ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ อ.399/2564
แดง อ.1001/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รอง ผกก.สส.สภ.ท่าพระ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.399/2564
แดง อ.1001/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รอง ผกก.สส.สภ.ท่าพระ

ความสำคัญของคดี

ทิวากร วิถีตน ชาวจังหวัดขอนแก่น ถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา ได้แก่ "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, "ยุยงปลุกปั่น" หรือมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564 หลังมีการฟ้องอานนท์, พริษฐ์, ปติวัฒน์ และสมยศ ในข้อหา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แล้วศาลไม่ให้ประกันตัว ทิวากรยังถูกกล่าวหาจากการสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ระบุว่า กระทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์

ในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี ทิวากรได้รับการประกันตัว โดยศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ประกันตัวเพิ่มเติมแต่อย่างใด

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น บรรยายฟ้องระบุว่า ทิวากรกระทำความผิดรวม 3 กรรม ดังนี้

1. ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ถึงวันที่ 27 ก.พ. 2564 ทิวากรได้ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยการโพสต์รูปภาพในเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นรูปตนเองสวมเสื้อคอกลมสีขาว มีข้อความสกรีนตัวหนังสือสีแดงว่า “...เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว…” ซึ่งคำว่า “...หมดศรัทธา…” หมายถึงหมดความเชื่อ, หมดความเลื่อมใส, หมดความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม และคำว่า “...สถาบันกษัตริย์…” หมายถึง หน่วยงานหนึ่งที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เมื่อนำคำว่า หมดศรัทธา กับคำว่า สถาบันกษัตริย์ มารวมกัน ย่อมหมายถึง หมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในสถาบันกษัตริย์ และองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ย่อมทำให้ประชาชนที่พบเห็นการโพสต์ข้อความดังกล่าวมีความรู้สึกในทางลบต่อองค์พระมหากษัตริย์ว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนที่มีความประพฤติที่เสื่อมเสีย ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ โดยประการที่จะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์จากชาวไทย และชาวต่างประเทศ

นอกจากนี้การที่ทิวากรโพสต์รูปภาพดังกล่าว เป็นการทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยตัวหนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต แล้วจําเลยได้ชวนประชาชนมาสวมใส่เสื้อที่มีการสกรีนข้อความดังกล่าวเช่นเดียวกับจําเลย จึงเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนร่วมดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทําเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินด้วย

2. เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ทิวากรได้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยการโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นข้อความว่า “...หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว…” ซึ่งคำว่า สถาบันกษัตริย์ ย่อมหมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย

ถ้อยคำที่ทิวากรโพสต์เป็นการใส่ความ ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กษัตริย์มีอำนาจเหนือกฎหมาย และสั่งให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน และเป็นการใช้พระราชอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สามารถสั่งให้ใช้หรือระงับใช้มาตรา 112 ได้ ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศบารมี เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์จากชาวไทยและชาวต่างประเทศ

3. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ทิวากรได้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยการโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นข้อความว่า “...สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด…” ซึ่งคำว่า สถาบันกษัตริย์ ย่อมหมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย

ถ้อยคำที่ทิวากรโพสต์เป็นการใส่ความ ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กษัตริย์มีอำนาจเหนือกฎหมายและเหนือศาล สามารถใช้พระราชอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมสั่งปล่อยตัว 4 แกนนำคณะราษฎรได้ และพระมหากษัตริย์สั่งให้ใช้กฎหมายมาตรา 112 รังแกประชาชน และพระมหากษัตริย์ไม่มีเมตตาต่อประชาชน ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศบารมี เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์จากชาวไทยและชาวต่างประเทศ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบราว 20 นาย นำโดย พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รองผู้กำกับสืบสวน สภ.ท่าพระ เข้าจับกุมทิวากรที่บ้านพักในเวลาประมาณ 07.00 น. โดยแสดงหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ 42/2564 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พร้อมทั้งหมายค้นที่ 89/2564 ลงวันที่วันเดียวกัน ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง, ไอแพด 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 2 เครื่อง, เสื้อยืดสีขาวและสีดำที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวม 3 ตัว และซองพัสดุ 1 ซอง ไปเป็นของกลาง ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวทิวากรขึ้นรถตู้ไปยัง สภ.ท่าพระ

    เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุม ระหว่างนั้นทิวากรได้ขอใช้โทรศัพท์ที่ตำรวจยึดไปเพื่อติดต่อทนาย ตำรวจปฏิเสธไม่ให้เขาใช้ แต่ให้เขาบอกรหัสเปิดเครื่องแล้วจะโทรบอกให้เอง ช่วงแรกทิวากรไม่ยอม แต่เมื่อไม่สามารถติดต่อทนายที่เขารู้จักได้ แม้จะมีตำรวจช่วยโทรให้ ทิวากรจึงให้รหัสเปิดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่สามารถติดต่อทนายความที่เขารู้จักได้

    ราว 09.00 น. พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวน แจ้งข้อเท็จจริงในคดีระบุว่า ทิวากรได้โพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564, โพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ปล่อย 4 แกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 และสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” มีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วรู้สึกคล้อยตาม และเข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตนไม่เป็นที่เคารพ เชื่อถือ และเป็นที่ศรัทธาของประชาชน อันเป็นการกระทำให้บุคคลอื่นเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น และมีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รับรองสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ ไว้ตามมาตรา 2 และมาตรา 6 และยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50

    การกระทำของทิวากร ยังขัดต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่เคารพศรัทธาองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี

    ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาทิวากร 3 ข้อหาตามหมายจับ โดยมีเพียงทนายความที่ตำรวจเตรียมให้เข้าร่วม

    ทิวากรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมว่า กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ต้องการให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้คนในชาติปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างนั้นทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเพิ่งได้รับแจ้งเดินทางไปถึงและเข้าร่วมการสอบปากคำด้วย

    หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนไม่ยินยอมมอบสำเนาบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาให้ทิวากร โดยระบุว่า ให้ยื่นคำร้องมาขอคัดสำเนาในภายหลัง

    จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอฝากขังทิวากรต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นระยะเวลา 12 วัน ระบุว่า เนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก และตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ซึ่งบรรยายพฤติการณ์ของคดี ไม่ได้ระบุถึงข้อความที่ทิวากรโพสต์และถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดไว้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด

    ท้ายคำร้องขอฝากขัง พ.ต.ต.สุริยัน พนักงานสอบสวน ได้คัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่า คดีมีอัตราโทษจำคุก หากปล่อยตัวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวทิวากรไปที่ศาลแต่อย่างใด แต่กลับควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด-19 มีเพียงทนายความเดินทางไปที่ศาล ก่อนศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 3 แสนบาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด ซึ่งช่วยเหลือคดีทางการเมือง ระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ที่ถูกจับกุมตามหมายจับ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้มีหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนก่อน ในการจับกุมผู้ต้องหาก็ให้ความร่วมมือไม่ได้ขัดขืน หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาและครอบครัวจะได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว อีกทั้งผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดมีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย

    จนเวลาประมาณ 14.19 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทิวากร โดยให้ใช้หลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท และไม่มีเงื่อนไขในการประกันตัว โดยนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 29 มี.ค. 2564 จากนั้นทิวากรจึงได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานฯ ในเวลาประมาณ 15.15 น.

    ทิวากรให้ข้อมูลภายหลังได้รับการปล่อยตัวว่า เมื่อถูกนำตัวเข้าไปที่ทัณฑสถานฯ เจ้าหน้าที่ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าใส่ชุดผู้ต้องขัง มีการตรวจร่างกายโดยการวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ตรวจสุขภาพ และถ่ายรูปทำประวัติ จากนั้นก็นั่งรอจนกระทั่งได้รับแจ้งว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัว จึงได้เปลี่ยนเสื้อผ้ากลับมาใส่ชุดเดิม ก่อนได้รับการปล่อยตัว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคล้ายกระบวนการปล่อยตัวของศาลทหารในช่วงที่ คสช.มีคำสั่งให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนในบางประเภท ซึ่งจะต้องนำตัวเข้าเรือนจำก่อนและปล่อยตัวที่เรือนจำ

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม/ตรวจค้น สภ.ท่าพระ, คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26544)
  • เนื่องจากวันที่ 26 พ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันครบฝากขังครั้งที่ 7 เป็นวันหยุด วันนี้พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นจึงเข้ายื่นฟ้องทิวากรต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และริบของกลาง ได้แก่ เสื้อยืดสีขาวมีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จำนวน 2 ตัว และเสื้อยืดสีดำมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จำนวน 1 ตัว

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัวจำเลย ระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564)
  • เวลา 10.00 น. ทิวากร วิถีตน เดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ในนัดรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน เจ้าหน้าที่ศาลได้นำสำเนาคำฟ้องมอบให้ ก่อนนำตัวทิวากรไปที่ห้องรอประกันใต้ถุนศาล ซึ่งมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอื่นอีกหลายคน ขณะ พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้หลักประกันเดิมที่ยื่นประกันในชั้นสอบสวน เป็นเงินสด 1.5 แสนบาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด

    คำร้องขอประกันตัวที่ยื่นต่อศาลระบุเหตุผลว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ระหว่างจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน จำเลยก็มารายงานตัวต่อศาลทุกครั้ง จำเลยยังเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใดได้ และไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ จึงไม่อาจไปก่อภยันตรายประกันอื่นได้ อีกทั้งจำเลยยังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย

    นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในวงกว้าง และปรากฏว่าในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิคอยู่ในเรือนจำ หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ก็จะเป็นการเสี่ยงต่อการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เรือนจำก็จะไม่เพิ่มความแออัด และทำให้บริหารจัดการสถานการณ์โควิดได้ง่ายขึ้นในช่วงนี้

    กระทั่งช่วงเวลา 13.00 น. ศาลได้วีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามายังห้องรอประกัน โดยศาลได้อธิบายฟ้องแก่ทิวากร และถามว่ามีทนายความหรือยัง ก่อนอ่านคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่วางไว้ในชั้นสอบสวนเป็นเงินสด 1.5 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม นัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การในวันที่ 3 ส.ค. 2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30152)

  • สุวิจักขณ์ มงคลเสาวณิต พนักงานอัยการ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ ได้ยื่นคําร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ขอเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวทิวากร ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระ มีหนังสือถึงพนักงานอัยการขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวทิวากร โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยงดเว้นการกระทําใด ๆ ที่ทําให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการกระทําในลักษณะเช่นเดียวกับที่จําเลยถูกฟ้องในคดีนี้

    จากเหตุที่ทิวากรยังคงมีพฤติกรรมที่ก่อความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หลังจากได้รับปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา เช่น โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “ระบอบกษัตริย์-ศักดินาของไทย เป็นระบอบที่ชั่วร้าย ที่เป็นอันตราย และทําลายความเป็นมนุษย์ จําเป็นต้องปฏิรูป ” รวมทั้งโพสต์ว่า จําเลยจะขอเปิดอกคุยกับรัชกาลที่ 10 และพระเทพฯ เกี่ยวกับการอภิวัฒน์ประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นต้น

    โดย พ.ต.อ.ประวิทย์ โทหา ผกก.สภ.ท่าพระ ได้อ้างเหตุผลต่ออัยการจังหวัดขอนแก่นในการขอเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวทิวากรว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอํานาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว หรือศาลจะกําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หรือกําหนดเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้

    คำร้องต่อศาลของอัยการได้แนบรายงานการสืบสวนของ สภ.ท่าพระจำนวน 43 แผ่น ซึ่งเป็นรายงานประจำวันซึ่ง ร.ต.อ.สมนึก ติยะภา รอง สวป.สภ.ท่าพระ รายงานต่อ ผกก.สภ.ท่าพระ และ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รอง ผกก.สส.สภ.ท่าพระ ในช่วงวันที่ 17 เม.ย. - 9 มิ.ย. 2564 จากการที่ ร.ต.อ.สมนึก พร้อมชุดการข่าวเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจําวัน รวมทั้งการโพสต์เฟซบุ๊กของทิวากรเป็นประจำ ตามที่ได้รับคําสั่งจาก ผกก.สภ.ท่าพระ

    รายงานการสืบสวนดังกล่าว มีการรายงานการทำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ซึ่งทิวากรยืนที่หน้าบ้านตนเองเพียงลำพังในช่วงเย็นถึงค่ำของวันที่ 17 เม.ย. - 31 พ.ค. 2564 และโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยฝ่ายสืบสวนได้แนบภาพจากโพสต์ของทิวากร พร้อมรายงานถึงข้อความในป้ายที่ทิวากรนำมาติดขณะทำกิจกรรม ได้แก่ “ปล่อยเพื่อนเรา”, "หากท่านเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมก็เท่ากับท่านส่งเสริมให้ความอยุติธรรมนั้นดำรงอยู่ต่อไป”, “112 เปรียบเสมือน “คุก" ที่ไม่มีลูกกรงและมองเห็น ที่ขังความจริงและขังความคิดของคนไทยทั้งประเทศ”, "สหประชาชาติ ชี้ 112 คือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

    นอกจากนี้ หลังทิวากรหยุดทำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เนื่องจากผู้ต้องขังคดี 112 ทุกคนได้รับการประกันตัวแล้ว ฝ่ายสืบสวนยังคงรายงานการโพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และการใช้ชีวิตประจำวันของทิวากรต่อ ผกก.สภ.ท่าพระ โดยมีการไปติดตามวันละ 3 เวลา เช้า บ่าย และเย็น พร้อมถ่ายรูป เช่น วันที่ 8 มิ.ย. 2564 รายงานว่า
    - 09.15 น. นายทิวากรออกไปสวนยางพาราพี่ชายเพื่อเอาวัวที่เลี้ยงไว้ไปกินหญ้า
    - 12.15 น. นายทิวากรก็ได้กลับเข้าบ้านเพื่อกินข้าวเที่ยง และพักผ่อน
    - 16.25 น. นายทิวากรก็ได้ออกไปสวนยางพาราเพื่อไปเอาหญ้าให้วัวและเอาวัวเข้าคอก

    (อ้างอิง: คำร้องขอเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2564 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/4067523923297431)
  • เวลา 9.40 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี โจทก์ จําเลย และเสมียนทนายจําเลยมาศาล ทนายจําเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายจําเลยยื่นคําร้องว่า ทนายจําเลยในฐานะผู้ประกันจําเลยติดว่าความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดอุดรธานี ขอเลื่อนการไต่สวนคดีสักนัด

    ศาลถามเบื้องต้นว่า ตามหลักฐานที่โจทก์อ้างในคำร้องขอให้เพิ่มเงื่อนไขประกัน ทิวากรได้ดูแล้ว ยืนยันหรือไม่ว่า เป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว ทิวากรแถลงรับว่าเป็นผู้โพสต์จริง และพร้อมจะอธิบายต่อศาลว่า ข้อความไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ตามที่โจทก์ระบุ แต่จําเลยประสงค์ที่จะให้ทนายจําเลยซึ่งเป็นผู้ประกันอยู่ร่วมด้วยในขณะเบิกความ จึงขอเลื่อนคดีไปสักนัด

    โจทก์ไม่ค้านการเลื่อนคดี และแถลงเพิ่มเติมว่า การขอให้เพิ่มเงื่อนไขประกัน ไม่ได้จะจำกัดสิทธิของจำเลย แต่ขอให้งดเว้นการกระทำที่คล้ายกับการกระทำที่จำเลยถูกฟ้อง

    ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดี เนื่องจากศาลต้องสอบถามนายประกันด้วยว่า มีเหตุให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขประกันหรือไม่ ประกอบกับจําเลยต้องการให้ทนายจําเลยอยู่ร่วมด้วยขณะที่มีการไต่สวนคําร้อง จึงมีเหตุสมควรให้เลื่อนนัดไต่สวนคําร้องไปเป็นวันที่ 19 ก.ค. 2564 เวลา 9.00 น. ตามที่จําเลยแถลงขอและมีวันว่างตรงกัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2564)
  • ศาลสั่งในสำนวนให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน โดยยังไม่กำหนดวันนัดใหม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด
  • ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การออกไปก่อน โดยยังไม่กำหนดวันนัดใหม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด
  • 14.00 น. ศาลออกพิจารณาคดีที่ห้องคุ้มครองสิทธิฯ เริ่มด้วยการอธิบายสิทธิของจำเลยในคดีอาญาในการให้การและต่อสู้คดี รวมถึงโทษในคดีนี้ จากนั้นได้อ่านคำฟ้องของโจทก์ให้ทิวากรฟังโดยละเอียด ก่อนถามคำให้การและแนวทางต่อสู้คดีในเบื้องต้น ทิวากรให้การปฏิเสธ โดยรับว่าเป็นผู้โพสต์รูปและข้อความดังกล่าวจริง แต่มองว่าไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลนัดพร้อมครั้งต่อไปเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดีในวันที่ 22 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    ต่อมา อัยการได้แถลงว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวจำเลย ตามที่พนักงานสอบสวนในคดีมีหนังสือขอมา และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 แต่ได้เลื่อนไต่สวนเนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่น จากนั้นได้เลื่อนอีกเนื่องจากสถานการณ์โควิด และศาลยังไม่ได้กำหนดวัดใหม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวมา

    ศาลเห็นว่า โจทก์ จำเลย และทนายจำเลยอยู่พร้อมหน้ากันแล้ว จึงได้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวในนัดนี้เลย โดยได้สอบถามโจทก์ถึงเหตุในการขอให้เพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย

    โจทก์แถลงว่า หลังจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยแล้ว โจทก์ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระว่า จําเลยยังคงมีพฤติกรรมกระทําการที่ก่อความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “ระบบกษัตริย์-ศักดินาของไทยเป็นระบอบที่ชั่วร้าย ที่เป็นอันตราย และทําลายความเป็นมนุษย์ จําต้องปฏิรูป” รวมทั้งข้อความว่า “จําเลยขอเปิดอกคุยกับรัชกาลที่ 10 และพระเทพฯ เกี่ยวกับการอภิวัฒน์ประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

    พนักงานสอบสวนจึงขอให้โจทก์ขอต่อศาลเพิ่มเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวของจําเลย โดยเพิ่มเงื่อนไขว่า ให้จําเลยงดเว้นการกระทําใด ๆ ที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการกระทําในลักษณะเดียวกันกับที่จําเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้

    ด้านทิวากรแถลงว่า ได้โพสต์ข้อความตามคําร้องของโจทก์จริง แต่จําเลยแสดงความเห็นตามวิถีทางที่ถูกต้อง และเป็นเจตนาดีต่อสังคมและประเทศชาติ ต้องการสร้างพื้นที่การพูดคุยระหว่างคนที่เห็นต่าง ไม่ต้องการให้สังคมเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย

    ทนายจำเลยแถลงเพิ่มเติมว่า จดหมายของจำเลยที่มีถึงรัชกาลที่ 10 ตามคำร้องของโจทก์ ก็เป็นเช่นเดียวกับการถวายฎีกา ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะกระทำได้

    ภายหลังเสร็จการไต่สวน ศาลมีคำสั่งยกคําร้องของโจทก์ ระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า หลังจากที่ศาลได้ไต่สวนโดยสอบถามโจทก์และจําเลยแล้ว จําเลยยอมรับว่าได้โพสต์ข้อความตามคําร้องของโจทก์จริง แต่จําเลยไม่มีเจตนาที่จะทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ และข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นถ้อยคําที่สุภาพ ไม่ได้ส่อเจตนาไปในทางทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย จึงเห็นว่า ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลย โดยที่จําเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีเหตุที่จะกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้จําเลย แต่อย่างไรก็ดี ศาลได้ว่ากล่าว ตักเตือน ให้คําแนะนําจําเลยตามสมควร ถึงการกระทําที่อาจตีความไปในทางที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทําความผิดขึ้นอีก

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36232)
  • 10.00 น. ผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี โดยถามคำให้การจำเลยอีกครั้ง ก่อนตรวจพยานหลักฐานในคดี ทิวากรยืนยันให้การเช่นเดิม โดยรับข้อเท็จจริงว่า ได้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จำเลยเพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์องค์กร คือสถาบันกษัตริย์ โดยสุจริต

    ศาลกล่าวกับจำเลย โดยกล่าวถึงคดีมาตรา 112 ของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ในคดีนั้นไผ่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ เพียงแค่แชร์ข่าวของ BBC ไผ่ยังเลือกที่จะรับสารภาพ ศาลลงโทษจำคุก 5 ปี รับสารภาพก็ได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกแค่ 2 ปี 6 เดือน ติดจริงอยู่ 2 ปี ตอนนี้ก็ได้ออกแล้ว ถ้าปฏิเสธ หากศาลพิพากษาว่ามีความผิด ก็จะลงโทษเต็ม จำเลยลองคิดดูอีกมั้ย เพราะจำเลยก็รับข้อเท็จจริงแล้วว่าโพสต์จริง

    ทิวากรแถลงว่า ถ้าให้ผมเคารพมโนสำนึกความเป็นมนุษย์ของผม ผมก็ต้องยืนยันปฏิเสธ ถ้าให้ผมรับสารภาพก็เท่ากับให้ผมโกหกต่อมโนสำนึกของตัวเอง แม้แง่มุมกฎหมายจะบอกว่าผมผิด แต่มโนสำนึกของผมไม่ได้บอกเช่นนั้น ต่อให้ผมต้องเข้าไปอยู่ในคุก ผมก็ไม่ได้เชื่อว่าผมทำในสิ่งที่ผิด

    ศาลจึงเริ่มกระบวนการตรวจพยานหลักฐาน โดยถามพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ อัยการแถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 16 ปาก ใช้เวลาสืบ 4 นัด อ้างส่งพยานเอกสาร 27 ฉบับ และพยานวัตถุ 1 รายการ คือ ซีดี 1 แผ่น ซึ่งมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่ปรากฏในรายงานการสืบสวนที่อ้างส่งเป็นพยานเอกสาร

    ในส่วนของพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบประกอบด้วย 1.ตำรวจผู้กล่าวหา, 2,5 เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น, 3. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ให้ความเห็นต่อโพสต์ของจำเลย, 4. กอ.รมน.จ.ขอนแก่น, 6. นายอำเภอเมืองขอนแก่น, 7. ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น, 8-11 สมาชิก อบต.และผู้นำหมู่บ้าน, 12-15 เจ้าหน้าที่สืบสวนหาข่าว ซึ่งจัดทำรายงานการสืบสวนปี 63-64, 16. พนักงานสอบสวน

    ด้านทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานบุคคลปากเดียวคือตัวจำเลย ใช้เวลาสืบครึ่งนัด ศาลอนุญาตให้สืบพยานโจทก์ 3 นัดครึ่ง และสืบพยานจำเลยครึ่งนัด รวม 4 นัด โดยนัดสืบพยานในวันที่ 24-27 พ.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564)
  • สุวิจักขณ์ มงคลเสาวณิต พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล ใจความว่า

    โจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากพนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ว่า หลังจากจําเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลนี้แล้ว จําเลยยังคงมีพฤติกรรมกระทําการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ของจําเลยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

    มีข้อความว่า “กฎหมาย ม.112 มันไม่มีความชอบธรรมที่จะนํามาตัดสินผิด-ถูกให้ประชาชน การใช้ ม.112 จึงเป็นการทําร้ายและสร้างบาปกับประชาชนในนามสถาบันกษัตริย์”, “ขอย้ำว่าอย่าใส่เสื้อ เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้วเข้าใกล้ขบวนเสด็จในรัศมี 5 กม. นะครับ เพราะมันจะทําให้รัฐบาลไทยและสถาบันกษัตริย์ ประสาทแดกมากเกินไป”, “ผมขอเตือนรัฐบาลไทยว่าอย่าขังตะวัน เพราะความร้อนของตะวันมันจะแผดเผาสถาบันกษัตริย์ให้มอดไหม้”, “บอกหลายครั้งแล้วว่า ศัตรูที่แท้จริงของรัฐบาลไทย สถาบันกษัตริย์ คือเวลา ยุคสมัย และความจริง การยัดคดี คุกคามทําร้าย และเข่นฆ่าประชาชน มีแต่จะเร่งวันล่มสลายให้เร็วขึ้น”

    ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลนี้เป็นผู้สั่งปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เมื่อพนักงานสอบสวนมีหนังสือถึงโจทก์ว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวของจําเลย เป็นการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ เป็นการกระทําที่ไม่บังควร อันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108(6) โดยคดีนี้ศาลยังไม่เคยกําหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวกันจําเลย โจทก์จึงขอศาลเรียกจําเลยมาทําการกําหนดเงื่อนไขใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108 วรรคสาม

    ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 24 พ.ค. 2565

    (อ้างอิง: คำร้องขอเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2565)
  • นัดสืบพยานวันแรก ทิวากรเดินทางมาศาลโดยใส่เสื้อยืดสีขาว เขียนข้อความบนหน้าอกว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” วรวุฒิ เลาลัคนา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของสำนวน และธวัชชัย หมื่นนาวี องค์คณะผู้พิพากษา ออกนั่งพิจารณาคดี

    ก่อนเริ่มการสืบพยานศาลได้พูดถึงคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิ่มเงื่อนไขประกันตัว ระบุว่า ตำรวจรายงานว่าจำเลยยังมีพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียกับสถาบันกษัตริย์โดยการโพสต์ในเฟซบุ๊ก ศาลถามทิวากรว่า ได้โพสต์จริงไหม ทิวากรรับว่าตนเองโพสต์จริง ศาลถามต่อว่าทำไมถึงโพสต์ ทิวากรตอบว่าเป็นการแสดงความเห็น ตนโพสต์โดยมีเจตนาที่ดีต่อประเทศชาติ

    จากนั้นอัยการได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 2 ปาก ได้แก่ ชุดสืบสวน สภ.ท่าพระ ที่ติดตามตรวจสอบเฟซบุ๊กของทิวากร จัดทำรายงานเสนอ ผกก.สภ.ท่าพระ และเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ พยานอีก 3 ปาก เป็นชุดเข้าตรวจค้นจับกุม ทนายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของทั้งสามปาก โจทก์จึงไม่ติดใจนำเข้าเบิกความ

    โจทก์ยังยื่นคำร้องขอสืบพยานปากอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผ่านคอนเฟอเรนซ์จากศาลอาญา ทนายจำเลยคัดค้าน เนื่องจากซักถามไม่สะดวก ล่าช้า ซึ่งเป็นผลร้ายกับจำเลย ศาลไปปรึกษาหัวหน้าศาลแล้วไม่อนุญาตสืบผ่านจอภาพ ให้โจทก์ติดตามมาเบิกความในวันนัด

    ศาลยังมีคำสั่งต่อคำร้องขอให้เพิ่มเงื่อนไขประกันที่โจทก์ยื่น เห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย หลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุเพิ่มเงื่อนไขประกัน ให้ยกคำร้องโจทก์

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ รอง ผกก.สส.สภ.ท่าพระ ผู้กล่าวหา

    พ.ต.ท.สุรัตน์ เบิกความตอบโจทก์ว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานได้รับคำสั่งจาก ผกก.สภ.ท่าพระ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ให้ติดตามพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของทิวากร วิถีตน เนื่องจากมีการโพสต์เฟซบุ๊ก ชื่อ ทิวากร วิถีตน เป็นรูปที่ใส่เสื้อสีขาวมีข้อความว่า "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" พยานจึงมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชา พ.ต.ต.อาจหาญ แสงสงคราม ตรวจสอบเฟซบุ๊กของทิวากร ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2564 โดยจำเลยมีการโพสต์ข้อความตามภาพถ่ายประกอบคดีที่โจทก์ให้ดู จากนั้นพยานได้รายงานผู้บังคับบัญชา

    ก่อนหน้าที่พยานได้รับมอบหมายให้ติดตามทิวากร มีการทำรายงานสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนแล้วโดยพยานพบอยู่ในแฟ้มการสืบสวน (รายงานการสืบสวนของสันติบาลจังหวัดขอนแก่น)

    ต่อมา พ.ต.ต.อาจหาญ ตรวจสอบเฟซบุ๊กจำเลยพบว่า ในวันที่ 11 ก.พ. 2564 มีการโพสต์ข้อความ (“หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว”) และมีคนเข้าไปแสดงความเห็น

    และพบอีกว่า ในวันที่ 18 ก.พ. 2564 จำเลยก็โพสต์ข้อความ (“สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด") และมีคนเข้าไปแสดงความเห็นเช่นกัน พ.ต.ต.อาจหาญ จึงรายงานให้พยานทราบ

    จากนั้นพยานได้ทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ต่อมา ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับทิวากรและมอบหมายให้พยานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.ท่าพระ โดยพยานได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในวันที่ 2 มี.ค. 2564 จากนั้นวันที่ 3 มี.ค. 2564 ได้มีการขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านทิวากร 2 หลัง พร้อมทั้งออกหมายจับด้วย

    ต่อมาวันที่ 4 มี.ค. 2564 พยานได้เข้าร่วมตรวจค้นบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวและจับกุมจำเลย มีการทําบันทึกการตรวจค้น และมีการตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ไอแพด เสื้อยืด ซองพัสดุ และแผ่นซีดี ไว้เป็นของกลาง

    อัยการถามว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์และพยานได้ทำรายงานถึงผู้บังคับบัญชา กระทั่งผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างไร แต่ศาลติงว่า เป็นความเห็นศาลไม่บันทึก

    **ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    พยานจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่มีประสบการณ์ในการทำคดีมาตรา 112

    พยานทราบว่า ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การดำเนินคดีมาตรา 112 ต้องตั้งคณะทำงานพิจารณาผ่านผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 โดยพยานเป็นคณะทำงานและเข้าร่วมประชุมด้วย

    ในการประชุมของคณะทำงานดังกล่าวที่พยานได้เข้าร่วมประชุมไม่ได้มีการพูดถึงคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครพนมในคดีมาตรา 112 ซึ่งศาลจังหวัดนครพนมได้วินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองถึงสถาบันกษัตริย์

    พยานไม่ทราบว่าคดีนี้ได้มีการสอบพยานเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมหลักฐานในประเด็นที่ว่ามาตรา 112 ต้องบังคับใช้ในกรณีที่เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้นตามที่มีนักวิชาการ เช่น ศจ.จิตติ ติงศภัทิย์, ศจ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ให้ความเห็นไว้ตามเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู เนื่องจากการสอบพยานเพิ่มเติมเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่พยานเคยเห็นเอกสารดังกล่าว

    ตามความเห็นของพยานสถาบันกษัตริย์ประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท (ศาลไม่บันทึก ระบุว่า เป็นความเห็น)

    ที่ประชุมคณะทำงานไม่ได้กล่าวถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ที่ไม่ให้ใช้มาตรา 112 โดยพร่ำเพรื่อ แต่พยานเคยอ่านพระราชดำรัสดังกล่าว

    พยานดูข่าวที่ ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 112 ผิดพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 10 แล้วตอบทนายจำเลยว่าเคยเห็นข้อความในเอกสารดังกล่าว

    พยานไม่ได้ติดตามอ่านเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งหมด เข้าไปดูเพียงบางครั้ง แต่มีผู้ใต้บังคับบัญชาติดตามและรายงานให้พยานทราบ โดยพยานเคยเห็นว่า หากจำเลยต้องการเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ก็จะระบุถึงโดยตรง แต่ข้อความตามฟ้องจำเลยไม่ได้พูดถึงกษัตริย์แต่เป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์

    ทนายจำเลยถามว่าการกล่าวว่าหมดศรัทธาสิ่งใด จะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท สิ่งนั้นไหม เช่น พยานหมดรัก หมดศรัทธากับแฟนจะเป็นการหมิ่นประมาทแฟนมั้ย พยานตอบว่า เป็นคนละเรื่องกัน การจะรักจะชอบใครเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล (ศาลไม่บันทึก)

    พยานเคยเห็นในรายงานการสืบสวนที่มีคนทำไว้ก่อนหน้าว่า จำเลยได้โพสต์อธิบายข้อความที่ว่า เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้วว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาล้มเจ้า

    จำเลยไม่เคยมีประวัติถูกจับตามองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือสถาบันกษัตริย์ พยานไม่ทราบว่าในช่วงปี 61-63 จะมีการดำเนินคดีมาตรา 112 หรือไม่

    พยานทราบว่าโดยปกติหากประชาชนมีความเดือดร้อนก็อาจจะถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงได้และพยานเคยเห็นข่าวว่า ส.ศิวรักษ์ เคยถวายฎีกากรณีที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังจากนั้นรัชกาลที่ 10 มีคำสั่งให้ไม่ดำเนินคดี

    พยานได้เคยไปให้การกับพนักงานสอบสวนตามคำให้การที่ทนายจำเลยให้ดูโดยในคำให้การดังกล่าวพยานไม่ได้ระบุว่าข้อความตามฟ้องแต่ละข้อความเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 อย่างไร ระบุเพียงว่าทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย

    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 9 ก.ค. 2563 ซึ่งจำเลยถูกนำตัวไปโรงพยาบาลจิตเวชนั้น พยานไม่ทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากขณะนั้นพยานยังไม่ได้ย้ายมารับราชการที่ สภ.ท่าพระ

    จำเลยโพสต์ข้อความและภาพที่ใส่เสื้อเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ไม่มีการดำเนินคดีในตอนนั้นพยานทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 ตามข่าวที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ในเดือนมิถุนายน 2563 แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พยานทราบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือให้ดำเนินคดีบุคคลตามมาตรา 112 จึงมีการดำเนินคดีจำเลยในปี 2564

    พยานเคยเห็นเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู (ข่าวอัยการถอนฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล คดีมาตรา 112 ในปี 2549)

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ที่พยานเบิกความว่า ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 นั้น พยานไม่ทราบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับนโยบายจากใคร

    ++พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ท.อาจหาญ แสงสงคราม สารวัตรสืบสวน สภ.ท่าพระ

    พ.ต.ท.อาจหาญ เบิกความตอบอัยการว่า พยานรับราชการตำแหน่งสารวัตรสืบสวนที่ สภ.ท่าพระ ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2563 ถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ หลังได้รับตำแหน่งพยานได้รับคำสั่งให้ติดตามสืบสวนทิวากร วิถีตน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2563 พยานจึงได้ทำการตรวจสอบทางเฟซบุ๊กของทิวากร ชื่อ ทิวากร วิถีตน พบว่า มีการโพสต์ตามเอกสารที่อัยการให้ดู พยานจึงรายงานให้ พ.ต.ท.สุรัตน์ ทราบ

    นอกจากติดตามทางเฟซบุ๊กแล้ว พยานไม่เคยไปพบกับจำเลยด้วยตนเอง

    ต่อมาวันที่ 4 มี.ค. 2564 พยานได้เข้าร่วมตรวจค้นจับกุมทิวากรที่บ้าน

    **ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    ตามคำให้การในชั้นสอบสวนที่พยานให้ความเห็นไว้ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นความผิดอย่างไรนั้นที่จริงเป็นมติของคณะทำงานไม่ใช่ความเห็นของพยานเอง นอกจากนี้ความเห็นดังกล่าวยังเหมือนกับคำให้การชั้นสอบสวนของ พ.ต.ท.สุรัตน์

    พยานไม่ทราบว่าก่อนถูกดำเนินคดีนี้จำเลยจะมีทัศนคติหรือประวัติที่เป็นภัยกับความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์หรือไม่

    พยานเคยเข้าร่วมประชุมคณะทำงานในระดับ สภ.ท่าพระ เท่านั้น โดยที่ประชุมดังกล่าวเคยพูดถึงการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพิ่มเติมว่า ข้อความตามที่จำเลยถูกกล่าวหาเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565)
  • สืบพยานวันที่ 2 โจทก์นำพยาน 9 ปาก เข้าเบิกความให้ความเห็นต่อข้อความ มีทั้งเห็นว่าทิวากรโพสต์ถึงสถาบันกษัตริย์ และโพสต์ถึง ร.10 แม้ไม่มีการระบุถึง

    ระหว่างพยานปากแรกของวันนี้เบิกความ ศาลเรียกทนายจำเลยไปสั่งห้ามผู้ร่วมสังเกตการณ์จดบันทึกโดยไม่แจ้งเหตุผล และไม่ได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา

    ++พยานโจทก์ปากที่ 3 วิไลวรรณ สมโสภณ อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    วิไลวรรณเบิกความตอบอัยการโจทก์ว่า พยานเคยรับราชการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย โดยจบการศึกษามหาบัณฑิตวิชาภาษาไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ตํารวจได้ติดต่อไปทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าพยานจะสามารถให้ความหมายของข้อความที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กได้หรือไม่ พยานจึงได้มาให้ความหมายของข้อความดังกล่าว

    พยานเห็นว่า ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” มีความหมายโดยรวมในลักษณะข่มขู่สถาบันกษัตริย์

    และข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” ก็เป็นการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

    พยานเห็นว่าข้อความทั้งสองมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของสํานักงานศาลยุติธรรม

    ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที…” ไม่ได้บอกว่าผู้โพสต์จะไปทําอะไรที่ทําให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลาย เป็นการตั้งข้อแม้ว่าหากมีสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะมีผลแบบนี้

    หากนายกรัฐมนตรีพูดอะไรแล้ว ประชาชนนำไปพูดตามก็จะไม่เป็นความผิด

    พนักงานสอบสวนให้พยานดูเฉพาะข้อความที่ทิวากรโพสต์เท่านั้น ไม่ได้ให้ดูข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากได้ดูข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็นแล้วอาจจะมีการแปลความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ นอกจากนี้ พยานไม่เคยเข้าไปดูเฟซบุ๊กของทิวากร

    ตามความเข้าใจของพยาน คําว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์" นั้น หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงองค์พระมหากษัตริย์ในอดีดด้วย

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.อ.เชาวลิต แสงคํา กอ.รมน.

    พ.อ.เชาวลิต เบิกความตอบอัยการว่า พยานมีตําแหน่งนายทหารปฏิบัติการประจํามณฑลทหารบกที่ 12 ค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี มาช่วยราชการที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้บังคับบัญชามอบหมายให้รับผิดชอบด้านความมั่นคงภายในจังหวัดขอนแก่น

    ประมาณปี 2563 ผู้บังคับบัญชาให้พยานติดตามสังเกตการณ์พฤติกรรมของทิวากร วิถีตน เนื่องจากทิวากรมักจะโพสต์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประจํา จากนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวได้ตรวจสอบพบว่า ทิวากรได้โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อสีขาว มีตัวอักษรสีแดงระบุว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

    ต่อมา ทิวากรยังได้โพสต์ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที…” ในวันที่ 11 ก.พ. 2564 ซึ่งพยานเห็นว่าคําว่าสถาบันกษัตริย์นั้นหมายถึงรัชกาลที่ 10 รวมทั้งโพสต์ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว…” ในวันที่ 18 ก.พ. 2564 โดยพยานเห็นว่าเป็นการลดความน่าเชื่อถือของพระมหากษัตริย์ และข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10

    พยานเห็นว่า อํานาจในการปล่อยแกนนําทั้ง 4 คน ตามเนื้อความที่มีการลงไปนั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นอํานาจของกระบวนการยุติธรรม

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    เท่าที่พยานทราบทิวากรไม่มีประวัติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง

    ตามความเข้าใจของพยานหากมีการพูดถึงสถาบันทหารก็จะหมายถึงผู้นําเหล่าทัพ รวมถึงกองทัพด้วย

    คําให้การชั้นสอบสวนของพยานนั้นเป็นกรณีที่พยานได้พูดคุยกับพนักงานสอบสวนจนตกผลึกแล้ว จึงมีการพิมพ์ข้อความลงไป

    พยานคิดว่าพระบรมวงศานุวงศ์น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ด้วย แต่ไม่รวมถึงองคมนตรี, ทหารราชองครักษ์, ข้าราชการที่ทํางานในสํานักพระราชวัง และเลขาธิการสํานักพระราชวัง

    ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที…” และ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว…” นั้นไม่มีคำหยาบคาย และระบุถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ระบุถึงรัชกาลที่ 10

    คำให้การชั้นสอบสวนของ พ.ต.ต.อาจหาญ ในส่วนที่เป็นการให้ความเห็นต่อข้อความทั้งสองที่ทิวากรโพสต์นั้น จะเหมือนกับคําให้การชั้นสอบสวนของพยาน

    พยานได้ยินข่าวว่านายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะไม่ดําเนินคดีกับบุคคลที่เห็นต่างในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งพยานได้ยินเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ในมุมมองของพยาน ข้อความที่จําเลยโพสต์ในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้น เมื่ออ่านแล้วเข้าใจได้เลยว่าหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์

    ++พยานโจทก์ปากที่ 5 ดุลยภพ แสงลุน ปลัดอําเภอเมืองขอนแก่นฝ่ายความมั่นคง

    ดุลยภพเบิกความตอบโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนให้พยานดูข้อความที่ทิวากรโพสต์ในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 แล้วให้พยานให้ความเห็น พยานให้ความเห็นไปว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งอํานาจในการที่จะสั่งปล่อยแกนนําและระงับใช้มาตรา 112 นั้นไม่ใช่อํานาจขององค์พระมหากษัตริย์

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานไม่ทราบว่า พระมหากษัตริย์จะมีพระราชดํารัสให้คําแนะนําแก่หน่วยงานต่าง ๆ ได้หรือไม่

    พยานไม่ทราบเกี่ยวกับข่าวที่ทนายจำเลยให้ดู (ข่าว นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระเมตตากำชับไม่ให้ใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดี) ส่วนบุคคลที่ให้ข่าวดังกล่าวจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ พยานไม่ขอออกความคิดเห็น

    เมื่อพยานเห็นข้อความที่ทิวากรโพสต์ในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 แล้ว พยานยังรักในสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม

    พนักงานสอบสวนให้พยานดูเฉพาะข้อความที่จําเลยโพสต์ในเฟซบุ๊กแต่ไม่ให้พยานดูข้อความในส่วนที่มีการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งพยานไม่ได้ดูข้อความอื่นๆ ที่ทิวากรโพสต์ว่า มีการโพสต์ที่ระบุถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่

    ในส่วนที่พยานดูแล จําเลยไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงหรือการกระทําที่กระทบต่อความมั่นคง

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 6 นาวี แสงฤทธิ์ ผู้อํานวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น

    นาวีเบิกความตอบโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนได้นําข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร วิถีตน เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 มาให้พยานดู และถามความเห็น พยานมีความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวมีการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

    อํานาจในการยกเลิกมาตรา 112 และปล่อยแกนนํานั้นไม่ใช่อํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์

    พยานไม่เคยรู้จักจําเลยในคดีนี้ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    คำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นกรณีที่พยานตอบคําถามแล้วพนักงานสอบสวนก็พิมพ์ข้อความตามที่ตอบคําถาม โดยพนักงานสอบสวนไปสอบคําให้การของพยานที่ทํางานของพยาน แต่เนื้อความในคำให้การดังกล่าวเหมือนกันกับคำให้การชั้นสอบสวนของดุลยภพ แสงลุน ที่ทนายจําเลยให้ดู

    คําว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ตามความคิดเห็นของพยานนั้นรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ และพระมหากษัตริย์ในอดีตด้วย

    ข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้นไม่มีการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 7 อรทัยรัตน์ พรมศรี กํานันตําบลดอนช้าง

    อรทัยรัตน์เบิกความตอบโจทก์ว่า พยานเป็นกํานันตําบลดอนช้างตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 8 หมู่บ้าน ทิวากร วิถีตน จําเลยในคดีนี้ เป็นคนในตําบลของพยาน พยานรู้จักกับบิดามารดาของจําเลย ในส่วนจําเลยนั้นพยานเคยเห็นประมาณ 2 - 3 ครั้ง

    ในช่วงปี 2563 พยานไม่เคยเห็นจําเลยสวมเสื้อสีขาวมีข้อความเดินไปเดินมาในตําบล แต่พยานเคยเห็นภาพของจําเลยที่สวมเสื้อสีขาวและมีตัวอักษรสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ในขณะที่บุตรสาวของพยานเปิดเฟซบุ๊กดู

    หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้นําข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 มาให้พยานดู แล้วถามความเห็น พยานมีความเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์

    พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ ซึ่งตามคำให้การดังกล่าวนั้น ที่พยานให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงพระมหากษัตริย์นั้น จริง ๆ แล้วพยานหมายถึงสถาบันกษัตริย์

    อํานาจในการยกเลิกมาตรา 112 และการให้ประกันตัวนั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์

    พยานไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คําให้การของพยานในชั้นสอบสวนมีเนื้อความเหมือนกันกับคําให้การชั้นสอบสวนของนาวี แสงฤทธิ์ ที่ทนายจําเลยให้ดู

    ในช่วงที่พยานเห็นภาพจําเลยสวมเสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โพสต์ลงในเฟซบุ๊กนั้น ทางตํารวจไม่ได้มีการดําเนินคดีกับจําเลย

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 8 บรรดล จําปา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตําบลดอนช้าง

    บรรดลเบิกความตอบโจทก์ว่า พยานเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตําบลดอนช้างตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ทิวากรเป็นลูกบ้านของพยาน พยานเห็นมาตั้งแต่เล็ก ๆ

    เมื่อปี 2563 มีคนมาเล่าให้พยานฟังว่า เห็นมีภาพจําเลยสวมเสื้อสีขาวมีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” อยู่ในเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นพยานเห็นมีตํารวจมาที่บ้านของจําเลยในขณะที่พยานขับรถผ่านบ้านจําเลย แต่พยานไม่ได้ไปร่วมกับตํารวจด้วย

    ต่อมา วันที่ 25 มี.ค. 2564 ตํารวจให้พยานไปพบ และให้ดูข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 แล้วถามความเห็นของพยานเกี่ยวกับข้อความดังกล่าว พยานให้ความเห็นว่าข้อความดังกล่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของพยานซึ่งตามบันทึกฯ ดังกล่าว ที่พยานได้ให้การว่า ข้อความที่ตำรวจให้ดูหมายถึงรัชกาลที่ 10 นั้น ในความหมายของพยานในตอนที่ให้การนั้น พยานต้องการที่จะให้การว่า เนื้อความดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ แต่พยานไม่รู้จะให้การอย่างไรจึงได้ให้การไปว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10

    พยานไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธคืองกับจําเลยมาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พนักงานสอบสวนนําเฉพาะข้อความที่จําเลยโพสต์ในเฟซบุ๊กมาให้พยานดู ไม่ได้นําในส่วนการแสดงความคิดเห็นมาให้พยานดูด้วย

    ทนายจําเลยให้พยานดูบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของพยานแล้วถามว่า ในเอกสารดังกล่าวมีคําถามว่า หลังจากที่จําเลยได้โพสต์ข้อความแล้วมีบุคคลเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวนั้น แสดงว่าเนื้อความดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากพยานไม่เห็นข้อความแสดงความคิดเห็นใช่หรือไม่ โดยถามพยาน 2 ครั้ง พยานตอบว่าพยานดูข้อความที่จําเลยโพสต์อย่างเดียว

    พยานเข้าใจว่าการดูหมิ่นสถาบันหมายถึงการโพสต์ข้อความที่ไม่ดีเกี่ยวกับสถาบัน

    หลังจากที่พยานไปให้การต่อตํารวจแล้ว พยานไม่ได้เล่าเรื่องที่พยานไปให้การให้บุคคลอื่นฟัง แต่เนื้อความในบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของพยานคล้ายกันกับเนื้อความในบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของอรทัยรัตน์

    เท่าที่พยานทราบก่อนที่จะมีการดําเนินคดีจําเลยนั้น จําเลยมีพฤติกรรมเรียบร้อย ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านสถาบัน

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 9 วิญญู กองหาโคตร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตําบลดอนช้าง

    วิญญูเบิกความตอบโจทก์ว่า พยานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตําบลดอนช้างตั้งแต่ประมาณปี 2558 ถึงปัจจุบัน พยานรู้จักทิวากร เนื่องจากเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน

    พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปพบเพื่อเป็นพยาน และนําข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 ให้พยานดู แล้วถามความเห็น พยานให้ความเห็นว่าข้อความดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

    พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคําให้การของพยาน พยานรู้จักจําเลยแต่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานเล่นเฟซบุ๊กไม่เป็น ไม่เข้าใจคําว่าโพสต์และคอมเมนต์ว่าหมายถึงอะไร ข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กที่บอกว่า 4 แกนนํานั้นหมายถึงใครพยานไม่ทราบ และข้อความที่บอกว่ายกเลิก 112 หมายถึงอะไรพยานก็ไม่ทราบ

    ก่อนที่พยานจะลงลายมือชื่อในบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนนั้น พยานไม่ได้อ่านข้อความในเอกสารดังกล่าว และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อ่านให้ฟัง

    เนื้อความตามบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของพยานมีเนื้อความเหมือนกับบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของบรรดล จำปา

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ไม่ถาม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 10 ศิริพงษ์ ทองศรี ขณะเกิดเหตุเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตําบลดอนช้าง

    ศิริพงษ์เบิกความตอบโจทก์ว่า พยานดํารงตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตําบลดอนช้าง ในช่วงปี 2563 - 2564

    เมื่อประมาณปี 2563 ตํารวจได้มาพบพยานที่สํานักงานแล้วถามพยานเกี่ยวกับพฤติกรรมของทิวากรเกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบัน พยานจําไม่ได้ว่าพยานบอกตํารวจไปว่าอย่างไร

    หลังจากนั้นตํารวจได้สอบคําให้การของพยานไว้ตามบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนที่โจทก์ให้ดู โดยพนักงานสอบสวนนําข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 ให้พยานดู แล้วถามความเห็น พยานให้การว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงพระมหากษัตริย์

    อํานาจในการยกเลิกมาตรา 112 และอํานาจให้ประกันตัวแกนนํานั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์

    พยานรู้จักจําเลยแต่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานไม่ได้ไปดูข้อความของจําเลยที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก

    พนักงานสอบสวนให้พยานดูเฉพาะข้อความที่จําเลยโพสต์ แต่ไม่ได้ให้ดูในส่วนข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็น

    ตามความเข้าใจของพยาน สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต

    ข้อความที่พนักงานสอบสวนให้พยานดูนั้นระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีข้อความถึงพระนามของรัชกาลที่ 10

    **ตอบโจทก์ถามติง

    เหตุที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเนื้อความดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 10 เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีการโพสต์ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 10

    ++พยานโจทก์ปากที่ 11 สุรสิทธิ์ ทุมทา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น

    สุรสิทธิ์เบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้สอบคําให้การของพยานไว้ โดยได้นําข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากร เมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 มาให้พยานดู แล้วถามความเห็น พยานให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10

    อํานาจในการยกเลิกมาตรา 112 และอํานาจในการปล่อยแกนนําทั้งสี่นั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์

    พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคําให้การของพยานที่โจทก์ให้ดู พยานไม่เคยรู้จักจําเลยในคดีนี้และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานไม่เคยทราบข้อความตามเอกสารที่โจทก์ให้ดู (ข่าวนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112) เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวหากเป็นจริงก็เป็นการแสดงความคิดเห็น และหากมีคนพูดตามเนื้อหาในข่าวก็ไม่น่าจะเป็นความผิด

    ตามความเห็นของพยาน สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ในอดีต

    ข้อความที่พนักงานสอบสวนให้พยานดูนั้นระบุว่าสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ระบุชื่อพระมหากษัตริย์

    พยานไม่เคยทราบข้อความตามที่ระบุในเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู (ข่าวอัยการถอนฟ้องคดี 112 สนธิ ลิ้มทองกุล)

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ที่พยานให้การในชั้นสอบสวนว่าข้อความที่พนักงานสอบสวนให้ดูหมายถึงรัชกาลที่ 10 นั้นเพราะว่าในข้อความดังกล่าวแม้ว่าจะระบุว่าสถาบันกษัตริย์ แต่ตามความเข้าใจของพยานในขณะนั้นจนถึงปัจจุบันพระมหากษัตริย์คือรัชกาลที่ 10 จึงให้การไว้เช่นนั้น

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2565)
  • สืบพยานวันที่ 3 ทิวากรเดินทางมาศาลโดยใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เช่นเดียวกับ 2 วัน ที่ผ่านมา พยานโจทก์เข้าเบิกความ 2 ปาก คือ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และพนักงานสอบสวน โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยวันที่ 27 พ.ค. 2565 ตามที่นัดไว้เดิม

    ขณะอานนท์เบิกความ ศาลบอกทิวากรว่า ถ้านั่งในห้องพิจารณาขอให้ใส่เสื้อคลุมเสื้อดังกล่าวไว้ เนื่องจากมีข้อความที่จำเลยยังถูกดำเนินคดีอยู่

    ++พยานโจทก์ปากที่ 12 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

    อานนท์เบิกความตอบโจทก์ว่า พยานเป็นอาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยสอนวิชาสถิติศาสตร์, ระเบียบวิธีวิจัยวิทยาการข้อมูลการบริหารความเสี่ยง พยานจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านจิตมิติและจิตวิทยาเชิงปริมาณจาก Fordham University นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

    พยานสอนที่นิด้ามาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยศึกษาและเขียนบทความนับร้อยบทความ ลงในผู้จัดการออนไลน์, หนังสือพิมพ์แนวหน้า และไทยโพสต์ มาเป็นเวลาประมาณ 7 - 8 ปีแล้ว และมีการเขียนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วย

    คําว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ตามพระบรมราชโองการนั้นไม่ได้มีการระบุว่าเฉพาะราชวงศ์จักรีหรือรวมถึงราชวงศ์อื่นด้วย

    เมื่อมีคําพิพากษาของศาลฎีกา แต่พยานจําหมายเลขไม่ได้ จําได้ว่าผู้ที่ตัดสินคือนายศิริชัย วัฒนโยธิน เมื่อพยานดูคําพิพากษาดังกล่าวแล้ว พยานมีความเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหมายรวมถึงเฉพาะในราชวงศ์จักรีเท่านั้น

    ต่อมาพนักงานสอบสวนได้เรียกพยานมาถามความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊ก โดยให้พยานดูภาพที่มีคนใส่เสื้อสีขาว และมีข้อความสีแดงเขียนว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ตามข้อความดังกล่าวนั้นคําว่า สถาบันกษัตริย์ มีความหมายอยู่ 2 อย่าง ความหมายที่ 1 หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลองค์ปัจจุบัน และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันและในอดีต ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

    คําว่า “หมดศรัทธา” หมายถึง เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เลวทราม การที่บอกว่าไม่ศรัทธาแสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ซึ่งเป็นการกระทําผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเคารพสักการะสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การที่มีการสวมเสื้อดังกล่าวแสดงต่อสาธารณะและมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนยังให้พยานดูโพสต์ที่มีข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที..." ด้วย พยานมีความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 คือรัชกาลที่ 10 ไม่สามารถที่จะระงับใช้กฎหมายโดยพระองค์เองได้ เพราะไม่ใช่พระราชอํานาจ

    ในข้อความดังกล่าวมีข้อความว่า พระมหากษัตริย์ทําตัวเป็นศัตรูกับประชาชน ซึ่งเป็นข้อความดูหมิ่น และเป็นข้อความอันเป็นเท็จโดยไม่มีหลักฐานใด และการที่มีข้อความว่าสถาบันกษัตริย์จะล่มสลายสถานเดียวนั้นเป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนยังนําข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว...” ให้พยานดูเพื่อถามความเห็นด้วย พยานดูแล้วมีความเห็นว่า คําว่า สถาบันกษัตริย์ นั้นหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอํานาจในการปล่อยตัวผู้กระทําความผิดได้

    การกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์สร้างเวรสร้างกรรมต่อประชาชน ทั้ง ๆ ที่ผู้กระทําความผิดจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่บัญญัติ คําว่า รู้จักการทําความดีเพื่อไถ่โทษไหม แสดงว่า พระมหากษัตริย์ไม่รู้จักการทําความดีเลยเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ คําว่า ไม่อยากคนรักและศรัทธา หรืออยากให้คนเกลียด แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์มีจิตใจอันโหดร้ายไม่ได้สนใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

    การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว อ้างว่าเป็นการแสดงความเห็น เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น พยานไม่เห็นด้วย เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่เป็นการกระทําต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งการโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้นเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของพระเจ้าแผ่นดิน สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ล่วงละเมิดศีลธรรมจรรยาอันดีของประชาชน โดยการกล่าวดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การกระทําของจําเลยดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และสิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ผิดต่อกฎหมาย แต่การกระทําของจําเลยผิดต่อกฎหมาย

    พนักงานสอบสวนได้สอบคําให้การของพยานไว้รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคําให้การของพยานที่โจทก์ให้ดู พยานไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองจําเลยในคดีนี้มาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    พยานเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหาร รายละเอียดปรากฏตามเอกสารรายงานข่าวที่ทนายจําเลยให้ดู นอกจากนี้ พยานไม่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญของสํานักงานศาลยุติธรรม และไม่เคยมีบทความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในวารสารระดับชาติและระดับเทียร์ 1 อีกทั้งยังไม่ได้มีการเขียนตําราทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พยานกําลังดําเนินการเขียนและตีพิมพ์

    ได้มีนักวิชาหลายคนออกความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู (บทความ “ขอบเขตของคำว่า ‘พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ ในประมวลกฎหมายอาญา” โดย ดร.ชัชพล ไชยพร) ซึ่งความเห็นดังกล่าวแตกต่างจากความเห็นของพยาน โดยนักวิชาการเหล่านั้นได้แสดงความเห็นก่อนที่จะมีประกาศพระบรมราชโองการ

    ตามพระบรมราชโองการที่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการกล่าวถึงโดยอิงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6

    พยานเคยเบิกความในศาลในคดีอื่นว่า พยานไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

    ตํารวจเคยเรียกให้พยานไปให้ความเห็นเกี่ยวกับการดําเนินคดีมาตรา 112 ประมาณ 100 คดี ซึ่งพยานมีความเห็นประมาณ 5 - 6 คดีว่า ไม่เข้ามาตรา 112

    ในการที่พนักงานสอบสวนนำข้อความเกี่ยวกับการดําเนินคดีมาตรา 112 มาให้พยานแสดงความเห็นนั้น มีบางสํานวนที่พยานบอกพนักงานสอบสวนว่า พยานไม่ชํานาญในเรื่องนี้ให้ไปถามบุคคลที่ชํานาญ โดยบางสํานวนได้บอกชื่อไปด้วย แต่สําหรับคดีนี้นั้น พยานไม่ได้บอกพนักงานสอบสวนว่าให้ไปถามความเห็นจากบุคคลอื่น

    คําพิพากษาศาลฎีกาของนายศิริชัยนั้นเป็นคําพิพากษาในปี 2556 หลังจากนั้นมีคําพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ 2 ศาล คือศาลจังหวัดจันทบุรีและศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ไม่ตัดสินตามแนวคําพิพากษาดังกล่าว

    พยานทราบว่าเมื่อปี 2548 รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดํารัสเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 และทราบว่ามีข่าวตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู (นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112) ซึ่งพยานก็ไม่เคยไปแจ้งความให้ดําเนินคดีนายกฯ เกี่ยวกับข่าวดังกล่าว หากมีการดําเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และทางพนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้ความเห็น พยานก็จะไปให้ความเห็น

    ความปรารถนาดีสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ พยานรู้จัก ส.ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา พยานเคยได้ยินด้วยว่า ส.ศิวรักษ์ เคยเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 10 เป็นการส่วนตัว ส่วนเนื้อความที่ ส.ศิวรักษ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ตามเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู (ส.ศิวรักษ์ เปิดเผยว่า ที่อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องเขาในคดีมาตรา 112 เป็นผลมาจากการถวายฎีกาถึงรัชกาลที่ 10 ทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงแนะนำให้รัฐบาลยุติคดีดังกล่าว รวมถึงไม่ให้มีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีก) พยานไม่ทราบว่าจะเป็นข้อมูลจริงหรือไม่

    ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บอกว่าพระมหากษัตริย์ถูกละเมิดไม่ได้นั้น หมายถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความเคารพสูงสุด และต้องไม่ถูกละเมิด

    พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีหลายพระองค์ ตามความเห็นของพยานเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่ดําเนินการแทนพระองค์ เช่น เลขาธิการสํานักพระราชวังและองคมนตรี ไม่ได้อยู่ในความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หากไปดําเนินการเป็นผู้แทนพระองค์ก็ถือว่าอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์

    ตามรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนสามารถที่จะศรัทธาและไม่ศรัทธาต่อสิ่งใดก็ได้

    ในขณะที่พนักงานสอบสวนให้พยานดูข้อความและภาพเกี่ยวกับจําเลยที่สวมเสื้อสีขาวนั้น ยังได้นําข้อความที่ทิวากรโพสต์อธิบายความหมายคำว่า “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า ล้มเจ้า ให้พยานดูด้วย

    เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2563 พยานพบในภาพข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการถ่ายภาพเซลฟี่กับประชาชนและมีการพระราชทานลายพระหัตถ์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และเท่าที่พยานทราบเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

    คำให้การชั้นสอบสวนของพยานไม่ได้มีการพูดถึงพระบรมราชโองการ อีกทั้งพระบรมราชโองการไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย (ศาลไม่บันทึก)

    **ตอบโจทก์ถามติง

    เหตุที่พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของสํานักงานศาลยุติธรรมเนื่องจากพยานไม่ทราบว่าสํานักงานศาลยุติธรรมมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวด้วยจึงไม่ได้สมัครเข้ามา

    เหตุที่พยานไม่ได้มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับสถาบันในเทียร์ 1 นั้น เนื่องจากพยานไม่ต้องใช้บทความดังกล่าวในการขอตําแหน่งทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม พยานมีผลงานทางวิชาการโดยทําเป็นหนังสือเรื่อง ศาสตร์พระราชา ของสภาปฏิรูปประเทศไทย และมีบทความลงในหนังสือ เกษตรสุรนารี 60 เรื่องทฤษฎีศาสตร์พระราชา

    เหตุที่พนักงานสอบสวนเรียกให้พยานไปให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 นั้นเนื่องจากพยานมีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบัน และมีบุคคลที่ไม่อยากมาเป็นพยานศาล

    ความผิดในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 112 นั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีประมวลกฎหมายลักษณะอาญาฉบับแรกของประเทศไทย

    เหตุที่พยานไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากคําว่าปฏิรูปแปลว่าการเปลี่ยนรูปในทางต่อต้านหรือตรงกันข้าม แต่สถาบันพระมหากษัตริย์มีการปรับพระองค์เองมาโดยตลอด จึงไม่จําเป็นต้องปฏิรูป

    ++พยานโจทก์ปากที่ 13 พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระ

    พ.ต.ต.สุริยัน เบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ทางตํารวจภูธรภาค 4 ได้รับเรื่องว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ทิวากร วิถีตน จึงมีคําสั่งให้ตั้งคณะทํางานสืบสวนสอบสวนในเรื่องดังกล่าว และในวันดังกล่าว พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร ก็ได้มาร้องทุกข์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย โดยเป็นกรณีการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กของทิวากรในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564

    ต่อมาในวันที่ 4 มี.ค. 2564 ได้มีการตรวจค้นบ้านของทิวากรและมีการจับกุมทิวากรพร้อมตรวจยึดสิ่งของไว้ด้วย หลังจากนั้นตํารวจชุดสืบสวนได้ส่งรายงานการสืบสวนให้พยาน

    พยานได้ส่งของกลางและโทรศัพท์ไปตรวจพิสูจน์ และทางเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ได้จัดทําเป็นรูปภาพและภาพเคลื่อนไหวไว้ ในส่วนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวนั้นทางชุดสืบสวนนําส่งมาให้ แต่ในส่วนที่เป็นภาพถ่ายนั้นได้มาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทิวากร ซึ่งทิวากรได้เซ็นให้ความยินยอมไว้

    หลังจากรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเห็นว่าทิวากรกระทําความผิดจึงได้แจ้งข้อหาว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, กระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทิวากรให้การปฏิเสธ

    หลังจากนั้นพยานได้สอบคําให้การพยานอีกหลายคน จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วทางคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าการที่ทิวากรได้มีการโพสต์รูปสวมเสื้อสีขาวและมีข้อความดังกล่าวนั้น พร้อมกับมีการเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปให้สวมเสื้อดังกล่าว อาจจะมีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นลักษณะดูหมิ่นอันเป็นการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์

    ในส่วนที่มีการลงข้อความในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้นอาจทําให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ก้าวล่วงในการใช้กฎหมาย ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่มีอํานาจที่จะให้ยกเลิกมาตรา 112 และไม่มีอํานาจที่จะให้ปล่อยตัวแกนนํา การปล่อยตัวดังกล่าวจะเป็นอํานาจของพนักงานสอบสวนหรือศาล

    เหตุที่มีการดําเนินคดีทิวากรแม้ว่าจะมีข้อความระบุว่า สถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้ระบุถึงชื่อองค์พระมหากษัตริย์นั้น พยานเห็นว่า คําว่าสถาบันพระมหากษัตริย์รวมถึงองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงผู้แทนพระองค์ด้วย

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหานั้นไม่มีข้อความว่า ทิวากรได้โพสต์ข้อความชักชวนให้บุคคลอื่นมาสวมเสื้อสีขาว

    พยานไม่ได้เป็นผู้สอบคําให้การของนายอานนท์, พ.อ.เชาวลิต และอรทัยรัตน์ ในชั้นสอบสวน เป็นคณะทํางานคนอื่นสอบคําให้การ รวมถึงไม่ได้สอบคําให้การของ พ.ต.ท.สุรัตน์ และ พ.ต.ต.อาจหาญ ในครั้งแรก แต่มาสอบคําให้การเพิ่มเติมในวันที่ 5 และ 6 มี.ค. 2564

    เมื่อทิวากรโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามฟ้องก็มีบุคคลมาแสดงคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ปรากฏว่ามีคนในหมู่บ้านมาสวมเสื้อสีขาวที่มีข้อความตามจําเลย รายละเอียดปรากฏตามรายงานการสืบสวนของสันติบาล จ.ขอนแก่น

    จําเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามพยานเอกสารของโจทก์ที่ทนายจำเลยให้ดู (มีเนื้อหาว่า ไม่สนับสนุนการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งไม่ดูหมิ่น ด่าหยาบคาย) ซึ่งในการสอบคําให้การของพยานต่าง ๆ นั้น พยานไม่ได้ให้พยานเหล่านั้นดูโพสต์ดังกล่าวนี้ รวมถึงโพสต์ที่ทิวากรอธิบายถึงคำว่า “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”

    ความเห็นที่มีการดําเนินคดีจําเลยนั้นเป็นความเห็นของที่ประชุมและพยานก็เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว

    พยานไม่เคยเห็นข่าวตามที่ทนายจำเลยให้ดู (ข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112) และในที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีการพูดถึงเนื้อความของข่าวดังกล่าว ซึ่งหากพยานเห็นข่าวดังกล่าวแล้วจะดําเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่นั้น พยานไม่สามารถออกความเห็นได้

    ในที่ประชุมคณะทํางานมีตํารวจจากตํารวจภูธรภาค 4 และตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น และหลังจากรับคําร้องทุกข์แล้วได้มีการเรียกคณะพนักงานสอบสวนเข้าไปพูดคุยกันที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ แต่พยานไม่ได้เดินทางไปประชุมด้วย พยานเข้าประชุมคณะทำงานที่ขอนแก่นเพียงบางครั้งเท่านั้น

    พยานไม่ทราบว่าที่ประชุมคณะทำงานจะได้มีการนำเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดูนี้ (คำฟ้องและคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ของศาลอาญา ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ) มาพูดคุยหรือไม่ แต่ในช่วงที่พยานเข้าประชุมนั้นไม่เคยมีการนําเอกสารดังกล่าวมาพูดคุย รวมทั้งไม่ได้มีการพูดถึงคดีมาตรา 112 และคําพิพากษายกฟ้องของศาลจังหวัดนครพนม

    สถาบันพระมหากษัตริย์มีความหมายรวมถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีตด้วย ซึ่งมีหลายพระองค์ พยานไม่สามารถบอกได้ว่ามีกี่พระองค์

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในส่วนที่จำเลยโพสต์ข้อความในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 ส่วนที่จําเลยโพสต์ข้อความและภาพที่สวมเสื้อสีขาวมีตัวหนังสือสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และมีการลงข้อความเชิญชวนให้บุคคลมาสวมเสื้อดังกล่าวนั้นได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา 116 ไม่ใช่มาตรา 112

    พยานไม่ทราบว่า บุคคลที่มาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ที่จําเลยเชิญชวนให้คนสวมเสื้อดังกล่าวนั้น จะรู้จักจําเลยหรือไม่ และข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น ก็ไม่ได้มีการนัดหมายให้บุคคลมารวมกัน มีเพียงการเชิญชวนให้สวมเสื้อเท่านั้น และเท่าที่ปรากฏก็มีบุคคลสวมเสื้อดังกล่าวโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพียง 2 คนเท่านั้น ไม่ได้มีการรวมกลุ่มมาทํากิจกรรมอะไรกัน

    เหตุที่มีการขอความเห็นของนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ไว้นั้น เนื่องจากนายอานนท์เคยให้ความเห็นในคดีอื่นไว้

    จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจําเลยพบว่า ในบางครั้งจําเลยจะลงข้อความระบุถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยตรง แต่ข้อความตามฟ้องนั้นเนื้อความระบุถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ระบุถึงรัชกาลที่ 9 หรือรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

    ในการประชุมพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการพูดถึงเนื้อความตามเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู (บทความ “ขอบเขตของคำว่า ‘พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ ในประมวลกฎหมายอาญา”)

    บันทึกคำให้การผู้ต้องหาลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 นั้นเป็นการสอบคําให้การจําเลยในวันที่ถูกจับและจําเลยก็ให้การทั้งหมดในทันที แต่พยานไม่ได้เป็นผู้สอบคําให้การจําเลยดังกล่าว เป็นคณะพนักงานสอบสวนคนอื่นที่เป็นผู้สอบคําให้การ หลังจากมีการสอบคําให้การจําเลยในวันดังกล่าวแล้ว ไม่ได้มีการสอบคําให้การจําเลยเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์ในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564

    **ตอบโจทก์ถามติง

    เหตุที่จําเลยสวมเสื้อสีขาวที่มีข้อความสีแดงนั้นเกิดในปี 2563 แต่พยานไม่ทราบว่าเหตุใด จึงยังไม่มีการดําเนินคดีในช่วงดังกล่าวเพิ่งจะมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2565)

  • สืบพยานวันสุดท้าย มีพยานจำเลยคือ ทิวากร ที่เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียว ใช้เวลาเบิกความ 1 ชม.ครึ่ง ทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงปิดคดีใน 30 วัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ก.ย. 2565 ระบุว่าที่นัดนานเนื่องจากต้องส่งร่างคำพิพากษาให้ภาคตรวจ

    ทิวากรกล่าวคำปฏิญาณก่อนเริ่มเบิกความว่า พยานจะเบิกความด้วยความสัตย์จริงและจากใจจริง จากนั้นเบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า นอกจากคดีนี้พยานไม่เคยถูกดําเนินคดีอาญามาก่อน

    พยานสนใจเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2548 พยานเป็นคนโพสต์ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 ข้อ ในเฟซบุ๊กด้วยตนเอง โดยพยานต้องการที่จะพูดถึงองค์กรซึ่งคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เป็นการพูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งปกติหากพยานต้องการจะโพสต์ถึงพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พยานก็จะระบุชื่อบุคคลนั้นโดยตรง

    ที่พยานทําเสื้อสีขาวมีข้อความว่าเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้วที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กนั้น พยานมีเจตนาคือต้องการแสดงความรู้สึกนึกคิดอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก ซึ่งคําว่าหมดศรัทธานั้นไม่ได้เป็นการล้อเลียน ลบหลู่หรือดูหมิ่น หมิ่นประมาท อีกทั้งเนื้อความดังกล่าวไม่ได้หยาบคาย และไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย โดยพยานก็ได้เขียนอธิบายรายละเอียดของข้อความในเสื้อดังกล่าว รวมถึงวิธีการที่จะเรียกศรัทธากลับมาไว้ในเฟซบุ๊กของพยาน

    พยานโพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในขณะนั้นพยานมองเห็นว่า สถานะและอํานาจของสถาบันกษัตริย์อยู่ในจุดที่จะไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน พยานเล็งเห็นว่า ทางเดียวที่จะแก้ไขคือสถาบันกษัตริย์ต้องปรับปรุงตนเองเพื่อให้อยู่ในจุดที่ประชาชนรักและศรัทธาจากใจจริง ไม่ตะขิดตะขวงใจ

    เหตุที่พยานเห็นเช่นนั้นเนื่องจากพยานได้ดูจากโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ที่มีการพูด การแสดงออก และตั้งคําถามต่อสถาบันกษัตริย์ในทิศทางที่ไม่ได้รักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบต่าง ๆ หลายข้อความถึงขั้นด่าหยาบคาย

    หลังจากที่มีการทําเสื้อและโพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว พยานได้โพสต์สอบถามกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เกี่ยวกับการสวมเสื้อและมีข้อความดังกล่าว ตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู ซึ่งพยานเชื่อว่าทาง กอ.รมน. จะเห็นข้อความดังกล่าวของพยานอยู่แล้ว เนื่องจากทาง กอ.รมน.ได้ติดตามข้อความในเฟซบุ๊กของพยานโดยตลอด

    แต่ทาง กอ.รมน.ไม่ได้มีข้อความแจ้งว่าพยานไม่สามารถที่จะสวมเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวหรือแจกเสื้อดังกล่าวแก่บุคคลอื่นได้ ซึ่งหากทาง กอ.รมน.ให้บุคคลมาแจ้งเรื่องดังกล่าวแก่พยานว่า เป็นการกระทบต่อความมั่นคงก็สามารถมาจับกุมพยานได้เลย หลังจากนั้นก็ไม่มีบุคคลใดมาจับกุมพยาน

    พยานได้สวมเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู ก็ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายหรือมีข้อทักท้วงจากบุคคลใด

    องค์การสหประชาชาติให้ความเห็นมาโดยตลอดว่าการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ถึงขนาดบอกว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู

    และตามความเห็นของพยานที่พยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กนั้น พยานมองว่าการใช้มาตรา 112 เป็นการทําให้ประชาชนไม่สามารถท้วงติงสถาบันกษัตริย์ได้ เนื่องจากการตีความการใช้มาตรา 112 ไม่มีมาตรฐาน มีความกว้างมาก ทําให้ประชาชนผู้หวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ไม่กล้าที่จะท้วงติงสถาบันกษัตริย์ด้วยเจตนาดี เมื่อประชาชนไม่สามารถจะท้วงติงสถาบันกษัตริย์ด้วยเจตนาดี สถาบันกษัตริย์ก็จะไม่รู้ว่าตนเองมีจุดบกพร่องอย่างไร ทําให้สถาบันกษัตริย์ทําในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรและไม่เป็นที่ยอมรับไปเรื่อย ๆ ตามที่พยานได้โพสต์แสดงความเห็นไว้เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2565 ที่ทนายจําเลยให้ดู

    ดังนั้น การใช้มาตรา 112 จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามที่องค์การสหประชาชาติเคยให้ความเห็นไว้ ทําให้เกิดผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะเจ้าทุกข์ของมาตราดังกล่าวคือสถาบันกษัตริย์ จึงทําให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียไปด้วยโดยปริยาย

    เหตุที่พยานเรียกร้องไปทางสถาบันกษัตริย์ให้ระงับใช้มาตรา 112 และให้ปล่อยตัวแกนนําทั้งสี่คนนั้น เนื่องจากความผิดในมาตรา 112 สถาบันกษัตริย์เป็นเจ้าทุกข์ที่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบอกว่าให้ใช้หรือไม่ให้ใช้มาตราดังกล่าว

    เหตุที่พยานเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์สามารถเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นว่า สามารถระงับใช้มาตรา 112 และสามารถสั่งให้ปล่อยตัวแกนนําได้นั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดํารัสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู (พระราชดำรัสว่า ไม่เคยบอกให้คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์เข้าคุก ถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้ายังไม่เข้าก็ไม่ฟ้อง) หลังจากที่รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดํารัสดังกล่าวแล้ว วันที่ 7 ธ.ค. 2548 ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้มีการถอนฟ้องคดีมาตรา 112 ที่ฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล ตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู

    นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีก็ให้ข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชดํารัสไม่ให้ดําเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 และมีข่าวในเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า ส.ศิวรักษ์ ได้ออกมาพูดว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันมีลายพระหัตถ์ถึงอัยการสูงสุดและประธานศาลฎีกาให้ยุติการใช้มาตรา 112 จากนั้นมีข่าวที่ ส.ศิวรักษ์ เปิดเผยภายหลังว่า คําสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการทหารเป็นผลมาจากการทูลเกล้าถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยแนะนํารัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว ทําให้ในช่วงปี 2561 ถึง 2563 ไม่มีการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มีการดําเนินคดีในช่วงดังกล่าวนั้นก็มีคําพิพากษายกฟ้อง และมีคําสั่งไม่ฟ้องเกือบทั้งหมด

    จากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมดมาทําให้พยานเชื่อว่าพระราชดํารัสหรือการแสดงความคิดเห็นของสถาบันกษัตริย์มีผลต่อการใช้หรือไม่ใช้มาตรา 112

    คําว่าสถาบันกษัตริย์ที่พยานพูดถึงนั้นหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน องคมนตรี ประธานองคมนตรี ราชเลขานุการ ราชองครักษ์ระดับสูง

    รัชกาลที่ 10 มีประกาศแต่งตั้ง พล.อ.มจ.จุลเจิม ยุคล เป็นนายทหารพิเศษ และ พล.อ.มจ.จุลเจิม เคยโพสต์แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่า ควรนำมาตรา 112 ออกมาใช้ได้แล้ว ตามเอกสารที่ทนายจําเลยให้ดู ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นความเห็นของราชองครักษ์ระดับสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ พยานจึงเชื่อว่าการให้ความเห็นดังกล่าวนั้นเป็นการพูดในนามของสถาบันพระมหากษัตริย์

    หลังจากนั้นในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีก็ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ชุมนุม โดยให้ดําเนินคดีทุกมาตรา

    ต่อมา ในวันที่ 2 ก.พ. 2564 มจ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ตั้งคําถามถึงตุลาการเกี่ยวกับการให้ประกันตัวผู้กระทําความผิดมาตรา 112 ซึ่งหลังจากนั้นในวันที่ 9 ก.พ. 2564 ศาลก็ไม่ให้ประกันตัวแกนนําผู้ชุมนุม 4 ราย

    จากเหตุการณ์ดังกล่าวมานั้นทําให้พยานเข้าใจได้ว่า การแสดงความคิดเห็นในนามของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีผลในการให้ประกันบุคคลที่ถูกดําเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    การที่พยานโพสต์ข้อความในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้นเพราะพยานหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ หากมีการนํามาตรา 112 มาใช้จะเป็นการทําร้ายประชาชนในนามสถาบันกษัตริย์ และจะทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ อาจจะถึงขั้นเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ ในสภาวะแบบนี้เท่ากับว่าสถาบันกษัตริย์จะเป็นศัตรูกับประชาชน การที่สถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจะทําให้สถาบันกษัตริย์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ในที่สุดอาจจะทําให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลายได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    พยานจึงได้โพสต์ข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นว่า หากประชาชนเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ใช้มาตรา 112 เพื่อทําร้ายประชาชน ก็จะไม่เป็นศัตรูกับประชาชนไปโดยปริยาย อันเป็นการรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยให้พระราชดํารัสไว้

    ที่พยานแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเนื่องจากเป็นนิสัยของพยานที่จะพูดด้วยความจริงใจอย่างตรงไปตรงมา จึงพูดข้อความออกไปโดยที่ไม่ต้องใช้คําสวยหรู แต่ก็ไม่ได้เป็นคําหยาบคาย ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย โดยพยานได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ในเฟซบุ๊กของพยานเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564

    หลังจากที่พยานถูกเจ้าหน้าที่นําตัวไปที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์แล้ว พยานได้ออกจากโรงพยาบาล พยานก็ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความตั้งใจของพยานและข้อเสนอแนะในการอยู่ร่วมกันของคนที่เห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ลงในเฟซบุ๊กของพยานเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563

    เกี่ยวกับคดีนี้หลังจากตํารวจจับกุมพยานแล้ว พยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้โดยละเอียด ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวนั้นพยานได้ตอบคําถามข้อหนึ่งว่า สาเหตุที่พยานหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์เนื่องจากพยานได้อ่านหนังสือกรณีการสวรรคตรัชกาลที่ 8 และจากการศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10

    เกี่ยวกับการดําเนินคดีมาตรา 112 นั้น ศาลจังหวัดนครพนมเคยมีคําพิพากษายกฟ้อง (ระบุเหตุผลประการหนึ่งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)

    **ตอบโจทก์ถามค้าน

    ไม่ถาม

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 ลงวันที่ 27 พ.ค. 2565)
  • ทิวากรพร้อมทนายความเดินทางมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นก่อนเวลานัด โดยมี “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งมาศาลในคดีอื่นด้วยแวะมาให้กำลังใจ และมีนักกิจกรรม ผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสื่ออิสระหลายราย มาร่วมติดตามฟังคำพิพากษาด้วย

    ก่อนเดินขึ้นไปห้องพิจารณาคดีทิวากรกล่าวว่า วันนี้เขาไม่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาจากบ้านเหมือนปกติที่เคยมาศาล เนื่องจากหากศาลตัดสินให้จำคุกจะไม่มีใครนำมอเตอร์ไซค์กลับไปที่บ้าน

    ราว 09.20 น. ในห้องพิจารณาคดี หลังจากศาลดำเนินการในคดีอื่นๆ เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้บุคคลอื่นออกจากห้องพิจารณา เหลือเพียงผู้ที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในคดีทิวากร จากนั้น วรวุฒิ เลาลัคนา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของสำนวน จึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกุญแจมือ ยืนประกบทิวากร เพื่อเตรียมควบคุมตัวไปห้องขัง หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุก

    คำพิพากษามีใจความว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ถึงวันที่ 27 ก.พ. 2564 จำเลยลงรูปภาพและข้อความให้ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตในเฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อ ทิวากร วิถีตน ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าไปดูและตรวจสอบได้ ภาพนั้นจำเลยสวมเสื้อคอกลมสีขาว ซึ่งมีข้อความตัวอักษรสีแดงคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

    ในวันที่ 11 ก.พ. 2564 จำเลยลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กของจำเลยว่า หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันทีก็เท่ากับทำตนเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน จุดจบคือล่มสลายสถานเดียว

    วันที่ 18 ก.พ. 2564 จำเลยลงข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยว่า สถาบันกษัตริย์สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คน ได้แล้ว จะสร้างเวรสร้างกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักหรือศรัทธาเหรอ หรืออยากให้คนเกลียด

    พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ กับพวก พบรูปภาพและข้อความดังกล่าวจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจำเลยกระทำความผิด จึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.สุรัตน์ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย ต่อมา พ.ต.ท.สุรัตน์ กับพวกไปค้นบ้านจำเลย พบโทรศัพท์และคอมพิเตอร์ แผ่นซีดี และเสื้อยืดสีขาว เขียนว่า เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว 2 ตัว และเสื้อยืดสีดำมีข้อความแบบเดียวกันอีก 1 ตัว จึงยึดไว้เป็นของกลาง ก่อนจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จำเลยให้การปฏิเสธ

    หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนเห็นว่า การที่จำเลยสวมเสื้อสีขาวมีข้อความดังกล่าวและโพสต์ลงในเฟซบุ๊กพร้อมกับเชิญชวนบุคคลอื่นให้สวมเสื้อดังกล่าว อาจจะทำให้มีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะดูหมิ่น อันเป็นการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และการที่จำเลยลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กของจำเลยในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 อาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์ก้าวล่วงในการใช้กฎหมาย ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่มีอำนาจที่จะปล่อยตัวแกนนำได้ การปล่อยตัวแกนนำเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือศาล

    คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

    โจทก์มี วิไลวรรณ สมโสภณ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ลงในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อพยานอ่านข้อความดังกล่าวแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์

    พ.อ.เชาวลิต แสงคํา กอ.รมน.จ.ขอนแก่น เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้น กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ พยานอ่านแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยข้อความหลังเป็นการลดความเชื่อถือของกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และอำนาจปล่อยตัวแกนนํานั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรม

    มีดุลยภพ แสงลุน ปลัดอําเภอเมืองขอนแก่น, นาวี แสงฤทธิ์ เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และอรทัยรัตน์ พรมศรี กำนันตำบลดอนช้าง เบิกความทำนองเดียวกันว่า อำนาจที่จะสั่งปล่อยตัวแกนนำและระงับใช้มาตรา 112 ไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์

    มีศิริพงษ์ ทองศรี นายก อบต.ดอนช้าง และ สุรสิทธิ์ ทุมทา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น เบิกความทำนองเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อพยานอ่านแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงพระมหากษัตริย์ และอำนาจในการยกเลิกมาตรา 112 และอำนาจให้ประกันตัวแกนนำไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์

    และมีอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เบิกความว่า คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ

    พนักงานสอบสวนได้เรียกอานนท์มาถามความเห็น และนำรูปภาพของจำเลยที่สวมเสื้อและข้อความที่จำเลยโพสต์ให้พยานดู พยานดูภาพจำเลยใส่เสื้อมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” มีความเห็นว่า คําว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมาย 2 อย่าง คือหมายถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลองค์ปัจจุบัน และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันและในอดีต ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

    คําว่า “หมดศรัทธา” หมายถึง ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม การบอกว่าไม่ศรัทธา แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ซึ่งการโพสต์รูปภาพดังกล่าวเป็นการกระทําที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเคารพสักการะสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การสวมเสื้อดังกล่าวแสดงต่อสาธารณะและโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากรัชกาลที่ 10 ไม่สามารถที่จะระงับใช้กฎหมายโดยพระองค์เองได้ เพราะไม่ใช่พระราชอํานาจ

    นอกจากนี้ข้อความว่า พระมหากษัตริย์ทําตัวเป็นศัตรูกับประชาชน เป็นข้อความดูหมิ่น และเป็นความเท็จโดยไม่มีหลักฐานใด และข้อความว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลายสถานเดียว นั้น เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” พยานดูแล้วมีความเห็นว่า คําว่า “สถาบันกษัตริย์” นั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอํานาจในการปล่อยตัวผู้กระทําความผิดได้

    เห็นว่า โจทก์มีพยานเพียง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า ที่จำเลยโพสต์ว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลาย เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ เท่านั้น แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นใดที่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าว รวมทั้งภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้อง เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยลงทั้งหมดแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเช่นนั้น

    ส่วนรูปภาพและข้อความดังกล่าวจะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดูหมิ่น คือการด่า ดูถูก เหยียดหยาม และจะต้องได้ความว่า การใส่ความหรือการดูหมิ่นดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือผู้ถูกดูหมิ่น เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความหรือผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การใส่ความหรือการดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

    เมื่อข้อความและรูปภาพที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ หากจำเลยต้องการลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง จำเลยจะระบุไว้โดยชัดเจนตามที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ และ พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไว้

    และ ผศ.อานนท์ ก็เบิกความยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายพระองค์

    การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจึงไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง

    ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้

    เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ตามฟ้องโจทก์

    และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เสื้อยืดของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่ริบ ให้คืนแก่เจ้าของ

    พิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลางแก่เจ้าของ

    .

    หลังฟังคำพิพากษา ทิวากรเปิดเผยความรู้สึกว่า “รู้สึกประหลาดใจและผิดไปจากความคาดหมายมาก ผมไม่คิดว่าศาลจะยกฟ้อง แม้ว่าในคดีนี้ ผมไม่ควรถูกฟ้องตั้งแต่แรก และหากศาลพิพากษาตามพยานหลักฐานในการสืบพยานแล้ว โดยไม่มีอะไรมาแทรกแซง ศาลน่ายกฟ้อง”

    “แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอก บรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผมเห็นมา ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ แม้แต่ศาล มีการตีความกฎหมายที่บิดเบือนไปมาก ก่อนหน้านี้ก็มีคำตัดสินคดีสมบัติ ทองย้อย, นิว จตุพร ทำให้เห็นว่า มีการใช้กฎหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมทั้งประชาชนที่เห็นต่าง ทำให้ผมคิดว่า กรณีผมเขาจะลงโทษให้หลาบจำ หรือเชือดไก่ให้ลิงดู ให้คนอื่นกลัว และจะไม่พูดแบบผม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการใช้มาตรา 112 อยู่แล้ว ยิ่งคนที่ถูกตัดสินจำคุกก่อนผม อย่างนิวแค่ใส่ชุดไทย ไม่ได้พูดอะไร ทำไมผมถึงจะไม่โดน”

    “ตอนนี้ผมยังงง และยังหาคำตอบไม่ได้ว่า รัฐไทยเขามองคดีผมยังไง” ทิวากรทิ้งท้าย

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1001/2565 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48972)
  • พรรณพงษ์ ทนินซ้อน อัยการอาวุโส สํานักงานคดีศาลสูงภาค 4 ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการศาลสูงจังหวัดขอนแก่น ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคําพิพากษาศาลชั้นต้น และพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องกับริบของกลาง โดยอ้างถึงเหตุผลดังนี้

    1. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีเพียง ผศ.ดร.อานนท์ เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องที่ว่าสถาบันกษัตริย์จะล่มสลายเป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่พยานโจทก์ปากอื่นทั้งหมดไม่มีปากใดที่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวและรูปภาพกับข้อความตามฟ้องอีก 2 ข้อความ เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จําเลยลงทั้งหมดในแต่ละครั้งแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเช่นนั้น นั้น

    โจทก์อุทธรณ์ว่า นอกจากพยานโจทก์ปาก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องที่ว่าสถาบันกษัตริย์จะล่มสลาย เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์แล้ว ยังเบิกความว่า ข้อความ “เราหมดศรัทธา…” เป็นการชักชวนให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นแม้ไม่ได้เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 ข้อความ เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ปรากฏข้อความที่จําเลยลงให้เห็นเป็นเช่นนั้น แต่พยานโจทก์ปากดุลยภพและนาวี ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์ลงในเฟชบุ๊กแล้วเห็นว่า อาจทําให้ประชาชนหรือผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าว เกิดความเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งพยานโจทก์ปาก พ.อ.เชาวลิต และอรทัยรัตน์ ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานได้เข้าไปดูคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของจําเลยแล้ว มีบางคนแสดงความคิดเห็นแบบเกลียดชังพระมหากษัตริย์

    2. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อข้อความและรูปภาพที่จําเลยลงในเพจเฟซบุ๊กกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ จําเลยจึงมิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอน การเข้าใจข้อความดังกล่าว จึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง นั้น

    โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ข้อความและรูปภาพที่จําเลยลงในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัติย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่พยานโจทก์หลายปากเบิกความหรือให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10, อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ก็เบิกความและให้การในชั้นสอบสวนว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และคําว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึงรัชกาลที่ 10 และวิไลวรรณให้การในชั้นสอบสวนว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการกล่าวอ้างเรื่องราวในปัจจุบันจึงเท่ากับ ผู้โพสต์มีเจตนามุ่งหมายกล่าวถึงรัชกาลปัจจุบัน

    ดังนั้น โจทก์จึงเห็นว่าการลงข้อความและรูปภาพของจําเลยได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอน ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 10

    3. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ มิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จําเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก จึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และมิใช่กระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน รวมทั้งไม่เป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้อง และเสื้อยืดของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งจําเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด จึงไม่ริบ ให้คืนแก่เจ้าของ นั้น

    โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานโจทก์ปากวิไลวรรณ, พ.อ.เชาวลิต และสุรสิทธิ์ เบิกความว่า พยานอ่านข้อความที่จำเลยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์แล้ว เห็นว่าจําเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, ทําให้ปรากฏแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้อง เสื้อยืดของกลางจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจําเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด อันพึงต้องริบตามกฎหมาย

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1001/2565 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/69099)

  • ทิวากรยื่นคำแก้อุทธรณ์ เพื่อโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

    1. ในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ว่า มีพยานปากอื่นได้ยืนยันว่าการกระทำของจำเลยเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยพยานโจทก์ปากดุลยภพและนาวี แสงฤทธิ์ ต่างให้การในชั้นสอบสวนแต่เพียงว่า “อาจ” ทำให้ประชาชนผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าวเกิดความเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ การที่พยานใช้ถ้อยคำว่า “อาจ” ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นคำช่วยกริยาบอกถึงการคาดคะเน จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า ข้อความดังกล่าวชักชวนให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเกลียดชังต่อสถาบันกษัตริย์ และเมื่อมาเบิกความในชั้นพิจารณาพยานทั้งสองปากกลับไม่เบิกความในลักษณะดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งพยานโจทก์ปากดุลยภพยังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อเห็นข้อความดังกล่าวแล้วพยานยังรักในสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิม

    ส่วนที่พยานโจทก์ปาก พ.อ.ชวลิต และอรทัยรัตน์ ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า พยานได้เข้าไปดูคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของจําเลย แล้วมีบางคนแสดงความคิดเห็นแบบเกลียดชังพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อมาเบิกความในชั้นพิจารณาพยานทั้งสองกลับไม่เบิกความยืนยันในลักษณะเดียวกันกับที่เคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ทั้งสองปากไม่ได้เบิกความเลยว่า ได้เข้าไปดูคนที่มาแสดงความเห็นในโพสต์ของจำเลย

    นอกจากนี้คำให้การในชั้นสอบสวนในส่วนนี้ของ พ.อ.ชวลิต และอรทัยรัตน์ ก็มีเนื้อความเหมือนกันทุกถ้อยคำ จนเป็นพิรุธให้จำเลยสงสัยว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการคัดลอกคำให้การของพยานปากหนึ่งไปเป็นคำให้การของพยานปากอื่น ๆ แล้วจึงให้พยานเซ็นรับรอง โดยไม่ได้บันทึกคำให้การของพยานตามจริง กรณีดังกล่าวทำให้บันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้ศาลรับฟังได้

    2. ในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ว่ามีพยานหลายปากยืนยันว่าคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10

    จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยเฉพาะที่ศาลวินิจฉัยว่า การเข้าใจข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้องขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ การตีความของแต่ละบุคคลนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของที่แตกต่างกันไป ดังนั้น แม้อุทธรณ์โจทก์จะยกคำเบิกความหรือคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์หลายปากที่ตีความไปตามความรู้และประสบการณ์ของตนเองว่า ข้อความที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กหมายถึงรัชกาลที่ 10 แต่ก็มีพยานโจทก์ปากอื่นที่ตีความแตกต่างออกไป โดยเบิกความตอบโจทก์และทนายจำเลยว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แม้แต่พยานโจทก์ปากที่โจทก์นำคำให้การชั้นสอบสวนอ้างมาในอุทธรณ์

    พยานโจทก์เหล่านั้นยังตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต

    เมื่อข้อความที่จำเลยโพสต์ใช้คำว่า “สถาบันกษัตริย์” การตีความย่อมต้องตีความจากคำว่า “สถาบันกษัตริย์” เท่านั้น ซึ่งพยานโจทก์ต่างก็ให้ความหมายไปในทางเดียวกันว่า หมายถึง พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน รวมถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต การโพสต์ข้อความตามฟ้องของจำเลยจึงมิได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ

    3. จำเลยเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิได้ระบุถ้อยคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ให้เป็นองค์ประกอบความผิดตามกฏหมาย การที่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ จึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และมิใช่การกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลย และให้คืนของกลางแก่เจ้าของ เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว

    (อ้างอิง: คำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.399/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1001/2565 ลงวันที่ 24 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/69099)
  • ประมาณ 09.30 น. ทิวากร ทนายความ ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและไอลอว์ และเพื่อนของทิวากร เดินทางถึงห้องพิจารณาคดีที่ 9 โดยพบว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่าปกติ คือ นอกจากผู้มาศาลจะต้องถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสแกนบัตรประชาชน และตรวจกระเป๋าที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าอาคารตามปกติแล้ว ผู้ที่มาห้องพิจารณาคดีที่ 9 ยังถูกตรวจค้นกระเป๋าก่อนเข้าห้องอีกครั้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตามเข้ามาในห้องพิจารณากำชับให้เก็บโทรศัพท์ใส่กระเป๋า ทั้งยังนั่งจับตาผู้สังเกตการณ์ทั้งสองคนตลอดเวลา

    ราว 10.00 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

    อุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่

    โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้รูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์จะมิได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่ก็สื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นําสืบมาแสดงให้เห็นว่าจําเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์นั้น

    เห็นว่า แม้รูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์ จําเลยจะใช้ถ้อยคําว่า “สถาบันกษัตริย์” แต่ถ้อยคําดังกล่าวเป็นนามธรรม ซึ่งจะมีความหมายมุ่งถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจําเลย เพื่อให้เห็นเจตนาว่าประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ประกอบกับวิญญูชนทั่วไปซึ่งได้พบเห็นรูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์สามารถเข้าใจได้ว่ามุ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันหรือไม่

    คดีนี้จําเลยเบิกความรับว่า คําว่า สถาบันกษัตริย์ ที่จําเลยพูดถึงนั้นหมายถึง พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์องค์ปัจจุบัน องคมนตรี ประธานองคมนตรี ราชเลขานุการ ราชองครักษ์ระดับสูง เมื่อพิจารณาประกอบพยานเอกสารของจําเลย ประกอบถ้อยคําที่จําเลยโพสต์ตามฟ้อง เมื่อสถาบันกษัตริย์เป็นนามธรรมจึงไม่อาจกระทําตามถ้อยคําดังกล่าวได้

    นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเอกสารของโจทก์ที่จําเลยลงข้อความตอบผู้มาแสดงความคิดเห็นว่า “ยุค ร.9 ใช้ 112 กันอย่างบ้าคลั่งเหมือนกันครับ บ้าคลั่งกว่ายุค ร.10 อีก ยุค ร.10 ยังมีช่วงระงับใช้…” แสดงให้เห็นเจตนาของจําเลยว่ามุ่งประสงค์ต่อพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน

    ทั้งพยานโจทก์หลายปากต่างก็เบิกความทํานองเดียวกันว่า เมื่อเห็นข้อความดังกล่าวมีความมุ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาจึงรับฟังได้ว่า รูปภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์ดังกล่าวหมายถึง พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน

    ส่วนที่จําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ หรือไม่นั้น

    เห็นว่า นอกจากการที่จําเลยโพสต์รูปภาพของจําเลยสวมเสื้อคอกลมสีขาว มีข้อความสกรีนตัวหนังสืออักษรสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ยังปรากฏว่าจําเลยมีการโพสต์ข้อความชักชวนให้คนมาซื้อเสื้อที่มีข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจําเลยมีเจตนาสบประมาท ลดคุณค่าพระเกียรติยศ อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน

    ส่วนที่จําเลยโพสต์อีก 2 ข้อความนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล โดยไม่ต้องรับผิดชอบโดยพระองค์เอง ดังนี้ การที่จําเลยโพสต์ข้อความเรียกร้องดังกล่าว พระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถจะกระทําได้

    เมื่อพิจารณาถ้อยคําที่จําเลยโพสต์ดังกล่าว ปรากฏมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทํานองเกลียดชัง ด่าทอ จึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเมื่อจําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความโดยนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)

    ส่วนการกระทําของจําเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่จําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความดังกล่าวก็เพื่อต้องการที่จะให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้

    ส่วนเสื้อยืดของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจําเลยได้ใช้สื่อความหมายในการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงให้ริบ

    ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

    พิพากษาแก้เป็นว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด รวม 3 กระทง จําคุกกระทงละ 3 ปี ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจําคุกกระทงละ 2 ปี รวมจําคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น

    องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงชื่อท้ายคำพิพากษาประกอบด้วย ยงยศ คุปตะวาทิน, เดชะ วีระเดช และวิรัตน์ สีดาคุณ
    .
    หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตำรวจประจำศาลได้นำกุญแจมือมาใส่ทิวากรและควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ซึ่งผลของคำพิพากษาทำให้ทิวากรจะถูกควบคุมตัวไปขังระหว่างฎีกาที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เนื่องจากเขาแจ้งความประสงค์ไว้ว่ายังไม่ต้องการให้ยื่นประกัน

    ทั้งนี้ ในคดีทางการเมืองจากการแสดงออกและการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทิวากรเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองคนแรกของจังหวัดขอนแก่น

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีหมายเลขดำที่ 416/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 1579/2567 ลงวันที่ 26 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69113)
  • ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ทนายความเข้ายื่นประกันทิวากร หลังศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาจำคุก 6 ปี ระบุเหตุผลว่า คดีของทิวากรยังไม่ถึงที่สุด จำเลยยังประสงค์จะฎีกาคำพิพากษา และยังต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นตำรวจจนถึงชั้นศาล

    ต่อมา ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยนัดทนายความฟังคำสั่งในบ่ายวันรุ่งขึ้น

    วันที่ 30 ส.ค. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันทิวากร ระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

    ผลของคำสั่งทำให้ทิวากรยังถูกคุมขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังถูกขังมาแล้ว 17 วัน และเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา ลงวันที่ 30 ส.ค. 2567)
  • นายประกันเข้ายื่นประกันทิวากรระหว่างฎีกาเป็นครั้งที่ 2 วางเงินประกัน 500,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลความจำเป็นในการออกมาดูแลพ่อแม่ที่ชรา มีโรคประจำตัว และพิการ ช่วยตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวก

    นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ประกัน "ไผ่" จตุภัทร์ และ "ครูใหญ่" อรรถพล ระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ของศาลจังหวัดภูเขียว โดยระบุเหตุผลว่า ในระหว่างปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาทั้งสองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งทิวากรจำเลยในคดีนี้ก็ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีในระหว่างพิจารณาคดีที่ผ่านมา

    ต่อมา ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยนัดนายประกันฟังคำสั่งในบ่ายวันรุ่งขึ้น โดยวันที่ 24 ส.ค. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันทิวากรอีกครั้ง ระบุคำสั่งสั้น ๆ ว่า “พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ขอประกันแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา ลงวันที่ 24 ก.ย. 2567)
  • นายประกันยื่นประกันทิวากรระหว่างฎีกาครั้งที่ 3 อ้างประวัติการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ต้องรักษาต่อเนื่อง และคำสั่งให้ประกันชั้นฎีกาในคดี 112 ของ "บอส" ฉัตรมงคล วัลลีย์ รวมถึงเสนอเงื่อนไขรายงานตัวต่อคุมประพฤติหรือคลีนิกจิตสังคม ศาลจังหวัดขอนแก่นส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณาตามเคย

    วันที่ 15 พ.ย. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันทิวากรเหมือนเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ขอประกันแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา ลงวันที่ 15 พ.ย. 2567)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ทิวากร วิถีตน

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ทิวากร วิถีตน

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วรวุฒิ เลาลัคนา
  2. ธวัชชัย หมื่นนาวี

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 29-09-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ทิวากร วิถีตน

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ยงยศ คุปตะวาทิน
  2. เดชะ วีระเดช
  3. วิรัตน์ สีดาคุณ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 14-08-2024

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ทิวากร วิถีตน

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์