สรุปความสำคัญ

พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกอะญอวัย 38 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ที่ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา จากกรณีไลฟ์สดและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม "ราษฎร" หลังมีประชาชนเข้าแจ้งความ ทำให้พรชัยต้องเดินทางจากที่พักในจังหวัดนนทบุรี เพื่อไปต่อสู้คดีถึงจังหวัดยะลา

พรชัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 โดยตำรวจบันนังสตาเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำกลางเชียงใหม่ หลังเขาถูกจับและฝากขัง โดยศาลไม่ให้ประกันตัวในคดี 112 คดีแรกได้เพียงวันเดียว

คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พรชัย วิมลศุภวงศ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

12 มี.ค. 2564 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่, เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เดินทางเข้าไปพบ พรชัย วิมลศุภวงศ์ อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกฝากขังระหว่างสอบสวน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง โดยมีการประสานให้ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับทราบและร่วมฟังการสอบสวนด้วย

เวลา 11.00 น. ได้มี พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ 1 นาย, ตำรวจ 1 นาย ที่ใส่เสื้อระบุว่า ตำรวจภูธรภาค 5, พนักงานสอบสวนสภ.บันนังสตา 1 นาย และ ตำรวจจาก ปอท. 2 นาย เดินทางมาพบกับทนายความที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ อำเภอแม่แตง โดยทางตำรวจระบุว่า ได้ประสานงานกับทางเรือนจำเพื่อมาแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้แล้ว โดยเรือนจำได้จัดห้องสอบสวนเป็นห้องขนาดเล็กที่มีโน๊ตบุ๊ควางอยู่ เพื่อใช้ในการต่อวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ต้องหาที่อยู่ภายในเรือนจำ โดยเมื่อสอบถามว่าเหตุใดไม่จัดห้องสอบสวนที่ทนายความ ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวน สามารถนั่งพูดคุยกันได้อย่างสะดวก ทางเรือนจำระบุว่าเนื่องจากพรชัย เพิ่งจะถูกส่งตัวเข้ามาในเรือนจำกลางเชียงใหม่ อยู่ในช่วงที่ต้องถูกกักตัว 14 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

สำหรับห้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่ถูกจัดไว้นั้น เป็นห้องขนาดเล็ก วางเก้าอี้ได้เพียง 2 ที่นั่ง มีประตูทางเข้าหนึ่งบาน ล้อมรอบ 2 ข้างด้วยผนังปูน ด้านหน้าเป็นกระจกเพื่อให้มองเห็นหน้าผู้ต้องขังที่ถูกเยี่ยม ในกรณีที่พ้นจากช่วงกักตัว 14 วันแล้ว แต่หากเป็นช่วงกักตัวก็จะเป็นคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คหนึ่งตัวตั้งวางแทน พร้อมกับหูฟังแบบสวมครอบ 1 อัน ให้ผู้ที่จะทำการพูดคุยกับผู้ต้องหาสวมใส่และพูดคุย ซึ่งทำได้เพียงทีละคน ได้ยินก็เพียงแต่ผู้สวมใส่หูฟังเท่านั้น ไม่สามารถรับฟังการถามตอบได้พร้อมกัน

มาตรการที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อกระบวนการให้คำปรึกษาทางกฎหมายซึ่งมีบุคคลเข้าร่วมหลายฝ่าย ทั้งในการพูดคุย สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังขาดหาย ทำให้ทนายความไม่สามารถให้คำปรึกษาผู้ต้องหาได้ตามปกติ และยังมีความยากลำบากในการลงลายมือชื่อในเอกสารของผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา ได้แจ้งข้อกล่าวหาพรชัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากกรณี วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ประชาชนได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ไว้ จากโพสต์เฟซบุ๊กของพรชัย จำนวนกว่า 13 โพสต์ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยพรชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือในภายหลัง

ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะทำการสอบปากคำพรชัยอีกกว่า 1 ชั่วโมง โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า ให้ติดตามไปรับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจากที่ สภ.แม่โจ้ หลังพนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันแล้ว

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อหาชั้นสอบสวน เรือนจำกลางเชียงใหม่ ลงวันที่ 12 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26968)

ภูมิหลัง

  • พรชัย วิมลศุภวงศ์
    เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีความสนใจประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม

    อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/54204

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์