สรุปความสำคัญ

"ตี้" วรรณวลี ธรรมสัตยา, “หนึ่ง“ (นามสมมติ) และ “น้ำ” (นามสมมติ) 3 นักศึกษา ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ จากเหตุที่วรรณวลีโพสต์ภาพทั้งสามคนชูป้ายระหว่างร่วมการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสยาม กทม. หลังสุกิจ เดชกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่ เข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ข้อความในป้ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกตีความอย่างกว้างขวางและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่เห็นต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • วรรณวลี ธรรมสัตยา
    • น้ำ (นามสมมติ)
    • หนึ่ง (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ม.ค. 2564 เวลา 11.00 น. ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ 3 นักศึกษา ได้แก่ "ตี้" วรรณวลี ธรรมสัตยานักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คู่ขนานเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา, “หนึ่ง“ (นามสมมติ) นักศึกษาชายคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยในจังหวัดนนทบุรี และ “น้ำ” (นามสมมติ) นักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 แม้ก่อนหน้านี้จะขอเลื่อนออกไป เนื่องจากไม่มีใครมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ทั้งสามคนได้หมายเรียกครั้งแรก ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 ม.ค. 2564 แต่ไม่มีใครอาศัยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้ขอเลื่อนการรับทราบข้อหาออกไป เนื่องจากความลำบากของการเดินทางในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเดิมจะขอเลื่อนไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ ร.ต.ท.อมรเทพ ชุมวิสูตร รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ทันที โดยระบุให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 ม.ค. 2564 ทั้งสามจึงเดินทางมายัง สภ.เมืองเชียงใหม่

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้ง 3 คน ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 สุกิจ เดชกุล มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งมีชื่อเดียวกันกับวรรณวลี, หนึ่ง และน้ำ ที่ได้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 ในลักษณะ “ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนที่ได้เห็นข้อความหลงเชื่อ และร่วมแสดงความคิดเห็นที่ลักษณะเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 3 คนใน 2 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

นักศึกษาทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนยังได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีด้วย แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้มีหมายศาลใด ก่อนพนักงานสอบสวนปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในคดีนี้ไม่ได้มีเหตุเกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด โดยภาพที่โพสต์นั้นพบว่าเป็นการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสยาม กทม. และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ผู้กล่าวหาระบุว่าตรวจพบภาพและข้อความจากระบบคอมพิวเตอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มาแจ้งความกล่าวหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อให้เกิดภาระทางคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในการเดินทางไปต่อสู้คดี

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 22 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25460)

ภูมิหลัง

  • น้ำ (นามสมมติ)
    นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกกลุ่ม "DNA บุคลากรทางการแพทย์​และอาสาสมัคร"

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์