ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ. 2188/2563
แดง อ. 576/2565

ผู้กล่าวหา
  • จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ. 2188/2563
แดง อ. 576/2565
ผู้กล่าวหา
  • จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ

ความสำคัญของคดี

อิศเรศ อุดานนท์ เกษตรกรและช่างก่อสร้างชาวนครพนม ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์เฟซบุ๊กในขณะเป็นพระแสดงความเห็นต่อการไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังการสวรรคตของ ร.9 โดยศาลจังหวัดนครพนมออกหมายจับตั้งแต่ปี 2559 แต่มาถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2563

นับได้ว่า กรณีของอิศเรศเป็นกรณีแรกที่มีการจับกุมและฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากไม่มีการดำเนินคดีในข้อหานี้มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยการฟ้องคดีมีขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่การนำมาตรา 112 มาใช้เป็นระลอกใหม่เพื่อดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ร.ต.อ.ศานิจ บุญศิริ พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอิศเรศ ระบุพฤติการณ์แห่งคดีดังนี้

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข ขณะเกิดเหตุคดีนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคต ทำให้ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลง มีพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์รัชทายาท (ปัจจุบันเป็นในหลวงรัชกาลที่ 10) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ซึ่งเป็นของจำเลย ด้วยข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย...ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลายศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศ รัชกาลที่ 10.. การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”

ซึ่งข้อความดังกล่าวหมายถึงจะไม่มีรัชกาลที่ 10 เพราะตกลงกันไม่ได้และจะมีศึกชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์จักรี อันเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและอาจนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แล้วจำเลยได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2563)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกจับกุมขณะนั่งรถไฟออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับบ้าน อิศเรศถูกควบคุมตัวไปทำบันทึกจับกุมและขังไว้ที่ สน.นพวงศ์ 1 คืน ก่อนถูกควบคุมตัวเดินทางด้วยรถยนต์ไปที่ สภ.เมืองนครพนม ถูกขังอีก 1 คืน พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 จำนวน 1 โพสต์ โดยมีแม่และพี่สาว พร้อมทั้งทนายความซึ่งตำรวจจัดไว้ให้เข้าร่วมรับฟัง อิศเรศให้การรับสารภาพ

    พฤติการณ์คดีที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้อิศเรศทราบ คือ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมนจะตรวจสอบข่าวสาร กอ.รมน.จว.นครพนม ได้ตรวจพบเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง" โพสต์ข้อความหน้าเฟซบุ๊กว่า “เกิน 24 ชม.ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบังลังก์" เจ้าของเฟซบุ๊ก คือ อิศเรศ อุดานนท์ ข้อความที่โพสต์สื่อความหมายให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศไทย กําลังมีการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กัน อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึง อ่าน และแสดงความคิดเห็นได้ จึงเป็นการไม่แสดงความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตรีย์ ก่อให้เกิดความเสียหายและทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

    จากนั้นพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดนครพนมเพื่อฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ศาลอนุญาตให้ฝากขัง โดยญาติยังเตรียมหลักทรัพย์ประกันไม่ทัน อิศเรศจึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำจังหวัดนครพนม

    เย็นวันต่อมาอิศเรศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังพี่สาวยื่นประกันตัว โดยใช้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันในวงเงิน 150,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกัน โดยให้ไปรายงานตัวทุก 12 วัน

    การกระทำที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีเกิดขึ้นในช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 โดยอิศเรศถูกศาลจังหวัดนครพนมออกหมายจับในวันที่ 18 ต.ค. 2559 ซึ่งบรรยากาศในขณะนั้น นอกจากเต็มไปด้วยความความโศกเศร้าอาลัยของประชาชนแล้ว ยังตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองในประเด็นการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จนเกิดการ “ล่าแม่มด” ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีประชาชนด้วยมาตรา 112 อย่างเข้มข้น ในช่วงเวลาราว 1 เดือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวว่า มีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 27 คดี

    อย่างไรก็ตาม พบว่าคดีเหล่านี้บางคดีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง บางคดีศาลเปลี่ยนไปลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนครพนม ลงวันที่ 22 ก.ย. 2563 และ https://tlhr2014.com/?p=24029)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอิศเรศ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ซึ่งเป็นของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/?p=24029)

  • เวลา 09.00 น. อิศเรศ เดินทางไปศาลเพื่อรายงานตัวตามสัญญาประกันในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้ทราบว่า พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 และให้อิศเรศพร้อมทนายความไปที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

    ศาลได้อธิบายคำฟ้อง และสิทธิของจำเลย จากนั้นได้ถามอิศเรศว่ามีทนายหรือยัง ประสงค์จะให้ศาลแต่งตั้งทนายว่าความให้หรือไม่ อิศเรศแถลงว่าได้แต่งตั้งทนายแล้ว ศาลจึงถามว่า เบื้องต้นจำเลยประสงค์จะให้การอย่างไร อิศเรศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลได้นัดอิศเรศมาศาลเพื่อถามคำให้การอีกครั้งในวันที่ 29 ธ.ค. 2563

    ต่อมา ศาลพิจารณาคำร้องขอประกันตัวที่ทนายความได้ยื่นต่อศาล โดยใช้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและโฉนดที่ดินในวงเงินรวม 200,000 บาท วางเป็นหลักประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันเดิมที่อิศเรศได้วางไว้ในการยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักประกันเดิม

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในวันนี้มีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นนายประกันให้อิศเรศเดินทางมาเซ็นสัญญาประกันได้ในช่วงบ่าย ระหว่างนั้นอิศเรศถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องรอประกัน และได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 13.30 น.

    อิศเรศเปิดเผยภายหลังได้รับการปล่อยตัวว่า เขาคิดว่าที่อัยการฟ้องเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำชับให้ใช้มาตรา 112 แต่ก็ไม่เป็นไร เขาพร้อมสู้คดี

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2563 และ
    https://tlhr2014.com/?p=24029)
  • ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้อิศเรศฟังอีกครั้ง และถามคำให้การ อิศเรศยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามคำให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลในวันนี้ เนื่องจากการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยโพสต์ข้อความด้วยเจตนาดีและเป็นห่วง อีกทั้งข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ศาลพยายามโน้มน้าวให้จำเลยรับสารภาพ ระบุว่า หากเบิกความจะมีคนมาเกี่ยวข้องหลายส่วน จำเลยจะได้รับอันตราย หากจำเลยรับสารภาพ ศาลก็ยังจะยกประเด็นที่ว่า ข้อความไม่เข้าองค์ประกอบความผิดมาพิจารณา แต่จำเลยยืนยันปฏิเสธเช่นเดิม

    ในวันนี้ทั้งโจทก์และจำเลยยังได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานในวันที่ 14 ม.ค. 2564 เวลา 9.00 น.
    วันเดียวกันนี้ พี่สาวและแม่ของจำเลยได้เดินทางมาศาลด้วย เพื่อทำเรื่องถอนหลักประกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และโฉนดที่ดิน ทนายจำเลยได้ติดต่อขอใช้เงินสดจากกองทุนดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ยื่นเป็นหลักประกันแทน รวมทั้งเป็นนายประกันแทนพี่สาวของอิศเรศด้วย

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2563)
  • นัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน อัยการแถลงมีพยานบุคคลนำสืบรวม 12 ปาก ขณะทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์จริง แต่ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ตามที่โจทก์ฟ้อง โดยมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และ ดร.อิสระ ชูศรี นักวิชาการสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยมาเพิ่มเติมในวันนี้ โดยในการสืบพยานจำเลยปาก ดร.อิสระ ขอให้สืบพยานทางจอภาพจากศาลจังหวัดนครปฐม ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 21-23 เม.ย. 2564

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 14 ม.ค. 2564)
  • ก่อนถึงวันนัด เจ้าหน้าที่แจ้งว่าศาลมีคำสั่งเลื่อนการสืบพยาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่ในวันที่ 30 มิ.ย. 2564
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังอีกครั้ง จําเลยยืนยันให้การปฏิเสธ จากนั้นโจทก์แถลงว่าหากจําเลยและทนายจําเลยรับข้อเท็จจริงได้ว่าพยานโจทก์อันดับที่ 9 และ 10 ตามบัญชีระบุพยานโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 ธ.ค. 2563 เป็นพนักงานสืบสวนในคดีนี้ โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลทั้งสองปากดังกล่าว จําเลยและทนายจําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น

    โจทก์แถลงว่ายังคงติดใจสืบพยานโจทก์ปากอื่นอีกรวม 9 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด จําเลยและทนายจําเลยแถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 2 ปาก ตามบัญชีระบุ พยานฉบับลงวันที่ 29 ธ.ค. 2563 และฉบับลงวันที่ 14 ม.ค. 2564 โดยจําเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ส่วนพยานจําเลยปาก ดร.อิสระ ชูศรี มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ขออนุญาตศาลสืบพยานบุคคลปากดังกล่าวผ่านจอภาพไปยังศาลจังหวัดนครปฐม และขอใช้วันนัดสืบพยานจําเลยครึ่งนัด กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4 พ.ย. 2564 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 5 พ.ย. 2564

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2564)
  • นัดสืบพยานโจทก์วันแรก มีพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 5 ปาก ทหารผู้กล่าวหา, กอ.รมน., สท.เพื่อนรุ่นพี่, ผญบ. และทนายผู้ให้ความเห็น

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1 จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ

    ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่ง ช่างไฟฟ้าประปา มทบ.210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ช่วยราชการเป็นผู้ช่วยหัวหน้าชุดรวบรวมตรวจสอบข่าวสารงานด้านความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 สนับสนุนด้านการข่าว กอ.รมน.จังหวัดนครพนม ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2557-2561 จึงลาออกจากราชการ

    เป็นผู้กล่าวหาอิศเรศซึ่งใช้นามแฝงในเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ว่าได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นข้อความว่า “เกิน 24 ชั่วโมง ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” โดยเมื่อพยานเห็นข้อความดังกล่าวจึงนำเรียนผู้บังคับบัญชา เพราะเห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการดูหมิ่นสถาบันฯ ผู้บังคับบัญชาจึงประสานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว จากนั้นผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานเข้าแจ้งความอิศเรศที่ สภ.ท่าอุเทน เนื่องจากขณะนั้นพยานไปปฏิบัติงานที่นั่น

    ในชั้นสอบสวน พยานได้ให้ความเห็นว่า ข้อความว่า “ได้โปรดอย่าตอแหล” นั้น พยานไม่ทราบว่า ใครตอแหล คำว่า “เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน” พยานก็ไม่ทราบว่าจำเลยหมายถึงผู้ใด คำว่า “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” พยานมีความเห็นว่าดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ พยานไม่รู้จักจำเลยมาก่อน

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    ทนายจำเลยถามว่า ที่พยานกล่าวหาว่าจำเลยโพสต์ประโยคที่ว่า “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ประโยคดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง กษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี

    พยานรับว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงแค่ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองสถาบันกษัตริย์

    พยานทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นองค์รัชทายาท แต่พยานไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 23, 24 บัญญัติไว้ว่า ประธานรัฐสภาเป็นผู้กราบบังคมทูลเชิญรัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์ รวมทั้งไม่ทราบว่าในวันที่ 13 ต.ค. 2559 หลังรัชกาลที่ 9 สวรรคต ได้มีการประชุม สนช.แต่ในบันทึกการประชุมไม่มีข้อความว่า ประธาน สนช.ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์

    พยานรับว่า ที่พยานเห็นโพสต์ดังกล่าวและรายงานผู้บังคับบัญชาว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นความรู้สึกและเข้าใจของพยานเองไม่ได้สอบถามประชาชนคนอื่น

    พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน โดยได้ให้การเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 พยานไม่เคยอ่านกฎมณเฑียรบาล และไม่ทราบว่า ในทางกฎหมายใครมีหน้าที่ผู้แต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่

    ++พยานโจทก์ปากที่ 2 มว.ต.สรวิฒย์ มาตย์แพงส์

    รับราชการที่สำนักงาน กอ.รมน.จังหวัดนครพนม ทำหน้าที่ธุรการงานข่าว เป็นชุดรวบรวมตรวจสอบข่าวสารเขตพื้นที่จังหวัดนครพนมตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

    เกี่ยวกับคดีนี้พยานเข้าให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนเนื่องจากเป็นผู้ตรวจพบข้อความใน เฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” ว่า “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทางดูหมิ่นให้ร้าย ส่วนข้อความอื่นที่จำเลยโพสต์ ได้แก่ “ได้โปรดอย่าตอแหล” พยานไม่ทราบว่า หมายถึงใคร ข้อความว่า “เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน” พยานก็ไม่รู้หมายถึงอะไร
    ข้อความที่พยานเห็นว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์คือข้อความว่า “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”

    คำว่า “บัลลังก์” ใช้กับสถาบันกษัตริย์เท่านั้น คนทั่วไปไม่ใช้

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    พยานรับว่าข้อความที่โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้นไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    นอกจากรูปภาพที่มีข้อความดังกล่าวแล้ว จำเลยยังได้โพสต์ข้อความประกอบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 พยานไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 มาก่อน และไม่ทราบว่าหลังรัชกาลที่ 9 สวรรคต ในเวลาที่จำเลยโพสต์ยังไม่มีการดำเนินการกราบทูลเชิญให้รัชทายาทเป็นกษัตริย์ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างไว้ทุกข์จึงยังไม่มีการดำเนินการ

    พยานไม่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์หรือไม่ ตลอดเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาราชวงศ์จักรีเคยเกิดเหตุชิงบัลลังก์หรือไม่ พยานไม่ทราบ รวมทั้งช่วงก่อนสวรรคตมีเหตุที่ทำให้ประชาชนอาจเข้าใจว่าเกิดศึกชิงบัลลังก์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ

    พยานเห็นว่า ข้อความที่จะเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือข้อความว่า “ศึกชิงบัลลังก์” เนื่องจากทำให้เข้าใจว่ารัชทายาทจะแย่งกันชิงบัลลังก์ วันเกิดเหตุ หลังสวรรคต จะมีรัชทายาทกี่พระองค์ พยานไม่ทราบ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 3 จ.อ.ภิญโญ ศรีสวัสดิ์ อายุ 46 ปี รับราชการอยู่ที่เทศบาลตำบลท่าอุเทน

    ที่พยานมาให้การเป็นพยานกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากรู้จักกับจำเลยตั้งแต่เรียนชั้น ม.ต้น ที่โรงเรียนชัยบุรีวิทยาคม โดยจำเลยเป็นเพื่อนรุ่นน้อง พยานติดตามความเคลื่อนไหวของจำเลยจากเฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” พยานเห็นทุกข้อความที่จำเลยโพสต์ในเฟซบุ๊ก เนื่องจากเป็นเพื่อนกันทางเฟซบุ๊กด้วย พยานทราบว่าจำเลยบวช โดยเห็นจำเลยที่วัดพระธาตุท่าอุเทน ก่อนรัชกาลที่ 9 สวรรคต 3-4 ปี

    ข้อความที่พนักงานสอบสวนให้พยานอ่านและให้ความเห็นมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งกษัตริย์ ซึ่งพยานเห็นแล้วรู้สึกว่า หมิ่นเหม่ที่จะหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าเกี่ยวกับการแต่งตั้งสถาบันกษัตริย์ ข้อความที่จะหมิ่นสถาบันกษัตริย์คือคำว่า “ศึกชิงบัลลังก์” เพราะหมายถึงคนในพระราชวงศ์แย่งชิงกันเป็นกษัตริย์

    พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    พยานให้การเป็นพยานในคดีนี้ เนื่องจากตำรวจสอบถามว่ารู้จักจำเลยหรือไม่ และนำเอาข้อความที่จำเลยโพสต์มาให้ดูและให้ความเห็น แต่ก่อนหน้านั้นพยานก็ได้เห็นข้อความดังกล่าว แต่ไม่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี หลังตำรวจนำข้อความ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” มาให้อ่านพยานให้ความเห็นว่าได้เห็นโพสต์ดังกล่าว แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่งตั้งกษัตริย์ พยานไม่มีความรู้ รวมทั้งไม่ทราบเกี่ยวกับวิธีการแต่งตั้งกษัตริย์ ทั้งไม่ทราบว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น คุ้มครองผู้ใดบ้าง

    ก่อนหน้าที่พยานเข้าให้การกับตำรวจ พยานเห็นโพสต์ของจำเลยว่าเกี่ยวกับกษัตริย์จึงได้พูดคุยกับญาติของจำเลยซึ่งเป็นลูกน้องของพยานว่า เป็นห่วงว่าข้อความดังกล่าวจะหมิ่นเหม่กลัวเขาจะฟ้อง ให้ตักเตือนจำเลยว่า เบาๆ หน่อย

    ที่พยานห่วงใยจำเลยเพราะข้อความดังกล่าวมีคำว่า “กษัตริย์” และ “ชิงบัลลังก์” แต่ข้อความดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 4 อารี ดวงสงค์

    ขณะเกิดเหตุเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยจำเลยเป็นลูกบ้านของพยานแต่ไม่ค่อยได้อยู่ในพื้นที่ ไปทำงานที่อื่น เคยมาบวชที่วัดพระธาตุท่าอุเทนก่อนที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต พยานยืนยันคำให้การที่ได้ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พยานเคยให้การไว้ว่า ข้อความที่กล่าวหาจำเลยว่าโพสต์ไม่เหมาะสมคือ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้นพยานก็ไม่เข้าใจความหมายว่า หมายความว่าอย่างไร

    พยานมีเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ข้อความที่พนักงานสอบสวนนำมาถามนั้น พยานไม่เคยเห็นและไม่ทราบรายละเอียด พยานรับว่าบันทึกคำให้การของพยานดังกล่าว พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำเอกสารและนำมาให้พยานอ่านทวนและลงลายมือชื่อ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 5 เฉลิมชัย อินทรศรี อายุ 65 ปี อาชีพทนายความ

    พยานไปให้การเป็นพยานกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ในฐานะนักวิชาชีพนักกฎหมาย เกี่ยวกับข้อความที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊ก พยานจำไม่ได้ว่าโพสต์อะไร แต่ยืนยันคำให้การที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน

    ข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น พยานเห็นว่าไม่เหมาะสมกับกาละเทศะ เพราะอยู่ระหว่างการแต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่แทนรัชกาลที่ 9 ทำให้ประชาชนที่เห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจสถาบันกษัตริย์ไปในทางที่ไม่ดี มีการแย่งชิงทรัพย์สมบัติ ซึ่งทำให้เห็นว่า กษัตริย์กับสามัญชนก็ไม่แตกต่างกัน

    พยานไม่รู้จักกับจำเลยมาก่อน พยานยืนยันว่าพนักงานสอบสวนให้พยานดูข้อความดังกล่าวและถามความเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่ได้ถามว่าเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    ข้อความดังกล่าวไม่ได้เอ่ยถึงพระนามของกษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พยานทราบว่า รัชกาลที่ 9 สวรรคตวันที่ 13 ต.ค. แต่จำปีไม่ได้ พยานไม่ทราบขั้นตอนทางกฎหมายในการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวพยานทราบว่ามีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่พยานจำรายละเอียดไม่ได้ พยานทราบว่ามีการอัญเชิญพระบรมโอรสาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ มีการถ่ายทอดสด แต่พยานจำไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ จะใช่วันที่ 1 ธันวาคม หรือไม่ พยานไม่ยืนยัน

    หลังรัชกาลที่ 9 สวรรคตภายใน 24 ชั่วโมงจะมีการแต่งตั้งกษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ทราบ ที่พยานให้ความเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่เหมาะสมนั้น พยานไม่ยืนยันว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนข้อความดังกล่าวเป็นการอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ พยานเห็นว่าเป็นเรื่องภายในของกษัตริย์

    ขณะรัชกาลที่ 9 สวรรคต จะมีรัชทายาทกี่พระองค์ มากกว่า 1 หรือไม่ พยานจำไม่ได้ ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรีจะมีการแย่งชิงบัลลังก์มาก่อนหรือไม่ พยานไม่ขอออกความเห็น

  • นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 เดิมโจทก์แถลงนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน โจทก์ได้ถามทนายจำเลยว่า จะรับบันทึกคำให้การของพยานปากชุดจับกุมได้หรือไม่ ทนายจำเลยดูเอกสารแล้วแถลงรับ โจทก์จึงไม่ติดใจสืบ ส่วนพยานตำรวจปากคณะกรรมการกลั่นกรองคดีหมิ่นฯ พยานลืมนัด ประกอบกับติดประชุมจึงขอเลื่อนไปสืบผ่านคอนเฟอเรนซ์ในวันที่ 5 พ.ย. ช่วงเช้า จากนั้น พยานปากครูภาษาไทย และคณะพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความจนเสร็จในช่วงเช้า

    ++พยานโจทก์ปากที่ 6 ปราณีต วดีศิริศักดิ์ รับราชการครูประจำภาควิชาภาษาไทย

    เบิกความว่า เหตุที่เข้ามาเป็นพยานในคดีนี้เนื่องจากพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรท่าอุเทน มีหนังสือเชิญไปที่โรงเรียน และผู้อำนวยการส่งให้มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย

    พนักงานสอบสวนให้พยานดูข้อความที่จำเลยโพสต์ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” แล้วให้แปลความหมาย พยานอ่านแล้วให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม ส่อให้คนอ่านอาจคิดไปในทางที่ไม่ดีได้ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่ไม่ดี เนื่องจากมีคำว่า “ศึกชิงบัลลังก์” “บัลลังก์” หมายถึงสถาบันกษัตริย์ “ศึกชิง” แปลว่าต้องมีคู่ต่อสู้ ถ้าคนที่ไม่มีวิจารณญานอ่านแล้วก็จะอาจตีความไปในทางเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

    พยานไม่ได้ยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวผิดกฎหมาย พยานเพียงแต่แปลความหมายในฐานะอาจารย์ภาษาไทยเท่านั้น พยานไม่ทราบว่าใครโพสต์เห็นจากที่พนักงานสอบสวนให้ดูว่าเป็น เฟซบุ๊กบัญชี “ชาตินักรบ เสือสมิง” แต่พยานไม่รู้จัก ว่าเป็นใคร

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    พนักงานสอบสวนให้พยานดูข้อความ “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” เพียงข้อความเดียว เฉพาะที่โพสต์เป็นรูปเท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์ประกอบ จำไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนให้พยานตีความหรือไม่

    ข้อความ “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” เป็นประโยคบอกเล่า ในลักษณะแสดงความเห็นของผู้โพสต์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และไม่มีการกล่าวถึงพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมทั้งไม่มีข้อความที่แสดงความอาฆาตมาดร้าย

    ตามที่พยานเข้าใจ พระบรมวงศานุวงศ์ตำแหน่งสยามมกุฏราชกุมารหรือสยามมกุฎราชกุมารี เท่านั้นที่มีสิทธิขึ้นครองราชย์ ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 1 พระองค์

    ตามที่พนักงานสอบสวนให้พยานดูโพสต์ดังกล่าวพยานจำไม่ได้ว่าจำเลยโพสต์เมื่อไหร่ และไม่แน่ใจว่า รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เมื่อไหร่ ส่วนขั้นตอนกระบวนการในการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่นั้นพยานทราบเพียงว่าจะต้องมีการแต่งตั้ง แต่ใครเป็นผู้แต่งตั้งพยานไม่ทราบ

    พยานไม่ทราบว่า หลังจากรัชกาลที่ 9 สวรรคต จะได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่ออัญเชิญพระบรมโอรสาธิราชขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 23, 24 หรือไม่ ตามที่ทนายจำเลยให้ดูบันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 ไม่มีขั้นตอนดังกล่าว

    #ตอบโจทก์ถามติง
    แม้ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่เอ่ยถึงพระนามของกษัตริย์ แต่คำว่า “บัลลังก์” ส่อให้เข้าใจถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ทำให้คนอ่านตีความไปในทางที่ไม่ดี เกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ เกิดความเข้าใจว่ามีความขัดแย้งในสถาบันกษัตริย์

    ++พยานโจทก์ปากที่ 7 พ.ต.อ.ปราโมทย์ อุทากิจ รับราชการตำรวจ สังกัดตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ตำแหน่งผู้กำกับสอบสวน ได้รับการแต่งตั้งจากตำรวจภูธรภาค 4 ให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสำนวนนี้

    เบิกความว่า ผู้กล่าวหาร้องทุกข์ที่ สภ.ท่าอุเทน พนักงานสอบสวน สภ.ท่าอุเทน รวบรวมพยานเบื้องต้นเห็นว่า เป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกันในหลายท้องที่จึงทำหนังสือไปที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เพื่อให้ชี้ขาดเขตอำนาจการสอบสวน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้ชี้ขาดให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน พร้อมกับแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนและแต่งตั้งพยานเป็นคณะพนักงานสอบสวน

    คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องอิศเรศ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตัวมา จึงเสนอสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีความเห็นควรสั่งฟ้อง และเสนอสำนวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายหลังคณะกรรมการฯ มีความเห็นควรสั่งฟ้องอิศเรศ จึงเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาลงนาม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงนามเห็นควรสั่งฟ้อง แล้วส่งเรื่องกลับมายังผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมให้ดำเนินคดีอิศเรศ ซึ่งมีการขออนุมัติออกหมายจับไว้แล้ว

    เจ้าหน้าที่จับอิศเรศได้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครพนม พยานเป็นผู้รับตัว ได้แจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ พยานได้อ่านข้อความในบันทึกคำให้การและให้จำเลยอ่านเอง ก่อนให้จำเลยลงลายมือชื่อ โดยมีทนายความจากสภาทนายความจังหวัดนครพนม และผู้ที่ไว้วางใจคือพี่สาวของจำเลยเข้าร่วม พร้อมลงลายมือชื่อ

    #ตอบทนายจำเลยถามค้าน
    ข้อความที่อิศเรศโพสต์ พยานเห็นว่าไม่มีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่มีคำว่ากษัตริย์อยู่ พยานรับว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคล 4 บุคคลดังกล่าว และประโยคที่จำเลยถูกกล่าวหา เมื่ออ่านแล้วต้องมีการตีความ

    พยานทราบว่า จำเลยโพสต์ดังกล่าวในวันที่ 14 ต.ค. 2559 แต่ในเวลาที่จำเลยโพสต์จะมีการอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แล้วหรือไม่ พยานไม่ทราบ พยานไม่ทราบแน่ชัดถึงขั้นตอนในการอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์ และไม่ทราบว่าหลังจากรัชกาลที่ 9 สวรรคตแล้ว ในวันที่ 13 ต.ค. 2559 เวลา 23.30 น. สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาฯ แต่ไม่ได้มีการอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ตามรัฐธรรมนูญ

    พยานไม่ทราบด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงว่า ยังไม่มีการกราบทูลเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์ เนื่องจากพระองค์ขอไว้ทุกข์ก่อน ต่อมามีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรื่องอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์ในวันที่ 1 ธ.ค. 2559 พยานเคยอ่านกฎมนเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แต่จำไม่ได้

    พยานรับว่า ข้อความที่กล่าวหาจำเลยนั้น ไม่ได้มีถ้อยคำที่หยาบคาย และเห็นว่า ประชาชนทั่วไปย่อมสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ได้ ทั้งนี้ข้อความที่จำเลยโพสต์แม้พยานเห็นว่า เป็นประโยคที่ยืนยันข้อเท็จจริงว่ามีศึกชิงบัลลังก์ แต่ไม่ได้ชี้เฉพาะว่าใครชิงบัลลังก์ใคร

    #ตอบโจทก์ถามติง
    พยานเห็นว่า ประชาชนทั่วไปเมื่ออ่านข้อความที่จำเลยโพสต์แล้วตีความเข้าใจได้ว่า บัลลังก์ หมายถึง สถาบันกษัตริย์

    ในการดำเนินคดีกับจำเลยพยานไม่ได้นำเรื่องรัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลมาพิจารณา พิจารณาแต่ข้อเท็จจริงคือข้อความที่จำเลยโพสต์เท่านั้น ซึ่งวิญญูชนอ่านเชื่อมต่อแล้วเข้าใจได้ว่า รัชทายาทมีการชิงบัลลังก์กับบุคคลอื่น ทำให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกอาฆาตมาดร้ายได้

  • นัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายทางจอภาพจากศาลอาญา พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำหนังสือแจ้งศาลว่า ติดภารกิจด่วนปิดท้ายขบวนเสด็จ มาเบิกความทางจอภาพไม่ได้ ศาลให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายและพยานจำเลย 1 ปาก คือตัวจำเลย ในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ส่วนพยานจำเลยอีกปาก ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจนำเข้าเบิกความ

    อิศเรศกล่าวว่า ไม่คัดค้านการเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย แต่ก็อยากให้เสร็จไวๆ ถ้าไม่เลื่อนก็ดี เพราะเขาได้เสียค่ารถ ค่าโรงแรมมาแล้ว ถ้าเลื่อนก็เลื่อนออกไปนานสักหน่อยให้มีเวลาได้หาค่ารถ
  • ศาลนครพนมนัดสืบพยานวันสุดท้าย สืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ผ่านจอภาพจากศาลอาญา และอิศเรศเบิกความเป็นพยานจำเลย ศาลนัดฟังคำพิพากษา 16 มี.ค. 2565 ที่นัดเป็นเวลานานเพราะต้องส่งสำนวนให้ภาคตรวจก่อน

    ++พยานโจทก์ปากที่ 8 พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รองผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 8

    เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ในปี 2560 พยานมีตําแหน่งผู้บังคับการกองคดีอาญา สํานักงานกองคดีและกฎหมาย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามคําสั่ง สตช.ที่ 122/2553 มีหน้าที่ในการพิจารณาสํานวนและมีความเห็นในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

    ระหว่างนั้นพยานได้รับสํานวนการสอบสวนจากกองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 4 ซึ่งเป็นสํานวนของ สภ.เมืองนครพนม เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ผลการพิจารณาคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า คดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าว จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี และเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง พยานจึงจัดทำสำนวนเสนอผ่านรอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง ไปยัง ผบ.ตร.เพื่อให้มีความเห็นตามระเบียบ โดย ผบ.ตร.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง

    #ตอบทนายจําเลยถามค้าน
    พล.ต.ต.สหรัฐ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่มีข้อความที่บัญญัติถึงสถาบันกษัตริย์ และข้อความจำเลยโพสต์ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย ไม่มีการระบุพระนามของบุคคลทั้งสี่ที่มาตรา 112 คุ้มครอง แต่พยานไม่ได้มีคําสั่งให้ สภ.เมืองนครพนม สอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อความดังกล่าวว่า ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่

    พยานเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อความที่เป็นความผิดตามกฎหมายกับข้อความที่ไม่ถูกกาลเทศะนั้นแตกต่างกัน

    พยานจําไม่ได้ว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2559 ซึ่งจำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น คณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้ สนช. ทราบว่า รัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตแล้วหรือไม่ จําไม่ได้ด้วยว่าในวันดังกล่าว สนช.จะได้ประกาศให้ประชาชนทราบเรื่องดังกล่าวทั่วกันแล้วหรือไม่ รวมทั้งจําไม่ได้ว่า สนช.กราบทูลเชิญพระบรมฯ ขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 9 เมื่อไหร่

    พยานทราบว่า พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องมีผู้สืบทอดต่อกันไปโดยไม่มีการว่างเว้นแม้แต่นาทีเดียว ตามกฎมณเฑียรบาล พระมหากษัตริย์ต้องมีการแต่งตั้งรัชทายาท และพยานทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้ว คือ พระบรมโอรสาธิราชฯ แต่พยานจําไม่ได้แล้วว่า ในวันที่ 13 ต.ค. 2559 รัฐบาลจะได้เข้าเฝ้าพระบรมโอรสาธิราชฯ และทรงตรัสว่า จะยังไม่เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อหรือไม่

    นอกจากนี้ พยานยังไม่เคยทราบข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุยังไม่มีการประกาศผู้สืบสันตติวงศ์ ตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงว่า ยังไม่มีการกราบทูลเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์

    ในฐานะที่พยานเป็นประชาชนชาวไทยคนหนึ่งเห็นว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์สวรรคต แต่ผู้ที่มีหน้าที่ประกาศให้รัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไปยังไม่มีการทำหน้าที่นั้น ประชาชนก็มีสิทธิห่วงกังวลและตั้งคําถามต่อกรณีดังกล่าว

    พยานเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง หรือเป็นการระบุเฉพาะเจาะจงถึงสิ่งใด ส่วนการตีความขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเห็นของผู้อ่านแต่ละคน

    #ตอบโจทก์ถามติง
    พยานเห็นว่า คําว่า “สถาบัน" นั้นหมายรวมถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ด้วย ส่วนคําว่า “บัลลังก์” จะใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช้กับบุคคลทั่วไป

    ที่คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ไม่ได้ให้พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองนครพนม ทําการสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากพยานหลักฐานเพียงพอ และการกระทําของจําเลยถือว่าครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว พยานมีความเห็นว่าข้อความตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นข้อความที่ผิดกฎหมาย แม้ประชาชนจะสามารถตั้งคําถามถึงการแต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ แต่การโพสต์ของจำเลยเป็นการไม่สมควร

    ++พยานจําเลย

    อิศเรศ จำเลย อ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียว ระบุว่า พยานเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี “ชาตินักรบ เสือสมิง” และโพสต์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้องด้วยตนเอง ปัจจุบันพยานปิดการใช้งานบัญชีดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากเดิมบัญชีนี้ใช้ในการโพสต์กิจกรรมของวัดพระธาตุท่าอุเทน เมื่อพยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุท่าอุเทนแล้ว จึงไม่ได้ใช้บัญชีดังกล่าวต่อไป

    ขณะที่พยานโพสต์ข้อความตามฟ้องนั้น พยานบวชเป็นพระลูกวัดอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน โดยพยานมีความสนใจในเรื่องของกฎหมาย การเมือง และข่าวสารบ้านเมือง จึงศึกษาด้วยตนเอง พยานยังสนใจเรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 23, 24 ด้วย โดยพยานศึกษาจนเข้าใจ

    สําหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ซึ่งพยานจำไม่ได้ว่าวันไหน ตัวพยานซึ่งได้ศึกษารัฐธรรมนูญจึงมีความเข้าใจว่า ประธาน สนช. จะต้องอัญเชิญรัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แต่ขณะนั้นไม่ปรากฏว่า ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ดําเนินการตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีการประกาศให้ประชาชนรู้ พยานมีความรู้สึกห่วงใย จึงโพสต์ข้อความตามฟ้องไป ด้วยความต้องการเห็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ติดต่อกันไปโดยเร็ว

    พยานเห็นว่า ประชาชนทั่วไปมีสิทธิตั้งคําถามต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งบัลลังก์พระมหากษัตริย์ว่างลง แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้อัญเชิญรัชทายาทที่รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งไว้เพียงพระองค์เดียว ขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่มาวัดก็ยังพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว ประกอบกับพยานทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 7 เคยมีเหตุการณ์ชิงราชสมบัติมาก่อน ซึ่งทำให้พยานรู้สึกไม่สบายใจ เป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก พยานจึงโพสต์ข้อความตามฟ้องไปด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง และคิดว่าไม่ได้เป็นการผิดกฎหมาย

    ในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์หากไม่ดําเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พยานเห็นว่า ประชาชนก็มีสิทธิตั้งคำถามเช่นกัน

    ในชั้นสอบสวน พยานให้การรับสารภาพเพียงเฉพาะว่า พยานเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก และเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริงเท่านั้น พยานไม่ได้ให้การรับสารภาพว่า กระทําความผิดตามมาตรา 112 โดยพยานแจ้งกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า ในส่วนที่กล่าวหาว่า พยานกระทําความผิดตามมาตรา 112 นั้น พยานจะขอให้การในชั้นศาล แต่ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ทั้งนี้ ทนายความซึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยไม่ได้ให้คําปรึกษา และพนักงานสอบสวนก็เพียงแต่ถามว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธเท่านั้น พยานจึงให้การรับสารภาพไป

    พยานไม่เคยถูกดําเนินคดีในความผิดฐานอื่นมาก่อน และพยานไม่เคยได้รับการตักเตือนจากบุคคลอื่นว่า พยานมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 15 ต.ค. 2559 พยานยังได้โพสต์ “น้อมเกล้าร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่เข้าใจพยานผิด ได้รับทราบว่า พยานเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดี

    #ตอบโจทก์ถามค้าน
    ก่อนเกิดเหตุ พยานเคยใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” โพสต์ต่อต้านศาสนาอิสลาม คำให้การในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏข้อความที่พยานให้การว่า ขอให้การในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในชั้นศาล

    ที่พยานเบิกความว่า ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการแย่งชิงบัลลังก์นั้น เป็นการแย่งชิงของบุคคลภายนอก ไม่ใช่การแย่งชิงกันเองของราชวงศ์ และที่พยานเบิกความว่า มีความห่วงกังวล ห่วงใย ต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นความคิดของพยานเอง แต่ก็มีบุคคลอื่นคิดเช่นเดียวกัน

    #ตอบทนายจําเลยถามติง
    ในชั้นสอบสวนมีทนายเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่ทนายความไม่ได้ให้คําปรึกษาแก่พยาน พนักงานสอบสวนเองก็เพียงแต่สอบถามพยานว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าพยานสามารถให้การรับว่าโพสต์จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 ได้ พยานจึงให้การรับสารภาพไป โดยให้การไว้ด้วยว่า ส่วนข้อเท็จจริงและรายละเอียด พยานจะขอไปให้การในชั้นศาล

    ข้อความตามฟ้องที่พยานโพสต์ไปนั้น พยานไม่ได้สื่อให้เห็นว่า เป็นการแย่งชิงบัลลังก์กันเองในราชวงศ์ แต่ต้องการจะสื่อว่า บุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอัญเชิญรัชทายาทขึ้นสืบราชสันตติวงศ์นั้น ไม่กระทําการตามหน้าที่ อันทําให้พยานเกิดความห่วงใยว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์บุคคลภายนอกขัดขวางการสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์องค์ต่อไป



  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดี ประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาล โดยสรุปข้อสังเกตในคดีมีเนื้อหาดังนี้

    คำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จำเลยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” และโพสต์ข้อความตามคำฟ้องของโจทก์เองจริง แต่ข้อความดังกล่าวไม่มีเนื้อหาที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กล่าวคือ

    1. ไม่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้บัญญัติถึงการกระทําที่เป็นการหมิ่นประมาทไว้ว่า จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความเช่นว่านั้น หมายถึงว่า จําเลยจะต้องโพสต์ข้อความในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริง ทําให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหาย แต่ปราณีต พยานโจทก์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ได้เบิกความให้ความเห็นว่า ข้อความ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ที่จำเลยโพสต์ เป็นลักษณะของการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง และไม่มีการเอ่ยถึงพระนามของบุคคลตามมาตรา 112 ดังนั้น จึงไม่อาจเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทผู้ใดได้

    2. ไม่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น การพิจารณาว่าการกระทําใดเป็นการดูหมิ่น ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือมาตรา 393 ซึ่งระบุว่า จะต้องเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทําให้ผู้ถูกดูหมิ่นเกิดความอับอาย หรือลดทอนคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่น เช่น ยกส้นเท้า ถ่มน้ำลาย ด่าด้วยถ้อยคําหยาบคาย แต่ข้อความ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ไม่มีข้อความใดที่มีลักษณะดูถูก เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่าบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง ทั้งไม่มีข้อความหยาบคาย จึงไม่อาจนับว่าเป็นข้อความดูหมิ่นตามมาตรา 112 ได้

    3. ไม่มีลักษณะเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ การพิจารณาว่าการกระทําใดเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคลดังกล่าว จะต้องพิจารณาถึงเจตนาและคําพูดที่ใช้ ซึ่งต้องมีเจตนามุ่งร้าย ประสงค์ร้าย หรือแสดงอาการว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ แต่ข้อความที่จำเลยโพสต์ ไม่มีความข้อใดที่เป็นการมุ่งร้ายต่อผู้ใดทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาประกอบคําเบิกความของจําเลย จะเห็นว่า จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวก็ด้วยความรู้สึกห่วงใย ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ขึ้นทรงราชย์ติดต่อกันไป

    4. บุคคลที่มาตรา 112 มุ่งหมายให้ความคุ้มครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ และไม่อาจตีความขยายรวมไปถึงสถานะอย่างอื่น เช่น “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นคําที่มีความหมายคลุมเครือเลื่อนลอย ไม่อาจหาความจํากัดความที่แน่นอนได้ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ การตีความ และขัดต่อหลักการใช้และการตีความกฎหมายอาญา ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่ขยายออกไปจนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินจําเป็น

    นอกจากนี้ คําว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ก็มิใช่ถ้อยคําที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังปรากฏในการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 7 ม.ค. 2484 ซึ่งหลวงประสาทศุภนิติได้ซักถามในที่ประชุมว่า หากจะใช้คําว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จะเป็นอย่างไร หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ตอบว่า ปัจจุบันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีแต่ข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ดังนั้น จําเลยจึงมิได้กระทําผิดในข้อหาดังกล่าวตามคําฟ้องของโจทก์

    5. จําเลยเคยบวชเป็นพระภิกษุมากว่า 7 ปี แสดงให้เห็นว่า จําเลยมีความเลื่อมใสต่อพุทธศาสนา จําเลยยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติทั้ง 3 สถาบัน ดังที่จำเลยโพสต์ในวันที่ 15 ต.ค. 2559 ว่า “น้อมเกล้าร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” อีกทั้งจำเลยฝักใฝ่เรียนรู้กฎหมายด้วยตนเอง และได้อ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 23 และ 24 ซึ่งวางหลักการสืบราชสันตติวงศ์ว่า จะต้องมีความต่อเนื่องสืบกันไป ทําให้จําเลยคาดหมายว่า จะได้เห็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา แต่ผู้มีหน้าที่กราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จําเลยจึงได้โพสต์ข้อความดังกล่าวไปด้วยความห่วงใยว่าจะเกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อการดํารงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ หาใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แต่อย่างใด

    เมื่อพิเคราะห์ประกอบคําเบิกความของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งตอบคําถามค้านทนายจําเลยว่า ข้อความ “ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น ไม่มีข้อความหยาบคาย ไม่มีการระบุพระนามบุคคลตามมาตรา 112 อีกทั้งมาตรา 112 ไม่ได้บัญญัติถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” สอดคล้องกับเฉลิมชัย อินทรศรี ทนายความ ซึ่งตอบทนายจําเลยว่า ข้อความดังกล่าวไม่เหมาะสม แต่ไม่ยืนยันว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์อาจจะเป็นข้อความที่ไม่ถูกกาลเทศะอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    อาศัยเหตุและผลดังที่กล่าวมาข้างต้น จําเลยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาโดยยึดตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัด หากศาลพิจารณาเห็นว่าจําเลยได้กระทําผิดกฎหมาย จําเลยก็ยินดีที่จะรับโทษ แต่หากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดตามฟ้องโจทก์ ก็ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องในทุกข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: คำแถลงปิดคดี ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41372)
  • เวลา 09.00 น. อิศเรศ ซึ่งเดินทางมาจากบ้านภรรยาที่ลำปางล่วงหน้า 1 วัน และทนายความ ไปถึงศาลจังหวัดนครพนม ก่อนเข้าฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 โดยมีผู้สังเกตการณ์ 3 คน เข้าร่วมด้วย

    ปรินดา เวทพิสัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดมุกดาหาร เจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษาใจความว่า

    พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เวลา 22.19 น. จำเลยลงข้อความ “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัชเปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลาย ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศรัชกาลที่ 10… การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ลงในบัญชีเฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” ของจำเลย

    คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มี จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ เบิกความเป็นพยานว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มีนายหมวดตรีสรวิฒย์ มาตย์แพง เป็นพยานเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ มีจ่าเอกภิญโญ ศรีสวัสดิ์ เป็นพยานเบิกความว่าข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการที่จะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    มีนายอารี ดวงสงค์ เป็นพยานเบิกความว่า ชั้นสอบสวนพยานให้การไว้ตามบันทึกคำให้การเป็นพยานเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งพยานเคยให้การไว้ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ไม่เหมาะไม่ควร เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่คนไทยให้ความเคารพเชิดชู ถ้ามีการเผยแพร่อาจทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

    และมีนางปราณีต วดีศิริศักดิ์ เป็นพยานเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวอาจทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีข้อความว่าศึกชิงบัลลังก์หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากบุคคลที่ไม่มีวิจารณญาณอ่านข้อความแล้วก็อาจตีความไปในทางที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีพลตำรวจตรีสหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย เป็นพยานเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวสื่อความหมายให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยกำลังมีการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์

    เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากไม่มีปากใดที่ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความว่าข้อความตามฟ้องเป็นการที่จำเลยแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น

    ส่วนข้อความดังกล่าวจะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่นั้น หมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

    ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมจะต้องระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อพยานโจทก์ทุกปากล้วนแต่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ให้ร้าย สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นผลจากการตีความ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใครหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง

    ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินีหรือรัชทายาท พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยได้

    เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในสื่ออินเตอร์เน็ตเฟซบุ๊ก จึงไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

    ++อิศเรศเผย "ได้รับความยุติธรรม"

    อิศเรศเปิดเผยความรู้สึกภายหลังศาลจบคำพิพากษาและทั้งหมดออกจากห้องพิจารณาว่า “รู้สึกดีใจที่ศาลยังมีความยุติธรรม ยังฟังเหตุผลของเรา ผมก็เป็นพยานจำเลยเพียงปากเดียว อัยการซักค้านมายังไงผมก็ตอบไปตามความจริง เป็นความยุติธรรมที่ผมได้รับจากการต่อสู้คดีโดยการช่วยเหลือของทีมทนายความมา 1 ปีครึ่ง ซึ่งความรู้สึกตลอด 1 ปีครึ่งตั้งแต่ที่รับรู้ว่าถูกดำเนินคดีคือ เป็นกังวลว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับเราจริงมั้ย ในสถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นเผด็จการแบบนี้ด้วย คำพิพากษาจะออกมาแบบไหน ซึ่งความจริงผมไม่น่าจะโดนฟ้องด้วยซ้ำไป”

    “ผมไม่ได้กังวลว่าจะถูกจำคุก เพราะได้ผ่านการเป็นพระมาแล้ว เรียนรู้เรื่องการปล่อยวาง แต่กังวลว่ากระบวนการยุติธรรมจะผิดเพี้ยนไปมากกว่า พอได้ฟังคำพิพากษาวันนี้แล้วก็รู้สึกโล่งจากความกังวลที่มีมาตลอด ได้เห็นว่าศาลก็ยังเป็นที่พึ่งของเราได้อยู่ ให้ความเป็นธรรมกับเรา และให้คำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งว่ายกฟ้องเพราะเหตุใด”

    “นอกจากรู้สึกโล่งจากความกังวลที่อยู่ในใจมาตลอด ยังรู้สึกโล่งที่ภาระการเดินทางมาศาลจะหมดไป เนื่องจากในการเดินทางมาแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร บางเที่ยวมา 2 คนกับภรรยาด้วย ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมาก เป็นภาระหนักสำหรับเราที่ไม่ได้เป็นคนมีเงินมีทอง”

    ในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองนั้น อิศเรศกล่าวว่า ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีเขาก็ไม่ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีก รู้สึกว่าต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ซึ่งหลังจากนี้เขาก็ยังจะระมัดระวังไม่โพสต์อะไรที่สุ่มเสี่ยง แต่สำหรับการแสดงออกในลักษณะอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ไปร่วมชุมนุมถ้ามีโอกาส อิศเรศก็ยืนยันว่า ยังคงสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง อาจจะไปร่วมชุมนุม หรือช่วยเหลือพี่น้องนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในลักษณะอื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ให้ประเทศไทยได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.576/2565 ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41474)
  • อุดม คำจันทร์ อัยการอาวุโส (อัยการศาลสูงจังหวัดนครพนม) สำนักงานคดีศาลสูงภาค 4 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับเป็นลงโทษจําเลยตามฟ้อง

    คำอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจําเลย ระบุว่า โจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นรับฟังพยานของโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากทางนําสืบของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

    1. ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากไม่มีปากใดที่ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความว่า ข้อความที่จําเลยแสดงออกอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งข้อความ ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น…” นั้น

    พยานโจทก์ปาก จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ, นายหมวดตรีสรวิทย์ มาตย์แพง, จ่าเอกภิญโญ ศรีสวัสดิ์ และอารี ดวงสงค์ต่างให้การยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความดูหมิ่นหรือหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    เมื่อพิจารณาคําเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากข้างต้นร่วมกับข้อความที่จําเลยลงในเฟซบุ๊กแล้ว ย่อมทําให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านเกิดความรู้สึกว่า ข้อความที่ว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย….ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไร กัน เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น หมายถึง จะมีการชิงบัลลังก์ระหว่างรัชกาลที่ 10 กับเหล่าพระญาติ

    แม้พยานโจทก์แต่ละปากจะไม่เบิกความยืนยันโดยตรง ๆ ว่า เหตุที่ยังไม่แต่งตั้ง เพราะมีทายาทของรัชกาลที่ 9 จะเกิดการชิงไหวพริบหรือชิงตําแหน่งพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เป็นข้อเท็จจริงที่วิญญูชนย่อมรับรู้ได้ หรือเรียกว่า ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

    ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นข้อความที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการ จากการไม่รีบแต่งตั้งกษัตริย์

    2. ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม การดูหมิ่นก็ย่อมระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่น เป็นการยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นใคร หมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ…” นั้น

    จ.ส.อ.วรายุทธ์, นายหมวดตรีสรวิทย์ และอารี ต่างได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ คําว่า สถาบันกษัตริย์ ในความหมายของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป หมายถึงพระมหากษัตริย์

    ส่วนรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 10, พระราชินี ในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ตามข้างต้นล้วนถูกจําเลยใส่ความว่า อยู่ในระหว่างต่างชิงบัลลังก์กัน บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์ต่างย่อมเข้าใจว่า บุคคลที่จําเลยพาดพิงถึงนั้น คือ รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระพันปีหลวง นั่นเอง

    การที่จําเลยโพสต์ว่า “พวกมึงต่อรองอะไรกัน เกิน 24 ชม. แล้ว ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ คือ ศึกชิงบัลลังก์” นั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า หมายถึง กษัตริย์ แล้ว

    3. ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “ข้อความดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยาน ไม่พอรับฟังลงโทษได้…” นั้น

    โจทก์เห็นว่า พยานโจทก์ได้เบิกความในทํานองว่า เจ้าหน้าที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงจังหวัดนครพนม ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจําเลย ชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” โดยเฉพาะพยานโจทก์ปากนายหมวดตรีสรวิทย์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยว่า “ข้าฯ เข้าใจว่า ศึกชิงบัลลังก์ คือ การที่รัชทายาทจะแย่งกันดํารงตําแหน่งพระมหากษัตริย์”

    ซึ่งข้อความดังกล่าวย่อมเป็นการใส่ความว่า รัชทายาท (รัชกาลที่ 10) จะเปิดศึกชิงบัลลังก์กับสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการใส่ความว่า ในหมู่พระญาติมีความร้าวฉานแตกแยกขาดความสามัคคีกลมเกลียวกัน อันเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ โดยประการที่น่าจะทําให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่าน ดูหมิ่น เกลียดชังรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.576/2565 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/57831)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งปวงแล้ว และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยยกเหตุผลประกอบดังนี้

    1. ประเด็นที่โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ต่างให้การยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อพิจารณารวมกับข้อความ ย่อมทําให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านเกิดความรู้สึกว่า ข้อความที่ว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไร กัน เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น หมายถึง จะมีการชิงบัลลังก์ระหว่างรัชกาลที่ 10 กับเหล่าพระญาติ

    แม้พยานโจทก์แต่ละปากจะไม่เบิกความยืนยันโดยตรง ๆ ว่า เหตุที่ยังไม่แต่งตั้ง เพราะมีทายาทของรัชกาลที่ 9 จะเกิดการชิงไหวพริบหรือชิงตําแหน่งพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เป็นข้อเท็จจริงที่วิญญูชนย่อมรับรู้ได้ หรือเรียกว่า ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงกล่าวได้ว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นข้อความที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จากการไม่รีบแต่งตั้งกษัตริย์ นั้น

    จำเลยไม่เห็นพ้องเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการแสดงความอาฆาตมาดร้ายนั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาและคำพูดที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องมีเจตนามุ่งร้าย ประสงค์ร้าย หมายมั่นที่จะกระทำการด้วยวัตถุประสงค์อันมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย พระราชินี รัชทายาท หรือแสดงอาการว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ ซึ่งข้อความ “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น ไม่มีความข้อใดที่เป็นการมีเจตนามุ่งร้าย ประสงค์ร้าย หรือแสดงอาการว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคตต่อผู้ใดทั้งสิ้น

    และเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของจำเลยจะเห็นว่า จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยความรู้สึกห่วงใย ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ขึ้นทรงราชย์ติดต่อกันไป คำเบิกความของพยานโจทก์ที่โจทก์ยกมาอ้างก็ไม่มีปากใดยืนยันว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท

    นอกจากนี้ พยานปากนายอารียังได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่เข้าใจว่า ข้อความ “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น หมายความว่าอะไร ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่า การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล โจทก์จะอ้างว่าเป็น ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ไม่ได้

    อนึ่ง หากโจทก์จะยกเรื่อง ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มากล่าวอ้าง กรณีเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2515 รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาทเพื่อทรงสืบราชสันตติวงศ์เพียงพระองค์เดียว มิได้ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นใดเป็นองค์รัชทายาทอีก ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 200 ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจตีความข้อความที่จำเลยโพสต์ได้ว่า จะมีการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างรัชกาลที่ 10 กับเหล่าพระญาติ

    ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์มาในประเด็นที่ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์การแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จากการไม่รีบแต่งตั้งกษัตริย์นั้น จึงไม่เป็นความจริง

    2. ตามที่โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นการระบุถึงตัวบุคคลว่า จ.ส.อ.วรายุทธ์, นายหมวดตรีสรวิทย์ และอารี ต่างได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ คําว่า สถาบันกษัตริย์ ในความหมายของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป หมายถึง พระมหากษัตริย์

    ส่วนรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 10, พระราชินี ในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ตามข้างต้นล้วนถูกจําเลยใส่ความว่า อยู่ในระหว่างต่างชิงบัลลังก์กัน บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์ต่างย่อมเข้าใจว่า บุคคลที่จําเลยพาดพิงถึงนั้น คือ รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระพันปีหลวง นั้นเอง

    การที่จําเลยโพสต์ว่า “พวกมึงต่อรองอะไรกัน เกิน 24 ชม. แล้ว ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ คือ ศึกชิงบัลลังก์” นั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า หมายถึง กษัตริย์ แล้ว

    จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วย เนื่องจากไม่มีความข้อใดที่จำเลยกล่าวถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะเลย นอกจากนี้ ตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “สถาบันพระมหากษัตริย์” หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งมีหลายพระองค์ ดังนั้น การลงข้อความดังกล่าวของจำเลยจึงมิได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใด การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง

    การกระทำของจำเลยจึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และมิใช่การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์มิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    3. ที่โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ได้เบิกความในทํานองว่า เจ้าหน้าที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงจังหวัดนครพนม ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจําเลย ชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” โดยเฉพาะพยานโจทก์ปากนายหมวดตรีสรวิทย์ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า “ข้าฯ เข้าใจว่า ศึกชิงบัลลังก์ คือ การที่รัชทายาทจะแย่งกันดํารงตําแหน่งพระมหากษัตริย์” ซึ่งข้อความดังกล่าวย่อมเป็นการใส่ความว่า รัชทายาท (รัชกาลที่ 10) จะเปิดศึกชิงบัลลังก์กับสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการใส่ความว่า ในหมู่พระญาติมีความร้าวฉานแตกแยกขาดความสามัคคีกลมเกลียวกัน อันเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ

    คำอ้างดังกล่าวของโจทก์ไม่ควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับฟังเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการตีความโดยอาศัยความเข้าใจไปเองของโจทก์ และมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เนื่องจากการที่โจทก์อ้างคำเบิกความของนายหมวดตรีสรวิทย์ดังกล่าวก็เป็นการยกเพียงข้อความบางส่วนมากล่าวอ้างโดยบิดพลิ้วข้อเท็จจริง เพราะไม่มีพยานปากใดกล่าวอ้างถึงสมเด็จพระเทพฯ เลยแม้แต่น้อย

    อีกทั้งจำเลยเชื่อว่า โจทก์น่าจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในประเด็นข้อเท็จจริง เนื่องจากรัชทายาทที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามกฎหมายมีเพียงพระองค์เดียว คือ รัชกาลที่ 10 (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ ขณะนั้น) จึงไม่อาจมีผู้ใดแย่งชิงราชบัลลังก์ได้

    อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงคำเบิกความของจำเลยที่ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า “ที่ข้าฯ เบิกความว่า มีการแย่งชิงราชสมบัตินั้น เป็นการแย่งชิงของบุคคลภายนอกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การแย่งชิงกันเองในสถาบันพระมหากษัตริย์” ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยมุ่งหมายถึง อาจมีภัยคุกคามจากนอกสถาบันพระมหากษัตริย์

    การกระทำของจำเลยจึงกระทำไปด้วยเจตนาสุจริต มุ่งหวังจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเกรงว่าบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอัญเชิญรัชทายาทขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ไม่กระทำการตามหน้าที่ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.576/2565 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57831)
  • ศาลจังหวัดนครพนมนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทำให้อิศเรศเดินทางจากบ้านภรรยาในจังหวัดลำปางมาที่นครพนมอีกครั้ง

    ประมาณ 09.30 น. ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2566 ยกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น มีใจความดังนี้

    ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 เวลา 22.19 น. จําเลยลงข้อความ “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลาย ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทําไมจึงยังไม่ประกาศรัชกาลที่ 10… การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ลงในบัญชีเฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” ของจําเลย

    คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่

    โจทก์มี จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ และนายหมวดตรีสรวิทย์ มาตย์แพงศ์ เจ้าพนักงานกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครพนมเบิกความเป็นพยานในทํานองเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นและให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ กับจ่าเอกภิญโญ ศรีสวัสดิ์ เพื่อนจําเลย เบิกความเป็นพยานว่า ข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการที่จะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ คําว่า “ศึกชิงบัลลังก์” นั้นน่าจะหมายถึงความขัดแย้งและช่วงชิงกันในสถาบันพระมหากษัตริย์

    และอารี ดวงสงค์ อดีตผู้ใหญ่ที่จําเลยเป็นลูกบ้านเบิกความเป็นพยานว่า พยานเคยให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ไม่เหมาะไม่ควรเนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่คนไทยให้ความเคารพเชิดชู ถ้ามีการเผยแพร่อาจทําให้เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

    กับปราณีต วดีศิริศักดิ์ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยโรงเรียนอุเทนพัฒนา เบิกความเป็นพยานว่า ข้อความ ดังกล่าวอาจทําให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีข้อความว่า ศึกชิงบัลลังก์ หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ หากบุคคลที่ไม่มีวิจารณญาณอ่านข้อความแล้วก็อาจตีความไปในทางเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

    และ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รองผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 4 เบิกความเป็นพยานว่า ข้อความดังกล่าวสื่อความหมายให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกําลังมีการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์ อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์

    เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล และมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง

    เมื่ออ่านข้อความตามที่โจทก์กล่าวอ้างโดยตลอดแล้ว แม้จําเลยใช้ถ้อยคําไม่สุภาพและรุนแรง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น และก็มีความหมายถึงจําเลยประสงค์ให้มีการเร่งรัดในการแต่งตั้งรัชกาลที่ 10 ซึ่งประธานรัฐสภาต้องมีหน้าที่อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ และจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ยังเคยปรากฏว่ามีบุคคลภายนอกเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติอีกด้วย

    อีกทั้งข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ การที่จําเลยลงข้อความดังกล่าวในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจําเลยจึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินีหรือรัชทายาท

    พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้พอรับฟังได้ว่าจ๋าเลยกระทําความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

    พิพากษายืน.

    ลงชื่อท้ายคำพิพากษาโดย มล.นารีธรรม ศรีธวัช, สุรชาญ พูลสวัสดิ์ และอดุล สังข์ทอง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.576/2565 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57854)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อิศเรศ อุดานนท์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อิศเรศ อุดานนท์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ปรินดา เวทพิสัย
  2. พัทธนันท์ จิรพัฒนานันท์

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 16-03-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อิศเรศ อุดานนท์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. มล.นารีธรรม ศรีธวัช
  2. สุรชาญ พูลสวัสดิ์
  3. อดุล สังข์ทอง

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 26-07-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์