สรุปความสำคัญ

วิธญา คลังนิล และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน "artn’t" ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 51 จากกรณีการแสดงงานศิลปะระหว่างการชุมนุม "ยุทธการไล่ประยุทธ์" เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยถูกกล่าวหาว่า แสดงแผ่นพลาสติกคล้ายธงชาติไทย แต่ไม่มีแถบสีน้ำเงิน ซึ่งสื่อว่าทั้งสองไม่ประสงค์ให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย และข้อความที่มีผู้ชุมนุมเขียนบนงานศิลปะดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์

คดีนี้มีศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • วิธญา คลังนิล
    • ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 มี.ค. 2564 พรรควิฬาร์ นัดชุมนุมที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 17.00 น. ภายใต้ชื่อกิจกรรม "ยุทธการไล่ประยุทธ์" โดยกิจกรรมมีการปราศรัยประเด็นปัญหาทางการศึกษาเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากโควิดและการบริหารจัดการของรัฐบาลประยุทธ์ รวมทั้งมีการปราศรัยถึงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากการไม่ได้สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้หาคดีทางการเมือง นอกจากเวทีปราศรัย ยังมีการแสดงศิลปะการแสดงสดจากศิลปิน การแสดงละครเชิงสัญลักษณ์ จำลองสถานการณ์ทหารทุบศาล ก่อนจะยุติกิจกรรม เวลา 20.45 น. ด้วยกิจกรรมผู้ร่วมชุมนุม จุดผางประทีป เป็นแนวทางและนำหมุดไปปักบนรูปหุ่นนักโทษที่ทางผู้จัดเตรียมมา เมื่อผู้เข้าร่วมจัดวางแนวเทียนเสร็จแล้ว ได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ตัดหัวหุ่นนักโทษที่มีรูปนายกรัฐมนตรีติดอยู่

ผู้เข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 60-120 คน โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อย่างน้อย 3 นาย และ 1 ในนั้นเคยคุกคามหนึ่งในผู้ต้องหาจากกรณี #เชียงใหม่จะไม่ทน ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม จากรายงานไม่พบตำรวจในเครื่องแบบ

(อ้างอิง: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1615885158751/)

11 พ.ค. 2564 เวลา 9.00 น. ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ วิธญา คลังนิล นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ใช้ ชัก หรือแสดงธงที่คล้ายคลึงกับธง ตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522" จากการแสดงศิลปะครั้งดังกล่าว

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาโดยสรุปว่า แผ่นพลาสติกใส ลักษณะคล้ายธงชาติไทย แต่ไม่มีสีน้ำเงิน ที่ทั้งสองแสดง สื่อให้เห็นว่าผู้จัดทำไม่ประสงค์ที่จะให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศ อีกทั้งข้อความที่ผู้ร่วมกิจกรรมเขียนแสดงความคิดเห็นลงบนแผ่นพลาสติกดังกล่าว และทั้งสองคนนำมาถือแสดง มีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์

นักศึกษาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัว ไม่มีการนำไปฝากขัง

ทั้งนี้กรณีงานศิลปะลักษณะคล้ายธงชิ้นนี้ ปรากฏเป็นข่าวข้อพิพาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 หลังผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์เข้ามาเก็บงานแสดงศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ ขณะเดียวกันในคืนก่อนหน้านั้น ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบงานศิลปะถึงในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ก่อนที่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ศรีสุวรรณ จรรยา จะได้เดินทางไปที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงงานศิลปะดังกล่าว

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ลงวันที่ 11 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29512)

ภูมิหลัง

  • ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์
    นักศึกษาคระวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานศิลปะจัดวาง (Installation art) และงานศิลปะแสดงสด (Performance art) สะท้อนประเด็นทางสังคมร่วมกับกลุ่ม "ศิลปะไม่" (Artn't)
  • วิธญา คลังนิล
    นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ เคยร่วมกิจกรรมเยาวชนจากค่ายการเรียนรู้ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และทำกิจกรรมสายวัฒนธรรมทางภาคใต้และ 3 จังหวัดภาคใต้มาก่อน

    เราเริ่มเห็นบทบาทของวิธญา จากการขึ้นอ่านบทกวีในท่วงทำนองแปลกประหลาด บนเวทีการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ตามมาด้วยการเห็นบทบาทของเขาจากการแสดง Performance Art โดยการใช้ร่างกายแสดงออกทางสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/36402)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์