สรุปความสำคัญ

วันที่ 5 ธ.ค. 2561 นางรานีใส่เสื้อยืดสีดำออกไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทราและไปนั่งทานอาหารที่ KFC ระหว่าางนั้นตำรวจนอกเครื่องแบบ 4-5 คน เข้ามาพูดคุยและขอให้เธอไปกับพวกเขา แต่ราณีไม่ยอมไป ทั้งยังขอถ่ายบัตรของตำรวจ จากนั้นได้ส่งรูปตำรวจให้เพื่อนในไลน์ ภายหลังปรากฎว่ารูปที่เธอส่งถูกนำไปเผยแพร่ในยูทูปสหพันธรัฐโดยที่เธอไม่ทราบเรื่อง เธอจึงถูกตำรวจติดตามมาที่บ้านอีกครั้งในวันที่ 7 ธ.ค. 2561 และภายหลังวันที่ 11 เม.ย. 62 รานีถูกจับและถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่ , ยุยงปลุกปั่น จากการใส่เสื้อดำและเดินทางไปห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในวันที่ 5 ธ.ค.61

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางรานี
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางรานี
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางรานี
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • ทำลายทรัพย์สิน.
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางรานี
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

5 ธ.ค. 2561
ก่อนเที่ยง นางรานี (สงวนนามสกุล) สวมเสื้อดำไปที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลรามอินทรา เป็นการเดินทางไปคนเดียว โดยเดินทางไปเซนทรัลเพราะใกล้บ้าน รานีตั้งใจจะไปสังเกตการณ์การรวมตัวของคนเสื้อดำ ประมาณ 11 โมงกว่าๆ ได้เห็นคนใส่เสื้อดำ 1-2 คน จึงเดินไปดูทั่วๆ แต่ตนไม่ได้แน่ใจว่าใช่กลุ่มคนเสื้อดำที่มาตามนัดหมายหรือไม่เพราะไม่ได้สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ ตนจึงแวะ ร้านKFCเพื่อทานอาหาร เมื่ออิ่มแล้วได้เดินออกมาหน้าร้านและเจอผู้ชายแต่งกายธรรมดา 5-6 คน จำนวนเท่าที่เห็นตรงหน้า แต่ไม่ทราบว่าจะมีจำนวนมากกว่านั้นอีกหรือไม่ รานีถามว่ามีอะไร ชายคนนั้นบอกว่าขอเชิญไปคุย โดยชายคนนั้นถามว่า นัดใครมาบ้างหรือเปล่า รานีถึงถามกลับว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ถามเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ขอดูบัตรประชาชน โดยรานีได้ให้ดูบัตรข้าราชการแต่เจ้าหน้าที่บอกกว่าบัตรจางแล้วจึงขอบัตรประชาชนไปดูและถ่ายภาพบัตรทั้งสองบัตรไป ระหว่างนั้นรานี ได้คุยกับตำรวจว่าจะกลับบ้านแล้ว ไม่ได้จะมาทำอะไร ตำรวจจึงย้ำว่ากลับบ้านไปนะ

หลังเหตุการณ์นั้นรานีได้ส่งรูปบัตรตร. รวมถึงรูปตร.เข้าไปในกลุ่มไลน์ หลังจากนั้นโฟนอินไปด้วยระหว่างที่ยังอยู่ในห้างหลังจากผละจากตำรวจแล้ว แต่มาทราบทีหลังว่าคนในกลุ่มไลน์เอารูปไปรวมไว้ในคลิปยูทูป ของลุงสนามหลวงเพราะตอนที่โฟนอิน ไม่ได้ดูหน้าจอไลฟ์อยู่ จึงไม่ทราบ


7 ธ.ค. 2561
นางรานี (สงวนนามสกุล) แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเมื่อคืนวันที่ 7 ธ.ค. 2561เวลาประมาณ 20.15 น. มีทหารในเครื่องแบบและตำรวจสวมเสื้อกั๊กแสดงหน่วยงานมาขอค้นบ้าน อ้างว่านางราณีขัดคำสั่ง คสช. เจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายค้นและอ้างอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เเทน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่สวมเครื่องแบบเเละมาพร้อมรถทหาร ใช้ไฟฉายส่องเข้ามาในบ้านเเละตะโกนจะขอเข้ามาคุย นางรานีแจ้งว่าไม่ยอมให้ค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงบอกว่าพบชื่อเเละที่อยู่ของนางรานีจากภาพถ่ายและบัตรราชการในยูทูป (YouTube) แต่นางรานีบอกว่าตนเพียงแค่แชทและส่งต่อกันกับเพื่อนในกลุ่มไลน์เท่านั้น ภายหลังเจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับและบอกว่าวันพรุ่งนี้จะมาแจ้งข้อหานางรานี

8 ธ.ค. 2561
รานี เเจ้งกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า วันที่ 8 ธ.ค. 2561 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ที่เคยมาหาเธอที่บ้านเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับหน้าที่เป็นสายสืบให้กับเจ้าหน้าที่คนอื่นที่มาเมื่อคืนวันที่ 7 ธ.ค. 2561 และมีหน้าที่มาเฝ้าว่านางรานีอยู่บ้านหรือออกไปข้างนอกและให้เบอร์โทรศัพท์ไว้กับสามีพร้อมทั้งขอว่าถ้ารานีจะออกจากบ้านให้แจ้งตนทุกครั้ง นอกจากนี้ยังขอถ่ายรูปรานีไปรายงานต่อทีม หลังเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกลับไปราว 2 ชั่วโมง ยังโทรกลับมาหาสามีให้ถ่ายรูปรานีในขณะนั้นว่ากำลังอยู่ที่บ้านจริงๆเเละส่งให้เจ้าหน้าที่ สามีของรานีจึงถ่ายรูปตอนเธอทานข้าวกับลูกสาวส่งไลน์ไปให้เจ้าหน้าที่

9 ธ.ค. 2561
รานี เเจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2561 เวลา 8.35 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบไปที่บ้านของเธออีกและแจ้งว่าทางผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและตำรวจต้องการเชิญตัวเธอไปคุย แต่รานีปฏิเสธที่จะไปหากไม่มีหมายศาลและไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในบริเวณบ้าน ภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ถอยกลับไปแต่เหลือเจ้าหน้าที่ไว้เฝ้าที่บริเวณหน้าบ้านของเธอ 1 คันและเเจ้งว่าหากวันนี้รานีจะออกไปไหนให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนด้วย

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 10 ธ.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาเมื่อวานกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้เจ้าหน้าที่แสดงบัตรเจ้าหน้าที่ทำให้ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) เเละแจ้งกับรานีว่าทหารขอความร่วมมือให้ตนมาติดตามดูว่ารานีไปไหน และรายงานกลับไปให้ทราบพร้อมบอกด้วยว่าทางฝ่ายทหารต้องการควบคุมตัวเธอไปด้วย

11 เม.ย. 2562
เวลา 14.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด เข้าจับกุมนางรานี (สงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี อาชีพรับราชการ ตามหมายจับที่ 17/2562 ออกหมายเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

นางรานีถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมระหว่างเดินผ่านจุดคัดกรองตรวจสอบประวัติบุคคลหน้ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระหว่างเข้าร่วมงานรับปริญญาลูกชาย ก่อนเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมได้นำตัวไปยัง สภ.ปากเกร็ด เพื่อทำบันทึกการจับกุม และส่งตัวไปยังกองบังคับการปราบปราม เพื่อทำการสอบปากคำ ซึ่งรานีได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการปราบปราม และจะส่งฝากขังต่อศาลวันที่ 13 เม.ย. 2562 เวลา 9.00 น.


23 เม.ย. 2562 เวลาประมาณ 8.30 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาที่บ้านของรานีจำนวน 2-3 คน เมื่อพบลูกชาย จึงขอคุยด้วยโดยจะขอเบอร์ลูกชาย แต่รานีไม่ได้ให้ไป เจ้าหน้าที่ที่มาจึงขอร้องว่าอย่าเคลื่อนไหวในช่วงวันที่ 1-6 พ.ค. 2562

ก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์ มีทหารเข้ามาหาเธอที่สถานที่ทำงาน ทั้งนี้รานียังได้รับโทรศัพท์จากพี่สาวที่อยู่จ.สมุทรสงครามว่า ผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ปรามๆตน โดยรานีคิดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการรุกล้ำสิทธิ คล้ายกับการข่มขู่พ่อถึงแม่ของตน แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละจังหวัด โดยที่บ้านมีพี่สาว อายุ 67 ดูแลแม่ติดเตียงอายุ 91 ทำให้ทั้งคู่ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 31-05-2019
พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยในฐานความผิดฐานยุงยงปลุกปั่นและอั้งยี่ เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลนัดพร้อม , สอบคำให้การ และตรวจพยาน วันที่ 15 กค. 2562 เวลา 9.00 น. จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด 2 แสนบาท
 
วันที่ : 18-02-2020
ศาลอาญา-รัชดา นัดสืบพยานโจทก์คดีสหพันธรัฐไทของรานี (สงวนนามสกุล) ซึ่งดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ทั้งหมด 3 ปาก ด้านพยานจำเลย ยื่นสืบพยานเพียงปากเดียวคือ ราณี จำเลยรับสารภาพข้อหาอั้งยี่ แต่ยืนยันปฏิเสธในข้อหายุยงปลุกปั่น โดยจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์และเป็นคนไปที่เซ็นทรัลรามอินทราจริง ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 โดยใส่เสื้อดำ แต่ไม่ได้มีสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐใด ๆ และเป็นการไปเพื่อสังเกตการณ์ ส่วนการเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ก็เป็นเพียงการเห็นด้วยกับความคิดบางอย่างของกลุ่มสหพันธรัฐ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเลือกตั้ง และเรื่องสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลถึง ป.ตรี แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการล้มล้างระบอบสถาบันกษัตริย์ และเหตุที่จำเลยโพสต์รูปชู 3 นิ้วใน Facebook เนื่องจากเพื่อยืนยันว่าจำเลยจะไม่ยอมจำนนต่อระบอบเผด็จการ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ศาลนัดฟังคำพิพากษา 26 มี.ค. 2563
 
วันที่ : 26-03-2020
ศาลอ่านคำพิพากษา
จึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์แล้วจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่น่าจะกระทำผิดอีก และกลับตัวเป็นคนดี เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง โดยให้จำเลยบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชม.

ทั้งนี้ จำเลยถูกขังที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 2 วัน หลังถูกจับตามหมายจับ เมื่อจำเลยไม่ถูกลงโทษจำคุก จึงคิดเป็นเงินชดเชยที่ถูกขังวันละ 500 บาท เหลือที่จำเลยต้องชำระค่าปรับ 19,000 บาท

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์