สรุปความสำคัญ

สุปรียา ใจแก้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และสมาชิกกลุ่มเชียงรายปลดแอก ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงรายในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน จากการที่ตำรวจฝ่ายสืบ สภ.เมืองเชียงราย กล่าวหาว่า เธอนำป้ายผ้าข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ไปแขวนไว้บริเวณป้าย “ทรงพระเจริญ” ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในตัวเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 และโพสต์ภาพป้ายดังกล่าวในเพจ "เชียงรายปลดแอก" ภายหลังจับกุม ตำรวจยังเข้าตรวจค้นห้องพักและตรวจยึดสิ่งของ รวมทั้งโทรศัพท์ โดยไม่มีหมายค้น และคำสั่งศาลให้ตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างเกินกว่าบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมาย และนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สุปรียา ใจแก้ว
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

25 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 16.10 น. สุปรียา ใจแก้ว นักศึกษาวิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักวิชาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และสมาชิกกลุ่มเชียงรายปลดแอก ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 2 นายพร้อมเจ้าหน้าที่ชายนอกเครื่องแบบชายอีกจำนวนหนึ่ง เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงรายที่ 20/2564 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และโฆษณาด้วยการปิดแผ่นประกาศหรือใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 10 พร้อมจับกุมตัวจากหอพักในจังหวัดเชียงรายไปยัง สภ.เมืองเชียงราย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุม โดยมีการระบุชื่อชุดตำรวจที่เข้าทำการจับกุม ทั้งจาก สภ.บ้านดู่, สภ.เมืองเชียงราย และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย กว่า 52 นาย และระบุว่า การจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาสุปรียาใน 3 ข้อกล่าวหาตามหมายจับดังกล่าว โดยระบุว่าคดีมี ร.ต.อ.ศุภากร ภัทรสุขเกษม เป็นผู้กล่าวหาว่า เธอได้นำป้ายผ้าข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ไปแขวนไว้บริเวณป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อำเภอเมืองเชียงราย สุปรียาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ระหว่างการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนยังได้ระบุว่าทางตำรวจได้มีการขอหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจค้นห้องพักของสุปรียา แต่ว่าหมายค้นดังกล่าวได้เลยกำหนดระยะเวลาที่จะเข้าตรวจค้นได้แล้ว ซึ่งตำรวจสามารถไปขอออกหมายค้นใหม่ได้ และควบคุมตัวสุปรียาไว้ได้จนถึงวันเสาร์ แต่หากสุปรียาต้องการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนคืนนี้เลย จะต้องนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นห้องพักด้วยความเต็มใจ
สุปรียาจึงยินยอมนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น โดยมีทนายความและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเดินทางไปร่วมเป็นพยาน

หลังตรวจค้นห้องพักแล้ว ตำรวจยังไม่ให้ประกันตัวจนกว่าสุปรียาจะยินยอมให้ยึดโทรศัพท์มือถือเป็นของกลางด้วย โดยที่ตำรวจไม่ได้มีคำสั่งศาลสำหรับยึดเครื่องมือสื่อสารตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด และได้ตรวจยึดไปในที่สุดแม้สุปรียาจะไม่ยินยอม

จากนั้นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้ยื่นขอประกันตัวสุปรียาในชั้นสอบสวน ด้วยเงินสดจำนวน 150,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนพนักงานสอบสวนจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสุปรียา และสุปรียาได้รับการปล่อยตัว ในเวลา 24.00 น. เศษ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 ระบุเรื่องการยึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง จะต้องยื่นคําร้องต่อศาลที่มีเขตอํานาจเพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการตามคําร้อง ทำให้การตรวจยึดโทรศัพท์มือถือซึ่งนับว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่งตามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องมีคำสั่งอนุญาตของศาลก่อน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเห็นว่าการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือในกรณีนี้ของพนักงานสอบสวนสภ.เมืองเชียงราย จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เมืองเชียงราย ลงวันที่ 25 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26313)

ภูมิหลัง

  • สุปรียา ใจแก้ว
    นักศึกษาวิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักวิชาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และสมาชิกกลุ่มเชียงรายปลดแอก

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์