สรุปความสำคัญ

“ชัยชนะ” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและผู้ป่วยจิตเวช อายุ 33 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ เมื่อวันที่ 5-6 ม.ค. 2564 หลัง พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เข้าแจ้งความที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้ชัยชนะต้องเดินทางไกลกว่า 1,800 กิโลเมตรจาก จ.ลำพูน เพื่อไปต่อสู้คดีที่ จ.นราธิวาส เป็นภาระอย่างมากสำหรับชัยชนะและครอบครัว

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น โดยเฉพาะกลั่นแกล้งให้ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกล

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชัยชนะ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ก.ย. 2564 ราว 08.00 น. ชัยชนะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบจำนวนแน่ชัด แต่มีรายชื่อในบันทึกจับกุมกว่า 25 นาย ทั้งจาก สภ.ลี้ และ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เข้าจับกุมตัวจากบ้านพักในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาสที่ 297/2564 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2564 ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังการจับกุมชัยชนะได้ถูกยึดโทรศัพท์มือถือไว้ และควบคุมตัวไปที่ สภ.ลี้

ตำรวจได้ระบุในบันทึกจับกุมว่า ชุดจับกุมได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ซึ่งขอปกปิดนาม เพื่อขอรับสินบนนำจับ ช่วยระบุถึงที่อยู่ของชัยชนะ ทั้งที่เป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของเขาเอง เมื่อเดินทางไปถึงตำรวจชุดจับกุมได้พบมารดาของชัยชนะ ซึ่งแจ้งว่าชัยชนะนอนหลับอยู่ จึงให้เรียกเขาออกมา ก่อนแสดงหมายจับ

ชั้นจับกุมชัยชนะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่ สภ.ลี้ เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่ในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น ตำรวจได้คุมตัวเดินทางด้วยรถตำรวจไปส่งตัวให้กับตำรวจชุดสืบสวนจาก สภ.สุไหงโก-ลก ที่เดินทางมารับผู้ต้องหาบริเวณจังหวัดนครปฐม เพื่อนำตัวไปยัง สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ห่างไปเป็นระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร

17 ก.ย. 2564 หลังจากชัยชนะถูกควบคุมตัวเดินทางถึง สภ.สุไหงโก-ลก ในช่วงเช้าตรู่ และได้พบทนายความ ร.ต.อ.วีรชัย พิเศษกุญชร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ได้เริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ

พฤติการณ์ที่ชัยชนะถูกกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 13.41 น. พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อตรงกับชัยชนะโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาในเชิงลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย จำนวนทั้งหมด 4 ข้อความ โดยมีทั้งข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ข้อความระบุว่า “ควรมิควรแล้วแต่กระโปก ว่าซั่น” พร้อมแนบข่าวเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์, ข้อความวิพากษ์วิจารณ์โครงการศาสตร์พระราชา และการแสดงความคิดเห็นข้อความใต้โพสต์ของผู้อื่น เกี่ยวกับการสั่งทหารฆ่าประชาชน

ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความทั้งหมดนำมารวมกันแล้ว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่ากษัตริย์ที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย จึงเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ชัยชนะได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับให้การเรื่องที่ตัวเขาเองมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ประเภทความพิการ 4 และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภท

หลังการสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลไม่ทัน ทำให้ชัยชนะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีก 1 คืน

จนในช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังนายชัยชนะ ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และยังต้องสอบสวนพยานอีก 4 ปาก รวมทั้งยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายชัยชนะไว้ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน โดยใช้เงินสดจำนวน 1.5 แสนบาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ชัยชนะจึงได้รับการปล่อยตัว และต้องเดินทางกลับจังหวัดลำพูนเองต่อไป

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.ลี้ ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35298)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์