ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)
ดำ อ.632/2564
แดง อ.11/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย สว.(สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)
ดำ อ.632/2564
แดง อ.11/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย สว.(สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)

หมายเลขคดี

ดำ อ.632/2564
แดง อ.11/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย สว.(สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)

หมายเลขคดี

ดำ อ.632/2564
แดง อ.11/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย สว.(สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร

ความสำคัญของคดี

ไลลา (นามสมมติ) และ "เบนซ์" (นามสมมติ) 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถูกดำเนินคดีในข้อหา ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย จากการร่วมชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 เพื่อคัดค้านการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยระหว่างการชุมนุมพระบรมฉายาลักษณ์ถูกปลดและฉีกขาดเสียหาย อีกทั้งอัยการสูงสุดยังมีคำสั่งให้แจ้งข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" กับทั้งสองอีกด้วย ทำให้ในชั้นศาล ทั้งสองต้องยื่นประกันระหว่างพิจารณาคดี แม้ศาลจะให้ประกันโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ก็วางเงื่อนไขห้ามกระทำการใดอันมีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ครอบคลุมการกระทำหลายอย่างที่แม้ไม่ใช่การกระทำต่อตัวบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองโดยตรง ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เอื้อพร ทองรอด พนักงานอัยการจังหวัดลำปาง บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุประบุว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้” และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นสมเด็จพระบรมราชินี อันประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

อีกทั้งความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาหรือกิริยาใดอันเป็นการจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบ เปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท หามีบุคคลใดกล้าบังอาจทำไม่

จำเลยทั้งสองเป็นแกนนำและสมาชิกของกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก่อนและขณะเกิดเหตุได้ร่วมกันชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมีการปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจที่สลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำที่กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาตร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งภาพพิมพ์ไวนิลพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ที่ติดตั้งไว้บริเวณภายนอกประตูรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง เนื่องจากมีผู้ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว จนฉีกขาดเป็น 4 ชิ้น ใช้การไม่ได้ดังเดิม ประเมินค่าความเสียหายคิดเป็นเงิน 1,200 บาท

การกระทำของจำเลยทั้งสอง มีลักษณะเป็นการแสดงกิริยาจาบจ้วง ล่วงเกิน มีเจตนาดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และยังเป็นการร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.163/2564 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังการชุมนุมในวันที่ 17 ต.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อคัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มนักศึกษาชุมนุมและเดินขบวนไปยังหน้ามหาวิทยาลัย ก่อนปรากฏภาพการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และพบว่าพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวฉีกขาด

    วันต่อมา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ติดต่อ นักศึกษา 2 ราย ได้แก่ ไลลา (นามสมมติ) คณะนิติศาสตร์ และ “เบนซ์” (นามสมมติ) วิทยาลัยสหวิทยาการ ให้ไปพบเพื่อพูดคุย แต่พบว่าได้มีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ในจังหวัดลำปางกว่า 30 นาย มาร่วมทั้งในและนอกห้องประชุมด้วย

    จากนั้นตำรวจได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดลำปาง ที่ จ.158/2563 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2563 และแจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาทั้งสองว่า ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสื่อมค่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 แต่ไลลาปฏิเสธกระบวนการ เนื่องจากยังไม่เคยได้รับหมายเรียก และขอให้ตำรวจออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการมาก่อน เพื่อจะประสานทนายและผู้ไว้วางใจเข้าร่วม มีเพียงเบนซ์ที่ยอมรับกระบวนการ โดยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ทั้งนี้ มีทนายความของมหาวิทยาลัยร่วมฟังการสอบสวนด้วย

    อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและคำให้การของไลลาด้วยโดยเธอไม่ทราบ

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ห้างฉัตร ลงวันที่ 18 ต.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/25968)
  • ไลลาเข้าพบ พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย พนักงานสอบสวน ที่ สภ.ห้างฉัตร เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก หลังไลลาปฏิเสธกระบวนการในครั้งก่อน

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาไลลาเช่นเดียวกับเบนซ์ โดยเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมใน 30 วัน

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ห้างฉัตร ลงวันที่ 25 ต.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/25968)

  • พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี จึงนัดไลลาและเบนซ์เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง
  • ไลลาและเบนซ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม หลังพนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตร ออกหมายเรียก เนื่องจากหลังอัยการส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดพิจารณา อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนและแจ้งข้อหาเพิ่ม

    บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ มีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ของนักศึกษาทั้งสองคนราว 10 คน เดินทางมาให้กำลังใจ และมีนักศึกษาจัดทำป้าย “Abolish 112” และ 112 ขีดทับออกมาชู

    เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการวางกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 35 นาย คอยติดตามบันทึกภาพบริเวณสถานีตำรวจ ตำรวจยังมีการจัดทำป้ายข้อความ อาทิ “มั่วสุม ชุมนุม !?! เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จำคุกไม่เกิน 2 ปี” “ชักธงอื่นแทนธงชาติไทยขึ้นเสา จำคุกไม่เกิน 2 ปี” “ติดป้าย ชูป้าย พูดปราศรัย ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จำคุกไม่เกิน 1 ปี” “ติดป้าย รก เลอะเทอะ สถานที่ราชการ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท” มาชูเตือนผู้เดินทางมาบริเวณสถานีตำรวจ พร้อมกับประกาศแจ้งเตือนให้อยู่ในความสงบด้วย

    พ.ต.ท.สราวุธ จันมะโน รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร และ ร.ต.อ.รุ่งเรืองชัย อุปกาละ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคน โดยบรรยายพฤติการณ์ของเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงค่ำวันที่ 17 ต.ค. 2563 ซึ่งนักศึกษาประมาณ 300 คนชุมนุมกันบริเวณลานหน้าหอพักภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก่อนมีการเดินขบวนมาที่หน้ามหาวิทยาลัย และพบว่ามีผู้ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณภายนอกรั้วทางเข้าออกของมหาวิทยาลัย จนภาพดังกล่าวฉีกขาดเป็น 4 ชิ้น

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ต่อทั้งสองคน โดยเห็นว่าพฤติการณ์เป็นการจงใจแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี

    นักศึกษาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ตำรวจระบุว่าจะเร่งทำสำนวนส่งให้อัยการเลย แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนและทนายความยืนยันการขอส่งคำให้การเพิ่มเติมภายในระยะเวลาดังกล่าว

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และให้ปล่อยตัวทั้งสองคนไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ ทั้งนี้ ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งกล้องบันทึกภาพวิดีโอและบันทึกเสียงไว้โดยตลอดด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.ห้างฉัตร ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25968)
  • เวลา 10.00 น. หลังพนักงานอัยการจังหวัดลำปางมีความเห็นสั่งฟ้อง 2 นักศึกษา ไลลาและเบนซ์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดลำปาง ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “ทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 360 จากการปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์และทำให้เสียหาย ระหว่างการชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านหากจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา

    ในวันนี้บริเวณศาลจังหวัดลำปาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 30 นาย กระจายกำลังอยู่รอบบริเวณศาล นอกจากนั้นมี พ.ต.อ.ศราวุธ วะเท ผู้กำกับ สภ.เมืองลำปาง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมแพทย์อยู่ในบริเวณศาลด้วย

    ก่อนเข้าตัวอาคารศาล เจ้าหน้าที่ได้ให้ไลลาและทนายความ ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอื่นเข้ามาในจังหวัดลำปาง ต้องเข้ากระบวนการคัดกรองโรคตามมาตรการของศาล ซึ่งจุดคัดกรองโรคตั้งอยู่บริเวณหลังอาคารศาล

    จากนั้น นักศึกษาทั้งสองถูกนำตัวไปยังห้องเวรชี้ ซึ่งอยู่บริเวณใต้ถุนศาลใกล้ห้องควบคุมตัว เพื่อรอผู้พิพากษา

    เวลาประมาณ 11.40 น. ผู้พิพากษาได้เข้าพิจารณาที่ห้องเวรชี้ ระบุว่าวันนี้กระบวนการมีเพียงศาลจะรับคำฟ้องจากพนักงานอัยการไว้ และพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น ส่วนกระบวนการอ่านคำฟ้อง ถามคำให้การ นัดคุ้มครองสิทธิ และนัดตรวจพยานหลักฐาน ไม่สามารถดำเนินการในวันนี้ได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงนัดหมายเลื่อนกระบวนการทั้งหมดไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    จากนั้น ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสอง โดยใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จำนวน 2 คน เป็นหลักประกัน

    จนเวลาประมาณ 12.10 น. ศาลจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองระหว่างพิจารณา โดยให้ใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หากผิดสัญญาประกันตัวให้ปรับคนละ 100,000 บาท และวางเงื่อนไขห้ามทั้งสองไปกระทำการใดอันมีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.163/2564 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28961)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศจังหวัดลำปาง หากต้องเดินทางมาตามนัดจะต้องกักตัว 14 วัน

    ศาลจังหวัดลำปางมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรหลายด้าน โดยกำหนดนัดอีกครั้งวันที่ 30 ส.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
  • ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศจังหวัดลำปาง หากต้องเดินทางมาตามนัดจะต้องกักตัว 14 วัน

    ศาลจังหวัดลำปางมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรหลายด้าน โดยกำหนดนัดอีกครั้งวันที่ 11 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ไลลาและเบนซ์ฟัง ก่อนให้เลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปวันที่ 16 พ.ย. 2564 เวลา 13.30 น.
  • จำเลย 1 คน ต้องกักตัวเนื่องจากใกล้ชิดผู้ติดโควิด-19 ศาลให้เลื่อนสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 16 ธ.ค. 2564 เวลา 13.30 น.
  • ไลลาและเบนซ์ พร้อมทนายความมาศาล หลังศาลถามคำให้การ เบนซ์ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ขณะไลลายืนยันให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี

    ศาลให้เบนซ์ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 27 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น. และให้อัยการแยกฟ้องไลลาเข้ามาใหม่ภายใน 7 วัน โดยนัดไลลามาส่งตัวฟ้องใหม่ในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. และให้ใช้สัญญาประกันเดิมจากคดีนี้
  • ไลลาเดินทางมาที่ศาลตามนัด โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 อัยการได้ยื่นฟ้องไลลาต่อศาลจังหวัดลำปางเป็นคดีใหม่แล้ว โดยมีเนื้อหาคำฟ้องเช่นเดิม ศาลจังหวัดลำปางนัดพร้อมสอบคำให้การต่อไปวันที่ 7 ก.พ. 2565

    ทั้งนี้ ทนายจำเลยต้องยื่นประกันตัวไลลาอีกครั้ง และอาจารย์ต้องเดินทางมาเป็นนายประกันอีกรอบ แม้เมื่อนัดที่แล้วศาลอนุญาตให้ใช้สัญญาประกันเดิมในคดีที่ถูกฟ้องร่วมกับเบนซ์

    ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกับข้อหาที่ถูกฟ้องอีก

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.632/2564 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของเบนซ์ ระบุว่า จําเลยเป็นเพียงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลําปาง คนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่แกนนําในการทํากิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เคยออกไปร่วมชุมนุมหรือทํากิจกรรมทางการเมืองใด ๆ ในวันเกิดเหตุ จําเลยออกไปร่วมชุมนุมเป็นครั้งแรก ปัจจุบันจําเลยศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว จําเลยให้คํามั่นสัญญาว่าจะไม่กระทําการใดๆ อันมีลักษณะเดียวกันกับความผิดในคดีนี้อีก จึงขอให้ศาลลงโทษจําเลยสถานเบา และรอการลงอาญาไว้ เพื่อให้โอกาสจําเลยได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และศึกษาในมหาวิทยาลัยจนจบหลักสูตร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

    (อ้างอิง: คำแถลงประกอบคำรับสารภาพ ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.163/2564 ลงวันที่ 14 ม.ค. 2565)
  • ศาลจังหวัดลำปางพิพากษาว่า เบนซ์มีความผิดใน 2 ข้อหาตามฟ้องโจทก์ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.163/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.51/2565 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2565)
  • ไลลาและทนายจําเลยมาศาล ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง ไลลายืนยันให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยในคดีของศาลแขวงดุสิต ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

    โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานบุคคล รวม 11 ปาก ตามบัญชีพยานฉบับลงวันที่ 28 ม.ค. 2565 แต่หากจําเลยรับข้อเท็จจริงได้ว่าพยานอันดับที่ 11 เป็นผู้ตรวจเก็บวัตถุพยาน และได้ทํารายงานการตรวจเก็บวัตถุพยานจริง โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าว จําเลยและทนายจําเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง โจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าว คงเหลือพยานโจทก์ที่จะนําสืบ 10 ปาก ขอใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จําเลยอยู่ในสถานที่เกิดเหตุในวันที่เกิดเหตุตามฟ้อง แต่จําเลยไม่ได้เป็นผู้กระทําความผิดตามฟ้อง ประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 6 ปาก ขอเวลาสืบพยาน 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28-29 มิ.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยวันที่ 30 มิ.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.632/2564 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2565)
  • โดยรวม พยานโจทก์ทุกปากให้การไปตามคลิปวิดีโอ ว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนขึ้นไปบนฐานพระบรมฉายาลักษณ์และไม่ใช่ผู้ที่ดึงหรือทำลายรูปภาพ มีเพียงพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กล่าวหา ที่อ้างว่าได้ยินจำเลยเป็นผู้สั่งการด้วยการพูดว่า “เอาลงๆ” ท่ามกลางเสียงผู้ชุมนุมอื้ออึงที่ตะโกนว่า “ออกไปๆ” อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ส่วนใหญ่ไม่เห็นเหตุการณ์แน่ชัดพอจะระบุได้ว่าใครเป็นผู้ดึงรูปภาพดังกล่าว เพราะเป็นเวลามืดค่ำ มองเห็นไม่ชัด และอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ

    ++จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดึงพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ผู้กล่าวหาอ้างจำเลยพูดว่า “เอาลงๆ” แม้มองอยู่ไกล เวลามืดค่ำ และเสียงอื้ออึงในที่ชุมนุม

    พ.ต.ต.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.ห้างฉัตร ผู้กล่าวหา มีหน้าที่ค้นหาข่าวสารเกี่ยวกับคดีความมั่นคง เบิกความต่อศาลว่า ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดลำปางตั้งแต่ ปี 2555 จนปัจจุบัน

    สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ ­ในวันที่ 17 ต.ค. 2563 พยานทราบข่าวจากไลน์กรุ๊ป “กองกำกับสืบสวนจังหวัดลำปาง” ว่าจะมีการจัดชุมนุมแฟลชม็อบขึ้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เวลา 18.00 น. จึงมอบหมายให้นำกำลังเข้าสังเกตการณ์และหาข่าว โดยพยานไปกับทีมเจ้าหน้าที่อีกราว 10 นาย และปฏิบัติหน้าที่โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ

    เวลา 18.15 น. พยานไปถึงสถานที่จัดการชุมนุม พบกลุ่มนักศึกษาประมาณ 100 กว่าคน รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าหอพักภายในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มมีการชุมนุมขึ้นแล้ว ในกิจกรรมนั้นได้มีการปราศรัยต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง

    เมื่อการปราศรัยดำเนินไปราว 20 นาที พยานเห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เข้าไปสังเกตการณ์ และกำลังใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพ พยานคาดว่านักศึกษาเกิดความไม่พอใจ พยานจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ทราบและถอนกำลังออกจากที่ชุมนุม โดยอยู่ห่างออกไปราว 70 เมตร

    ต่อมาพยานเห็นกลุ่มนักศึกษาเริ่มเคลื่อนตัวมาตามถนนพร้อมตะโกนคำว่า “ออกไปๆ” จากนั้นเมื่อเคลื่อนตัวมายังบริเวณประตูรั้วทางเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 คู่กับพระราชินี เวลานั้นพยานได้ออกมาและยืนสังเกตการณ์อยู่อีกฝั่งถนน และมีการปราศรัยต่ออีกราว 10 นาที และผู้ชุมนุมพากันหันหน้าเข้าหาภาพ ในเวลานั้นเนื่องจากพยานได้ถอนกำลังออกมายืนอยู่ไกลจากบริเวณที่ผู้ชุมนุมอยู่ ทำให้มองเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดเจนนัก จึงเดินเข้าใกล้ผู้ชุมนุมมากขึ้น ระยะห่างราว 12 เมตร เวลานั้นมีจำนวนของผู้ชุมนุมลดลงบ้างแล้วเหลือประมาณ 100 คน

    แม้จะเป็นเวลาที่มืดแล้ว แต่ยังมีแสงสว่างจากไฟกิ่งสาธารณะบนถนน ประกอบกับแสงสว่างจากบริเวณที่ตั้งของซุ้มภาพ จึงทำให้สามารถเห็นเหตุการณ์ ในเวลานั้นเองที่พยานอ้างว่าเห็นจำเลยกำลังชูมือขวาขึ้นลักษณะผายมือทางภาพ พร้อมกล่าวคำว่า “เอาลงๆ” พยานเข้าใจว่าคำว่า “เอาลงๆ” หมายถึงต้องการให้นำภาพลงมา

    จากนั้นพยานเห็นชายคนหนึ่งลักษณะสูง ผมยาวประบ่า ต่อมาทราบว่าเป็น “เบนซ์” นักศึกษาคณะสหวิทยาการ เนื่องจากพยานเคยรู้จักอยู่แล้ว ได้ปีนขึ้นบนฐานของภาพและใช้มือเปล่าทุบไปที่ภาพนั้น และดึงโครงไม้ของภาพออกหลุดออกมา ทำให้พระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาด เมื่อพยานเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วจึงรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และรอกำลังเสริม ภายหลังจากเหตุการณ์ ผู้ชุมนุมก็เริ่มสลายตัวและพยานไม่เห็นเหตุการณ์อื่นๆ อีก

    หลังจากนั้นเวลาใกล้ 21.00 น. ได้มีการชุมนุมขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่ามีกลุ่มนักศึกษาเริ่มเข้ามารวมตัวกันบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย แต่อยู่ภายในประตูรั้ว เพื่อปิดกั้นเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปยังบริเวณมหาวิทยาลัย จากนั้นพยานและทีมเจ้าหน้าที่จึงพากันถอนกำลังออกจากพื้นที่

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.เจริญ ตอบทนายจำเลยถามค้าน โดยพยานยืนยันว่า ทราบว่าผู้ชุมนุมไม่พอใจที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์และถ่ายบันทึกภาพผู้ชุมนุมไว้ จึงได้ตะโกน “ออกไปๆ” อย่างต่อเนื่อง ตามเอกสารรายงานของโจทก์ก็ระบุเพียงผู้ชุมนุมปลุกระดมเพื่อโจมตีรัฐบาล ไม่มีรายงานว่าปลุกระดมเพื่อไปปลดภาพแต่อย่างใด อีกทั้งถ้อยคำในชั้นสอบสวนของพยานเอง ก็ไม่ได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเป็นผู้ปลุกระดมผู้ชุมนุมไปหน้ามหาวิทยาลัย และไม่ได้พูดว่า “เอาลงๆ” แต่อย่างใด

    นอกจากนี้ พยานยังรับว่าจำเลยไม่ได้ขึ้นไปบนฐานพระบรมฉายาลักษณ์และไม่ได้เป็นผู้ฉีกภาพ เพียงแต่พูดว่า “เอาลงๆ” ซึ่งในขณะเกิดเหตุเป็นเวลามืดค่ำแล้ว พยานอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุพอสมควร แต่พอจะได้ยินเสียงของจำเลย แม้พยานจะอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุและบริเวณนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมนับร้อยโดยมีเสียงอื้ออึงมาก นอกจากนี้ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาด้านหน้ามหาวิทยาลัย พยานก็ไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดว่าอะไร

    ++ตำรวจสืบสวนในเหตุการณ์ ไม่เห็นจำเลย ดึงพระบรมฉายาลักษณ์ – ระบุไม่ได้จำเลยพูดสั่งการหรือไม่

    พ.ต.ท.เชาวลิต จินดารัตน์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.ห้างฉัตร ผู้เห็นเหตุการณ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ 17 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. เชาวลิตได้แต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปที่ชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปาง เห็นนักศึกษารวมตัวกันบริเวณหอพัก ปราศรัยโจมตีรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จากเหตุที่มีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ

    ต่อมา พ.ต.ท.เชาวลิต เห็นว่ามีนักศึกษาตะโกนว่า มีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณที่ชุมนุม กลุ่มตำรวจจึงถอยออกมาที่บริเวณสนามฟุตบอล ห่างจากจุดชุมนุมประมาณ 200 เมตร และถอนกำลังออกมา โดยเขาขับรถมาจอดบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยและอยู่บริเวณประตูทางเข้า-ออก

    กระทั่งเวลา 19.00 น. พ.ต.ท.เชาวลิต ก็พบว่ามีกลุ่มนักศึกษามารวมตัวกันบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัย ประมาณ 100-200 คน พร้อมได้ยินคำว่า “ออกไปๆ” โดยตนไม่ได้ยินคำอื่น อาจเพราะอยู่ไกลทำให้ได้ยินไม่ชัดเจน จากนั้นเห็นผู้ชายรูปร่างผอมขึ้นไปบนฐานพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร เพราะอยู่ห่างออกไปราว 80 เมตร

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.เชาวลิต ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า นักศึกษาเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์ในมหาวิทยาลัย ทำให้แสดงออกลักษณะต้องการขับไล่ จึงถอนกำลังออกห่างจากกลุ่มนักศึกษาประมาณ 300-400 เมตร และที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย พ.ต.ท.เชาวลิต อยู่ห่างจากกลุ่มนักศึกษาประมาณ 70-80 เมตร โดยไม่ได้ยินชัดว่าใครพูดว่าอะไรบ้าง เพราะเสียงในที่ชุมนุมอื้ออึง ได้ยินแค่เสียง “ออกไปๆ” จากนักศึกษาที่พูดพร้อมๆ กัน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครพูดบ้าง

    นอกจากนี้ พ.ต.ท.เชาวลิต ยังระบุไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในที่ชุมนุมด้วยหรือไม่ เพียงแต่เห็นภาพของจำเลยในที่ชุมนุมที่พนักงานอัยการนำมาให้ดูเท่านั้น

    ร.ต.อ.วีระพงษ์ ทาสุภา เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม สภ.ห้างฉัตร ทำหน้าที่ถอดเทปจากวิดีโอบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ในที่ชุมนุม โดยพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ตนได้ร่วมกับทีมสืบสวนนอกเครื่องแบบเข้าไปสังเกตการณ์เหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี พ.ต.ท.เชาวลิต เป็นหัวหน้าชุด

    ร.ต.อ.วีระพงษ์ เบิกความย้อนไปว่ารู้จักจำเลยมาก่อน โดยชุดสืบสวนมีข้อมูลของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากเคยมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองเมื่อประมาณเดือน ส.ค. 2563 โดยจำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที ทั้งยังมีสายข่าวของทหารที่เป็นผู้รายงานข้อมูลของจำเลยอีกด้วย

    ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 จำเลยขึ้นปราศรัย โดยมีเนื้อหาโจมตีการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่มีกระแสในช่วงเวลานั้น แต่เนื่องจากได้รับแจ้งจากปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอห้างฉัตรว่า การชุมนุมได้เลิกแล้ว พยานจึงได้ถอนกำลังออกมาและทราบเรื่องอีกครั้งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว

    ร.ต.อ.วีระพงษ์ ได้ตรวจสอบดูวิดีโอบันทึกภาพและเสียงในเหตุการณ์ทั้ง 4 คลิปแล้ว ไม่เห็นจำเลยอยู่ในคลิปวิดีโอ แต่ขณะเดียวกันจากการฟังเสียงที่ได้จากเทปบันทึกนั้นจะได้ยินคำพูดว่า “ระวังๆ, ไอ้กะโหลก, ผีตาโบ๋, ออกไปๆ, เอาลงๆ” แต่พยานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พูด เนื่องจากนักศึกษามีจำนวนมาก จนไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นเสียงใคร แต่ทราบเพียงว่าเป็นเสียงของผู้หญิง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53289)
  • ++ผู้สื่อข่าวในเหตุการณ์ มองไม่เห็น ไม่ทราบใครดึงรูป ไม่ได้ยินว่าใครพูด “เอาลงๆ” เพราะเสียงในที่ชุมนุมอื้ออึงมาก

    อัศวิน วงค์หน่อแก้ว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวมติชนในจังหวัดลำปาง เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 18.00 – 19.00 น. ได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จึงรีบเข้าไปบริเวณสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเก็บภาพทำข่าว เมื่อไปถึงพบว่ากิจกรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนเท่าไหร่พยานจำไม่ได้แน่ชัด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่มืด มีแสงสลัวๆ เท่านั้น จากนั้นจึงใช้กล้องของตนเองถ่ายภาพกิจกรรมไว้ แต่ไม่ทราบว่าเวลานั้นใครเป็นผู้ปราศรัยหรือแกนนำ เพราะเห็นเพียงกลุ่มนักศึกษาล้อมวงกันเท่านั้น

    จากนั้นไม่นานก็เห็นกลุ่มนักศึกษาค่อยๆ เคลื่อนขบวน เดินไปตามถนนไปยังประตูทางเข้าหน้ามหาวิทยาลัย พยานจึงตามไปจอดรถของตนเองบริเวณฝั่งซ้ายของประตู และเดินไปหยุดอยู่บริเวณอีกฝั่งถนน เชื่อว่าเป็นระยะทางไกลมากราว 100 เมตร หลังจากนั้น 5 นาที พยานเห็นบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดนอกเครื่องแบบยืนอยู่บริเวณนั้นด้วย

    ต่อมาจึงเห็นชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนฐานของภาพและใช้มือฉีกพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จนหล่นลงมา แต่เนื่องจากตนยืนอยู่ไกลจึงเห็นรายละเอียดไม่มาก โดยชายผู้นั้นจะเป็นใครพยานไม่ทราบ หลังจากเกิดเหตุ พยานจึงเดินทางกลับ

    จากนั้นในคืนเดียวกัน พยานได้รับติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคือรองผู้กำกับการ เรียกให้ไปพบที่ สภ.ห้างฉัตร และขอความร่วมมือให้พยานช่วยเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น โดยมีพนักงานสืบสวน และอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ด้วย โดยพยานได้ให้การว่า จำหน้าคนที่ฉีกภาพไม่ได้ แต่พยานได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของบรรยากาศในกิจกรรมไว้ด้วย และได้ส่งคลิปที่ตนบันทึกให้แก่ตำรวจชุดสืบสวนจังหวัดลำปาง

    อย่างไรก็ตาม พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ในขณะเกิดเหตุปลดรูปภาพ ตนเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมราว 40-50 เมตร และไม่เห็นว่า พ.ต.ท.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง ผู้กล่าวหา อยู่ใกล้กับกลุ่มนักศึกษา โดยพยานอยู่ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมพอสมควร ทำให้ไม่สามารถจับใจความได้ว่ามีใครพูดว่าอะไรบ้าง และไม่เห็นว่ามีผู้หญิงขึ้นไปร่วมปลดทำลายรูปภาพด้วยแต่อย่างใด

    มรรคฤทธิ สุตาลังกา และวีระวัฒน์ สายปัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำนองเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ขึ้นไปปลดพระบรมฉายาลักษณ์

    อรุณ วงค์คำปวง พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายในมหาวิทยาลัย โดยในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่ามีนักศึกษาจัดกิจกรรมการชุมนุมขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวนักศึกษาได้รวมตัวกันบริเวณหน้าหอพักภายในมหาวิทยาลัย

    เวลาประมาณ 18.20 น. พยานจึงเดินทางมาที่บริเวณหอพักนักศึกษา พบกลุ่มนักศึกษารวมตัวกันประมาณ 50 คน เท่าที่เห็นก็เป็นการชุมนุมที่สงบ ต่อมากลุ่มนักศึกษาพากันเดินเป็นแถวมุ่งหน้าไปทางอาคารเรียน จึงได้ขับรถตามไป ขณะที่กลุ่มนักศึกษาเดินไปตามถนนที่มีแสงสว่างไม่มากนัก หลังจากนั้นเวลาผ่านไปประมาณ 30 นาที จึงได้ยินเสียงดังขึ้นจึงลงจากรถมาดูเหตุการณ์

    พยานไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีผู้ขึ้นไปฉีกทำลายรูปภาพดังกล่าว แต่เห็นหลังจากที่ถูกทำลายไปแล้ว จากนั้น เห็นผู้หญิงและผู้ชายยืนถือภาพที่ฉีกขาดอยู่ ซึ่งทราบว่าผู้หญิงคือจำเลยในคดีนี้ จึงรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาทราบ นอกจากชิ้นส่วนภาพฉีกขาดที่อยู่ในมือจำเลยแล้ว พยานไม่เห็นชิ้นส่วนอื่นๆ อีก โดยภายหลังเกิดเหตุ ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติว่าจะไม่ดำเนินคดีกับนักศึกษา เนื่องจากเห็นว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

    อย่างไรก็ตาม อรุณตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตนยืนยันว่าไม่เห็นเหตุการณ์ที่มีการฉีกทำลายภาพ รวมทั้งไม่เห็นขณะจำเลยกระทำ สิ่งที่เห็นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่จำเลยและผู้ชายอีกคนกำลังทำการเก็บพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น ส่วนในประเด็นเรื่องทรัพย์สินสาธารณะนั้น พยานเห็นว่าภาพดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้สักการะในทุกๆ วัน เเต่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญ ๆ เท่านั้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53289)
  • ++พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทำลายทรัพย์สาธารณะ ก่อนได้รับคำสั่งจากอัยการให้แจ้ง ม.112 เพิ่มเติม

    พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย พนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตร เบิกความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 21.00 น. ตนได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุให้ไปพบกับรองผู้กำกับการ จึงเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุพบว่ามีเหตุดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งที่ซุ้มบริเวณประตูทางเข้า-ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง จึงได้ตรวจสอบจุดเกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน

    ต่อมา ทำการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 เนื่องจากสอบสวนได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการให้ “เบนซ์” ไปดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว

    พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ เชื่อว่าจำเลยพูดว่า “เอาลงๆ” ตามคำให้การของ พ.ต.ท.เจริญ เป็นการสั่งให้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ และพิจารณาจากวิดีโอในวันเกิดเหตุ ที่ตนเป็นผู้ถอดเสียงจากวิดีโอด้วยตนเอง ทำให้เชื่อว่าเป็นจำเลยที่เป็นผู้สั่งการ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกำลังยกมือขึ้นป้องที่ปากลักษณะเหมือนคนกำลังตะโกน

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ในคลิปวิดีโอมีผู้ชุมนุมอยู่จำนวนมากซึ่งยืนหันหลัง ทำให้ระบุไม่ได้ว่ามีใครตะโกนบ้างหรือไม่ นอกจากนี้รับว่าพยานเป็นผู้ขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดลำปาง ข้อหาทำให้เสียทรัพย์สาธารณะ แต่ศาลยกคำร้องไม่ออกหมายจับ เนื่องจากถ้อยคำที่ว่า “ออกไปๆ” ศาลตีความว่าไม่ได้มีความหมายว่าจำเลยให้นำเอาพระบรมฉายาลักษณ์ออก

    พ.ต.อ.รุ่งเรืองชัย อุปกาละ พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีต่อจาก พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ เนื่องจากย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเชียงใหม่หลังจากส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว อัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 ด้วย จึงได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.รุ่งเรืองชัย ตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันว่า ตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีในเหตุการณ์วันเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการดึง ทำลายภาพด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยพูด “เอาลงๆ” แต่อย่างใด

    นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมไปบริเวณหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย และสั่งให้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ โดยข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการเพิ่งจะปรากฏเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 112 โดยไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนคนเดิมนำข้อเท็จจริงส่วนของจำเลยมาจากที่ใด และจากคลิปวิดีโอก็ไม่เห็นว่ามีจำเลยขึ้นไปดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53289)
  • ธวัช ไพฑูรย์เจริญสภา อัยการอาวุโส สำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในกรณีของเบนซ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ โดยอ้างว่าการกระทำเป็นการไม่บังควร เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ไม่กล้ากระทำอีก และป้องกันมิให้บุคคลอื่นกระทำการลักษณะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต ตลอดจนความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักร

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.163/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.51/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/53289)
  • การสืบพยานจำเลยยืนยันว่า แม้จำเลยอยู่ในที่ชุมนุม แต่ไม่ได้ขึ้นไปบนฐานที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ได้เป็นผู้ดึง ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ และไม่ใช่ผู้สั่งการที่พูดว่า “เอาลงๆ” ให้ใครไปนำรูปภาพลงมา อีกทั้งบริบทคำว่า “ออกไปๆ” ในขณะนั้นเพราะผู้ชุมนุมบางส่วนแสดงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่แฝงตัวเข้ามาในที่ชุมนุม และพยายามถ่ายภาพและคลิปผู้ชุมนุม

    ++จำเลยไม่ได้ดึง ทำลาย ไม่ได้พูด “เอาลงๆ” หรือสั่งการใคร ส่วนผู้ชุมนุมตะโกน “ออกไปๆ” เพราะไม่พอใจตำรวจนอกเครื่องแบบมาซุ่มดู ถ่ายคลิป

    “ไลลา” จำเลยในคดีนี้ ได้เข้าเบิกความต่อศาลว่า เธอเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มมีความสนใจในประเด็นการเมืองอย่างจริงจังนับแต่การเกิดรัฐประหาร 2557 โดยในมหาวิทยาลัยได้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่ตลอดและก็เข้าร่วมเพียงกิจกรรมบางครั้งที่สนใจเท่านั้น

    ไลลาเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า วันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 18.00 น. ตนไปร่วมชุมนุมที่บริเวณหอพักนักศึกษา ภายในมหาวิทยาลัย ในขณะนั้นเริ่มมีการชุมนุมและปราศรัยแล้ว โดยมีการปราศรัยประเด็นหลักถึงการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งสลายการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร และปราศรัยถึงรัฐบาลบ้าง

    ขณะนั้นสังเกตเห็นกลุ่มคนลักษณะไม่เหมือนนักศึกษา ตัดผมสั้นเกรียน แต่ไม่แต่งเครื่องแบบกำลังยกมือถือขึ้นบันทึกภาพ ในลักษณะซุ่มดูและเริ่มขยับเข้ามาใกล้บริเวณที่ทำกิจกรรมกันเรื่อยๆ ไลลาระบุว่าได้ยินเสียงผู้ชุมนุมพูดว่า “ไม่ปลอดภัยแล้ว” และนักศึกษาทุกคนพร้อมใจกันตะโกนคำว่า “ออกไปๆ” แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ออกไปทันที

    ไลลาและผู้ชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัยเนื่องจากเวลาดังกล่าวเริ่มมืดแล้ว กลุ่มนักศึกษาจึงพยายามเดินไปตามถนนที่มีแสงสว่าง จนกระทั่งไปถึงหน้าประตูรั้วทางเข้าของมหาวิทยาลัยที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ด้วย ไลลาได้เดินผ่านซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ มาจากทางซ้ายเพื่อจะไปหาเพื่อน ขณะนั้นเห็นชายคนหนึ่งกำลังยืนอยู่บนซุ้ม และดึงรูปภาพดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นไลลาไม่ได้เป็นคนพูดคำว่า “เอาลงๆ”

    จากเหตุการณ์ดังกล่าวไลลาตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้เข้าไปช่วยเก็บพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์วุ่นวายหรือเกิดความเสียหายหนักกว่าเดิม

    ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีมาจำเลยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปคุกคามจำเลยและรวมถึงไปหาบุคคลในครอบครัวของพยานถึงบ้าน ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย

    อย่างไรก็ตามไลลาตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า ตนเองไม่เคยเป็นแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเป็นผู้ปราศรัยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแกนนำเสมอไป เพียงแค่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ก็สามารถขึ้นปราศรัยได้ และจำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” และจำเลยก็ไม่เคยรู้จักกับ “เบนซ์” จำเลยอีกคนมาก่อน

    ไลลาเบิกความต่อไปว่า ในเหตุการณ์ขณะที่มีการดึงรูปนั้น ไลลาหันไปทางอื่นก่อน เมื่อหันกลับมาก็พบว่ามีคนดึงรูปภาพไปแล้ว จำเลยไม่รู้จักกับชายคนดังกล่าว แต่ด้วยความตกใจ จึงรีบไปเก็บรูปภาพก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายและไม่ให้รูปภาพเสียหายเพิ่ม โดยยืนยันว่าไม่ใช่ผู้สั่งการให้ใครไปนำเอาพระบรมฉายาลักษณ์ลงมา

    หลังจากนั้นไม่นานได้โทรศัพท์ไปปรึกษาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวไปเก็บไว้ที่อาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัย

    อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผู้อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าวไปในทำนองเดียวกับไลลา

    ในระหว่างร่วมชุมนุม พยานเห็นว่ามีกลุ่มบุคคลคล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบกำลังขยับเข้ามาใกล้กลุ่มผู้ชุมนุมและถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ จนทำให้กลุ่มนักศึกษาเกิดความไม่พอใจและไม่ปลอดภัย เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เกิดกระแสการสลายชุมนุมในกรุงเทพมหานคร และนักศึกษาไม่ทราบมาตรการของเจ้าหน้าที่ นักศึกษาบางคนจึงตะโกนไล่เจ้าหน้าที่ว่า “ออกไปๆ” และเดินขบวนไปตามถนนที่มีแสงสว่าง พร้อมตะโกนว่า “ออกไปๆ” ตลอดทาง จนมาหยุดอยู่ที่หน้าประตูที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลอยู่ ในขณะเดินขบวนนั้น พยานกับจำเลยเดินแยกกัน

    เมื่อมาถึงประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัย สังเกตเห็นจำเลยเดินผ่านบริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ มาทางที่พยานยืนอยู่ ขณะนั้นยังได้ยินเสียงของกลุ่มนักศึกษาตะโกนขับไล่เจ้าหน้าที่อยู่ มีทั้งเสียงโห่ร้องและปรบมือ จากนั้นเห็นชายคนหนึ่งยืนอยู่บนซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์และภาพก็ถูกดึงลงมา ซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นคนทำเพราะจำเลยยืนอยู่ข้างๆ พยานในขณะเกิดเหตุ

    อย่างไรก็ตามพยานได้ตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า บริเวณที่จัดกิจกรรมหน้าหอพักในมหาวิทยาลัย เป็นเวลากลางคืนค่อนข้างมืด แต่ก็พอมีไฟจากศาลาหน้าหอพัก และในขณะเกิดเหตุ พยานอยู่ห่างจากพระบรมฉายาลักษณ์ประมาณ 8 เมตร

    ++อาจารย์เล่าเหตุการณ์ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง-ผู้ว่าฯ เข้ามาใน มธ. ให้นักศึกษากราบขอขมาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่กลับแจ้งข้อกล่าวหา ด้านไลลาปฏิเสธการขอขมาเพราะไม่ได้ทำ

    อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งรู้จักกับไลลา มาตั้งแต่ปี 2559 -2560 โดยทำงานอยู่ฝ่ายวิจัยและวิชาการระดับมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ดูและเรื่องการทำงานวิจัยของอาจารย์ และดูแลการจัดกิจกรรมของนักศึกษาด้วย

    พยานเบิกความต่อศาลถึงในวันเกิดเหตุ ไลลาได้โทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องการจัดสถานที่โดยตนเข้าใจว่าจะมีการจัดกิจกรรมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง จึงได้ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยไป จนกระทั่งช่วงเวลา 19.00 น. ไลลาได้โทรศัพท์มาปรึกษาพยานหลังเกิดเหตุการณ์ ขณะนั้นพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยจำเลยโทรมาด้วยท่าทีตกใจ ได้ขอคำปรึกษาอาจารย์เรื่องอุบัติเหตุพระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาด จึงแนะนำไลลาว่า ให้นำภาพดังกล่าวมาเก็บไว้ก่อน โดยให้นำไปเก็บไว้ที่อาคารเรียนรวม 5

    เมื่อฝ่ายบริหารของคณะทราบเรื่องและได้ปรึกษาจนได้ข้อสรุป จึงได้เข้าพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่จวนผู้ว่าฯ โดยส่วนของมหาวิทยาลัยนั้น มีรองคณบดี พยาน ผู้อำนวยการ และส่วนของฝ่ายปกครอง ได้แก่ ผู้ว่าฯ ผู้การภาค และเจ้าหน้าที่ เมื่อได้มีการปรึกษาสรุปได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้อาจารย์แจ้งกับนักศึกษาว่า จะขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวและจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

    ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อาจารย์และทุกคนที่จวนผู้ว่าฯ ได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัย พบว่า มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 นาย มารออยู่แล้ว ทั้งนี้ มีการจัดเตรียมห้องที่จะพูดคุยตกลงกันที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ 4 ห้อง ห้องที่ 1 ไว้สำหรับพูดคุยกับเบนซ์ ห้องที่ 2 สำหรับพูดคุยกับไลลา อีก 2 ห้อง สำหรับผู้ว่า ฯ และผู้การภาค ฯ

    ในวันดังกล่าวกลับปรากฏว่า ตำรวจมีการพยายามแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนเรื่องทำลายทรัพย์สินสาธารณะ พยานและไลลาได้เข้าไปที่ห้องเพื่อพูดคุย แต่เจ้าหน้าที่กลับพยายามแยกตัวไลลาไปอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้ขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไลลาปฏิเสธ เพราะยืนยันไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหายแต่อย่างใด

    พยานเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ที่จวนผู้ว่าฯ ทั้งไลลายังปฏิเสธกระบวนการ โดยยืนยันจะขอปรึกษากับทนายความก่อน และก็ออกจากห้องมา โดยยังไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว

    หลังสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น ทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงปิดคดี ศาลให้ยื่นภายในสิ้นเดือนต.ค. 2565 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53289)
  • ก่อนถึงวันนัดเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดลำปางโทรแจ้งทนายจำเลยว่า ศาลให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อน เนื่องจากสำนวนยังไม่กลับมาจากภาค โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • เวลาประมาณ 09.30 น. ไลลาและทนายความได้เดินทางเข้าไปยังห้องพิจารณาคดีที่ 5 โดยมีผู้เดินทางมาให้กำลังใจ ทั้งเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพ่อกับแม่ของไลลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบ 1 นาย ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย

    เวลาประมาณ 09.45 น. ศาลจังหวัดลำปางอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์มีพยานปาก พ.ต.ต.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง ที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นคนสั่งการและชี้มือให้มีการปีนขึ้นไปดึงรูปลง แต่ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน คำเบิกความดังกล่าวของพยานในชั้นศาลกลับไม่มีปรากฏในเอกสารคำให้การชั้นสอบสวนที่พยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนในครั้งแรก อีกทั้งเอกสารการถอดเทปปราศรัยและภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานในศาล ก็ไม่ปรากฏยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับจำเลยไม่เคยรู้จักกับผู้ดึงภาพจนฉีกขาดมาก่อน จึงผิดวิสัยปกติที่จะเป็นการใช้ให้บุคคลอื่นไปกระทำการในเรื่องร้ายแรงเช่นนั้นได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

    หลังได้ยินคำพิพากษาแล้วจำเลยได้กอดกับแม่และร้องไห้ออกมา พร้อมกับทำการยกมือไหว้ศาลที่ได้พิพากษายกฟ้อง

    ไลลายังเปิดเผยความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาอีกว่า ก่อนหน้าจะฟังคำพิพากษา มีความเครียดมากๆ และตื่นเต้นใจสั่นมาก ไม่อยากจะเข้าห้องพิจารณาไปฟังคำพิพากษาเลย แต่พอฟังคำพิพากษาแล้วก็ดีใจ แต่ดีใจไม่สุดเพราะเป็นเพียงศาลชั้นต้น ยังมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาอีก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดที่ดีที่ยกฟ้องวันนี้

    เธอระบุว่าตลอดระยะเวลาที่ต้องต่อสู้อยู่กับคดีนี้มาราวเกือบ 3 ปี ต้องประสบความเครียดและกังวลอยู่ตลอดเวลา เหมือนมีคดีนี้เป็นชนักอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไปไหนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ พอผลมันออกมาเช่นนี้ ก็คิดว่าเป็นทิศทางที่ดี หวังว่าจะดีในศาลชั้นต่อๆ ไป หากฝ่ายโจทก์มีการอุทธรณ์คดีต่อ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขดำที่ อ.632/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.11/2566 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52406)
  • ศาลจังหวัดลำปางอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลเห็นว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด ได้รับการอบรมสั่งสอนแล้ว และให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีหมายเลขดำที่ อ.163/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.51/2565 ลงวันที่ 17 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/53289)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ไลลา (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
“เบนซ์” (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ไลลา (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พิเชฐ ศรมยุรา
  2. สลิลภร เส้งโสตะ

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 17-01-2023
ผู้ถูกดำเนินคดี :
“เบนซ์” (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิชาภรณ์ สกุณา
  2. ขนิษฐา สุขเสน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-01-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“เบนซ์” (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สุภาวรรณ มหัตเดชกุล
  2. อลิศรา มานะจิตต์
  3. กริตติกา ทองธรรม

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 31-01-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์