ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.820/2564
แดง อ.348/2565

ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.820/2564
แดง อ.348/2565
ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล

ความสำคัญของคดี

วุฒิภัทร (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 27 ปี จากอยุธยา ถูกตำรวจ สภ.บางแก้ว สมุทรปราการ ดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยมีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ประชาชนชาวสมุทรปราการเป็นผู้แจ้งความ วุฒิภัทรถูกกล่าวหาว่า โพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กรณี 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิต โดยพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 ในชั้นสอบสวน วุฒิภัทรเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก โดยให้การรับสารภาพ และพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้

แม้ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดในคดีนี้ถูกตีความว่าพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ ไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 112 มุ่งให้ความคุ้มครอง แต่ในที่สุดพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการก็ยื่นฟ้องคดีต่อศาล ระบุว่า ทำให้รัชกาลปัจจุบันและสถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ร้อยตํารวจเอกชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ บรรยายฟ้องโดยสรุปดังนี้

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และกษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ รัชกาลที่ 10 ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ทางสายโลหิตต่อมาจากรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยการโพสต์ข้อความ 1 ข้อความ มีใจความตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่ 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

คําว่า “ในหลวง” ในข้อความที่จำเลยโพสต์สื่อความหมายถึงและเป็นการกล่าวใส่ความรัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่านเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.820/2564 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • วุฒิภัทรเดินทางจากอยุธยาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.กิ่งแก้ว สมุทรปราการ ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    ก่อนหน้านี้ วุฒิภัทรเคยได้รับหมายเรียกพยาน จาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ให้ไปให้ปากคำในวันที่ 2 พ.ย. 2563 ระบุว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ผู้กล่าวหาคือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ได้ตรวจสอบกับกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ทราบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวคือวุฒิภัทร จึงให้เขาไปพบเพื่อสอบปากคำเป็นพยานประกอบคดี วุฒิภัทรได้ไปพบตำรวจตามหมายเรียก โดยเขาคิดว่าไม่มีอะไร และเมื่อพบตำรวจเสร็จก็จะจบไป แต่กลับได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง

    พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว แจ้งข้อกล่าวหาวุฒิภัทรโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม รวม 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ระบุเหตุที่กล่าวหาว่า วุฒิภัทรได้คอมเมนต์ข้อความ 1 ข้อความ เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พาดพิงรัชกาลที่ 9 ลงในโพสต์ของกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563

    ชั้นสอบสวนวุฒิภัทรให้การรับสารภาพว่าเป็น เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นของตนและตนเป็นคนโพสต์ข้อความที่กล่าวหาจริง หลังสอบปากคำเสร็จพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวเขาไปในระหว่างสอบสวน ไม่ได้ควบคุมตัวไว้
  • วุฒิภัทรเดินทางไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัววุฒิภัทรพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ หลังอัยการรับตัวแล้วได้นัดหมายวุฒิภัทรฟังคำสั่งในวันที่ 19 ก.ค. 2564
  • เวลา 09.00 น. วุฒิภัทรเดินทางจากอยุธยาไปพบอัยการในนัดฟังคำสั่ง โดยพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งฟ้องคดี และยื่นฟ้องวุฒิภัทรต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัว เวลา 16.44 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย กำหนดวงเงินประกัน 150,000 บาท ทนายความจึงใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักทรัพย์ประกัน

    ศาลกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิต่อไปในวันที่ 30 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น. และนัดพร้อมในวันที่ 25 ต.ค. 64 เวลา 09.00 น.

    วุฒิภัทรเปิดเผยว่า คดีที่เกิดขึ้นเขาไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ ในตอนแรก เขาไปพบตำรวจทั้งตามหมายเรียกพยาน และหมายเรียกผู้ต้องหา โดยคิดว่าเรื่องจะจบ และไม่ได้ติดต่อทนายความไปด้วย แต่พอถูกแจ้งข้อกล่าวหาก็รู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตนไม่ได้มีเจตนาจะอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ นอกจากนั้นยังพบว่าอัตราโทษของข้อกล่าวหานี้รุนแรงเกินจริง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ถูกกล่าวหา

    วุฒิภัทรระบุว่า เมื่อถูกดำเนินคดีแบบนี้ก็สร้างความรู้สึกอึดอัดใจ และไม่รู้ว่าการต่อสู้จะนำไปสู่จุดไหน จะต้องติดคุกหรือไม่ ยังดีที่ครอบครัวของตนเข้าใจในเรื่องนี้ แต่ก็ยังกังวลว่าจะสร้างผลกระทบด้านต่างๆ ให้กับคนในครอบครัว

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้จำนวนอย่างน้อย 9 คดีแล้ว โดยทั้งหมดเป็นการไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายเคยได้รับหมายเรียกพยานมาก่อนแล้ว ก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564 นี้

    คดีของวุฒิภัทร ยังนับเป็นคดีที่ 5 ของ สภ.บางแก้ว ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งฟ้องคดี หลังก่อนหน้ามีการสั่งฟ้องคดีในข้อหาเดียวกันกับ พิพัทธ์, ธีรวัช, มีชัย และปุณณพัฒน์ ทั้งนี้ ทุกคดีที่กล่าวถึงล้วนเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวโทษทั้งสิ้น

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.820/2564 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32344)
  • วุฒิภัทรมาศาลตามนัด ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง ก่อนถามคำให้การเบื้องต้น วุฒิภัทรโดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามคำให้การที่ยื่นต่อศาล ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 09.00น.
  • โจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยาน 7 ปาก จำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และประสงค์จะสืบพยานรวม 3 ปาก นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1-2 มี.ค. 2565 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 3 มี.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.820/2564 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2564)
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน ทนายจำเลยได้ขอปรึกษาศาลว่า เนื่องจากจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวจริง จึงจะขอรับสารภาพ โดยทนายจำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายและส่งคำแถลงประกอบรับสารภาพต่อศาล เพื่อที่ศาลจะได้ไม่ต้องสืบพยานคดีนี้ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ศาลมีหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายอยู่แล้วว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ หากจำเลยรับสารภาพ ศาลก็จะพิพากษาเลย ไม่ใช่ยื่นคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย แต่หากจำเลยปฎิเสธข้อกล่าวหา ศาลก็ขอให้สู้คดีต่อ โดยระหว่างการพิจารณา ศาลจะดูองค์ประกอบว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ และเข้าองค์ประกอบของข้อกฎหมายหรือไม่

    ทนายจำเลยกับจำเลยได้ขอออกไปปรึกษากันนอกห้องพิจารณาครู่หนึ่ง ก่อนจะแถลงยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1: จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความประจำ สภ.บางแก้ว ชี้ ‘ม.112’ ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์++

    จรินทร์ ภูริคุปต์ พยานผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เขาทำหน้าที่เป็นทนายความประจำ สภ.บางแก้ว ที่เข้าร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหา เนื่องจากในคดีอาญาที่มีโทษสูง จำเป็นต้องมีทนายความเข้าร่วมสอบปากคำด้วย

    เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 พยานได้ไปให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ โดยพนักงานสอบสวนได้เอาภาพข้อความของผู้ต้องหาให้ดู ซึ่งเป็นข้อความที่มีใจความเกี่ยวกับกรณีการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และมีการพาดพึงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

    หลังอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว พยานเข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงสื่อทำนองว่า จำเลยทั้ง 3 ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส ในคดีประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

    พยานเบิกความต่อว่า ในแง่ของความรู้สึกข้อความดังกล่าวทำให้สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปมองพระมหากษัตริย์ในแง่ลบ เป็นการทำให้พระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เสื่อมเสีย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทนายจำเลยได้ถามค้านว่า พยานได้เคยอ่านตำรากฎหมายของ ‘จิตติ ติงศภัทิย์’ และ ‘หยุด แสงอุทัย’ อาจารย์ทางกฎหมายที่ให้ความเห็นเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ว่า คำว่า “พระมหากษัตริย์” ในมาตรา 112 หมายถึงกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น พยานตอบว่า ตนจำไม่ได้ว่าในตำราของอาจารย์ทั้งสองเขียนว่าอย่างไร แต่ในความเห็นส่วนตัวของพยานนั้นขึ้นอยู่กับการตีความ

    ทนายจำเลยถามพยานว่า มาตรา 112 ได้ครอบคลุมถึง ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ด้วยหรือไม่ พยานระบุว่า มาตรา 112 ครอบคลุมถึงพระเจ้าตากสิน รวมถึงอดีตกษัตริย์องค์อื่นๆ ด้วย

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า มาตรา 112 กำหนดคุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากมีการใส่ความถึง เปรม ติณสูลานนท์ และ ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะถือว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ พยานตอบว่า พยานตีความแค่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างเดียว ไม่กล่าวถึง 3 ตำแหน่งที่เหลือ

    นอกจากนี้ พยานได้เบิกความเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ว่าคุ้มครองเพียงแต่พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่นั้น เป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิชาการเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วความเห็นทางกฎหมายของนักวิชาการและนักกฎหมายนั้นไม่เหมือนกัน และมีการแตกออกเป็นสองขั้วเสมอ ในความเห็นของพยาน คดีมาตรา 112 จะต้องมีการดูข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ใช่ความคิดเห็นของนักวิชาการ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 2: ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ชี้จำเลยสามารถติเตียน ร.9 ได้อย่างสุจริต แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่หมิ่นประมาททำให้เสื่อมพระเกียรติ++

    ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหาในคดีนี้ได้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ช่วงเวลาเย็น พยานได้นั่งดูเฟซบุ๊กในเพจชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัว โดยมีจำนวนสมาชิกประมาณ 100,000 คน ซึ่งพยานก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว

    พยานได้พบเห็นโพสต์ข้อความที่กล่าวถึงกรณีการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งใต้โพสต์ข้อความดังกล่าว มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ดูหมิ่นกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9 พยานจึงได้กดบันทึกภาพหน้าจอและนำหลักฐานไปส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว เพื่อตรวจสอบตัวตนผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยมาทราบภายหลังว่าผู้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวก็คือ “วุฒิภัทร”

    ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 พยานได้มาให้ปากคำที่ สภ.บางแก้ว โดยเห็นว่าข้อความของจำเลยเป็นการกล่าวหาและดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างร้ายแรง โดยข้อความของจำเลยสื่อว่ารัชกาลที่ 9 เป็นผู้ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ส่วนชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส 3 จำเลยในคดีลอบปลงพระชนม์ดังกล่าวถูกนำมารับผิดแทน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ผิด และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าตนไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองแต่อย่างใด

    จากนั้นศิวพันธ์ุเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเป็นผู้กล่าวหาในคดีมาตรา 112 มาแล้วทั้งหมด 18 คดี โดยได้ขึ้นเบิกความในชั้นศาลครั้งนี้เป็นครั้งแรก สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ที่โพสต์ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส พยานทราบว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของกลุ่ม และไม่ได้เป็นผู้โพสต์เนื้อหาดังกล่าว เป็นเพียงแค่ผู้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น

    ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้เห็นข้อความแสดงความคิดเห็นของจำเลยอยู่ประมาณกี่นาที และทราบหรือไม่ว่าหลังจากที่จำเลยโพสต์ไปประมาณ 10 นาทีแล้ว จำเลยได้ลบข้อความดังกล่าว พยานตอบว่า พยานเห็นข้อความของจำเลยประมาณ 6 นาที ซึ่งพยานไม่ทราบว่าภายหลังจากนั้น จำเลยได้ลบข้อความไปหรือไม่

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานเคยได้ยินพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กล่าวว่า หากใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียหรือไม่ พยานรับว่าเคยได้ยิน โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า พระองค์เป็นเหมือนข้าราชการคนหนึ่ง สามารถว่าได้ เตือนได้ ติเตียนได้โดยสุจริต แต่ไม่ใช่ต่อว่าในลักษณะที่จำเลยกระทำ

    ทนายจำเลยถามค้านว่า เหตุเกิดของคดีนี้คือเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ในความเห็นของพยานนั้น คิดว่ามาตรา 112 ได้คุ้มครองถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

    ในประเด็นนี้ ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า มาตรา 112 ได้คุ้มครองถึงกษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และธนบุรี ด้วยหรือไม่ พยานเบิกความว่า ในความเห็นของพยาน มาตรา 112 ครอบคลุมเพียงแค่กษัตริย์ในช่วงรัตนโกสินทร์เท่านั้น โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเทศชัดเจน อาทิ มีการใช้ธงชาติไทย ซึ่งการที่พยานมีหลักคิดแบบนี้เป็นผลมาจากการศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง

    ++พยานโจทก์ปากที่ 3: วาสนา โอภาสวัฒนาธร ครูสอนภาษาไทย ชี้ถ้อยคำจำเลยมีการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสื่อถึง ร.9 ในแง่ลบ++

    วาสนา โอภาสวัฒนาธร ครูชำนาญการสอนภาษาไทย ที่โรงเรียนวัดบางนาใน เบิกความเกี่ยวกับคดีนี้ว่า พยานได้ถูกเชิญให้ไปเป็นพยานความเห็นที่ สภ.บางแก้ว เนื่องจากเป็นครูสอนภาษาไทย โดยพนักงานสอบสวนได้ให้พยานอ่านข้อความแสดงความคิดเห็นของจำเลยเพื่อวิเคราะห์และตีความหมายออกมา

    วาสนาเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วจะเข้าใจว่า มีการพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในแง่ที่ไม่ดี โดยจำเลยต้องการจะสื่อให้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 เป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ที่ต้องตายแทนทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด นอกจากนี้ข้อความยังมีการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสื่อว่าทำไมระบบพระมหากษัตริย์ไทยถึงได้แย่ขนาดนี้

    วาสนาตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยบูรพา พยานไม่เคยตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ แต่มีผลงานการทำวิทยฐานะในกลุ่มครู ซึ่งจะทำส่งสำนักงานศึกษาเพื่อขอเลื่อนขั้น

    พยานเบิกความว่า ตนเคยไปให้การในคดีมาตรา 112 ประมาณ 10 คดี โดยมีมากกว่า 5 คดีที่ผิดกฎหมาย สำหรับคดีนี้พนักงานสอบสวนมีการขอความร่วมมือให้พยานช่วยวิเคราะห์ข้อความ เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะได้ทำสำนวนส่งฟ้องคดี

    ในวันที่ไปให้การที่ สภ.บางแก้ว พยานไม่ได้เห็นโพสต์ข้อความต้นโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก เห็นเพียงแต่ข้อความแสดงความคิดเห็นของจำเลยเท่านั้น อย่างไรก็ตามพยานได้มีการสอบถามเพิ่มเติมภายหลัง

    อัยการโจทก์ถามติงว่า ความหมายของถ้อยคำที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนอ้างอิงจากไหน พยานตอบว่า จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/41811)
  • ++พยานโจทก์ปากที่ 4: พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข ทนายจำเลยยกความเห็นนักวิชาการชี้ ‘112 ไม่ครอบคลุมอดีตกษัตริย์’ พยานโต้เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ ควรยึดแนวฎีกาเป็นหลัก++

    พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เดิมมี พ.ต.ท.สำราญ ช่วยท้าว เป็นผู้รับผิดชอบและสอบปากคำผู้ต้องหา แต่เนื่องจากเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 พ.ต.ท.สำราญ ไปรับตำแหน่งรองผู้กำกับการที่ สภ.บางกรวย จึงได้ส่งมอบสำนวนสอบสวนให้กับพยานแทน

    จากนั้น พยานได้ออกหมายเรียกจำเลยมาสอบคำให้การในฐานะผู้ต้องหา โดยจำเลยได้ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความ ทางคณะกรรมการสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการจึงลงความเห็นร่วมกันว่า ข้อความของจำเลยมีการพาดพิงกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    ทั้งนี้ ในความคิดเห็นของพยาน แม้จำเลยจะกล่าวถึงกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยมีการพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทต่ออดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากทั้งสองพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งครอบคลุมถึงทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี

    พ.ต.ท.รังสรรค์ ตอบทนายจำเลยว่า ในคดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษตั้งแต่ปี 2563 แต่มีการเรียกจำเลยไปรับทราบข้อกล่าวหาในปี 2564 ซึ่งในปี 2563 พยานทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน

    พ.ต.ท.รังสรรค์ เบิกความว่า จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน รับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่ทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบและไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน ภายหลังที่ได้รับการตักเตือนจากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กแปลกหน้าที่พิมพ์เข้ามาในแชทส่วนตัว จำเลยจึงได้ทำการลบข้อความทันที นอกจากนี้หลังตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแล้วพบว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดในคดีใดมาก่อน

    ทนายจำเลยถามว่า มีความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายหลายท่านเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แก่ จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, หยุด แสงอุทัย และคณิต ณ นคร ว่า มาตรา 112 คุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบุคคลดังกล่าวต้องยังมีชีวิตอยู่และดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะจากการสวรรคตหรือสละราชบัลลังก์ จะถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 พยานเคยเอามาใช้ประกอบการพิจารณาในชั้นสอบสวนหรือไม่

    พ.ต.ท.รังสรรค์ เบิกความตอบว่า ได้มีการนำความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนมองว่าเป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิชาการเท่านั้น ในข้อเท็จจริงคณะพนักงานสอบสวนได้ยึดแนวฎีกาที่ 6374/2556 ที่มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า ‘มาตรา 112 ให้การคุ้มครองกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว’ มาเป็นแนวทางการดำเนินคดี

    ++วุฒิภัทร เบิกความการกระทำของตนไม่เข้าข่าย 112 ระบุเหตุการณ์สวรรคต ร.8 ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน++

    วุฒิภัทร พนักงานบริษัทวัย 28 ปี เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มปิด จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของกลุ่มหรือผู้ดูแลก่อนถึงจะเห็นข้อความได้ และจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มเท่านั้น

    เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ขณะที่ตนกำลังเล่นเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือได้พบว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในทำนองว่าเป็นการสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ รวมถึงศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตจำเลย 3 รายอีกด้วย หลังพยานได้อ่านโพสต์ เกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมเป็นอย่างมากและเห็นคล้อยตามกับโพสต์ดังกล่าว จึงได้แสดงความคิดเห็นลงไปทันที

    ต่อมา ไม่เกิน 10 นาที หลังจากนั้น ได้มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กไม่ทราบชื่อพิมพ์ข้อความมาทางแชทส่วนตัวจำนวน 2 ท่าน เตือนให้ตนลบข้อความและเปลี่ยนความคิด ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี วุฒิภัทรเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีจึงได้ทำการลบข้อความ และออกจากกลุ่มเฟซบุ๊กในทันที

    วุฒิภัทรเบิกความต่อว่า แม้ตนจะเคยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริงในชั้นสอบสวน แต่เห็นว่าการกระทำของตนไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 เนื่องจากเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 เกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 80 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอดีตในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ และไม่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

    นอกจากนี้ นักวิชาการด้านกฎหมายยังเคยให้ความเห็นด้วยว่า มาตรา 112 คุ้มครองแค่พระมหากษัตริย์ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น อีกทั้งจำเลยยังเคยอ่านคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ที่ชี้ว่ามาตรา 112 คุ้มครองแค่กษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น

    อัยการถามค้านว่า จำเลยได้อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์อีกหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่

    อัยการถามต่อว่า เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จำเลยไม่เคยได้ศึกษาอย่างละเอียดแต่กลับพิมพ์ข้อความแสดงความเห็นลงไปใช่หรือไม่ จำเลยรับว่าเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงได้พิมพ์ทำนองนั้น

    .

    หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    ทั้งนี้ คดีของวุฒิภัทร นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 13 คดี และนับเป็นหนึ่งในคดีที่มีนายศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปกล่าวหา จากเท่าที่มีข้อมูลจำนวน 9 คดี โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และตำรวจได้มีการเริ่มออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงปี 2564 โดยคดีเหล่านี้ ยังทยอยมีกำหนดนัดสืบพยานในชั้นศาลต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/41811)
  • เวลา 09.00 น. วุฒิภัทร, มารดาของวุฒิภัทร, ทนายจำเลย และนายประกันได้ทยอยมาศาล นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษา, iLaw และตัวแทนสถานทูตจากลักเซมเบิร์กและสวีเดน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    ต่อมา เวลา 10.17 น. ผู้พิพากษาได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของอัยการโจทก์ ก่อนจะสรุปว่าเกี่ยวกับกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มปิดสาธารณะ ได้มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ในทำนองว่าเป็นการสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ รวมถึงศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตจำเลย 3 รายอีกด้วย หลังจำเลยได้อ่านโพสต์ดังกล่าวแล้ว เกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมเป็นอย่างมากและเห็นคล้อยตามกับโพสต์ดังกล่าว จึงได้แสดงความคิดเห็นลงไปทันที แต่ต่อมาได้ลบข้อความออกภายหลัง

    ในประเด็นนี้ศาลพิเคราะห์ว่า จำเลยจบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี จึงควรจะตระหนักคิดได้และมีวิจารณญาณ การที่จำเลยกล่าวอ้างว่ากระทำไปโดยไม่ยั้งคิดและเห็นคล้อยตามกับโพสต์ดังกล่าวนั้น ง่ายต่อการกล่าวอ้างเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างพยานของโจทก์

    ในส่วนของประเด็นเรื่องที่กล่าวว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ส่วนตัว ศาลพิเคราะห์ว่า แม้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” จะเป็นกลุ่มปิดสาธารณะ แต่ก็มีสมาชิกกลุ่มจำนวนกว่า 100,000 ราย จึงถือว่าเป็นประชาชนจำนวนหนึ่ง และถ้อยคำของจำเลยที่พาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นถ้อยคำด่าทอ หยาบคาย ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อคนทั่วไปอ่านแล้ว จะเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และให้จำเลยทั้งสาม ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส ในคดีประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

    การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีเจตนาทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และเสื่อมพระเกียรติ อีกทั้งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาพบเห็น และก่อให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในสังคม

    ต่อมา ในประเด็นความผิดเรื่องมาตรา 112 ศาลพิเคราะห์ว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยายคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ศาลจึงพิพากษา ยกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้ความร่วมมือในกระบวนการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

    หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือ “วุฒิภัทร” และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ต่อมา เวลา 12.04 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยไม่กำหนดเงื่อนไข มารดาของวุฒิภัทรได้เดินไปหาลูกชาย พร้อมกับบอกว่ารู้สึกโล่งใจที่ลูกชายได้รับการประกันตัว

    ด้านวุฒิภัทรให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกพอใจในระดับหนึ่งที่ศาลยกฟ้องมาตรา 112 แต่สำหรับข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คงต้องสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์

    ทั้งนี้ ทนายความของวุฒิภัทรเปิดเผยว่า แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางต่อสู้ของฝ่ายจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิพากษาลงโทษความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ซึ่งไม่เป็นไปตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ ซึ่งบรรยายฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงเกินกว่าฟ้องของโจทก์ อาจขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องอุทธรณ์คดีต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/41895)
  • ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาใน 2 ประเด็น ดังนี้

    ประเด็นแรก การโพสต์ข้อความของจำเลยมีเจตนามิใช่กระทำเพียงกลุ่มส่วนตัว หากเป็นกลุ่มสาธารณะ ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอันก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อระบบพระมหากษัตริย์ กรณีจึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) มิใช่เพียง มาตรา 14 (1)

    ประเด็นที่สอง แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตย แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะ การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี

    ด้วยเหตุนี้ การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.820/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.348/2565 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/55599)
  • ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาใน 2 ประเด็น ดังนี้

    ประเด็นแรก พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่สามารถรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวง บิดเบือน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

    ประเด็นที่สอง กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวกันมา เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย หากศาลหยิบยกขึ้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีย่อมขัดต่อหลัก “การฟังความทุกฝ่าย” และยังขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งวางหลักไว้ว่า ห้ามมิให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง เกินกว่าคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง

    คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงข้อเท็จจริงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เท่านั้น ทางนำสืบโจทก์ก็นำสืบตามคำฟ้องเท่านั้น ส่วนมาตรา 14 (1) โจทก์ไม่ได้บรรยายกล่าวในคำฟ้องเลยว่า ส่วนไหนที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ส่วนไหนที่บิดเบือน ส่วนไหนที่เป็นความเท็จ ความจริงเป็นเช่นไร และมีลักษณะโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนอย่างไรบ้าง

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.820/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.348/2565 ลงวันที่ 25 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/55599)
  • จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงยื่นคำแก้อุทธรณ์ระบุเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

    ประการแรก เจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 112 บัญญัติขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงเพียง 4 ตำแหน่ง เนื่องจากตามกฎหมายอาญาถือว่าตำแหน่งดังกล่าวมีสถานะพิเศษ รัฐพึงให้ความคุ้มครองแก่บุคคลในตำแหน่งนั้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ในทางกลับกันภายใต้หลักเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย กฎหมายและรัฐย่อมไม่มีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่บุคคลที่ไม่อยู่ในตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งแล้ว

    ถ้อยคำตามต้นร่างภาษาอังกฤษในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 98 ใช้คำว่า “the King, the Queen, the Crown Prince, or the Regent during the Regency” การใช้ the นำคำนามใดๆ ย่อมหมายถึงการจำเพาะเจาะจง ยิ่งเป็นคำนามเอกพจน์ด้วยย่อมหมายเป็นหนึ่งเดียวเฉพาะ เป็นการชี้ชัดเฉพาะลงไปว่าหมายถึงบุคคลนั้นๆ ในปัจจุบันเท่านั้น

    ดังนั้นมาตรา 112 จึงให้ความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น

    ประการที่สอง เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามมาตรา 14 (3)

    (อ้างอิง: คำแก้อุทธรณ์โจทก์ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.820/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.348/2565 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/55599)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ วุฒิภัทรเดินทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาศาลพร้อมคนรัก ก่อนศาลออกนั่งพิจารณา เขาเล่าว่า วันนี้เป็นวันเกิดของเขา แต่ยังไม่ได้วางแผนว่าจะไปฉลองวันเกิดแต่อย่างใด แค่คิดว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตปกติเพียงเท่านั้น และเขาหวังว่า อย่างน้อยในวันนี้ศาลจะมีคำพิพากษาให้รอลงอาญา

    ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เนื้อหาโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 จำเลยใช้เฟซบุ๊กโพสต์เกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยข้อความสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จสวรรคตไปเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559

    เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ เมื่อเป็นบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี

    รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 เป็นบิดาของรัชกาลที่ 10 หากตีความว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้

    หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อันนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

    จำเลยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ดังนั้นจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แม้หลังจากโพสต์ 10 นาที มีสมาชิกในกลุ่มคนอื่นเตือน จำเลยจึงลบออกและออกจากกลุ่มไป แต่ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

    จำเลยใช้เฟซบุ๊กนำเข้าข้อความดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิด รัชกาลที่ 9 ไม่ได้กระทำอย่างที่จำเลยกล่าวหาแต่อย่างใด โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 9 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ประเด็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ วินิจฉัยไปตอนต้นแล้วว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ส่วนมาตรา 14 (1) ต้องมีเจตนาพิเศษคือโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิด 14 (1) จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังขึ้น

    พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 5 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษ

    ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ สุชาติ เตชะสวัสดิ์วิทย์, ทวี ศรุตานนท์ และชิงชัย ศรประสิทธิ์

    หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ วุฒิภัทรถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา

    เวลา 13.50 น. ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 180,000 บาท จึงต้องวางเงินเพิ่มอีก 30,000 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นอุทธรณ์จำนวน 150,000 บาท หลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    เท่าที่ทราบข้อมูล คดีนี้เป็นคดีที่สองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์แก้แนวคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่เคยยกฟ้องเรื่ององค์ประกอบของมาตรา 112 ว่าไม่ได้คุ้มครองถึงกษัตริย์ในอดีต โดยก่อนหน้านี้มีคดีของ “จรัส” ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี กรณีคอมเมนต์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55599)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วุฒิภัทร (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วุฒิภัทร (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 25-03-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วุฒิภัทร (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สุชาติ เตชะสวัสดิ์วิทย์
  2. ทวี ศรุตานนท์
  3. ชิงชัย ศรประสิทธิ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 18-04-2023

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วุฒิภัทร (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์