สรุปความสำคัญ

กลุ่ม REDEM นัดหมาย #ม็อบ20มีนา บริเวณสนามหลวง นอกจากถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ใช้ทั้งน้ำ แก็สน้ำตา และกระสุนยาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และจับกุมดำเนินคดีในระหว่างการสลายการชุมนุมถึง 32 ราย ภายหลังการชุมนุมยังมีการออกหมายจับ "จัสติน" หรือชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรม "ราษฎร" และดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ รวม 7 ข้อหา กล่าวหาว่า ชูเกียรติร่วมชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ และนำกระดาษที่เขียนข้อความ "ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!" ไปแปะบนรูปรัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งอยู่หน้าศาลฎีกา

หลังถูกจับกุม ชูเกียรติถูกยึดโทรศัพท์ ทำให้ไม่สามารถติดต่อทนายความและญาติได้ ก่อนเจ้าหน้าที่ ปอท.ขอคำสั่งศาลเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ ทั้งที่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งไม่ได้การประกันตัวในชั้นสอบสวน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หลังถูกขังถึง 71 วัน และติดโควิดในเรือนจำ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชูเกียรติ แสงวงค์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 มี.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าวว่า พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้กระทำผิดจากกรณีการชุมนุมที่สนามหลวงของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 โดยเบื้องต้นศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ "จัสติน ช่างสักลาย" แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ตามหมายจับศาลอาญาที่ 519/2564 ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนอันมิใช่เป็นการในการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หลังพบพยานหลักฐานว่า ในการชุมนุมดังกล่าวชูเกียรติ และพวกได้ร่วมกันขีดเขียนข้อความและนำสติกเกอร์ติดลงไปบนพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลฏีกา (อ้างอิง: https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000027501)

จากนั้นเวลาประมาณ 20.15 น. ชูเกียรติได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตามหมายจับ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจะถูกนำตัวไปยัง สน.ชนะสงคราม

เวลา 22.20 น. ทนายความเดินทางไปถึง สน.ชนะสงคราม ก่อนจะพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่นำตัวชูเกียรติมายังสถานีตำรวจซึ่งเป็นที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะไม่นำตัวมาที่ สน.ชนะสงคราม เนื่องจากเพิ่งมีการปรับปรุงห้องขังใหม่ ทำให้ไม่มีที่คุมขังผู้ต้องหา ขณะเดียวกันยังมีนักกิจกรรมและมวลชนติดตามมาที่ สน.ชนะสงคราม

3 ชั่วโมงเศษหลังการควบคุมตัว เวลา 23.30 น. ทนายความได้รับแจ้งว่าชูเกียรติถูกนำตัวไปที่ สน.ห้วยขวาง จึงได้เดินทางติดตามไป

กระทั่งเวลา 00.54 น. ของวันที่ 23 มี.ค. 64 ทนายความได้พบกับชูเกียรติที่ สน.ห้วยขวาง ชูเกียรติให้ข้อมูลกับทนายความว่าขณะจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม แต่กลับถูกนำตัวมาที่ สน.ห้วยขวาง โดยไม่ทราบสาเหตุ

ระหว่างถูกควบคุมตัวที่ สน.ห้วยขวาง เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือของชูเกียรติ ทำให้ไม่สามารถติดต่อใครได้ และพยายามดำเนินการสอบสวนโดยใช้ทนายความที่ตำรวจจัดหามาให้ แต่ชูเกียรติไม่ยินยอมจึงถูกใส่กุญแจมือและนำตัวเข้าห้องขังใน สน.ห้วยขวาง

ต่อมาทราบว่าชูเกียรติถูกควบคุมตัวตามหมายจับของศาลอาญาเลขที่ 514/2564 ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 โดยมีการระบุชื่อชุดตำรวจที่เข้าทำการจับกุมจาก สภ.สำโรงเหนือ จำนวน 6 นาย นำโดย ร.ต.อ.ธนกร จุปะมะตัง สารวัตรสืบสวน สภ.สำโรงเหนือ ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งในหมายจับและบันทึกจับกุมระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116

บันทึกจับกุมระบุว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจชุดจับกุมได้ทำการสืบสวนติดตามจับกุมชูเกียรติจากบริเวณคอนโดที่พักในจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.ห้วยขวาง ในเวลาประมาณ 21.30 น. และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง ไว้เป็นของกลาง ระบุว่าเป็นโทรศัพท์ที่ผู้ต้องหาใช้กระทำความผิด แม้ว่าตามหมายจับจะไม่มีข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และไม่มีหมายศาลในการตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์โดยเฉพาะก็ตาม

เมื่อทนายความติดตามไปที่ สน.ห้วยขวาง พนักงานสอบสวนจึงได้เปลี่ยนใจมาดำเนินการสอบสวนชูเกียรติในคืนนั้น

ทนายความให้ข้อมูลว่าในห้องสอบสวนมีตำรวจในเครื่องแบบ 7 นาย โดย 2 นายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม พื้นที่เกิดเหตุ เดินทางมาสอบปากคำชูเกียรติที่ สน.ห้วยขวาง โดยมีการตั้งกล้องวิดีโอหนึ่งตัว แต่ไม่ทราบว่ามีการบันทึกภาพและเสียงหรือไม่

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหารวม 7 ข้อหา โดย 6 ข้อหาเป็นข้อกล่าวหาเดียวกันกับผู้ถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน โดยใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ และมีการแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 เพิ่มเติมจากคนอื่นๆ

ชูเกียรติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาชูเกียรติยังขอให้การเพิ่มเติมว่าตนไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมายและไม่ได้รับโอกาสในการติดต่อทนายความหรือผู้ไว้วางใจโดยทันที ทำให้เขาถูกควบคุมตัวใส่กุญแจมือไว้ในห้องขังตั้งแต่เวลา 20.00 น. จนกระทั่งทนายมาพบ

หลังเสร็จการสอบปากคำ ตำรวจควบคุมตัวชูเกียรติไว้ที่ห้องขังของ สน.ห้วยขวาง ก่อนขออำนาจศาลอาญาฝากขังชูเกียรติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่ให้ประกันตัว ทำให้ชูเกียรติถูกนำตัวไปขังระหว่างการสอบสวนที่เรือนจำพิเศษฯกรุงเทพฯ ในเย็นวันนั้น

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.ห้วยขวาง ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27422)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์