ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อั้งยี่ (มาตรา 209)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ อ.1261/2562

ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.พรชัย ว่องประเสริฐการ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • อั้งยี่ (มาตรา 209)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1261/2562
ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.พรชัย ว่องประเสริฐการ

ความสำคัญของคดี

รานี (สงวนนามสกุล) ใส่เสื้อดำไปที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ก่อนจะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การจับกุมตามหมายจับที่ 17/2562 ออกหมายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 62 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และข้อหายุงยุงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในวันที่ 11 เมษายน 2561 ระหว่างเข้าร่วมงานรับปริญญาลูกชาย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องที่อัยการยื่นฟ้องรานีต่อศาลอาญา บรรยายฟ้องว่า

1. เมื่อวันที่ 4 – 7 ธ.ค. 2561 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ มีชื่อว่า “กลุ่มสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุขเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่

2. จำเลยกับพวกที่เป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทดังกล่าวได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ มีการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. โดยจำเลยกับพวกนัดหมายสวมใส่เสื้อสีดำเดินในบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทรา ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในวันดังกล่าวประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง แล้วจำเลยโพสต์รูปภาพจำเลยชูสามนิ้ว และภาพแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก โปรแกรมไลน์ ยูทูบ อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 1216/2562 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2562)

ความคืบหน้าของคดี

  • พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยในฐานความผิดฐานยุงยงปลุกปั่นและอั้งยี่ เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลนัดพร้อม , สอบคำให้การ และตรวจพยาน วันที่ 15 กค.62 เวลา 9.00 น. จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด 2 แสนบาท
  • นัดพร้อมและนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องราณี โพธิปักษ์จำเลยความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามมาตรา 116 และมาตรา 209 ประมวลกฎหมายอาญา จากการสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท ไปที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัล รามอินทราเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาประสงค์จะต่อสู้คดี ทแต่การตรวจพยานหลักฐานได้เลื่อนออกไป ศาลให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 19 ส.ค.2562
  • นัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ โจทก์แถลงสืบพยาน 7 ปาก จำเลยแถลงรับคำให้การพยานโจทก์ 1 ปาก (ซึ่งพยานปากนี้เป็นประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้ทำกิจกรรม แต่ใส่เสื้อสีดำไปปรากฏตัวที่เกิดเหตุในวันที่เกิดเหตุ และให้การว่าไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นจำเลยมาก่อน) โจทก์ส่งเอกสาร 7 ฉบับ ยกเว้นคำให้การพยานโจทก์ ศาลหมาย จ.1-จ.7 และส่งพยานวัตถุ แผ่นซีดี 8 แผ่น (เกี่ยวกับรายการสหพันธรัฐ ทางยูทูป) ศาลหมาย วจ.1-วจ. 8 จำเลยนำสืบพยาน 3 ปาก โดยโจทก์สืบพยาน 2 นัดครึ่ง จำเลย1 นัด รวม 4 วัน โดย โจทก์สืบ 18-20 (ช่วงเช้า) กพ.62 จำเลยสืบ 20 กพ. 62 (ช่วงบ่าย) และ 21 กพ. 62 (ช่วงเช้า)
  • ศาลอาญา-รัชดา นัดสืบพยานโจทก์คดีสหพันธรัฐไทของรานี (สงวนนามสกุล) ซึ่งดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ทั้งหมด 3 ปาก เป็นตำรวจทั้ง 3 ปาก โดยปากแรกคือผู้รวบรวมเอกสารและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการก่อตั้งกลุ่มสหพันธรัฐ ส่วนปากที่สอง คือ รองชุดสืบสวนที่ไปสังเกตการณ์ที่เซ็นทรัลรามอินทราในวันเกิดเหตุ และปากที่สามเป็นหัวหน้าชุดสืบที่ไปสังเกตการณ์ที่เซ็นทรัลรามอินทราเช่นกัน

    ด้านพยานจำเลย ยื่นสืบพยานเพียงปากเดียวคือ ราณี จำเลยรับสารภาพข้อหาอั้งยี่ แต่ยืนยันปฏิเสธในข้อหายุยงปลุกปั่น โดยจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์และเป็นคนไปที่เซ็นทรัลรามอินทราจริง ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 โดยใส่เสื้อดำ แต่ไม่ได้มีสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐใด ๆ และเป็นการไปเพื่อสังเกตการณ์ ส่วนการเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ก็เป็นเพียงการเห็นด้วยกับความคิดบางอย่างของกลุ่มสหพันธรัฐ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเลือกตั้ง และเรื่องสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลถึง ป.ตรี แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการล้มล้างระบอบสถาบันกษัตริย์ และเหตุที่จำเลยโพสต์รูปชู 3 นิ้วใน Facebook เนื่องจากเพื่อยืนยันว่าจำเลยจะไม่ยอมจำนนต่อระบอบเผด็จการ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ศาลนัดฟังคำพิพากษา 26 มี.ค. 63
  • ศาลอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น

    ประเด็นแรก จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ หรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลตัดสินได้ โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์

    ประเด็นที่สอง จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 116 กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน หรือไม่

    ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 บทบัญญัติดังกล่าวต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ศาลเห็นว่า การที่มีภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบัตรเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปอยู่ในรายการสหพันธรัฐไททางยูทูบ ไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำของจำเลย ซึ่งตามทางนำสืบโจทก์ก็สืบว่า ผู้ที่จัดทำรายการคือแกนนำไม่ใช่การกระทำของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ชักชวน ส่วนการโพสต์ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ และบัตรเจ้าหน้าที่ ก็โพสต์เข้าไปในกลุ่มไลน์ ไม่ใช่ยูทูบ ส่วนการเป็นเพื่อนกับเอกชัย หรือประเวศ ในเฟซบุ๊กซึ่งเคยเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 112 จำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและเป็นความผิดในคดีอื่น

    แม้ข้อเท็จจริงที่ พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ เบิกความ เห็นว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่การกระทำอันเป็นการกระทำความผิดเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ทั้งในการนำสืบของตำรวจที่อยูในที่เกิดเหตุก็พบจำเลยใส่เสื้อดำเท่านั้น การใส่เสื้อดำไม่ได้ทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานโจทก์ยังสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 116

    จึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์แล้วจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่น่าจะกระทำผิดอีก และกลับตัวเป็นคนดี เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง โดยให้จำเลยบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชม.

    ทั้งนี้ จำเลยถูกขังที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 2 วัน หลังถูกจับตามหมายจับ เมื่อจำเลยไม่ถูกลงโทษจำคุก จึงคิดเป็นเงินชดเชยที่ถูกขังวันละ 500 บาท เหลือที่จำเลยต้องชำระค่าปรับ 19,000 บาท

    ด้านรานีเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า ผลของคำพิพากษาวันนี้ถือว่าได้รับความเป็นธรรม เพราะการกระทำของตนเองก็ไม่ได้สร้างความปั่นป่วนใด ๆ แต่จริง ๆ แล้วตนเองไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก และหลังจากถูกดำเนินคดีทำให้ชีวิตได้รับผลกระทบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน ซึ่งตนได้ตัดสินใจลาออกจากงานก่อนกำหนด เนื่องจากเครียด รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ถูกดำเนินคดี และความกังวลเรื่องความปลอดภัย

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=16687)
  • อัยการยื่นขอขยายอุทธรณ์ โดยศาลอนุญาตให้ขยายถึง วันที่ 26 พ.ค. 63
  • โจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา คดีจึงเป็นอันสิ้นสุดนับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นางรานี

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นางรานี

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์