สรุปความสำคัญ

เช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรมได้รับความเสียหาย ต่อมา กลางดึกวันที่ 3 มี.ค. 2564 ตำรวจสืบนครบาลหลายนายเข้าจับกุมไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องวง The Bottom Blues บริเวณที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามมาตรา 217 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ภายหลังตำรวจยังออกหมายเรียก "ปูน" ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 18 ปี และนักศึกษาหญิงอีกราย ระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

28 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 03.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรม ได้รับความเสียหาย

3 มี.ค. 2564 ช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ตำรวจจำนวน 9 นาย จากกองบังคับการสืบสวน 1 และ 2 ของกองบัญชาการตำรวจนครบบาล เป็นผู้เข้าจับกุมไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องวง The Bottom Blues ได้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแสดงหมายจับของศาลอาญาที่ 429/2564 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 ในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในขณะถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ยังตรวจยึดของกลาง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, สมุดบันทึก 1 เล่ม ไปด้วย

หลังทำการจับกุมเจ้าหน้าที่พาตัวไชยอมรไปส่งโรงพยาบาลราชธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แพทย์รักษาอาการบาดเจ็บที่มีก่อนถูกจับกุม ก่อนระบุว่าจะส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจในช่วงเช้า และได้แจ้งให้พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น เจ้าของคดีได้รับทราบ

ต่อมาทนายความและครอบครัวได้รับแจ้งว่า ไชยอมรถูกพาตัวมาที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลาประมาณ 9.00 น. แต่เมื่อเดินทางไปติดตามสอบถามกลับได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าไม่พบชื่อไชยอมรเข้ารับการรักษา ด้านพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ระบุว่าจะเข้าแจ้งข้อกล่าวหาที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วง 13.30 น. ทนายความและครอบครัวจึงได้รอพบไชยอมร โดยมีการระบุว่าเขาถูกนำตัวมาที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าอยู่ในอาคารใด

จนเวลาราว 14.00 น. เศษ ทนายความและครอบครัวจึงได้พบกับไชยอมร พร้อมกับพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าสอบปากคำเขา และยังมีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าขออนุญาตการเข้าถึงเครื่องมือสื่อสาร ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 20 วัน

เวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวนได้ไปยื่นขออำนาจศาลอาญาในการฝากขัง แต่ไม่ได้นำตัวไชยอมรไปด้วย เนื่องจากรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมกับได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างเรื่องเกรงว่าจะหลบหนี จากนั้นมารดาของไชยอมรได้ยื่นเงินสดขอประกันตัวจำนวน 90,000 บาท ตามอัตราที่ศาลตีวงเงินประกันไว้ โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

เวลา 17.00 น. ศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ต้องหาหลบหนีจนถูกเจ้าพนักงานติดตามไปจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง”

คำสั่งศาลดังกล่าว ทำให้ในคืนนี้ไชยอมรจะรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ 1 คืน และในวันพรุ่งนี้พนักงานสอบสวนเตรียมจะนำตัวไชยอมร พร้อมคำร้องและความเห็นแพทย์ที่ระบุผลการรักษา ไปให้ศาลพิจารณาออกหมายขังอีกครั้ง และจะทำให้เขาถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าการเผาทรัพย์สินราชการ เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร การถูกดำเนินคดีครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไชยอมร ถูกแจ้งข้อหา 112 โดยนับเป็นผู้ถูกกล่าวหารายที่ 61 แล้ว ในจำนวน 48 คดี เป็นอย่างน้อย จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้เวลาประมาณ 16.15 น. ไชยอมรยังได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก The Bottom Blues ระบุว่า “การกระทำการเผาพระบรมในครั้งนี้เป็นฝีมือของผมและผมขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว และ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเคลื่อนไหว หรือ การเรียกร้องใดๆ เหตุผลของผมนั้นเข้าใจง่ายมาก เล่าไปถึงตอนผมโดนจับไปวันที่ 13 ตุลา ปีที่แล้ว เพนกวิ้นคือคนแรกที่โทหาผมบนรถห้องขัง และ ประกาศรวมพลมวลชนทันที แต่กลับกันในครั้งนี้กวิ้น และ พี่น้องของผม ต้องติดอยู่ในคุกนานกว่า 20 วันแล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพวกเค้าได้เลย ผมรู้สึกละอายและผิดหวังในตัวเอง

“การเผาพระบรมในครั้งนี้ ผมยอมรับว่าเป็นความคิดที่โง่เขลา และทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในอันตราย แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการเผาครั้งนี้ มีอยู่มากมาย เป็นเชิงสัญลักษณ์ง่ายๆ ที่หวังว่าทุกคนเข้าใจและจะมองเห็นมัน หวังว่าจะได้พบกันใหม่ ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป”

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม ลงวันที่ 3 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26516)

ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ยังได้ออกหมายเรียกให้ "ปูน" ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) เดินทางเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 มี.ค. 2564 อีก 1 ราย ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 217 จากนั้นได้ปล่อยตัวธนพัฒน์ไป โดยไม่ต้องวางหลักประกันหรือทำสัญญาประกัน เนื่องจากเป็นการเดินทางมาพบตามหมายเรียกไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าว ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26837)

ภูมิหลัง

  • ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์
    นักดนตรี

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์