สรุปความสำคัญ

ทิวากร วิถีตน ชาวจังหวัดขอนแก่น ถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา ได้แก่ "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, "ยุยงปลุกปั่น" หรือมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564 หลังมีการฟ้องอานนท์, พริษฐ์, ปติวัฒน์ และสมยศ ในข้อหา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แล้วศาลไม่ให้ประกันตัว ทิวากรยังถูกกล่าวหาจากการสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ระบุว่า กระทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์

ในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี ทิวากรได้รับการประกันตัว โดยศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ประกันตัวเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทิวากร วิถีตน
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

4 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 06.30 น. ตำรวจ สภ.ท่าพระ 1 นาย เข้าไปถามหาทิวากรกับแม่ แม่จึงเรียกทิวากรซึ่งยังนอนอยู่ชั้นบนให้มาพบตำรวจ ขณะทิวากรพูดคุยกับตำรวจนายนั้น ตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบอีกราว 20 นาย เดินทางด้วยรถหลายคันก็มาถึง ประมาณ 7-8 นาย เข้ามาภายในบ้าน แสดงหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ 42/2564 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พร้อมทั้งหมายค้นที่ 89/2564 ลงวันที่วันเดียวกัน ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

จากนั้นตำรวจได้ขึ้นไปค้นห้องที่ทิวากรพัก และตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง, ไอแพด 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 2 เครื่อง, เสื้อยืดสีขาวและสีดำที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวม 3 ตัว และซองพัสดุ 1 ซอง ไปเป็นของกลาง

เวลาประมาณ 07.00 น. ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวทิวากรขึ้นรถตู้ไปยัง สภ.ท่าพระ และทำบันทึกการจับกุม ระหว่างนั้นทิวากรได้ขอใช้โทรศัพท์ที่ตำรวจยึดไปเพื่อติดต่อทนาย ตำรวจปฏิเสธไม่ให้เขาใช้ แต่ให้เขาบอกรหัสเปิดเครื่องแล้วจะโทรบอกให้เอง ช่วงแรกทิวากรไม่ยอม แต่เมื่อไม่สามารถติดต่อทนายที่เขารู้จักได้ แม้จะมีตำรวจช่วยโทรให้ ทิวากรจึงให้รหัสเปิดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่สามารถติดต่อทนายความที่เขารู้จักได้

ราว 09.00 น. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงในคดีระบุว่า ทิวากรได้โพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564, โพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ปล่อย 4 แกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 และสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ทำให้ประชาชนที่มาพบเห็นเกิดความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาทิวากร 3 ข้อหาตามหมายจับ โดยมีเพียงทนายความที่ตำรวจเตรียมให้เข้าร่วม

ทิวากรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมว่า กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ต้องการให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้คนในชาติปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างนั้นทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเพิ่งได้รับแจ้งเดินทางไปถึงและเข้าร่วมการสอบปากคำด้วย

หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนไม่ยินยอมมอบสำเนาบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาให้ทิวากร โดยระบุว่า ให้ยื่นคำร้องมาขอคัดสำเนา

จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอฝากขังทิวากรต่อศาลจังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้นำตัวทิวากรไปที่ศาล กลับควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น และขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด-19 ก่อนศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางเงินสด 1.5 แสนบาท เป็นหลักประกัน ทำให้ทิวากรได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานฯ ในตอนเย็น

ก่อนหน้านี้ ทิวากรแสดงออกโดยการใส่เสื้อ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ พร้อมโพสต์ภาพและอธิบายเหตุผลไว้ในเฟซบุ๊ก ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าติดตามถึงบ้าน เพื่อโน้มน้าวไม่ให้เขาใส่เสื้อตัวนี้อีก และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯ อ้างว่าเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต สุดท้าย หลัง “ไผ่ ดาวดิน” ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ทิวากรถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ แม้ศาลจะยกคำร้อง แต่ทิวากรก็ได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลรวม 14 วัน https://tlhr2014.com/archives/26544

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม/ตรวจค้น สภ.ท่าพระ ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26544)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์