ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1283/2565
แดง อ.1635/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.มนัสชัย อินเถื่อน รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงใหม่ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1283/2565
แดง อ.1635/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.มนัสชัย อินเถื่อน รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงใหม่

ความสำคัญของคดี

“ต้น” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 25 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุชูป้ายข้อความระหว่างเข้าร่วมคาร์ม็อบ “มินิด่วนนครพิงค์” เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 บริเวณลานประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ โดยถูกกล่าวหาว่า ข้อความในป้ายสื่อถึงรัชกาลที่ 10 และทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ต่อพงษ์ ลิ่มสกุล พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการนั่งโดยสารรถยนต์เก๋ง ซึ่งแล่นเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนตัวไปรอบถนนคูเมืองเชียงใหม่ เพื่อแสดงออกวิจารณ์ทางการเมือง และมีการชุมนุมทางการเมืองปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วได้ชูป้ายข้อความกระดาษกล่องลังสีน้ำตาล มีข้อความสื่อถึงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมืองถึงการกระทำดังกล่าว อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของชาวไทย และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนขึ้นในราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และทำให้ประเทศชาติไม่เป็นปึกแผ่นอันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1283/2565 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ “ต้น” (นามสมมติ) อายุ 25 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    เวลา 10.00 น. ร.ต.อ.นพดล ไชยนันตา พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ขณะที่ พ.ต.ท.มนัสชัย อินเถื่อน รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ผู้กล่าวหา กับพวก ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ในการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ลานประตูท่าแพ ได้รับแจ้งว่ามีรถยนต์เก๋งคันหนึ่งขับขี่มาในการชุมนุม ทราบชื่อผู้โดยสารภายหลังคือ “ต้น” ได้ชูป้ายกระดาษกล่องสีน้ำตาล เขียนข้อความโดยปากกาเมจิก ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความดังกล่าวสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ผู้กล่าวหากับพวกจึงเข้าเรียกให้รถคันดังกล่าวหยุด และแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมขอตรวจยึดป้ายดังกล่าวไว้

    จากนั้นผู้กล่าวหาได้ทำบันทึกตรวจยึดของกลาง จัดทำรายงานสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาทราบ และร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยต้นให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน ภายในวันที่ 14 ต.ค. 2564

    หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหา บัญชีตรวจยึดของกลาง บันทึกแจ้งสิทธิผู้ต้องหา และบันทึกประจำวัน พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้ปล่อยตัวไป โดยไม่ได้ควบคุมตัวต้นไว้ และจะนัดหมายให้มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนอีกครั้ง

    ก่อนหน้านี้ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ยัง มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กับเกดและยุ้ย จากการชูป้ายในคาร์ม็อบ #ด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยข้อความในป้ายมีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 14 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34978)
  • ต้นเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามนัด โดยพนักงานสอบสวนได้นำต้นพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีนี้ส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่
  • ต้นเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ตามที่พนักงานอัยการนัดหมายฟังคำสั่งในคดี เจ้าหน้าที่อัยการแจ้งว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหาตามมาตรา 112 แล้ว

    เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่อัยการได้ให้ต้นเข้าไปในห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างถูกควบคุมตัว ศาลได้สอบถามคำให้การของต้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ต้นยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจะนำสำเนาคำฟ้องมาให้ต้น

    คำฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 จำเลยได้ชูป้ายข้อความกระดาษกล่องลังสีน้ำตาล มีข้อความสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ขณะนั่งโดยสารรถยนต์เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่ลานประตูท่าแพ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

    โดยอัยการโจทก์อ้างว่า จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    ท้ายฟ้องระบุว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    หลังศาลจังหวัดเชียงใหม่รับฟ้อง ขณะทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ต้นได้ถูกควบคุมตัวที่ห้องขังใต้ถุนศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. จนถึงเวลา 16.30 น. รวมเวลาถูกควบคุมตัว 6 ชั่วโมงครึ่ง

    ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกันกับความผิดในคดีนี้อีก กำหนดนัดพร้อมในวันที่ 7 พ.ย. 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1283/2565 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48956)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ธ.ค. 2565
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องก่อนถามคำให้การ ต้นให้การปฏิเสธ โดยรับว่าได้ชูกล่องกระดาษที่มีข้อความตามฟ้องจริง แต่ข้อความดังกล่าวไม่ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง หรือระบุถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

    โจทก์มีพยานจะนำเข้าสืบ 10 ปาก ส่วนจำเลยจะสืบพยาน 3 ปาก นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3, 4 ส.ค. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 10 ส.ค. 2566
  • ก่อนเริ่มการสืบพยาน ต้นได้ตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยรายงานต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษา นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • ต้นและทนายความเดินทางมาศาล โดยมีประชาชนหนึ่งรายที่ทราบข่าวมาติดตามให้กำลังใจ ศาลนั่งพิจารณาเวลาประมาณ 09.25 น. ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลรอฟังผลด้วย

    ศาลได้อ่านเฉพาะส่วนการพิจารณาโทษของจำเลย เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิจารณาจากรายงานการสืบเสาะและคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ และเห็นว่าจำเลยสำนึกในการกระทำ เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ริบของกลาง (ป้ายข้อความ)
    .
    หลังฟังคำพิพากษา ต้นเปิดเผยว่ารู้สึกโล่งขึ้น หลังจากถูกดำเนินคดีมากว่า 2 ปี แม้ยังต้องรอว่าอัยการจะอุทธรณ์อีกหรือไม่ แต่ก็หวังว่าคดีจะสิ้นสุด ไม่ต้องลางานมาตรงนี้บ่อย ๆ

    ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2563-64 เขาไปร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่กี่ครั้ง โดยเคยไปที่ประตูท่าแพ และมาร่วมคาร์ม็อบในครั้งนี้ แต่ก็ทำให้ถูกดำเนินคดี ในตอนแรก เขาคิดว่าจะต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อคดีใช้เวลาค่อนข้างนาน และไม่อยากจะยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากเขามีภาระในการงานอยู่ ทำให้เขาต้องตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การ

    การถูกดำเนินคดี ต้นระบุว่า ทำให้เขาได้รับผลกระทบในด้านการเสียโอกาสการทำงาน โดยระหว่างถูกดำเนินคดีนี้ เขาเคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง แต่เมื่อต้องเดินทางกลับมาต่อสู้คดีบ่อยครั้ง ทำให้มีภาระค่าใช้จ่าย สุดท้าย เขาก็ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ดีกว่า นอกจากนั้น ยังมีช่วงที่เพื่อนของเขาชวนไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ไป เนื่องจากเขาเห็นว่ายังมีภาระทางคดีอยู่ ทำให้หากต้องบินกลับไปมา จะมีค่าใช้จ่ายสูง

    นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากความกังวลต่อคดีที่เกิดขึ้น ในช่วงแรก ๆ ไม่รู้ว่าคดีมันจะเป็นไปอย่างไร และจะส่งผลยังไงบ้าง แต่ดีว่าครอบครัวและคนใกล้ชิดมีความเข้าใจว่าเป็นเรื่องการแสดงออกทางการเมือง และให้กำลังใจเขา

    ก่อนหน้านี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่เคยพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ลักษณะเดียวกัน ของสองนักศึกษา “เกด” และ “ยุ้ย” ซึ่งถูกกล่าวหาจากการชูป้ายในกิจกรรมคาร์ม็อบ #ด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ก่อนหน้าคดีของต้นด้วย

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1283/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1635/2566 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60872)
  • อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ต้น” (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ต้น” (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ภิญรดา ศรีแก้วณวรรณ์
  2. วีร์ธิชา ตั้งรัตนาวลี

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 25-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์