ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ดำ อ.936/2564

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.936/2564
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

อนุชา ผู้เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ถูกจับกุมภายหลังการชุมนุม และถูกดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากกรณีชูป้ายแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ในที่ชุมนุม ซึ่งเป็นภาพรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หลายข้อความ

ขณะอนุชาถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน เขาไม่มีทนายความอยู่ด้วย เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าเขาถูกจับกุม อีกทั้งไม่ได้ยื่นประกันตัว หลังศาลให้ฝากขังระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 24 วัน ก่อนที่ทนายความยื่นขอประกันตัว และศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา หลังอัยการยื่นฟ้องคดี ศาลยังให้ประกันเช่นเดิม แต่กำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ห้ามกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันอาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หรือมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ฟ้องอนุชา บรรยายพฤติการณ์คดีในคำฟ้องดังนี้

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ประกาศ ข้อกําหนดและคําสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับ ได้มีการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาล และสถาบันพระมหากษัตริย์ ชื่อว่า “ม็อบตํารวจล้มช้าง” มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหากรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยมีประชาชนทั่วไปประมาณ 500 คนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ต่อเนื่องมาถึงบริเวณหน้าสํานักงานตํารวจแห่งชาติที่เกิดเหตุ จําเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ในวันดังกล่าว จำเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือ

1. จําเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง ชื่อว่า “ม็อบตํารวจล้มช้าง” ด้วยการร่วมกันเดินขบวนพร้อมประชาชนทั่วไปผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน ซึ่งเป็นการจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

กล่าวคือ ขณะที่มีการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวนั้น ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ อันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร และไม่ปิดบังอําพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ชุมนุมได้ใช้ผ้าคลุมศีรษะและใบหน้า เว้นไว้เพียงดวงตา อันเป็นการปิดบังอำพรางตน โดยจงใจมิให้มีการระบุตัวตนได้ถูกต้อง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558

2. ตามวันเวลาดังกล่าว จําเลยได้เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองชื่อว่า “ม็อบตํารวจล้มช้าง” ด้วยการร่วมกันเดินขบวน พร้อมกับประชาชนทั่วไปผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย โดยไม่ได้จัดให้มีบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวม หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

แม้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความเรียบร้อย และควบคุมสถานการณ์การจัดการชุมนุมของจําเลยกับพวก ได้แจ้งให้จําเลยกับพวกอยู่ในกรอบของกฎหมาย กับให้รักษามาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรนา 2019 และให้ยุติการชมนุม จําเลยกับพวกและกลุ่มผู้ชุมนุมรับทราบคําสั่งแล้ว แต่ไม่ยุติการชุมนุมและยังคงร่วมกันชุมนุมโดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนด อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

3. ขณะที่จําเลยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการเดินชูแผ่นป้ายไวนิลในกรอบขนาดใหญ่บริเวณที่ชุมนุมสาธารณะซึ่งปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 โดยบริเวณตรงกลางแผ่นป้าย มีตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ทับ พร้อมกับมีข้อความอื่นอีกหลายข้อความในแผ่นป้ายไวนิลดังกล่าว ซึ่งจําเลยใช้ปากกาและหมึกสีประเภทต่างๆ เขียน และพิมพ์ขึ้นมา ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน

ทั้งหมดที่ปรากฏในแผ่นป้ายไวนิลดังกล่าว ทําให้พันตํารวจโท คชภพ คงสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณที่เกิดเหตุ และผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามผู้พบเห็นแผ่นป้ายดังกล่าวเข้าใจข้อความที่ปรากฏบนแผ่นป้ายไวนิลนั้น กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นความเท็จ และเป็นการให้ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ทั้งนี้ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนชาวไทยเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2564 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 19.20 น. ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง ซึ่งมีการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กล่าวถึงการเลื่อนขั้นภายในองค์กรตำรวจอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง” ชุดสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้เข้าขอตรวจค้นตัวและกระเป๋าของอนุชา ขณะเดินทางออกจากที่ชุมนุม ก่อนจับกุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เพื่อดำเนินคดี พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์ที่ค้นได้จากกระเป๋าของอนุชารวม 10 รายการ เช่น ไม้เซลฟี่ ท่อพีวีซี เสื้อยืด กางเกงยีนส์ โทรศัพท์ ไว้เป็นของกลาง

    ตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุมระบุว่า ในระหว่างการชุมนุม อนุชาได้เดินชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่อยู่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตรงกลางป้ายมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ชุดสืบสวนจึงได้ติดตามดูอนุชา โดยยังไม่จับกุมในทันที

    แต่ภายหลังอนุชาชูป้ายอยู่ราว 10 นาที ได้เดินไปที่ริมกำแพงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการถอดเปลี่ยนเสื้อและเก็บแผ่นป้ายไวนิลดังกล่าวไว้ในกระเป๋า และเดินออกจากพื้นที่ชุมนุม ตำรวจจึงได้ติดตามไปทันที กระทั่งมาถึงแยกราชประสงค์ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าแสดงตัวเป็นตำรวจ ขอทำการตรวจค้นตัว ซึ่งอนุชาได้ยินยอมให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้พบป้ายไวนิลดังกล่าว ท่อพีวีซี ไม้เซลฟี่ อยู่ในกระเป๋าสะพาย เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมอนุชา พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน

    บันทึกจับกุมระบุเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทั้งหมด 14 นาย สังกัดกองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล 6 และฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน

    พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออนุชาทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) โดยการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยแต่อย่างใด อนุชาได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

    หลังสอบปากคำเสร็จ ตำรวจได้ควบคุมตัวไว้ เตรียมส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขังในวันถัดไป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 23 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26765)
  • เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นห้องพักของอนุชา ทำการตรวจยึดปากกาไวท์บอร์ด 1 ด้าม ปากกาเคมี 1 ด้าม ต่อมา พนักงานสอบสวนได้นำตัวอนุชาไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ในการฝากขัง โดยระบุต่อศาลว่ายังต้องทำการสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลตรวจประวัติอาชญากร และยังได้คัดค้านการประกันตัวอนุชา อ้างเหตุว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

    จากนั้นศาลอนุญาตให้ฝากขังอนุชาระหว่างสอบสวนเป็นระยะเวลา 12 วัน โดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรงจึงอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน เนื่องจากหลังถูกจับกุมอนุชาไม่ได้ติดต่อใคร จึงยังไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัว ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันนั้น

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 24 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26765)
  • ร.ต.ท.พงศกร ข้องสาย รองสารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ยังได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่ออนุชาเพิ่มเติม ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยได้ประสานงานทนายความเข้าร่วมการสอบสวนด้วย

    ตำรวจได้กล่าวหาเพิ่มเติมว่า อนุชาได้ร่วมการชุมนุมกีดขวางการจราจร เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และยังปิดบังใบหน้า โดยใช้ผ้าปิดหน้าและใส่หมวก เพื่อไม่ให้บุคคลทั่วไปเห็นใบหน้า และยังมีการเตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนทันที อันเป็นความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้พื้นที่สาธารณะ และเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะโดยปิดบังอำพรางตน

    อนุชาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 9 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26765)
  • ทนายความได้ยื่นประกันตัว โดยได้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งระบุเหตุผลในการขอประกันโดยสรุปว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่เคยถูกออกหมายจับในคดีใดๆ มาก่อน ทั้งผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่รัฐธรรมนูญไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้

    ทั้งนี้ อนุชายังเป็นเสาหลักดูแลครอบครัว ประกอบสัมมาอาชีพสุจริต ซึ่งหากไม่ได้ประกันย่อมส่งผลให้ครอบครัวขาดรายได้ ขาดผู้อุปการะ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งพฤติการณ์คดีนี้ไม่ร้ายแรง การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไม่ก่อให้เกิดภยันอันตรายหรือความเสียหายใดๆ

    ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอนุชา พร้อมกำหนดวันนัดรายงานตัวในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ทำให้อนุชาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันเดียวกัน หลังจากถูกคุมขังมาแล้วทั้งหมด 24 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 19 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27190)
  • อนุชาเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัด ศาลนัดรายงานตัวครั้งถัดไปวันที่ 26 เม.ย 2564 เวลา 08.30 น.
  • อนุชาเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัด ศาลนัดรายงานตัวครั้งถัดไปวันที่ 7 พ.ค. 2564 เวลา 8.30 น.
  • อนุชาเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัด ศาลนัดรายงานตัวครั้งถัดไปวันที่ 19 พ.ค. 2564 เวลา 8.30 น. ซึ่งในวันดังกล่าวจะเป็นการรายงานตัวหลังครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้ายในวันที่ 18 พ.ค. 2564
  • พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นฟ้องอนุชาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใน 4 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

    ท้ายคำฟ้องอัยการยังได้ร้องขอให้ศาลริบของกลางของจำเลย ทั้งแผ่นป้ายไวนิล ท่อพีวีซี จำนวน 4 ท่อน,ไม้เซลฟี่ 1 อัน, กระเป๋าสะพาย 1 ใบ, ผ้าคลุมศีรษะ 1 ผืน รวมถึงปากกาไวท์บอร์ด 1 ด้าม และปากกาเคมี 1 ด้าม แต่ไม่ปรากฏว่า โจทก์คัดค้านการให้ประกันตัวจำเลยแต่อย่างใด ระบุว่า ให้เป็นดุลพินิจของศาล

    ศาลรับฟ้องคดีนี้ไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.936/2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2564 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29865)
  • อนุชาเข้ารายงานตัวหลังครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้าย ก่อนได้รับแจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องคดีตั้งแต่วานนี้ (18 พ.ค.) ทนายจำเลยจึงได้ยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิม

    ต่อมา เวลา 15.10 น. หลังศาลถามคำให้การจำเลย โดยอนุชาให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิม จำนวน 150,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันอาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้องคดีนี้ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มีหนังสือถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ และให้ศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

    นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2564 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29865)
  • ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนคดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และส่งหมายนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 4 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • จำเลยยื่นขอถอนทนายพงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ออกจากการเป็นทนายความ และแต่งตั้งทนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม เข้าเป็นทนายความแทน ด้านทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความ ต้องใช้เวลาศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อีกทั้งติดว่าความในคดีอื่นที่ได้กำหนดนัดไว้ก่อน โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นเป็นวันที่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2564 ลงวันที่ 4 ต.ค. 2564)
  • โจทก์ จําเลย และทนายจําเลย มาศาล ศาลสอบคําให้การ จําเลยแถลงยืนยันให้การปฏิเสธ

    โจทก์แถลงขออ้างส่งพยานเอกสารจํานวน 31 อันดับ และประสงค์จะสืบพยานบุคคล 22 ปาก แต่หากจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงได้ว่า นพ.ณฐกานต์ เสาวภา เป็นแพทย์ประจําโรงพยาบาลตํารวจ ซึ่งทําการตรวจร่างกายจําเลยหลังจับกุมจําเลย ทําใบรับรองแพทย์ และให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคําให้การ, พ.ต.ท.หญิงชุดชนก โชคชัยเจริญ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือเขียน และทํารายงานการตรวจพิสูจน์ และ ร.ต.ท.พงศกร ของสาย เป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จําเลย โจทก์ก็จะไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าว

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานทั้ง 3 ปากดังกล่าว คงเหลือพยานที่ติดใจนําสืบ 19 ปาก ขอใช้เวลาสืบพยาน 5 นัด ทนายจําเลยแถลงว่าประสงค์จะสืบพยาน 7 ปาก ขอใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21-24, 28 มี.ค. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 29-30 มี.ค. 2565
  • เลื่อน
  • อนุชาแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมกับยื่นคำแถลงประกอบคำให้การรับสารภาพ โดยข้อให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้ ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติจำเลยรายงานให้ศาลทราบภายใน 15 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.ค. 2566
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยเดินทางมาศาลเพียงคนเดียว เพื่อฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้ดังนี้

    พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จากการสืบเสาะพฤติการณ์พบว่า จำเลยได้ดูคลิปวิดีโอของคณะราษฎร แล้วนำมาเขียนป้ายไวนิลข้อความกล่าวหากษัตริย์และราชวงศ์หลายข้อความ ลงโทษ จำคุก 3 ปี, ฐานเข้าร่วมชุมนุมโดยจงใจอำพรางตัวตน มิให้มีการระบุตัวตนได้ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท และฐานเข้าร่วมชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ปรับ 3,000 บาท

    ทั้งนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกไม่รอการลงอาญา

    หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งเวลา 11.50 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มจากเงินประกันในชั้นพิจารณาเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท รวมเงินประกันในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 225,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันใดๆ

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อนุชา (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อนุชา (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 10-07-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อนุชา (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์