ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.678/2564

ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.678/2564
ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล

ความสำคัญของคดี

ธีรวัช ยอดสิงห์ นักศึกษา ปวช. วัย 19 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3),(5) โดยถูกศิวพันธุ์ มานิตย์กุล กล่าวหาว่า แชร์ข้อความและภาพวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของ ร.10 จากเพจ “KonThaiUk” พร้อมพิมพ์ข้อความแสดงความเห็น ในชั้นตำรวจ ธีรวัชถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ โดยไม่มีหมายเรียก และทนายความเข้าร่วม ก่อนถูกฝากขัง โดยศาลให้ประกันตัว

ทั้งนี้ เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเกิดขึ้นขณะธีรวัชเพิ่งจะมีอายุเกิน 18 ปี มาเพียงราว 4 เดือน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนฯ แทน แต่ศาลจังหวัดสมุทรปราการไม่อนุญาต อ้างผลการตรวจวินิจฉัยของจิตแพทย์ว่า ธีรวัชมีสภาวะจิตใจสมบูรณ์สมวัย

กรณีนี้เผยให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกดำเนินคดี และเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่เห็นต่าง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ บรรยายคำฟ้อง มีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นพระบรมราชินี

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 เวลากลางวัน จำเลยได้แชร์ข้อความและภาพจากเฟซบุ๊กชื่อ “KonThaiUK” โดยข้อความดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของรัชกาลที่ 10 ลงในเฟซบุ๊กของจำเลย พร้อมทั้งพิมพ์ข้อความ (โพสต์) วิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อความคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

คำวิพากษ์วิจารณ์และรูปภาพที่จำเลยเผยแพร่นั้นเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่จำเลยใส่ความ ถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทเบื้องสูง และหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของรัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ จําเลยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนี้ มีความรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 10

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.678/2564 ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ธีรวัช ยอดสิงห์ เดินทางไปที่ สภ.บางแก้ว ตามที่นัดหมายกับตำรวจเพียงลำพัง หลังเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ตำรวจเดินทางไปหาที่บ้านต่างจังหวัด ซึ่งมีเพียงย่าอาศัยอยู่ และให้ย่าโทรศัพท์หาธีรวัช ก่อนตำรวจจะแจ้งให้ธีรวัชเข้าไปพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.บางแก้ว เพื่อเข้าไปเซ็นเอกสารให้จบคดี ถ้าหากไม่เข้าไปพบจะถูกออกหมายจับ

    ธีรวัชถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำถึง 4 ชั่วโมง โดยไม่มีทนายความ หรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วย มีเพียงการได้โทรศัพท์คุยกับญาติเท่านั้น

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3), (5)

    ระหว่างสอบปากคำพนักงานสอบสวนได้นำรูปโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความจากเพจ “KonThaiUk” มาให้ดู พร้อมกับพูดว่า ฝ่ายสืบทราบแล้วว่า ธีรวัชเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ และได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริง ด้านธีรวัชซึ่งจำไม่ได้แล้วว่า ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากได้ยินคำพูดของพนักงานสอบสวนเช่นนั้น จึงให้การรับสารภาพไป

    หลังจากเสร็จกระบวนการพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวธีรวัช โดยนัดหมายให้ไปพบอีกครั้งในวันถัดมา เพื่อนำตัวไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้สำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และสำเนาบันทึกประจำวันกับธีรวัช

    ธีรวัชเผยว่า เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา และไม่ทราบว่าในวันนัดจะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ในทันที เนื่องจากตำรวจที่คุยโทรศัพท์กับเขาไม่ได้แจ้ง และเขาคิดว่าที่ตำรวจบอกให้เขาไปพบเพื่อเซ็นเอกสารให้จบคดีนั้น เจ้าหน้าที่คงไม่โกหก

    ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ธีรวัชได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 เพื่อไปให้การเป็นพยานกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหมายระบุว่ามีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้

    แต่เนื่องจากหมายเรียกพยานส่งไปที่บ้านต่างจังหวัด ขณะธีรวัชอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ และมีภารกิจส่วนตัวด้านการเรียน จึงไม่ได้เดินทางเข้าไปพบพนักงานสอบสวน โดยหลังจากนั้นตำรวจก็ไม่ได้มีหมายเรียกมาอีก เขาจึงไม่ได้เดินทางไปพบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/27374)
  • ธีรวัชพร้อมทนายความ เดินทางไปที่ สภ.บางแก้ว ตามนัดหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขออนุญาตศาลฝากขังในชั้นสอบสวน โดยในคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ระบุว่า พนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกหมายขังตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค. 2564 แต่เนื่องจากศาลปิดทำการแล้ว จึงนำตัวผู้ต้องหามาในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค.

    คำร้องฝากขังยังระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ขณะศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหาพักอยู่บ้านพักย่านบางพลี พบผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รวมพล ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ KonThaiUk โดยโพสต์ดังกล่าวพูดถึงการแต่งกายของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 พร้อมเขียนข้อความประกอบซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงมาแจ้งความร้องทุกษ์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว ซึ่งทางการสืบสวนสอบสวนทราบว่า ธีรวัชเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความดังกล่าว

    ด้านทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงนัดไต่สวนในเวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน โดยพนักงานสอบสวนแถลงถึงเหตุผลที่ขอออกหมายขังว่าคดีมีอัตราโทษสูง, ต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปาก เพื่อยืนยันว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของธีรวัชหรือไม่ เกรงว่าหากได้รับการปล่อยตัว จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เนื่องจากพยานส่วนหนึ่งเป็นเพื่อนของผู้ต้องหา

    ด้านธีรวัชให้การว่า ขณะให้การรับสารภาพนั้นไม่มีทนายความอยู่ด้วย ในตอนนี้ ธีรวัชต้องการให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งตนยังไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน มีเพียงหมายเรียกพยานเท่านั้น

    เวลา 17.00 น. ศาลอนุญาตให้ฝากขังธีรวัช ระบุเหตุผลว่า คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด เป็นหลักประกัน ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ธีรวัชจึงได้รับการปล่อยตัวไป โดยศาลนัดรายงานตัวในวันที่ 14 มิ.ย. 2564

    “ตอนเย็นเมื่อวานเจ้าหน้าที่เขากำลังจะเอาโซ่มาล่ามขาผมแล้ว แต่พอดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจข้างนอกวิ่งมาบอกว่า คนนี้ได้ประกัน ผมเกือบไม่ได้ประกันแล้ว แล้วพี่รู้ไหมเงินที่ใช้ประกันพวกผมในคุก แพงที่สุดแล้วนะ จากทั้งหมดที่อยู่ในห้องขังตรงนั้น” ธีรวัชเผยหลังได้รับประกันตัว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1, คำให้การพยาน ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27374)
  • พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้องธีรวัชต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3),(5) กล่าวหาว่า ธีรวัชแชร์โพสต์จากเพจ “KonThaiUK” พร้อมพิมพ์ข้อความ โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนดูหมิ่น เกลียดชังรัชกาลที่ 10

    อัยการไม่ได้คัดค้านหากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.678/2564 ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2564)
  • ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ธีรวัชเข้ารายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน ก่อนได้รับแจ้งว่า พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว จากนั้นทนายได้ยื่นประกันตัวธีรวัชระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด และศาลกำหนดวันนัดพร้อมต่อไปวันที่ 11 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/30798)
  • นัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเกิดขึ้นขณะธีรวัชเพิ่งจะมีอายุเกิน 18 ปี มาเพียงราว 4 เดือน ศาลอนุญาตให้ธีรวัชไปตรวจจิตเวชด้วยตนเอง และนำผลการตรวจมาแจ้งก่อนวันที่ 30 พ.ย. 2564 และนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 13 ธ.ค. 2564
  • นัดตรวจพยานหลักฐานและฟังผลการตรวจสุขภาพจิตจำเลย ศาลมีคำสั่งให้ส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อขอให้ส่งผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์มาประกอบการพิจารณาว่าจะโอนคดีนี้ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ หรือไม่ และเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 14 มี.ค. 2565 โดยหากไม่มีคำสั่งให้โอนคดีไปศาลเยาวชนฯ ศาลจะกำหนดวันนัดสืบพยานในวันนัดดังกล่าว

    จากนั้นศาลได้ตรวจพยานหลักฐาน อัยการแถลงนำพยานเข้าสืบ 6 ปาก ทนายจำเลยแถลงสืบพยาน 3 ปาก
  • ธีรวัชพร้อมทนายความ เดินทางเข้าฟังคำสั่ง กรณีที่ธีรวัชยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ แต่ธีรวัชและทนายกลับเจอปัญหาเรื่องความล่าช้าของกระบวนการ อีกทั้งศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในคดี ส่งผลกระทบต่อการทำงานของทนายความซึ่งต้องรับผิดชอบในการเก็บข้อมูลคดีจำนวนมาก รวมทั้งการต้องเดินทางมาศาลหลายรอบ แต่กระบวนการกลับไม่คืบหน้า

    “ตอนนี้คดีอยู่ในกระบวนการที่ศาลจะต้องส่งจดหมายไปยังสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อขอผลการตรวจวินิจฉัยว่า จำเลยยังมีสภาวะทางจิตเป็นเยาวชนอยู่หรือไม่ เพื่อจะได้มีคำสั่งว่าจะโอนย้ายคดีหรือไม่ คดีนี้ได้มีการยื่นคำร้องขอโอนย้ายไปแล้ว 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรก ศาลไม่อนุญาต มาอนุญาตให้ส่งตรวจที่สถาบันจิตเวชฯ ในครั้งที่ 3 ผมพาจำเลยไปตรวจมาแล้ว 2 – 3 ครั้ง ในนัดศาลเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ผมได้แถลงต่อศาล ขอให้มีหมายส่งไปยังสถาบันจิตเวชฯ แต่ในนัดนี้ ศาลกลับแจ้งว่ายังไม่ได้ส่งหมายไป ทั้งๆ ที่ทนายเคยแถลงไว้แล้ว และถูกระบุไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณา ศาลจึงต้องนัดครั้งใหม่เพื่อฟังคำสั่งขอโอนย้ายอีกครั้ง”

    “ในเรื่องของรายงานกระบวนพิจารณาก็มีปัญหา ผมเดินทางมาที่ศาล 3 ครั้ง ศาลไม่เคยให้รายงานกระบวนฯ เลยสักครั้ง ซึ่งมันสำคัญ เพราะจะช่วยเตือนเราว่า ในนัดแต่ละครั้ง มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ศาลแจ้งว่าไม่มีนโยบายให้ หากต้องการรายงานให้ทำคำร้องยื่นต่อศาล ทางผมก็เลยยื่นคำร้องไปทาง CIOS (ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม – Court Integral Online Service) แล้วเป็นเดือน แต่ศาลก็ไม่รับคำร้อง ในระบบขึ้นว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา”

    “ผมได้แถลงต่อศาลว่า เพื่อไม่ให้เกิดการหลงลืมขึ้นอีก ขอสำเนารายงานกระบวนไว้ได้ไหม ศาลก็ไม่ให้ ในกรณีศาลอื่น จะอนุญาตให้คัดถ่ายฉบับสำเนา อย่างน้อยก็ช่วยในการอ้างอิงทีหลัง ผมแค่ต้องการบันทึกว่าเราทำอะไรไปบ้าง จะได้ช่วยเตือนเรา เพราะผมรับผิดชอบหลายคดี บางทีก็งง สับสนข้อมูล ใช้ทั้งวิธียื่นคำร้องผ่านทั้งทาง CIOS ส่งไลน์และอีเมล โทรตาม ก็ไม่คืบหน้า ระบบพวกนี้ควรจะทำให้กระบวนการมันเร็วขึ้น แต่กลับส่งผลตรงกันข้าม” ทนายที่ดูแลคดีของธีรวัชเล่า

    หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ศาลได้กำหนดนัดเพื่อมาติดตามฟังคำสั่งขอโอนย้ายคดีใหม่อีกครั้งในวันที่ 9 พ.ค. 2565 โดยในวันนี้ศาลก็ไม่ได้ให้รายงานกระบวนพิจารณาแก่ทนายความแต่อย่างใด

    ทั้งนี้ ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เปิดโอกาสให้บุคคลอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หากศาลพิจารณาเห็นว่ามีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน โดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว สามารถมีคำสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนฯ ได้

    ก่อนหน้านี้เคยมีการยื่นคำร้องขอโอนย้ายในคดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยอายุเกิน 18 ปี มาเพียง 9 วัน หลังการไต่สวน ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนย้ายคดี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ฉลาด รอบรู้ สามารถเรียนรู้ได้อย่างคนทั่วไปแล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/41409)
  • ธีรวัชและทนายจำเลยเดินทางไปตามนัดของศาล เพื่อฟังคำสั่งว่าจะให้โอนย้ายคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการหรือไม่ โดยศาลอ่านคำสั่ง ระบุว่า หนังสือจาก รพ.สมเด็จเจ้าพระยา วินิจฉัยว่า สภาวะจิตใจของจำเลยสมบูรณ์สมวัย ศาลเห็นว่า การที่จำเลยร้องขอมาก็เพื่อขอให้ได้รับโทษน้อยลง จึงไม่อนุญาตให้โอนย้ายคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวฯ

    หลังศาลจังหวัดสมุทรปราการไม่อนุญาตโอนคดีไปศาลเยาวชนฯ จึงให้กำหนดนัดสืบพยานในศาลนี้ต่อไป โดยอัยการแถลงขอนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 6 ปาก และทนายจำเลยขอสืบพยาน 3 ปาก ตามที่แถลงไว้ก่อนหน้านี้ กำหนดนัดวันสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเป็นวันที่ 14 – 15 มี.ค. 2566

    ที่ผ่านมาคดีนี้มีปัญหาในระหว่างกระบวนการพิจารณาด้วยกัน 2 ประการ ประการแรกคือเรื่องความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคำร้องขอโอนย้ายคดีไปยังศาลเยาวชนฯ ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีนี้ระบุว่า ศาลไม่ได้ออกหมายส่งตัวเพื่อให้ไปตรวจกับทางจิตแพทย์ แต่ให้จำเลยไปพบจิตแพทย์เอง ทนายจึงได้เดินทางไปกับจำเลย 2 – 3 ครั้ง แต่หลังจากนั้น ทางโรงพยาบาลไม่ได้ส่งผลการตรวจวินิจฉัยมายังศาล ศาลแจ้งกับฝ่ายจำเลยว่า จะส่งหนังสือไปถึงโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้ส่ง ทำให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งมาแล้ว 2 ครั้ง จนถึงนัดล่าสุดนี้จึงได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนย้ายคดี

    ประการที่ 2 ก็คือ การที่ศาลไม่อนุญาตให้ทนายความขอคัดถ่ายรายงานกระบวนการพิจารณาคดีในแต่ละครั้ง ทำให้ทนายไม่มีเอกสารเพื่ออ้างอิงในการติดตามคดี แม้ทางทนายความจะเคยยื่นคำร้องขอรายงานกระบวนฯ ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service – CIOS) ไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็กลับไม่มีความคืบหน้า ซึ่งในนัดล่าสุดนี้ศาลก็ยังคงไม่ให้รายงานกระบวนพิจารณากับทางทนายความอีกเช่นเดิม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/43821)
  • ศาลมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) วรรค 1 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุกว่า 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 76

    การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน

    พิเคราะห์พฤติกรรมแห่งคดีตามรายงานสืบเสาะพินิจจำเลยเห็นว่า ความประพฤติ ประวัติ และนิสัยจำเลยไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุน้อย อาจหลงเชื่อสังคมออนไลน์ ขาดการไตร่ตรองย้ำคิดอย่างรอบคอบ เมื่อจำเลยรู้สึกสำนึกในการการกระทำของตน อีกทั้งมีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ ประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก เห็นสมควรให้โอกาสกับตัวเป็นพลเมืองดี

    โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมง

    (อ้าง: https://tlhr2014.com/archives/60073)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธีรวัช ยอดสิงห์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธีรวัช ยอดสิงห์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์