สรุปความสำคัญ

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และประพันธ์ (สงวนนามสกุล) ถูกตำรวจควบคุมตัวจากการสวมเสื้อดำ ณ บริเวณร้านแมคโดนัลด์ สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ ก่อนนำตัวไปที่ สน.ลาดพร้าว โดยในวันนั้นตำรวจอ้างเหตุว่าพบการนัดชุมนุมที่บริเวณห้าง จึงควบคุมตัวเทอดศักดิ์ไปซักถามและลงบันทึกประจำวันก่อนปล่อยตัว อย่างไรก็ตามประพันธ์ (สงวนนามสกุล) และเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมตามหมายจับที่ออกในช่วงเดือนม.ค. 62 ในข้อหายุงยงปลุกปั่นและอั้งยี่ โดยเทอดศักดิ์ถูกจับกุมในต่างจังหวัดขณะทำงานเป็นพนักงานขับรถและประพันธ์ถูกจับกุมที่ต่างประเทศก่อนถูกส่งตัวกลับมายังกองปราบปราม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางประพันธ์
    • นายเทอดศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางประพันธ์
    • นายเทอดศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในชีวิตและร่างกาย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายเทอดศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางประพันธ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

[ ประพันธ์และเทอดศักดิ์ วันที่ 5 ธ.ค. 2561 ]
เมื่อ13.50น. เทอดศักดิ์(สงวนนามสกุล) และ ประพันธ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีเสื้อสหพันธรัฐไท ถูกตำรวจคุมตัวจากด้านหน้าร้านแมคโดนัลด์สาขาเดอะ มอลล์ บางกะปิ ไปที่สน.ลาดพร้าว ตำรวจอ้างเหตุว่า พบการนัดชุมนุมที่บริเวณห้างในวันนี้ จึงคุมตัวไปซักถามก่อนปล่อยตัวเมื่อ 19.00 น.

ทางทนายทราบเรื่องเพราะเทอดศักดิ์โทรหาทนาย จึงมีการติดตามไปยังสน.ลาดพร้าวโดย ในเวลา 14.30 น. ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปถึงสน.ลาดพร้าวและได้ซักถามตำรวจในโรงพักถึงเรื่องการนำตัวประชาชนที่สวมเสื้อดำและมีสัญลักษณ์สหพันธรัฐมายังโรงพัก เบื้องต้นตำรวจปฏิเสธว่าไม่มีการนำตัวใครมายังโรงพัก แต่เทอดศักดิ์ซึ่งติดต่อกับทนายอยู่บอกว่าเขาอยู่ในห้องของตำรวจ โดยทราบภายหลังว่าห้องสืบสวน

เมื่อทนายเดินทางมาถึงในเวลา 14.40 น. ได้พยายามสอบถามตำรวจที่อยู่หน้าประตูห้องสืบสวนซึ่งเป็นห้องที่แยก ออกมาจากตัวโรงพัก เบื้องต้นตำรวจบอกให้รอสักครู่และพยายามอธิบายว่าที่ไม่ใช่การจับกุมควบคุมตัว เพียงแต่ต้องการซักถาม ขณะเดียวกันตำรวจได้ถามทนายว่า “ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา ก็ต้องการทนายความด้วยหรือ” ทั้งผู้สังเกตการณ์และทนายรออยู่ประมาณ 10 นาที จึงได้เข้าไปในห้องสืบสวนของสน.ลาดพร้าว ซึ่งมีประตู 3 ชั้น

พบคุณเทอดศักดิ์และคุณประพันธ์นั่งอยู่กับตำรวจนอกเครื่องแบบ 6 คน และมีตร.กำลังเริ่มสอบถาม โดยมีทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบร่วมฟังประมาณ 6 คน ผู้สังเกตการณ์สังเกตว่า มีคำถามที่ถูกตอบไปแล้วราว 5-6 คำถามในกระดาษของรองสืบสวน
ก่อนตำรวจจะเริ่มซักถามต่อได้ขอบัตรประชาชนของทนายและผู้สังเกตการณ์ไปจดรายละเอียดต่างๆและถ่ายสำเนาบัตรโดยไม่ได้ให้เซ็นรับรอง พร้อมทั้งกล่าวติดตลกว่า “กำลังคุยกันเพลินๆเลย” ในการซักถามตำรวจอ้างว่าทราบว่ามีการนัดหมายทางเว็บเพจเพื่อมาชุมนุม ตำรวจจึงตามมาจากเว็บเพจและมาเจอพวกเขา(ภายหลังทราบจากคำบอกเล่าของป้าประพันธ์และตำรวจนอกเครื่องแบบว่าทหารนอกเครื่องแบบออกม.44
ขอสนธิกำลังกับตำรวจนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบเกือบ 20 คน ไปยังเดอะมอลบางกะปิ โดยทหารกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มที่ไปจับป้าประพันธ์ในคดีสหพันธรัฐ)

รองสืบกล่าวว่าสิ่งที่ทั้งสองทำหมิ่นเหม่กฎหมายและถามว่าทั้งสองคนมา ชุมนุมได้อย่างไร เทอดศักดิ์ตอบว่าเขาฟังการนัดหมายมาจากยูทูป
รองสืบเริ่มอธิบายความจำเป็นที่จะต้องระงับการรวมตัวในครั้งนี้ โดยบอกว่ากังวลเรื่องมือที่สามจะมาแทรกแซงสถานการณ์และกลัวว่า
พวกเขาทั้งสองจะกลายเป็นเครื่องมือของมือที่สาพร้อมย้ำว่าตอนนี้พวกเขายังไม่ได้กระทำความผิด แต่ก็ต้องทราบไว้ว่าถ้าจะชุมนุมต้องขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราวพร้อมบอกว่าถ้าก้าวเข้ามาในเส้นการเริ่มกิจกรรมชุมนุม ก็จะผิดพรบ.ชุมนุมสาธารณะทันที แต่คราวนี้ยังไม่มีอะไร

รองสืบกล่าวต่อว่าคุณก็รู้ช่วงนี้มีงานสำคัญของประเทศคุณอาจไม่ชอบประเทศไทยแต่คุณก็ยังเป็นคนไทย เราห้ามความคิดคุณไม่ได้แต่ตราบใดที่ยังใช้กฎหมายในปัจจุบันก็ต้องเคารพกฎหมาย นอกจากนี้ยังกล่าวกับทนายและผู้สังเกตการณ์ว่า ทั้งสองถือว่ามาในฐานะเพื่อนของจำเลยเพราะยังไม่มีการจับกุมใดๆเกิดขึ้นแค่ขอนำตัวมาซักถามเพราะอยู่ในพื้นที่แต่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน


หลังจากคุยกับป้าประพันธ์และเทอดศักดิ์ ผู้กำกับก็หันมาคุยกับทนายความและผู้สังเกตการณ์ เรียนจบที่ไหน
เป็นคนแถวไหน มาทำงานนี้ได้อย่างไร ศูนย์ทนายทำงานให้ความช่วยเหลือประเภทไหน

16.33 น. เทอดศักดิ์ถูกพาไปลงบันทึกประจำวัน ทนายธีรพันธ์กับทนายคุ้มเกล้าไปด้วย
ส่วนป้ารออยู่ห้องสืบกับตำรวจ4คน และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนาย ​

18.00 น. เทอดศักดิ์ให้ถ้อยคำเสร็จสิ้น ทนายตรวจแก้บันทึกให้ถ้อยคำจากนั้นมีการบันทึกการให้ถ้อยคำของป้าประพันธ์ตอน 18.37
ซึ่งป้าขอไม่ขอให้การในรายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุมและเสื้อสหพันธรัฐหรือคลิปที่ได้ฟัง ทั้งนี้ป้าประพันธ์ไม่ได้ลงชื่อในบันทึกให้ถ้อยคำ
เพราะตำรวจบันทึกปากคำของป้าว่านัดหมายกันมาชุมนุม ซึ่งป้าบอกไปแล้วว่าไม่ขอให้รายละเอียด แต่ตำรวจไม่ยอมแก้พร้อมทั้งบอกว่าถ้าจะไม่เอาแบบนี้ก็ไม่ต้องเซ็นรับรอง ทนายและป้าจึงไม่เซ็นรับรอง เมื่อเป็นเช่นนั้นตำรวจจึงไม่ยอมให้บันทึกกับป้าประพันธ์เพราะบอกว่าไม่เซ็นก็ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับคำให้การนี้ หลังจากลงบันทึกประจำวันแล้ว

เทอดศักดิ์ได้รับสำเนามาหนึ่งชุดส่งให้ไว้ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนาย เสร็จสิ้นกระบวนการประมาณ 19.00 น. เหตุการณ์วันนี้ดำเนินไปตั้งแต่
13.00-19.00 น. รวม 6 ชั่วโมงโดยประมาณ

[ ประพันธ์ วันที่ 8 ธค. 2561 ]
ช่วง 6 – 7 โมงเช้า ทหารในเครื่องแบบและตำรวจนอกเครื่องแบบราว 8-9 คน (ป้าบอกว่าอาจจะมีมากกว่านั้นที่ด้านล่างอพาร์ตเมนท์) ทหารใส่ชุดกันกระสุนการเข้ามาวันนี้มีการมารื้อค้นเตียงและหยิบเอกสารบางอย่างไป เช่น เอกสารประกันเครื่องซักผ้า โดยที่ไม่มีหมายค้น
ไม่มีการแสดงเอกสารใดใดว่าเจ้าหน้าที่เป็นใคร โดยบอกแต่เพียงว่าขอเชิญตัวไปคุย ตอนที่ถูกนำตัวขึ้นรถไปมีคนเฝ้าหอพักและผู้พักอาศัยในบริเวณดังกล่าว

[เทอดศักดิ์ วันที่ 2 เม.ย 2562 ]
เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 นาย จับกุม เทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีสหพันธรัฐไท ขณะที่เขากำลังทำงานเป็นพนักงานขับรถเอกชนแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับก่อนจับกุมและนำตัวขึ้นรถตู้มาจากจังหวัดภูเก็ต ไปที่กองปราบปราม จ.กรุงเทพฯ ทั้งนี้เขาต้องนอนห้องขัง 1 คืนก่อนที่รุ่งเช้า (3 เม.ย. 2562)จะมีญาติและทนายมาเข้าพบและร่วมฟังการสอบสวนและแจ้งข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และอั้งยี่ เทอดศักดิ์ถูกประกันตัวออกมาในวันที่ 4 เม.ย. 2562


[ประพันธ์ วันที่ 10 พ.ค. 2562]
เวลาประมาณ 17.45 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธินุษยชนได้รับแจ้งว่า ประพันธ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี เคยเป็นหมอนวดแผนโบราณ(ก่อนลี้ภัยการเมือง)และเป็นจำเลยคดีเสื้อสหพันธรัฐไท ถูกจับกุมตัวจากมาเลเซียมาที่กองบังคับการปราบปราม ตามหมายจับศาลอาญาที่ 55/2562 ลงวันที่ 16 ม.ค.2562 คดีสวมเสื้อดำที่ห้างเดอะ มอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2561

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความได้ติดตามไปที่กองปราบฯ จึงได้พบกับประพันธ์และอยู่ร่วมฟังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ประพันธ์ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ทั้งนี้ประพันธ์ยังไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวน จากนั้นพรุ่งนี้(11 พ.ค.2562) พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในระหว่างการสอบสวน

ประพันธ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเธอได้พบกับผู้หญิงอีกหนึ่งคนถูกควบคุมตัวมาด้วยเหตุเดียวกัน แต่เธอไม่ได้พูดคุยด้วยเนื่องจากผู้หญิงคนดังกล่าวถูกพนักงานสอบสวนสอบปากคำอยู่และถูกทหารนำตัวไปต่อ

ประพันธ์เล่าให้ฟังว่าเธอเดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อเดือนมกราคม 2562 และไปขอสถานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกับ UNHCR ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ระหว่างที่กำลังรอประเทศที่สามรับเป็นผู้ลี้ภัย เธอถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมในวันที่ 24 เม.ย.2562 และคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจ 14 วัน จากนั้นถูกส่งไปคุมขังอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียอีก 4 วัน ก่อนถูกควบคุมตัวกลับมาที่ประเทศไทย

(อ้างอิง :https://www.tlhr2014.com/?p=12285)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 22-05-2019
22 พ.ค. 2562 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 นัดสั่งฟ้อง 2 ผู้ต้องหาในคดีสหพันธรัฐไท ได้แก่ นายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา 209 ทั้งสองคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 8 ก.ค. 62
 
วันที่ : 16-01-2020
การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 16,17 และ 24 ม.ค. 2563 ตลอดการพิจารณาคดี 3 วัน มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw รวมถึงมีประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณา เดิมพนักงานอัยการแถลงต่อศาลว่า มีพยานบุคคลที่ต้องนำเข้าสืบทั้งสิ้น 10 ปาก แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายสามารถรับข้อเท็จจริงกันได้ จึงมีการสืบพยานโจทก์ 8 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจ 4 ปาก พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า 2 ปาก, พยานความเห็นซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ 1 ปาก และอดีตคนเฝ้าหอพักที่จำเลยอาศัยอยู่ 1 ปาก ส่วนทนายจำเลยไม่ประสงค์จะนำจำเลยเข้าเบิกความ
 
วันที่ : 21-01-2020
เวลา 9.35 น. ทนายจำเลย 3 คน, ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและ iLaw มารอฟังคำพิพากษา โดยไม่มีญาติของจำเลยมาร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองมาพร้อมกันแล้ว โดยนางประพันธ์ จำเลยที่ 2 ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง

ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษา ในคำพิพากษาศาลมีประเด็นวินิจฉัยโดยสรุปดังนี้ 1) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป 2) โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานที่หนักแน่นมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดข้อหา ม.116

ศาลเห็นว่าแม้จากการให้การของพยาน พยานย่อมทราบว่าจำเลยมีแนวคิดอย่างไร พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน ไม่มีเหตุให้ปรักปรำจำเลย แต่พยานซึ่งให้การว่าได้ถ่ายภาพและวิดิโอเอาไว้ ไม่ได้นำหลักฐานที่หนักแน่นมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด พิพากษายกฟ้อง

(รายละเอียดคำพิพากษา : https://www.tlhr2014.com/?p=16361)

ภูมิหลัง

  • นางประพันธ์
    เปิดร้านนวดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
  • นายเทอดศักดิ์
    พนักงานขับรถของบริษัทเอกชน

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นางประพันธ์
    ต้องเลิกกิจการนวดซึ่งตนเองเป็นเจ้าของ, ต้องย้ายที่อยู่อาศัยและเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์
  • นายเทอดศักดิ์
    ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจนต้องเปลี่ยนงานบ่อยๆ

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์