ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1199/2564

ผู้กล่าวหา
  • พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ (ฝ่ายปกครอง)
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1199/2564

ผู้กล่าวหา
  • พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1199/2564
ผู้กล่าวหา
  • พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1199/2564
ผู้กล่าวหา
  • พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์

ความสำคัญของคดี

"แอมมี่" ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักร้องวง The Bottom Blues ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา และดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรมเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 ภายหลังถูกจับกุม แอมมี่โพสต์ข้อความว่า เหตุดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเขาต่อกรณีนักกิจกรรมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ ยังมี "ปูน" ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 18 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และวางเพลิงเผาทรัพย์จากเหตุดังกล่าวด้วย ท่ามกลางความเคลือบแคลงของประชาชนส่วนหนึ่งว่า การเผาทรัพย์สินราชการ เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างไร

หลังถูกจับกุม แอมมี่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน แม้จะมีการยื่นประกันหลายครั้ง ก่อนที่ศาลจะให้ประกันในการยื่นประกันครั้งที่ 8 โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลังถูกขังระหว่างสอบสวน 69 วัน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องในคดีนี้กล่าวหาว่า ไชยอมรกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิด และไชยอมรได้กระทำความผิดหลายบท หลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 เวลากลางคืน ไชยอมร ธนพัฒน์ กับพวกอีกคน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันวางเพลิงโดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานที่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และเป็นทรัพย์สินของเรือนจำกลางคลองเปรม จนไฟได้ลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโครงสร้างไม้ เหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับจนได้รับความเสียหาย รวมทั้งสิ้น 6 รายการ และค่าติดตั้ง 1 รายการ รวมเป็นความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 60,000 บาท ซึ่งเรือนจำกลางคลองเปรมได้จัดทำขึ้นไว้เพื่อแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10

ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้

ดังนั้นการกระทำของจำเลยกับพวกข้างต้นจึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันอันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติ ถูกลบหลู่ และมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

2. วันที่ 28 ก.พ. 2564 เวลากลางวัน ไชยอมรได้โพสต์ภาพที่ไฟกำลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และมีการพิมพ์ข้อความว่า "สื่อคงไม่กล้าออก มิตรสหายท่านหนึ่งแจ้งว่า เมื่อคืนเกิดเหตุไฟไหม้ พระบรมฯ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม คนละ 1 แชร์แด่อิสรภาพ #ปล่อยเพื่อนเรา ///" ในบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อว่า "The Bottom Blues" ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นบัญชีสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ประกอบพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1 ซึ่งจำเลยมีการแสดงออกโดยมีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น ทำลายสถาบันกษัตริย์ ทําให้เกิดการมัวหมองในระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไฟแช็คสีม่วง จํานวน 1 อัน และแกลลอนโลหะ (มีของเหลวภายใน) 1 แกลลอน ได้ในบริเวณที่เกิดเหตุ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564 และคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2564 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2564 )

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังตำรวจชุดสืบนครบาลเข้าจับกุมแอมมี่ตามหมายจับศาลอาญาที่ 429/2564 ลงวันที่ 2 มี.ค. 2564 ในช่วงกลางดึกที่ห้องพักใน จ.อยุธยา ตรวจยึดของกลาง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และสมุดบันทึก 1 เล่ม ไปด้วย และควบคุมตัวไปรักษาอาการบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลราชธานี ใน จ.อยุธยา

    ทนายความและครอบครัวได้พบกับแอมมี่ที่โรงพยาบาลตำรวจพร้อมกับพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่นในเวลาราว 14.00 น. เศษ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งเป็นข้อหาตามหมายจับ และสอบปากคำ

    ไชยอมรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 20 วัน

    นอกจากนี้ ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เดินทางมาขอเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารที่ยึดไปแล้วด้วย

    เวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวนเดินทางไปยื่นขออำนาจศาลอาญาในการฝากขัง โดยไม่ได้นำตัวไชยอมรไปด้วย เนื่องจากรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมกับคัดค้านการให้ประกัน อ้างว่า เกรงจะหลบหนี มารดาของไชยอมรได้ยื่นเงินสดขอประกันตัวจำนวน 90,000 บาท ตามอัตราที่ศาลตีวงเงินประกันไว้ โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    เวลา 17.00 น. ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ต้องหาหลบหนีจนถูกเจ้าพนักงานติดตามไปจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง”

    อย่างไรก็ตาม ตำรวจจะควบคุมตัวไชยอมรรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจอีก 1 คืน และในวันพรุ่งนี้พนักงานสอบสวนเตรียมจะนำตัวไชยอมร พร้อมคำร้องและความเห็นแพทย์ที่ระบุผลการรักษา ไปให้ศาลพิจารณาออกหมายขังอีกครั้ง เพื่อจะนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    ทั้งนี้เวลาประมาณ 16.15 น. ไชยอมรได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก The Bottom Blues ระบุว่า “การกระทำการเผาพระบรมในครั้งนี้เป็นฝีมือของผมและผมขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเคลื่อนไหว หรือ การเรียกร้องใดๆ เหตุผลของผมนั้นเข้าใจง่ายมาก เล่าไปถึงตอนผมโดนจับไปวันที่ 13 ตุลา ปีที่แล้ว เพนกวิ้นคือคนแรกที่โทหาผมบนรถห้องขัง และ ประกาศรวมพลมวลชนทันที แต่กลับกันในครั้งนี้กวิ้น และ พี่น้องของผม ต้องติดอยู่ในคุกนานกว่า 20 วันแล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพวกเค้าได้เลย ผมรู้สึกละอายและผิดหวังในตัวเอง"

    “การเผาพระบรมในครั้งนี้ ผมยอมรับว่าเป็นความคิดที่โง่เขลา และทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในอันตราย แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการเผาครั้งนี้ มีอยู่มากมาย เป็นเชิงสัญลักษณ์ง่ายๆ ที่หวังว่าทุกคนเข้าใจและจะมองเห็นมัน หวังว่าจะได้พบกันใหม่ ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป”

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม ลงวันที่ 3 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26516)
  • พนักงานสอบสวนเข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญา ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ขอส่งตัวไชยอมรคืนต่อศาล เนื่องจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจได้ทำการตรวจรักษาแล้ว เห็นว่ามีอาการดีขึ้น จึงไม่ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก ศาลมีคำสั่งอนุญาต

    ขณะเดียวกัน มารดาของไชยอมรและทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างที่แอมมี่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยได้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท ก่อนในช่วงเย็น ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว ให้เหตุผลว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่ใช่เพราะเหตุหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทำให้แอมมี่ถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

    เนื้อหาในคำร้องประกอบขอประกันตัว ยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้พยายามจะหลบหนี เนื่องจากไม่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีนี้มาก่อน และก่อนถูกจับตามหมายจับของศาล ผู้ต้องหาเดินทางโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ และในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ผู้ต้องหาเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เนื่องจากมีอาการปวดหลังตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 จึงออกมาพักรักษาตัว มีการพบแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามกระบวนการรักษา โดยแพทย์ให้พักร่างกายก่อนไปทำงาน ผู้ต้องหาจึงออกมาพักฟื้นร่างกายที่ห้องพัก ในจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน และห้องพักอยู่ในย่านชุมชน

    ผู้ต้องหาประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้อง และมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ต้องหาไม่ได้ปกปิด อำพรางตน และผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักและผู้คนที่พักอาศัยในห้องพักข้างเคียงหรือในห้องพักอื่นก็พบเห็นผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี

    นอกจากนี้ ขณะเข้าจับกุม ผู้ต้องหาได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ผู้ต้องหาจึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้องและวาดภาพ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาลได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้น ผู้ต้องหายังไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

    ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทำให้ผู้ต้องหาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังต้องพักรักษาตัวจากอาการปวดหลัง และรักษาโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย (Keeatoconus) อย่างต่อเนื่อง การไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจให้มีผลกระทบกับกระจกตาและกระทบกับการมองเห็นในอนาคต

    ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่ การถูกฟ้องคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี ในข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด”

    และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1) “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 กำหนดว่า ก่อนที่จะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำผิด ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้

    ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว การใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ให้ผู้ต้องหาได้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์กระทำผิดตามพนักงานสอบสวนกล่าวหาจริงแล้ว ทั้งที่ผู้ต้องหายังมิได้ผ่านการมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดย่อมถือว่าเป็นเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดแจ้ง

    จนเวลา 17.14 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวดังกล่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวไปแอมมี่ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีในเวลาราว 18.00 น.

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26577)
  • ที่ สน.ประชาชื่น เวลา 10.30 น. ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 18 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกของ สน.ประชาชื่น จากเหตุเดียวกับแอมมี่

    กระบวนการสอบสวนจัดขึ้นในห้องกองปราบปราม โดยมี พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ รอง ผบก.สส.บช.น. และ พ.ต.อ.นําเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ รอง ผบก.น. 2 เข้าร่วมการสอบสวนด้วย พ.ต.ต.หัสนัย เฟืองสังข์ และ ร.ต.อ. ทวีศักดิ์ บุญสิทธิ์ สารวัตรสอบสวน สน.ประชาชื่น เป็นผู้แจ้งพฤติการณ์คดีและแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 ประมาณ 03.20 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.ประชาชื่น ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้หน้าเรือนจํากลางคลองเปรม จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบว่าเป็นเพลิงไหม้รูปพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุ พบว่า ธนพัฒน์มีส่วนร่วมในการวางเพลิงดังกล่าว จึงแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และมาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์”

    ธนพัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมระบุประสงค์ให้ดำเนินการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมแบบเยาวชน ที่ศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากเขาเพิ่งอายุ 18 ปี 9 วันในวันที่เกิดเหตุ หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวธนพัฒน์ไป โดยไม่ต้องวางหลักประกันหรือทำสัญญาประกัน เนื่องจากเป็นการเดินทางมาพบตามหมายเรียกผู้ต้องหา ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว ส่วนวันนัดส่งตัวอัยการ พนักงานสอบสวนจะนัดหมายต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าว ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26837)
  • ภายหลังเกิดเหตุในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้คุมพยายามจะนำตัวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ ออกไปควบคุมนอกแดนถึง 4 ครั้ง ในช่วงกลางดึก อ้างเพียงว่าจะเอาตัวไปตรวจโควิด ซึ่งผิดวิสัยโดยปกติในการนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน ทนายและครอบครัวจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรม "ราษฎร" 8 ราย ซึ่งถูกคุมขังในชั้นพิจารณาคดีชุมนุม 19 กันยา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง รวมทั้ง “แอมมี่” ซึ่งถูกคุมขังในชั้นสอบสวนในคดีนี้ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีด้วย โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท นับเป็นการยื่นประกันแอมมี่ในคดีนี้เป็นครั้งที่ 3

    เวลาประมาณ 19.00 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแอมมี่ ระบุว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยได้แสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้งไว้แล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา ลงวันที่ 16 มี.ค. 2564)
  • ช่วงเช้า ทนายความพร้อมมารดาของไชยอมรเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไชยอมร ใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท พร้อมให้เหตุผลประกอบการปล่อยตัวชั่วคราวโดยสรุป ดังนี้

    เวลา 17.08 น. ศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า พิเคราะห์แล้วศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม โดยมีพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนาม

    นับจนถึงวันนี้ (29 มี.ค. 64) ไชยอมร ถูกฝากขังในชั้นสอบสวนที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเวลา 26 วันแล้ว หลังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แม้ยื่นขอคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วถึง 4 ครั้ง

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา ลงวันที่ 29 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27700)
  • หลังไชยอมรถูกฝากขังในชั้นสอบสวน และถูกขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี โดยไม่ได้รับการประกันตัวมาเป็นเวลา 32 วัน มารดาและทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันอีกเป็นครั้งที่ 5 โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท

    เวลา 15.40 น. นายพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ให้เหตุผลเช่นเดิมว่า ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา ลงวันที่ 5 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27975)

  • พนักงานสอบสวนเข้ายื่นคำร้องขอฝากขังแอมมี่ครั้งที่ 4 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 8-19 เม.ย. 2464 เนื่องจากจะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 3 ในวันนี้ ศาลอนุญาตให้ฝากขังอีก 12 วัน ด้านแอมมี่แถลงต่อศาลขอย้ายกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายแอมมี่กลับมาขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีรายงานว่า แอมมี่ถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษธนบุรีไปถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันที่ 8 เม.ย. 2564
  • เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความและมารดาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแอมมี่ในชั้นสอบสวน เป็นครั้งที่ 6 โดยใช้เงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกัน 200,000 บาท พร้อมกับคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งแอมมี่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116, 215 และถูกขังระหว่างพิจารณา โดยใช้เงินสด 35,000 บาท โดยทั้งสองคดีเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมจากครั้งก่อนในการขอติดกำไลข้อเท้าอิเล็คทรอนิกส์ (EM)

    นอกจากนี้ คำร้องยังระบุเหตุผลในการขอประกันที่สำคัญเพิ่มเติมว่า หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทําให้ผู้ต้องหาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนถูกฟ้องในคดีนี้ ผู้ต้องหาป่วยด้วยโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วยจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องทําให้มีผลกระทบกับกระจกตา และกระทบกับการมองเห็นของผู้ต้องหาในอนาคต

    ทั้งนี้ ได้แนบจดหมายรับรองจากแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลจุฬาฯ ระบุว่า กระจกตาข้างขวาของผู้ต้องหาซึ่งเคยผ่าตัดใส่วงแหวนไปแล้วกลับมีอาการโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ควรต้องเข้ารับการรักษา และกระจกตาข้างซ้ายของผู้ต้องหาก็ควรต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อใส่วงแหวนด้วย การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดอย่างทันท่วงทีโดยแพทย์ประจําตัวซึ่งผู้ต้องหาเคยมีประวัติการรักษาตัวอยู่แล้ว จะเป็นการได้รับผลร้ายเกินสมควรอันไม่อาจเยียวยาในภายหลังได้ ผู้ต้องหาอาจประสบความทุพพลภาพตลอดชีวิต

    อย่างไรก็ตาม สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา ยังคงไม่ให้ประกันตัวแอมมี่ทั้งสองคดี โดยระบุเหตุผลว่า ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา ลงวันที่ 9 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28209)
  • เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแอมมี่ พร้อมทั้งแกนนำ "ราษฎร" รวม 7 ราย ซึ่งถูกคุมขังจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกรณีของแอมมี่ ได้ยื่นขอประกันตัวทั้งในคดีนี้ และคดี ม.116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีมารดาเป็นนายประกัน คดีนี้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท 

    บรรยากาศการยื่นประกันตัวเกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่มาติดตามสถานการณ์ที่ศาลอาญาเป็นจำนวนมาก มีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และการพยายามยื่นรายชื่อผู้ลงชื่อถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง กว่า 11,035 รายชื่อ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนอย่างน้อย 2 คันรถเข้ามาที่ศาลอาญา

    เวลา 16.00 น. ศาลแจ้งว่าจะยังไม่อ่านคำสั่งเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยจะอ่านคำสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลในวันพรุ่งนี้แทน หากยังมีการชุมนุมรวมตัวอยู่ในพื้นที่ศาล แต่ครอบครัวของผู้ต้องขังและประชาชนที่มารวมตัวยืนยันว่าจะปักหลักรอคำสั่งศาลต่อไป

    จนเวลา 18.00 น. เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด รวมทั้งแอมมี่ในทั้งสองคดี ระบุเหตุในลักษณะเดียวกันว่า ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    การยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นการยื่นประกันในคดีนี้เป็นครั้งที่ 7 สำหรับแอมมี่ในคดีนี้ โดยแอมมี่ถูกขังมาแล้ว 57 วัน

    *******************
    คำร้องขอประกันตัวโดยสรุประบุว่า

    1. ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 (หมอลำแบงค์ – ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) จำเลยที่ 4 (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) และจำเลยที่ 7 (ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ในคดีหมายเลขดำที่ 287/2564 ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดเดียวกันกับผู้ต้องหาในคดีนี้ โดยศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลย
    ทั้งนี้ หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของผู้ต้องหา ขอศาลโปรดกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย โดยผู้ต้องหายินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทุกประการ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้รับรองและดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามคำสั่งของศาล

    2. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งนายชูเกียรติ แสงวงศ์ จำเลยในคดีนี้เองก็ติดเชื้อไวรัส และผู้ต้องขังอีกจำนวนหลายคนก็ติดเชื้อเช่นเดียวกัน ทำให้จำเลยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด จึงขอศาลใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวตามแนวปฏิบัติข้างต้น หากต้องการข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ศาลอาจออกหมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาไต่สวนประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจ

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 29 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29035)
  • เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแอมมี่ ทั้งในคดีนี้ และคดี ม.116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีมารดาเป็นนายประกัน คดีนี้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท เป็นการยื่นประกันในคดีนี้ครั้งที่ 8 หลังแอมมี่ถูกขังได้ 59 วัน

    ต่อมา เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 6 พ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. และมีคำสั่งให้เบิกตัวจำเลยมาศาล

    สำหรับคำร้องที่ยื่นมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    1. พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาในคดีนี้ เป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล อีกทั้ง พฤติการณ์ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือการก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด ที่ผ่าน ๆ มา ผู้ต้องหาเป็นเพียงศิลปินผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่เคยเป็นแกนนำปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด

    2. ผู้ต้องหาไม่ได้หลบหนี ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าถูกดeเนินคดีนี้มาก่อน ขณะถูกจับกุมผู้ต้องหาไปพักฟื้นร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ที่ห้องพักในจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้ต้องหาไม่ได้ปกปิดอำพรางตน ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักและผู้คนที่พักอาศัยในห้องพักข้างเคียงหรือในห้องพักอื่นก็พบเห็นผู้ต้องหา อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 จึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพนักงานสอบสวนมาไต่สวนการจับกุมผู้ต้องหา เพื่อประกอบการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาด้วย

    3. คดีนี้พนักงานสอบสวนก็มิได้แสดงให้เห็นว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปก่อภยันตรายประการอื่นใด หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของผู้ต้องหา ผู้ร้องขอศาลโปรดกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย โดยผู้ต้องหายินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งที่ศาลกำหนดทุกประการ และผู้ต้องหายินดีติดกำไลข้อเท้า (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ EM) เพื่อเป็นการประกันต่อศาลว่าจะไม่หลบหนี ศาลสามารถเรียกหรือติดตามผู้ต้องหาเพื่อมาพบได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา หากศาลเห็นสมควรจะทำการไต่สวนผู้ต้องหาก็ขอให้ศาลออกหมายเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนหรือทำการไต่สวนผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ทั้งนี้ ผู้ต้องหาขอให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ และมารดาของผู้ต้องหา เป็นผู้รับรองและดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามคำสั่งของศาล

    4. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ประธานศาลฎีกาได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๖๒ และเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ทั้งนี้ โดยเป็นที่ปรากฏว่าในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโคโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะช่วยทำให้ลดความแอดอัดในสถานที่ดังกล่าวได้ทำให้การบริหารจัดการเรื่องสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ช่วยชีวิตของผู้ต้องหาไว้ ในประเด็นดังกล่าวนี้หากศาลต้องการทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย ขอให้ศาลโปรดออกหมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาไต่สวน

    5. ก่อนผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีนี้ ผู้ต้องหาป่วยด้วยโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องทำให้มีผลกระทบกับกระจกตาและกระทบกับการมองเห็นของผู้ต้องหาในอนาคต การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็นการได้รับผลร้ายเกินสมควร

    6. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด อนึ่ง ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้โปรดอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 1 พ.ค. 2564)
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ครอบครัวของแอมมี่เดินทางไปที่ศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวแอมมี่มาไต่สวนคำร้องขอประกันตัว หลังเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน เนื่องจากแอมมี่ยังกักตัวโควิดไม่ครบ 14 วัน กรณีที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งจะครบกำหนด 14 วัน ในวันที่ 7 พ.ค. 2564

    ต่อมา เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวในวันที่ 11 พ.ค. 2564 โดยอ้างว่าผลการตรวจโควิด-19 ของพวกเขาเกิดขึ้นก่อนครบกำหนดกักตัว 14 วัน จึงยังไม่เบิกตัวแอมมี่มาศาลเพื่อทำการไต่สวนในวันนี้ โดยให้รอตรวจโควิดหลังครบกักตัว 14 วัน และทราบผลการตรวจก่อน

    ทั้งนี้ แอมมี่ถูกฝากขังในชั้นสอบสวนของคดีนี้มาแล้ว 65 วัน  

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้เบิกผู้ต้องหามาไต่สวน ศาลอาญา ลงวันที่ 7 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29401)
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ แอมมี่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อไต่สวนคำร้องขอประกันพร้อมกับพริษฐ์ ชิวารักษ์ และภาณุพงศ์ จาดนอก ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

    ภายในห้องพิจารณาคดี อนุญาตให้เข้าเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยจำเลยหรือผู้ต้องหา ทนายความ อัยการ และพยานที่มาเบิกความ โดยเจ้าหน้าที่ให้ทยอยเข้าเมื่อศาลให้เบิกตัวเข้าเบิกความ

    ส่วนผู้ที่สนใจเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงไปที่ห้อง conference ซึ่งวันนี้จำกัดคนให้เข้าได้เพียง 15 คน คนที่เข้าห้องได้ต้องมีบัตรชั่วคราวระบุว่า “ห้อง conference” โดยมีตัวแทนสถานทูตฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, สเปน และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งผู้สื่อข่าวอีก 3 คน เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลในห้องประกอบด้วยตำรวจศาล 3 นาย มีการชี้แจงถึงระเบียบการปฏิบัติตัวขณะอยู่ในห้องด้วย

    เวลา 10.25 น. เทวัญ รอดเจริญ และพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ออกพิจารณาคดี แอมมี่ถูกเบิกตัวมาที่ห้องพิจารณาในชุดนักโทษชายพร้อมสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเบิกความตอบทนายความว่า พยานประกอบอาชีพเป็นศิลปิน มีผลงานเพลงมาแล้ว 3 อัมบั้ม รวม 70 เพลง, มีงานแสดงศิลปะ 1 ครั้ง, ร่วมเทศกาลดนตรีจัดโดยลิโด้ 1 ครั้ง, เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปิน 1 ครั้ง, แต่งเพลงให้ศิลปินอื่น ๆ พร้อมเป็นโปรดิวเซอร์เกิน 10 ครั้ง

    พยานมีครอบครัวแล้ว มีลูก 1 คน ซึ่งพยานต้องดูแลส่งเสีย ก่อนหน้าถูกจับ พยานกำลังหัดให้ลูกสาวว่ายน้ำ สิ่งที่พยานเป็นห่วงที่สุดก็คือ ลูกสาว ปัจจุบันพยานอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่เกษียณแล้ว โดยมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก

    ตั้งแต่พยานถูกขังอยู่ในเรือนจำ มีอาการความดันโลหิตสูง โดยที่ปกติพยานเป็นโรคกระจกตาโป่งพองและย้วย ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเท่านั้น รักษาแบบทำเลสิคไม่ได้ ตอนนี้ค่าสายตาจะเปลี่ยนและรับแสงได้น้อยลงทุกวัน มีโอกาสที่จะตาบอดได้ หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน ซึ่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็ไม่มีหมอเฉพาะทางด้านนี้

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี เนื่องจากพยานเดินทางไปอยุธยาเป็นประจำอยู่แล้ว เฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง เพื่อไปพักผ่อน รวมทั้งมีธุรกิจอยู่ที่นั่น ชื่อร้าน Stockholm บางครั้งพักอยู่ที่อยุธยาเป็นเดือนเพื่อแต่งเพลง ซึ่งตอนที่ถูกจับพยานก็กำลังไปพักผ่อน

    หากศาลให้ประกันโดยกำหนดเงื่อนไข ไม่พูดพาดพิงและไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์, ไม่เดินทางออกนอกประเทศระหว่างการพิจารณาคดี, ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความยั่วยุ รุนแรง และจะมารายงานตัวตามนัดของศาลทุกนัด พยานก็พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมด

    รวมถึงหากศาลกำหนดให้ใส่ EM พยานก็ยินดีใส่เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่กังวลว่าหากไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างจังหวัด กำไล EM จะไม่มีสัญญาณ รวมถึงจะไปรบกวนเครื่องดนตรีขณะทำการแสดงดนตรีอีกด้วย

    ด้านพ่อและแม่ของแอมมี่ซึ่งเข้าเบิกความลำดับถัดมา ยืนยันว่า แอมมี่เป็นคนมีนิสัยและจิตใจดี รักเพื่อน มีบุตรสาว 1 คน ซึ่งที่ผ่านมาให้การเลี้ยงดูอย่างดี แอมมี่พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจเกสต์เฮาส์กึ่งผับกับเพื่อนที่จังหวัดอยุธยา แอมมี่จึงเดินทางไปอยุธยาเป็นปกติเพื่อดูแลธุรกิจ

    พ่อและแม่ของแอมมี่ยังรับรองว่า จะกำกับดูแลให้แอมมี่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ไม่ได้เบิกความค้านการประกันตัว

    ต่อมา เวลา 18.27 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันแอมมี่กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด  ซึ่งเป็นลักษณะกับเงื่อนไขการให้ประกันตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาคดี 112 ก่อนหน้านี้

    ทั้งนี้ ครอบครัวต้องวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    คำสั่งให้ประกันแอมมี่มีขึ้นหลังแอมมี่เป็นการยื่นประกันตัวในคดีนี้เป็นครั้งที่ 8 และถูกขังมาแล้ว 69 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่งและรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา ลงวันที่ 11 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29555)
  • พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวธนพัฒน์ให้พนักงานอัยการ แต่เนื่องจากธนพัฒน์ได้สัมผัสใกล้ชิดกับปนัสยา และทราบภายหลังว่าปนัสยาติดเชื้อโควิด-19 ธนพัฒน์จึงต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 25 พ.ค. 2564 เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่สาธารณะ ทนายความจึงได้ทำหนังสือขอเลื่อนกําหนดส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการออกไปก่อน

    (อ้างอิง: หนังสือขอเลื่อนส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อรับทราบคำสั่งอัยการ ลงวันที่ 13 พ.ค. 2564)
  • ทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดรายงานตัวตามสัญญาประกันในระหว่างฝากขัง เนื่องจากแอมมี่ยังอยู่ระหว่างกักตัวเป็นเวลา 14 วัน หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลกำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ค. 2564
  • ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องไชยอมรเป็นจำเลย ในฐานความผิดร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ พ.ร.บ.การกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14

    ศาลประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1199/2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30126)
  • ไชยอมร พร้อมครอบครัวและทนายความ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัด โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไชยอมรไปที่ห้องเวรชี้หลังทราบคำสั่งฟ้อง และศาลได้อ่านฟ้องให้จำเลยฟัง โดยไชยอมรยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

    ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิมซึ่งใช้ประกันตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 รวม 2 แสนบาท

    ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันอาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้องคดีนี้ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

    ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30126)
  • ธนพัฒน์เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในนัดส่งตัวให้อัยการ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 หลังพนักงานอัยการรับตัวธนพัฒน์แล้ว ได้แจ้งคำสั่งฟ้อง และนำตัวธนพัฒน์ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาใน 2 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และมาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์”

    คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ธนพัฒน์ ไชยอมร และพวกอีกคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันวางเพลิงโดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่หน้าเรือนจํากลางคลองเปรม และบรรยายฟ้องเช่นเดียวกับของไชยอมร

    ศาลรับฟ้องคดีนี้ไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2564 หลังอ่านฟ้องและถามคำให้การ โดยธนพัฒน์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 28 มิ.ย. 64 เวลา 09.00 น. พร้อมกับไชยอมรที่อัยการยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว

    ต่อมา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ระบุเหตุผลว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยต้องโทษจำคุก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
    และไม่สามารถยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จำเลยยังถือว่าเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

    นอกจากนี้ การปล่อยชั่วคราวจำเลยจะเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 และลดความแออัดในเรือนจำ ทำให้เรือนจำบริหารจัดการสถานการณ์การติดเชื้อในเรือนจำได้ดีขึ้น

    เวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์ จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ อันทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2564 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30423)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งโอนคดีธนพัฒน์ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ทั้งนี้ ศาลอาจจะมีคำสั่งภายใน 3-5 วัน หรืออาจจะสั่งในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 28 มิ.ย. 2564

    คำร้องที่ทนายความยื่นต่อศาลอาญา ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งโอนคดีของธนพัฒน์ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 พร้อมกับข้อเท็จจริงทางคดี และอุปนิสัยของธนพัฒน์ มีรายละเอียดดังนี้

    คำร้องเผยว่า ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 28 ก.พ. 2564 ธนพัฒน์ (จำเลย) มีอายุเกิน 18 ปี เพียง 9 วัน โดยเยาวชนตามคำจำกัดความในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.​ 2553 จะต้องมีอายุไม่เกิน 18 ปี อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ มาตรา 97 ได้บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ กระทำความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจ และให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน”

    แม้จำเลยจะมีอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ แต่อายุเกินเพียง 9 วันเท่านั้น และยังมีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ตามนัยแห่งพระราชบัญญัตินี้ ประกอบกับจำเลยมีรูปร่างผอมแห้ง สภาพจิตใจค่อนข้างวิตกกังวลกับคดีความเป็นอย่างมาก อาจส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของจำเลย ปัจจุบันจำเลยยังศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และมีนิสัยที่เป็นเด็กและเยาวชน สมควรได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอนจากผู้ปกครอง หรือส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ที่รัฐอาจมอบโอกาสให้

    จำเลยมีนิสัยเป็นเด็กดี ไม่เคยต้องคำพิพากษาลงโทษให้จำคุกหรือประพฤติร้ายแรงจนเป็นคดีความ จำเลยอายุยังน้อย เส้นทางชีวิตยังอีกยาวนาน หากมีการดำเนินคดีในศาลอาญาเยี่ยงผู้ใหญ่ อาจสร้างหวาดกลัวให้จำเลยจดจำเป็นตราบาปในใจ อันมิอาจขัดล้างให้สะอาดลงได้

    ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติที่กล่าวถึงตามนัยมาตรา 4 และมาตรา 97 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาแล้วว่าจำเลยยังคงมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัย เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน จึงขอให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์ของจำเลยซึ่งยังมีลักษณะเป็นเด็กและเยาวชน พิจารณาสั่งโอนคดีของจำเลยไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง.

    ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตราดังกล่าวมาดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตั้งแต่เดือน พ.ย. 63 พบผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุ 18 ปี อย่างน้อย 2 ราย และต้องเข้ากระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ ได้แก่ “ธนพัฒน์” ผู้ถูกดำเนินคดีนี้ และ “คริษฐ์” ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

    (คำร้อง: คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งโอนคดีธนพัฒน์ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2564 ลงวันที่ 7 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30722)
  • บริเวณทางเข้าศาลอาญา ตำรวจศาลตั้งโต๊ะตรวจบัตรประชาชนและจดรายละเอียดในบัตร โดยจะมีการสอบถามว่าประชาชนแต่ละคนเดินทางมาทำธุระในคดีใด บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี 903 และ 716 มีการตั้งโต๊ะเก็บโทรศัพท์มือถือก่อนเข้าห้องพิจารณา โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยและตำรวจศาลเฝ้าอยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาและในห้องพิจารณา รวมประมาณห้องละ 3-4 นายด้วย ทั้งยังพบว่ามีเลขานุการศาลอาญา เดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยของห้องพิจารณาอีกด้วย

    ในวันนี้คดีของ “ธนพัฒน์” ถูกแยกพิจารณาในห้องพิจารณา 903 ขณะที่คดีของ “แอมมี่” มีการพิจารณาในห้องพิจารณา 716

    ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลออกพิจารณาคดีในเวลา 09.00 น. ธนพัฒน์ซึ่งมาถึงศาลในเวลา 09.20 น. ถูกศาลตักเตือนว่ามาไม่ตรงเวลานัด นอกจากนี้ศาลยังตักเตือนเรื่องการแต่งกาย เนื่องจากธนพัฒน์นำสูทมาคลุมตัวไว้ แต่ไม่ได้สอดแขนเข้าไปในแขนเสื้อ

    ศาลได้กล่าวกับทนายความว่า คำร้องขอให้มีการโอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งทนายจำเลยยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2563 นั้น จะต้องมีการไต่สวนเกี่ยวกับสภาพร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ว่าเข้าเกณฑ์เป็นเยาวชนหรือไม่ แม้ว่าในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.​ 2553 มาตรา 97 ได้บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ กระทำความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ถ้าศาลนั้นพิจารณา โดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้น ยังมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจ และให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน”

    ศาลกล่าวต่อว่าอันที่จริงศาลสามารถมีดุลยพินิจได้เลย ว่าจำเลยมีสภาพเป็นเยาวชนหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าทนายความสามารถไปนำผลตรวจสภาพร่างกายและจิตใจจากโรงพยาบาลมายื่นประกอบได้เลย เพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีล่าช้า

    ทนายความได้แถลงขอนำตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ขณะที่ศาลเห็นว่าควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องจากเห็นว่ามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีในลักษณะนี้ ท้ายที่สุดศาลจึงมีคำสั่งให้นำจำเลยไปตรวจกับโรงพยาบาลทั้งสองที่ และจะต้องมีการนำแพทย์เข้าไต่สวนด้วย เพื่อให้ทราบแน่ชัดถึงสภาพร่างกายและจิตใจของจำเลย

    ศาลยังสอบถามเกี่ยวกับการศึกษา ที่อยู่ น้ำหนัก และส่วนสูงของธนพัฒน์ และยังสอบถามอีกหลายครั้งว่าจะส่งจำเลยไปตรวจจริงหรือไม่ เพราะจะทำให้คดีหลักต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องรอผลการตรวจ

    หลังจากสอบถามความยินยอมของคู่ความ ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาในนัดนี้ออกไปก่อน พร้อมกับนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. 2564 เวลา 9.00 น. และให้จำเลยไปเข้ารับการตรวจจากแพทย์ว่ามีสภาพร่างกายเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนหรือไม่ โดยให้มีหนังสือถึงโรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อการส่งตัวจำเลยไปตรวจต่อไป

    สำหรับในคดีของแอมมี่ อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้รวมพิจารณาคดีของแอมมี่และธนพัฒน์เป็นคดีเดียวกัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเป็นบุคคล และพยานเอกสารชุดเดียวกัน

    ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รวมพิจารณาคดี เนื่องจากคดีของธนพัฒน์อยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องว่าต้องส่งสำนวนคดีดังกล่าวไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลเยาวชนฯ หรือไม่ และยังไม่แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด การรวมพิจารณาจึงไม่สะดวกและไม่รวดเร็วแก่การพิจารณาคดีในชั้นนี้

    จากนั้น คู่ความได้ตรวจพยานหลักฐานในคดี โดยไม่มีข้อเท็จจริงที่รับกันได้ อัยการโจทก์ได้แถลงจะนำพยานเข้าสืบ รวมทั้งสิ้น 28 ปาก ใช้เวลาสืบทั้งหมด 7 นัด ส่วนจำเลยและทนายจำเลยแถลงข้อต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และจะนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 5 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด

    ศาลได้เห็นควรกำหนดจำนวนวันนัดตามคำขอของคู่ความ รวม 8 นัด ระหว่างวันที่ 1-4 และ 8-11 มี.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564, อ.1271/2564 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31348)
  • นัดไต่สวนคำร้องขอโอนย้ายคดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 19 ก.ค. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม

    ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ธนพัฒน์ พร้อมกับมารดา และทนายความมาศาล ทนายได้แถลงต่อศาลว่า จะไต่สวนพยานจำนวน 2 ปาก ได้แก่ ธนพัฒน์ และมารดา ส่วนศาลได้นำผลการตรวจร่างกายของธนพัฒน์ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้ทนายความและธนพัฒน์อ่าน โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ธนพัฒน์มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น มีสภาพเป็นเยาวชน

    ส่วนที่จำเลยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธนั้น แพทย์ได้ลงความเห็นว่า ยังไม่มีความสามารถในการวินิจฉัยได้ จึงให้ส่งไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์แทน แต่จำเลยยังไม่ได้ไป จึงเหลือแต่คำวินิจฉัยของแพทย์ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น

    ก่อนธนพัฒน์เบิกความต่อศาล ศาลได้ให้ทนายความกล่าวนำธนพัฒน์กล่าวคำสาบานตน แต่ธนพัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ได้นับถือศาสนาอะไร ก่อนที่จะกล่าวคำปฏิญาณต่ออุดมการณ์ของตัวเอง เมื่อศาลเห็นว่า ธนพัฒน์นั้นเอามือไพล่หลังขณะกล่าวคำปฏิญาณ ศาลได้ขอให้ธนพัฒน์นำมือมาวางบนโต๊ะข้างหน้าให้เรียบร้อย

    ศาลได้สอบถามถึงข้อมูลส่วนตัว ธนพัฒน์ตอบว่า ปัจจุบันตนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง และยังแถลงถึงน้ำหนัก ส่วนสูง และค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากมารดา

    เมื่อศาลถามถึงการลงทะเบียนเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ธนพัฒน์เบิกความว่า ตนได้สมัครและลงทะเบียนเรียนไว้ แต่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหน่วยกิต และคิดว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว โดยจะกลับไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้จบก่อน จากนั้นศาลจึงสอบถามว่า ธนพัฒน์ได้ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้เมื่อไหร่ ธนพัฒน์เบิกความตอบว่า จำวันเดือนปีที่สมัครไปไม่ได้ แต่จำได้ว่าสมัครปีนี้

    ตอบทนายถาม ธนพัฒน์เบิกความว่า ตนเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อตั้งใจมาเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงทะเบียนเรียนไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มเรียน และยังไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยกิตรายวิชา

    ส่วนปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ แต่ช่วงแรกที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ​ นั้นพักอาศัยอยู่คนเดียว ส่วนเรื่องกลับไปเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษานั้น แม่ได้คุยกับทางโรงเรียนแล้ว และทางโรงเรียนยินดีรับธนพัฒน์กลับไปศึกษาต่อ

    ตอบโจทก์ถามค้าน ธนพัฒน์เบิกความว่า จำไม่ได้ว่าเหตุการณ์ในคดีเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่จำได้ว่า หลังเกิดเหตุ เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และพนักงานสอบสวนได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้บันทึกถ้อยคำ และอ่านถ้อยคำให้การให้ธนพัฒน์ทราบ โดยระหว่างการสอบสวน มีทนายความและมารดาเข้าร่วมอยู่ด้วย

    โจทก์ถามถึงกรณีธนพัฒน์ไม่นับถือศาสนามาตั้งแต่เมื่อไหร่ ธนพัฒน์ตอบ เพิ่งเลิกนับถือศาสนาเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างที่พักอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว โจทก์ถามธนพัฒน์ว่า ได้ออกไปเข้าร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่ และมีใครพาไปหรือบังคับให้ไปหรือไม่ ธนพัฒน์ตอบว่า ไปเข้าร่วมชุมนุมจริง และไม่ได้มีใครบังคับให้ไป โจทก์จึงถามต่อว่า ธนพัฒน์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมด้วยตัวเองใช่หรือไม่ ธนพัฒน์ตอบใช่

    ธนพัฒน์เบิกความตอบโจทก์ว่า สมัครเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากต้องการมีความรู้ด้านกฎหมาย และทราบว่าถ้าจบการศึกษาจะได้นิติศาสตรบัณฑิต โจทก์ถามต่อว่า ตอนลงทะเบียนเรียนไม่ได้ถูกใครชักจูงใช่หรือไม่ ธนพัฒน์ตอบ มีคุยกับเพื่อนก่อนตัดสินใจลงทะเบียนเรียน

    หลังเกิดเหตุ ธนพัฒน์จึงได้ย้ายมาอาศัยกับน้าได้ 2-3 เดือน และไม่ได้กลับบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่เช่นนั้นจะกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนแล้ว

    เมื่อโจทก์ถามว่า มีใครชักจูงให้ไปในวันดังกล่าวหรือไม่ ทนายได้คัดค้าน ระบุว่าเป็นคำถามในเนื้อหาคดี ศาลจึงให้โจทก์เปลี่ยนคำถาม โจทก์ถามถึงการติดต่อพูดคุยกับมารดา ธนพัฒน์เบิกความตอบว่า ธนพัฒน์ติดต่อพูดคุยกับมารดาอยู่บ้าง แต่เล่าให้แม่ฟังเพียงบางเรื่องเท่านั้น ตนมักไม่ค่อยปรึกษากับแม่เรื่องเข้าร่วมการชุมนุม มักปรึกษากับน้ามากกว่า

    จากนั้นโจทก์ได้ถามว่า ก่อนเกิดเหตุ ธนพัฒน์ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองมาตลอดหรือไม่ ธนพัฒน์ตอบว่า ไม่ใช่ทุกครั้ง ด้านโจทก์ถามต่ออีกว่า หลังเกิดเหตุได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไหนอีกหรือไม่ ธนพัฒน์เบิกความว่า มีการไปเข้าร่วมการชุมนุมอยู่บ้าง สำหรับวันนี้ ธนพัฒน์ทราบอยู่แล้วว่าจะมีการไต่สวน

    โจทก์จึงถามว่า ทราบหรือไม่ว่าถูกฟ้องในฐานความผิดใด ธนพัฒน์ตอบฐานความผิดต่อพระมหากษัตริย์ โจทก์พยายามถามว่า แต่ธนพัฒน์ก็ยังคงใส่เสื้อ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” มาศาล ก่อนที่ทนายคัดค้าน ระบุไม่เกี่ยวกับการไต่สวนโอนย้ายคดี ศาลจึงให้โจทก์เปลี่ยนคำถามใหม่ โจทก์จึงถามว่า ธนพัฒน์ตัดสินใจสวมใส่เสื้อตัวนี้เอง

    ก่อนเสร็จสิ้นการเบิกความของธนพัฒน์ ศาลได้ถามอีกว่า ธนพัฒน์ได้เสื้อตัวนี้มาจากไหน ธนพัฒน์ตอบว่า เป็นเสื้อที่ได้รับมาฟรี

    ตอบทนายจำเลยถามติง ธนพัฒน์เบิกความว่า เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อตั้งใจเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ได้ตั้งใจเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุม ปัจจุบันยังเดินทางกลับกาญจนบุรีไม่ได้ เพราะสถานการณ์โควิด จึงอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อ

    เวลา 14.30 น. มารดาของธนพัฒน์ขึ้นเบิกความต่อ ศาลสอบถามถึงข้อมูลประวัติส่วนตัวของมารดา โดยพยานได้เบิกความว่า ปัจจุบัน ตนประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่จังหวัดยะลา และไม่ได้อยู่อาศัยกับธนพัฒน์ แต่ยังโทรศัพท์คุยกับลูกอยู่ ถามไถ่กันในฐานะมารดาบุตรเท่านั้น

    ตอบทนายจำเลย มารดาเบิกความว่า ธนพัฒน์นั้นมีนิสัยดื้อเงียบ บางทีก็ฟังแม่ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยแม่ทราบว่า ธนพัฒน์ถูกดำเนินคดี หลังธนพัฒน์ถูกจับ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรไปหา ส่วนเรื่องการกลับไปเรียนมัธยมศึกษาต่อ มารดาได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว และทางโรงเรียนยินดีรับธนพัฒน์กลับมาศึกษาต่อ เพราะยังไม่พ้นสภาพนักเรียน ปัจจุบัน ธนพัฒน์กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำให้ธนพัฒน์เป็นเด็กที่คล้อยตามเพื่อนได้ง่าย

    ตอบโจทก์ถามค้าน มารดาเบิกความว่า ก่อนหน้านี้ธนพัฒน์นับถือศาสนาพุทธ และไม่ทราบว่า ธนพัฒน์เปลี่ยนศาสนาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนธนพัฒน์มาที่กรุงเทพฯ เป็นเด็กเรียนดี เรียนเก่ง ช่วงที่ธนพัฒน์มาอยู่กรุงเทพฯ ตนก็ไม่ทราบมากนัก เพราะถ้ามีอะไรมักไม่ค่อยบอก

    หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 ก.ย. 2564 เวลา 10.00 น.

    ทั้งนี้การไต่สวนกรณีของธนพัฒน์ เกิดขึ้นหลังฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้มีการโอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หากศาลพิจารณาเห็นว่ามีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน โดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว สามารถมีคำสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนฯ ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35386)
  • ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ธนพัฒน์พร้อมกับมารดา และเพื่อนผู้ไว้วางใจ เดินทางมาฟังคำสั่ง ด้านธนพัฒน์ได้สวมเสื้อยืดสีดำพิมพ์ข้อความสีแดงอ่านว่า “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” หลังเมื่อวันนัดไต่สวนได้ใส่เสื้อพิมพ์ลายในข้อความเดียวกัน แต่เป็นสีขาวมาศาล

    เมื่อทนายความและธนพัฒน์เข้าไปในห้องพิจารณาคดี ก่อนศาลออกพิจารณาคดีและอ่านคำสั่งว่าจะให้โอนย้ายคดีหรือไม่ เจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามทนายความถึงตารางนัดหมายเพื่อกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

    เวลาประมาณ 10.10 น. ศาลออกพิจารณาคดี ก่อนที่พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้จะเดินทางมาถึงห้องพิจารณาในเวลาต่อมา

    ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้มีการโอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ โดยศาลได้ให้เหตุผล ดังนี้

    พิเคราะห์แล้ว หลักการดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลทั่วไป คือ ถ้าหากอายุต่ำกว่า 18 ปีจะต้องไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยา แก้ไข และฟื้นฟูเยาวชนผู้กระทำความผิด โดยใช้กระบวนพิจารณาแตกต่างจากการพิจารณาคดีอาญาธรรมดา

    แต่ถ้าหากผู้กระทำผิดอายุมากกว่า 18 ปี กฎหมายถือว่ามีสติปัญญา วิจารณญาณ จึงต้องดำเนินคดีที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทั่วไป แต่ก็มีข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธี พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ที่วางหลักไว้ว่า ถ้าบุคคลใดอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ได้กระทำความผิด ถ้าศาลพิจารณาแล้วว่า บุคคลนั้นยังมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย เช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ก็มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ ได้ โดยข้อยกเว้นนี้ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด และเหตุเหมาะสม เฉพาะตัวของจำเลย ประกอบด้วยเหตุผลตามกฎหมาย

    เมื่อไต่สวนแล้วได้ความว่า เหตุการณ์ตามโจทก์ฟ้องเกิดขึ้นขณะจำเลยอายุ 18 ปี 9 วัน ถือว่าพ้นเกณฑ์เยาวชนตามกฎหมายแล้ว จึงต้องพิจารณาว่า จำเลยมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย เช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนหรือไม่

    ทั้งนี้จากการไต่สวน จำเลยมีร่างกายปกติสมบูรณ์สมวัย สภาพจิตใจก็ไม่มีความผิดปกติที่แสดงให้เห็นชัดเจน ประกอบกัยขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี และมีความคิดจะลงทะเบียนเรียน pre degree ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และจำเลยได้เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความคิดที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควร

    นอกจากนี้ บุคคลที่จำเลยอยู่อาศัยด้วยที่กาญจนบุรีและมารดาของจำเลยยังเชื่อมั่นไว้ใจว่า จำเลยสามารถดูแลตัวเองได้ จึงยอมให้มาอยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า จำเลยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ฉลาด รอบรู้ สามารถเรียนรู้ได้อย่างคนทั่วไป นอกจากนี้ มารดาของจำเลยได้เบิกความว่า จำเลยนั้นมีนิสัยดื้อเงียบ ฟังแม่แต่ไม่เถียง เรียนเก่ง จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยนั้นมีสติปัญญา สามารถเรียนรู้ได้สมกับวัยของจำเลย

    เมื่อจำเลยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ สํานักงานศาลยุติธรรม เพื่อทําการตรวจวินิจฉัย แพทย์ได้ลงความเห็นว่า จำเลยมีอาการวู่วาม คล้อยตามความเห็นเพื่อน รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตั้งใจได้แค่บางส่วน และวินิจฉัยว่า จำเลยนั้นมีพฤติกรรมและนิสัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชน

    ทั้งนี้ ความเห็นแพทย์ที่วินิจฉัยว่านิสัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชนนั้น ศาลเชื่อว่า เป็นไปตามวัยของจำเลย ซึ่งเป็นวัยรุ่น อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างวัยเด็กและผู้ใหญ่ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ต้องการการยอมรับ ซึ่งพฤติกรรมและการเลือกคบเพื่อนสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามวุฒิภาวะและอายุที่เพิ่มขึ้น หากได้รับคำแนะนำจากผู้ใกล้ชิด จึงยังไม่เห็นสมควรที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาจะโอนคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ

    หลังศาลอ่านคำสั่งเสร็จสิ้น ธนพัฒน์ได้ลุกขึ้นและเดินไปยืนหน้าที่นั่งของผู้พิพากษาเพื่อขอแถลงถ้อยคำ ศาลชี้แจงก่อนที่จะให้ธนพัฒน์แถลง โดยกล่าวว่า การชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับรองด้วยรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการชุมนุมต้องนึกถึงตัวเองด้วย

    ด้านธนพัฒน์ได้แถลงว่า ถึงตนจะอายุแค่ 18 ปี แต่ตนต้องการเรียกร้องความยุติธรรม ท่านก็เป็นตุลาการ หนึ่งในความอยุติธรรมที่ตนต้องการปฏิรูป โดยตนยืนยันจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงสถาบันตุลาการ ก่อนศาลจะกล่าวว่า ศาลมีอำนาจบังคับใช้แต่กระบวนพิจารณาในศาลเท่านั้น ศาลย้ำว่า ถึงแม้จะไม่ได้โอนย้ายคดีไปศาลเยาวชน แต่ผลตรวจจากโรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรตินั้นสามารถนำไปยื่นคำร้องให้ศาลใช้ดุลยพินิจลดโทษได้

    ผู้พิพากษาองค์คณะอีกรายได้กล่าวว่า ขั้นตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการสืบพยาน ยังไม่ได้สอบถามคำให้การ และบอกธนพัฒน์ว่า ถ้าต้องการแถลงหรือพูดอะไรสามารถพูดในชั้นสืบพยาน คำพูดจะได้ปรากฏอยู่ในสำนวน พูดตอนนี้ไปไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ขณะธนพัฒน์อธิบายว่า ต้องการพูดให้ศาลฟังและรับรู้เท่านั้น โดยศาลตอบกลับว่า ไม่ต้องพูดก็ได้ เพราะสามารถหาได้ตามอินเทอร์เน็ต

    ทนายจำเลยแถลงว่า บุคคลอาจมีความสามารถเรียนรู้ได้ (IQ) แต่อาจอยู่ในภาวะการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ โดยแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่า ปูนนั้นมีพฤติกรรมเป็นเด็กหรือเยาวชน ซึ่งในนัดก่อนหน้านี้ศาลได้กล่าวว่า ถ้าหากใบรับรองแพทย์ชี้มาว่าอย่างไร ก็ให้ว่าไปตามนั้น

    ศาลกล่าวแย้งทนายจำเลยว่า คำวินิจฉัยแพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยเท่านั้น ขณะที่ผู้พิพากษาองค์คณะอีกรายได้กล่าวว่า ผู้พิพากษาหลักคดีนี้เคยอยู่ศาลเยาวชนมา 10 ปี ไม่ต้องห่วงหรอก ถ้าไม่ผิด เดี๋ยวศาลก็ยกฟ้อง หรือดูอัตราลดโทษให้ได้

    ขณะทนายจำเลยแถลงอีกว่า ตนยังไม่ได้คิดไปถึงขั้นว่าจะยกฟ้องหรือไม่ ได้แต่นึกถึงว่าจะขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจโอนย้ายคดีไปที่ศาลเยาวชน เพื่อประโยชน์ของลูกความเท่านั้น ด้านศาลยังคงย้ำว่า ใช้คำวินิจฉัยของแพทย์เพื่อประกอบการใช้ดุลยพินิจเท่านั้น เข้าใจว่าต้องการให้ลูกความได้รับสิทธิเต็มที่ แต่ให้นำกรณีนี้ไปประกอบการพิจารณาคดีในขั้นตอนต่อไป

    หลังจากนั้น ศาลได้กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ต.ค. 2564 เวลา 13.00 น. ส่วนกรณีที่โจทก์ได้ยื่นขอรวมคดีของปูนเข้ากับคดีของ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ศาลได้ยกคำร้องไปแล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35697)
  • นัดตรวจพยานหลักฐานที่เลื่อนมาจากวันที่ 18 ต.ค. 2564 และ 22 พ.ย. 2564 โจทก์ยื่นคำร้องขอรวมพิจารณาคดีของแอมมี่และปูน เนื่องจากเป็นกรณีเดียวกัน และพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน จำเลยไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้รวมพิจารณาคดีโดยให้ถือคดีของแอมมี่เป็นสำนวนหลัก และให้เรียกปูนเป็นจำเลยที่ 2

    ทั้งโจทก์และจำเลยแถลงให้คงวันนัดสืบพยานเดิมที่ได้นัดไว้แล้ว และเพิ่มนัดสืบพยานจำเลยอีก 1 นัด ศาลอนุญาต นัดสืบพยานจำเลยเพิ่มในวันที่ 16 มี.ค. 2565 อีกวัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2564)
  • แอมมี่มีอาการป่วย คาดว่าจะติดโควิด ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี
  • ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112

    สืบพยานโจทก์ 1 ปาก คือ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ผู้แจ้งความ โจทก์ยังติดใจสืบพยานอีก 1 ปาก คือพนักงานสอบสวน ซึ่งหมายเรียกมาในวันที่ 28 ก.พ. 2566 ศาลจึงให่ยกเลิกนัดสืบพยานในวันที่ 24 ก.พ. 2566 นัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 28 ก.พ. 2566

    ในวันนี้ศาลพิจารณาคดีโดยวิธีการบันทึกภาพ ไม่มีการอ่านคำเบิกความ ศาลแจ้งด้วยว่า ทนายจำเลยสามารถดูเทปย้อนหลังได้ แต่ไม่อนุญาตให้คัดลอกหรือนำกลับไปดูที่บ้าน และเจ้าหน้าที่ศาลจะทำสรุปคำเบิกความให้ ทั้งนี้ สรุปคำเบิกความไม่ถือเป็นคำเบิกความ

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2566)
  • โจทก์นำพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความอีก 1 ปาก ศาลพิจารณาคดีโดยระบบบันทึกภาพและเสียง จากนั้นโจทก์แถลงหมดพยาน นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 1 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • ฝ่ายจำเลยนำพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ก่อนแถลงหมดพยาน และขอส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลอนุญาต

    ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ในเรื่องสัดส่วนการลงโทษหรือไม่ ต่อมา ศาลมีคำสั่งรับคำร้องส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป

    ทั้งนี้ ศาลอาญาแจ้งว่าไม่แน่ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้วเสร็จเมื่อใด หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อใดจะแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบเพื่อฟังคำวินิจฉัยและคำพิพากษา

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1199/2564 ลงวันที่ 1 มี.ค. 2566)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากแอมมี่ จำเลยที่ 1 ป่วยเป็นโรคกะเพาะ และแพทย์ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดพร้อมเพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นวันที่ 15 ม.ค. 2567
  • ที่ห้องพิจารณา 903 เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกไชยอมรและธนพัฒน์มาที่หน้าห้องพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ฟัง มีใจความโดยสรุปว่า

    ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองที่ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนแน่นอน เนื่องจากไม่ได้บัญญัติถ้อยคำว่า “อันเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” อันแสดงถึงคุณธรรมที่เป็นมูลฐานที่กฎหมายต้องการคุ้มครองอย่างชัดแจ้ง เปิดช่องให้เกิดการตีความที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง และบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะคุ้มครองทรัพย์ของบุคคลมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์อยู่แล้ว ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำเช่นใดจะเป็นความผิดกฎหมายบทใดระหว่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 กับมาตรา 358

    ทั้งเมื่อพิจารณาการเผาทรัพย์ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะหรือการประท้วงเรียกร้อง เป็นการแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้สัดส่วนและเกินสมควรแก่เหตุ

    นอกจากนี้ บทกำหนดโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ยังไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เมื่อเทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นการทำลายหรือทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียไปเช่นเดียวกัน กลับมีบทกำหนดโทษต่ำกว่าและเป็นความผิดอันยอมความได้อีกด้วย

    ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามหลักนิติธรรมกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้น และโดยที่การลงโทษทางอาญาเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล ต้องมีหลักประกันว่ากฎหมายอาญาต้องบัญญัติถ้อยคำที่เป็นองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจนแน่นอนไม่คลุมเครือ เพื่อให้ประชาชนรู้ได้ว่าการกระทำใดกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและต้องรับโทษเช่นใด

    อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาญาอาจบัญญัติถ้อยคำเพียงเท่าที่ชัดเจนแน่นอนพอควรและอาศัยการตีความตามบริบทของเรื่องประกอบกับบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติถ้อยคำให้อยู่ในระดับที่ระบุเฉพาะเจาะจงลงไปอย่างละเอียด เพราะบางกรณีอาจเป็นการเหลือวิสัยที่กฎหมายจะบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนแน่นอนจนปราศจากการต้องตีความโดยสิ้นเชิง ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาเพื่อลงโทษบุคคลนั้น นอกจากการตีความตามตัวอักษรเพื่อค้นหาเจตนารมณ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณธรรมทางกฎหมายที่ถือเป็นประโยชน์หรือคุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองซ่อนอยู่ภายใต้บทบัญญัติที่ผู้ตีความต้องค้นหาเพื่อใช้ประกอบการตีความด้วยเช่นกัน

    เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น…” กับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย…” ประกอบกับการจัดลักษณะความผิดของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายมุ่งจะคุ้มครองแล้ว เห็นได้ว่า ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติในลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันอันตรายต่อประชาชน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

    เนื่องจากการนำเพลิงไปวางเพื่อเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดที่ก่ออันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน เพราะโดยสภาพและธรรมชาติของไฟนั้น หากเกิดเพลิงไหม้แล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น ความเสียหายจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ยังเป็นความเสียหายที่ยากแก่การควบคุม ไม่อาจกำหนดขอบเขตความเสียหายไว้เพียงแค่ทรัพย์ที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำ และความเสียหายนั้นอาจลุกลามแผ่ขยายออกไปได้อีกอย่างรวดเร็วและไม่มีขอบเขตจำกัดจนไม่อาจประเมินได้ ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้อื่นและประชาชน

    ฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้ภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้น จึงบัญญัติความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ขึ้น โดยหากผู้กระทำรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นและต้องการวางเพลิงเผาทรัพย์นั้น ผู้นั้นกระทำโดยมีเจตนาวางเพลิง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท และด้วยเหตุที่เป็นการกระทำที่มีความร้ายแรงต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป จึงบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินหรือความผิดอันยอมความไม่ได้ และลงโทษการกระทำที่แม้เป็นเพียงการตระเตรียมกระทำความผิด

    ดังนั้น แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 จะมิได้มีถ้อยคำที่บัญญัติว่า “อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” ก็ตาม แต่โดยสภาพของการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและเป็นภยันอันตรายต่อประชาชนอยู่ในตัว บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่มีความชัดแจนแน่นอนพอควร และเนื่องจากความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์มีผลกระทบที่ร้ายแรงมากกว่าความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ กล่าวคือ มิได้ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญาหนักกว่าและบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หรือความผิดอันยอมความไม่ได้ จึงได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดแล้ว

    ส่วนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 นั้น เสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่เสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่รัฐไม่อาจจำกัดได้ หากแต่เป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขให้จำกัดได้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เมื่อประมวลกฎหมายอาญ ามาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34

    ส่วนการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ จะตกอยู่ภายใต้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้หรือไม่ หรือการแสดงออกนั้นจะเข้าข่ายความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

    ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน กับผลกระทบจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้ว เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ มาตรา 34

    อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34

    ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ได้กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 มี.ค. 2567

    (อ้างอิง: คำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 16/2566 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63176)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์