สรุปความสำคัญ

บุญลือ (นามสมมติ) อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดสุโขทัย ถูกดำเนินคดีที่จังหวัดพังงาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กโต้ตอบกับผู้อื่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมี กัลย์ฐิตา ชวนชม ประชาชนในจังหวัดพังงา ซึ่งเป็น 1 ในผู้ใช้เฟซบุ๊กที่บุญลือคอมเมนต์โต้ตอบด้วย เป็นผู้กล่าวหา

การถูกดำเนินคดีทำให้บุญลือต้องรับภาระทางเศรษฐกิจและความยากลำบากในการเดินทางข้ามภาคไปยังจังหวัดพังงาในช่วงโควิดระบาดเพื่อต่อสู้คดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นได้ง่าย และเป็นไปอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • บุญลือ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

5 ก.พ. 2564 บุญลือ (นามสมมติ) อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดสุโขทัย พร้อมทนายความ เดินทางไปที่ สภ.ทุ่งคาโงก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังได้รับหมายเรียกในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มี กัลย์ฐิตา ชวนชม เป็นผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.พิษณุ ทาหาญ สว.(สอบสวน) แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2563 ขณะกัลย์ฐิตาทํางานที่ อบต.ทุ่งคาโงก ได้พบข้อความคอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับบุญลือ ตอบผู้กล่าวหาและบุคคลอีก 2 คน รวม 3 คอมเมนต์ ในทางเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ จึงได้เดินทางมาแจ้งความให้ดำเนินคดีบุญลือ เนื่องจากอ่านดูแล้วรู้สึกว่าเป็นข้อความที่ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

พ.ต.ท.พิษณุ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาบุญลือใน 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคง บุญลือให้การรับสารภาพ เนื่องจากตำรวจกล่าวว่าคดีไม่มีอะไรมาก ถ้ารับสารภาพ ก็จะสิ้นสุดเร็ว ก่อนที่ตำรวจจะให้ปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

บุญลือให้ข้อมูลในภายหลังว่า ก่อนหน้าถูกดำเนินคดี เขาและกัลย์ฐิตาได้โต้เถียงกันเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ก่อนจะไปโต้เถียงกันทางแชทเฟซบุ๊กต่อ สุดท้ายกัลย์ฐิตากล่าวกับบุญลือว่า ตนได้ไปแจ้งความไว้แล้ว ให้ไปพูดคุยกับตำรวจเอง แม้ว่าบุญลือตัดสินใจที่จะขอโทษและลบคอมเมนต์ออกไปเพื่อให้เรื่องจบแล้วก็ตาม

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ทุ่งคาโงก ลงวันที่ 5 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30785)

ภูมิหลัง

  • บุญลือ (นามสมมติ)
    หลังปลดประจำการทหารเกณฑ์เมื่อช่วงปี 2563 บุญลือพบว่า นักศึกษาและประชาชนต่างออกมาชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยความสงสัยเขาจึงเริ่มสืบค้นข้อมูลและติดตามข่าวสาร ก่อนเริ่มตั้งคำถามและถกเถียงกับผู้คนทั้งในชีวิตจริงและในโลกโซเซียลเพื่อหาคำตอบ

    อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/48724

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • บุญลือ (นามสมมติ)
    บุญลือต้องเดินทางข้ามภาคไปต่อสู้คดีที่จังหวัดพังงาถึง 5 ครั้ง สูญเสียค่าใช้จ่ายไปมากกว่าครึ่งแสน มิหนำซ้ำการถูกกล่าวหาในคดีนี้ยังทำให้ต้องออกจากงานแรกในชีวิต ทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มทำด้วยซ้ำ และเป็นอุปสรรคในการสมัครงานใหม่

    อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/48724

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์