สรุปความสำคัญ

"เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปราศรัยถึงปัญหาวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์และข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 โดยถูกกล่าวหาว่า มีเจตนาใส่ร้ายกษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560

นับเป็นอีกครั้งที่นักกิจกรรมถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการชุมนุมทั่วประเทศในปี 2563 เป็นอีกคดีที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกลับมาใช้คดีมาตรา 112 เพื่อข่มขู่และหวังหยุดการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

3 ก.ย. 2563 ช่วงเย็นถึงค่ำ ที่ลานหน้าหอโหวดบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด "สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก" จัดกิจกรรมการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน โดยมีกิจกรรมเช่น เล่นสงกรานต์ (ชดเชย) นำโดย แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์, ปาสีใส่รูปประยุทธ์, ละครสะท้อนปัญหาการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพในโรงเรียน, ดนตรีวงสามัญชน และการปราศรัยจากเยาวชน นักกิจกรรม ซึ่งมีพริษฐ์มาร่วมปราศรัยในหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ก่อนการชุมนุมยุติลง สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 5 ประการ ประกอบด้วย 1. หยุดคุกคามและดำเนินคดีกับประชาชนโดยทันที 2. ส.ว. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะเผด็จการต้องลาออกและสิ้นอำนาจไปภายในเดือน ก.ย.นี้ 3. ต้องสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาใช้แทนรัฐธรรมนูญของคณะเผด็จการ โดยสมาชิกสภานั้นจะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 4. ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และ 5. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

19 ต.ค. 2563 หลังจากศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และณัฐชนน ไพโรจน์ สามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป

เช้าวันที่ 20 ต.ค. 2563 เวลา 07.00 น. ณ เรือนจำอำเภอธัญบุรี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ดได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์ ตามหมายจับคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าเขาได้กล่าวปราศรัยปลุกปั่นประชาชนผู้ชุมนุมให้คล้อยตามการโจมตีการทำงานของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล และยังมีการกล่าวปราศรัยในลักษณะ “จาบจ้วง” “ก้าวล่วงพระราชอำนาจ” ทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง สถาบันพระมหากษัตริย์ คดีนี้มี พ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับ (สืบสวน) สภ.เมืองร้อยเอ็ด เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา

เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหา-คำให้การใดๆ โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ยอมรับอำนาจศักดินา" ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกเหตุผลดังกล่าวลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองร้อยเอ็ด ลงวันที่ 20 ต.ค. 2563 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3352987684751062)

ภูมิหลัง

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์