สรุปความสำคัญ

3 ส.ค. 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และมอกะเสด จัด "เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย" เรียกร้องยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และรับฟังเสียงของนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าวถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หลังการชุมนุมอานนท์ เป็นผู้ปราศรัยเพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกทั้งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย อานนท์ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการปราศรัยครั้งนี้ เช่นเดียวกับการปราศรัยอีกหลายครั้งของเขา

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

3 ส.ค.2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และมอกะเสด จัดกิจกรรม "เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย" เพื่อปกปักรักษาประชาธิปไตย และขับไล่อำนาจมืดจาก #คนที่คุณก็รู้ว่าใคร

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ให้ยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 3. ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

ธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในผู้ปราศรัย กล่าวว่า วรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่าถึงความชั่วร้ายของจอมมารโวลเดอมอร์ฝ่ายมืด ต่อสู้กับฝ่ายสว่าง คนหนุ่มสาว และอาจารย์ในโรงเรียน การต่อสู้ดำเนินไปอย่างยาวนาน สิ่งที่สู้ยากที่สุดคือเครือข่ายของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร กระจายแทรกซึมทุกวงการ วันที่เขาแผ่อำนาจปกคลุมจนแม้กลางวันก็ยังมืดมิด คือวันที่เขายึดกระทรวงเวทย์มนต์ พยายามจะครอบงำไปทุกวงการ อ้างการปฏิรูปประเทศ แต่สุดท้ายเหล่าคนหนุ่มสาวรู้ทัน พยายามสู้ แต่แค่พูดต่างก็ถูกล่าแม่มด ถูกจับดำเนินคดี

"ในยุคของอำนาจมืด การขับรถชนตำรวจตาย ก็ไม่มีความผิด เป็นยุคที่ศักดิ์ศรีตำรวจถูกลดทอน กระบวนการยุติธรรมอับปาง แต่ในการต่อสู้ระหว่างคุณงามความดีคือประชาธิปไตย กับจอมมาร เรามีเครือข่ายภาคีนกฟีนิกซ์ เราจะใช้คาถาผู้พิทักษ์ไล่เหล่าผู้คุมวิญญาณ ไล่สิ่งชั่วร้าย แต่ตอนร่ายคาถา ต้องคิดถึงความสุข ขอให้เราทุกคนนึกถึงรอยยิ้มของวันเฉลิมไว้ เราจะไม่ลืมรอยยิ้มของเขา" ธัชพงศ์กล่าว

อีกหนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าวว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องคือการหยุดคุกคามประชาชน เปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องใส่ข้อกำหนด ผู้ใดทำรัฐประหารต้องได้รับโทษสูงสุด ต้องไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก แล้วจึงยุบสภา ซึ่งจะยุบได้ต้องเกิดขึ้นหลังแก้ไขอำนาจวุฒิสภาหรือ ส.ว. ซึ่งมีอำนาจล้นเหลือ ทั้งการเลือกรัฐมนตรี การผ่านกฎหมาย

ผู้ปราศรัยคนดังกล่าวระบุอีกว่า ส.ว. ชุดนี้ไร้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด พวกเราไม่ต้องการ ส.ว. แล้ว เพราะมี ส.ส. ที่มีศักยภาพพอ งบประมาณที่ต้องเสียให้กับ ส.ว.จำนวนมาก หากนำมาช่วยเยียวยาประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า

"เชื่อว่าอำนาจบริสุทธิ์ของประชาชน จะเป็นแสงสว่างต่อสู้กับอำนาจมืด อย่าให้เขาคุกคามเพื่อนเรา อย่าให้เขาอุ้มฆ่าเพื่อนเรา ขอให้เราชูสามนิ้ว แล้วพูดว่า 'เราจะไม่หยุดจนกว่าอำนาจมืดจะหมดไป" ผู้ปราศรัยรายเดิมกล่าว

อานนท์ นําภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขึ้นปราศรัยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย โดยย้ำด้วยว่า เป็นการอภิปรายด้วยความเคารพและให้เกียรติ สิ่งที่พูดไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันอยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เขายืนยันว่าการกล่าวอ้างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ลอยๆ ตามที่ชุมนุมต่างๆ นั้น จะไม่มีน้ำหนัก หากไม่มีการพูดด้วยเหตุด้วยผลอย่างตรงไปตรงมาตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

"อย่าปล่อยให้คนตัวเล็กตัวน้อยพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วถูกคุกคามตามลำพัง" อานนท์ กล่าว

อานนท์ กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการทำประชามติในประเด็นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และประเด็นการวินิจฉัยวิกฤตบ้านเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นการออก พ.ร.บ.การจัดการระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ที่ทำให้สาธารณสมบัติไม่ได้เป็นของประชาชน ประเด็นการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประเด็นเรื่องการประทับต่างประเทศ รวมทั้งการโอนกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 เป็นส่วนราชการในพระองค์

อานนท์ ย้ำอีกว่า ต้องพูดถึงปัญหาพระราชอำนาจล้นเกินกว่าระบอบการปกครองอย่างตรงไปตรงมา พร้อมข้อเสนอในการแก้ปัญหาด้วย โดยยกตัวอย่าง เช่น ให้สภาที่เป็นประชาธิปไตยแก้รัฐธรรมนูญให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีสถาบันกษัตริย์หากอยู่ต่างประเทศ, ทรัพย์สินสาธารณะสมบัติที่ถูกถ่ายโอนไปนั้นก็ให้ดึงกลับมาเป็นสาธารณะสมบัติ หรือการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นต้องถูกตรวจสอบตามระบอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ อานนท์ ยังเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่นิ่งเฉยกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่แอบอ้างเพื่อประโยชน์ทางการเมืองด้วย (https://prachatai.com/journal/2020/08/88882)

19 ส.ค. 2563 ขณะอานนท์ นำภา ทำหน้าที่ทนายความที่ศาลอาญา ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบปรากฏตัวบริเวณศาลจำนวนมาก คล้ายรอจับกุมตลอดทั้งวัน โดยมีบางคนวนเวียนดูที่หน้าห้องพิจารณาคดีที่อานนท์ว่าความอยู่ด้วย

หลังว่าความเสร็จในช่วง 17.00 น. เศษ อานนท์ได้มารออยู่บริเวณในรั้วหน้าศาลอาญา โดยสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายสิบนาย อยู่รอบๆ ศาล แต่ไม่ยินยอมแสดงตัว เมื่อใกล้เวลาศาลปิด ผู้อำนวยการศาลอาญาได้มาพูดคุย ให้อานนท์และทีมทนายความออกจากบริเวณศาล

จนเวลา 19.10 น. เมื่ออานนท์และทีมทนายเดินออกจากรั้วศาล กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับอานนท์ที่ออกโดยศาลอาญา จากกรณีการร่วมปราศรัยที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในกิจกรรม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมในธีมแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระบุข้อกล่าวหาในหมายจับ 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากนั้นตำรวจในเครื่องแบบ 3 นาย ได้นำตัวอานนท์เดินทางไปยัง สน.ชนะสงคราม

เมื่อนำตัวถึง สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า หลังทำบันทึกจับกุมที่นี่แล้ว จะนำตัวไปทำสอบสวนที่ สน.ห้วยขวาง แต่เมื่อมีประชาชนและนักการเมืองที่ทราบข่าวการจับกุมทยอยเดินทางมาให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นรั้วรอบบันไดทางขึ้นสถานีตำรวจ ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นยกเว้นทนายความเข้า และได้เปลี่ยนมาสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ

เวลา 21.20 น. ตำรวจอ่านบันทึกจับกุมให้อานนท์ฟัง จากนั้นอานนท์ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นตำรวจ เนื่องจากยังมีภารกิจต้องไปว่าความ โดยใช้เงินสด 150,000 บาท และตำแหน่ง ส.ส. ของรังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกัน โดยอ้างว่ายังสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตำรวจได้ควบคุมตัวอานนท์ไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังระหว่างสอบสวน และอนุญาตให้ประกันตัว กำหนดวงเงินประกัน 100,000 บาท โดยยังไม่ต้องวางหลักประกัน เมื่อผิดสัญญา จึงจะบังคับเอาหลักประกัน

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 19 ส.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/20540)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์