สรุปความสำคัญ

อนุชา ผู้เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ถูกจับกุมภายหลังการชุมนุม และถูกดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากกรณีชูป้ายแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ในที่ชุมนุม ซึ่งเป็นภาพรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หลายข้อความ

ขณะอนุชาถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน เขาไม่มีทนายความอยู่ด้วย เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าเขาถูกจับกุม อีกทั้งไม่ได้ยื่นประกันตัว หลังศาลให้ฝากขังระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 24 วัน ก่อนที่ทนายความยื่นขอประกันตัว และศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา หลังอัยการยื่นฟ้องคดี ศาลยังให้ประกันเช่นเดิม แต่กำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ห้ามกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันอาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หรือมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อนุชา (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • อนุชา (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

23 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 19.20 น. ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง ซึ่งมีการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กล่าวถึงการเลื่อนขั้นภายในองค์กรตำรวจอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง” ชุดสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้เข้าขอตรวจค้นตัวและกระเป๋าของอนุชา ขณะเดินทางออกจากที่ชุมนุม ก่อนจับกุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เพื่อดำเนินคดี พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์ที่ค้นได้จากกระเป๋าของอนุชารวม 10 รายการ เช่น ไม้เซลฟี่ ท่อพีวีซี เสื้อยืด กางเกงยีนส์ โทรศัพท์ ไว้เป็นของกลาง

ตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุมระบุว่า ในระหว่างการชุมนุม อนุชาได้เดินชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่อยู่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตรงกลางป้ายมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออนุชาทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยแต่อย่างใด อนุชาได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ตำรวจได้ควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวัน 1 คืน

24 ก.พ. 2564 ตำรวจเดินทางไปตรวจค้นห้องพักของอนุชา ทำการตรวจยึดปากกาไวท์บอร์ด 1 ด้าม ปากกาเคมี 1 ด้าม ต่อมา พนักงานสอบสวนได้นำตัวอนุชาไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ในการฝากขัง ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทำให้อนุชาถูกส่งตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากหลังถูกจับกุมอนุชาไม่ได้ติดต่อใคร จึงยังไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัว

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 23 ก.พ. 2564, คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 24 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26765)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์