ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.969/2565

ผู้กล่าวหา
  • สุพัฒน์ ปัสสาคร อดีตประธานชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น (ประชาชน)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.969/2565

ผู้กล่าวหา
  • สุพัฒน์ ปัสสาคร อดีตประธานชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.969/2565
ผู้กล่าวหา
  • สุพัฒน์ ปัสสาคร อดีตประธานชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.969/2565
ผู้กล่าวหา
  • สุพัฒน์ ปัสสาคร อดีตประธานชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น

ความสำคัญของคดี

20 ส.ค. 2563 กลุ่มขอนแก่นพอกันที นัดชุมนุมใหญ่ “จัดม็อบไล่ แม่งเลย" ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก รวมถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับในวันที่ 10 ก.ย. 2563 ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่นเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ก็ได้มีการจัดขบวนรณรงค์ข้อเรียกร้องดังกล่าวในตัวเมืองขอนแก่น ภายหลังตำรวจได้ดำเนินคดีพริษฐ์ในข้อหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ และยุยงปลุกปั่น รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีก 5 ข้อหา ส่วนจตุภัทร์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 20 ส.ค. 2563 ด้วย ถูกดำเนินคดีข้อหา ยุยงปลุกปั่น และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้แต่อย่างใด

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พ.ต.ท.วัฒนพงศ์ จันทระ พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น บรรยายการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นความผิด ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 พริษฐ์ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยได้กล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงให้กับประชาชนจํานวนมากที่เข้าฟังการปราศรัย และที่ฟังผ่านการถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “ขอนแก่นพอกันที” สรุปใจความได้ว่า เป็นการกล่าวใส่ความพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ว่าเซ็นรับรองการรัฐประหาร และใช้ภาษีของประชาชนตามอําเภอใจ ทําให้ประชาชนที่ได้ฟังมีความรู้สึกในทางลบ โดยประการที่ทําให้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

2. ตามวันเวลาดังกล่าว พริษฐ์ได้ร่วมกันกับประชาชนอีกหลายคน จัดให้มีการชุมนุมรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน อันเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

3. ต่อมา วันที่ 10 ก.ย. 2563 พริษฐ์และจตุภัทร์ได้ร่วมกันกับประชาชนอีกหลายคน จัดให้มีการรวมตัวกันตั้งขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน และเดินขบวนไปตามถนนมุ่งหน้าไปที่บริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ปราศรัยเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

4. เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 พริษฐ์และจตุภัทร์ได้ร่วมกันเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรมทางการเมืองที่จังหวัดขอนแก่น ทั้ง “จัดม็อบไล่แม่งเลย” และ “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” มีการประกาศนัดหมายเชิญชวนประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยจําเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนได้จัดทําป้ายผ้า จํานวน 17 แผ่น มีข้อความดังนี้ 1.มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง, 2.ยุบสภาภายใต้กติกาใหม่, 3.ไม่เอารัฐประหาร, 4.ไม่เอา รบ.แห่งชาติ, 5.กษัตริย์อยู่ใต้ รธน., 6.ยกเลิก รธน.ม.6, 7.ยกเลิก ม.112, 8.ควบคุมตรวจสอบทรัพย์สินกษัตริย์, 9.ลดงบกษัตริย์, 10.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์, 11.ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล, 12.ยกเลิกราชอํานาจในการแสดงความเห็นทางการเมือง, 13.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว, 14.หยุดคุกคามประชาชน, 15.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, 16.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, 17.ยกเลิกรับรอง รปห.

จากนั้นมีการชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ และเดินแห่ป้ายข้อความดังกล่าวไปตามถนน พร้อมกับกล่าวปราศรัยทางเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการปกครองแผ่นดินในความหมายตามป้าย เมื่อถึงหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ได้ร่วมกันนําป้ายติดที่ตัวอาคาร แล้วผลัดเปลี่ยนกันกล่าวปราศรัย

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ตามรัฐธรมนูญบัญญัติไว้ การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การกล่าวปราศรัยของจําเลยทั้งสองตามความหมายในป้ายผ้า ซึ่งมุ่งหมายให้ยกเลิกหรือริดรอนพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายโดยตรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

และการที่จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันชักชวนและกล่าวปราศรัยให้ประชาชนริดรอนพระราชอํานาจ พร้อมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว และมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจํานวนมากประมาณ 50 คน กับมีประชาชนที่ได้ยินการปราศรัยจากเครื่องขยายเสียงของจําเลยทั้งสอง ถือเป็นการร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำ อ.969/2565 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 11.00 น. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เดินทางเข้าไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังในระหว่างสอบสวนในคดี #คณะราษฎรอีสาน และชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร มาตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2563 หลังถูกสลายการชุมนุมที่หน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถูกจับกุมไป บก.ตชด. เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563

    พ.ต.ท.สุพรรณ สุขพิไลกุล รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น ได้แจ้งจตุภัทร์ถึงการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 จตุภัทร์ได้ชักชวนประชาชนทั่วไปผ่านสื่อโซเชียลให้เข้าร่วมกิจกรรม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้มีนักศึกษานักเรียนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมเป็นจำนวนมากโดยผู้ต้องหาเป็นแกนนำไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในการชุมนุมมีพริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งในขณะนั้นผู้ต้องหาอยู่ด้วยกัน

    ต่อมาวันที่ 10 ก.ย. 2563 ผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอื่นก่อนหน้านี้ได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ได้ร่วมกันชักชวนประชาชนผ่านทางสื่อโซเชียลให้เข้าร่วมกิจกรรม “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปตามถนนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นจนถึงลานหน้า สภ. เมืองขอนแก่น โดยในการเดินขบวนมีการจัดทำและถือแผ่นป้ายข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ มีการกล่าวปราศรัยให้รัฐบาลลาออก และมีการนำแผ่นป้ายดังกล่าวมาเปิดเวทีปราศรัยและทำการไลฟ์สดให้เป็นที่ปรากฏต่อประชาชน โดยในการเดินขบวนมีลักษณะปิดเส้นทาง ประชาชนโดยทั่วไปไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต และผู้ต้องหาไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง

    การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ (ม.116), ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมมีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กันง่าย ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ), ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ), ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ) และร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร (พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ)

    จตุภัทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่เซ็นชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

    เช้าวันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ยังได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์ในคดีเดียวกับจตุภัทร์ รวม 6 ข้อหา เช่นกัน ในขณะพริษฐ์ถูกอายัดตัวมาที่ บก.ตชด.ภาค 1 โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 21 ต.ค. 2563, https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3354584814591349 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3354599241256573)
  • ระหว่างพริษฐ์และเพื่อนนักกิจกรรมรวม 8 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน จากการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา พ.ต.ท.วิสุทธิ์ เกื้อกูล สารวัตรสอบสวน, พ.ต.ท.จตุเรศ ดรอ่อนเบ้า สารวัตรสอบสวน และ ร.ต.ท.สุกฤษฏ์ ฤทธิรน รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมพริษฐ์ในคดีนี้ด้วย โดยแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาพริษฐ์ว่า “ผู้ต้องหาได้ร่วมกับพวก คบคิดและตกลงให้ผู้กระทำความผิดอื่นซึ่งยังไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ใด ทำหน้าที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือ) ล็อคอินเข้าระบบอินเตอร์เน็ตแล้วเข้าไปทำการถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) การปราศรัยของผู้ต้องหา ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ขอนแก่นพอกันที” โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะหรือที่บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและเปิดใช้งานเฟซบุ๊ก และเป็นผู้ติดตามหน้าเพจ “ขอนแก่นพอกันที” สามารถพบและฟังปราศรัยผ่านเฟซบุ๊กได้

    “การปราศรัยดังกล่าวมีประชาชนทั่วไปติดตามและฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมาก และในการปราศรัยของผู้ต้องหา มีถ้อยคำปรากฏตามบันทึกการถอดคำปราศรัยโดย ส.ต.อ.สุทธิเทพ สายทอง จำนวน 6 แผ่น ที่พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ต้องหาตรวจสอบและอ่านดูข้อความดังกล่าวโดยตลอดแล้ว เป็นถ้อยคำที่มีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมขนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร) และ รัชการที่ 10 (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)”

    ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ไม่ได้มีการระบุถ้อยคำที่กล่าวหาว่าพริษฐ์ปราศรัยและเข้าข่ายมาตรา 112 เอาไว้ พนักงานสอบสวนเพียงแต่นำเอกสารบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของพริษฐ์ทั้งหมดมาให้ตรวจสอบ โดยไม่ได้ระบุว่าถ้อยคำใดเข้าข่ายความผิดดังกล่าว

    พริษฐ์ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และปฏิเสธการลงลายมือในบันทึกข้อกล่าวหา แต่ได้เขียนข้อความว่า “ยกเลิก 112 ได้แล้ว lll” ในช่องลงลายมือชื่อผู้ต้องหาแทน

    พนักงานสอบสวนได้นัดหมายพริษฐ์ให้ไปรายงานตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 2 ก.พ. 64 โดยไม่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.บางเขน ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24430)
  • ทนายความส่งหนังสือขอเลื่อนนัดรายงานตัวของพริษฐ์ออกไป เนื่องจากพริษฐ์ติดนัดฟังคำสั่งอัยการศาลแขวงปทุมวันในคดีอื่น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการเดินทางจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดหรือแพร่เชื้อ ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนแจ้งว่า ยังทำสำนวนการสอบสวนไม่เสร็จ จึงยังไม่กำหนดวันนัดครั้งใหม่ หากสำนวนเสร็จแล้วพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกมาอีกครั้ง
  • เวลา 13.00 น. ในระหว่างที่ “ไผ่” จตุภัทร์ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาในนัดตรวจพยานหลักฐานคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ศาลอาญา พ.ต.ท.จตุเรศ ดรอ่อนเบ้า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในคดีนี้อีก

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ในคดีว่า ระหว่างวันที่ 20 ส.ค. - 10 ก.ย. 2563 จตุภัทร์และพริษฐ์ เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวการเมืองทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งกิจกรรมในวันที่ 20 ส.ค. 2563 “จัดม็อบไม่แม่งเลย” และกิจกรรมในวันที่ 10 ก.ย. 2563 “หมายที่ไหน มีม็อบที่นั่น”

    จตุภัทร์และพริษฐ์เป็นแกนนำผู้ชุมนุม จัดประกาศเชิญชวนนักศึกษาประชาชนผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ขอนแก่นพอกันที” เพื่อให้เข้าร่วมกิจกรรม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 20 ส.ค. 2563 โดยพริษฐ์ปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อหาไปในคดีเดียวกัน ก่อนหน้าแล้ว)

    ต่อมาวันที่ 10 ก.ย. 2563 จตุภัทร์และพริษฐ์กับพวกได้จัดทำป้ายผ้าสีขาวจำนวน 17 แผ่น เขียนข้อความเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 6, ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, ให้ยกเลิกมาตรา 112, ให้มีการควบคุมตรวจสอบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, ให้ลดงบกษัตริย์, ให้ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์, ให้ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล, ให้ยกเลิกราชอำนาจในการแสดงความเห็นทางการเมือง, ให้ยกเลิกรับรองรัฐประหาร โดยมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในระหว่างเดินขบวนมีการกางป้ายผ้าที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตามหลักรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ได้รับรองและคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดไม่ได้

    ทั้งยังมีการกล่าวปราศรัยขยายความสนับสนุนข้อเท็จจริง สอดคล้องกับข้อความที่เขียนไว้ในแผ่นป้าย ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งยังเป็นการประกาศชักชวนประชาชนเข้าร่วมสนับสนุนให้ลิดรอนพระราชอำนาจ พร้อมทั้งแก้ไข ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผ่านการแสดงออกด้วยการเดินขบวนในลักษณะปราศรัยในทางสาธารณะ ซึ่งย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ต่อกฎหมายสูงสุดและสถาบันกษัตริย์ หากมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรและเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร์และพริษฐ์เพิ่มเติมว่า "ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 วรรค 3 โดยก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 วรรค 2 "เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ" เท่านั้น

    หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแล้ว ทั้งจตุภัทร์และพริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยพริษฐ์ไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ศาลอาญา ลงวันที่ 8 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28160)
  • “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักกิจกรรมกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” และ “ราษฎรโขงชีมูล” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” และ “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” ในวันที่ 20 ส.ค. และ 10 ก.ย. 2563 ตามที่ สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียก โดยหมายเรียกระบุว่า เป็นคดีที่มี พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกเป็นผู้ต้องหา และมี สุพัฒน์ ปัสสาคร เป็นผู้กล่าวหา

    พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้แจ้งข้อกล่าวหา “ครูใหญ่” อรรถพล และ “เซฟ” วชิรวิทย์ บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2563 อรรถพลและวชิรวิทย์กับพวก ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ทั้งนี้ มีพยานหลักฐานปรากฏว่า ทั้งสองกับพวกได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และเครื่องขยายเสียงประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมโจมตีการทํางานของรัฐบาลและเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทําให้มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก อันมีลักษณะเป็นการมั่วสุมในสถานที่แออัด

    ทั้งมีพยานหลักฐานพบว่ามีการเคลื่อนผู้ชุมนุมลงจากจุดที่มีการแจ้งการชุมนุมไว้ ไปร่วมกันชุมนุมปิดถนนศรีจันทร์ซึ่งเป็นทางสาธารณะและมีสภาพแออัด ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันเป็นการชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 13) ข้อ 1, ข้อ 5 และประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง ผ่อนคลายมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาฯ (ฉบับที่ 18)

    ทั้งในเวลาต่อมา มีพยานหลักฐานพบว่าในการชุมนุมดังกล่าว อรรถพลและวชิรวิทย์กับพวกและผู้ชุมนุม เป็นจํานวนมากได้มีการร่วมกันชุมนุมบนพื้นถนนศรีจันทร์ ลักษณะปิดเส้นทางการจราจรถนนศรีจันทร์ ซึ่งทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้เส้นทางจราจรได้ตามปกติ อันเป็นการกีดขวางการจราจรที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร

    และในวันที่ 10 ก.ย. 2563 อรรถพลและวชิรวิทย์กับพวกยังได้จัดการชุมนุมสาธารณะซึ่งใช้ชื่อกิจกรรมชุมนุมว่า “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” บริเวณสวนรัชดานุสรณ์ ต่อเนื่องถนนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นถึงที่ทําการ สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ แต่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง โดยมีการประกาศเชิญชวนทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และในขณะจัดกิจกรรมมีการไลฟ์สด ทําให้มีประชาชนจํานวนกว่า 50 คน เข้าร่วม และเคลื่อนขบวนไปตามถนนในลักษณะปิดช่องทางเดินรถบางช่อง ทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้เส้นทางการจราจรได้ตามปกติ

    และเมื่อมาถึงบริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ได้มีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมในลักษณะเป็นการชุมนุมใน สถานที่แออัด โดยพบว่าไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นการชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 14) ข้อ 2 และประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง ผ่อนคลายมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาฯ (ฉบับที่ 19)

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่า การกระทําของอรรถพลและวชิรวิทย์เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมหรือทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, กระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันวาง ตั้ง หรือยื่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร”

    อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ประกอบข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114
    พนักงานสอบสวนยังระบุอีกว่า ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งกระทําทั้งในวันที่ 20 ส.ค. และ 10 ก.ย. 2563 ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เป็นความผิดกรรมเดียว คือในการชุมนุมวันที่ 10 ก.ย. 2563

    อรรถพลและวชิรวิทย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนนัดให้มาพบเพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 เวลา 14.00 น. ซึ่งยังไม่ครบกำหนดที่ทั้งสองจะยื่นคำให้การ แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่า เป็นการส่งให้ทันผัดฟ้องต่อศาลเท่านั้น หากอรรถพลและวชิรวิทย์ยื่นคำให้การก็ส่งตามหลังมายังอัยการได้

    ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากการชุมนุมทั้งสองครั้งในคดีเดียวกันนี้ ในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา 116(2) และข้อหาอื่นๆ เช่นเดียวกับที่แจ้งอรรถพลและวชิรวิทย์ รวมทั้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ขณะทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่นที่ บก.ตชด.ภาค 1 และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อมา ยังมีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติมกับพริษฐ์ และแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116(3) เพิ่มเติมกับทั้งพริษฐ์และจตุภัทร์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา อีกด้วย

    คดีนี้นับเป็นการถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองคดีที่ 6 ของวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 คดี ที่เหลือเป็นคดีตาม พ.ร.บ.ธง และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนอรรถพล บัวพัฒน์ ถูกดำเนินคดีเป็นคดีที่ 20 โดยมี 1 คดีเป็นคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมันใน #ม็อบ26ตุลา

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ลงวันที่ 27 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30185)
  • ทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนคดี หลังพนักงานสอบสวนมีหมายเรียกนัดจตุภัทร์และพริษฐ์มาเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันนี้ ชี้แจงว่าจตุภัทร์ถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวชั้นฝากขังในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง และพริษฐ์ถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวชั้นฝากขังในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด.
  • พริษฐ์และจตุภัทร์เดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน หลังมีหมายเรียกมาส่งตัวให้อัยการในวันที่ 17 มี.ค. 2565 แต่ทนายความได้ส่งหนังสือขอเลื่อนมาในวันนี้ หลังอัยการรับตัวทั้งสองพร้อมสำนวนการสอบสวน ได้นัดมาฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 5 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปวันที่ 6 มิ.ย. 2565
  • เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ถึงพริษฐ์และทนายความ ว่าจะส่งฟ้องคดีของพริษฐ์และจตุภัทร์ในวันเดียวกันนี้ โดยที่ไม่มีการแจ้งมาก่อนหน้า ทนายความจึงทำหนังสือขอเลื่อนส่งฟ้องไปในวันที่ 29 ก.ย. 2565 เวลา 13.00 น.
  • พริษฐ์และจตุภัทร์เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมาตามนัดส่งฟ้อง ประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นนำคำฟ้องมายื่นต่อศาล ก่อนที่ตำรวจศาลจะพาพริษฐ์และจตุภัทร์ไปที่ห้องควบคุมตัวที่อยู่ใต้ถุนศาล ระหว่างที่ทนายความและแม่ของพริษฐ์เตรียมเอกสารสำหรับยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

    ราว 14.20 น. พริษฐ์แจ้งว่าเขาและจตุภัทร์ถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ทนายความและแม่ของพริษฐ์จึงตามไป ในห้องพิจารณาคดียังมี ทิวากร วิถีตน จำเลยคดี 112 ที่ศาลเพิ่งอ่านคำพิพากษายกฟ้องไปตอนช่วงเช้าวันเดียวกัน มาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสองอีกด้วย

    ประดิษฐ์ พงษ์สุวรรณ์ ผู้พิพากษา อ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟัง จากนั้นสอบถามว่า ทั้งสองจะให้การอย่างไร พริษฐ์และจตุภัทร์ยืนยันให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี โดยจะแต่งตั้งทนายความมาในนัดหน้า จากนั้นศาลจึงหารือกับทั้งอัยการและฝ่ายจำเลยในการกำหนดวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งระบุว่าต้องเป็นวันจันทร์

    นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ แถลงกับศาลว่า ด้วยทั้งตัวพริษฐ์และจตุภัทร์ต่างถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอยู่หลายคดี โดยในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน มีนัดสืบพยานที่ศาลในกรุงเทพฯ จำนวนหลายคดี โดยมากจะเริ่มในวันอังคาร หากมาศาลนี้ในวันจันทร์ แล้วต้องเดินทางกลับไปกรุงเทพฯ ด้วยรถโดยสารในช่วงกลางคืนก็จะไม่สะดวกต่อจำเลยทั้งสอง เนื่องจากทั้งสองยังติด EM ตามเงื่อนไขประกันของศาลอื่น ทำให้ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ จึงขอให้ศาลนัดพิจารณาคดีนี้นานกว่าปกติ รวมทั้งนัดสอบคำให้การในเดือนธันวาคม ศาลจึงนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ธ.ค. 2565

    เมื่อทนายความสอบถามถึงการขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลกล่าวว่าจะสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาเลย ต่อมา ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งระบุคำสั่งในตอนท้ายรายงานว่า อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยให้ทำสัญญาประกันวงเงิน 50,000 บาท แต่ไม่ต้องวางหลักประกัน

    หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ตำรวจประจำศาลยังนำตัวพริษฐ์และจตุภัทร์กลับลงไปที่ห้องขัง ก่อนที่ทั้งสองจะได้รับการปล่อยตัวราว 15.30 น. และเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในคืนนั้น

    คำฟ้องของ พ.ต.ท.วัฒนพงศ์ จันทระ พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น ระบุฐานความผิดที่ฟ้องพริษฐ์และจตุภัทร์ว่า ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมและร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกัน “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวกฎหมายอาญา มาตรา 116 และยังฟ้องพริษฐ์ในอีกฐานความผิด คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ หลังวันเกิดเหตุในคดีเกินกว่า 1 ปี ทำให้ข้อหาที่มีเพียงโทษปรับหมดอายุความไปแล้ว รวมทั้งอัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในบางข้อหา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำ อ.969/2565 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49010)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์