สรุปความสำคัญ

20 ส.ค. 2563 กลุ่มขอนแก่นพอกันที นัดชุมนุมใหญ่ “จัดม็อบไล่ แม่งเลย" ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก รวมถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับในวันที่กลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่นเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ก็ได้มีการจัดขบวนรณรงค์ข้อเรียกร้องดังกล่าวในตัวเมืองขอนแก่น ภายหลังตำรวจได้ดำเนินคดีพริษฐ์ในข้อหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ และยุยงปลุกปั่น รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีก 5 ข้อหา จตุภัทร์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 20 ส.ค. 2563 ด้วย ก็ถูกดำเนินคดีข้อหา ยุยงปลุกปั่น และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้แต่อย่างใด

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น กลุ่มขอนแก่นพอกันที นัดชุมนุมใหญ่ “จัดม็อบไล่ แม่งเลย" เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ยุบสภา 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.หยุดคุกคามประชาชน

ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ประชาชนเริ่มทยอยมาที่ชุมนุม โดยมีตัวแทนจากนักเรียนมัธยม อาชีวะ และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ขึ้นปราศรัยในประเด็นต่างๆ เช่น การปฏิรูปทหาร ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง อย่างเข้มงวด โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วบริเวณของการจัดตั้งเวที

ช่วงค่ำ ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจนล้นลานอนุสาวรีย์ลงถนนทำให้ผู้จัดกิจกรรมตัดสินใจปิดถนนศรีจันทร์ทั้ง 4 เลน โดยการยกแผงเหล็กของตำรวจมากั้นไม่ให้รถผ่าน เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรถเครื่องเสียงมาจอดด้านหลังเวที และตั้งแถวด้านหน้าแผงเหล็กที่ปิดถนนเ ผชิญหน้าทีมการ์ดของการชุมนุม ต่อมา รอง ผกก.ได้อ่านประกาศว่า การชุมนุมไม่เป็นไปโดยสงบ เนื่องจากมีการปิดถนนกีดขวางการจราจร ขอให้ผู้จัดแก้ไขการชุมนุม

ก่อนจบการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขึ้นปราศรัยถึงข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยพบโดรนของตำรวจ 1 ลำ บินเหนือบริเวณที่ชุมนุม

ทั้งนี้ ผู้จัดกิจกรรมได้แจ้งการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 โดยตำรวจได้สรุปสาระสำคัญส่งกลับในวันต่อมา ที่สำคัญมีการกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมว่า “การแสดงแผ่นป้ายต้องไม่มีลักษณะหรือข้อความที่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช.” ซึ่งมีข้อสังเกตว่า 1. พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ให้อำนาจเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.นี้กำกับเนื้อหาของการชุมนุม 2. คสช.สิ้นสภาพไปแล้วนับตั้งแต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2562 เข้ารับตำแหน่ง

(อ้างอิง: https://www.facebook.com/theisaander/photos/a.2221809098148453/2650855511910474)

10 ก.ย. 2563 “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ปิยดา มาเทียน, ธนภณ เดิมทำรัมย์, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษา/นักกิจกรรมรวม 6 คน ซึ่งถูก สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่งเดินขบวนจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มุ่งหน้าสู่ สภ. เมืองขอนแก่น เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ขบวนดังกล่าวนอกจากมีการถือป้าย 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก และ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังมีการปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนชาวขอนแก่นเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้ปราศรัยระบุว่า การเดินขบวนวันนี้มีการแจ้งการชุมนุมผ่านหน้าเพจ “ขอนแก่นพอกันที” ซึ่งหากมีคนเรียกร้องให้ย้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ได้ กลุ่มฯ ก็ขอแจ้งการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน

ขบวนรณรงค์หยุดหน้า ร.ร. ขอนแก่นวิทยายน เชิญชวนให้นักเรียนในโรงเรียนชู 3 นิ้ว โดยมีนักเรียนร่วมปราศรัยถึงกรณีการคุกคามนักเรียนด้วยการออกหมายเรียกที่จังหวัดราชบุรี จากนั้น ขบวนเคลื่อนไปต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หยุดรณรงค์หน้าโรงเรียนกัลยาณวัตร ก่อนถึง สภ.เมืองขอนแก่น ในเวลาประมาณ 10.00 น.

ด้านหน้าทางเข้า สภ.เมืองขอนแก่น ตำรวจวางแผงเหล็กกั้นตลอดแนว พร้อมวางกำลังตำรวจในเครื่องแบบทั้งชายและหญิงราว 30 นาย ผู้ได้รับหมายเรียกทั้งหกขึ้นกล่าวปราศรัยทีละคน ก่อนร่วมกันเผาหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/21277)

หลังการชุมนุมและรณรงค์ 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก รวมถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พริษฐ์ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ และยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีก 5 ข้อหา จตุภัทร์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 20 ส.ค. 2563 ด้วย ก็ถูกดำเนินคดีข้อหา ยุยงปลุกปั่น และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม โดยพนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่นที่ บก.ตชด.ภาค 1 และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และยังมีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้แต่อย่างใด

ภูมิหลัง

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และ NDM อีสาน ทำกิจกรรมปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น จนถึงเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารและ คสช. มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 6 คดี อีกทั้งถูกจำคุกในคดี ม.112 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่ง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์