ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ อ.915/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.915/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด

ความสำคัญของคดี

"เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปราศรัยถึงปัญหาวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์และข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 โดยถูกกล่าวหาว่า มีเจตนาใส่ร้ายกษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560

นับเป็นอีกครั้งที่นักกิจกรรมถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการชุมนุมทั่วประเทศในปี 2563 เป็นอีกคดีที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกลับมาใช้คดีมาตรา 112 เพื่อข่มขู่และหวังหยุดการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พงศา เด็ดดวง พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ราชอาณาจักรไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2489 ถึงวันที่ 23 ต.ค. 2559 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 จําเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อหน้าประชาชนจํานวนมากซึ่งร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณลานหน้าบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และเผยแพร่เข้าไปในเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ซึ่งตั้งค่าไว้เป็นสาธารณะ กล่าวถึงประเด็น การรื้อสนามม้านางเลิ้ง ตลาดนางเลิ้ง รวมทั้งชุมชนแถบนางเลิ้งเพื่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9, การถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน, การบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลของกลุ่มทุนใหญ่ ก่อนกล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ โดยพริษฐ์อธิบายว่า เป็นการปฏิรูปให้เป็นระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อประชาชนได้รับฟัง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อสถาบัน อันจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน รวมทั้งเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด คดีหมายเลขดำที่ อ.915/2566 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังจากวันที่ 19 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และณัฐชนน ไพโรจน์ สามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป

    เช้าวันต่อมา เวลา 07.00 น. ณ เรือนจำอำเภอธัญบุรี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์ ตามหมายจับคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 63

    พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า เขาได้กล่าวปราศรัยปลุกปั่นประชาชนผู้ชุมนุมให้คล้อยตามการโจมตีการทำงานของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล และยังมีการกล่าวปราศรัยในลักษณะ “จาบจ้วง” “ก้าวล่วงพระราชอำนาจ” ทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีนี้มี พ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับ (สืบสวน) สภ.เมืองร้อยเอ็ด เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา

    เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหา-คำให้การใดๆ โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ยอมรับอำนาจศักดินา" ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกเหตุผลดังกล่าวลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองร้อยเอ็ด ลงวันที่ 20 ต.ค. 2563 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3352987684751062)


  • พ.ต.ท.นรินทร์ นามบ้านค้อ, พ.ต.ท.ศราวุฒิ โยชน์เมืองไพร และ พ.ต.ท.อดุลย์ จุดศรี คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด เดินทางมาที่ สน.ชนะสงคราม เข้าแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติมแก่พริษฐ์ จากกรณีจากชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563

    บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดโดยสรุปว่า จากการที่ผู้ต้องหาปราศรัย เมื่อ วันที่ 3 ก.ย. 2563 ระหว่างเวลา 20.15 – 22.00 น. ที่ลานสาเกตุนคร หน้าบึงพลาญชัย ปรากฏว่า คําปราศรัยของผู้ต้องหามีข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์รวม 4 ประเด็น การที่ผู้ต้องหาขึ้นกล่าวปราศรัยให้ผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน ฟัง โดยมีการถ่ายทอดภาพและเสียงคําปราศรัยทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง ในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาที่จะใส่ความเพื่อให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหาและคำให้การ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ยอมรับอำนาจศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และข้อหามาตรา 112 ไม่เป็นธรรม” ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกเหตุผลดังกล่าวลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.เมืองร้อยเอ็ด ลงวันที่ 30 พ.ย. 2563 และ https://tlhr2014.com/?p=23649)

  • ทนายความเข้ายื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด
  • ทนายความเดินทางเข้ายื่นหนังสือเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อนําสํานวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานอัยการออกไป และขอให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สอบสวนพยานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา หนังสือเลื่อนระบุเหตุผลว่า กรณีที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนออกหมายเรียกพริษฐ์ให้มาพบที่ สภ.เมืองร้อยเอ็ด ในเวลา 09.00 น. แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พริษฐ์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และอยู่ในเขตพื้นที่เสีแดง อาจจะสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดการติดต่อเชื้อโรคหรือสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ประกอบกับจังหวัดร้อยเอ็ดมีมาตรการเฝ้าระวังโควิด กรณีที่บุคคลเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ต้องหาได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร

    (อ้างอิง: รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สภ.เมืองร้อยเอ็ด คดีอาญาที่ 1127/2563 ลงวันที่ 25 ม.ค. 2564)
  • ขณะเพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากศาลอาญาไต่สวนคำร้องการขอประกันตัวในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดี MobFest ก่อนมีคำสั่งให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์คดีละ 200,000 บาท

    เวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด นำโดย พ.ต.อ.เนติวัฒน์ จันทรา ผู้กำกับ สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดลงวันที่ 2 มี.ค. 2564 เพื่อจับกุมพริษฐ์ โดยระบุว่า เป็นหมายจับเพื่อจะนำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานอัยการ

    หลังแสดงหมายจับ ชุดจับกุมได้ทำบันทึกการจับกุมใจความสำคัญว่า “คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปสํานวนการสอบสวนมีความเห็น ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากนั้นจะต้องส่งสํานวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป โดยได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสํานวนการสืบสวนสอบสวน ผู้ต้องหาได้รับหมายเรียกโดยชอบ แล้วแต่อ้างเหตุจําเป็นที่ไม่สามารถเดินทางมาพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ แต่เหตุดังกล่าวศาลเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นเหตุให้ออกหมายจับ

    คณะพนักงานสืบสวนจึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลให้ออกหมายจับเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามเอาตัวผู้ต้องหาส่งไปให้พนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการได้รับสํานวนไว้พิจารณาแล้ว ศาลอนุมัติตามหมายจับที่ 67/2564 ลงวันที่ 2 มี.ค. 2564 และทราบว่าผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงนําหมายจับเดินทางไปจับกุมตัวผู้ต้องหา

    ในการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับในครั้งนี้ เป็นการดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อที่จะได้ดําเนินการตามคําสั่งของพนักงานอัยการ ซึ่งได้รับสํานวนการสืบสวนสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาแล้ว”

    หลังจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวพริษฐ์ในชั้นตำรวจ เพื่อให้ได้พริษฐ์ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพร่างกายจากการอดอาหารมาเกือบ 2 เดือน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนที่เวลา 21.15 น. พนักงานสอบสวนจะอนุญาตให้ประกันตัว พริษฐ์จึงได้รับการปล่อยตัวออกมาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และขึ้นรถพยาบาลเพื่อไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลวิภาวดี หลังจากถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 92 วัน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 11 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29622)

  • เพนกวินเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย ก่อนพนักงานสอบสวนส่งตัวเพนกวินพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด อัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ในวันที่ 14 ก.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 25 ส.ค. 2564 เวลา 10.00 น. โดยพริษฐ์ได้มอบอำนาจให้ทนายความเดินทางไปเซ็นรับทราบนัดแทนในทุกนัด ระบุด้วยว่า หากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อใด จะเดินทางมาพบด้วยตนเอง
  • พริษฐ์เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ตามที่พนักงานอัยการนัดมาส่งฟ้องต่อศาล หลังจากรายงานตัวแล้ว พริษฐ์พร้อมทนายความเดินทางต่อไปที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการเป็นผู้นำสำนวนฟ้องไปยื่นต่อศาล

    ราว 11.00 น. พริษฐ์ถูกควบคุมตัวไปที่ห้องขังด้านหลังศาล ขณะทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 90,000 บาท และมีแม่ของพริษฐ์เป็นนายประกัน

    คำฟ้องของ พงศา เด็ดดวง พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุการกระทำที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 จําเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อหน้าประชาชนจํานวนมากซึ่งร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณลานหน้าบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และเผยแพร่เข้าไปในเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ซึ่งตั้งค่าไว้เป็นสาธารณะ

    อัยการบรรยายฟ้องโดยยกคำปราศรัยของพริษฐ์ในวันดังกล่าวมาบางส่วน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงประเด็น การรื้อสนามม้านางเลิ้ง ตลาดนางเลิ้ง รวมทั้งชุมชนแถบนางเลิ้งเพื่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9, การถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน, การบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลของกลุ่มทุนใหญ่ ก่อนกล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ โดยพริษฐ์อธิบายว่า เป็นการปฏิรูปให้เป็นระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

    อัยการระบุว่า การที่พริษฐ์กล่าวคำปราศรัยดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อประชาชนได้รับฟัง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อสถาบัน อันจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน รวมทั้งเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    ท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านปล่อยชั่วคราวพริษฐ์ในชั้นพิจารณา อ้างว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

    นอกจากจะขอให้ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว อัยการยังขอให้ศาลนับโทษจําคุกของพริษฐ์ในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกในคดีของศาลอื่นๆ อีกหลายคดีด้วย

    หลังศาลรับฟ้องคดีแล้ว ได้อ่านคำฟ้องให้พริษฐ์ฟังโดยละเอียด ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องขังของศาล ก่อนถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งพริษฐ์ยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 26 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ก่อนมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี กำหนดหลักประกันเป็นวงเงิน 150,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม
    หลังใช้เงินของกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน ประมาณ 14.00 น. เพนกวินก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องขัง รวมเวลาถูกคุมขังอยู่ราว 3 ชั่วโมง โดยเพนกวินตั้งข้อสังเกตว่า เงินประกันในคดีนี้ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะเมื่อต้นสัปดาห์ (7 มี.ค. 2566) ศาลอาญาให้ประกันในวงเงิน 90,000 บาท และเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นให้ทำสัญญาประกันโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

    คดีมาตรา 112 ของพริษฐ์คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่ถูกฟ้องต่อศาลจากการรับเชิญไปขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา-นักกิจกรรมอีสาน ในช่วงปี 2563 หลังการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” โดยคดีแรกเป็นคดีจากการปราศรัยเรื่อง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในการชุมนุมของ “คณะอุบลปลดแอก” เมื่อ 22 ส.ค. 2563 ส่วนคดีที่ 2 มาจากการปราศรัยถึง 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมของ “ขอนแก่นพอกันที” เมื่อ 20 ส.ค. 2563

    ทั้งนี้ พริษฐ์เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จำนวนถึง 23 คดี คดีนี้เป็นคดีที่ 19 ที่ถูกฟ้องต่อศาล โดยยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้เขามีภาระในการต่อสู้คดีจำนวนมากต่อไป

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด คดีหมายเลขดำที่ อ.915/2566 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2566)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีทางซีออสไว้ก่อนวันนัด เนื่องจากจำเลยและทนายจำเลยติดสืบพยานในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 3 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์