ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.1629/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม กับพวก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1629/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม กับพวก

ความสำคัญของคดี

3 ส.ค. 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และมอกะเสด จัด "เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย" เรียกร้องยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และรับฟังเสียงของนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าวถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หลังการชุมนุมอานนท์ เป็นผู้ปราศรัยเพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกทั้งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย อานนท์ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการปราศรัยครั้งนี้ เช่นเดียวกับการปราศรัยอีกหลายครั้งของเขา

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พิทยา วีระพงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อระหว่างวันที่ 1 - 3 ส.ค. 2563 จำเลยกับพวกอีกจำนวนหลายคน ซึ่งได้ถูกแยกไปดำเนินคดีต่างหากได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน และแยกกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. ระหว่างวันที่ 1 - 3 ส.ค. 2563 จำเลยนี้ได้ประกาศชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพทางเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “อานนท์ นําภา” ของจำเลย ในลักษณะเชิญชวนให้มาร่วมการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ซึ่งจะมีขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 จำนวน 3 โพสต์ ประกอบด้วยของจำเลย ลักษณะโน้มน้าวเชิญชวน หรือนัดให้ประชาชนทั่วไปมาเข้าร่วมชุมนุม ฟังปราศรัยเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้มากๆ โดยมีผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

ต่อมา วันที่ 3 ส.ค. 2563 จำเลยกับพวกได้เข้าร่วมการชุมนุม โดยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด ทั้งไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่จะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ และปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม

2. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 จำเลยนี้ได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลย มีข้อความว่า “ความเห็นผม การพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับอำนาจสถาบันกษัตริย์ ควรพูดกันแบบตรงไปตรงมา และพูดแบบสาธารณะให้ได้ การแลกเปลี่ยนถกเถียงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นไม่ต้องห่วงเรื่องถูกคุกคาม ผมเชื่ออย่างใจจริงว่า การพูดตรงๆ ดีกว่าการด่าทอ”

ข้อความว่า “เพื่อการอภิปรายที่กระชับมากขึ้น แนะนําให้ผู้ร่วมชุมนุมเย็นนี้อ่านบทความในหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ ก่อนฟังอภิปราย เพราะวันนี้อาจไม่ได้เท้าความไปไกลมากนัก อยากอภิปรายในเรื่องปัจจุบันมากกว่า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยื่นฟ้องก็พระมหากษัตริย์และพระราชินี ในความผิดข้อหาโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาศาลได้มีคําสั่งคําพิพากษาให้ฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องถูกอายัดทรัพย์สินรวมทั้งยึดวังสุโขทัยไว้ด้วย”...

รวมถึงโพสต์แถลงการณ์กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด ซึ่งกล่าวถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 3. ต้องรับฟังเสียงของนิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อมูลดังกล่าวเข้าใจว่า มีเจตนาพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย อันเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ชักจูงประชาชนและบุคคลทั่วไปให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

3. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยนี้ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด กล่าวคือ จำเลยได้ปราศรัยแก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน อันมีใจความสาระสำคัญว่า “เราต้องยอมรับความจริงว่าที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการจะตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ในเวทีชุมนุมมีการชูป้ายกล่าวอ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเยอรมัน มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นนักบินบินไปบินมา คำกล่าวอ้างเหล่านี้จะหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราครับพี่น้อง"

"พี่น้องครับปัจจุบันนี้เราประสบปัญหาอย่างยิ่งยวดและสำคัญยิ่งคือมีกระบวนการที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราเนี่ยขยับออกไปไกลห่างจากระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นทุกทีทุกที"

"การตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมาและบริหารไปตามพระราชอัธยาศัย การที่บอกว่าบริหารไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น แปลเป็นภาษาบ้านเราคือบริหารไปตามใจของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นการออกแบบกฎหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น"

"...พอมีการผ่านการออกเสียงประชามติมา เกิดการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก คือเมื่อมีการผ่านประชามติออกมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าพระมหากษัตริย์รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญในสาระสำคัญอยู่หลายประการ ซึ่งถ้าในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหตุการณ์นี้ไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะนี่เป็นการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

การแก้ไขให้พระมหากษัตริย์กรณีที่ไม่อยู่ในประเทศไทยเนี่ยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เราจึงได้เห็นพระมหากษัตริย์ของเราเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาที่ประเทศไทย ข้อเท็จจริงนี้พี่น้องทุกคนทราบ ทหารตำรวจทุกคนทราบ

ต่อไปนี้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พวกเราเป็นเจ้าของรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ซึ่งเดิมเป็นของพวกเราทุกคนทั้งประเทศรวมกันเนี่ย ต่อไปนี้จะตกเป็นของพระมหากษัตริย์บริหารราชการแผ่นดินไปโดยตามพระราชอัธยาศัยครับพี่น้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึง

เท่านั้นยังไม่พอการที่แปรสภาพให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในการบริหารของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวส่งผลทำให้เกิดโทษทางกฎหมายอีกอย่างหนึ่งคือกรณีที่ในหลวงของพวกเราเนี่ยไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมันตามกำหนดเวลาของแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน กฎหมายอาจจะต้องบังคับให้เสียภาษีหลายหมื่นล้านถามว่าเงินจำนวนหลายหมื่นล้านนั้น มันเป็นของใครก็เป็นพวกเราทุกคนเนี่ยแหละครับนี่"

"การที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับในประเทศ ถามว่าปัญหาเกิดขึ้นคืออะไร ปัจจุบันนี้ เราถูกฝรั่งมังค้อต่างชาติ นำเอากษัตริย์ของเราไปล้อเล่นที่เยอรมัน ไปฉายเลเซอร์ ไปให้เด็กใช้ปืนอัดลม ก่อการที่ไม่บังควร เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศ รวมทั้งกรณีที่จะตั้งรัฐมนตรี เข้าไปถวายสัตย์ปฏิบัติหน้าที่ ทำไม่ได้ ต้องรอให้กษัตริย์กลับมาประเทศก่อน ปัญหานี้ทุกคนรู้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนรู้ แต่ไม่กล้าพูดถึง

ทุกคนที่มาชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ที่ชูป้ายเรื่องเหล่านี้ทุกคนรู้ แต่ไม่มีใครพูดถึงพระราชบัญญัติโอนกำลังพลทหาร กรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปให้สถาบันพระมหากษัตริย์เนี่ยดูแลปกครองไปตามพระราชอัธยาศัย กรณีนี้สำคัญนะครับ ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนให้กษัตริย์มีอำนาจดูแลปกครองทหารเป็นจำนวนมากขนาดนี้ ไม่มีครับ การทำเช่นนั้นมันสุ่มเสี่ยง สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

"นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องชอบธรรม ตามระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นักศึกษาที่ออกมาชุมนุม หลังจากปีใหม่มานี้ ทุกคนรู้เรื่องนี้ นักศึกษาทุกคนที่ชูป้ายข้อความสองแง่สองง่าม กล่าวถึงบุคคลที่ผมกล่าวมาแล้ว"

"การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ สำนักพระราชวัง ยังนิ่งเฉยอยู่ทั้งที่รู้อยู่ว่า มีบุคคลมาแอบอ้างแล้วมาทำลายล้างราษฎรเนี่ย ยังนิ่งเฉยอยู่ มันก็อดทำให้เราตั้งคำถามไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น คิดกับเรายังไง มันอดไม่ได้จริงๆ ถ้าใครมาเชิญผมขึ้นเวทีให้ปราศรัยแล้วให้ผมพูดบิดเบือน ไม่กล่าวถึงปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ผมไม่ขึ้นเวที

ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ทำให้ประเทศนี้ปกครองด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หนึ่งในนั้นคือการตรากฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินที่ใช้เงิน ส่งเงินให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้ตรวจสอบการใช้เงินของสถาบันพระมหากษัตริย์ครับพี่น้อง (ปรบมือ) เรื่องนี้สำคัญการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินของทุกองค์กรต้องถูกตรวจสอบ ต้องถูกวิจารณ์ได้ แต่สำหรับรัฐบาลนี้ไม่มีเรื่องนี้ มีการตั้งงบประมาณในหลายส่วนที่เกินความจำเป็น เช่น งบประมาณกระทรวงพาณิชย์เอาไปโปรโมทเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อสิริวัณวรี เอางบประมาณแผ่นดินไปโปรโมทยี่ห้อส่วนพระองค์"

"การสนับสนุนงบประมาณในการเดินทาง โดยใช้เครื่องบิน มากกว่า 5,000 ล้าน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ รัฐบาลโดยรัฐสภา ถ้าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นว่าพระมหากษัตริย์ของเราอยู่ต่างประเทศนานแล้ว ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปรายถวายคำแนะนำให้พระองค์กลับมายังประเทศได้ นี่ยังไม่รวมงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไปสร้างซุ้มถวายพระเกียรติมูลค่าเป็นสิบล้านซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย คนจะจงรักภักดี จะศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ใช่ไม่ใช่

ผมมีข้อเสนอในการแก้ปัญหา ต่อไปนี้ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ให้สภาเป็นสภาที่มีผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยต้องแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นมิ่งขวัญของพวกเราในประเทศ ไม่ใช่ที่เยอรมัน ต่อมาที่ต้องแก้คือการแก้พระราชบัญญัติ ที่ปล่อยให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นของพวกเรา ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้มีการถ่ายโอนไปผ่านทางพระราชบัญญัติจัดการบริหารราชการส่วนพระมหากษัตริย์ ดึงกลับมาเป็นของพวกเราทุกคน ต้องแก้ พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น สนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้วกลับมาเป็นของพี่น้องประชาชนทุกคน"

"เราทุกคนต้องช่วยกันส่งเสียงการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคไหนมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันอยู่ที่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มีนโยบายเอาทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะกลับมาเป็นของพวกเรา เลือกพรรคนั้นครับพี่น้อง”

ซึ่งจำเลยมีเจตนาพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอันเป็นเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชม โดยสุจริต แต่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและชักจูงประชาชนให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง ถึงขั้นออกมากระทำความผิดต่อกฎหมาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน

4. ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำการโฆษณา ปราศรัย บอกกล่าว แสดงความคิดเห็นต่อประชาชน โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังอานนท์ นำภา และทีมทนายความทำหน้าที่ว่าความที่ศาลอาญาเสร็จในเวลาประมาณ 17.00 น. โดยก่อนหน้านั้น ทีมทนายความสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายสิบนายอยู่รอบๆ ศาล กระทั่งวนเวียนดูหน้าห้องพิจารณาคดีที่อานนท์ว่าความ ทีมทนายได้ออกจากศาลอาญาในเวลา 19.10 น. กลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงเข้าแสดงหมายจับของศาลอาญาต่ออานนท์ จากกรณีการร่วมปราศรัยที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในกิจกรรม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมในธีมแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยระบุข้อกล่าวหาในหมายจับ 4 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, เป็นผู้ร่วมจัดชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ก่อนนำตัวอานนท์ขึ้นรถเดินทางไปยัง สน.ชนะสงคราม โดยมีทนายความร่วมเดินทางไปด้วย

    เมื่อนำตัวถึง สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า หลังทำบันทึกจับกุมที่นี่แล้ว จะนำตัวไปทำสอบสวนที่ สน.ห้วยขวาง แต่เมื่อมีประชาชนและนักการเมืองที่ทราบข่าวการจับกุมทยอยเดินทางมาให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นรั้วรอบบันไดทางขึ้นสถานีตำรวจ ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นยกเว้นทนายความเข้า และได้เปลี่ยนมาสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ

    เวลา 21.20 น. ตำรวจอ่านบันทึกจับกุมให้อานนท์ฟัง จากนั้นอานนท์ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นตำรวจ เนื่องจากยังมีภารกิจต้องไปว่าความ โดยใช้เงินสด 150,000 บาท และตำแหน่ง ส.ส. ของรังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล

    จนเวลา 23.10 น. พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยอ้างว่ายังสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี พร้อมทั้งยืนยันว่าจะนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาวันรุ่งขึ้น

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การในรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้ ยอมรับว่า ข้อความที่พนักงานสอบสวนให้ดูและลงชื่อรับรองเป็นข้อความที่ได้โพสต์จริง และประสงค์ให้พนักงานสอบสวนแจ้งว่า โพสต์ใดที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะมองว่าข้อความที่โพสต์ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กระทำไปโดยสุจริตตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อความใดเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 และกฎหมายอื่น

    นอกจากนี้ การปราศรัยข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ผู้ต้องหาได้รับเชิญในฐานะผู้ปราศรัยไม่ใช่ผู้จัด เนื้อหาที่ปราศรัยอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นเนื้อหาทางวิชาการ อีกทั้งเป็นการอภิปรายในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

    ผู้ต้องหาได้ปราศรัยอย่างตรงไปตรงมา ตามหลักวิชา มีเจตนาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่มีการขยายพระราชอำนาจ รวมทั้งการปราศรัยในเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริง ที่มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่กับสังคมไทยในระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

    ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อานนท์ให้การว่า เงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมตามหนังสือสรุปสาระสำคัญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอานนท์ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ

    เสร็จการสอบสวน ตำรวจได้ควบคุมตัวอานนท์ไว้ที่ สน.ชนะสงคราม รอส่งฝากขังในช่วงเช้า

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 19 ส.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/20540)
  • เวลา 09.10 น. พนักงานสอบสวนได้ให้แพทย์ตรวจร่างกายอานนท์ ก่อนนำตัวขึ้นรถเพื่อไปขอฝากขังต่อศาลอาญา ก่อนรถเคลื่อนออกจาก สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายค้น เลขที่ 609/2563 ซึ่งอนิรุจ ใจเพียง ผู้พิพากษาศาลอาญา อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย เข้าค้นที่พักของอานนท์ ตามคำร้องของกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อค้นหาสิ่งของที่จะเป็นพยานหลักฐานในคดีหรือมีไว้เป็นความผิด หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด และอนุญาตให้ทำการค้นตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น

    อานนท์ได้เขียนหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความ 2 คน และเจ้าของห้องพักร่วมกระบวนการตรวจค้นแทน และขอสงวนเงื่อนไขไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในห้องพักอย่างเด็ดขาด

    11.09 น. อานนท์ถูกควบคุมตัวถึงศาลอาญา และถูกนำตัวเข้าห้องควบคุมตัวชั่วคราวใต้ถุนศาล ขณะที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขัง และคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ระบุว่า หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ขณะทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง

    คำร้องขอฝากขังระบุพฤติการณ์ในคดีใจความว่า ก่อนเกิดเหตุ ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ขอจัดชุมนุม มาแจ้งความประสงค์ เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะ ที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 ระหว่างเวลาประมาณ 18.00 - 22.00 น. สน.ชนะสงคราม ทําหนังสือเรื่องสรุปสาระสําคัญการชุมนุมสาธารณะแจ้งให้ผู้ ขอจัดชุมนุมทราบ

    ต่อมาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมใต้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัย โจมตีรัฐบาล และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจํานวน 3 ข้อ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา การปราศรัย ใช้เครื่องกระจายเสียง ต่อมาเวลาประมาณ 19.48 น. อานนท์ นําภา ผู้ต้องหานี้ ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ขึ้น ปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุมโดยเนื้อหาปราศรัยได้กล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้ชุมนุมคล้อยตาม เกลียดชัง และต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

    ต่อมาจากการตรวจสอบพบว่า ก่อนเกิดเหตุ อานนท์ได้ใช้เฟซบุ๊กของตนเอง โพสต์ข้อความชักชวนให้ประชาชนทั่วไปมาชุมนุมในวันเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุได้โพสต์แถลงการณ์กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด ซึ่งเป็นข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความ ปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

    แท้จริงแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมมีเจตนาแอบแฝง มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันทํา โดยมีจุดประสงค์ในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งถือว่าเป็นการกระทําผิดเงื่อนไขของข้อกําหนดที่เจ้าพนักงานแจ้งไว้ในหนังสือสรุปสาระสําคัญการชุมนุม

    11.43 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นเดินทางมายังบริเวณด้านล่างที่พักของอานนท์ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 8 นาย ในเครื่องแบบ 1 นาย ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เดินทางมาสมทบ จนกระทั่งเวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจตามหมายค้น 4 นาย จากกองบังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล และรองผู้กำกับการสอบสวน สน. ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบอย่างละ 2 นาย เริ่มเข้าตรวจค้นห้องพัก

    12.30 น. หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจเข้าตรวจค้นห้องพักของอานนท์ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที แล้วไม่พบสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี หรือสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด ตามหมายค้น เจ้าหน้าที่จึงยุติการตรวจค้น

    เวลา 15.00 น. ศาลทำการไต่สวนคำร้องของฝากขัง พนักงานสอบสวนแถลงว่า คดีมีความจําเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาระหว่างทําการสอบสวน เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติม ด้านอานนท์และทนายความแถลงว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งเป็นผู้ต้องหาคดีอื่นซึ่งอยู่ในอํานาจศาลอาญาอยู่แล้ว และให้ความร่วมมือในการจับกุมแต่โดยดี การกระทําของผู้ต้องหายังเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับพนักงานสอบสวนสามารถทําการสอบสวนได้โดยไม่ต้องฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลก็ได้ จึงไม่มีความจําเป็นยื่นคําร้องฝากขัง

    16.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังระหว่างสอบสวน ก่อนที่ทนายความดำเนินการยื่นขอประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ แต่ใช้ตำแหน่งนักวิชาการ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว กำหนดวงเงินประกัน 100,000 บาท โดยยังไม่ต้องวางหลักประกัน เมื่อผิดสัญญา จึงจะบังคับเอาหลักประกัน ศาลยังกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน นัดรายงานตัววันที่ 7 ต.ค. 2563

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา ลงวันที่ 20 ส.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/20540)
  • อานนท์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่ สน.ชนะสงคราม ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงในคดีเพิ่มเติมระบุว่า จากการสอบสวนเพิ่มเติมได้ความว่าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ผู้มาชุมนุมมีการป้องกันเบื้องต้นโดย การสวมใส่หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูก แต่ไม่พบเห็นการตั้งวางแอลกอฮอล์เจลในบริเวณรอบๆ ทั้งไม่พบว่า มีจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อ หลักการป้องกันต้องมีการเว้นระยะทางอย่างน้อย 1 เมตร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการคัดกรองในลักษณะ อาการไข้ ไอ จาม ควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรม จัดให้มีการนําเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือนํามาทําความสะอาดมือของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และมีการตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้อานนท์ทราบเพิ่มเติมว่า มีความผิดฐาน เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 การห้ามชุมนุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการอันเป็นการยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ประกาศกําหนด, ฉบับที่ 5 ข้อ 2(2) ห้ามจัดมี กิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย, ฉบับที่ 13 ข้อ 1 ข้อ 5 ผู้จัดกิจกรรมต้องจัดให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทําอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

    อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาที่แจ้งให้ทราบเพิ่มเติม

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 10 ก.ย. 2563)
  • หลังจากครบฝากขัง 48 วัน ยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล เมื่ออานนท์มารายงานต่อศาลแล้ว ศาลจึงไม่มีนัดครั้งต่อไป แต่พนักงานสอบสวนได้นัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 โดยอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 พ.ย. 2563 เวลา 10.00 น.
  • อานนท์เดินทางไปฟังคำสั่งอัยการ แต่อัยการยังไม่มีคำสั่ง และนัดฟังคำสั่งครั้งต่อไปวันที่ 25 ม.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • เลื่อนฟังคำสั่งจากวันที่ 25 ม.ค. เป็นวันนี้ อัยการนัดฟังคำสั่งครั้งต่อไปวันที่ 3 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • หลังอานนท์ถูกขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำาจคืนราษฎร ตั้งแตวันที่ 9 ก.พ. 2564 โดยศาลไม่ให้ประกันตัว วันนี้ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ได้เดินทางเข้าพบอานนท์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีนี้ พร้อมทั้งสอบคำให้การในเรือนจำเป็นเวลา 2 วัน

    เนื้อหาในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมระบุว่า ได้มีหนังสือจากสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สํานักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 16 ก.พ. 2564 แจ้งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากคณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของอานนท์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    เดิมในคดีนี้ อานนท์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอานนท์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

    พนักงานสอบสวนได้กล่าวหาอานนท์จากพฤติการณ์ว่า ในช่วงราว 16.40 น. ของวันที่มีการชุมนุม เริ่มมีผู้ปราศรัยหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันขึ้นพูด จนกระทั่งเวลาราว 19.45 น. อานนท์ได้ขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีชุมนุม โดยมีเนื้อหาที่กล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้คนคล้อยตาม ต้องการให้ผู้ชุมนุมเกลียดชังสถาบันฯ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

    จากนั้นได้มีถอดความคำปราศรัยของอานนท์อย่างละเอียด ครอบคลุมในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์, การที่คนในสังคมออกมาตั้งคำถามในหลายประเด็นต่อสถาบันกษัตริย์, การที่กษัตริย์มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการจัดการหน่วยงานในพระองค์, การที่เข้าแทรกในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ, การที่กษัตริย์ทรงประทับในต่างประเทศโดยไม่ได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, การโอนย้ายทรัพย์สินที่เคยเป็นของสาธารณะเข้ามาอยู่ในการจัดการของกษัตริย์เอง, การประกาศใช้ พ.ร.บ.โอนกำลังพลทหารฯ ดึงเอากรมทหารราบที่ 1 และ 11 ให้เข้ามาเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและการไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้

    นอกจากนั้น ในการปราศรัย อานนท์ยังได้แสดงเจตนารมณ์ในการออกมาปราศรัยครั้งนี้ ว่าตนต้องการให้สถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ในสังคมไทยได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อเสนอในการแก้กฎหมายเพื่อให้นำทรัพย์สินที่ถูกโอนให้สถาบันกษัตริย์ ให้โอนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเคย

    ++19 ประเด็นปฏิรูปสถาบันและถ้อยคำประกาศเจตนารมณ์ของ อานนท์ นำภา++

    ในขั้นตอนสอบคำให้การ อานนท์ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้ให้การในรายละเอียดในแต่ละข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด โดยแบ่งเป็น 19 ประเด็น อีกทั้งยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้

    1. “เพื่อการอภิปรายที่กระชับมากขึ้น แนะนําให้ผู้ร่วมชุมนุมเย็นนี้อ่านบทความในหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ ก่อนฟังอภิปราย เพราะวันนี้อาจไม่ได้เท้าความไปไกลมากนัก อยากอภิปรายในเรื่องปัจจุบันมากกว่า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยื่นฟ้องก็พระมหากษัตริย์และพระราชินี ในความผิดข้อหาโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาศาลได้มีคําสั่งคําพิพากษาให้ฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องถูกอายัดทรัพย์สินรวมทั้งยึดวังสุโขทัยไว้ด้วย”

    ในประเด็นนี้ อานนท์อธิบายว่า ถ้อยคําปราศรัยดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง กล่าวโดยสุจริต และเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จึงขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสาร ได้แก่ 1.) เอกสารสํานวนคดีระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ กับ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จําเลย ฉบับรับรองสําเนาถูกต้อง 2.) ขอให้ออกหมายเรียกสําเนาโฉนดที่ดินและสารบบที่ดินทั้งหมดของวังสุโขทัยฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดี และขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคล ได้แก่ 1.) ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2.) ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 3.) นายณัฐพล ใจจริง มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

    เหตุที่ต้องพูดและหยิบประเด็นในนี้ขึ้นมาอภิปราย เนื่องจากมีการออกกฎหมายถ่ายโอนทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามคําพิพากษาที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ หรือการโอนหุ้นในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย และบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเดิมหุ้นถูกถือในนามของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    2. “เราต้องยอมรับความจริงว่าที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุม เรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการจะตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ในเวทีชุมนุมมีการชูป้ายกล่าวอ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเยอรมัน (โห่ร้อง) มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นนักบิน บินไปบินมา คํากล่าวอ้างเหล่านี้จะหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราครับพี่น้อง (ปรบมือ)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การขยายความว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชสมัย ประชาชนได้ตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถูกกดทับและปิดกั้นไม่ให้มีการพูดในที่สาธารณะ จนสิ่งที่ถูกกดทับไว้ได้ระเบิดออกมาภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้แสดงความกล้าหาญลุกขึ้นหยัดยืนขึ้นมาพูดถึงต้นตอของปัญหาของสังคมไทย การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทําให้คนรุ่นใหม่หมดความอดทนต่อสังคมอันโสมม

    การชุมนุมต่อเนื่องในหลายมหาวิทยาลัยสะท้อนความกล้าหาญของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและมุ่งเน้นในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันโดยการใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบ ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ แต่นั่นไม่อาจทําให้ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา คนรุ่นใหม่ที่แสดงออกเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ได้เลย หากไม่ถูกพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือที่มาของการปราศรัย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในนามของ “แฮรี่ พอตเตอร์” ซึ่งเป็นการพูดอย่างเคารพต่อตัวเอง ผู้ฟัง และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

    ผู้ต้องหาเชื่อว่า การพูดอย่างตรงไปตรงมา สถาบันกษัตริย์เองจะใจกว้างและสังคมจะใจกว้าง เปิดใจรับฟังปัญหาอย่างมีวุฒิภาวะ อันจะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมด้วยวิธีการสันติวิธีและจะทําให้แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

    3. “การตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมาและบริหารไปตามพระราชอัธยาศัย การที่บอกว่าบริหารไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น แปลเป็นภาษาบ้านเราคือบริหารไปตามใจของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นการออกแบบกฎหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การว่า ข้อความข้างต้นเป็นที่มาของคําว่าการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ห่างจากระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือ เมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากว่า ระบอบเดิมไม่ได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้มีสิทธิเสรีภาพ ประชาชนถูกปิดกั้นกดขี่อย่างไม่ชอบธรรม และการปกครองนั้นไม่ได้ถูกตรวจสอบ รายละเอียดปรากฏตามแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งทางผู้ต้องหาได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่ครอบครองเอกสารดังกล่าวฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดีด้วย

    อานนท์ยังกล่าวอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น หมายถึง การปกรองที่อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถกําหนดผู้แทนเข้าไปใช้อํานาจในการบริหารประเทศ ในการตรากฎหมาย และมีศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งอํานวยความยุติธรรมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์พระมหากษัตริย์ต้องดํารงตนเป็นหลักชัยแห่งสิทธิเสรีภาพและร่วมปกป้องระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งทําหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด เป็นประมุขของรัฐที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง

    กระบวนการขยายพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์ให้ถอยห่างออกจากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังหมายรวมถึงการให้การรับรองอํานาจของคณะบุคคลซึ่งก่อการรัฐประหาร การใช้อํานาจจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารด้วยตนเอง ซึ่งขัดกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง ดังจะเห็นได้จากการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนพระองค์ เป็นต้น การกระทําดังกล่าวมีการจําเป็นจะต้องหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง พระมหากษัตริย์จะลงมาปกครองด้วยตัวเองไม่ได้ นี่คือหลักการสําคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ต้องหาจะให้การในรายละเอียดต่อไป

    4. “พอมีการผ่านการออกเสียงประชามติมา เกิดการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก คือเมื่อมีการผ่านประชามติออกมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา นํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าพระมหากษัตริย์รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญในสาระสําคัญอยู่หลายประการ ซึ่งถ้าในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหตุการณ์นี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงจะต้องทําให้เป็นไปตามกฎหมาย กรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนแล้ว พลเอกประยุทธ์ฯ ได้นําขึ้นทูลเกล้าถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฯ แต่พระมหากษัตริย์ได้ทรงให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ได้มีการลงประชามติแล้ว ปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ และพลเอกประยุทธ์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญบางส่วน

    อานนท์ยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับลงประชามติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ประกาศใช้ เข้ามาในสํานวนคดี และขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานบุคคล ดังนี้ 1.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสอบถามในประเด็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติที่ได้เสนอทูลเกล้าให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้นมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ส่วนฉบับที่ได้มีการประกาศใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง เนื้อหาทั้งสองฉบับแตกต่างกันอย่างไร บุคคลใดเป็นผู้สั่งการให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงฉบับที่ผ่านการลงประชามติไปแล้ว

    ส่วนอีกประเด็นคือ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วนั้นสามารถทําได้หรือไม่ และการที่พระมหากษัตริย์มีคําสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมนั้นทําได้หรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก 1.) อาจารย์ธีระ สุธีวรางคกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.) อาจารย์ชํานาญ จันทร์เรือง มาให้การในประเด็นดังกล่าว

    5. “การแก้ไขให้พระมหากษัตริย์กรณีที่ไม่อยู่ในประเทศไทยเนี่ยไม่ต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เราจึงได้เห็นพระมหากษัตริย์ของเราเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาที่ประเทศไทย ข้อเท็จจริงนี้พี่น้องทุกคนทราบ ทหาร ตํารวจทุกคนทราบ”

    อานนท์ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยขอให้เรียกบุคคล ดังต่อไปนี้มาให้การยืนยัน 1.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ 2.) เอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศเยอรมัน 3.) เลขาธิการพระราชวัง มาให้การในประเด็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงประทับอยู่ในประเทศไทยช่วงใดบ้าง เสด็จไปประเทศเยอรมันช่วงใดบ้าง เสด็จไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ช่วงใดบ้าง ในช่วงที่พระองค์เสด็จไปนั้นได้มีการแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ หากแต่งตั้งได้ แต่งตั้งใคร ให้เรียกคําสั่งแต่งตั้งเข้ามาในสํานวนคดีด้วย

    ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเข้ามาในสํานวนคดี เพื่อเปรียบเทียบว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเขียนไว้ว่า กรณีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ไม่จําเป็นต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

    อานนท์ให้การอีกว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบต่อประเทศ นั่นคือต้องประทับอยู่เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย รวมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าที่ในการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ หรือเรื่องต่างๆ การที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จไปประทับต่างประเทศโดยไม่ตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์จึงกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มีกฎหมายบางฉบับต้องรอให้เสด็จกลับมาประเทศไทยก่อนถึงจะสามารถลงพระปรมาภิไธย หรือการแต่งตั้งข้าราชการ หรือแต่งตั้งตุลาการ ทําให้บ่อยครั้งเกิดความล่าช้าเกินสมควร อานนท์ยืนยันว่า ตนได้ปราศรัยไปด้วยเจตนาที่ห่วงใยต่อประเทศชาติ ไม่ได้มีเจตนาจะใส่ร้ายหรือดูหมิ่นบุคคลใด หากไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาก็ยากที่จะแก้ไข

    6. “ต่อไปนี้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พวกเราเป็นเจ้าของรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวงไม่ว่าจะเป็นพระราชวังไม่ว่าจะเป็นหุ้นซึ่งเดิมเป็นของพวกเราทุกคนที่ประเทศ ของเรารวมกันเนี่ย ต่อไปนี้จะตกเป็นของพระมหากษัตริย์บริหารราชการแผ่นดินไปโดยตามพระราชอัธยาศัยครับพี่น้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สําคัญแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึง”

    อานนท์ให้การว่า ข้อเท็จจริงที่ปราศรัยเรื่องพระราชอํานาจในการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นที่ชัดเจนตามพระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และ 2561 ทรงสามารถจัดการทรัพย์สินไปได้ตามพระราชอัธยาศัย ถ้อยคำปราศรัยที่พูดไปนั้นก็เพื่อที่จะไม่ให้ทรัพย์อันเป็นของราชบัลลังก์ถูกเปลี่ยนมือ เป็นเจตนาที่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเชื่อว่าคนในสังคมก็เห็นด้วยแต่ไม่กล้าพูดในประเด็นนี้ การเปลี่ยนมือดังกล่าวเริ่มกระทําอย่างซ้ำๆ เช่น หุ้นของ SCB และหุ้นของ SCG

    7. “เท่านั้นยังไม่พอ การที่แปรสภาพให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในการบริหารของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวส่งผลทําให้เกิดโทษทางกฎหมายอีกอย่างหนึ่ง คือกรณีที่ในหลวงของพวกเราเนี่ยไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมันตามกําหนดเวลาของแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน กฎหมายอาจจะต้องบังคับให้เสียภาษีหลายหมื่นล้าน ถามว่าเงินจํานวนหลายหมื่นล้านนั้น มันเป็นของใคร ก็เป็นพวกเราทุกคนเนี่ยแหละครับ”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    8. “การที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับในประเทศ ถามว่าปัญหาเกิดขึ้นคืออะไร ปัจจุบันนี้ เราถูกฝรั่งมังค่าต่างชาติ นําเอากษัตริย์ของเราไปล้อเล่นที่เยอรมัน ไปฉายเลเซอร์ ไปให้เด็กใช้ปืนอัดลม ก่อการที่ไม่บังควร เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศ รวมทั้งกรณีที่จะตั้งรัฐมนตรี เข้าไปถวายสัตย์ปฏิบัติหน้าที่ ทําไม่ได้ ต้องรอให้กษัตริย์กลับมาประเทศก่อน ปัญหานี้ทุกคนรู้ เจ้าหน้าที่ตํารวจทุกคนรู้ แต่ไม่กล้าพูดถึง ทุกคนที่มาชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ที่ชูป้ายเรื่องเหล่านี้ทุกคนรู้ แต่ไม่มีใครพูดถึง”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    9. “พระราชบัญญัติโอนกําลังพลทหาร กรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปให้สถาบันพระมหากษัตริย์เนี่ยดูแลปกครองไปตามพระราชอัธยาศัย กรณีนี้สําคัญนะครับ ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนให้กษัตริย์มีอํานาจดูแลปกครองทหารเป็นจํานวนมากขนาดนี้ ไม่มีครับ การทําเช่นนั้นมันสุ่มเสี่ยง สุ่มเสี่ยงต่อการทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    10. “นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    11. “เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ตามระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม หลังจากปีใหม่มานี้ ทุกคนรู้เรื่องนี้ นักศึกษาทุกคนที่ชูป้ายข้อความสองแง่สองง่าม กล่าวถึงบุคคลที่ผมกล่าวมาแล้ว”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    12. “การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ สํานักพระราชวัง ยังนิ่งเฉยอยู่ทั้งที่รู้อยู่ว่า มีบุคคลมาแอบอ้างแล้วมาทําลายล้างราษฎรเนี่ย ยังนิ่งเฉยอยู่ มันก็อดทําให้เราตั้งคําถามไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น คิดกับเรายังไง มันอดไม่ได้จริงๆ (ปรบมือ)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    13. “ถ้าใครมาเชิญผมขึ้นเวทีให้ปราศรัยแล้วให้ผมพูดบิดเบือน ไม่กล่าวถึงปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ผมไม่ขึ้นเวที (ปรบมือ)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    14. “ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ทําให้ประเทศนี้ปกครองด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หนึ่งในนั้นคือการตรากฎหมายพระราชบัญญัติ งบประมาณแผ่นดินที่ใช้เงิน ส่งเงินให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้ตรวจสอบการใช้เงินของ สถาบันพระมหากษัตริย์ครับพี่น้อง (ปรบมือ) เรื่องนี้สําคัญการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินของทุก องค์กรต้องถูกตรวจสอบ ต้องถูกวิจารณ์ได้ แต่สําหรับรัฐบาลนี้ไม่มีเรื่องนี้ มีการตั้งงบประมาณในหลายส่วนที่เกินความจําเป็น เช่น งบประมาณกระทรวงพาณิชย์ เอาไปโปรโมทเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อสิริวัณวรี (ปรบมือ) เอางบประมาณแผ่นดินไปโปรโมทยี่ห้อส่วนพระองค์”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    15. “การสนับสนุนงบประมาณในการเดินทาง ในการเดินทางโดยใช้เครื่องบินมากกว่า 5,000 ล้าน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ รัฐบาลโดยรัฐสภา ถ้าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นว่า พระมหากษัตริย์ของเราอยู่ต่างประเทศนานแล้ว ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎร เปิดอภิปรายถวายคําแนะนําให้พระองค์กลับมายังประเทศได้”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    16. “นี่ยังไม่รวมงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไปสร้างซุ้มถวายพระเกียรติ มูลค่าเป็นสิบล้านซึ่งไม่มีความจําเป็นเลย (ปรบมือ) คนจะจงรักภักดี จะศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ใช่ไม่ใช่ (ใช่)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    17. “ผมมีข้อเสนอในการแก้ปัญหา ต่อไปนี้ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งให้สภาเป็นสภาที่มีผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยต้องแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศไทยเพื่อเป็นมิ่งขวัญของพวกเราในประเทศ ไม่ใช่ที่เยอรมัน (ปรบมือ)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    18. “ต่อมาที่ต้องแก้คือการแก้พระราชบัญญัติ ที่ปล่อยให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นของพวกเราที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้มีการถ่ายโอนไปผ่านทางพระราชบัญญัติจัดการบริหารราชการส่วนพระมหากษัตริย์ ดึงกลับมาเป็นของพวกเราทุกคน ต้องแก้ พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น สนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้ว กลับมาเป็นของพี่น้องประชาชนทุกคน (ปรบมือ)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    19. “เราทุกคนต้องช่วยกันส่งเสียงการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคไหนมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันอยู่ที่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มีนโยบายเอาทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะกลับมาเป็นของพวกเรา เลือกพรรคนั้นครับพี่น้อง (ปรบมือ)”

    ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงจํานวนมาก แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงขอจัดทําคําให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและคำให้การผู้ต้องหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 24 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26414)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอานนท์ นำภา ต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10, 14, 15 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ บรรยายฟ้องว่าอานนท์กระทำความผิด รวม 4 กรรม ทั้งนี้ อัยการไม่ได้นัดหมายอานนท์มาส่งฟ้องต่อศาลพร้อมสำนวนฟ้องด้วย

    อัยการยังได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างพิจารณามาในคำฟ้อง โดยอ้างว่า “จำเลยนี้ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหลายครั้ง และหากปล่อยตัวไปอาจกระทำความผิดซ้ำอีก” ทั้งยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกของอานนท์ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นๆ ของศาลอาญาอีก 3 คดี

    ศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 และนัดถามคำให้การในวันที่ 7 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34773)
  • ศาลอาญาเบิกตัวอานนท์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากสถานบำบัดพิเศษกรุงเทพฯ มาถามคำให้การในคดีนี้ ขณะอานนท์ถูกคุมขังอยู่ในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปีม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564

    อานนท์ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น. จากนั้นทนายความได้ยื่นประกันระหว่างพิจารณาในคดีนี้ ด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาท

    เวลา 17.30 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือจะหลบหนีได้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34773)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์ในคดีนี้โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท พร้อมทั้งยื่นประกันชั้นฝากขังในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ด้วย

    เวลา 17.40 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างว่าในคำร้องที่ยื่นต่อศาลนั้น ลายมือและสีน้ำหมึกของผู้มอบฉันทะซึ่งเป็นทนายความผู้ยื่นทำเรื่องขอประกัน แตกต่างจากของผู้รับมอบฉันทะให้ฟังคำสั่งศาลในวันนี้

    โดยได้ระบุคำสั่งว่า “กรณีลายมือและสีหมึกในส่วนของผู้รับมอบฉันทะ แตกต่างจากสำนวนของผู้มอบฉันทะ โดยผู้มอบฉันทะไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงไม่อาจเชื่อได้ว่ามีผู้รับมอบฉันทะจริง”

    ทำให้อานนท์ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป รวมระยะเวลาตั้งแต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกัน เป็นเวลา 52 วันแล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35948)
  • จากคำสั่งยกคำร้องของศาลโดยอ้างเหตุลายมือและสีหมึกของผู้รับมอบฉันทะ แตกต่างจากผู้มอบฉันทะ ทนายความจึงได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์อีกครั้งในวันนี้ โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท เช่นเดิม แต่อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุในคำสั่งว่า "ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม"

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 2 ต.ค. 2564)
  • ทนายความเข้ายื่นประกันอานนท์ในคดีนี้และคดีม็อบ 14 ต.ค. 2563 โดยมีแม่อานนท์เป็นนายประกัน เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุยืนยันว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยพฤติการณ์ต่างๆ ในคดีนี้เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามที่โจทก์ฟ้อง

    นอกจากนี้จำเลยยังเป็นผู้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เดินทางมาตามนัดของตำรวจและอัยการอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งจำเลยเป็นทนายความ การขังจำเลยไว้ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปว่าความตามที่ต้องรับผิดชอบได้ ที่สำคัญที่สุดคือปัจจุบันมีสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และจำเลยเคยติดโควิดในเรือนจำมาแล้ว หากไม่ได้รับการปล่อยตัวก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับการติดเชื้อซ้ำ

    ต่อมา พลีส เทอดไท ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาทั้งสองคดี โดยคดีนี้ระบุว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564)
  • ก่อนหน้าวันนัดผู้รับมอบทนายจำเลยเข้ายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากอานนท์และทนายจำเลยมีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี “ม็อบมุ้งมิ้ง” กรณีปราศรัยในกิจกรรมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ในวันเดียวกัน ซึ่งได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 12 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. และงดหมายเบิกตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
  • ระหว่างการพิจารณาคดี แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 อานนท์ได้เขียนคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ และคดีชุมนุม 14 ต.ค. 2563

    คำร้องของอานนท์ระบุว่า จำเลยเคยยื่นประกันในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้องจำเลย” จำเลยประสงค์ขอยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันนี้ โดยหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ขอศาลได้โปรดบอกหรือชี้แจงเหตุที่อาจทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้แก่จำเลยทราบด้วย เพื่อที่จำเลยจะได้ขวนขวายแสดงเหตุนั้นต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา

    อนึ่ง หากศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าพอจะพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในวันนี้ จำเลยขอขอบพระคุณศาลในการพิจารณาให้สิทธิจำเลยในการประกันตัวออกไปต่อสู้คดีมา ณ ที่นี้ด้วย และหากศาลเห็นว่าจำเป็นต้องไต่สวนจำเลย ขณะนี้จำเลยถูกขังอยู่ที่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอศาลมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนด้วยเพื่อความยุติธรรม

    การยื่นประกันครั้งนี้มีแม่อานนท์เป็นนายประกัน เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาทั้งสองคดี โดยในคดีนี้ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุอื่นที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง มีพฤติการณ์แต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน และศาลไม่อาจทราบว่าเหตุอื่นที่จะมีพฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยเป็นอย่างไร จำเลยต้องเป็นผู้เสนอเหตุในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลพิจารณา ประกอบคดีนี้ศาลเคยสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยหลายครั้ง โดยมีรายละเอียดและเหตุผลตามคำสั่งในคำร้องฉบับลงวันที่ 7 ก.ย. 2564

    อานนท์ถูกคุมขังมาแล้ว 71 วัน โดยปัจจุบันอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36761)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 นักกิจกรรม ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ในทุกคดีที่มีหมายขังของศาลอาญา โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และธีรัจชัย พันธุมาศเป็นหลักประกัน สำหรับอานนท์ทนายได้ยื่นประกันในคดีนี้ และคดี #ม็อบ14ตุลา ปี 2563

    เวลา 15.10 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ คำสั่งในคดีอานนท์ทั้งสองระบุว่า พิเคราะห์แล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลย

    ทำให้อานนท์ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 77 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36989)
  • ที่ศาลอาญา ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 15 นักกิจกรรมและประชาชน ในคดีทางการเมือง รวมทั้งอานนท์ในคดีนี้ด้วย

    เวลา 16.50 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ให้เหตุผลคล้ายกัน โดยในคดีนี้ระบุว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน และเหตุผลอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไม่ไปก่อเหตุอันตรายอีก”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 1629/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37463)
  • ภายหลังศาลอาญามีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันอานนท์ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทนายความได้ยื่นขอประกันอานนท์อีกครั้งในคดีที่เขาถูกหมายขังอยู่ คือคดีนี้และคดี #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

    คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยสรุประบุว่า เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 287/2564 ของศาลนี้ จำเลยได้รับให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตลอดมา โดยศาลมีเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายหรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

    ต่อมาโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้ว และมีคำสั่งไม่เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยแต่มีข้อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เนื่องจากข้อเท็จจริงและข้อกำหนดของศาลข้างต้นเป็นเงื่อนไขและข้อกำหนดเพิ่มเติม และยังชี้ให้เห็นว่าจำเลยมิได้กระทำการผิดเงื่อนไขใดๆ ของศาลอาญาเลย แต่เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีศาล จึงได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้ว

    ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นข้อเท็จจริงใหม่ และเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งย่อมมีผลเพิ่มเติมให้การพิจารณาวินิจฉัยของศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคราวก่อนๆ ประกอบกับข้อหาและฐานความผิดในคดีนี้กับในคดีหมายเลขดำที่ 287/2564 เป็นข้อหาและฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งเป็นเหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลอาญาในคดีนี้ที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้

    เวลา 17.00 น. ชาญชัย ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ในทั้งสองคดี ระบุเช่นกันว่าศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

    ปัจจุบันอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 87 วัน โดยถูกคุมขังจากการไม่ได้รับการอนุญาตประกันตัวใน 3 คดี ประกอบด้วย คดีม็อบแฮรี่พอตเตอร์ 1 วันที่ 3 ส.ค. 2563, คดีม็อบ 14 ต.ค. 2563 เดินทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล และคดีม็อบแฮรี่พอตเตอร์ 2 วันที่ 3 ส.ค. 2564

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37513)
  • ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ใน 2 คดี ได้แก่ คดีนี้ และคดี #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร และมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

    คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ครั้งนี้ นอกจากยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงใหม่ หลังศาลอาญาไม่เพิกถอนประกันในคดีหมายเลขดําที่ 287/2564 ของศาลนี้ หรือคดีชุมนุม 19 ก.ย. 2563 และเป็นการกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งย่อมมีผลให้การพิจารณาของศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคราวก่อนๆ ได้แล้ว ยังได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า จะอยู่ในเคหะสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อการประกอบวิชาชีพทนายความ หรือเหตุอื่น เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ยินยอมติด EM และหากศาลเห็นสมควรกําหนดเงื่อนไขอื่นใด จำเลยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข

    คำร้องยังกล่าวถึง เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้ประกันที่ว่า “ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” นั้น ประเทศไทยนํามาจากกฎหมาย Bait Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกําหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกลับมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายในประเทศแม่แบบมาก ซึ่งนําไปสู่การตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง

    ความหมายของคําว่า “อันตราย” กฎหมาย Bait Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคําว่า "Danger to the Community” แต่ได้กําหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ แต่ปัจจัยที่สําคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ การกระทําความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence) นั้นเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence), อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism), การกระทําความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim), การกระทําความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม (Controlled substance) และการใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทําลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device) หรือไม่

    ฐานความผิดเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทําความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กําลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น จึงเห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้ประกันตัวนั้น ต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐ ที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ความหมายของ “อันตรายประการอื่น” จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใดๆ ก็ได้ หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว

    อีกทั้งในการจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว รัฐต้องมีหน้าที่ในการนําสืบข้อเท็จจริงว่า หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้น จะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจําเลยที่จะต้องมานําสืบให้ศาลเห็นว่า หากตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนจะไม่หลบหนีหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง

    อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นว่ายังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนเพียงพอ ขอให้นัดไต่สวนในวันที่ 12 พ.ย. 2564 เวลา 13.00 น. โดยในวันดังกล่าวจําเลยจะต้องถูกเบิกตัวมาที่ศาลอาญาในคดีนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสจําเลยได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วย

    เวลา 15.30 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ในทั้งสองคดี ระบุว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตลอดมา จนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ศกนี้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คงให้ขังจำเลยไว้ โดยเหตุเกรงว่าจำเลยจะก่อเหตุร้าย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) เช่นเดิม”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37592)
  • ตั้งแต่ในช่วงเช้า บริเวณทางเข้าศาล มีการตั้งจุดคัดกรอง โดยตำรวจศาลได้ขอตรวจบัตรผู้ที่จะเข้าห้องพิจารณาในคดีของอานนท์ทั้งหมด แม้มีคดีอื่นๆ ที่นัดสืบพยานในห้องพิจารณาเดียวกัน โดยมีครอบครัวของอานนท์และมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

    ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีทุกคน ยกเว้นทนายความและอัยการต้องฝากโทรศัพท์มือถือไว้หน้าห้องพิจารณา

    เวลา 9.00 น. ศาลอ่านคำฟ้องให้อานนท์ฟังอีกครั้ง โดยอ่านข้อกล่าวหาและเนื้อหาคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหา พร้อมสอบถามอานนท์ว่าจำเป็นต้องอ่านทั้งหมดหรือไม่ พอจะจำได้หรือไม่ว่าปราศรัยลักษณะนี้หรือเปล่า

    อานนท์แถลงต่อศาลว่า หากตอบตามตรงคงจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากการปราศรัยเกิดขึ้นประมาณปีเศษมาแล้ว แต่หากมีการส่งคลิปที่ถอดเทปมา ก็จะสามารถยืนยันได้ ศาลถามว่าอานนท์ได้ปราศรัยเช่นนี้จริงหรือไม่ รับว่าตัวเองขึ้นกล่าวปราศรัยจริง แต่ไม่ขอยืนยันเนื้อหาคำปราศรัยตามฟ้องของอัยการ เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานาน

    ศาลสอบถามว่า ฝ่ายโจทก์และจำเลยจะมีพยานปากใดที่รับข้อเท็จจริงกันได้บ้าง ทนายความของอานนท์ได้ขอตรวจสอบบันทึกการจับกุมและบันทึกการตรวจร่างกายของแพทย์ จากนั้นได้แถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารในบันทึกทั้งสองฉบับ

    อัยการโจทก์แถลงว่าจะตัดพยานทั้งสองปากออกไป ทำให้คงเหลือพยานทั้งสิ้น 18 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา ประจักษ์พยาน ผู้ตรวจพิสูจน์บันทึกคำปราศรัย นักวิชาการด้านสาธารณสุข ผู้อ่านบันทึกถอดคำปราศรัย และพนักงานสอบสวน พร้อมกับมีพยานหลักฐานเป็นแผ่นดีวีดีบันทึกเหตุการณ์รวม 4 แผ่น กับข้อมูลในแฟลชไดรฟ์

    ฝ่ายจำเลยแถลงประสงค์จะนำสืบพยานบุคคลรวม 23 ปาก ศาลได้ถามรายละเอียดเกี่ยวกับพยานแต่ละปาก ซึ่งมีทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, นักการทูต, ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงผู้อำนวยการศาลแพ่ง

    นอกจากนี้ยังมีรายการเอกสารจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับคำปราศรัยของอานนท์ หนึ่งในนั้นคือเอกสารคำฟ้องและคำพิพากษาคดีแพ่ง ที่กระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโจทก์ฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินจากรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2482 แต่ศาลกล่าวในทันทีว่าคงไม่สามารถเรียกเอกสารฉบับนี้มาให้ได้ ทนายจำเลยแถลงว่าหากศาลไม่เรียกเอกสารมา จำเลยเกรงว่าจะไม่สามารถขอคัดถ่ายได้ด้วยตนเอง เนื่องจากไม่ใช่คู่ความ ซึ่งเคยมีกรณีที่ศาลไม่ให้คัดถ่ายเอกสารมาแล้ว ศาลกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปหาวิธีนำเอกสารมาเอง

    ศาลกล่าวอย่างหนักแน่นหลายครั้งว่าจะไม่มีการเรียกเอกสารระหว่างศาลมาอย่างแน่นอน เนื่องจากมีช่องทางให้จำเลยไปขอคัดถ่ายอยู่ ทั้งนี้ทนายความยังได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานปากผู้อำนวยการศาลแพ่ง มาเบิกความเพื่อยืนยันเอกสารข้างต้น แต่ศาลยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานปากนี้ ทนายจึงแถลงคัดค้าน และศาลได้บันทึกการคัดค้านไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา

    ทนายจำเลยยังได้ขออนุญาตศาลให้กำหนดวันนัดพร้อม 1 นัด เพื่อเบิกตัวทนายอานนท์มาดูคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดูคลิป เบื้องต้นศาลแจ้งให้ทนายความตรวจดูแทนตัวจำเลย แต่ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยควรจะต้องตรวจสอบด้วยตนเอง เพราะทนายไม่อาจทราบรายละเอียดได้ทั้งหมด และในอีกคดีหนึ่งในศาลแห่งนี้ ก็เคยอนุญาตให้มีการกำหนดวันนัดให้อานนท์ได้ตรวจดูคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์มาก่อนแล้ว

    ศาลจึงอนุญาตให้กำหนดวันนัดและให้เบิกตัวจำเลยมาดูคลิปบันทึกเหตุการณ์ พร้อมกำหนดวันนัดสืบพยานให้ฝ่ายโจทก์จำนวน 5 นัด และฝ่ายจำเลยจำนวน 6 นัด รวมสืบพยาน 11 นัด

    ก่อนเสร็จสิ้นการพิจารณา ทนายจำเลยยังได้แถลงความกังวลเกี่ยวกับเอกสาร โดยขอให้ศาลทบทวนเรื่องการเรียกเอกสารเกี่ยวกับคำฟ้องและคำพิพากษาคดีแพ่ง แต่ศาลยังคงยืนยันว่าจะยังไม่ออกหมายเรียกในตอนนี้ รวมถึงการเรียกพยานบุคคลและเอกสารที่ถูกระบุไว้ในรายการพยานของจำเลยอื่นๆ ด้วย โดยจะต้องไปปรึกษาหารือและพิจารณาก่อนว่าจะออกหมายเรียกให้ในรายการใดบ้าง ในส่วนของศาลแพ่ง ศาลขอให้ทนายจำเลยลองไปขอคัดถ่ายเอกสารดูก่อน

    ต่อมาคู่ความได้ตกลงนัดหมายวันสืบพยานในคดี ได้แก่ สืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 1-4 และ 8 พ.ย. 2565 นัดสืบพยานจำเลย ในวันที่ 22 พ.ย. 2565 และวันที่ 6, 8-9, 22-23 ธ.ค. 2565
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ในคดีนี้และทุกคดีของศาลอาญาที่มีหมายขัง รวมถึงยื่นประกันแกนนำ "ราษฎร" อีก 3 คนด้วย

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งเหมือนกันในทุกคำร้อง นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. โดยให้เบิกจำเลยไต่สวนทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 1629/2564 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2564)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่างๆ และทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าวันนัด ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวทั้ง 4 คน มาไต่สวนที่ศาล

    บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.50 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 นาย คุมตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้องพิจารณา ครอบครัวและประชาชนที่มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปสวมกอดและทักทาย ในช่วงเวลาที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่ม

    ++“อานนท์ นำภา” ชี้ ติดคุกว่าความไม่ได้ ศาลยังคงไม่ได้ประกันตัวคดีอื่น แม้ศาลเคยยกคำร้องขอถอนประกันมาแล้ว++

    เวลา 11.20 น. อานนท์เข้าเบิกความว่า ตนจบเนติบัณฑิตรุ่น 62 ประกอบอาชีพทนายความมา 13 ปี ในคดีนี้ตนถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างถูกคุมขังครั้งก่อน ตนได้ติดโควิดในเรือนจำเมื่อช่วงกลางปี และปัจจุบันยังมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยง่าย

    กอปรกับการที่ตนประกอบอาชีพทนาย การทำหน้าที่ว่าความในคดีต่างๆ ทำได้ลำบาก เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ หลายคดีต้องเลื่อนการพิจารณา ทั้งที่เดิมในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ตนเป็นจำเลย ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมามีพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไข ที่ตนเข้าร่วมชุมนุมทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ก่อนศาลสั่งให้มีการไต่สวนและยกคำร้องโจทก์ไป โดยวินิจฉัยว่าตนไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข

    เหตุที่ตนไม่ได้ประกัน หลังยื่นขอประกันหลายครั้ง เนื่องจากศาลให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หากแต่ก่อนหน้านั้น ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำที่ถูกร้องให้เพิกถอนประกันนั้นไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไข

    สำหรับคดีที่ถูกฟ้องใหม่ เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนการไต่สวนถอนประกัน และหลังจากที่ไต่สวนเสร็จแล้ว ตนถูกเพิ่มเงื่อนไขอีก 2 ข้อ คือ ห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) แต่ยังไม่ได้ปฎิบัติตาม เนื่องจากถูกขังตามหมายขังคดีอื่นๆ

    ก่อนศาลถามว่า เคยถูกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลไหม อานนท์ตอบไม่เคย

    ++อนุญาตอัยการยื่นคำคัดค้าน ก่อนนัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.++

    เวลา 14.45 น. ภายหลังศาลไต่สวนจำเลยพร้อมทั้งพยานแล้ว ได้กล่าวกับจำเลยว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

    นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน

    จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564

    อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้

    ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

    หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

    ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในเวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38980)
  • เวลา 13.30 น. ศาลได้เบิกตัวอานนท์, พริษฐ์ และภาณุพงศ์ รวมทั้งจตุภัทร์ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยแต่อย่างใด

    เวลา 14.10 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งไม่ให้ประกันทั้งหมด กรณีของอานนท์ระบุเหตุผลว่า

    “พิเคราะห์แล้ว ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาเห็นว่า เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยในการแสดงออก ปราศรัย หรือชักนำในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ประกอบกับจำเลยถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้ที่ศาลนี้และศาลอื่นหลายคดี

    กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้องหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในชั้นนี้จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลสั่งไว้โดยชอบแล้ว ยกคำร้อง”

    ศาลยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอยากให้ประกันมากนะ แต่เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อปล่อยตัวออกมาแล้วก็จึงมีคำสั่งแบบนี้ ขนาดนี้วันนี้ยังมีเลย” และกล่าวต่ออีกว่า “ในชั้นนี้มีคำสั่งไม่ให้ประกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ครั้งหน้าจะไม่ให้ประกันนะ”

    หลังผู้พิพากษาเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป แม่ของภาณุพงศ์ จตุภัทร์ และอานนท์ ทยอยเดินไปที่ด้านหน้าของห้องพิจารณาเพื่อสับเปลี่ยนกันพูดคุยกับลูกของตัวเองผ่านจอวิดีโอ แม่ของอานนท์พูดเป็นภาษาอีสานใจความว่า “คิดถึงลูกนะ ขอให้เข้มแข็ง”

    ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า ได้จัดกิจกรรมจับตาผลการให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย โดยได้นัดหมายมวลชนไปรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลอาญาเพื่อรอรับเพื่อนกลับบ้านตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และจัดกิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” โดยนัดหมายประชาชนให้เริ่มต้นเดินตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอล์ในเวลา 11.00 น. เพื่อเดินไปจนถึงศาลอาญา รัชดาฯ

    ภายหลังมวลชนเดินทางมาถึงหน้าศาลอาญาในเวลาประมาณ 13.30 น. และต่อมาทราบว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย กลุ่มมวลชนได้จัดกิจกรรมพูดปราศรัยเกี่ยวกับการไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงของศาลและสถาบันตุลาการ รวมไปถึงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น เผาชุดครุยผู้พิพากษา เผาหนังสือประมวลกฎหมายอาญา และขีดเขียนพ่นสีสเปรย์ที่ป้ายของศาลอาญา เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรมไทย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39156)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ อานนท์ นำภา ในคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีหมายขังทั้งหมดของศาลอาญา ในส่วนของอานนท์รวมแล้ว 9 คดี ประกอบด้วย คดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563, คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563, คดี #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563, คดี #ม็อบ17พฤศจิกา63 ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563, คดี #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563, คดีชุมนุม #ปลดอาวุธศักดินาไทย หน้าราบ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563, คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563, คดีปราศรัยหน้า สน. บางเขน 21 ธ.ค. 2563 และคดีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 3 ข้อความ ช่วง 1-3 ม.ค. 2564

    สำหรับคดีของศาลอาญาข้างต้น อานนท์เคยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และศาลเคยให้มีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาก็ยังยืนกรานไม่ให้ประกัน ‘เพนกวิน-อานนท์-ไมค์-ไผ่’ ในครั้งนั้น อ้างเหตุว่า “เกรงว่าจะกระทำผิดซ้ำ”

    การยื่นประกันในครั้งล่าสุดนี้ อานนท์ได้ระบุในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีของทุกศาลเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาว่า จะไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่เดินทางออกนอกประเทศ และพร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้ง รวมถึงยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ทั้งยังมีคำร้องเพิ่มเติมเข้ามาว่า

    1. นับจนถึงวันนี้จําเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งในคดีนี้พยานโจทก์และพยานจําเลยมีจํานวนมาก ยังไม่อาจกําหนดได้ว่าจะสามารถพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นเมื่อใด และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ในการสืบพยานโจทก์ที่ผ่านมาให้เห็นถึงความผิดของจําเลย
    2. ในคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 ของศาลอาญา (คดี 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ซึ่งมีจําเลยคนอื่น ๆ ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดร่วมกันกับจําเลยทั้งสองนี้ ศาลก็ได้มีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคดีนี้จํานวนหลายคน เช่น ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก โดยศาลได้กําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้จําเลยปฏิบัติตาม ก็ปรากฏว่าจําเลยเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้เคร่งครัดทุกประการ และไม่ได้ผิดเงื่อนไขของศาลเลย ซึ่งจําเลยทั้งสองก็ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือนดังเช่นจําเลยคนอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้

    เวลา 16.30 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และเพนกวินในทุกคดี ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้โอกาสจําเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณามีกําหนดเวลา 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 22 พ.ค. 2565) กําหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามทํากิจกรรมหรือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM
    4. ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตํารวจ สํานักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคําสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจําเลยที่เปลี่ยนไป ตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป นอกจากนี้ กรณีครบกําหนดการปล่อยชั่วคราวโดยมีกําหนดระยะเวลาแล้ว หากจําเลยไม่มีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไข ศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม อานนท์ซึ่งถูกขังมาแล้ว 196 วัน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันในอีก 2 คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 1629/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์