ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.293/2564
แดง อ.496/2565

ผู้กล่าวหา
  • กัลย์ฐิตา ชวนชม (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.293/2564
แดง อ.496/2565
ผู้กล่าวหา
  • กัลย์ฐิตา ชวนชม

ความสำคัญของคดี

บุญลือ (นามสมมติ) อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดสุโขทัย ถูกดำเนินคดีที่จังหวัดพังงาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กโต้ตอบกับผู้อื่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมี กัลย์ฐิตา ชวนชม ประชาชนในจังหวัดพังงา ซึ่งเป็น 1 ในผู้ใช้เฟซบุ๊กที่บุญลือคอมเมนต์โต้ตอบด้วย เป็นผู้กล่าวหา

การถูกดำเนินคดีทำให้บุญลือต้องรับภาระทางเศรษฐกิจและความยากลำบากในการเดินทางข้ามภาคไปยังจังหวัดพังงาในช่วงโควิดระบาดเพื่อต่อสู้คดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นได้ง่าย และเป็นไปอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรทิรา ภูมิสุทธาผล พนักงานอัยการจังหวัดพังงา บรรยายคำฟ้อง มีรายละเอียดโดยสรุปว่า

ระหว่างวันที่ 6 - 7 พ.ย. 2563 จําเลยได้แสดงความคิดเห็น จำนวน 3 ข้อความ ในเฟซบุ๊กของจำเลย มีเนื้อหาถกเถียงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และเหตุผลที่มีการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทําให้เพื่อนของจําเลยและผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นสามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้ อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดพังงา คดีหมายเลขดำที่ อ.293/2564 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • บุญลือ (นามสมมติ) อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดสุโขทัย พร้อมทนายความ เดินทางไปที่ สภ.ทุ่งคาโงก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังได้รับหมายเรียกในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มี กัลย์ฐิตา ชวนชม เป็นผู้กล่าวหา

    พ.ต.ท.พิษณุ ทาหาญ สว.(สอบสวน) แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2563 ขณะกัลย์ฐิตาทํางานที่ อบต.ทุ่งคาโงก ได้พบข้อความคอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับบุญลือ ตอบผู้กล่าวหาและบุคคลอีก 2 คน รวม 3 คอมเมนต์ ในทางเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ จึงได้เดินทางมาแจ้งความให้ดำเนินคดีบุญลือ เนื่องจากอ่านดูแล้วรู้สึกว่าเป็นข้อความที่ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

    พ.ต.ท.พิษณุ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาบุญลือใน 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคง บุญลือให้การรับสารภาพ เนื่องจากตำรวจกล่าวว่าคดีไม่มีอะไรมาก ถ้ารับสารภาพ ก็จะสิ้นสุดเร็ว ก่อนที่ตำรวจจะให้ปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    บุญลือให้ข้อมูลในภายหลังว่า ก่อนหน้าถูกดำเนินคดี เขาและกัลย์ฐิตาได้โต้เถียงกันเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ก่อนจะไปโต้เถียงกันทางแชทเฟซบุ๊กต่อ สุดท้ายกัลย์ฐิตากล่าวกับบุญลือว่า ตนได้ไปแจ้งความไว้แล้ว ให้ไปพูดคุยกับตำรวจเอง แม้ว่าบุญลือตัดสินใจที่จะขอโทษและลบคอมเมนต์ออกไปเพื่อให้เรื่องจบแล้วก็ตาม

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ทุ่งคาโงก ลงวันที่ 5 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30785)
  • เวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดพังงา บุญลือพร้อมทนายความเดินทางไปฟังคำสั่งฟ้องคดีตามที่พนักงานอัยการจังหวัดพังงานัดหมาย

    ทั้งนี้ พนักงานอัยการจังหวัดพังงายื่นฟ้องบุญลือต่อศาลจังหวัดพังงาในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    อัยการระบุว่า ข้อความที่บุญลือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก จำนวน 3 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาถกเถียงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และเหตุผลที่มีการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทําให้เพื่อนของจําเลยและผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นสามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้ อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา

    หลังศาลรับฟ้อง บุญลือได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลอนุญาตให้ประกันโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 8 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    บุญลือเปิดเผยว่า ในขณะเกิดเหตุ เขาเพิ่งได้รับการปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหาร ภายหลังจับได้ใบแดงหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เขาก็ยังไม่ได้สมัครงานที่ไหน เนื่องจากติดขัดเรื่องการถูกดำเนินคดีหมิ่นกษัตริย์นี้

    การถูกแจ้งความดำเนินคดีทำให้เกิดภาระในการเดินทาง เนื่องจากปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในจังหวัดสุโขทัย บุญลือต้องนั่งรถประจำทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ก่อนจะนั่งเครื่องบินไปยังจังหวัดภูเก็ต และนั่งรถย้อนเข้ามาที่จังหวัดพังงา นอกจากการเดินทางที่ยุ่งยากแล้ว บุญลือยังต้องเสียเงินค่าตรวจโควิดก่อนจะผ่านเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีมาตรการเข้มงวดในช่วงเวลานี้ โดยผู้ที่จะผ่านเข้าไปในจังหวัดภูเก็ตจะต้องมีการแสดงผลตรวจโควิด หรือได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว

    บุญลือยังมีความกังวลเกี่ยวกับการถูกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องการทะเลาะโต้เถียงระหว่างผู้ที่มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในเฟซบุ๊ก แต่บานปลายไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยที่เขาเองก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้แจ้งความ

    หากคดีสิ้นสุด บุญลือยังหวังว่าตนเองจะได้มีโอกาสสมัครสอบเป็นข้าราชการ เพราะเป็นงานที่มั่นคง สามารถเป็นหลักประกันให้แก่ตนเองและครอบครัวได้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดพังงา คดีหมายเลขดำที่ อ.293/2564 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30785)
  • นัดสืบพยานวันที่ 6-8 ก.ค. 2565
  • นัดสืบพยานวันแรก เวลาประมาณ 09.40 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยมีองค์คณะผู้พิพากษารวม 2 ท่าน

    ศาลกล่าวว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ยุติแล้ว เนื่องจากจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวคอมเมนต์โต้ตอบตามฟ้องจริง ในการสืบพยานครั้งนี้จึงเหลือเพียงการพิสูจน์ว่าข้อความทั้ง 3 ข้อความดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดตามฟ้องหรือไม่ และสอบถามคำให้การจำเลยอีกครั้งว่า จะยืนยันให้การปฏิเสธหรือรับสารภาพ

    จำเลยแถลงยืนยันให้การปฏิเสธ เพราะคิดว่าการแสดงความเห็นตามฟ้องนั้นสามารถทำได้ ไม่คิดว่าถึงขนาดกับเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แต่อย่างใด อีกทั้งหากรับสารภาพ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยจะไม่สามารถไปสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการตามที่มุ่งหวังไว้ได้

    ทนายความแถลงเพิ่มเติมว่า จำเลยสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ และอยากจะสอบบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งนิติกรของหน่วยงานรัฐ จึงประสงค์จะสู้คดีให้ถึงที่สุด จากนั้นศาลจึงเริ่มสืบพยานโจทก์ปากแรก

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1 กัลย์ฐิตา ชวนชม – ผู้กล่าวหา

    กัลย์ฐิตาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2563 เวลา 10.00 น. ขณะที่พยานกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ อบต.ทุ่งคาโงก จ.พังงา ได้เปิดเฟซบุ๊กและเห็นข่าวเกี่ยวกับบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ พร้อมทั้งเห็นจำเลยเข้ามาคอมเมนต์ซึ่งเป็นข้อความตามฟ้อง

    เมื่อกัลย์ฐิตาอ่านข้อความที่จำเลยได้คอมเมนต์แล้วรู้สึกเสียใจและเห็นว่าไม่สมควร เป็นข้อความที่ทำให้คนอื่นอ่านแล้วเข้าใจว่ากษัตริย์เป็นคนไม่ดี ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม

    “ไม่ว่าใคร ๆ ก็ไม่สมควรที่จะถูกต่อว่าในที่สาธารณะแบบนี้” เธอกล่าว

    ข้อความที่จำเลยคอมเมนต์ พยานเข้าใจว่า หมายถึงรัชกาลที่ 10 ข้อความโดยรวมไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง เมื่อคนอื่นอ่านแล้วเข้าใจได้ว่า กษัตริย์เป็นคนไม่ดี ปกครองประเทศไม่ได้ ต้องมีการปฏิรูป และเป็นบุคคลต้องห้ามในต่างประเทศ

    เมื่อเห็นคอมเมนต์ของจำเลย พยานก็ได้คอมเมนต์โต้ตอบว่า ข้อความของจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ และข้อกฎหมายนี้กำลังโด่งดังอยู่ในช่วงเวลาขณะนั้นด้วย พยานจึงรู้จัก

    พยานบอกว่า กระนั้นจำเลยยังไม่หยุดแสดงความคิดเห็นตอบโต้ และได้ไปโต้เถียงกันต่อในข้อความส่วนตัว (Messenger) แต่ทว่าจำเลยก็ยังยืนยันที่จะแสดงความคิดเห็นโดยการคอมเมนต์ต่อไป แม้พยานจะทัดทานแล้วว่า “หากไม่หยุดจะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน”

    สุดท้ายพยานจึงไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ที่ สภ.ทุ่งคาโงก และได้ส่งมอบเอกสารเป็นการสนทนาและข้อความคอมเมนต์ระหว่างตนกับจำเลยไว้ให้กับพนักงานสอบสวนด้วย พร้อมทั้งได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวน

    ต่อมา พยานตอบทนายความถามค้านว่า ตนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ รับข้าราชการ ในตำแหน่งนักจัดการทั่วไป อยู่ที่ อบต.ทุ่งคาโงก ตั้งแต่ปี 2559

    พยานทราบว่า ในปี 2563 มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร และทราบว่ากลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1) ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก 2) แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3) ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พยานทราบว่า ขณะพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หลายฉบับด้วยกัน

    แต่ไม่ทราบว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และพยานไม่รู้ว่าในสมัยของรัฐบาลประยุทธ์มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “หากกษัตริย์ไม่ประทับอยู่ ณ ประเทศไทย จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหรือไม่ก็ได้”

    ส่วนเรื่องที่ว่าหลังรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ พระองค์จะทรงประทับอยู่ ณ ประเทศเยอรมันเป็นส่วนใหญ่หรือจะประทับอยู่ที่ใดนั้น พยานไม่ทราบ
    .
    จากข้อความตามฟ้องของจำเลย ทั้งหมด 3 ข้อความ ศาลเห็นว่ามีส่วนเดียวเท่านั้นที่ผิดตามมาตรา 112 คือ ข้อความที่ระบุว่า “กษัตริย์ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม” ซึ่งเป็นคอมเมนต์ที่ 1 ตามฟ้อง ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นข้อความที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น

    จำเลยพูดกับทนายจำเลยว่า “ข้อความนี้ (กษัตริย์ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม) พูดไม่ได้เหรอครับ” ท้ายที่สุดหลังการพูดคุย จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและยินยอมรับสารภาพ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง

    โจทก์ไม่คัดค้าน และไม่ติดใจสืบพยานต่อ ศาลจึงสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะจำเลย รายงานให้ศาลทราบภายใน 30 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในนวันที่ 22 ก.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดพังงา คดีหมายเลขดำที่ อ.293/2564 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48687)
  • ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้อ่านรายงานการสืบเสาะให้จำเลยฟัง และแจ้งว่ารายงานการสืบเสาะเป็นคุณแก่จำเลย จากนั้นจึงได้อ่านคำพิพากษาต่อโดยทันที

    ศาลมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อมีผู้ตักเตือนก็ยินยอมลบข้อความ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือหวังผลอย่างอื่นใด อีกทั้งก่อนและหลังการกระทำความผิดไม่พบพฤติการณ์การแสดงออกที่ไม่เหมาะสมในลักษณะเดียวกัน และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้โอกาสจำเลยได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากกว่าโทษจำคุก อีกทั้งให้จำเลยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเมตตาที่ทรงมีต่อปวงชน

    โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมประพฤติจำเลยไว้กำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง

    (อ้างอิง: คำพิพากษาศาลจังหวัดพังงา คดีหมายเลขดำที่ อ.293/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.496/2565 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48687)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
บุญลือ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
บุญลือ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อำนาจ ศรีอรุณราช
  2. สิทธิศักดิ์ หล่อโตน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 22-09-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์