สรุปความสำคัญ

12 มกราคม 2563 กลายเป็นวันสำคัญของการแสดงออกทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง จากการลุกขึ้นมาออก “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) ของประชาชนพลเมืองไทยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ กิจกรรมครั้งนี้ถูกเริ่มต้นประกาศโดยนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนประเทศไทย” โดยมี ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกำลังสำคัญ มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานออกกำลังเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ” กิจกรรมถูกปิดกั้นตั้งแต่การแถลงข่าวเปิดตัว โดยต้องเปลี่ยนสถานที่ถึง 2 ครั้ง รวมทั้งต้องเปลี่ยนสถานที่วิ่งจากบริเวณถนนราชดำเนิน เนื่องจากตำรวจและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ ย้ายไปที่สวนรถไฟ จนกระทั่งในวันจัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมบางส่วนยังถูกปิดกั้นโดยการยึดป้ายข้อความ

ภายหลังกิจกรรม ธนวัฒน์ยังถูกดำเนินคดีในข้อหา เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แม้ลักษณะกิจกรรมจะไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ต้องแจ้งการชุมนุม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง เพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนประเทศไทย
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง เพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนประเทศไทย
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง เพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนประเทศไทย
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
    • อื่นๆ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ย่าของ ธนวัฒน์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ฝ่ายปกครอง
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนวัฒน์ วงศ์ไชย
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

23 พ.ย. 2562 นิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนประเทศไทย” ประกาศจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยมี ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกำลังสำคัญ กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการออกกำลังเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ”

คณะผู้จัดติดต่อจะจัดแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ในวันที่ 11 ธ.ค. 2562 ต่อมาในวันที่ 9 ธ.ค. สองวันก่อนงานแถลงข่าว FCCT ออกแถลงการณ์เรื่อง การยกเลิกการขอใช้สถานที่แถลงข่าวงาน "วิ่งไล่ลุง" โดยระบุว่า ทางสมาคมฯ ได้รับแรงกดดันจากตำรวจ สน. ลุมพินี ให้ยกเลิกการใช้สถานที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจของผู้จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ว่า ตำรวจ สน.ลุมพินี ได้มาขอความร่วมมือให้งดใช้สถานที่ของทางสมาคมฯ ในการแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมดังกล่าว โดยแลกกับเงื่อนไขบางประการ อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดยังคงจะดำเนินกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ตามวันและเวลาที่ได้ระบุไว้ เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย

“ขณะนี้เป็นช่วงหลังการเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจพิเศษจากการรัฐประหาร อย่าง ม.44 หรือคำสั่ง คสช.แล้ว และสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 11 ธ.ค. เป็นเพียงแค่การแถลงข่าว ไม่ได้เป็นการไปสร้างความวุ่นวายแต่อย่างใด ตรงไปตรงมา เปิดเผย มีกำหนดทุกอย่างชัดเจน ตามที่ได้แจ้งให้ทราบไปแล้ว เราขอยืนยันที่จะจัดการแถลงข่าวครั้งนี้ขึ้น เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเรา ตามระบอบประชาธิปไตยฯ” (อ้างอิง: https://www.matichon.co.th/politics/news_1801197)

15 ธ.ค. 2562 คณะผู้จัดติดต่อขอให้สถานที่แถลงข่าวที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 คืนก่อนวันแถลงข่าว ทางโรงแรมรัตนโกสินทร์แจ้งว่า ผู้มีอำนาจกดดันอย่างหนัก ไม่ให้ใช้สถานที่จัดแถลงข่าว ท้ายที่สุด คณะผู้จัดจึงต้องเดินจากหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ไป live แถลงข่าวที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แทน

8 ม.ค. 2563 ผู้จัดประกาศเปลี่ยนสถานที่จัดงานวิ่งจากบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถนนราชดำเนินมาเป็นสวนรถไฟ จตุจักร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่วิ่ง

12 ม.ค. 2563 ในวันจัดกิจกรรม ที่สวนรถไฟมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบป้ายและตรวจกระเป๋า เวลา 6.00 น. มีผู้เข้าร่วมงานถูกนำตัวเข้าไปพูดคุยในห้องบริเวนศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ผู้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวได้ถือป้าย "Power Up" กับป้าย "Free Hug กอดไล่ลุง" เข้ามาในงาน โดยมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 10 คน ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลดังกล่าวถูกตำรวจซักถามราว 10 - 15 นาที ก่อนถูกถ่ายภาพและยึดป้าย รวมถึงขอเลขบัตรประชาชนไปตรวจสอบ ถ้าหากวิ่งเสร็จสามารถมารับคืนป้ายคืนได้ นอกจากนี้หนึ่งในผู้เข้าร่วมฯ สันชัยต์ ชฎาเพชรประเสริฐ ซึ่งเดินทางมาจากปทุมธานี เข้าทางประตูสวนจตุจักร ถูกเจ้าหน้าที่ยึดป้ายที่ทำเองมาจากบ้านซึ่งเขียนข้อความว่า "งูเห่า สส.ขายตัว" และ "ปฏิรูปหัวดอ" โดยหลังจากเลิกงานได้เดินทางไปขอป้ายคืนจากตำรวจ นอกจากนี้ เวลา 06.15 น. ข่าวสดออนไลน์รายงานว่ามีประชาชนสวมเสื้อสีเหลือง ระบุข้อความ “รักษ์ ม.44 ยิ่งชีพ” เข้ามาป่วนกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พร้อมเป่านกหวีดอยู่บริเวณประตูอีกด้านหนึ่งของสวนรถไฟ ก่อนเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวไปให้ข้อมูลกับตำรวจ โดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น และในเวลา 6.40 น. มีรายงานว่าพบผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมป้ายทะเบียน ไล่ถ่ายภาพป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณสวนรถไฟ (อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/2634659416583896)

18 ม.ค. 2563 นายธนวัฒน์ วงค์ไชย เปิดเผยว่า มีการอ้างคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย ให้มาถ่ายรูป บ้านของย่าของตนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าเป็นผลพวงจากการประกาศว่าจะจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 2 ก.พ.2563 ส่วนการคุกคามเช่นนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการกดดันครอบครัว โดยธนวัฒน์มองว่า อาจหวังผลให้ญาติตนโน้มน้าวให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการติดตามของเจ้าหน้าที่ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่า จะติดตามด้วยสาเหตุใด ขณะที่การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงครั้งที่ 2 มีความกังวลว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีการกดดันด้วยคำสั่งกดดันจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า ห้ามให้กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลว่าจะเกิดความรุนแรงและความแตกแยก (อ้างอิง: https://www.sanook.com/news/8014022/)

20 ม.ค. 2563 ธนวัฒน์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ หลังถูกออกหมายเรียก พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุม ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ที่ สวนวชิรเบญจทัศ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยนายธนวัฒน์ ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ภูมิหลัง

  • ธนวัฒน์ วงศ์ไชย
    รองประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง เพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนประเทศไทย
    นิสิต นักศึกษา จากหลายสถาบัน และนักกิจกรรม

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์