สรุปความสำคัญ

ไลลา (นามสมมติ) และ "เบนซ์" (นามสมมติ) 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถูกดำเนินคดีในข้อหา ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย จากการร่วมชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 เพื่อคัดค้านการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยระหว่างการชุมนุมพระบรมฉายาลักษณ์ถูกปลดและฉีกขาดเสียหาย อีกทั้งอัยการสูงสุดยังมีคำสั่งให้แจ้งข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" กับทั้งสองอีกด้วย ทำให้ในชั้นศาล ทั้งสองต้องยื่นประกันระหว่างพิจารณาคดี แม้ศาลจะให้ประกันโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ก็วางเงื่อนไขห้ามกระทำการใดอันมีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ครอบคลุมการกระทำหลายอย่างที่แม้ไม่ใช่การกระทำต่อตัวบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองโดยตรง ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ไลลา (นามสมมติ)
    • “เบนซ์” (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

17 ต.ค. 2563 ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำราษฎร และมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าฉีดน้ำและสารเคมีสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ทำให้ในหลายจังหวัดมีการนัดหมายชุมนุมแสดงออกคัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เวลา 18.00 น. ที่ถนนทางเข้าหน้าหอพักนักศึกษา ที่ตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัย กลุ่มนักศึกษาที่พักอยู่ภายในหอพัก และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ต่างออกมารวมตัวกันกว่า 300 คน เพื่อชุมนุม และประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มนักศึกษา ในกรุงเทพฯ โดยมีนักศึกษาออกมาร่วมรับฟังการปราศรัยจากตัวแทนนักศึกษา และร่วมประณามเจ้าหน้าที่ มีการโห่ร้อง ชูสามนิ้วแสดงสัญลักษณ์เป็นระยะ และยังมีการเปิดไฟแฟลชโทรศัพท์มือถือ

จากนั้นกลุ่มนักศึกษาที่มาชุมนุมได้เดินขบวนไปยังหน้ามหาวิทยาลัย ก่อนจะปรากฏภาพการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และพบว่าภาพดังกล่าวฉีกขาด

18 ต.ค. 2563 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้ติดต่อนักศึกษา 2 ราย ได้แก่ ไลลา (นามสมมติ) คณะนิติศาสตร์ และ “เบนซ์” (นามสมมติ) วิทยาลัยสหวิทยาการ ให้ไปพบเพื่อพูดคุยที่ห้องประชุมในมหาวิทยาลัย แต่พบว่าได้มีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ในจังหวัดลำปางกว่า 30 นาย มาร่วมทั้งในและนอกห้องประชุมด้วย เนื่องจากนักศึกษาทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ในบริเวณมหาวิทยาลัย

จากนั้นตำรวจได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดลำปาง ที่ จ.158/2563 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2563 และแจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาทั้งสองว่า ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสื่อมค่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 แต่ไลลาปฏิเสธกระบวนการ เนื่องจากยังไม่เคยได้รับหมายเรียก และขอให้ตำรวจออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการมาก่อน เพื่อจะประสานทนายและผู้ไว้วางใจเข้าร่วม มีเพียงเบนซ์ที่ยอมรับกระบวนการ โดยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ทั้งนี้ มีทนายความของมหาวิทยาลัยร่วมฟังการสอบสวนด้วย

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและคำให้การของไลลาด้วยโดยเธอไม่ทราบ

ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตร ได้ออกหมายเรียกให้ “ไลลา” ไปรับทราบข้อกล่าวหาใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 โดยไลลาได้ปฏิเสธกระบวนการแจ้งข้อหาเดิม พร้อมขอให้การใหม่ โดยยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

15 ก.พ. 2564 ไลลาและเบนซ์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามคำสั่งอัยการสูงสุด

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ห้างฉัตร ลงวันที่ 18 และ 25 ต.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/25968)

ภูมิหลัง

  • “เบนซ์” (นามสมมติ)
    กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในสาขาวิทยาลัยสหวิทยาการ

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • ไลลา (นามสมมติ)
    ไลลาระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ต้องต่อสู้อยู่กับคดีนี้ราวเกือบ 3 ปี ต้องประสบความเครียดและกังวลอยู่ตลอดเวลา เหมือนมีคดีนี้เป็นชนักอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไปไหนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์