สรุปความสำคัญ

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมชาวเชียงรายวัย 27 ปี ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย และถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์และโพสต์ข้อความ รวมทั้งคลิปในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 25 โพสต์ ในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมถึงมีบางโพสต์ที่ไม่ชัดเจนว่ากล่าวถึงบุคคลใด แต่ในการยื่นฟ้องคดี อัยการกล่าวหาว่า มงคลมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์

มงคลถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก หลังจากคดีนี้เขายังถูกดำเนินคดีอีก 2 คดี จากการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กเช่นเดียวกันนี้ ทำให้เขาอาจจะต้องเผชิญกับโทษจำคุกนับสิบปี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกนำไปบังคับใช้โดยตีความอย่างกว้างขวางเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มงคล ถิระโคตร
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมมงคล ถิระโคตร หรือ “บาส” อายุ 27 ปี ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และเป็นนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ขณะนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ เป็นวันที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112

ชุดจับกุมระบุว่า ได้รับการประสานงานมาจาก พ.ต.อ.มานพ เสนากูล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงรายที่ 42/2564 ลงวันที่ 14 เม.ย. 2564 มี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

จากนั้น ตำรวจได้นำตัวมงคลขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม โดยมงคลให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นจับกุม

จนเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถตู้ของ สน.พหลโยธิน เพื่อเดินทางไปส่งตัวยังจังหวัดเชียงราย ต่อมาทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย ได้นำรถมารับตัวมงคลต่อที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนนำตัวไปถึง สภ.เมืองเชียงราย ในช่วงเวลาประมาณ 00.45 น. ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคลในช่วงบ่ายวันถัดไป

ทั้งนี้มงคลยังยืนยันการอดอาหารต่อไป แม้จะถูกจับกุมก็ตาม โดยมีประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ได้นำน้ำดื่ม เกลือแร่ และนม มาฝากให้เขาระหว่างถูกควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย

15 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พบว่า ตำรวจได้นำตัวมงคลไปจากห้องควบคุมผู้ต้องหาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยในตอนแรกไม่ทราบว่านำตัวไปที่ใด ทราบเพียงว่านำตัวไปขยายผลทางคดี

เวลา 09.20 น. ตำรวจนำตัวมงคลกลับมาควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย เจ้าหน้าที่ระบุว่า นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้านพักในจังหวัดเชียงราย โดยได้แสดงหมายค้นต่อญาติของมงคลแล้ว แต่มงคลระบุว่า ตนไม่ได้เห็นหมายค้นดังกล่าว และไม่ได้ถูกนำตัวลงจากรถตำรวจเพื่อร่วมการตรวจค้น ทำให้ไม่ทราบว่าได้มีการตรวจยึดทรัพย์สินหรือสิ่งของใดหรือไม่

เวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท.ภาสกร ได้นำตัวมงคลออกมาจัดทำบันทึกการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ซึ่งตรวจยึดตั้งแต่เข้าจับกุมมงคลที่กรุงเทพฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม มงคลปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร โดยได้ลงชื่อในบันทึกตรวจยึดและบันทึกไม่ยินยอมให้ถอดข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ว่า “ไม่ยอมรับมาตรา 112 ที่ป่าเถื่อน”

ขณะเดียวกัน ยังทราบเพิ่มเติมว่า ในการตรวจค้นบ้านพักของมงคลเช้านี้ เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้ตรวจยึดสิ่งของ ได้แก่ กระดาษเขียนข้อความ, แถลงการณ์ของราษฎร, ปลอกแขนลายชูสามนิ้ว และริบบิ้นสีแดง โดยให้มารดาของมงคลเป็นผู้ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึด ทั้งนี้ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งของที่ตรวจยึดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ในคดีอย่างไร

พ.ต.ท.ภาสกร ได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) จากการโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ แชร์ข้อความและคลิปวิดีโอ พร้อมเขียนข้อความประกอบ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 รวม 25 โพสต์

มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทนายความได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราวมงคลในชั้นสอบสวน โดยวางเงินประกันจำนวน 250,000 แสนบาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ แต่ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย มีคำสั่งไม่อนุญาต ระบุว่า การปล่อยตัวชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดหลายกรรม จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี

ทำให้มงคลถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองเชียงราย ต่ออีก 1 คืน ก่อนที่ในวันต่อมา พ.ต.ท.ภาสกร นำตัวมงคลไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งคัดค้านการประกันตัว ต่อมา ศาลได้ไต่สวนการฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้ผู้ต้องหาอยู่บนรถควบคุม และวิดีโอคอลผ่านโทรศัพท์มือถือของพนักงานสอบสวน พร้อมให้ทนายและพนักงานสอบสวนยืนสอบถามด้านข้างรถควบคุม โดยศาลชี้แจงว่าเป็นมาตรการในช่วงสถานการณ์โควิด

จากนั้นศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่ก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกันเป็นเงิน 150,000 บาท กำชับให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ห้ามไปกระทำความผิดอาญาหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น มิฉะนั้นศาลอาจพิจารณาให้เพิกถอนการอนุญาตปล่อยชั่วคราวได้

(อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึด สภ.เมืองเชียงราย ลงวันที่ 15 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28298)

ภูมิหลัง

  • มงคล ถิระโคตร
    นักกิจกรรมจังหวัดเชียงราย ไม่สังกัดกลุ่มกิจกรรมใด แสดงออกทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊คตั้งแต่ปี 2553

    อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/51613

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์