ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.841/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม สว.สส.สน.ลุมพินี (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.841/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม สว.สส.สน.ลุมพินี (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.841/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม สว.สส.สน.ลุมพินี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.841/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม สว.สส.สน.ลุมพินี

ความสำคัญของคดี

"จัสติน" ชูเกียรติ แสงวงค์ และ "ขนุน" สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ 2 นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์" พร้อมทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากการขึ้นปราศรัยเรื่องบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย จนทำให้ผู้ชุมนุมที่มาติดตามการลงมติรับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้รับบาดเจ็บ

ในชั้นสอบสวน ตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากทั้งสองมาตามหมายเรียก แต่ในชั้นศาล หลังรับฟ้อง ศาลไม่ให้ประกันตัวสิรภพ แม้โจทก์ไม่ได้คัดค้านและสิรภพอยู่ในช่วงสอบปลายภาค กระทั่งทนายความยื่นคำร้องขอประกัน โดยระบุว่า หากได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ศาลจึงให้ประกัน โดยมีเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

ส่วนชูเกียรติ ขณะถูกฟ้องในคดีนี้ เขาถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 จากการแปะกระดาษบนรูปรัชกาลที่ 10

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน สิรภพและชูเกียรติกับพวกอีกหลายคนซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมจัดการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณแยกราชประสงค์ โดยไม่แจ้งการชุมนุมภายในระยะเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ต่อผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

2. นอกจากนี้ สิรภพและชูเกียรติกับพวกไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ทางราชการกำหนด ได้แก่ การให้ผู้ใช้พื้นที่สาธารณะใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางเลือก และการเว้นระยะห่างทางสังคม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

3. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 เวลากลางวันถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน สิรภพและชูเกียรติได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อพันตำรวจตรีสิทธิศักดิ์ สุดหอม และประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม

คำฟ้องระบุเนื้อหาเป็นท่อนๆ ที่ทั้งสองกล่าวปราศรัย โดยแนบคำถอดเทปปราศรัยของทั้งสองคน กรณีของสิรภพกล่าวถึงการบทบาทของกษัตริย์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การโอนย้ายกองทัพเป็นของส่วนพระองค์ สถานะของประชาชนที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ส่วนชูเกียรติได้เรียกร้องให้กษัตริย์ประพฤติตัวดีขึ้น

ถ้อยคำของทั้งสองคนเป็นความเท็จ เป็นการให้ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 ลงวันที่ 6 พ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 11.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี นักกิจกรรม 4 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกจากกรณีการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ที่สี่แยกราชประสงค์และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ได้แก่ ‘ขนุน’ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, ‘จัสติน’ ชูเกียรติ แสงวงค์, ธานี สะสม และชินวัตร จันทร์กระจ่าง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.ลุมพินี ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2563 โดยมี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม สว.สส.สน.ลุมพินี เป็นผู้กล่าวหา

    พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยบรรยายพฤติการณ์ในการกระทำความผิดว่า วันที่ 18 พ.ย. 2563 ผู้ถูกกล่าวหานัดหมายมวลชนให้มารวมตัวกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ มีประชาชนผู้ชุมนุมเข้าร่วมจนเต็มพื้นผิวจราจรบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ทำให้การจราจรติดขัด รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้โดยสะดวก นอกจากนั้นการชุมนุมดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

    นอกจากนั้นจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ซึ่งได้จัดทำบันทึกคำปราศรัยจากการชุมนุมดังกล่าว พบว่ามีข้อความปราศรัยบางส่วนของสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ที่ใช้วาจาจาบจ้วงพระมหากษัตริย์โดยมิบังควร เพื่อให้ประชาชนผู้มาชุมนุม และประชาชนทั่วไป เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐ อันเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้งสี่คนใน 2 ข้อหา คือ จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งแจ้งข้อกล่าวหาสิรภพและชูเกียรติในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย โดยมีการถอดคำปราศรัยบรรยายไว้ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

    ทั้ง 4 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา สำหรับสิรภพและชูเกียรติจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัวทั้งสองพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 13 ม.ค. 2564 ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีการควบคุมตัว

    จากการชุมนุมครั้งดังกล่าว สน.ลุมพินี ยังออกหมายเรียกอีก 3 คน คือ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง โดยเป็นหมายเรียกในข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมเท่านั้น ไม่มีข้อหา ม.112

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ลุมพินี ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24202)
  • พนักงานสอบสวนยังสรุปสำนวนไม่เสร็จ เลื่อนส่งตัวให้อัยการไปเป็นวันที่ 27 ม.ค. 2564
  • พนักงานสอบสวนแจ้งก่อนวันนัดให้เลื่อนส่งตัวให้อัยการไปเป็นวันที่ 9 ก.พ. 2564
  • พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้ชูเกียรติและสิรภพไปพบในวันนี้เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 พร้อมกับผู้ต้องหาอีก 5 คน ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 อัยการศาลแขวงปทุมวัน ได้ส่งสำนวนคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ต้องหา 5 คน คืนพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เนื่องจากอัยการเห็นว่า คดีมีการกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด จึงให้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อฟ้องรวมกับคดีของสิรภพและชูเกียรติ

    อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนแจ้งก่อนวันนัด เลื่อนการส่งตัวให้อัยการ โดยยังไม่ได้กำหนดวันนัดใหม่
  • พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 โดยมีชูเกียรติ, สิรภพ, ธานี และพรพจน์ เดินทางมาในช่วงเช้า และชินวัตรมาในช่วงบ่าย ส่วนภาณุพงศ์ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนส่งตัวในวันที่ 5 มี.ค. 2564 ขณะที่อานนท์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

    อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 1 เม.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • สิรภพเดินทางมาฟังคำสั่งอัยการตามนัด ด้านชูเกียรติถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีแปะกระดาษบนรูป ร.10 หน้าศาลฎีกา จึงไม่สามารถเดินทางมาได้ ขณะที่สำนวนของอานนท์, ภาณุพงศ์, ชินวัตร, ธานี และพรพจน์ ถูกส่งกลับให้พนักงานสอบสวนอีกครั้ง เพื่อให้แยกดำเนินคดีในศาลแขวง

    ในส่วยของสิรภพ อัยการเลื่อนฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 6 พ.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) มีความเห็นสั่งฟ้อง “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นิสิตภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวสิรภพด้วยเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ส่วนชูเกียรติ ปัจจุบันยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 จากการแปะกระดาษบนรูปรัชกาลที่ 10 ในการชุมนุม

    เฟซบุ๊ก Suwanna Tallek ยังเผยอีกว่า สิรภพจำเป็นต้องสอบวิชาหนึ่งในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค. 64) โดยเขายังพกพาหนังสือเรียนมาอ่านเตรียมสอบในวันนี้ด้วย

    สำหรับชูเกียรติ อัยการได้ขอให้ศาลสั่งนับโทษจำคุกของคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกใน 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ศาลอาญา คดีชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่ทําการสํานักข่าวเนชั่น ที่ศาลอาญาพระโขนง และคดีชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข ที่ศาลอาญาพระโขนง

    ทั้งนี้ ท้ายคำฟ้อง โจทก์ไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยระบุว่า หากจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้ประกันสิรภพ โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พยานหลักฐานที่ปรากฏ และพฤติการณ์แห่งคดีตามคำฟ้องโจทก์ และเห็นว่าสิรภพ (จำเลยที่ 1) ถูกฟ้องในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและคดีมีอัตราโทษจำคุกสูง กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 อาจก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำอีก” แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว สิรภพถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 ในคดีนี้เพียงคดีเดียวเท่านั้น

    การไม่ได้รับประกันตัวของสิรภพ ทำให้เขาถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที เวลา 17.50 น. ทวิตเตอร์ของ iLaw รายงานว่า ในขณะที่มวลชนกำลังรอ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง หลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว รถบัสของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ขับผ่านบริเวณดังกล่าว ด้านในมีสิรภพกำลังถูกนำตัวไปที่เรือนจำ มวลชนได้ตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” ขณะสิรภพได้ชูสามนิ้วและตะโกนหามวลชนว่า “อย่าลืมผม”

    สิรภพ ในวัย 20 ปี คือนักกิจกรรมรายล่าสุดที่ถูกควบคุมตัวระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาในคดีการเมืองรวมทั้งหมด 6 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียวที่เขาถูกกล่าวหา

    (อ้างอิง: คำฟ้องและคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 ลงวันที่ 6 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29371)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “ขนุน” สิรภพ เป็นครั้งที่ 2 โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีมารดาเป็นนายประกัน ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องในวันที่ 9 พ.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

    สำหรับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของสิรภพ โดยสรุปได้ยืนยันว่า จำเลยเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามนัดมาโดยตลอด และนับแต่ที่ถูกดำเนินคดี ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นศาล ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ซ้ำอีกแต่อย่างใด แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ต้องหาประสงค์ยืนยันในความบริสุทธิ์พร้อมจะต่อสู้คดีตามกฎหมาย ไม่เคยคิดจะหลบหนี อีกทั้งคดีนี้โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัวแต่อย่างใด

    ที่สำคัญ จำเลยกำลังศึกษาอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาค ปีการศึกษาที่ 2563 ตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย ซึ่งจำเลยมีภาระหน้าที่จะต้องเข้าสอบตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกำหนด หากต้องถูกคุมขังต่อโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะทำให้ไม่สามารถเข้าสอบตามกำหนดการของคณะและมหาวิทยาลัยได้ อันจะทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาและอนาคตทางการศึกษาของจำเลยอย่างร้ายแรง

    คำร้องยังแถลงต่อศาลว่า หากได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไม่ทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี และเพื่ออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 ลงวันที่ 8 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29437)
  • เวลา 9.30 น. ก่อนเริ่มการไต่สวน เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับพยานและผู้ที่มาให้กำลังใจสิรภพว่า อนุญาตให้เฉพาะทนายความเข้าห้องพิจารณาคดีได้ ส่วนพยานที่รอเบิกความในการไต่สวนทั้งหมด 4 คน ศาลจะอนุญาตให้ทยอยเข้าไปทีละคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

    ในการไต่สวนคำร้องขอประกันของสิรภพประกอบไปด้วยพยานทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ สิรภพ ซึ่งเป็นจำเลย, บิดา, มารดา และอาจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีก 2 คน

    สิรภพเบิกความว่าปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ตนมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและตามกำหนดนัดของพนักงานอัยการทุกนัด สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ ตนพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี

    โดยจำเลยได้แถลงยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่ทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และจะไม่กระทำความผิดข้อหาเดิมซ้ำอีก จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลที่กำหนด

    จำเลยยังมีภาระทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสอบไปแล้วทั้งหมด 3 รายวิชา แต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงทำให้ไม่สามารถเข้าสอบตามกำหนดการของคณะและมหาวิทยาลัยได้ ส่วนอีก 4 รายวิชา มหาวิทยาลัยได้ประกาศให้สอบในช่วงเวลาระหว่าง 7-15 พ.ค. 2564

    ต่อมา พยานที่ 2 และ 3 คือมารดาและบิดาของสิรภพได้ขึ้นเบิกความตามลำดับในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโดยอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถควบคุมให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้

    พยานปากที่ 4 คืออาจารย์สาขารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมของนักศึกษาในคณะ เบิกความว่า จำเลยเป็นคนตั้งใจเรียน มีความสุภาพนอบน้อม ในการดำเนินกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ สิรภพมีการปรึกษาและหารือร่วมกันตลอด ไม่ได้มีความก้าวร้าว และไม่มีพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง

    ที่สำคัญ จำเลยมีภาระทางการศึกษาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 7-21 พ.ค. 2564 เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 2564 ทำให้ไม่สามารถไปสอบแล้ว 3 รายวิชา หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถสอบย้อนหลังได้ เพื่อประโยชน์ต่อนิสิตในการเรียนการสอบ ซึ่งหลังจากที่พ้นกำหนดสอบไปแล้ว จำเลยต้องติดต่ออาจารย์ประจำวิชาให้สอบใหม่ และส่งเกรดประจำวิชาภายใน 30 วัน หากไม่ทำจะถูกปรับตก และต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ จึงกระทบต่อสิทธิในการศึกษา

    พยานปากที่ 5 คนสุดท้าย คืออาจารย์สาขารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิต มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย เบิกความว่า จำเลยเป็นนักศึกษาที่มีความประพฤติตัวดี ไม่มีพฤติการณ์รุนแรง จำเลยมีภาระทางการศึกษาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถสอบย้อนหลังได้ รวมถึงพยานจะคอยดูแล ควบคุม และตักเตือน ไม่ให้จำเลยร่วมกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์

    ทั้งนี้ อัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว

    หลังจากการไต่สวนคำร้องขอประกันเสร็จสิ้น เมื่อเวลา 12.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสิรภพ โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด

    ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 5 ก.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

    ทั้งนี้ สิรภพคือนักกิจกรรมรายล่าสุดที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง โดยเขาถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งหมด 4 วัน ก่อนถูกปล่อยตัว เขาถูกกล่าวหาในคดีการเมืองรวมทั้งหมด 6 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียวที่เขาถูกกล่าวหา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/29474)
  • เวลา 10.00 น. ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันชูเกียรติต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ หลังวานนี้ ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีตามมาตรา 112 ของศาลอาญา

    คำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ระบุเหตุผลว่า ชูเกียรตินั้นมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากได้รับการปล่อยตัว จะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จำเลยยังถือว่าเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด

    อีกทั้งวานนี้ ศาลอาญา รัชดาได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอประกันในคดีมาตรา 112 และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกำหนดเงื่อนไข และแต่งตั้งให้ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ให้เป็นผู้กำกับดูแล หากศาลจะกำหนดเงื่อนไข ขอให้ถือเอาคำให้การของชูเกียรติในคดีดังกล่าวเป็นการยืนยันว่า จำเลยจะยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนี้เช่นกัน

    นอกจากนี้ คำร้องยังยกเหตุผลขอปล่อยชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของชูเกียรติ และเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ชูเกียรติ เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแล้ว

    ต่อมา เวลา 11.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ชูเกียรติ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกับในคดีของศาลอาญา ได้แก่ ห้ามกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทำลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องร้อง ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลตามนัดที่กำหนดโดยเคร่งครัด

    ศาลยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้มีหน้าที่สอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด หากพบพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเป็นการผิดเงื่อนไขให้รายงานศาลโดยเร็ว

    ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 5 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ ภายในเย็นนี้ ชูเกียรติจะได้รับปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกขังเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 72 วัน หากนับการถูกขังระหว่างพิจารณาของคดีนี้นับตั้งแต่ศาลรับฟ้อง เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 จะนับเป็นเวลารวม 28 วัน

    หลังจากการปล่อยตัวของชูเกียรติ ยังคงมีผู้ต้องขังในคดีการเมืองระหว่างต่อสู้คดีอีก 2 รายที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ได้แก่ แซม สาแมท และศุภากร (สงวนนามสกุล) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท ล่าสุด รายงานของกรมราชทัณฑ์สถานการณ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 64 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสะสมรวมกว่า 1,802 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,964 คน

    จนถึงปัจจุบัน ชูเกียรติถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้ว รวมทั้งสิ้น 12 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 ถึง 4 คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30443)
  • นักกิจกรรมทั้งสองเดินทางมาศาล พร้อมทนายความ ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง จําเลยทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้อง และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือประกอบ

    ต่อมา ศาลสอบถามคู่ความเกี่ยวกับพยานวัตถุและพยานเอกสารที่จะให้คู่ความ

    อีกฝ่ายหนึ่งตรวจดู อัยการโจทก์แถลงว่าประสงค์ที่จะส่งพยานเอกสารรวมทั้งสิ้น 19 ฉบับ และวัตถุพยาน 1 รายการ คือ แฟลชไดรฟบันทึกการปราศรัยของจำเลยทั้งสอง ขณะที่ทนายจำเลยแถลงว่าจะนำส่งพยานเอกสาร 1 ฉบับ ศาลได้รับไว้ และให้คู่ความตรวจดู

    จากนั้น อัยการแถลงว่าจะนำสืบพยานบุคคลทั้งหมด 12 ปาก โดยขอใช้ระยะเวลาสืบพยานทั้งหมด 3 นัด

    ขณะทนายจําเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงว่าจะนำสืบพยานจำเลยทั้งหมด 5 ปาก ขอใช้ระยะเวลาสืบพยาน 2 นัด

    ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นควรให้กําหนดวันนัดสืบพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายแถลงไว้ รวมเป็นทั้งหมด 5 นัด โดยให้พิจารณาคดีติดต่อกันไป และให้คู่ความไปกําหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความ

    จากนั้น คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาล โดยกำหนดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18-20 ม.ค. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 21 และ 25 ม.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31767)
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องฉบับลงวันที่ 13 ม.ค. 2565 จําเลยทั้งสองไม่ค้าน และจําเลยที่ 1 แถลงรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจําเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2499/2564 ของศาลอาญา จําเลยที่ 2 รับว่า เป็นบุคคลเดียวกับจําเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.1299/2564 ของศาลแขวงดุสิต, จําเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.1625/2564 ของศาลอาญาตลิ่งชัน, จําเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.372/2564 ของศาลอาญาธนบุรี และจําเลยในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.1366/2564 ของศาลอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคําฟ้องได้ เนื่องจากไม่ทําให้จําเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือหลงข้อต่อสู้

    ทนายจําเลยที่ 2 ยื่นคําร้องผ่านระบบ CIOS อ้างว่าใกล้ชิดกับบุคคลผู้ติดเชื้อโควิด ต้องกักตัวทําให้ไม่สามารถมาศาลได้ ขอเลื่อนคดีที่นัดไว้ทั้งหมด โจทก์ไม่คัดค้าน และแถลงว่าไม่สะดวกที่จะใช้วิธีการสืบพยานโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ศาลจึงให้เลื่อนคดีนี้ออกไปก่อน โดยให้กําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 6, 30 ก.ย. และ 27 ธ.ค. 2565 สืบพยานจำเลยวันที่ 7, 8 มี.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2565)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชูเกียรติ แสงวงค์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชูเกียรติ แสงวงค์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์