 ก.พ. 2560

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3214)
  • ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย นัดสอบคำให้การ นายสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี ทนายจำเลยแถลงขอให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐาน ก่อนที่จะเริ่มการสืบพยานในคดี ศาลจึงกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 เม.ย. 2560

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3435)
  • โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานขอนำพยานบุคคลเข้าสืบ จำนวน 10 ปาก พร้อมทั้งส่งพยานเอกสารจำนวน 17 รายการ ฝ่ายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบ จำนวน 4 ปาก พร้อมส่งเอกสารที่จะใช้ต่อสู้ในคดีจำนวน 2 รายการ คู่ความทั้งสองฝ่ายใช้เวลาในการตรวจพยานหลักฐานประมาณ 30 นาที ก่อนที่จะได้กำหนดวันนัดหมายสืบพยานโจทก์ปากแรก ในวันที่ 12 มิ.ย. 2560

    จากนั้น ทนายจำเลยแถลงถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ได้ฟ้อง อีกทั้งจากที่ได้ตรวจดูพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3981)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก อัยการทหารได้นำพยานโจทก์ปากแรก พ.ท. อิสสระ เมาะราศี เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 และเป็นผู้กล่าวหาจำเลยในคดี ขึ้นเบิกความ

    พยานเบิกความว่าคดีนี้เริ่มจากการที่พยานได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับปัญชา ว่ามีการตรวจพบการโพสต์ภาพที่นำมากล่าวหาจำเลย และได้ทำการบันทึกภาพหน้าจอไว้ ศาลถามรายละเอียดของภาพที่กล่าวหาจำเลย พยานเบิกความอธิบายว่า เป็นภาพ 2 ภาพนำมาเรียงต่อกัน โดยภาพซ้ายเป็นชายมีรอยสักยืนคู่กับสตรีคนหนึ่ง พร้อมกับมีชายอีกคนทำความเคารพ ประกอบกับรูปขวาที่เป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ในชุดเครื่องแบบปกติขาวของทหารบกเต็มยศ มีข้อความประกอบภาพว่า “ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ”

    พ.ท. อิสสระ ระบุว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นภาพดังกล่าวโพสต์อยู่ในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อของจำเลยเพียง 2-3 นาที ก่อนจะลบภาพนั้นออกไป จากนั้นอีก 2-3 ชั่วโมง ก็มีการตรวจพบว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนี้ ยังโพสต์ภาพของชายชาวต่างชาติ ในชุดรอยสักและใส่เสื้อกล้าม พร้อมกับพิมพ์ข้อความว่า “เทรนด์นี้กำลังมา” โดยมีผู้เข้ากดถูกใจโพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก พยานจึงได้ทำการรวบรวมประวัติย่อและพฤติกรรมก่อนหน้านั้นของจำเลยที่มีการต่อต้านทางการเมือง นำเรียนผู้บังคับบัญชา และได้รับคำสั่งให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย

    พ.ท. อิสสระเบิกความตอบคำถามอัยการจนเสร็จสิ้น แต่ต้องเลื่อนการถามค้านของทนายจำเลยออกไป เนื่องด้วยช่วงบ่ายพยานติดราชการ ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ศาลจึงนัดหมายพยานปากนี้มาให้ทนายจำเลยถามค้านในวันที่ 13 ก.ค. 2560

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2560, https://www.tlhr2014.com/?p=5168 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16719)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พ.ท. อิสสระ เมาะราศี ต่อจากนัดที่แล้ว แต่เนื่องจากพยานติดราชการ ไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 13 ก.ย. 2560

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=5168)
  • อัยการทหารนำพยานโจทก์คือ พ.ท. อิสสระ เมาะราศี เข้าตอบการถามค้านทนายจำเลยจนเสร็จสิ้น โดยพยานได้ตอบการถามค้านของทนายความจำเลย ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

    ประเด็นที่ 1 พยานเป็นผู้ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงเหตุในคดีที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิใช่เจ้าหน้าที่ทหารผู้ที่ทำการบันทึกภาพหน้าจอ หรือจัดทำเอกสารทางคดีเอง แต่ได้รับมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ และยังไม่ได้อ้างตัวเจ้าหน้าที่ผู้ทำการบันทึกภาพหน้าจอและจัดทำเอกสารเข้ามาเป็นพยานในคดีแต่อย่างใด

    ประเด็นที่ 2 หลักฐานภาพถ่ายหน้าจอที่ใช้ในการฟ้องร้องกล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 นั้น ไม่ปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง ๆ ที่หลักฐานชิ้นอื่น ๆ ที่เป็นภาพถ่ายหน้าจอนั้นปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ด้วย อีกทั้งพยานไม่เคยสอบถามหรือตรวจสอบไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กว่าจำเลยได้ทำการโพสต์ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

    ประเด็นที่ 3 นายสราวุทธิ์ จำเลยในคดี เป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามความเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์โดยตลอด ซึ่งก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความทางโลกออนไลน์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารมาโดยตลอด แต่ภายหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยมีการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารลดน้อยลง

    เมื่อเสร็จสิ้นการถามค้าน อัยการทหารแถลงหมดพยานโจทก์ที่จะนำสืบในวันนี้ คู่ความได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 12 ต.ค. 2560 ต่อไป

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=5168)
  • อัยการทหารได้นำนายสว่าง กันศรีเวียง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากที่สอง
    มีเนื้อหาโดยสรุปว่า พยานเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ก่อนหน้านี้พยานเคยให้ความเห็นทางกฎหมาย ในคดีความผิดตามมาตรา 112 มาแล้วประมาณ 5-6 คดี ในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จากนั้นอธิการบดีจึงมีคำสั่งให้พยานรับผิดชอบให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยได้รับอนุญาตจากอธิการบดี

    เมื่อพยานได้ดูภาพและข้อความประกอบที่จำเลยถูกกล่าวหาในคดีแล้ว พยานได้ให้ความเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่ต้องได้รับการเคารพและอยู่เหนือการติชม ประกอบกับตอนนั้นเราใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนและมีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์และรัชทายาท ต้องไม่ถูกดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนสอดคล้องกัน จำเลยได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการติชมในทางที่เป็นปฎิปักษ์กับองค์รัชทายาท และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท โดยช่วงท้ายของการเบิกความ พยานก็ได้เบิกความต่อศาลอีกด้วยว่าพยานไม่ทราบว่าภาพจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ตามภาพพยานได้ให้ความเห็นแบบนี้

    ในระหว่างการถามค้านของทนายจำเลย พยานก็ได้ตอบทนายจำเลยว่า ตนมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และเฟซบุ๊กพอสมควร และในเอกสารที่จำเลยถูกกล่าวหา ก็ไม่ปรากฎที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) แต่ในส่วนที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ต้องเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเบิกความ พยานเพียงแต่ดูเอกสารแล้วให้ความเห็นเท่านั้น

    ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 9 มี.ค. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 12 ต.ค. 2560 และ http://www.tlhr2014.com/th/?p=6508)
  • นายสุชิน กฤตลักษณ์วงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากที่สาม มีเนื้อหาโดยสรุปว่า พยานได้เห็นภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหาแล้ว มีความเห็นว่า เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ซึ่งภาพของบุคคลและข้อความที่ปรากฎเป็นพยานหลักฐานในคดี พยานเห็นว่าเป็นการใส่ความสมเด็จพระบรมฯ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น แม้ภาพข้อความดังกล่าวจะเป็นความจริง ก็ถือเป็นการใส่ความ และถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112

    ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานปากนี้ว่า เอกสารที่นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานอื่น ๆ ทุกภาพนั้น ปรากฎ URL ทั้งหมด แต่ภาพและข้อความที่นำมาดำเนินคดีจำเลยนั้นกลับไม่ปรากฎ URL เลยใช่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้เบิกความตอบว่าไม่ปรากฎ URL แต่อย่างใด

    เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานในวันนี้ คู่ความได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากต่อไป ในวันที่ 5 เม.ย. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 9 มึ.ค. 2561 และ http://www.tlhr2014.com/th/?p=6508)
  • ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 นัดสืบพยานโจทก์ แต่พยานโจทก์ที่อัยการทหารนัดหมายไว้ไม่มาศาล ศาลจึงเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากนี้ออกไป เป็นวันที่ 15 มิ.ย. 2561
  • อัยการทหารฝ่ายโจทก์นำ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงราย เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากที่ 4 โดย พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความว่าในคดีนี้ ตนรับผิดชอบเป็นพนักงานสอบสวน โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 ได้มี พ.ท.อิสสระ เมาะราศี นายทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 เข้าแจ้งความกล่าวหานายสราวุทธิ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีการนำภาพบันทึกหน้าจอคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2559 ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อสกุลเดียวกันกับนายสราวุทธิ์มามอบเป็นหลักฐาน โดยเป็นภาพถ่ายของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) พร้อมมีข้อความว่า “ทรงเท่มากพะยะค่ะ” พ.ท.อิสสระ ระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางเฟซบุ๊กของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว จึงตรวจพบโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว หลังจากมีการโพสต์ได้ประมาณ 2-3 นาที และมีผู้มากดถูกใจภาพดังกล่าวแล้ว เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวก็มีการลบภาพนั้นออกไป

    จากนั้นอีก 2-3 ชั่วโมง พ.ท.อิสสระ ตรวจพบว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนี้ ยังโพสต์ภาพของชายชาวต่างชาติ ในชุดรอยสักและใส่เสื้อกล้าม พร้อมกับพิมพ์ข้อความว่า “เทรนด์นี้กำลังมา” โดยมีผู้เข้ากดถูกใจโพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก พ.ท.อิสสระยังนำประวัติส่วนตัวของจำเลยมามอบให้กับพนักงานสอบสวนด้วย พยานจึงได้สอบปากคำเอาไว้

    พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความต่ออีกว่า หลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และได้มีการตรวจสอบไปยังกระทรวงไอซีทีในขณะนั้น ได้รับคำยืนยันว่าเฟซบุ๊กชื่อดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ใช้ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังได้ตรวจสอบไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดใช้มาเป็นเวลานานแล้ว มีการโพสต์ภาพของตัวนายสราวุทธิ์และครอบครัวอยู่ตลอด จึงเชื่อได้ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของนายสราวุทธิ์จริง และยังมีการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้จากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ไปยังผู้ให้บริการบริษัทดีแทค และพบว่านายสราวุทธิ์ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้เบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวจริง

    พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความว่า จากนั้น พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นขอศาลทหารออกหมายค้นบ้านของนายสราวุทธิ์ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด และได้ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารสนธิกำลังกับตำรวจ เข้าตรวจค้นที่บ้านอีกหลังหนึ่งของนายสราวุทธิ์ ก่อนมีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, โทรศัพท์มือถือ และ External Hard Disk จากบ้านของจำเลย เมื่อมีการส่งอุปกรณ์ทั้งหมดไปตรวจยัง ปอท. พบว่าอุปกรณ์มีการเข้าใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อนายสราวุทธิ์จริง แต่ไม่พบว่ามีภาพตามที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความอยู่ในอุปกรณ์ทั้งสามรายการแต่อย่างใด

    พ.ต.ท.ภาสกร ระบุว่า ตนยังได้สอบพยานความเห็นเพิ่มเติมอีกสองปาก เป็นอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งหลังจากรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดียังเป็นความผิดในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) พยานจึงได้เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษในข้อหานี้เพิ่มเติมในคดีนี้ด้วย

    จากนั้นวันที่ 11 ต.ค. 2559 จึงได้มีการติดต่อเรียกตัวจำเลยให้มาพบ และมีการแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลย โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้มีการพาตัวจำเลยไปขออำนาจศาลทหารในการฝากขังผัดแรกในวันดังกล่าว

    ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และทางคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้

    หลังอัยการทหารถามพยานปากนี้แล้วเสร็จ ทนายจำเลยได้แถลงขอเลื่อนการถามค้านพยานออกไปในนัดหน้า เนื่องจากมีเอกสารจำนวนมากที่ยื่นส่งเข้ามาเป็นหลักฐานในพยานปากนี้ และยังเป็นช่วงบ่ายแล้ว ศาลทหารและคู่ความจึงตกลงเลื่อนการถามค้านพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 10 ส.ค. 2561 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=7800)
  • นัดนี้เป็นการถามค้านพยานโจทก์ที่ได้เลื่อนมาจากนัดที่แล้ว คือ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงราย ทนายจำเลยได้ถามค้านใน 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นที่ว่า ผู้บันทึกภาพหน้าจอ ที่นำมากล่าวหาจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่ถูกเรียกเข้ามาสอบสวนและไม่เคยเปิดเผยตัวตนใด ๆ และอีกประเด็นคือภาพบันทึกหน้าจอที่จำเลยถูกกล่าวหานั้น ไม่ปรากฎ URL ในภาพดังกล่าว และจากการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ได้จากการตรวจค้น ก็ไม่พบภาพตามข้อกล่าวหา

    พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความยืนยันว่า พยานหลักฐานภาพถ่ายในคดีนี้นั้น พ.ท.อิสสระ เมาะราศี นายทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 ผู้แจ้งความในคดี นำมามอบให้กับพยานในวันที่แจ้งความร้องทุกข์ด้วย โดยในคำให้การส่วนหนึ่งของ พ.ท.อิสสระ ที่พยานได้สอบคำให้การระบุว่า พยานหลักฐานภาพถ่ายที่ได้นำมามอบไว้นั้น พ.ท.อิสสระ ไม่ได้จัดทำขึ้นเอง แต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำ และนำมามอบให้ พ.ท.อิสสระ ซึ่งพยานในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีและคณะพนักงานสอบสวนที่ถูกตั้งขึ้น ไม่ได้มีการเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสสระ เข้ามาสอบสวนแต่อย่างใด เนื่องจากสอบถามพูดคุยกับ พ.ท.อิสสระ แล้วได้รับคำตอบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องปกปิดตัวตน

    ต่อมา พยานได้ตอบการถามค้านของทนายจำเลย โดยยืนยันว่าภาพถ่ายที่จำเลยถูกกล่าวหานั้น ส่วนด้านบนที่มี URL นั้นได้ถูกตัดออกไป จึงไม่ทราบ URL ของภาพและข้อความประกอบภาพ ต่อมา มีการตรวจค้นบ้านพักของจำเลย และมีการยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปตรวจสอบ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ผลการตรวจสอบก็ไม่พบภาพที่จำเลยถูกกล่าวหาในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ถูกตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบ IP Address ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจการตรวจสอบ

    สุดท้ายอัยการทหารได้ถามติงว่า สาเหตุที่ภาพถ่ายที่จำเลยถูกกล่าวหาไม่ปรากฏ URL นั้นเกิดจากเหตุใด พยานตอบว่า จากการพูดคุยกับ พ.ท.อิสสระ ได้รับคำตอบว่า เหตุที่ตัดภาพด้านบนที่มี URL ออกไป เนื่องจากจะปรากฏข้อมูลส่วนหนึ่งของผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสสระ ที่เป็นผู้บันทึกภาพหน้าจอดังกล่าวไว้ ซึ่งต้องปกปิดตัวตน จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ในส่วนนี้พยานไม่ได้ทำการบันทึกไว้ในคำให้การในชั้นสอบสวน

    เมื่อเสร็จสิ้นถามค้านและถามติงพยานโจทก์ปากที่ 4 อัยการโจทก์ได้แถลงหมดพยานในวันนี้ และขอนำพยานโจทก์ปากที่ 5 เข้าเบิกความในนัดหน้า ในวันที่ 4 ต.ค. 61

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=8416)
  • ก่อนเริ่มการสืบพยาน ตุลาการศาลทหารได้กำชับคู่ความ ไม่ให้เผยแพร่คำเบิกความของพยานในคดีนี้อีก เนื่องจากจะกระทบต่อการพิจารณาคดี แต่ศาลทหารไม่ได้บันทึกประเด็นนี้ลงในรายงานพิจารณาแต่อย่างใด

    นัดนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 คือ พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์ ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย โดยพยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ พยานเบิกความทำนองเดียวกับ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ โดยระบุว่าคดีนี้มี พ.ท.อิสสระ เมาะราศี เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี จากการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้เป็นผู้พบโพสต์ดังกล่าว และคณะพนักงานสอบสวนได้มีการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว สอบพยานความเห็นเพิ่มเติม รวมทั้งเข้าตรวจค้นบ้านพักของจำเลย ก่อนมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย

    หลังจากพยานได้ทำการตอบคำถามของอัยการทหารแล้วเสร็จ เป็นเวลา 11.45 น. ซึ่งใกล้จะหมดเวลาทำการของศาลในช่วงเช้า ทนายจำเลยแถลงว่ามีคำถามที่ต้องถามค้านพยานอีกจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการถามค้านออกไปในนัดหน้า อัยการทหารและพยานไม่คัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 8.30 น.

    ภายหลังจากการสืบพยานแล้วเสร็จ นายสราวุทธิ์ จำเลย ได้แถลงต่อศาลเพื่อสอบถามว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แต่สำหรับจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยยังมีเงื่อนไขที่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จำเลยอยากทราบว่าหากจำเลยจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง จำเลยจะสามารถกระทำได้หรือไม่ จะเป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ ศาลทหารระบุว่า ศาลต้องทำการตรวจดูสำนวนและเงื่อนไขการประกันตัวของจำเลย อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน หากไม่ติดขัดใดๆ ก็น่าจะสามารถทำได้ เพราะถือว่าจำเลยยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดี

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 4 ต.ค. 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=9201)
  • ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์ พนักงานสอบสวน ต่อจากนัดที่แล้ว โดยเป็นการถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.อ.พรเทพ ตอบทนายจำเลยระบุว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ และได้เข้าร่วมการสอบสวนภายหลังมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว โดย พ.ท.อิสสระ เมาะราศี เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นผู้นำเอกสารที่ใช้กล่าวหาจำเลยมามอบให้กับพนักงานสอบสวนก่อน และพยานได้ดูในภายหลัง

    พ.ต.อ.พรเทพ ระบุอีกว่า พ.ท.อิสสระ ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้เป็นผู้พบโพสต์ดังกล่าว แต่ทหารคนดังกล่าวไม่เคยมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด

    ส่วนการตรวจสอบของกลาง 3 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดจากบ้านของจำเลย พ.ต.ท.พรเทพเบิกความว่า ได้มีการส่งไปตรวจสอบที่ ปอท. แต่ผลการตรวจสอบ ไม่พบภาพและข้อความตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีการทำหนังสือขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กผู้ใช้ที่มีการโพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหา ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ามีการลงทะเบียนใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ เพราะบริษัทที่ดูแลเฟซบุ๊กนั้นตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

    ต่อมา พ.ต.อ.พรเทพ ตอบคำถามติงของอัยการทหาร ระบุว่า ของกลางที่มีการส่งไปตรวจสอบกับ ปอท. เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบหาพยานหลักฐานจากเครื่องมือสื่อสารต่างๆ แต่จะเป็นเครื่องเดียวกันกับที่ใช้กระทำความผิดหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ อาจจะใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้

    ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสสระ เมาะราษี มาสอบปากคำ พ.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า เนื่องจาก พ.ท.อิสสระได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหาร ซึ่งต้องปกปิดตัวตน จึงไม่สามารถมาให้ปากคำได้

    หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เวลา 8.30 น. โดยยังเหลือพยานฝ่ายโจทก์อีกจำนวน 5 ปาก

    ทั้งนี้ ก่อนขึ้นห้องพิจารณา สารวัตรทหารสองนายที่ประจำอยู่ที่โต๊ะก่อนขึ้นห้องพิจารณา ได้ขอบัตรประชาชนของผู้สังเกตการณ์ เพื่อนำไปกรอกลงในสมุดบันทึกของสารวัตรทหาร และคืนให้เมื่อลงมาจากห้องพิจารณาแล้ว

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=9641)
  • นัดนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่ 6 คือ พ.ต.ท. สมชาย เด่นดี ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ทำหน้าที่หัวหน้างานสอบสวน และได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ด้วย โดยนับเป็นพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนรายที่ 3 แล้วที่อัยการทหารนำขึ้นเบิกความในคดีนี้

    อัยการทหารฝ่ายโจทก์ได้ให้พยานยืนยันเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหา เอกสารการสอบปากคำ เอกสารการส่งตรวจสอบของกลางจำนวน 3 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ที่ทำการยึดจากบ้านของจำเลย ให้กับ ปอท. และเอกสารหนังสือที่ขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กผู้ใช้ที่มีการโพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหา

    ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.ท.สมชายได้เบิกความว่า ผลการตรวจสอบของกลาง 3 รายการ จาก ปอท. ไม่ได้พบภาพและข้อความตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด รวมทั้งหนังสือตอบกลับจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผลการตรวจสอบพบเพียงบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังเปิดใช้งานอยู่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ เพราะบริษัทที่ดูแลเฟซบุ๊กนั้นตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา สุดท้าย พ.ต.ท. สมชาย ได้ตอบทนายจำเลยว่า คณะพนักงานสอบสวนไม่เคยเรียก ผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสสระ เมาะราศี ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าว ผู้อ้างว่าพบโพสต์ที่นำมากล่าวหาจำเลย มาให้การจนถึงปัจจุบัน

    ในส่วนที่อัยการทหารถามติง พ.ต.ท.สมชาย ได้เบิกความว่า เหตุผลที่ไม่ได้มีการเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสสระ มาสอบปากคำนั้น เพราะ พ.ท.อิสสระให้ข้อมูลว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหาร ซึ่งต้องปกปิดตัวตน จึงไม่สามารถนำมาให้ปากคำได้

    หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=10109)
  • สืบพยานโจทก์ในนัดนี้ พยานที่อัยการทหารนัดไว้ไม่มาศาล เลื่อนสืบพยานโจทก์ไปในวันที่ 10 พ.ค. 2562
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 7 พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา นวตระกูลพิสุทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีด้วย โดยนับเป็นพนักงานสอบสวนคนที่ 4 ที่อัยการศาลทหารนำเข้ามาเบิกความในประเด็นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนทุกคนก่อนหน้านี้

    เนื้อหาคำเบิกความโดยสรุปของ พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา เป็นการเบิกความยืนยันการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน และขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ได้มีการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น ส่วนการตรวจสอบโพสต์เฟซบุ๊กและบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกนำมากล่าวหาจำเลย ที่คณะพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผลการตรวจสอบ พยานเบิกความยืนยันตามที่ปรากฏเป็นเอกสารในคดี จนคณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยในคดีนี้ เช่นเดียวกับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานได้ระบุว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยสอบสวนทหารหน่วยข่าวที่เป็นผู้พบเห็นการกระทำและทำการบันทึกภาพหน้าจอเอาไว้ อันเป็นเอกสารสำคัญในการกล่าวหาจำเลย เนื่องจาก พ.ท.อิสสระ เมาะราศี ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้แจ้งว่า เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเป็นสายข่าวต้องปกปิดชื่อ และในผลการตรวจสอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็ระบุว่าไม่สามารถตรวจสอบที่อยู่ทางอินเตอร์เน็ต (IP Address) ของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกนำมากล่าวหาได้ เนื่องจากบริษัทเฟซบุ๊กอยู่ในประเทศอเมริกา สุดท้ายคือ ของกลางที่คณะพนักงานสอบสวนได้ส่งตรวจสอบ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ก็ไม่พบภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหา

    ทั้งนี้ พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา นับเป็นคณะพนักงานสอบสวนคนที่ 4 ซึ่งได้เข้ามาเบิกความในเนื้อหาเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนคนอื่นๆ ที่ได้เบิกความไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งหากนับตั้งแต่การสืบพยานโจทก์ที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้คนแรกได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 1 ปี แล้วที่ได้ทำการสืบพยานที่เป็นคณะพนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยไม่มีการตัดพยานที่ประเด็นซ้ำซ้อนกันออก และหากนับตั้งแต่อัยการทหารสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 59 นับเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือนแล้ว ที่การสืบพยานในคดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้น โดยยังเหลือพยานโจทก์อีก 3 ปาก ที่ทางฝ่ายโจทก์ประสงค์จะนำมาเบิกความ

    หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 เวลา 8.30 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=12281)
  • เดิมนัดหมายสืบพยานโจทก์ปากคณะพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นพยานโจทก์ปากที่ 8 ในคดี ได้แก่ พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย แต่พยานโจทก์ปากนี้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน

    ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า หัวหน้า คสช. มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยศาลพิเคราะห์ว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฏาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีชั่วคราวออกไปก่อน แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งอีกครั้ง และให้สัญญาประกันยังคงมีผลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 คดีหมายเลขดำที่ 21/2559 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=12999)
  • ที่ศาลจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 37 ได้นัดหมายให้นายสราวุทธิ์ พร้อมด้วยทนายความ เข้ารายงานตัว เพื่อทำการโอนย้ายสำนวนคดี พร้อมหลักทรัพย์ประกันตัวต่อศาลจังหวัดเชียงราย โดยก่อนหน้านี้จากการติดต่อสอบถามของทนายความ เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้ระบุว่าต้องมีการเตรียมเงินประกันตัวหรือหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากที่ใช้เงินประกันตัวจำนวน 100,000 บาท ในศาลทหาร สำหรับศาลยุติธรรมนั้น จะต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท หรือหลักทรัพย์ที่มีราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 280,000 บาท ทำให้นายสราวุทธิ์ต้องมีการติดต่อขอยืมเงินและโฉนดที่ดินเอาไว้เพื่อเตรียมประกันตัวในศาลจังหวัดเชียงราย

    จากนั้นเวลา 10.15 น. เจ้าหน้าที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จำนวน 3 นาย พร้อมด้วยตุลาการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้เดินทางเข้ามายังศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อดำเนินการขั้นตอนในการโอนย้ายคดี โดยนายสราวุทธิ์ต้องทำการยื่นขอประกันต่อศาลจังหวัดเชียงรายใหม่อีกครั้ง ทำให้ระหว่างกระบวนการติดต่อประสานงานเพื่อโอนย้ายคดี นายสราวุทธิ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของศาลจังหวัดเชียงรายควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล โดยระบุว่าเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย หากได้ทำสัญญาประกันตัวเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะได้รับการปล่อยตัว

    เวลา 11.00 น. ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้เข้าพบกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงรายแล้ว ได้แจ้งกับทนายความว่าขณะนี้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงรายติดพิจารณาคดีอีกคดีหนึ่งอยู่ จึงนัดหมายเพื่อพิจารณาคดีของนายสราวุทธิ์ในช่วงบ่าย ทำให้ระหว่างนี้นายสราวุทธิ์จะต้องถูกควบคุมตัวในห้องขังใต้ถุนศาลก่อน

    ต่อมาเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้เชิญทนายความของนายสราวุทธิ์ไปยังห้องพิจารณาคดีที่ 3 ของศาลจังหวัดเชียงราย และมีการนำตัวนายสราวุทธิ์จากห้องขังศาลเข้ามาในห้องพิจารณา โดยมีตุลาการและเจ้าหน้าที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 นั่งเป็นฝ่ายโจทก์ เมื่อผู้พิพากษาได้ขึ้นนั่งพิจารณาคดี ได้สอบถามว่าเงินประกันตัวของนายสราวุทธิ์อยู่ที่เจ้าหน้าที่ศาลทหารใช่หรือไม่ ให้ทำการส่งมอบให้ทนายความของนายสราวุทธิ์ต่อหน้าศาลได้เลย เมื่อส่งมอบเงินประกันตัวให้ทนายความแล้ว ศาลระบุว่าขั้นตอนการโอนย้ายคดีจากศาลมณฑลทหารบกที่ 37 มายังศาลจังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นอันเรียบร้อย ศาลจะทำการตั้งสำนวนการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมต่อไป

    จากนั้นศาลได้สอบถามนายสราวุทธิ์ว่าประกอบอาชีพอะไร นายสราวุทธิ์ระบุว่าเป็นช่างตัดแว่น และเปิดร้านแว่นในจังหวัดเชียงราย ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้นายสราวุทธิ์ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท

    จากนั้นศาลจังหวัดเชียงรายได้สอบถามว่าทางฝ่ายโจทก์และจำเลยมีพยานที่ต้องทำการสืบพยานอีกจำนวนเท่าไร เจ้าหน้าที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ระบุว่าพยานฝ่ายโจทก์ยังเหลืออีก 3 ปาก ด้านทนายของนายสราวุทธิ์ระบุว่าพยานของฝ่ายจำเลยมีจำนวน 4 ปาก ศาลจึงได้ระบุว่าหลังจากนี้จะทำการนัดพร้อม เพื่อนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยอีกครั้งหนึ่ง

    ต่อมาเวลา 16.00 น. เมื่อทำสัญญาประกันตัวเสร็จสิ้น นายสราวุทธิ์จึงได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังของศาลจังหวัดเชียงราย หลังจากถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยในเอกสารนัดหมายคดีระบุวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไป ในวันที่ 21 ต.ค. 62 เวลา 9.00 น.

    คดีนี้นับเป็นคดีแรกเท่าที่ทราบ ซึ่งมีการโอนย้ายคดีของพลเรือนที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหาร มายังศาลพลเรือน ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 และยังต้องติดตามจับตาต่อไปว่ากระบวนการโอนย้ายคดีอื่นๆ ของศาลทหารในเขตท้องที่ต่างๆ มายังศาลพลเรือนนั้น จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการประกันตัว หรือสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่อไปหรือไม่ อย่างไร

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=13985)
  • ศาลจังหวัดเชียงรายนัดพร้อมหลังคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร ศาลได้สอบถามคู่ความว่ายังเหลือพยานจะนำสืบอีกกี่ปาก ฝ่ายอัยการพลเรือน ซึ่งรับสำนวนต่อมาจากอัยการทหาร ระบุว่าฝ่ายโจทก์ยังเหลือพยานที่ต้องการนำสืบอีก 3 ปาก โดยเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดี ขณะที่ฝ่ายจำเลยประสงค์จะนำสืบพยานจำนวน 4 ปาก

    ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานให้ฝ่ายละ 1 นัด และให้กำหนดวันนัดหมายในห้องพิจารณาเลย โดยไม่ต้องไปที่ศูนย์นัดความ เนื่องจากศาลเห็นว่าเห็นว่าคดีใช้เวลามานานแล้ว จึงอยากให้กำหนดวันนัดให้รวดเร็ว อัยการโจทก์และทนายจำเลยจึงได้ตกลงวันนัดสืบพยานสองนัด ในวันที่ 4 และ 6 ธ.ค. 2562 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป และศาลให้ออกหมายเรียกพยานของทั้งสองฝ่ายมาเบิกความในวันดังกล่าว

    คดีนี้ถูกโอนย้ายมาจากศาลมณฑลทหารบกที่ 37 หลังศาลทหารใช้เวลาพิจารณาคดีกว่า 2 ปี 6 เดือน แต่สืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นไปได้เพียง 7 ปากเท่านั้น ความล่าช้าเกิดจากกระบวนการของศาลทหาร ซึ่งจะพิจารณาคดีเพียงช่วงเช้าของวันนัด และจะนัดหมายเฉลี่ย 2 เดือนต่อหนึ่งนัด ซึ่งหากพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจระบุว่าติดราชการในวันดังกล่าว การพิจารณาก็จะถูกเลื่อนออกไป โดยจากวันนัดสืบพยานทั้งหมด 15 นัด มีการเลื่อนพิจารณาคดีไปถึง 5 นัด

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=14121 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16719)
  • นัดสืบพยานโจทก์รวม 3 ปาก ได้แก่ พล.ต.ต.ธนยินทร์ เทพรักษา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และ พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานแห้ง รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และ พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกุล รองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน แต่มีพยานมาศาลเพียง 2 ปาก คือ พล.ต.ต.ธนยินทร์ เทพรักษา และ พล.ต.ต.ชูรัตน์ ส่วน พ.ต.อ.ดุลเดชา ติดราชการต้องไปอบรมหน่วยรักษาพระองค์ ไม่มาศาล

    พนักงานสอบสวนทั้งสองปากเบิกความเนื้อหาคล้ายกับพนักงานสอบสวนคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ส่วนช่วงหนึ่งในการถามค้าน พยานปาก พล.ต.ต.ชูรัตน์ ได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานก็มีความสงสัยอยู่เช่นกัน เกี่ยวกับเอกสารภาพถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่กล่าวหาจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏว่ามี URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่ในเอกสาร อีกทั้งผู้พบเห็นการกระทำความผิดจากจอคอมพิวเตอร์หรือประจักษ์พยาน ซึ่งถือว่าเป็นพยานสำคัญที่ต้องนำมาสอบสวน แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีการสอบสวนพยานคนดังกล่าว

    หลังสืบพยานโจทก์ 2 ปากนี้เสร็จสิ้น อัยการแถลงว่า ยังติดใจจะสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.ดุลเดชา และทนายไม่สามารถรับเอกสารของพยานปากนี้ได้ ทำให้ต้องเลื่อนสืบพยานออกไป ศาลนัดสืบพยานโจทก์-จำเลยใหม่ในวันที่ 30-31 ม.ค. 2563

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=16719)
  • สืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกุล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และตำรวจภูธรภาค 5 ให้เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยพยานได้เข้ามาเบิกความเนื้อหาคล้ายกับพนักงานสอบสวนคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้

    หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น และโจทก์แถลงหมดพยาน น่าสังเกตว่า อัยการทหารและพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายนำพยานซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนทั้ง 7 ปาก เข้าเบิกความ ในประเด็นที่คล้ายคลึงกันทั้งหมด โดยไม่มีการตัดพยาน ใช้เวลากว่า 1 ปี ในศาลทหาร ก็ยังไม่เสร็จสิ้น กระทั่งมาสืบพยานต่อในศาลพลเรือนจนแล้วเสร็จ

    จากนั้น นายสราวุทธิ์ซึ่งอ้างตัวเองเป็นพยานได้เข้าเบิกความถึงประวัติของตนเองว่าทำการเปิดร้านขายแว่นตามาราว 10 ปีแล้ว โดยมีการประชาสัมพันธ์ร้านทั้งทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก, ไลน์ และยูทูบ ส่วนในทางออฟไลน์ก็ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านการออกร้านตามงานต่างๆ ซึ่งบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยนั้น นอกจากใช้ประชาสัมพันธ์ร้านแว่นแล้ว ยังได้ใช้ในการโพสต์เรื่องครอบครัว การกินเที่ยว และการแสดงความเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด

    นายสราวุทธิ์เบิกความอีกว่า ภายหลังจากมีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ราว 1 เดือน ได้มีประชาชนในจังหวัดเชียงรายถูกจับเข้าค่ายทหารปรับทัศนคติ ตนจึงได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปและข้อความว่าให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับ เพราะเห็นว่า ทหารไม่มีอำนาจจับกุมคนและขังในค่ายทหาร รัฐธรรมนูญให้สิทธิที่จะต่อต้านคนที่ยึดอำนาจการปกครอง หลังโพสต์เฟซบุ๊กปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่บ้านของเขา นำโดย พ.ท.อิสสระ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เพื่อจับกุมสราวุทธิ์ แต่เขาไม่อยู่บ้าน จึงได้มีการฝากเอกสารเรียกตัวนายสราวุทธิ์จากเจ้าหน้าที่ทหารเอาไว้

    เมื่อทราบเรื่อง สราวุทธิ์ได้เดินทางเข้าไปยังค่ายเม็งรายมหาราชตามเอกสารเรียกดังกล่าว เขาได้พบกับ พ.ท.อิสสระ, อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ขณะนั้นด้วย ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ผลัดกันเข้ามาสอบสวนเกี่ยวกับเหตุผลที่โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีการยื่นข้อเสนอให้สราวุทธิ์ทำตามที่เจ้าหน้าที่ทหารสั่ง แล้วทางทหารจะทำการปล่อยตัว ส่วนหนึ่งของข้อเสนอคือการบอกว่าเขารับเงินมาจากทักษิณ เพื่อมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่สราวุทธิ์ได้ปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับทักษิณ และเขาก็ไม่ได้รับเงินจากทักษิณ

    หลังถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหารและสถานีตำรวจประมาณ 8 วัน สราวุทธิ์ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ในคดีนั้น เขาได้ให้การรับสารภาพและศาลทหารเชียงรายได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยมีความประพฤติดี มีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตร และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

    หลังจากคดีนั้น สราวุทธิ์ก็ใช้ชีวิตตามปกติทำการค้าขายเรื่อยมา โดยมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นปกติ ด้วยเขาเห็นว่า คสช. เข้ามาปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การออกกฎหมายก็ไม่ถูกต้อง และเป็นสิทธิของเขาที่จะแสดงความคิดเห็นได้ และด้วยการแสดงความคิดเห็นของสราวุทธิ์ ทำให้เขาได้รับการติดต่อจาก พ.ท.อิสสระ หรือผู้ใต้บังคับบัญชาบ่อยครั้ง เพื่อขอให้ยุติการแสดงความคิดเห็น มีทั้งการเรียกไปพูดคุยในค่ายทหาร นัดพูดคุยภายนอก ไปจนถึงการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาหาสราวุทธิ์ถึงบ้าน แต่เขาจะยืนยันว่า มีสิทธิที่จะทำได้ หากทางเจ้าหน้าที่เห็นว่าเขากระทำผิด ก็ขอให้ดำเนินคดีได้

    สราวุทธิ์เบิกความว่า ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557 เขาได้รับเอกสารเรียกจากเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 37 เมื่อเข้าไป ก็ได้รับแจ้งจาก พ.ท.อิสสระว่า มีการข่าวระบุว่า นายสราวุทธิ์จะไปก่อความวุ่นวายและวางระเบิดในช่วงงานวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งสราวุทธิ์ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ทางทหารยังมีการพูดถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เป็นระยะของสราวุทธิ์ ต่อมา เมื่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 เข้ามาสอบถามถึงเหตุที่นายสราวุทธิ์ถูกควบคุมตัวแล้ว ก็ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวเขาออกจากค่าย แต่ก็ได้มีการขอไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย

    หลังจากนั้น ยังมีเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่สราวุทธิ์ได้รับการติดต่อจาก พ.ท.อิสสระ ให้เข้าไปทำการตัดแว่น และพบกับผู้บัญชาการคนใหม่ คือ พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ภายในมณฑลทหารบกที่ 37 แต่เมื่อเข้าไปพบ กลับเป็นการถ่ายรูปสราวุทธิ์กับเจ้าหน้าที่ทหารไว้ แล้วมีการพูดคุยให้สราวุทธิ์หันมาโพสต์ในลักษณะชมเชยเจ้าหน้าที่ทหารอย่างที่หลายๆ คนได้ทำ แต่สราวุทธิ์ได้ปฏิเสธ พล.ต.บัญชา จึงระบุว่า จะไม่ทำการตัดแว่นกับสราวุทธิ์แล้ว ให้เดินทางกลับไปได้ ระหว่างจะกลับออกจากค่าย พล.ต.บัญชา ยังเดินมาที่รถจำเลย และกล่าวในลักษณะว่า ระวังตัวให้ดี จะโดนเล่นงานเอาได้

    จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์ในคดีนี้ขึ้น ขณะนั้นสราวุทธิ์ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และก่อนการแจ้งข้อกล่าวหาที่ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้าน สราวุทธิ์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุ หลังการถูกค้นบ้าน เขาได้ถูกนำตัวมาที่ สภ.เมืองเชียงราย โดยไม่มีหมายจับ ถูกตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ และมีการโอนย้ายข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งเพียงสั้นๆ ว่า เกี่ยวกับความผิดมาตรา 112

    หลังจากตรวจสอบโทรศัพท์มือถือแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ปล่อยตัวเขากลับ จนกระทั่งเขาได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนอีกครั้งให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นภาพที่นำมากล่าวหาเขาในคดี ซึ่งสราวุทธิ์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอดจนถึงปัจจุบัน สราวุทธิ์ยืนยันว่าไม่ได้โพสต์ภาพและข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งเขาและครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่บ้านของเขาทั้ง 3 หลัง ล้วนแต่มีรูปพระมหากษัตริย์ทุกหลัง เขาและครอบครัวมีความชื่นชอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    จากนั้น อัยการได้ถามค้านนายสราวุทธิ์ ในประเด็นที่ว่าภาพและชื่อในเอกสารภาพถ่ายหน้าจอที่นำมากล่าวหาจำเลยนั้น เป็นภาพและชื่อของจำเลยใช่หรือไม่ ซึ่งสราวุทธิ์ตอบว่า ภาพโปรไฟล์และชื่อเฟซบุ๊กนั้นใช่ แต่เอกสารภาพถ่ายหน้าจอเฟซบุ๊กทั้งแผ่นนั้นไม่ใช่ของเขา

    อัยการจึงได้ถามว่า นายสราวุทธิ์ได้ทำการแจ้งความดำเนินคดี หรือร้องเรียนกับหน่วยงานใด เกี่ยวกับภาพถ่ายหน้าจอที่เขาถูกกล่าวหาหรือไม่ หลังจากถูกดำเนินคดี สราวุทธิ์เบิกความตอบว่า ไม่เคยดำเนินการ แต่เขาเคยได้สอบถามพนักงานสอบสวนในคดีที่แจ้งข้อกล่าวหาเขา ว่า จะสามารถแจ้งความกลับได้หรือไม่ พนักงานสอบสวนถามกลับว่า นายสราวุทธิ์ต้องการแจ้งความดำเนินคดีต่อใคร ซึ่งสราวุทธิ์ก็ไม่ทราบ ทำให้เขาคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะดำเนินการ

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15876)
  • นัดสืบพยานจำเลยปากที่ 2 และเป็นปากสุดท้าย ได้แก่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำการวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทย และเป็นบรรณาธิการหนังสือเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว ในชื่อ “Computer crime” นอกจากนี้เคยเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมหาวิทยาลัย

    ยิ่งชีพเบิกความให้ความเห็นเกี่ยวกับพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือจากการศึกษาของเขาว่า มีหลักที่นำมาประกอบกันอย่างน้อย 5 ประการ ที่อาจพอน่าเชื่อถือว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิด ได้แก่

    1. หลักฐานต้นทางของโพสต์บนระบบอินเตอร์เน็ต หลักฐานที่ดีคือการพิมพ์ออกมา โดยการสั่งพิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โดยตรง ซึ่งจะมีรายละเอียดวันที่, เลขหน้ากำกับ และที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ URL ที่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลนั้น มีอยู่จริงบนโลกอินเตอร์เน็ตและสามารถเข้าไปดูได้ อีกทั้งการพิมพ์ออกมานี้ยังเป็นกระบวนการที่สามารถทำได้ง่าย และน่าเชื่อถือกว่าการถ่ายภาพหน้าจอออกมาเป็นรูปภาพ แล้วปริ้นออกมา ซึ่งอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงภาพได้

    2. การหาหมายเลข IP address คือที่อยู่ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต คล้ายกับบ้านเลขที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอ IP address ไปที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ คือขอว่าผู้โพสต์เฟซบุ๊ก ใช้ IP address อะไร และ IP address จะไม่ซ้ำกันในช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ทราบเบอร์โทรศัพท์และเครือข่ายสัญญานที่ใช้งานของผู้ต้องสงสัย ก็สามารถไปขอที่บริษัทเครือข่ายสัญญาณได้เลย ซึ่งบริษัทมักจะตอบกลับเสมอ โดยบริษัทเครือข่ายสัญญาณจะตอบกลับว่า เบอร์นั้นใช้ IP address อะไร ติดต่อไปที่เว็บไซต์ใด ในเวลาใด โดยบริษัทเครือข่ายสัญญาณมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลนี้ไว้เป็นเวลา 90 วัน ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    3. การนำ IP address มาตรวจหาบุคคลว่า เจ้าของ IP address คือใคร จดทะเบียนในชื่ออะไร อยู่บ้านเลขที่เท่าไร

    4. หากทราบที่อยู่แล้ว ก็จะทำการจับกุมและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และนำมาตรวจสอบร่องรอยการใช้งานในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยการตรวจสอบมี 2 อย่างด้วยกัน คือ หนึ่ง หาว่ามีร่องรอยการเข้าใช้เว็บไซต์ที่มีการโพสต์ข้อความหรือไม่ และสอง หาว่ามีร่องรอยข้อความหรือรูปภาพบนคอมพิวเตอร์นั้นหรือไม่ ในประเทศไทย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีโปรแกรมที่สามารถตรวจสอบได้ และโปรแกรมนั้นสามารถตรวจสอบได้ แม้จะมีการลบข้อมูลออกไปแล้วก็ตาม

    5. บางคดีตำรวจจะทำการตรวจหา DNA ของผู้ต้องสงสัยบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ว่ามีติดอยู่หรือไม่

    ยิ่งชีพได้เบิกความเสริมในตอนท้ายว่า การจะพิสูจน์ว่ากระทำความผิดหรือไม่ ในความเห็นของเขาคือควรมีให้ครบทุกข้อ หรืออย่างน้อยที่สุดหากข้อใดไม่มี ก็ต้องมีเหตุผลอธิบายได้

    ภายหลังศาลจังหวัดเชียงรายสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้ระบุว่าคดีนี้ต้องมีการส่งสำนวนคดีให้กับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ทำการตรวจสอบสำนวนก่อน จึงได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดี ในวันที่ 25 มี.ค. 2563 เวลา 9.00 น.

    ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้นของคดีนี้ คือศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อพยานหลักฐานภาพถ่ายหน้าจอ ซึ่งไม่ปรากฎที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ URL อันเป็นที่มาของคดีนี้อย่างไร และจะมีการวินิจฉัยไปถึงเนื้อหาของรูปภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15876 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16719)
  • หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 31 มี.ค. 2563 ศาลจังหวัดเชียงรายได้อ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    จากการนำสืบของโจทก์เชื่อได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่โจทก์นำมาฟ้องจริง แต่พยานโจทก์ที่เป็นคณะพนักงานสอบสวนทั้งหมดไม่มีปากใดยืนยันว่าจำเลยได้โพสต์ภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง และจากการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ทำการตรวจยึดไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็ไม่พบภาพตามฟ้อง อีกทั้ง จากการนำสืบของพยานจำเลยโดยมีนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ พยานผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำการวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้ามาเบิกความยืนยันว่า หน้าเฟซบุ๊กสามารถมีการปลอมแปลง เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าวที่พบเห็นการกระทำของจำเลยเข้ามาสืบพยานเบิกความต่อศาลแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

    หลังฟังคำพิพากษา สราวุทธิ์เปิดเผยว่าก่อนฟังคำพิพากษาวันนี้ เขามีความรู้สึกกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจัดการกับการแสดงความคิดเห็นหรือเทรนด์ในสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ เป็นต้น โดยคิดว่าคดีของเขาอาจตกเป็นเครื่องมือในการแสดงให้เห็นการถึงการพยายามจัดการควบคุมกับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้กระทำตามฟ้องก็ตาม แต่หลังจากได้ฟังคำพิพากษาแล้วก็รู้สึกดีใจ ที่การต่อสู้คดีมาจนถึงวันนี้เป็นผลออกมาแล้ว รู้สึกว่ามันจบแล้วสักที

    สราวุทธิ์กล่าวอีกว่า คดีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครอีก เขาคิดว่าหลังจากนี้ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นซ้ำอีก ทั้งการต้องติดคุกโดยไม่มีความผิดจำนวน 38 วัน, ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้จากเงื่อนไขการประกันตัว และผลกระทบต่อการทำธุรกิจค้าขาย เมื่อใครรู้ว่าถูกดำเนินคดีนี้แล้วก็ต่างหันหน้าหนี สักวันหนึ่งจะต้องมีการชำระเรื่องนี้สักทางหนึ่ง

    สราวุทธิ์ให้ความเห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ อยากให้ทุกคนต่อสู้กับความอยุติธรรม เพราะความกลัวจะทำให้อำนาจนอกระบบได้ใจ พอใช้วิธีการแบบนี้ได้ผล วิธีการแบบนี้ก็จะถูกใช้ซ้ำ ๆ อีก จะทำให้เกิดคดีแบบเขาอีกนับร้อยนับพันคน แต่หากเราต่อสู้มันจะเป็นการยืนยันว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผล และจะต้องไม่ถูกนำมาใช้กับใครอีกต่อไป

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=16798)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสราวุทธิ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสราวุทธิ์

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 31-03-2020

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์