สรุปความสำคัญ

ธีรวัช ยอดสิงห์ นักศึกษา ปวช. วัย 19 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3),(5) โดยถูกศิวพันธุ์ มานิตย์กุล กล่าวหาว่า แชร์ข้อความและภาพวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของ ร.10 จากเพจ “KonThaiUk” พร้อมพิมพ์ข้อความแสดงความเห็น ในชั้นตำรวจ ธีรวัชถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ โดยไม่มีหมายเรียก และทนายความเข้าร่วม ก่อนถูกฝากขัง โดยศาลให้ประกันตัว

ทั้งนี้ เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเกิดขึ้นขณะธีรวัชเพิ่งจะมีอายุเกิน 18 ปี มาเพียงราว 4 เดือน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนฯ แทน แต่ศาลจังหวัดสมุทรปราการไม่อนุญาต อ้างผลการตรวจวินิจฉัยของจิตแพทย์ว่า ธีรวัชมีสภาวะจิตใจสมบูรณ์สมวัย

กรณีนี้เผยให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกดำเนินคดี และเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่เห็นต่าง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธีรวัช ยอดสิงห์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 มี.ค. 2564 ธีรวัช ยอดสิงห์ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อายุ 19 ปี เดินทางไปที่ สภ.บางแก้ว ตามที่นัดหมายกับตำรวจเพียงลำพัง หลังเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ตำรวจเดินทางไปหาที่บ้านต่างจังหวัด ซึ่งมีเพียงย่าอาศัยอยู่ และให้ย่าโทรศัพท์หาธีรวัช ก่อนตำรวจจะแจ้งให้ธีรวัชเข้าไปพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.บางแก้ว เพื่อเข้าไปเซ็นเอกสารให้จบคดี ถ้าหากไม่เข้าไปพบจะถูกออกหมายจับ

ธีรวัชถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำถึง 4 ชั่วโมง โดยไม่มีทนายความ หรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วย มีเพียงการได้โทรศัพท์คุยกับญาติเท่านั้น

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3), (5)

ระหว่างสอบปากคำพนักงานสอบสวนได้นำรูปโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความจากเพจ “KonThaiUk” มาให้ดู พร้อมกับพูดว่า ฝ่ายสืบทราบแล้วว่า ธีรวัชเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ และได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริง ด้านธีรวัชซึ่งจำไม่ได้แล้วว่า ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากได้ยินคำพูดของพนักงานสอบสวนเช่นนั้น จึงให้การรับสารภาพไป

หลังจากเสร็จกระบวนการพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวธีรวัช โดยนัดหมายให้ไปพบอีกครั้งในวันถัดมา เพื่อนำตัวไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้สำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และสำเนาบันทึกประจำวันกับธีรวัช

ธีรวัชเผยว่า เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา และไม่ทราบว่าในวันนัดจะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ในทันที เนื่องจากตำรวจที่คุยโทรศัพท์กับเขาไม่ได้แจ้ง และเขาคิดว่าที่ตำรวจบอกให้เขาไปพบเพื่อเซ็นเอกสารให้จบคดีนั้น เจ้าหน้าที่คงไม่โกหก

ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ธีรวัชได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 เพื่อไปให้การเป็นพยานกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหมายระบุว่ามีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้

แต่เนื่องจากหมายเรียกพยานส่งไปที่บ้านต่างจังหวัด ขณะธีรวัชอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ และมีภารกิจส่วนตัวด้านการเรียน จึงไม่ได้เดินทางเข้าไปพบพนักงานสอบสวน โดยหลังจากนั้นตำรวจก็ไม่ได้มีหมายเรียกมาอีก เขาจึงไม่ได้เดินทางไปพบ

วันต่อมา ธีรวัชพร้อมทนายความ เดินทางไปที่ สภ.บางแก้ว ตามนัดหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขออนุญาตศาลฝากขังในชั้นสอบสวน ด้านทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงนัดไต่สวน ก่อนอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันตัว โดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด เป็นหลักประกัน

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1, คำให้การพยาน ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27374)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์