ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.593/2564
แดง อ.57/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ชุดสืบสวน ตร.ภ.จว.เชียงราย (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.593/2564
แดง อ.57/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ชุดสืบสวน ตร.ภ.จว.เชียงราย

ความสำคัญของคดี

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมชาวเชียงรายวัย 27 ปี ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย และถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์และโพสต์ข้อความ รวมทั้งคลิปในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 25 โพสต์ ในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมถึงมีบางโพสต์ที่ไม่ชัดเจนว่ากล่าวถึงบุคคลใด แต่ในการยื่นฟ้องคดี อัยการกล่าวหาว่า มงคลมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์

มงคลถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก หลังจากคดีนี้เขายังถูกดำเนินคดีอีก 2 คดี จากการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กเช่นเดียวกันนี้ ทำให้เขาอาจจะต้องเผชิญกับโทษจำคุกนับสิบปี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกนำไปบังคับใช้โดยตีความอย่างกว้างขวางเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สุรินทร์ สิงหาบุตร พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 จำเลยได้กระทำผิดรวม 25 กรรม โดยโพสต์และแชร์ ข้อความและภาพ รวมถึงภาพเคลื่อนไหว ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ จำนวน 25 โพสต์ โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 จำนวน 8 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 10 จำนวน 14 โพสต์ และไม่ได้ระบุถึงผู้ใด จำนวน 3 โพสต์

อัยการระบุว่า โพสต์ตามฟ้องสื่อความหมายว่า จำเลยมีเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.593/2564 ลงวันที่ 8 ก.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมมงคล ถิระโคตร หรือ “บาส” อายุ 27 ปี ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และเป็นนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ขณะนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ เป็นวันที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112

    ชุดจับกุมระบุว่า ได้รับการประสานงานมาจาก พ.ต.อ.มานพ เสนากูล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงรายที่ 42/2564 ลงวันที่ 14 เม.ย. 2564 มี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    จากนั้น ตำรวจได้นำตัวมงคลขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม โดยมงคลให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นจับกุม

    จนเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถตู้ของ สน.พหลโยธิน เพื่อเดินทางไปส่งตัวยังจังหวัดเชียงราย ต่อมาทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย ได้นำรถมารับตัวมงคลต่อที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนนำตัวไปถึง สภ.เมืองเชียงราย ในช่วงเวลาประมาณ 00.45 น. ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคลในช่วงบ่ายวันถัดไป

    ทั้งนี้มงคลยังยืนยันการอดอาหารต่อไป แม้จะถูกจับกุมก็ตาม โดยมีประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ได้นำน้ำดื่ม เกลือแร่ และนม มาฝากให้เขาระหว่างถูกควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/28298)
  • เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พบว่า ตำรวจได้นำตัวมงคลไปจากห้องควบคุมผู้ต้องหาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยในตอนแรกไม่ทราบว่านำตัวไปที่ใด ทราบเพียงว่านำตัวไปขยายผลทางคดี

    เวลา 09.20 น. ตำรวจนำตัวมงคลกลับมาควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย เจ้าหน้าที่ระบุว่า นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้านพักในจังหวัดเชียงราย โดยได้แสดงหมายค้นต่อญาติของมงคลแล้ว แต่มงคลระบุว่า ตนไม่ได้เห็นหมายค้นดังกล่าว และไม่ได้ถูกนำตัวลงจากรถตำรวจเพื่อร่วมการตรวจค้น ทำให้ไม่ทราบว่าได้มีการตรวจยึดทรัพย์สินหรือสิ่งของใดหรือไม่

    เวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท.ภาสกร ได้นำตัวมงคลออกมาจัดทำบันทึกการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ซึ่งตรวจยึดตั้งแต่เข้าจับกุมมงคลที่กรุงเทพฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม มงคลปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร โดยได้ลงชื่อในบันทึกตรวจยึดและบันทึกไม่ยินยอมให้ถอดข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ว่า “ไม่ยอมรับมาตรา 112 ที่ป่าเถื่อน”

    ขณะเดียวกัน ยังทราบเพิ่มเติมว่า ในการตรวจค้นบ้านพักของมงคลเช้านี้ เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้ตรวจยึดสิ่งของ ได้แก่ กระดาษเขียนข้อความ, แถลงการณ์ของราษฎร, ปลอกแขนลายชูสามนิ้ว และริบบิ้นสีแดง โดยให้มารดาของมงคลเป็นผู้ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึด ทั้งนี้ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งของที่ตรวจยึดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ในคดีอย่างไร

    พ.ต.ท.ภาสกร ได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5)

    ตำรวจได้ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า มาจากการโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ แชร์ข้อความและคลิปวิดีโอ พร้อมเขียนข้อความประกอบ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 รวม 25 โพสต์ อาทิ การโพสต์ภาพและข้อความที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์, การแชร์คลิปสารคดีและรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย, การแชร์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul พร้อมเขียนข้อความประกอบ

    ตำรวจระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว งานการข่าวและมั่นคงของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้สืบสวนติดตามพฤติการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่าได้โพสต์ข้อความและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี จึงได้รายงานไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พิจารณา ก่อนภูธรภาค 5 โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ได้พิจารณาและสั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวน และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564

    ต่อมา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ก่อน พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร จะเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับมงคล ที่ สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 และพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับในวันถัดมา

    สำหรับพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ทางพนักงานสอบสวนระบุว่า จะนับเป็นความผิดจำนวนกี่กรรมนั้น ขึ้นอยู่กับพนักงานอัยการที่จะพิจารณาต่อไป

    มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และหากมีพยานหลักฐานที่ใช้ในการต่อสู้คดีเพิ่มเติม จะยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 15 วันต่อไป

    หลังการสอบปากคำ ทนายความสอบถามเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวมงคลในชั้นสอบสวน ตำรวจระบุว่า ต้องวางเงินประกันจำนวน 250,000 แสนบาท ทนายความจึงได้นำเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งช่วยเหลือการประกันตัวในคดีการเมือง วางเป็นหลักประกัน และพนักงานสอบสวนได้เสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชา

    จนเวลา 16.30 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย มีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นตำรวจนี้ โดยพิจารณาเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดหลายกรรม จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

    ทำให้ในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย. 2564) ตำรวจจะนำตัวมงคลไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงราย โดยมงคลจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองเชียงราย ต่ออีก 1 คืน

    (อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึด สภ.เมืองเชียงราย ลงวันที่ 15 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28298)
  • เวลาประมาณ 09.30 น. พ.ต.ท.ภาสกร นำตัวมงคลไปยังศาลจังหวัดเชียงราย โดยยื่นคำร้องระบุความจำเป็นในการฝากขังว่า กระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลการตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขออนุญาตฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน

    ขณะเดียวกัน พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหากระทำความผิดหลายกรรม และผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรืออาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

    ขณะทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะก่อเหตุภยันตรายประการอื่น โดยพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จ ผู้ต้องหาก็ไม่ทราบว่าคือผู้ใด การตรวจสอบประวัติการต้องโทษก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใดๆ ได้ การปล่อยตัวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรค และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

    ทั้งนี้ เมื่อมงคลถูกพาตัวมายังศาล เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำตัวเขาลงจากรถควบคุมผู้ต้องขัง แต่ให้นั่งรออยู่ภายในรถตลอด โดยศาลชี้แจงว่าเป็นมาตรการในช่วงสถานการณ์โควิด ตามที่มีข้อกำหนดเรื่องลดการพิจารณาในห้องพิจารณา และเป็นเช่นนี้เหมือนกันในทุกๆ คดี ไม่ใช่การปฏิบัติต่อคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ

    ต่อมา ศาลได้ให้ไต่สวนการฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้ผู้ต้องหาอยู่บนรถควบคุม และวิดีโอคอลผ่านโทรศัพท์มือถือของพนักงานสอบสวน พร้อมให้ทนายและพนักงานสอบสวนยืนสอบถามด้านข้างรถควบคุม

    จนเวลา 14.39 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา โดยเห็นว่าพฤติการณ์ในคดีน่าเชื่อว่ามีความร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการขอฝากขัง คำร้องคัดค้านยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้เพียงพอ อนุญาตให้ฝากขัง

    ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาต่อศาล โดยยื่นหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

    เวลา 15.55 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักประกันเป็นเงิน 150,000 บาท โดยศาลได้กำชับผู้ต้องหาและนายประกันผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า เมื่อได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ห้ามผู้ต้องหาไปกระทำความผิดอาญาหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น มิฉะนั้นศาลอาจพิจารณาให้เพิกถอนการอนุญาตปล่อยชั่วคราวได้

    จากนั้นได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การในวันที่ 9 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/28342)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวมงคลในคดีนี้ หลังจากมงคลถูกตำรวจ เข้าจับกุมจากบ้านพักในจังหวัดเชียงราย ตามหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จำนวน 2 โพสต์ ระหว่างวันที่ 8-9 เม.ย. 2564 โดยให้เหตุผลในการขอถอนประกันว่า มีการกระทำผิดในคดีใหม่อีก

    อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าเหตุในคดีหลังเกิดขึ้นก่อนการจับกุมและการให้ประกันโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดอาญาหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในคดีนี้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/29133)
  • ศาลจังหวัดเชียงรายนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวมงคลทั้งในคดีนี้และคดีที่ 2 ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 โดยอ้างว่า หลังได้รับการประกันตัวมงคลยังคงโพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนด แต่เนื่องจากมงคลเดินทางไปทำกิจกรรมอดอาหารที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้กลับมา อีกทั้งหลังกลับมา มงคลต้องกักตัวอีก 21 วัน ทำให้ไม่สามารถมาตามนัดหมายของศาลได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 2 ส.ค. 2564

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/34018)
  • พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายยื่นฟ้องมงคลต่อศาลจังหวัดเชียงรายในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 25 โพสต์ ในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 โดยเป็นโพสต์ที่มีข้อความและภาพพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 จำนวน 8 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 10 จำนวน 14 โพสต์ และไม่ได้ระบุถึงผู้ใด จำนวน 3 โพสต์ อัยการระบุว่า โพสต์ตามฟ้องสื่อความหมายว่า จำเลยมีเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.593/2564 ลงวันที่ 8 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34018)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนนัด เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง โดยกำหนดนัดใหม่เป็นวันที่ 25 ส.ค. 2564
  • เลื่อนไปพร้อมกันในนัดสอบคำให้การ
  • เวลาประมาณ 09.00 น. มงคลเดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยครอบครัวและทนายความ ตามนัดสอบถามคำให้การและไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว

    ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้งดการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนทั้งในคดีนี้และคดีที่ 2 โดยระบุว่า ไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนกรณีดังกล่าวแล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งฟ้องมงคลเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ทำให้อำนาจในการควบคุมตัวในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้สิ้นสุดลง ศาลจึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนตามคำร้องของทนายจำเลย

    จากนั้น ศาลได้อ่านคำฟ้องทั้งคดีนี้และคดีที่ 2 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายได้ยื่นฟ้องต่อศาลมาแล้วเช่นกัน ให้มงคลฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนสอบถามว่า จำเลยจะให้การอย่างไร มงคลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุดในทั้ง 2 คดี

    ต่อมา บิดาของมงคลได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีทั้ง 2 คดี ด้วยเงินสดคดีละ 150,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตามคำร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้จำเลยกระทำใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศและให้มาศาลตามนัดหมาย

    นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 21 ก.ย. 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 ต.ค. 2564 ในทั้งสองคดี จากนั้นมงคลได้รับการปล่อยตัวจากห้องคุมขังใต้ถุนศาล ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/34018)
  • ศาลให้สืบพยานคดีนี้และคดี 112 คดีที่ 2 ของมงคลไปพร้อมกัน โดยนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 19-20 เม.ย. 2565 และ 27-30 ก.ย. 2565
  • วันแรกของการสืบพยานโจทก์ ศาลแจ้งให้กับจำเลยและทนายจำเลยทราบว่า ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ทำให้ผู้ที่เข้าห้องพิจารณาคดีได้ จะมีเพียงพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายที่เป็นโจทก์ ทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยให้เป็นทนายจำเลย และตัวจำเลยเท่านั้น ในส่วนพ่อและแม่ของมงคล หรือผู้สังเกตการณ์ที่เดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณา ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ตลอดการสืบพยาน

    การสืบพยานโจทก์และจำเลยตลอด 6 วัน ฝ่ายอัยการโจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 ปาก, นักวิชาการมหาวิทยาลัย 1 ปาก และนักวิชาการอิสระ 1 ปาก ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ได้แก่ จำเลย และนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีก 2 ปาก

    บรรยากาศตลอดการสืบพยาน มีความตึงเครียดเป็นช่วงๆ เนื่องจากหลายครั้งที่ทนายจำเลยได้โต้แย้งทั้งข้อกฎหมายและวิธีการในการถามความกับผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี โดยมีครั้งหนึ่งที่ทนายความต้องขอพักการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อปรึกษาหารือกับจำเลย หลังจากมีข้อถกเถียงในห้องพิจารณา

    สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ ได้แก่ จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องมาจริง แต่เห็นว่าการกระทำของตนเองเป็นการแสดงออกที่สามารถกระทำได้ ข้อความหลายข้อความ พยานโจทก์เองก็ไม่เห็นว่าเป็นความผิดตามฟ้อง อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชนยิ่งสร้างความมั่นใจให้จำเลย ทั้งเห็นว่าการตีความและบังคับใช้ข้อหาตามมาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่นี้ไม่เป็นประโยชน์สถานะของสถาบันกษัตริย์

    นอกจากนั้นการกระทำของจำเลยไม่ได้สร้างผลกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้ใด การโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหาหลายโพสต์เป็นการโพสต์ถึงอดีตพระมหากษัตริย์ บางโพสต์เป็นเพียงบางช่วงของสารคดีที่มีการเผยแพร่สาธารณะอยู่ก่อนแล้ว บางส่วนเป็นเพียงเนื้อหาข่าวจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์หรือส่งผลต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

    ในการสืบพยานวันแรก อัยการได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้อง โดยเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรื่องการขอให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อปรากฏว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน แต่ศาลอนุญาตให้แก้ไข ด้วยเห็นว่าเป็นการขอแก้ไขรายละเอียดให้ครบถ้วนเท่านั้น ทั้งในคำฟ้องได้บรรยายการกระทำเป็นรายกระทงมาแล้ว และจำเลยให้การปฏิเสธโจทก์โดยมิได้อ้างข้อต่อสู้ใดๆ ไว้ในคำให้การ จึงมิใช่เรื่องการหลงต่อสู้

    อย่างไรก็ตาม ในการยื่นแถลงการณ์ปิดคดีภายหลังสืบพยานเสร็จ ทนายจำเลยได้โต้แย้งการแก้ไขคำขอท้ายฟ้องว่า เป็นการนับเพิ่มจำนวนการกระทำและให้ศาลลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดี ทั้งยังเป็นการยื่นแก้ไขในนัดสืบพยานวันแรก มิใช่นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานแต่อย่างใด

    พยานปากที่ 1 และ 2 ที่โจทก์นำเข้าเบิกความ ได้แก่ พ.ต.ท.โชคชัย พรหมประเสริฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจังหวัดเชียงราย มีหน้าที่ในการสืบสวนหาข่าวของกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ มณีจันสุข สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย ที่เข้ามาเบิกความคล้ายกันถึงการติดตามพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมในจังหวัดเชียงรายและมีการขึ้นกล่าวปราศรัย หลังจากนั้นจำเลยมักจะเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย และพยานก็ได้ติดตามโซเชียลมีเดียของจำเลยเรื่อยมา

    จนกระทั่งจำเลยได้มีการประกาศจัดกิจกรรมด้วยตนเอง โดยเดินทางมาจากบ้านใน อ.พาน เพื่อมาทำกิจกรรมในเมืองเชียงราย พยานก็ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายฝ่ายติดตามตลอดการทำกิจกรรม ตั้งแต่ออกจากบ้านจนจำเลยเดินทางกลับบ้าน โดยจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า เฟซบุ๊กที่คาดว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานเป็นตัวจำเลยจริง เมื่อเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับการโพสต์ในเฟซบุ๊ก

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51676)
  • พยานโจทก์ปากที่ 3 ได้แก่ พ.ต.ท.ปราโมทย์ บุญตันบุตร กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการรับผิดชอบเกี่ยวกับงานความมั่นคง รวมถึงคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เข้าเบิกความในเรื่องที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้รับรายงานเกี่ยวกับเฟซบุ๊กที่มีการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ จึงได้สั่งการให้พยานรวบรวมข้อมูล

    พยานได้รวบรวมพยานหลักฐานตามเอกสารที่ส่งต่อศาลใน 2 คดีนี้ แต่ผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวคือ ด.ต.เฉลิมกิจ เฟืองฟูกิจการ และเมื่อพยานได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งไปยังกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้รับคำสั่งให้พยานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย

    สำหรับพยานหลักฐานที่พยานได้รวบรวมนั้น พยานได้เบิกความไล่ไปอย่างละเอียดรวมทั้งหมด 27 โพสต์ ใน 2 คดี พร้อมกับให้ความเห็นว่าแต่ละโพสต์นั้นน่าจะเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112

    พยานโจทก์ปากที่ 4 ได้แก่ ด.ต.เฉลิมเกียรติ เฟืองฟูกิจการ ผู้บังคับหมู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ มีหน้าที่ด้านการข่าวและความมั่นคง สืบสวนติดตามบุคคลเฝ้าระวัง บุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และบุคคลที่มีผลเกี่ยวกับความมั่นคง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เบิกความโดยสรุปว่าประมาณปลายปี 2563 พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามจำเลยในคดีนี้ โดยพบว่าจำเลยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวและมีการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์หลายครั้ง พยานจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาเป็นระยะ

    จนกระทั่งพบการกระทำความผิดในคดีนี้ราวเดือน มี.ค. 2564 พยานก็ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งการบันทึกภาพหน้าจอโพสต์และคัดลอกวิดีโอที่มีการโพสต์ พร้อมจัดทำรายงานส่งต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นพยานได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย ผ่านการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงและภาพถ่ายที่ถูกโพสต์ ซึ่งหลายกิจกรรมที่โพสต์ก็ปรากฏว่า จำเลยได้ไปทำกิจกรรมดังกล่าวจริง ส่วนในเอกสารที่มีข้อมูลผิดพลาดบางส่วน เช่น วันที่ไม่ตรงกับโพสต์ต่างๆ เพราะพยานพิมพ์ผิดพลาดบางส่วน แต่ยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามคำฟ้องแล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51676)
  • พยานโจทก์ปากที่ 5 ได้แก่ สุรชัย อุฬารวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นพยานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำโพสต์ที่จำเลยถูกกล่าวหาทั้ง 27 โพสต์ ไปสอบถามความเห็นทางกฎหมาย โดยพยานเบิกความแสดงความเห็นว่า มีบางโพสต์จำนวนประมาณ 6-7 โพสต์เท่านั้น ที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนโพสต์อื่นๆ นั้น เห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย

    พยานโจทก์ปากที่ 6 ได้แก่ สว่าง กันศรีเวียง นักวิชาการอิสระ ได้เข้ามาเบิกความสั้นๆ ให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ที่จำเลยถูกกล่าวหาเช่นกัน โดยพยานระบุว่า โดยภาพรวมแล้วโพสต์ของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด เนื่องจากมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายต่อทั้งกษัตริย์ ราชินี และอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดยที่พยานไม่แยกดูแต่ละโพสต์ แต่ดูโดยภาพรวมและให้ความเห็น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51676)
  • พยานโจทก์ปากที่ 7 และ 8 ได้แก่ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ และ พ.ต.ท.สันติ ศิริสำราญ ทั้งสองเป็นพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้เบิกความคล้ายกันว่า เมื่อราวกลางปี 2564 มีคำสั่งจากกองกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับจำเลย หลังได้รับการแจ้งความร้องทุกข์พร้อมกับพยานหลักฐานในคดีแล้ว พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากผู้กล่าวหาไว้ จากนั้นสอบปากคำผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ของจำเลยที่มีการรวบรวมมา

    ต่อมาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมาย จึงได้มีการขอศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับจำเลย โดยครั้งแรกเป็นการจับกุมจำเลยที่กรุงเทพฯ และครั้งที่สองเป็นการจับกุมที่บ้านพักของจำเลย ก่อนจะมีการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยและนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสองครั้งจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องจำเลย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51676)
  • พยานจำเลยปากที่ 1 มงคล ถิระโคตร จำเลย เบิกความถึงประวัติส่วนตัวด้านการศึกษา อาชีพการงาน และสถานะในปัจจุบันที่จำเลยอาศัยอยู่กับพ่ออายุ 70 ปีและแม่อายุ 60 ปี จากนั้นได้เบิกความถึงความสนใจทางการเมืองของตนเอง ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากเห็นว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถกระทำได้ และจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองนั้นก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามที่บ้านอย่างต่อเนื่องก่อนถูกดำเนินคดีนี้

    เหตุที่จำเลยถูกจับกุมในคดีนี้ โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนทั้งสองครั้ง ครั้งแรกมาจากการที่ได้เดินทางไปทำการอดอาหารหน้าศาลอาญาในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองหลายรายที่ไม่ได้สิทธิในการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ขณะจับกุม ตำรวจได้มีความพยายามให้จำเลยเซ็นเอกสารเพื่อรับสารภาพโดยไม่มีทนายความ แต่จำเลยก็ยืนยันให้การปฏิเสธ

    ครั้งที่สอง เป็นการจับกุมก่อนที่จำเลยจะเดินทางลงไปทำกิจกรรมที่กรุงเทพฯ โดยมีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กไว้ก่อนแล้ว ก็ถูกตำรวจเข้าจับกุมและดำเนินคดีอีกครั้ง ทั้งสองครั้งหลังถูกจับก็มีการนำตัวส่งมาที่ สภ.เมืองเชียงราย เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา

    ตอนนั้นจำเลยเห็นว่าบริบททางสังคมที่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง และมีการใช้กฎหมายมาตรา 112 จำนวนมาก อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงไม่ให้ใช้กฎหมายมาตรา 112 เมื่อเห็นแบบนั้นจำเลยจึงโพสต์ข้อความต่างๆ ลงเฟซบุ๊ก ทำให้ถูกดำเนินคดีทั้งสองนี้ โดยคดีที่ 2 นั้นเป็นโพสต์ข้อความที่เกิดขึ้นก่อนการถูกจับกุมครั้งแรกแล้ว แต่มีการดำเนินคดีแยกกัน ไม่ใช่การโพสต์ภายหลังถูกจับกุม

    มงคลยืนยันว่า ยังคงสนใจสถานการณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ทั้งในไทย รวมถึงต่างประเทศ แม้จะถูกดำเนินคดีก็ยังคงสนใจเรื่องเหล่านี้อยู่ การโพสต์ข้อความต่างๆ ก็เป็นสาธารณะมาตลอด มีคนมาแสดงความคิดเห็นตามปกติ มีหลากหลายประเด็นทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่จำเลยโพสต์มาและถูกดำเนินคดีมา ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาบอกให้ลบโพสต์แต่อย่างใด

    มงคลระบุว่า เดิมตนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว เมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม เฝ้าดู หรือกระทั่งประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจไม่ชอบมาแสดงความเห็น การที่จำเลยจะออกจากบ้านไปไหน ก็ต้องระแวงว่าจะโดนอะไรหรือไม่ กรณีตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างเช่น กรณีของ “จ่านิว” หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกทำร้ายร่างกาย มีภาพกล้องวงจรปิดชัดเจน ก็ยังไม่สามารถจับคนทำได้

    เนื่องจากจำเลยมีบ้านอยู่ในอำเภอห่างไกลจากเมือง กล้องวงจรปิดใดๆ ก็ไม่มี ไม่มีกลุ่มก้อนใดๆ คอยดูแล อาจจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ กับตัวจำเลยก็เป็นไปได้ อีกทั้งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพขายของหารายได้ที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจ พ่อแม่ของจำเลยก็อายุมากทั้งคู่

    จำเลยยืนยันว่า อยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ร่วมกับสังคมไทยสมัยใหม่ไปได้ อยากให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันกษัตริย์ได้ สามารถวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ อย่างในประเทศอังกฤษก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี หรือกระทั่งด่าทอได้ เท่าที่ทราบในอังกฤษก็มีกฎหมายคล้ายๆ มาตรา 112 แต่ไม่ใช้กับประชาชน จำเลยก็อยากจะเห็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ จำเลยเพียงคนเดียวไม่สามารถล้มล้างสถาบันกษัตริย์ได้ การใช้มาตรา 112 ต่างหากที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ

    หากมองในมุมมองของต่างประเทศจะเห็นว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ป่าเถื่อนและมีโทษสูง จำเลยไม่ได้มีความเกลียดชังต่อราชวงศ์ และสุดท้ายจำเลยก็อยากเห็นศาลเชิดชูความคิดเห็นที่แตกต่าง ยึดมั่นในหลักของความเที่ยงธรรม ความเห็นต่างไม่ทำให้ประเทศชาติหรือสถาบันกษัตริย์ล่มสลายได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51676)
  • พยานจำเลยปากที่ 2 ได้แก่ กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นเบิกความโดยให้ความเห็นต่อโพสต์ของจำเลย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ

    1. การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกอยู่ในบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เป็น New social movement ที่ลดการเผชิญหน้าลง แต่เปลี่ยนมาเป็นการเสียดสี ด่าทอ ที่เป็นวิธีการโดยสันติ ทำให้มาตรฐานทางสังคมเปลี่ยนไป อย่างในสื่อต่างๆ จะพบเห็นว่ามีการใช้คำหยาบคายโดยทั่วไปมากขึ้น ตัวอย่างในประเทศสเปน มีการเผารูปกษัตริย์ ศาลสิทธิมนุษยชนก็มีความเห็นว่าไม่เป็นความผิด หรือประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการเผาธงชาติ ศาลก็พิจารณาว่าอาจกระทบต่อจิตใจ แต่ไม่กระทบต่อความมั่นคง มาตรฐานการแสดงความคิดเห็นการแสดงออกได้เปลี่ยนไป

    2. การกระทำของจำเลยทั้งหมด พยานเห็นว่า เป็นการแสดงออกที่ไม่ได้ใช้กำลังปะทะกับใคร จึงเข้าข่ายปฏิบัติการทางการเมืองต่อสาธารณะที่เป็น Civil resistance หรือการต่อต้านของพลเมือง และการดื้อแพ่ง พยานไม่ได้อ้างว่า จะไม่ต้องมีความรับผิดใดๆ แต่หากจะเป็นความผิดได้ จะต้องมีเหตุผลรองรับอย่างหนักแน่นพอ

    3. ประเด็นเรื่องความมั่นคง จะต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน หมายถึง ต้องเป็นการรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สิน ร่างกาย หรือชีวิตของประชาชน เมื่อการแสดงออกไม่กระทบกับสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องไปดูว่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรื่องการแสดงออกนั้น ถ้ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายเรื่องความมั่นคงของรัฐ ก็ไม่อาจจำกัดสิทธิการแสดงความเห็นหรือการแสดงออกได้

    พยานเห็นว่า โพสต์ทั้งหมดของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่สามารถกระทำได้ แม้จะมีคำหยาบคายอยู่บ้าง แต่หากมองตามมาตรฐานสากลแล้วก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ อีกทั้งเมื่อสถาบันกษัตริย์ได้ขยายอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว มาตรฐานการวิพากษ์วิจารณ์จึงอยู่ในระดับเดียวกับสถาบันทางการเมืองหรือนักการเมือง พยานเห็นว่า ความจงรักภักดีมาจากเหตุและผล การทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ ไม่กระทบต่อความจงรักภักดีที่มาจากเหตุผล การโพสต์ข้อความต่างๆ ของจำเลยไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีนั้นเปลี่ยนไป

    พยานฝ่ายจำเลยปากสุดท้าย ได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความในประเด็นเรื่องการทำกิจกรรมอดอาหารของจำเลยหน้าศาลอาญา จนกระทั่งถูกตำรวจจับกุมในคดีนี้ และการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน ต่อมาก็ได้มีการให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้งว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา หลังจากนั้นก็พบว่ามีสถิติการใช้มาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ชี้ให้เห็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและมีการใช้เพื่อกลั่นแกล้งจากกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน แม้หลายคดีศาลจะยกฟ้อง แต่ประชาชนที่ต้องตกเป็นจำเลยได้เกิดความลำบากมีภาระตั้งแต่ตอนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

    หลังฝ่ายโจทก์และจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค. 2565 โดยต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้กับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจดูก่อน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51676)
  • เนื่องจากสำนวนคดียังไม่กลับมาจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งคำสั่งศาลที่ให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 23 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 26 ม.ค. 2566
  • การฟังคำพิพากษาในวันนี้ ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเข้าฟังคำพิพากษา ทนายความได้แถลงขอให้พ่อกับแม่ของจำเลย ซึ่งเดินทางมาด้วย ได้ร่วมเข้าฟัง และศาลได้อนุญาตตามคำขอ โดยในวันนี้อัยการโจทก์ไม่ได้เดินทางมาศาล

    เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาทั้งสองสำนวนคดีรวมกันมีใจความโดยสรุปเห็นว่า จากการนำสืบของโจทก์และจำเลย จำเลยได้รับว่า โพสต์ข้อความทั้งหมดตามที่ถูกฟ้องจริง

    มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ แม้ทั้งโจทก์และจำเลยจะมีพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นนักวิชาการทางนิติศาสตร์เข้าให้ความเห็นว่า บางข้อความก็ไม่เป็นความผิดตามข้อหาดังกล่าว แต่พยานดังกล่าว ศาลจะรับฟังหรือไม่ก็ได้ ศาลสามารถวินิจฉัยโดยความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไปได้

    ศาลได้วินิจฉัยในแต่ละข้อความ มีความเห็นยกฟ้องจำนวน 13 ข้อความ โดยเป็นข้อความที่กล่าวหาอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 จำนวน 9 ข้อความ ส่วนอีก 4 ข้อความ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ว่าโพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ก็ไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ศาลเห็นว่า ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112

    ขณะที่ศาลเห็นว่าข้อความ รูปภาพและวิดีโอที่ระบุได้ว่า กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จำนวน 14 ข้อความ (เป็นข้อความตามฟ้องในคดีนี้ 12 ข้อความ) ถือว่า มีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย แม้ทางนำสืบของจำเลยจะต่อสู้ว่า ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย แต่การโพสต์ของจำเลยย่อมแสดงให้เห็นว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5) นำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทที่หนักที่สุด คือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้เรียงโทษเป็นกระทงความผิดไป รวม 14 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี

    ทั้งนี้ศาลไม่ได้อ่านโทษเต็ม ก่อนลดโทษให้เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา หลังอ่านคำพิพากษา บัสบาสได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาล และทนายความได้ยื่นขอประกันในระหว่างอุทธรณ์

    ต่อมาเวลา 14.07 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย โดยเจ้าหน้าที่ให้รอฟังคำสั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้เลย

    เวลา 16.50 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วิดีโอคอลมาแจ้งคำสั่งให้ครอบครัวของจำเลยที่เป็นนายประกัน และทนายความฟัง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกัน จึงอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ด้วยวงเงิน 300,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข 2 ประการ คือ ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

    ก่อนหน้านี้นายประกันได้วางหลักทรัพย์ประกันระหว่างพิจารณาคดีไว้แล้วคดีละ 150,000 บาท รวม 2 คดี เป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 300,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ไม่ต้องวางหลักประกันในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมอีก

    สำหรับอัตราโทษในคำพิพากษาของบัสบาส นับได้ว่าสูงสุดที่สุดในคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ยังต่ำกว่ากรณีของ “อัญชัญ” ซึ่งคดีเกิดขึ้นในยุค คสช. ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 87 ปี จากกการเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน จำนวน 29 กรรม โดยเธอให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (ราว 43.5 ปี) มากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเธอก็ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา

    ขณะเดียวกันนอกจากคดีนี้ของบัสบาส เขายังถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายในภายหลังอีกคดีหนึ่ง จากการโพสต์อีก 2 ข้อความ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.593/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.57/2566 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52877)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้คัดถ่ายวิดีโอบันทึกการสืบพยานต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีประเด็นดังนี้

    1. ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ ไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติภายในของศาล ดังนั้น ในการพิจารณามีคำสั่ง จึงจะต้องพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องเสียก่อน

    ดังที่ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ระบุให้บันทึกภาพและเสียง ที่บันทึกคำเบิกความพยานที่ปรากฏในไฟล์วิดีโอ เป็นคำเบิกความตามกฎหมาย แต่สรุปคำเบิกความมิใช่คำเบิกความนั้น

    หากจําเลยไม่มีโอกาสในการคัดสำเนาคำเบิกกความพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ย่อมจะทำให้จำเลยเสียเปรียบ โดยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกร้ายแรง ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลย

    ทนายความของจำเลยในคดีอาญาควรจะมีสิทธิที่จะขอสำเนาไฟล์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งเป็นบันทึกคำเบิกความพยานตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและใช้ทบทวนการสืบพยานหลักฐานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ อันเป็นการจำเป็นเพื่อใช้ในการสรุปอ้างอิงช่วงเวลาที่บันทึกในแต่ละบันทึกคำเบิกความพยาน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลสูง ให้ศาลสูงได้มีความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบความถูกต้องของพยานหลักฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาอย่างแท้จริง

    2. สรุปคำเบิกความพยานโจทก์และจำเลยที่ย่นย่ออย่างยิ่งในคดีนี้นั้น เมื่อทนายความได้ตรวจดู เปรียบเทียบกับบันทึกภาพและเสียงคำเบิกความพยานต่าง ๆ ในแต่ละไฟล์ ปรากฏว่ายังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสรุปคำเบิกความพยานทุกปาก ไม่ปรากฏเนื้อหาส่วนที่จำเลยถามค้าน รวมไปถึงส่วนที่โจทก์ถามติง และไม่ปรากฏการบันทึกสรุปถึงการอ้างพยานเอกสารของทั้งสองฝ่าย

    แม้สรุปคำเบิกความไม่จำเป็นจะต้องถอดความคำเบิกความพยานออกมาทุกถ้อยคำ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บใจความสำคัญที่พยานได้เบิกความต่อศาลมา ทั้งในส่วนที่พยานแต่ละปากตอบคำถามฝ่ายโจทก์และจำเลย

    การสรุปคำเบิกความพยานจากบันทึกภาพและเสียงที่ย่นย่อเกินไป ย่อมสร้างผลให้ศาลสูงจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบความถูกต้องของคำเบิกความ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรับฟังพยานหลักฐานในการมีดุลยพินิจมีคำพิพากษาของศาล

    3. ทนายความมีภูมิลำเนาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวจำเลยก็มีภูมิลำเนาในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ห่างจากศาลกว่า 60 กิโลเมตร

    แต่บันทึกภาพและเสียงของการสืบพยานแต่ละปากในคดีนั้น มีระยะเวลายาวนาน จำเป็นจะต้องใช้เวลาตรวจสอบและจดบันทึกหลายวัน แม้ก่อนหน้านี้ ทนายความจะได้ใช้เวลาตรวจสอบไฟล์ไปแล้ว 3 วัน ก็ยังไม่อาจตรวจดูได้ครบถ้วนเสร็จสิ้น การที่ฝ่ายจำเลยจะต้องเดินทางไปศาลชั้นต้นซ้ำ ๆ หลายครั้ง เพื่อดำเนินการดังกล่าว ก็มีทั้งภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาเกินสมควร

    ทั้งยังเป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ศาลในการจัดสถานที่สำหรับการตรวจดูไฟล์บันทึกภาพและเสียงดังกล่าว ทั้งที่สามารถทำได้โดยวิธีอื่นที่สะดวกกว่า คืออนุญาตให้คู่ความคัดสำเนาไฟล์บันทึกไปตรวจสอบเองได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคู่ความทุกฝ่าย

    หากศาลมีความกังวลจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อไฟล์บันทึกวิดีโอ หรือข้อมูลคำเบิกความพยาน ศาลอาจมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลประสานงานจัดการดูแลการทำสำเนาไฟล์ หรือกำชับให้คู่ความระมัดระวังหรือห้ามเผยแพร่ไฟล์ดังกล่าวก็ได้

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้คัดถ่ายสำเนาคำเบิกความพยาน ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.593/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.57/2566 ลงวันที่ 16 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58209)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายวิดีโอบันทึกการสืบพยาน เพื่อใช้ประกอบการจัดทำอุทธรณ์คำพิพากษา เนื่องจากคดีนี้มีการสืบพยานต่อเนื่องถึง 6 วัน

    แต่ศาลมีคำสั่งในวันเดียวกันนี้ ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายวิดีโอ ระบุว่า ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกา ข้อ 7 วรรคสองกำหนดไม่ให้ทำซ้ำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้

    ศาลยังกล่าวถึงสรุปคำเบิกความที่เจ้าหน้าที่ศาลจัดทำขึ้น และทนายความเห็นว่าเป็นการย่นย่ออย่างยิ่งนั้น โดยอ้างถึงข้อที่ 9 ของข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่า มิได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศาลต้องถอดคำเบิกความของพยานออกมาทุกถ้อยคำแต่อย่างใด ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะจดบันทึกคำเบิกความของพยานให้ครบถ้วนทุกถ้อยคำแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องขอตรวจดูบันทึกภาพและเสียง และจดบันทึกคำเบิกความของพยานด้วยตนเอง

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.593/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.57/2566 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58209)
  • ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ระบุว่า เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น โดยเห็นว่า เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรค 4 ที่ให้การบันทึกคำเบิกความเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา และข้อบังคับประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2564 ข้อ 7 วรรค 2 กำหนดไม่สามารถทำซ้ำข้อมูลภาพและเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกนั้นได้ การขอคัดลอกถือเป็นการทำซ้ำ จึงไม่อนุญาต

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/58209)
  • จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 2 คดีไปในคราวเดียวกัน โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น โดยสรุปได้แก่

    1) การกระทำของจำเลยไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เมื่อตีความสถานภาพขององค์พระมหากษัตริย์ตามหลักการรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรโดยแท้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐตามอำนาจสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย สมควรตีความกฎหมายให้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชน เจตนารมณ์คุ้มครองชื่อเสียงพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่สอดคล้องกับหลักนิติวิธีในการตีความกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

    2) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายเมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ด้วยเหตุที่ไม่เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระมหากษัตริย์และพระราชินี ไม่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย แม้จะมีถ้อยคำหยาบคายอยู่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะเป็นความผิดต่อกฎหมาย แม้จะมีข้อความที่ศาลอาจพิจารณาว่าเป็นความผิด แต่ความเสียหายก็เบาบางไม่อาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

    3) การดำเนินคดีกับจำเลยไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใด แต่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปกป้องผลประโยชน์ไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือการกระทำของผู้มีอำนาจรัฐ ส่งผลให้เกิดการตีความบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางเกินขอบเขต การเร่งรีบดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวนก่อให้เกิดข้อสงสัยหรือพิรุธว่าเป็นไปตามคำสั่งหรือนโยบาย ไม่มีดุลพินิจอิสระ แต่เป็นไปตามลำดับชั้นบังคับบัญชา เพื่อมิให้จำเลยทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล

    4) เมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แม้อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เมื่อความผิดต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรโดยแท้ ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5)

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.593, 630/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.57, 58/2566 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63225)
  • มงคล พร้อมเพื่อนและครอบครัว เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยปรากฏว่าลิฟท์ของศาลจังหวัดเชียงรายเสีย ทำให้พ่อและแม่ของมงคล ซึ่งอายุมากแล้ว ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาในชั้น 4 ได้ ต้องรออยู่ด้านล่าง

    ศาลจังหวัดเชียงรายเริ่มอ่านคำพิพากษา (รวม 2 คดี) โดยสรุปศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยในประเด็นอุทธรณ์ของจำเลย โดยเห็นว่าศาลไม่อาจยึดถือตามคำยืนยันของจำเลย หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการทางกฎหมายที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยนำเข้าสืบเป็นหลักในการวินิจฉัย แต่ต้องรับฟังและพิจารณาความคิดเห็นนั้นประกอบการวินิจฉัยชี้ขาด

    การกระทำของจำเลยในส่วนของการโพสต์ 14 ข้อความ ดังกล่าว ศาลเห็นว่าสามารถใช้ความรู้สึกและเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปก็เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาอย่างไร จำเลยย่อมทราบดีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ประชาชนไทยให้ความเคารพสักการะทรงเป็นประมุขของประเทศ บุคคลผู้ให้ความเคารพสักการะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่กระทำการอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

    การที่จำเลยใช้ถ้อยคำที่จำเลยเองก็ยอมรับว่าหยาบคายลงในเฟซบุ๊ก ลงภาพการทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหาย หรือภาพล้อเลียนรูปพระพักตร์ หรือภาพที่แสดงถึงความไม่เคารพ วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อเกียรติยศ ไม่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ หรือเป็นการล้อเลียนเชิงวิพากษ์ และไม่อาจเข้าใจว่าจะไม่ได้ทำให้พระมหากษัตริย์เสียหาย ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าโพสต์ทั้ง 14 ข้อความ เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    ส่วนในประเด็นอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าความผิดตามมาตรา 112 นั้นต้องเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น โดยข้อความ 9 โพสต์ของจำเลย เป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 จึงขาดองค์ประกอบความผิด

    ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6374/2556 วางหลักของความผิดตามมาตรา 112 พระมหากษัตริย์มิได้หมายความเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือมิได้ทรงครองราชย์ต่อไปแล้วด้วย ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 โพสต์ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วย

    ส่วนโพสต์ข้อความอีก 2 โพสต์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อเข้าใจโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้กล่าวว่าองค์พระมหากษัตริย์ให้เสียหาย จึงเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง

    แต่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโพสต์อีก 2 ข้อความ ที่เห็นว่ามิได้สื่อความหมายให้ผู้อ่านมีความรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

    ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดในอีก 11 กระทง ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงหนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ รวมเป็นโทษจำคุกรวม 50 ปี

    คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงนามโดย มโน เทอดจิตธรรม, ศรชัย วรานิชสกุล และ นพคุณ ไชยเทพ

    หลังฟังคำพิพากษา มงคลได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล และทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา

    ต่อมา เวลาประมาณ 11.50 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ ทำให้มงคลถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายเพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัวต่อไป
    .
    ทั้งนี้ โทษจำคุกของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีนี้ นับได้ว่าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเท่าที่ทราบข้อมูลก่อนหน้านี้ คดีที่ถูกลงโทษจำคุกสูงที่สุด คือ คดีของ “อัญชัญ” ศาลอาญาลงโทษจำคุกรวม 87 ปี จากการเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน จำนวน 29 กรรม โดยเธอให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (คิดเป็นประมาณ 43 ปี 6 เดือน) โทษจำคุกที่ถูกลดหย่อนแล้วในกรณีของบัสบาส จึงสูงกว่าคดีของอัญชัญ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีหมายเลขดำที่ อ.1577-1578/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ.101-102/2567 ลงวันที่ 11 ม.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/63268)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. เกรียงศักดิ์ ปานศิลา
  2. ชยานันต์ ลิ่มสุวรรณ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-01-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. มโน เทอดจิตธรรม
  2. ศรชัย วรานิชสกุล
  3. นพคุณ ไชยเทพ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 18-01-2024

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์