สรุปความสำคัญ

23 ม.ค. 2564 ปรากฏป้าย #วัคซีนหาซีนให้วัง จำนวน 7 ป้าย ติดตั้งตามเส้นทางเข้าเมืองกาฬสินธุ์ เพียง 2 ชั่วโมง ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ก็นำกำลังมาเก็บป้ายดังกล่าวไป รวมทั้งมีการสืบสวนหาข่าวตามร้านป้ายอิงค์เจ็ทเพื่อหาผู้สั่งทำป้ายดังกล่าว โดยมีการยกกฎหมายอาญา มาตรา112 มาข่มขู่เจ้าของร้านทำป้ายด้วย ต่อมา "โตโต้" ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดทำป้าย และโพสต์เผยแพร่ภาพป้ายดังกล่าวที่ติดตั้งอยู่ข้างทาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปิยรัฐ จงเทพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปิยรัฐ จงเทพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

23 ม.ค. 2564 ปรากฏป้าย #วัคซีนหาซีนให้วัง จำนวน 7 ป้าย ติดตั้งตามเส้นทางเข้าเมืองกาฬสินธุ์ เพียง 2 ชั่วโมง ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ก็นำกำลังมาเก็บป้ายดังกล่าวไป รวมทั้งมีการสืบสวนหาข่าวตามร้านป้ายอิงค์เจ็ทเพื่อหาผู้สั่งทำป้ายดังกล่าว โดยมีการยกกฎหมายอาญา มาตรา112 มาข่มขู่เจ้าของร้านทำป้ายด้วย

ต่อมา วันที่ 30 มี.ค. 2564 เวลา 10.30 น. คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดย พ.ต.อ.สุธน สีหามาตย์ เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อหา “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำกลุ่มการ์ดอาสา We Volunteer ที่ถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2564 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ โดยมีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อปิยรัฐ โดยระบุพฤติการณ์ว่าปิยรัฐได้ร่วมกับพวก จัดทำป้ายไวนิลเพื่อติดประกาศวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล แล้วใส่ข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10 ลงในแผ่นป้ายดังกล่าว โดยในวันที่ 23 ม.ค. 2564 ได้นำไปติดไว้ที่ริมถนนสาย อำเภอยางตลาด-จังหวัดกาฬสินธุ์ มีทั้งหมด 7 แผ่นเรียงกัน และถ่ายภาพป้ายทั้งเจ็ด นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ -Piyarat Chongthep” และทวิตเตอร์ชื่อ “We Volunteer”

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

หลังได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

คดีนี้นับเป็นการถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 คดีแรกของปิยรัฐ ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีบทบาทเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer หรือกลุ่มการ์ด WeVo และทำให้เขาถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 รวมแล้วเป็น 11 คดี

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 30 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27768)

2 เม.ย. 2564 หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันปิยรัฐระหว่างสอบสวน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นอั้งยี่และซ่องโจร และปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาได้ถูกตำรวจเข้าอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ 76/2564 ลงวันที่ 2 เม.ย. 2564 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และควบคุมตัวไปที่ สน.ประชาชื่น

เวลาประมาณ 20.30 น. ปิยรัฐถูกควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังส่งตัวไป สภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินคดีตามหมายจับดังกล่าว กรณีมีผู้ติดป้าย #วัคซีนหาซีนให้วัง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ท่ามกลางความสงสัยว่า ในทางกฎหมายไม่น่าจะมีเหตุให้ตำรวจไปขอออกหมายจับ และไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายที่ศาลจะอนุญาตให้ออกหมายจับ เนื่องจากคดีนี้คณะพนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว อีกทั้งหมายจับดังกล่าวซึ่งมีปวริศ หวังพินิจกุล ผู้พิพากษาเป็นผู้อนุมัติออกหมายจับ ไม่มีการติ๊กระบุสาเหตุของการออกหมายจับใดๆ

3 เม.ย. 2564 ปิยรัฐถูกควบคุมตัวถึง สภ.ยางตลาด ในเวลาประมาณ 06.00 น. โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์และขอนแก่นมารอพบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรั้วเหล็กกั้นปิดทางเข้า ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องยกเว้นญาติและทนายความเข้าในบริเวณสถานีตำรวจ โดยมีกำลังตำรวจและ อส. ราว 30 นาย ควบคุมพื้นที่

จากนั้นเวลา 07.30 น. คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดย พ.ต.อ.สุธน สีหามาตย์ ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำปิยรัฐอีกครั้ง อ้างว่า กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในวันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปิยรัฐไม่ยอมรับและไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนเกรงว่ากระบวนการจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้ง

ปิยรัฐไม่ตอบคำถามของพนักงานสอบสวน ระบุว่า “ให้การไปแล้วในวันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กับพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความของข้าฯ” และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การ เขียนแทนว่า ประสงค์อ้างตามบันทึกคำให้การวันที่ 30 มี.ค. 2564

หลังเสร็จกระบวนการพนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จาก สภ.ยางตลาด ไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยพนักงานสอบสวนส่งคำร้องขอฝากขังต่อศาลแบบออนไลน์ ด้านทนายความได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ คำร้องคัดค้านการขอฝากขัง และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยขอให้ศาลเบิกตัวปิยรัฐไปทำการไต่สวนที่ศาล

อย่างไรก็ตาม หลังการไต่สวนที่ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้นทนายความที่ปิยรัฐแต่งตั้งแล้วเข้าร่วม ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับ โดยอ้างว่าหมายจับสิ้นผลไปเอง และอนุญาตให้ฝากขัง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ปิยรัฐถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ในทันที

(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงวันที่ 3 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27933)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์