สรุปความสำคัญ

นักศึกษาและประชาชนในจังหวัดลำปางรวม 5 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 10 โดยถูกกล่าวหาว่า แขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 พินิจ ทองคำ 1 ใน 5 ราย ยังถูกดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ด้วย โดยถูกระบุว่า เป็นผู้นำภาพป้ายที่แขวนบนสะพานดังกล่าวไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก "พิราบขาวเพื่อมวลชน" ทั้งหมดไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน และได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พินิจ ทองคำ
    • วรรณพร หุตะโกวิท
    • ภัทรกันย์ แข่งขัน
    • ยุพดี กูลกิจตานนท์
    • "หวาน" (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

18 ม.ค. 2564 ประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย ได้เดินทางไปยังสำนักงานของคณะก้าวหน้า จังหวัดลำปาง และได้แสดงหมายค้นของศาลจังหวัดลำปาง ระบุในหมายเพียงกว้างๆ ว่า “เพื่อพบและยึดสิ่งของ ซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด”

ขณะนั้นได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบางส่วนเข้าไปภายในสำนักงานแล้ว แต่เมื่อผู้ที่พักอาศัยในบ้านหลังดังกล่าวขอดูหมายค้น ก่อนพบว่าหมายค้นดังกล่าวระบุเลขที่บ้านไม่ตรงกับสำนักงานของคณะก้าวหน้า จึงโต้แย้งไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้น ตำรวจจึงแจ้งว่าจะกลับไปทำการแก้ไขหมายค้นและจะกลับมาค้นอีกครั้ง โดยระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบจำนวนเฝ้าจับตาภายนอกไว้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ตำรวจระบุว่ายังมีหมายค้นอีกจำนวน 2 หมาย ซึ่งสถานที่จะถูกค้นอีก 2 แห่ง เป็นบ้านพักของวรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตที่จบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งขณะนั้นทั้งสองคนอยู่ที่สำนักงานของคณะก้าวหน้าด้วย แต่หมายค้นบ้านวรรณพร ระบุเลขที่บ้านผิดพลาดเช่นกัน ตำรวจจึงไม่ได้เดินทางไปค้น และเดินทางไปตรวจค้นบ้านพักของภัทรกันย์เพียงหลังเดียว หลังการเข้าตรวจค้น ทางตำรวจไม่พบวัตถุต้องสงสัยหรือสิ่งใดที่มีไว้เป็นความผิดแต่อย่างใด

จากนั้นตำรวจได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ออกโดย สภ.เมืองลำปาง โดยมี ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร เป็นผู้กล่าวหา และมีพินิจ ทองคำ กับพวกเป็นผู้ต้องหา ให้กับภัทรกันย์เพื่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 25 ม.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

ต่อมาชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางกลับมายังสำนักงานของคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง โดยได้นำหมายค้นที่มีการแก้ไขบ้านเลขที่ให้ถูกต้องโดยศาลจังหวัดลำปาง กลับมาเข้าตรวจค้นสำนักงานดังกล่าวอีกครั้ง

ในการตรวจค้น ตำรวจได้ให้ความสนใจกับป้ายผ้าและสิ่งที่เปื้อนสีต่างๆ ภายในสำนักงาน ก่อนที่จะทำการตรวจยึดแผ่นป้ายไวนิล, ถังสีแดงและเหลือง, ขวดน้ำพลาสติกตัดครึ่งที่ใช้ผสมสี, แปรงทาสี และเชือกฟาง จำนวน 7 รายการ พร้อมจัดทำบันทึกการตรวจยึดสิ่งของเหล่านั้นไว้

ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการส่งหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 3 คน ในคดีเดียวกับภัทรกันย์ ให้พินิจ ทองคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่เรียนคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ควบคู่ไปด้วย, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตที่จบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ "หวาน" (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยระบุว่าในคดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 1 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการส่งหมายเรียกให้ผู้ต้องหา จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดจึงได้เดินทางกลับไป

25 ม.ค. 2564 เวลา 10.30 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง นักศึกษาและประชาชนในจังหวัดลำปางรวม 5 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนอกจากนักศึกษา 4 รายแล้วยังมียุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง อีกรายที่ถูกออกหมายเรียก

การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งแผงรั้วเหล็กรอบบริเวณอาคารสถานีตำรวจ และตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิสำหรับคนที่ผ่านเข้าออก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 50 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกราว 20 นายกระจายตัวอยู่โดยรอบ

ก่อนเข้าไปยังห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจัดสอบประวัติส่วนตัว ที่อยู่ และถ่ายภาพผู้ที่เข้ามาในอาคาร และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามประกบถ่ายภาพกลุ่มผู้ถูกออกหมายเรียก ทั้งในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหายังมีการตั้งกล้องบันทึกวีดีโอไว้โดยตลอด นอกจากนั้นทางตำรวจยังเตรียมจัดหาทนายความจากสภาทนายความเอาไว้ แต่ทางผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดยืนยันว่าตนมีทนายความอยู่แล้ว

คณะพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 5 คน ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ขณะ ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร ปฏิบัติหน้าที่เวรสืบสวน ได้พบว่าเพจของกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ได้โพสต์ภาพและข้อความกรณีมีการแขวนป้ายผ้าไว้ที่ราวสะพาน บริเวณกลางสะพานรัษฎาภิเศก พร้อมระบุข้อความว่า “เวลานี้ แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ขึ้นป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID 19’ บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง” จึงไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และตรวจยึดป้ายดังกล่าว นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปาง และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดครั้งนี้

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และปิดแผ่นประกาศในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนยังขอเก็บตัวอย่าง DNA ไปตรวจสอบ โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ายินยอม

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าในการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการระบุว่า ข้อความในป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19’ เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองลำปาง ลงวันที่ 25 ม.ค. 2564, https://tlhr2014.com/archives/25254 และ https://tlhr2014.com/archives/25502)

ภูมิหลัง

  • พินิจ ทองคำ
    นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน
  • วรรณพร หุตะโกวิท
    บัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาชิกกลุ่ม NU-Movement
  • ภัทรกันย์ แข่งขัน
    นักศึกษาคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  • ยุพดี กูลกิจตานนท์
    แม่ค้าในจังหวัดลำปาง
  • "หวาน" (นามสมมติ)
    นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์