ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.52/2565
แดง อ.885/2565

ผู้กล่าวหา
  • วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.52/2565
แดง อ.885/2565
ผู้กล่าวหา
  • วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์

ความสำคัญของคดี

พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกอะญอวัย 38 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ที่ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา จากกรณีไลฟ์สดและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม "ราษฎร" หลังมีประชาชนเข้าแจ้งความ ทำให้พรชัยต้องเดินทางจากที่พักในจังหวัดนนทบุรี เพื่อไปต่อสู้คดีถึงจังหวัดยะลา

พรชัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 โดยตำรวจบันนังสตาเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำกลางเชียงใหม่ หลังเขาถูกจับและฝากขัง โดยศาลไม่ให้ประกันตัวในคดี 112 คดีแรกได้เพียงวันเดียว

คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คมสัน รัตนศิริพงษา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายฟ้อง กล่าวหาพรชัยใน 3 กรรม จากการไลฟ์สดและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ได้แก่

1. เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงข้อเรียกร้องของคณะราษฎรที่จัดกิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยมีการกล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเขาเห็นว่ารัฐสภาไม่ยอมแตะต้อง และไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ และยังกล่าวถึงสถานะอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน

2 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหากล่าวถึงบทบาททางการเมืองของรัชกาลที่ 10

3. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 จำเลยได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหากล่าวถึงบทบาททางการเมืองของรัชกาลที่ 10 และเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

คำพูดและโพสต์ข้อความทั้งหมดของจำเลย เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดยะลา คดีหมายเลขดำที่ อ.52/2565 ลงวันที่ 21 ม.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่, เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เดินทางเข้าไปพบ พรชัย วิมลศุภวงศ์ อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกฝากขังระหว่างสอบสวน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง โดยมีการประสานให้ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับทราบและร่วมฟังการสอบสวนด้วย

    เวลา 11.00 น. ได้มี พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ 1 นาย, ตำรวจ 1 นาย ที่ใส่เสื้อระบุว่า ตำรวจภูธรภาค 5, พนักงานสอบสวนสภ.บันนังสตา 1 นาย และ ตำรวจจาก ปอท. 2 นาย เดินทางมาพบกับทนายความที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ อำเภอแม่แตง โดยทางตำรวจระบุว่า ได้ประสานงานกับทางเรือนจำเพื่อมาแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้แล้ว โดยเรือนจำได้จัดห้องสอบสวนเป็นห้องขนาดเล็กที่มีโน๊ตบุ๊ควางอยู่ เพื่อใช้ในการต่อวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ต้องหาที่อยู่ภายในเรือนจำ โดยเมื่อสอบถามว่าเหตุใดไม่จัดห้องสอบสวนที่ทนายความ ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวน สามารถนั่งพูดคุยกันได้อย่างสะดวก ทางเรือนจำระบุว่าเนื่องจากพรชัย เพิ่งจะถูกส่งตัวเข้ามาในเรือนจำกลางเชียงใหม่ อยู่ในช่วงที่ต้องถูกกักตัว 14 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

    สำหรับห้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่ถูกจัดไว้นั้น เป็นห้องขนาดเล็ก วางเก้าอี้ได้เพียง 2 ที่นั่ง มีประตูทางเข้าหนึ่งบาน ล้อมรอบ 2 ข้างด้วยผนังปูน ด้านหน้าเป็นกระจกเพื่อให้มองเห็นหน้าผู้ต้องขังที่ถูกเยี่ยม ในกรณีที่พ้นจากช่วงกักตัว 14 วันแล้ว แต่หากเป็นช่วงกักตัวก็จะเป็นคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คหนึ่งตัวตั้งวางแทน พร้อมกับหูฟังแบบสวมครอบ 1 อัน ให้ผู้ที่จะทำการพูดคุยกับผู้ต้องหาสวมใส่และพูดคุย ซึ่งทำได้เพียงทีละคน ได้ยินก็เพียงแต่ผู้สวมใส่หูฟังเท่านั้น ไม่สามารถรับฟังการถามตอบได้พร้อมกัน

    มาตรการที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อกระบวนการให้คำปรึกษาทางกฎหมายซึ่งมีบุคคลเข้าร่วมหลายฝ่าย ทั้งในการพูดคุย สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังขาดหาย ทำให้ทนายความไม่สามารถให้คำปรึกษาผู้ต้องหาได้ตามปกติ และยังมีความยากลำบากในการลงลายมือชื่อในเอกสารของผู้ต้องหา

    พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา ได้แจ้งข้อกล่าวหาพรชัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากกรณี วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ประชาชนได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ไว้ จากโพสต์เฟซบุ๊กของพรชัย จำนวนกว่า 13 โพสต์ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยพรชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือในภายหลัง

    ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะทำการสอบปากคำพรชัยอีกกว่า 1 ชั่วโมง โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า ให้ติดตามไปรับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจากที่ สภ.แม่โจ้ หลังพนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันแล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อหาชั้นสอบสวน เรือนจำกลางเชียงใหม่ ลงวันที่ 12 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26968)
  • ที่สำนักงานอัยการจังหวัดยะลา พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา นัดหมายพรชัยส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการจังหวัดยะลา อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 29 ก.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 30 ส.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 27 ก.ย. 2564
  • อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่ง เนื่องจากมีคำสั่งให้สอบเพิ่มในประเด็นที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม นัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 15 ต.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 16 ธ.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 14 ม.ค. 2565
  • พรชัยเดินทางไปพบพนักงานอัยการในนัดฟังคำสั่งและส่งฟ้อง โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 มีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องพรชัยต่อศาลจังหวัดยะลา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวม 3 กรรม แยกเป็นพฤติการณ์เนื่องจากการกล่าวไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก 1 กรรม และการโพสต์ภาพและข้อความอีก 2 กรรม ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563

    1. การโพสต์คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 โดยสรุปมีเนื้อหากล่าวถึงข้อเรียกร้องของคณะราษฎรที่จัดกิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยมีการกล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเขาเห็นว่ารัฐสภาไม่ยอมแตะต้อง และไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ และยังกล่าวถึงสถานะอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน

    2-3. ภาพและข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 17 และ 18 พ.ย. 2563 มีเนื้อหากล่าวถึงบทบาททางการเมืองของรัชกาลที่ 10

    อัยการได้บรรยายฟ้องว่าคำพูดและโพสต์ข้อความทั้งหมดของจำเลย เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    อัยการยังได้คัดค้านการประกันตัวจำเลย โดยอ้างว่าคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ มีความร้ายแรง และเกรงว่าจำเลยจะไปกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวนี้ซ้ำๆ มาอีก ยากแก่การดูแลป้องกันของเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป ทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และมีอัตราโทษสูง เกรงจำเลยจะหลบหนี

    หลังศาลจังหวัดยะลารับฟ้องไว้ ได้อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 3 มี.ค. 2565

    ทั้งนี้ หลังพรชัยเข้าร่วมการชุมนุมของราษฎรในช่วงปี 2563 เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองไปแล้วรวม 7 คดี โดยมีคดีที่มีโทษปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว 1 คดี อีก 4 คดี เป็นข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี และมีคดีข้อหามาตรา 112 อีกจำนวน 2 คดี

    นอกจากคดีที่จังหวัดยะลา พรชัยยังถูกฟ้องคดีข้อหามาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่อีกคดีหนึ่ง อันเนื่องมาจากการโพสต์ภาพและข้อความรวม 4 โพสต์ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 เช่นเดียวกับคดีที่ยะลา โดยคดีมีนัดสืบพยานในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดยะลา คดีหมายเลขดำที่ อ.52/2565 ลงวันที่ 21 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44296)
  • นัดคุ้มครองสิทธิที่เลื่อนมาจากวันที่ 3 มี.ค. 2565 และตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้อธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง พรชัยได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อหา ฝ่ายอัยการโจทก์และฝ่ายจำเลยได้ตกลงรับพยานกันได้ทั้งหมด 14 ปาก อาทิ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจยึดโทรศัพท์ของจำเลย, เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสอบคลิปวิดีโอและเฟซบุ๊กจำเลย, เจ้าของหอพัก, บิดามารดาของจำเลย, ผู้ใหญ่บ้านของจำเลย เป็นต้น จึงไม่ต้องนำพยานเหล่านี้เข้ามาเบิกความ

    แต่ยังมีพยานโจทก์ที่ฝ่ายจำเลยไม่สามารถรับข้อเท็จจริงได้จำนวน 6 ปาก อัยการโจทก์จึงแถลงขอนำสืบพยานจำนวน 2 นัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลงจะสืบพยานทั้งหมด 3 ปาก ขอสืบพยาน 1 นัด ศาลจึงกำหนดการสืบพยานจำนวน 3 นัด ระหว่างวันที่ 4-6 ต.ค. 2565

    ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีโดยรับว่าได้พูดในไลฟ์สดมีข้อความตามฟ้องข้อ 1 จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาในการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ส่วนข้อความตามฟ้องข้อ 2 และ 3 จําเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ โดยเฟซบุ๊กของจําเลยถูกแฮกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดยะลา คดีหมายเลขดำที่ อ.52/2565 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44296)
  • โดยภาพรวม ฝ่ายโจทก์พยายามนำสืบว่าจำเลยทำการโพสต์คลิปวิดีโอของตนเอง ที่เป็นการด่าทอและเปรียบเทียบ ทำให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นและดูคลิปวิดีโอเข้าใจว่ากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันไม่วางตัวเป็นกลางและไม่ได้ใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และยังโพสต์ข้อความและรูปภาพอีก 2 ข้อความ ที่เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ รัชกาลที่ 10 ลงในเฟซบุ๊ก

    ++ผู้กล่าวหา: อดีต กปปส. รับว่าภาพที่นำมากล่าวหาได้จากคนในกลุ่มไลน์ “พิทักษ์สถาบัน” ส่งมาให้

    เริ่มต้นการสืบพยานโดยอัยการโจทก์นำ วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ผู้กล่าวหา ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ตนได้พบเห็นคลิปวิดีโอเป็นภาพจำเลยคดีนี้บนเฟซบุ๊ก เมื่อฟังแล้วเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เสมือนอยู่เบื้องหลังการเมือง เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ในฐานะพสกนิกรเมื่อได้ฟังแล้วจึงรู้สึกไม่สบายใจ ผู้ฟังที่ได้ยินอาจเข้าใจผิดได้ว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เบื้องหลังทางการเมือง

    ต่อมาวันที่ 17 และ 18 พ.ย. 2563 พบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง ซึ่งมีเนื้อหากระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้เข้าใจได้ว่าสถาบันกษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ส่งผลให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยเสื่อมศรัทธา ดูแล้วเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และใช้ข้อความอันเป็นเท็จ เพราะสถาบันกษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและในสถานะที่เคารพบูชา เมื่อพบดังนั้นจึงพยายามแคปภาพหน้าจอและดาวน์โหลดภาพและวิดีโอ รวบรวมข้อมูลไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา

    อย่างไรก็ตาม วัชรินทร์เบิกความตอบทนายความถามค้าน รับว่าตนเป็นสมาชิกกลุ่มภาคประชาชนเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ โดยมีจุดยืนห้ามไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์ และเคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี 2557 นอกจากนี้วัชรินทร์ยังรับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ชื่อ “พิทักษ์ราชบัลลังก์”

    ในส่วนของการแคปภาพหน้าจอหนึ่งในโพสต์ตามฟ้องนั้น วัชรินทร์รับว่าตนไม่ได้จัดทำเองทั้งหมด แต่มีเพื่อนส่งมาให้ทางไลน์ “พิทักษ์สถาบัน” ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มเป็นร้อยคน และทางเฟซบุ๊ก เขาจึงคัดลอกภาพมาให้แก่พนักงานสอบสวน โดยรับว่าไม่ได้จัดพิมพ์หรือคัดถ่ายมาจากเฟซบุ๊กโดยตรง ซึ่งจะปรากฏ URL ที่สามารถค้นหาข้อความจากเว็บไซต์ต้นทางได้ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมข้อความและเส้นกรอบสีแดงบนรูปภาพโพสต์ที่นำมากล่าวหา ในเอกสารพยานของฝ่ายโจทก์ด้วย

    นอกจากนี้ทนายความนำเอกสารให้วัชรินทร์ดูเกี่ยวกับเนื้อหาที่จำเลยพูดในคลิปวิดีโอ ว่าหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติแล้ว รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ แม้มีชัย ฤชุพันธุ์ จะระบุว่าตามหลักการไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ วัชรินทร์รับว่า ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว และมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลายฉบับ

    วัชรินทร์ตอบทนาย ไม่ทราบว่า มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ระบุให้การจัดระเบียบราชการในพระองค์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และในวรรค 3 ยังระบุให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด และยังให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ และให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้สิน ของแต่ละหน่วยงานให้เป็นหน่วยงานในพระองค์ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหน่วยงานได้

    นอกจากนี้วัชรินทร์ก็ไม่ทราบว่า พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยเหตุผลของการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ คือ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้กษัตริย์มีกำลังพลเป็นของตนเอง

    ในช่วง พ.ศ. 2563 มีการชุมนุมของคณะราษฎร โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 มีการประชุมวิสามัญที่รัฐสภา ซึ่งรัฐสภาเห็นสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งวัชรินทร์ไม่มีความเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันฯ สามารถทำได้หรือไม่

    วัชรินทร์รับว่า คำว่าปฏิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้น นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์สามารถวิจารณ์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย นอกจากนี้วัชรินทร์ยังตอบทนายว่าแม้ว่าเขาจะฟังข้อความที่จำเลยไลฟ์และข้อความตามคำฟ้องแล้ว ก็ยังมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เช่นเดิม

    ต่อจากนั้นวัชรินทร์ตอบพนักงานอัยการถามติง ถึงเหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นรัฐบาลโดยการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งขณะนั้นรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ไม่ใช่รัชกาลที่ 10

    ++สองพยานความคิดเห็น: เห็นว่าจำเลยจาบจ้วง หมิ่นกษัตริย์ แต่ไม่ทราบถึงการแก้ไข รธน. เพิ่มพระราชอำนาจ, โอนย้ายทรัพย์สิน-กำลังพล ไปเป็นตามอัธยาศัย

    พล บุษษะ ประกอบอาชีพทนายความ และเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ถูกพนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา ขอมาให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเมื่อดูแล้วพลเห็นว่าข้อความเป็นการด่า เหยียดหยาม สบประมาท และเป็นการให้ข้อเท็จจริงในทางให้ร้าย ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 112 ทั้งทำให้กษัตริย์ได้รับความอับอาย เป็นการด้อยค่า ทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งไม่เป็นความจริง

    ส่วน รอมือลี มัสกอตอ เป็นข้าราชการบำนาญ โดยช่วงเกิดเหตุเขาเป็นประธานกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจแห่งชาติ (กต.ตร.) ของ สภ.บันนังสตา จึงถูกพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น โดยเมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ไม่สมควรที่จะพูดต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งข้อความไม่เป็นความจริง

    พยานความเห็นทั้งสองตอบทนายความถามค้านถึงเนื้อหาที่จำเลยพูดในคลิปวิดีโอ โดยคล้ายคลึงกันว่า ตนไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ในเรื่องพระราชอำนาจ และไม่ทราบ ไม่แน่ใจว่าหากกษัตริย์ทรงไปต่างประเทศจะต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนทุกกรณีหรือไม่ และก็ไม่ทราบอีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 กรณีกษัตริย์ไปต่างประเทศ ไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรณี

    ทนายความถามต่อไปถึงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ระบุให้การจัดระเบียบราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และวรรค 3 ของมาตรา 4 ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมาตรา 7 กำหนดให้โอนบรรดากิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ เช่นนี้องค์กรอื่นใดไม่สามารถตรวจสอบได้ใช่หรือไม่

    ประเด็นนี้ พล บุษษะ ตอบว่ายังสามารถตรวจสอบได้อยู่ ส่วนรอมือลีตอบว่าทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วทนายความถามพลต่อไปว่า หน่วยงานใด เขาตอบว่าอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รับว่าที่ผ่านมา ระบบรัฐสภาได้ทำการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่สามารถอภิปรายได้ เพราะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

    ส่วนรอมือลีตอบว่าการมี พ.ร.บ. ดังกล่าว ส่งผลให้การจัดการทรัพย์สินเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังเบิกความตอบทนายความต่อไปอีกถึง พระราชบัญญัติโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งผลให้พระมหากษัตริย์มีหน่วยกำลังพลเป็นของตนเอง

    ทั้งนี้พยานทั้งสองยังทิ้งท้ายไว้ โดยพลเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ แต่ต้องมีเจตนาสุจริต ส่วนรอมือลีเห็นว่าการปฏิรูปเป็นการทำให้ดีขึ้นและไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ทั้งเมื่อพยานทั้งสองได้อ่านข้อความที่จำเลยพูดในคลิปวิดีโอ พยานทั้งสองก็ยังคงมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ดี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51445)
  • ++ตำรวจนครบาล – สืบสวน – สอบสวน

    หลังจากพยานความเห็นเบิกความผ่านไป พนักงานอัยการได้นำพยานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความต่อ

    พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง กองกำกับการสืบสวน 4 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความโดยสรุปว่า ก่อนจะได้รับคำสั่งให้สืบสวนคดีนี้ ก็ทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยมีพฤติกรรมร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎรมาก่อน ในการชุมนุมแต่ละครั้งมักจะมีการตั้งเวทีปราศรัย โจมตีการทำงานของรัฐบาล บางคนพูดจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าจำเลยน่าจะกระทำความผิดตามที่ผู้กล่าวหาแจ้งความจริง และได้เข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กตามฟ้อง โดยนำโปรไฟล์ของจำเลยเปรียบเทียบข้อมูลทะเบียนราษฎรเห็นว่าเป็นคนเดียวกัน

    อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.วิบูลย์ ตอบทนายความถามค้าน ว่าจำเลยไม่ได้เป็นแกนนำกลุ่มคณะราษฎร เพียงแต่เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างแกนนำและจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยรับหน้าที่ตามคำสั่งของแกนนำ นอกจากนี้ พ.ต.ท.วิบูลย์ ยังเข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยพบข้อความการกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งตรงกันกับเอกสารในคดีนี้

    ต่อมา พ.ต.ท.โกสินทร์ นรสิงห์ ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดยะลา โดยผู้บังคับบัญชาสั่งให้ร่วมสืบสวนคดีนี้ พยานได้ตรวจสอบรูปหน้าจำเลยจากรูปในเฟซบุ๊กกับข้อมูลทะเบียนราษฎร ทราบว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์ข้อความและรูปภาพในทำนองดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งไม่เป็นความจริง

    พ.ต.ท.โกสินทร์ ตอบทนายความว่า ตนไม่ใช่ผู้จัดทำเอกสารโจทก์ที่นำมาใช้เป็นพยานในคดีนี้ โดยได้เข้าไปดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลย และก๊อปปี้ลิงค์โพสต์แล้วนำมาใส่ในรายงานสืบสวนเพื่อยืนยันว่าเป็นโพสต์ตามรูปภาพดังกล่าว นอกจากนี้ พ.ต.ท.โกสินทร์ ยังเป็นผู้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย ไม่พบการผูกเบอร์โทรศัพท์กับเฟซบุ๊ก ไลน์ เน็ตแบงค์ หรืออื่นๆ

    ต่อมา ร.ต.อ.ซุลกีฟลี ระเซาะ พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ได้มีนายวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ มาแจ้งความว่าพบเหตุการณ์กระทำความผิดผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีการไลฟ์สดลงในเฟสบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ซึ่งมีข้อความเป็นการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และยังมีการโพสต์ข้อความและพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 โดยวัชรินทร์ได้นำแฟรชไดฟ์บันทึกคลิปเสียงมามอบให้

    จากนั้นพยานได้เข้าไปในเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โหลดคลิปเสียงไว้ ซึ่งเป็นคลิปเดียวกันกับที่วัชรินทร์กล่าวอ้าง ต่อมาได้คัดถ่ายข้อมูลทะเบียนราษฎรของนายพรชัย มาเทียบเคียงกับรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก พบว่าเป็นบุคคลเดียวกัน จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและทำการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในคดี

    นอกจากนี้ ร.ต.อ.ซุลกีฟลี ได้นำคลิปวิดีโอส่งไปให้กองตรวจพิสูจน์หลักฐาน 10 เพื่อตรวจว่ามีการตัดต่อหรือทำขึ้นมาใหม่หรือไม่ และได้รับรายงานกลับมาว่าไม่พบการตัดต่อ ทั้งได้มีหนังสือไปยังกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอทราบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ แต่ทางกระทรวง ฯ ตอบกลับมาว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังได้ส่งหนังสือขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย ที่ได้รับจากธนาคารกรุงเทพ ฯ เมื่อตรวจสอบหมายเลขดังกล่าวพบความเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กดังกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ซุลกีฟลี ตอบทนายความถามค้านรับว่า ในตอนแรกนายวัชรินทร์ได้นำโพสต์มากล่าวหารวม 18 โพสต์ และคลิปวิดีโออีก 1 คลิป ซึ่งเอกสารในคดีนี้ เป็นเอกสารที่วัชรินทร์จัดทำมาเอง เมื่อดูเอกสารไม่ได้ปรากฏลิงค์ หรือ URL ต้นทาง และก็ไม่ได้เห็นต้นโพสต์ด้วยตนเอง เพราะโพสต์ดังกล่าวถูกลบไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ก็ไม่ทราบว่าเอกสารที่วัชรินทร์นำมาจะถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ และก็ไม่สามารถตรวจสอบชื่อผู้ใช้งาน หรือ IP address ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51445)
  • ฝ่ายจำเลยต่อสู้โดยรับว่า ตนเองโพสต์คลิปวิดีโอลงในเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาจริง แต่การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ เช่น การอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ เรื่องการขยายพระราชอำนาจ และเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการพูดโดยใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อความและรูปภาพอีก 2 โพสต์ที่ถูกฟ้องนั้น จำเลยไม่เคยโพสต์และไม่เคยเห็นมาก่อน

    ++จำเลย: ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ และดึงกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงโพสต์คลิปพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน

    พรชัย ขึ้นเบิกความรับว่าตนได้พูดและโพสต์คลิปวิดีโอลงในเฟซบุ๊ก เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 มีการเปิดประชุมอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นมี ส.ส. ของรัฐบาล คือไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาคัดค้านว่าการประชุมครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ไม่ควรไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ตนไม่เห็นด้วยและต้องออกมาพูดนอกสภา

    ตั้งแต่มีการร่วมชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2563 พรชัยได้เข้าร่วมชุมนุมบางครั้ง โดยเหตุที่เข้าร่วมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ต่อมาปี 2559 มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรีมีการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของการเพิ่มพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ และออกกฎหมายเกี่ยวกับพระราชอำนาจอีกหลายฉบับ ซึ่งพรชัยไม่เห็นด้วย

    พรชัยเบิกความว่า เนื้อหาในคลิปวิดีโอ สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะรัฐประหารเป็นผู้จัดทำ มีทั้งหมด 10 ข้อ ทั้งนี้ข้อ 4 กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพบูชาและเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพรชัยมองว่าเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ และเป็นการโยงอำนาจของกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่รัฐบาลก็รู้อยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจะต้องยึดโยงกับประชาชนเท่านั้น และจะต้องไม่อ้างความสำเร็จของพระมหากษัตริย์ในยุทธศาสตร์ชาติ พรชัยจึงเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความสามารถในการบริหารงานแผ่นดิน จึงนำเรื่องสถาบันฯ มาอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

    นอกจากนี้พรชัยยังเห็นว่าพระราชอำนาจต่างๆ รวมถึงเรื่องการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ดูจะสวนทางกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เผยแพร่ต่อประชาชน เขาจึงพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่ในร่องในรอยอย่างถูกต้องและอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับประชาชน ซึ่งเห็นว่าตนพูดไปตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมี

    ทั้งนี้พรชัยตอบอัยการถามค้านว่า ขณะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะนั้นเป็นรัฐบาล คสช. และในช่วงปี 2557-2559 ยังมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ปี 2560 ซึ่งปีดังกล่าวรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์แล้ว จึงเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 4 เป็นการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

    ++ผู้จัดการ iLaw และ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์: การปลอมแปลงแก้ไขภาพแคปหน้าจอเฟซบุ๊กทำได้ไม่ยาก ต้องมีการเก็บหลักฐานอย่างละเอียด

    ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ซึ่งทำหน้าที่ติดตามการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย และติดตามบันทึกข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมาตรา 112 ด้วย โดย iLaw จัดทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

    ยิ่งชีพเบิกความต่อศาลถึงหลักการพิสูจน์ตัวตนของบุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊ก จะต้องมีหลักฐานประกอบอย่างน้อย 5 ประการ คือ

    1. หลักฐานที่แสดงถึงโพสต์ต้นฉบับว่าอยู่ที่ไหนในโลกออนไลน์ ซึ่งมีข้อมูลที่ใช้พื้นฐานคือ URL หรือราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า ตัวชี้แหล่ง ซึ่ง URL จะปรากฏอยู่ด้านบนสุดเวลาเปิดคอมพิวเตอร์ หากจะเก็บเป็นพยานหลักฐานจะต้องสั่งพิมพ์จาก browser โดยตรงที่จะมี URL ติดมาด้วยในการพิมพ์อยู่เสมอ ซึ่งจะปรากฏอยู่ที่ขอบล่างของกระดาษทุกแผ่นที่สั่งพิมพ์
    2. ต้องหา IP Address ของผู้โพสต์ข้อความ ทั้งนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีอำนาจตามมาตรา 18 ที่จะส่งหนังสือไปยังผู้ให้บริการเพื่อขอหมายเลข IP address ได้
    3. เมื่อได้หมายเลข IP address แล้ว สามารถนำไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อสอบถามว่าผู้ใช้หมายเลขนั้นจดทะเบียนโดยชื่อบุคคลใดและอยู่ที่ใด
    4. เมื่อได้ข้อมูลตามข้อ 3 แล้ว ต้องไปยังสถานที่แห่งนั้น ขอหมายค้นจากศาลเพื่อขอตรวจสอบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในบ้านหลังนั้น เพื่อตรวจสอบว่ามีการเข้าใช้งานเว็บไซต์และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับข้อมูลในการกระทำความผิดหรือไม่
    5. ตรวจสอบ DNA บนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อรู้ว่าบุคคลใดใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น

    ทนายความให้ยิ่งชีพและพยานผู้เชี่ยวชาญดูเอกสารพยานโจทก์ รูปภาพโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหา 3 แผ่น โดยพยานต่างให้การว่าลักษณะภาพดังกล่าวเป็นการถ่าย (แคป) หน้าเฟซบุ๊กมาจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือทั้งหมด ซึ่งไม่มีการระบุ URL ทั้งยังปรากฏว่ารูปภาพมีความผิดปกติ กล่าวคือ ในแผ่นแรกในรูปภาพปรากฏข้อความที่มีเส้นสีแดงขีดใต้ภาพ ซึ่งน่าจะมีการเพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนแผ่นที่ 2 เป็นภาพถ่ายจากจอโทรศัพท์เหมือนกัน แต่ขนาดของภาพและขนาดตัวอักษรมีความผิดปกติ เชื่อว่ามีการนำภาพเข้าโปรแกรมอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ภาพไม่เหมือนกับต้นฉบับ และแผ่นสุดท้าย ดูแล้วน่าจะมีการตัดรูปภาพบางส่วนออก ทำให้ไม่เห็นแถบเครื่องมือด้านบน

    ยิ่งชีพยังเบิกความต่อไปว่าการแก้ไขข้อความในเฟซบุ๊กสามารถทำได้ด้วยโปรแกรมที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Word, Power Point หรือ Adobe Photo Shop ดังนี้หากพยานหลักฐานปรากฏ URL จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเอกสารที่โจทก์นำมา 3 แผ่นข้างต้นที่มีความน่าเชื่อถือน้อย

    พยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ได้เบิกความแสดงถึงเครื่องมืออิสเปคเตอร์ ซึ่งสามารถแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใหม่ในหน้าจอได้ และสามารถทำได้โดยบุคคลทั่วไป

    ++การแก้ไขรัฐธรรมนูญ – ออกกฎหมายเพิ่มพระราชอำนาจ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ยิ่งชีพยังเบิกความถึง การศึกษาของ iLaw ที่พบว่าบุคคลที่แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับบุคคลอื่น มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรแล้วนำเสนอผลงานตนเองว่าแจ้งความได้มากน้อยเพียงใด โดยมีลักษณะแจ้งความในพื้นที่ห่างไกล ข้ามจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความเดือดร้อน

    จากการติดตามการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคของ คสช. iLaw พบว่าตั้งแต่ปี 2557 – 2552 มีการออกกฎหมายอย่างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนครึ่งสุดท้าย โดยออกทั้งหมด 90 ฉบับ เท่ากับว่าใน 1 วันสามารถออกกฎหมายได้ 5-6 ฉบับ เกือบทั้งหมดเสนอโดยคณะรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร

    สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดช่องให้พระราชทานข้อสังเกตในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ จึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก่อนมีการแก้ไข มาตรา 5, 12, 15, และ 17 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพระราชอำนาจ นอกจากนี้ยังมีการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลในส่วนราชกาลพระองค์ ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้และไม่เคยมีมาก่อน โดยกำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้เป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้

    นอกจากนี้สภานิติบัญญัติได้ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2 ฉบับ ในปี 2560 และ 2561 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ประการ ได้แก่ การยกเลิกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และรวมเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การบริหารจากเดิมที่เป็นการคลัง และสำนักงานทรัพย์สินในส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล เปลี่ยนเป็นการดูแลตามพระราชอัธยาศัย และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้คณะกรรมการทุกคนมาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย

    ต่อมาปี 2562 มีการออกพระราชกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร กำหนดโอนค่ายทหาร 2 แห่ง และกองกำลังไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ คือ กรมทหารมหาดเล็กที่ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ส่งผลให้มีกองกำลังพิเศษขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ และไม่ได้อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร

    การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายต่างๆ ข้างต้น ทำให้เกิดความน่ากังวลว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เกินกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
    .
    ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

    ทั้งนี้ นอกจากคดีที่จังหวัดยะลาแล้ว พรชัยยังถูกฟ้องคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 4 ข้อความที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในอีกคดีหนึ่ง โดยมี เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ด กปปส. อีกคนหนึ่งเป็นผู้กล่าวหา คดีมีการสืบพยานเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา และศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 มี.ค. 2566

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51445)
  • เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาที่ 4 จำเลยเดินทางมาก่อนเวลาพร้อมกับทนายความ ศาลออกนั่งพิจารณาคดีตรงเวลานัด ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลนำกุญแจมือมาใส่ข้อมือจำเลยไว้ขณะฟังคำพิพากษา

    ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า ศาลพิเคราะห์จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า

    โพสต์แรก จำเลยโพสต์คลิปวิดีโอมีเนื้อหาสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ที่วางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น เห็นว่าพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้นดำรงอยู่ในฐานะอันล่วงละเมิดมิได้ ทรงอยู่เหนือการติชมทั้งปวง

    การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 112 และนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ส่วนโพสต์รูปภาพและข้อความอีก 2 โพสต์ นั้น มี นายวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ เบิกความว่าเป็นสมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ โดยมีเพื่อนเป็นผู้ส่งภาพมาให้ จึงไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ และพนักงานสอบสวนเบิกความว่าไม่แน่ใจว่าภาพถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้

    ประกอบกับจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า ภาพตามเอกสารพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นการถ่ายมาจากหน้าจอโทรศัพท์และภาพมีความผิดปกติ คือมีเส้นขีดสีแดง ซึ่งน่าจะมีการทำเพิ่มเติมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอีกภาพหนึ่ง ก็เป็นการนำ 2 ภาพมารวมกัน และมีการลบภาพบางส่วนออก แสดงว่าไม่ใช่ภาพต้นฉบับ ซึ่งหากถ่ายภาพจากคอมพิวเตอร์ จะปรากฏลิงค์ URL และสามารถถูกแก้ไขด้วยโปรแกรมคอมคอมพิวเตอร์ ต่างๆ ทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ยังเบิกความว่าภาพมีความผิดปกติ อาจผ่านการตัดต่อมา

    พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีพิรุธสงสัยว่ามีโพสต์ดังกล่าวอยู่ในเฟซบุ๊กจริงหรือไม่ ทั้งนี้พยานโจทก์ยังไม่อาจนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสอง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

    เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี

    หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา ได้อธิบายกับจำเลยว่าสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 1 เดือน ต่อมาตำรวจศาลพาตัวจำเลยลงไปควบคุมตัวในห้องขังใต้ถุนศาลทันที ด้านทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

    ต่อมาเวลา 11.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัยในชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันเพิ่มกึ่งหนึ่งจากหลักประกันเดิมที่เคยวางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นหลักประกันชั้นอุทธรณ์ที่วางต่อศาลจำนวน 225,000 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    จากนั้นจึงมีการรอออกหมายปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่ศาล จนพรชัยได้รับการปล่อยออกจากห้องขังเวลา 15.00 น. ทั้งนี้พรชัยยังต้องเดินทางมารายงานตัวต่อศาลจังหวัดยะลาอีกครั้งในวันที่ 16 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์คำพิพากษา

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดยะลา คดีหมายเลขดำที่ อ.52/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.885/2565 ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51538)
  • เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลจังหวัดยะลา พรชัยเดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ใน 2 ประเด็นหลัก โดยสรุปได้ว่า

    1. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นตีความขยายเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” มาพิจารณาประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลงโทษจำเลย เนื่องจากคำว่า “ละเมิดมิได้” ตามมาตรานี้ ไม่รวมถึงการติชมพระมหากษัตริย์อย่างสุจริต การตีความกฎหมายดังกล่าวของศาลขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

    การตีความของศาลเช่นนี้จะทำให้การแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เปรียบเปรยหรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้พระราชอำนาจ หรือการกระทำใดของพระมหากษัตริย์จะเป็นความผิดไปทั้งสิ้น

    2. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 นั้น จำเลยโต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตถึงการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น และไม่มีเจตนาในการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

    ++ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ชี้ “อำนาจอันละเมิดไม่ได้” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เป็นที่มาของมาตรา 112 การละเมิดกษัตริย์ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ดังนี้แม้วิพากษ์วิจารณ์ก็ผิด ต่างจากหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

    คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยใน 2 ประเด็น ได้แก่

    1. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นนำ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ มาวินิจฉัยประกอบมาตรา 112 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

    เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ส่วนมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยจำเลยเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มิได้ห้ามบุคคลวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ ห้ามเฉพาะการกล่าวโทษหรือฟ้องร้อง และมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดฐานะของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดฐานความผิดหรือบทลงโทษทางอาญา จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวพันหรือจะนำไปเชื่อมโยงกับความผิดใด ๆ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาที่จะใช้และตีความมาตรา 112 นั้น

    ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิจารณาถึงบุคคลที่ถูกกระทำคือ พระมหากษัตริย์ ซึ่งอุทธรณ์ของจำเลยก็ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสถาบันที่อยู่คู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาทุกฉบับ โดยเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญจากเนื้อหาสาระแล้ว หมายถึงกฎเกณฑ์ที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ขององค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดในรัฐต่อกันหรือต่อประชาชน เนื้อหามีทั้งรูปแบบของรัฐ ประมุขของรัฐ องค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุด รวมถึงสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นสิ่งที่รับรู้โดยทั่วไป ศาลชั้นต้นย่อมสามารถนำหลักการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุผลในคำพิพากษาได้

    เมื่อพิจารณาจากข้อวินิจฉัยที่สรุปได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ อันเป็นการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์

    ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองมิให้ผู้ใดกระทำละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง เฉกเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญกำหนดถึงสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในหมวด 3 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย…” เป็นการรับรองสิทธิของประชาชน หากมีใครทำละเมิดสิทธิดังกล่าวโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ย่อมกระทบสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

    ส่วนผู้ที่ทำละเมิดจะเป็นการทำด้วยประการใดที่ถือว่าเป็นการกระทบสิทธินั้น ผู้มีหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายต้องไปดำเนินการให้สอดคล้องกับสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญา เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดต่อชีวิต หรือทรัพย์สิน เหล่านี้เป็นการออกกฎหมายให้สอดรับกับสิทธิและหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การให้เหตุผลความสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

    2. ประเด็นว่าจำเลยมีความผิด ม.112 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำกล่าวของจำเลยเป็นการติชมโดยสุจริต

    ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จากถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยสรุปได้ว่าเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นการหาว่าพระมหากษัตริย์ปฏิบัติผิดรัฐธรรมนูญ ไม่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง การกล่าวอ้างของจำเลยทั้งหมดจึงเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดแล้ว

    ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ทำนองว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตโดยอ้างฎีกาที่ 51/2503 ลักษณะเป็นการอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตจึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดที่ 3 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบัญญัติอยู่ในลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง โดยความผิดฐานหมิ่นประมาทบัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา 326 ถึงมาตรา 333

    จากข้อวินิจฉัยข้างต้นเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้วางหลักเกณฑ์ที่จะคุ้มครองทั้งพระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยไว้ และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าวจึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครอง ซึ่งในส่วนของพระมหากษัตริย์อยู่ในลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แยกต่างหากจากความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม มาตรา 326-333

    และเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยตามรัฐธรรมนูญ การล่วงละเมิดย่อมเป็นการกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการแยกให้เห็นถึงความร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้ง เพราะเมื่อเป็นประมุขและเป็นที่เคารพสักการะ

    การละเมิดต่อองค์กษัตริย์ย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ราษฎรโดยทั่วไป อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ต่างกับการละเมิดต่อปัจเจกชน เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงมีบทบัญญัติมาตรา 333 ประมวลกฎหมายอาญาให้สามารถยอมความได้ กรณีไม่อาจนำมาตรา 326 ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
    .
    หลังจากศาลจังหวัดยะลาอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใส่กุญแจมือและควบคุมตัวจำเลยเข้าไปในห้องขังใต้ถุนศาลทันที ก่อนทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างฎีกาและศาลมีคำสั่งอนุญาต เนื่องจาก “จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี” โดยจำเลยเพิ่มวงเงินประกันจากชั้นอุทธรณ์จำนวน 112,500 บาท รวมเป็นเงินประกันทั้งหมด 337,500 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ทั้งนี้ ศาลจังหวัดยะลาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างฎีกา โดยไม่ได้ส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง ทำให้จำเลยได้รับอิสรภาพในเวลาไม่นานนักในระหว่างรอฟังคำสั่ง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีหมายเลขดำที่ อ.52/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.885/2565 ลงวันที่ 18 ก.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60331)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พรชัย วิมลศุภวงศ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พรชัย วิมลศุภวงศ์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ประเสริฐ บิลมาศ
  2. ธวัชชัย รัมณะกัจจะ
  3. อธิคม จำปา

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 15-12-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พรชัย วิมลศุภวงศ์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วรวิทย์ จิรายุกุล
  2. วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์
  3. เอนกชัย อารยะญาณ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 04-10-2023

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พรชัย วิมลศุภวงศ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์