สรุปความสำคัญ

พิพัทธ์ เด็กหนุ่มชาวพิษณุโลก ซึ่งไปทำงานอยู่ลพบุรี ถูกดำเนินคดีที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ โดยถูกประชาชนใน จ.สมุทรปราการ แจ้งความให้ดำเนินคดี กล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู้ระบบคอมพิเวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 และพระราชโอรส พร้อมข้อความบนภาพในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563

พิพัทธ์ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี โดยใช้เงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกันต่อศาล แต่เขาต้องมีภาระในการเดินทางจากลพบุรีมาศาลจังหวัดสมุทรปราการหลายครั้งกว่าคดีจะสิ้นสุด

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พิพัทธ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 เม.ย. 2564 พิพัทธ์เดินทางจากลพบุรีเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตามมาตรา 14(3) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากเหตุที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพพร้อมข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว แจ้งพฤติการณ์แห่งคดีให้พิพัทธ์ทราบโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. อุราพร สุนทรพจน์ ได้เปิดเข้าดูกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส และพบผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ XXXX โพสต์ภาพ 1 ภาพ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ พร้อมข้อความ 2 ประโยค

อุราพรเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้น เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และรัชทายาท จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าว

จากนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหา แก่พิพัทธ์ ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)

พิพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แม้ว่าพิพัทธ์จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ไม่ได้ถูกจับ และบันทึกประจำวันระบุว่า หลังผู้ต้องหามารับทราบข้อหาแล้ว พนักงานสอบสวนได้ “ให้กลับบ้านพักไปโดยไม่มีการควบคุม” โดยพนักงานสอบสวนอ้างเหตุในการขอฝากขังว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง กลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 20 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28548)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์