สรุปความสำคัญ

อิศเรศ อุดานนท์ เกษตรกรและช่างก่อสร้างชาวนครพนม ถูกตํารวจรถไฟจับกุมที่กรุงเทพฯ ขณะกำลังเดินทางด้วยรถไฟ แสดงหมายจับของศาลจังหวัดนครพนม ซึ่งออกในปี 2559 ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยเป็นกรณีจากการโพสต์เฟซบุ๊กในขณะเป็นพระแสดงความเห็นต่อการไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังการสวรรคตของ ร.9

นับได้ว่า กรณีของอิศเรศเป็นกรณีแรกที่มีการจับกุมและฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากไม่มีการดำเนินคดีในข้อหานี้มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยการฟ้องคดีมีขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่การนำมาตรา 112 มาใช้เป็นระลอกใหม่เพื่อดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อิศเรศ อุดานนท์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 ก.ย. 2563 ประมาณ 14.45 น. อิศเรศนั่งรถไฟกลับบ้านภรรยาที่ จ.ลำปาง ซึ่งต้องใช้บัตรประชาชนในการซื้อตั๋วรถไฟ ขณะรถไฟจอดที่สถานีรถไฟนพวงศ์แถวสามเสน ตำรวจรถไฟได้ขึ้นมาตรวจบัตรประชาชนของทุกคนถามหาว่าอิศเรศคนไหน เมื่อมาถึงอิศเรศและรู้ว่าเขาคืออิศเรศ ตำรวจก็แสดงหมายจับของศาลจังหวัดนครพนม ข้อหา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และจับกุมนำไปควบคุมตัวที่ป้อมตำรวจ ก่อนประสานงานให้ตำรวจ สน.นพวงศ์ มารับตัวไป โดยก่อนที่จะถูกตำรวจรถไฟควบคุมตัว อิศเรศได้นำเอาโทรศัพท์ฝากเพื่อนที่มาร่วมชุมนุมด้วยกันไว้

ตำรวจ สน.นพวงศ์ นำตัวอิศเรศไปทำบันทึกจับกุมและขังไว้ที่ สน.นพวงศ์ จากนั้นตำรวจได้ประสานไปที่ สภ.ท่าอุเทน ซึ่งเป็นผู้ขอศาลออกหมายจับ ระหว่างนั้นตำรวจให้อิศเรศใช้โทรศัพท์ของตำรวจติดต่อแจ้งญาติได้ เขาจึงโทรศัพท์แจ้งพี่สาวว่าถูกจับ

21 ก.ย. 2563 ประมาณ 08.00 น. ตำรวจ สภ.ท่าอุเทน เดินทางมารับตัวอิศเรศที่ สน.นพวงศ์ ระหว่างเดินทางไปที่ สภ.ท่าอุเทน ตำรวจที่ควบคุมตัวได้รับการประสานจาก สภ.เมืองนครพนม ให้ส่งตัวผมไปทำการสอบสวนที่ สภ.เมืองนครพนม

เดินทางถึง สภ.เมืองนครพนม ประมาณ 19.00 น. ตำรวจควบคุมตัวอิศเรศไว้ในห้องขัง 1 คืน กระทั่งเช้าวันต่อมาประมาณ 10.00 น. จึงเอาตัวไปสอบสวน โดยมีแม่และพี่สาวเข้าร่วมสอบสวนด้วย พร้อมทนายความซึ่งตำรวจจัดไว้ให้

ตำรวจแจ้งพฤติการณ์ว่า อิศเรศโพสต์เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การสอบสวนเสร็จในเวลาประมาณเที่ยง ตำรวจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน และนำตัวไปศาลจังหวัดนครพนมเพื่อขอฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทำให้อิศเรศถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำจังหวัดนครพนมในช่วงเย็น ก่อนได้รับประกันตัวในวันรุ่งขึ้น

การกระทำที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีจนกระทั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลเกิดขึ้นในช่วงหลังรัชกาลที่ 9 สวรรคต โดยอิศเรศถูกศาลจังหวัดนครพนมออกหมายจับในวันที่ 18 ต.ค. 2559 ซึ่งบรรยากาศในขณะนั้น นอกจากเต็มไปด้วยความความโศกเศร้าอาลัยของประชาชนแล้ว ยังตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองในประเด็นการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จนเกิดการ “ล่าแม่มด” ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีประชาชนด้วยมาตรา 112 อย่างเข้มข้น ในช่วงเวลาราว 1 เดือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวว่า มีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 27 คดี

อย่างไรก็ตาม พบว่าคดีเหล่านี้บางคดีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง บางคดีศาลเปลี่ยนไปลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนครพนม ลงวันที่ 22 ก.ย. 2563 และ https://tlhr2014.com/?p=24029)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 14-12-2020
พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครพนม ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังศาลรับฟ้องได้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน

ภูมิหลัง

  • อิศเรศ อุดานนท์
    เคยบวชเป็นพระอยู่หลายปี หลังจากสึกออกมาราวปลายปี 59 ได้ประกอบอาชีพทำสวนยางและรับจ้างก่อสร้าง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์