สรุปความสำคัญ

ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมและอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จ.กาฬสินธุ์ ถูกกลุ่มชายนอกเครื่องแบบเข้าประชิดตัวและพยายามควบคุมตัว ขณะเดินทางออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยและตัดสินใจเข้ามอบตัว หลังตำรวจชี้แจงว่า เป็นปฏิบัติการจับกุมตัวตามหมายจับ ในการเข้ามอบตัว ตำรวจได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งระบุข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 ทั้งนี้ เหตุในการดำเนินคดีมาจากกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ปิยรัฐยืนยันให้การปฏิเสธ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมกีฬา จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และผู้จัดกิจกรรมจึงไม่ต้องแจ้งการจัดกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการสืบพยานปิยรัฐตัดสินใจให้การรับสารภาพ โดยระบุเหตุผลว่า อยากให้คดีนี้จบโดยไว ไม่เป็นภาระต่อตัวเขา ทนายความ ซึ่งยังมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอีกหลายคดี อีกทั้งคดีนี้มีเพียงโทษปรับ โดยศาลลงโทษปรับ 2,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 1,000 บาท

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปิยรัฐ จงเทพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

4 ม.ค. 2563 เพจ ไล่ลุง-กาฬสินธุ์ ประกาศจัดกิจกรรม และเผยแพร่เส้นทางวิ่งโดยเริ่มต้นที่หน้าโรงเรียนอนุกูลนารี ถนนภิรมย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

12 ม.ค. 2563 ที่บริเวณหน้าโรงเรียนอนุกูลนารี ประชาชนกว่า 200 คน รวมตัวกันร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยมีปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ ได้พาประชาชนเดินวิ่งจากหน้าโรงเรียนอนุกูลนารีไปตามถนนภิรมย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ตรึงกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จนกิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา 16.55 น.

ปิยรัฐให้สัมภาษณ์หลังเสร็จกิจกรรมว่า ประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ หลายคนอึดอัดเบื่อการบริหารประเทศเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จากการสืบทอดอำนาจ มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยิ่งแย่กว่าเดิมอีก วันนี้ไม่มีแกนนำใดๆ ทั้งสิ้นเราเห็นเขาแชร์ในโลกโซเชียล ทุกคนตั้งใจมากันเอง เป็นการวิ่งออกกำลังกายจริงๆ ไม่ได้มีอาวุธหรือใช้ความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น

หลังกิจกรรมยุติลง ปิยรัฐได้เข้าพบตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อจ่ายค่าปรับ ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต และใช้เส้นทางผิวการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจร โดยตำรวจได้เปรียบเทียบปรับตามความผิดทั้ง 2 ข้อหา รวมเป็นเงิน 700 บาท แต่ไม่มีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อย่างใด

16 ม.ค. 2563 เวลา 16.45 น. มีหมายเรียกผู้ต้องหาของ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ มาปิดประกาศที่หน้าบ้านพักปิยรัฐ ระบุให้ปิยรัฐเข้าพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 10.00 น. กรณีถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ทั้งนี้ ปิยรัฐกล่าวว่า ตนเองมีภารกิจที่ต้องเดินทางไปหลายจังหวัด และมีกำหนดการล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว จึงไม่สามารถไปตามหมายเรียกได้ และจะทำหนังสือแจ้งขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนไปเป็นหลังวันที่ 21 ม.ค. 2563 โดยยืนยันว่าตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมดังกล่าวจริง

อย่างไรก็ตาม ปิยรัฐไม่สามารถเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกได้ โดยเขามีธุระต้องเดินทางไปต่างประเทศ จนกระทั่งเขากลับมาจากต่างประเทศเขาก็ใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์แต่ตำรวจก็ไม่เคยนำหมายจับมาจับกุม

เช้าตรู่วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ขณะที่ปิยรัฐกำลังเรียกรถแท็กซี่เพื่อเดินทางออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” รำลึกวันครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จบลง ปิยรัฐถูกกลุ่มชายนอกเครื่องแบบเข้าประชิดตัวและพยายามควบคุมตัว อ้างว่า “นายขอคุยด้วย” โดยไม่สามารถระบุได้ว่า “นายคือใคร” ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย จนนำมาสู่การตัดสินใจเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในช่วงเที่ยงวันเดียวกัน หลังได้รับการติดต่อเพื่อชี้แจงจากตำรวจนครบาลนายหนึ่งในเวลาต่อมาว่า เป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจับกุมตัวเขาตามหมายจับ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นหมายจับของศาลใด คดีใด

ที่ สน.ชนะสงคราม หลังปิยรัฐเดินทางถึง ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ จ.45/2563 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2563 ซึ่งระบุข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ปิยรัฐรับว่า ตนเองเป็นบุคคลตามหมายจับ ฝ่ายสืบสวนจึงได้ทำบันทึกจับกุม และส่งตัวให้พนักงานสอบสวน

เนื่องจากเหตุในคดีมาจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงใน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามจึงต้องส่งตัวปิยรัฐไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ท้องที่เกิดเหตุและเป็นผู้ขอศาลออกหมายจับ โดยได้ให้แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจมาทำการตรวจร่างกายปิยรัฐก่อนออกเดินทาง ซึ่งไม่พบว่ามีอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย

รถตู้ของ สน.ชนะสงคราม นำตัวปิยรัฐออกเดินทางเวลาประมาณ 13.30 น. ถึง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ประมาณ 21.30 น. โดยมีประชาชนทั้งในพื้นที่และที่เดินทางมาจากจังหวัดอุบลฯ รอให้กำลังใจ

จากนั้น ร.ต.อ.หญิง ฐิตาพัชร์ ภูกาบิล รอง สว. (สอบสวน) ผู้รับมอบตัวปิยรัฐจากตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อหาปิยรัฐ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 พร้อมทั้งแจ้งว่า จะควบคุมตัวไว้ในห้องขัง 1 คืน และจะนำตัวไปขอศาลฝากขังที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันรุ่งขึ้น ทำให้ปิยรัฐและทนายความโต้แย้งว่า คดีนี้เป็นความผิดลหุโทษ เนื่องจากมีเพียงแต่โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสอง ระบุว่า ตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้เพียงเท่าที่ถามคำให้การ ชื่อ และที่อยู่เท่านั้น จะควบคุมตัวไว้ทั้งคืนจนกระทั่งส่งไปขอศาลฝากขังตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งไม่ได้

หลังการโต้แย้งได้ข้อสรุปว่า จะไม่มีการควบคุมตัวไว้ทั้งคืนและไม่ส่งฝากขัง โดยนัดหมายให้ปิยรัฐมาพบพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนในวันรุ่งขึ้น เวลา 11.00 น. เพื่อสอบปากคำ

25 มิ.ย. 2563 ปิยรัฐพร้อมทนายความเข้าพบพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหา และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ต้องหาได้จัดให้มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้รับแจ้งทราบก่อนการชุมนุม อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุม

ปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอให้การใดๆ ในชั้นสอบสวน โดยประสงค์จะให้การในชั้นศาล หลังจากพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันแล้ว พนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้มาพบเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการในวันที่ 2 ก.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ก่อนปล่อยตัว

ก่อนหน้าเหตุการณ์การพยายามเข้าควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับเมื่อเช้าวันที่ 24 มิ.ย. 2563 มีข่าวว่า “โตโต้” ปิยรัฐ, อานนท์, “โรม” รังสิมันต์ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ถูกจับตาว่าจะต้องโดน “จัดการ” จนเกิดเป็นกระแส #saveโตโต้, #saveอานนท์, #saveโรม และ #saveเพนกวิน ในโลกออนไลน์

และหลังการคุกคามดังกล่าว ซึ่งมีตำรวจพยายามอธิบายว่าเป็นปฏิบัติการ “จับกุมตามหมายจับ” ทั้งที่ไม่มีการแสดงหมายจับนั้น ปิยรัฐโพสต์เล่าว่า เขายังข้องใจว่าใครคือ “กลุ่มคนนิรนาม” โดยพยายามสอบถามจากเจ้าหน้าที่ ทั้งผู้กำกับ สน.ที่รับผิดชอบพื้นที่บริเวณนั้น สายสืบ หรือตำรวจนครบาล ก็ไม่ได้คำตอบ ทุกหน่วยปฏิเสธว่าไม่รู้จักชุดปฏิบัติการกลุ่มนั้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ชายกลุ่มนั้นมาเพื่อจับกุมตามหมายจับจริงหรือไม่

แม้แต่การจับกุมตามหมายจับเอง ปิยรัฐก็ตั้งข้อสังเกตว่า หมายจับออกตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2563 ก่อนหน้านี้เขาก็อยู่ในพื้นที่กาฬสินธุ์ กินข้าวอยู่หน้า สภ.เมืองกาฬสินธุ์ก็มี และเดินทางไปไหนมาไหนตลอด ทำไมไม่เคยจับเขาเลย เขาก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองมีหมายจับ และยืนยันว่าไม่มีเจตนาหลบหนี

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=18925)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 13-07-2020
พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำสั่งฟ้องคดีและยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ในข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 หลังเจ้าหน้าที่ศาลรับคำฟ้อง ปิยรัฐยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน ปิยรัฐจึงได้รับการปล่อยตัวหลังถูกขังอยู่ 5 ชั่วโมง ในห้องขังใต้ถุนศาล

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์