สรุปความสำคัญ

สุทธิเทพ ถูกศาลอาญาออกหมายจับในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ก่อนถูกตำรวจกองปราบและ ปอท.เข้าจับกุมจากที่ทำงาน นำตัวไปดำเนินคดี สุทธิเทพถูกกระทรวงดิจิตอลฯ กล่าวหาว่า โพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “คณะประชาชนปลดแอก” อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอาญากำหนดเงื่อนไข “ห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์ดูหมิ่นผู้ใด”

นับตั้งแต่มีการนำมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้กับผู้ที่แสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา คดีนี้นับเป็นคดีที่ 8 ที่กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้แจ้งความ และเป็นกรณีที่ 13 ที่ศาลออกหมายจับ โดยกรณีนี้ ปอท.ได้ออกหมายเรียกก่อน แต่หมายส่งไปที่บ้านซึ่งสุทธิเทพไม่ได้อยู่ ทำให้เขาไม่ได้รับหมายและไม่ได้ไปตามหมายเรียก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สุทธิเทพ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 เม.ย. 2564 เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ต.พิเชต ชมมณฑา สว.กก.2 กองบังคับการปราบปราม และ พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร จากกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท.) เข้าจับกุมสุทธิเทพในห้างสรรพสินค้าย่านรามอินทรา ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 498/2564 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2564 ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนควบคุมตัวไปที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (กก.2 บก.ป.) เพื่อทำบันทึกจับกุมและบันทึกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวสุทธิเทพมาที่ กก.3 บก.ปอท. เพื่อแจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้แจ้งความ สุทธิเทพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

10 เม.ย. 2564 พนักงานสอบสวนนำตัวสุทธิเทพไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัว ระหว่างสอบสวน กำหนดวงเงินประกัน 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์ดูหมิ่นผู้ใด”

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 คดีนี้นับเป็นคดีที่ 8 ที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และเป็นกรณีที่ 13 ที่ศาลออกหมายจับ

(อ้างอิง: หมายจับ ศาลอาญา ที่ 498/2564 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28206)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์