สรุปความสำคัญ

19-20 ก.ย. 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อเนื่องถึงสนามหลวง โดยประกาศ “ทวงคืนสนามหลวง” มาเป็น "สนามราษฎร" รวมทั้งมีการฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 เป็นสัญลักษณ์ในการทวงคืนจิตวิญญาณประชาธิปไตยกลับสู่สังคมไทย ตลอดจนแกนนำได้ยื่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถึงประธานองคมนตรี การชุมนุมต้องเผชิญการปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ก่อนเริ่มการชุมนุม ทั้งการปิดกั้นพื้นที่ คุกคามประชาชนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม สกัดรถห้องน้ำ-รถเครื่องเสียง ยึดหนังสือ ฯลฯ

ภายหลังการชุมนุม ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุม รวม 24 ราย ในหลายข้อหา โดยแกนนำและผู้ปราศรัยรวม 7 ราย ถูกออกหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ทั้งหมดถูกขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังในช่วง 15 ต.ค. - 2 พ.ย. 2563 ก่อนจตุภัทร์ได้รับการประกันตัว ส่วนคนอื่นๆ ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ ในส่วนของผู้ชุมนุมมีการออกเป็นหมายเรียก ซึ่งมีอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน 2 คน ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมถูกออกหมายเรียกด้วย

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับแกนนำและผู้ปราศรัยทั้ง 7 รายเป็นคดีแรก ทั้งยังแจ้งข้อหา 116 กับผู้ถูกดำเนินคดีคนอื่น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม
    • อานนท์ นำภา
    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    • อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง)
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
    • ธนชัย เอื้อฤาชา
    • สุวรรณา ตาลเหล็ก
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • สมยศ พฤกษาเกษมสุข
    • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก
    • ธานี สะสม
    • ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์
    • อรรถพล บัวพัฒน์
    • ชูเกียรติ แสงวงค์
    • ณัฐชนน ไพโรจน์
    • ภัทรพงศ์ น้อยผาง
    • อะดิศักดิ์ สมบัติคำ
    • สิทธิทัศน์ จินดารัตน์
    • ณัชพัท อัคฮาด
    • ธนพ อัมพะวัต
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม

พฤติการณ์การละเมิด

19 ก.ย. 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อเนื่องถึงสนามหลวง โดยประกาศทางคืนเป็น "สนามราษฎร" การชุมนุมถูกสกัดโดยการล้อมรั้วสนามหลวงในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการชุมนุม พร้อมกระแสข่าวว่า สนามหลวงเป็นทั้ง “โบราณสถาน” และ “พื้นที่ของสำนักพระราชวัง” ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขทำให้ประชาชนชุมนุมที่สนามหลวงไม่ได้และสร้างบรรยากาศการป้องปราม

นอกจากนี้ นักกิจกรรมและกลุ่มชาวบ้านหลายรายยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามเพื่อสอบถามถึงการไปร่วมชุมนุม เช่น สมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนจากชุมชนโคกอีโด่ย จ.สระแก้ว และบ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์ โดยที่ จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่กล่าวกับสมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนว่า หากชาวบ้านจะไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษาที่ กทม. ขอให้แจ้งจะได้ไปติดตามคุ้มครองด้วย ด้านสมาชิกกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งต้องการร่วมชุมนุมเพื่อผลักดันนโยบายยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาช่วงกล่าวว่าพบตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งรอหน้าบ้านแต่เช้า

ช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าหน่วยเก็บกู้ระเบิดได้เข้าติดตั้งประตูตรวจจับโลหะบริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัย และติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เหนือประตู จากนั้นในช่วงค่ำเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ลั่นกุญแจประตูมหาวิทยาลัยฝั่งสนามหลวงแล้วปิดป้ายว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดทำการชั่วคราวระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2563” โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าในวันชุมนุมจริงจะเปิดประตูฝั่งถนนพระอาทิตย์ให้เข้าออกโดยมีมาตรการคัดกรองและตรวจบัตรประชาชน

19 ก.ย. 2563 เวลา 06.28 น. ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 4 ประตู ได้แก่ ประตูฝั่งสนามหลวงทั้งฝั่งเข้าและออก ประตูฝั่งท่าพระจันทร์ และฝั่งถนนพระอาทิตย์ถูกลั่นกุญแจทั้งหมด ไม่เปิดให้เข้าใช้ดังที่เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยกล่าวไว้ตอนแรก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มทยอยนำรั้วเหล็กมาตั้งตามจุดต่างๆ ที่ประชาชนจะผ่านเข้าสู่สนามหลวง พร้อมการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่เต็มพื้นที่ ฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้า มีรถตู้ในสังกัดของสถานีตำรวจภูธรราว 16 คัน และรถควบคุมผู้ต้องขังจอดอยู่

10.40 น. ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เดินทางไปบ้านสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากนั้นพยายามยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยวิจารณ์พระราชอำนาจจากเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 ส.ค. 2563 จำนวน 49,990 เล่ม ที่นักศึกษาเตรียมนำมาแจกผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยไม่ได้แสดงหมายค้นและแสดงหมายจับ นักศึกษาจึงปฏิเสธที่จะให้หนังสือไปและนั่งคล้องแขนขวางรถขนหนังสือไว้

จากนั้นตำรวจกว่า 20 นาย ล้อมกลุ่มนักศึกษาราว 10 รายไว้ และพยายามลากตัวนักศึกษา 2 คนออกไป จนเกิดเหตุชุลมุน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ขนถ่ายหนังสือจากรถบรรทุกไปรถกระบะของตำรวจ นักศึกษากล่าวว่า “เราไม่ยินยอม แต่จำยอมด้วยกำลัง เจ้าหน้าที่มาเต็มซอยหอพักแล้ว”

11.40 น. ตำรวจสกัดรถขนอุปกรณ์สำหรับการชุมนุมที่มาถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า โดยรถที่ถูกสกัดมีอย่างต่ำ 6 คัน ประกอบไปด้วยรถเครื่องเสียง รถขนอุปกรณ์ประกอบเวที รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และรถเครื่องปั่นไฟ ปิยรัฐ จงเทพ ได้เข้าเจรจากับตำรวจ เจ้าหน้าที่ยอมปล่อยรถทั้งหมดแต่ขับรถตามประกบ ขณะคนขับรถเครื่องปั่นไฟพบว่ารถยางแบน และตั้งข้อสันนิษฐานว่ายางรั่วขณะเดินทางมาถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ไม่ได้รั่วระหว่างการเดินทางก่อนหน้านั้น

นอกจากนี้ ตำรวจยังกักรถสุขาไว้ตรงบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า อ้างว่าต้องตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เพราะอาจมีการนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม บางคันที่เข้าได้ แต่ก็หาที่จอดรถไม่ได้ เนื่องจากตำรวจขับรถจักรยานยนต์ไล่ตาม และห้ามไม่ให้จอดบริเวณรอบสนามหลวง ทำให้รถสุขาต้องขับวิ่งวนไปมา บางคันถูกตำรวจขับไล่ไปถึงสะพานพุทธ

12.05 น. ประชาชนเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวงได้สำเร็จ ซึ่งภายในมหาวิทยาลัยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประจำอยู่แล้วหลายจุด เช่นบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ และคณะนิติศาสตร์ที่มีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพผู้ชุมนุมไว้ทั้งด้วยอุปกรณ์ที่เห็นได้ชัดอย่างโทรศัพท์มือถือและกล้องขนาดจิ๋ว

14.20 น. รถปราศรัยได้เคลื่อนมากลางสนามหลวง ประชาชนย้ายแผงเหล็กกั้นที่ลานซีเมนต์สนามหลวงฝั่งเหนือออกแล้วขนข้าวของและเต็นท์เข้ามาตั้งใกล้เวทีเล็กหน้าศาลฎีกา มีคนนำว่าวมาเล่นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผู้ปราศรัยประกาศว่ายึดสนามหลวงได้แล้วและนี่คือสนามของประชาชน เจ้าหน้าที่ประกาศผ่านรถเครื่องเสียงว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ให้ยกเลิกการชุมนุมภายใน 1 ชั่วโมง

15.25 น. รถปราศรัยเคลื่อนจากสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปสนามหลวง ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงได้ทั้งหมด ภาณุพงศ์เจรจากับตำรวจขอขยายขอบเขตพื้นที่การชุมนุม เจ้าหน้าที่ตั้งแนวรั้วกั้นเขต 150 ม. จากวังไม่ให้ประชาชนเข้า ด้านหลังแผงกั้นมีเจ้าหน้าที่ยืนประจำการกว่า 200 นาย ต่อมา รถฉีดน้ำราว 15 คันได้เคลื่อนเข้ามาในพื้นที่ แต่หลังตั้งเวทีใหญ่ที่สนามราษฎรได้สถานการณ์เริ่มคลายความตึงเครียดลง มีการตั้งเวทีย่อยนำเสนอประเด็นอันหลากหลายรายรอบสนามหลวง

ในช่วงค่ำ รถดูดส้วมที่ต้องเข้ามาถ่ายเทสิ่งปฏิกูลออกจากรถสุขาที่ประชาชนจัดหามา ถูกเจ้าหน้าที่กักรถไว้บริเวณท่าช้าง ไม่สามารถกลับเข้ามาในที่ชุมนุมได้อีก โดยไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจใดในการกักรถไว้ เมื่อรถดูดส้วมไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้รถห้องน้ำเริ่มเต็มในช่วงดึก หลัง 24.00 น. รถสุขาได้ทยอยออกจากที่ชุมนุม ทั้งเนื่องจากส้วมเต็ม ไม่สามารถใช้งานได้ และบางส่วนถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ออกจากพื้นที่ มีการประกาศด้วยว่าทางตำรวจได้ยึดรถสุขาไว้ ทำให้ประชาขนไม่พอใจ

00.59 น. มีผู้พบเห็นรถตู้ตำรวจไม่ต่ำกว่าสิบคันเคลื่อนจากหลายบริเวณ เช่น ถนนนางเลิ้ง แยกอรุณอัมรินทร์ วงเวียนใหญ่ ฯลฯ มุ่งหน้ามาทางสนามหลวง มีรายงานว่าบริเวณแยกมัฆวาน พบเจ้าหน้าที่นำรถยกแบร์ริเออร์คอนกรีต และลวดหนามหีบเพลงมาติดตั้ง เพื่อเป็นแนวป้องกันผู้ชุมนุม ซึ่งประกาศเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาลในตอนเช้า

01.10 น. ด้านหน้าโรงละครแห่งชาติพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนราว 2 กองร้อยตั้งแถวอยู่ อีก 1 กองร้อยอยู่บริเวณถนนหน้าศาลฎีกาหลังแนวตำรวจ มีแนวรถเมล์สีครีมแดงจอดปิดกั้นถนนไว้ 3 คัน

06.30 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวรำลึกถึงผู้มาก่อนกาล ทั้งคณะราษฎร และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งยังกล่าวถึงการหายไปของมรดกคณะราษฎรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากนั้นมีการปักหมุดคณะราษฎรหมุดที่สอง ซึ่งเป็นรูปมือชูสามนิ้ว และข้อความ “20 กันยา 2563 เวลาย่ำรุ่ง” พร้อมมีข้อความรอบหมุดว่า “ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศไทยนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

พริษฐ์และปนัสยา สลับกันอ่านประกาศคณะราษฎร 2563 ย้ำถึงปัญหาสถานะอำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน และ 10 ข้อเรียกร้อง ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ได้ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ก่อนประกาศเดินไปยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องและ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี เพื่อหวังให้องคมนตรีผู้เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ แจ้งเจตจำนงของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์ แกนนำประกาศให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้สันติวิธี ไม่มีการปะทะ และเดินไปร่วมกัน

เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนมีการเสริมกำลังที่ฝั่งพระบรมมหาราชวังและหน้าศาลฎีกา พร้อมทั้งมีการสตาร์ทรถฉีดน้ำที่จอดเป็นแนวกั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเดินมานั่งลงประชิดแนวรั้วกั้นที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนราว 400 คน ก่อนแกนนำเรียกร้องให้องคมนตรีส่งตัวแทนมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากประชาชน มีการเจรจาให้ตัวแทน คือ “รุ้ง” ปนัสยา เดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องหลังแนวกั้นของตำรวจ โดยให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพด้วย

9.00 น. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นตัวแทนรับหนังสือ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ รับปากจะยื่นให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานองคมนตรีต่อไป จากนั้น พริษฐ์ประกาศถึงแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อที่ประชาชนทำได้จากที่บ้านและในชีวิตประจำวัน พร้อมเชิญชวนติดตามการประชุมสภา ในวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปิดสวิตช์วุฒิสภา วันที่ 24-25 ก.ย. 2563 ที่รัฐสภา ก่อนประกาศยุติการชุมนุม

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/21614)

ภูมิหลัง

  • ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์
    นักดนตรี
  • สุวรรณา ตาลเหล็ก
    ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ผู้รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112
  • ภัทรพงศ์ น้อยผาง
    กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
  • อะดิศักดิ์ สมบัติคำ
    อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่
  • ธนพ อัมพะวัต
    แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และ NDM อีสาน ทำกิจกรรมปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น จนถึงเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารและ คสช. มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร
  • อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง)
    ทำกิจกรรมช่วยเหลือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมตั้งแต่ปี 2553
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • สมยศ พฤกษาเกษมสุข
    แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
    กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
  • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
    เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. โดยค่อนข้างเอนเอียงไปกับ กปปส. แต่ด้วยความที่ที่บ้านมีช่องเคเบิ้ลของทั้งเสื้อแดง ทั้งเสื้อเหลือง ทำให้ณวรรษเริ่มตั้งคำถาม

    ต้นปี 2563 ที่ณวรรษเพิ่งเรียนจบ กำลังรอรับปริญญา ได้รู้จักนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เข้าร่วมกลุ่มตลาดหลวง (Royalist Marketplace) ในเฟซบุ๊ก จนชัดเจนกับตัวเองว่าจะอยู่ฝั่งไหน เวลาผ่านไป 2 ปี ณวรรษเปลี่ยนมาสนใจการเมืองขนาดที่กลายเป็นทุกอย่างในชีวิต มองโลกด้วยมุมมองของคนที่เป็นผู้ใหญ่ เข้าใจว่าหลายอย่างในประเทศมันถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง

    (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/40629)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 6 คดี อีกทั้งถูกจำคุกในคดี ม.112 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่ง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์