สรุปความสำคัญ

20 ธ.ค. 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเชิญชวนประชาชนแต่งชุดครอปท็อปไปเลือกตั้ง อบจ. และเดินสยามพารากอน ในกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เพื่อรณรงค์ “ยกเลิก112” และยืนยันว่าสวมชุดครอปท็อป ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังสายชล (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 เพียงเพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนตัวเอง โดยวันดังกล่าวเพนกวิน, รุ้ง, ไมค์ และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ได้แต่งกายชุดครอปท็อปไปเดินภายในสยามพารากอน บางคนเขียนข้อความบนตัวเองด้วย หลังกิจกรรม ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับนักกิจกรรมรวม 7 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี 2 คน

กรณีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ เปิดช่องให้ใครก็ได้ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ซึ่งทำให้มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือให้คนบางกลุ่มใช้กลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่เห็นต่างทางการเมือง โดยการสร้างภาระทางคดีให้

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก
    • ธนกร (สงวนนามสกุล)
    • เบนจา อะปัญ
    • ณัฐกรณ์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ภวัต หิรัณย์ภณ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 ธ.ค. 2563 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เวลาประมาณ 17.00 น. "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ พร้อมด้วย "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร 2563 ในฐานะแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมทั้งเพื่อนในกลุ่มรวมทั้งหมด 4 คน สวมชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน โดยมีประชาชนร่วมถ่ายภาพ และให้กำลังใจด้วยการชูสามนิ้ว ขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักติดตามทำข่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ คอยติดตามกลุ่มของเพนกวินตลอดการเดินภายในและนอกห้างฯ

เพนกวินกล่าวถึงกิจกรรมเชิญชวนแต่งชุดครอปท็อป ไปเลือกตั้ง อบจ. และเดินสยามพารากอนว่า เพื่อยืนยันว่าสวมชุดครอปท็อป ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากมีกรณีสายชล (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี สวมชุดครอปท็อป พร้อมเขียนข้อความบนตัวเอง ร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นที่ถนนสีลม เมื่อเดือนวันที่ 29 ต.ค. 2563 แล้วตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากไม่ออกมาปกป้องเยาวชนคนดังกล่าว ก็จะไม่มีใครปลอดภัย หากสวมชุดลักษณะนี้ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีผู้คนสวมชุดครอปท็อปเดินในห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก

หลังจากกิจกรรมในวันดังกล่าวมีผู้ร่วมกิจกรรม ทั้งนักศึกษา ประชาชน เยาวชน ถูกออกหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 รวม 6 ราย

20 ม.ค. 2564 ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, “ไมค์” ภานุพงศ์ จาดนอก, ณัฐ (นามสมมติ) และธนกร (สงวนนามสกุล) ซึ่ง 2 รายสุดท้ายเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ทั้งหมดให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการต้นเดือน มี.ค. 2564

คดีนี้มีประชาชนคือ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งหก

การแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้แยกเป็น 2 คดี คือ เยาวชน 2 ราย และนักกิจกรรม 4 ราย พ.ต.ท.เจริญศักดิ์ จงอิทธิ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ในฐานะพนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในทั้ง 2 คดี เหมือนกัน ก่อนแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งหกว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จ พนักงานสอบสวนไม่มีการควบคุมตัว

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 20 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25370)

8 ก.พ. 2564 เวลา 10.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน “ป๊อกกี้” ภวัต หิรัณย์ภณ เดินทางเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาอีกราย หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ภวัตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ลงข้อความ “ขอให้มีความเป็นคน” แทน พนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 1 มี.ค. 64

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 8 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25788)

ภูมิหลัง

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
    กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
  • เบนจา อะปัญ
    สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผันตัวจากเยาวชนที่สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวเมื่อเริ่มต้นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/24286)
  • ธนกร (สงวนนามสกุล)
    นักกิจกรรม LGBTQ+ เยาวชน เพชรแทบจะไม่ได้แตกต่างไปจากเด็ก ๆ คนอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันที่เริ่มสะสมความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลผ่านการติดตามข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย ก่อนแปรเปลี่ยนจากสเตตัสเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เป็นการลงถนนครั้งแรกในฐานะผู้ชุมนุมภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และเริ่มการปราศรัยครั้งแรกในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่หน้า สน.บางเขน ในระหว่างการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทนายอานนท์และไมค์ ระยอง ตามมาด้วยการปราศรัยอีกหลายสิบเวทีนับไม่ถ้วน

    อ่านเรื่องราวของเพชรเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/23805

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์