ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1129/2564
แดง อ.1458/2565

ผู้กล่าวหา
  • พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1129/2564
แดง อ.1458/2565
ผู้กล่าวหา
  • พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน

ความสำคัญของคดี

“ชัยชนะ” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและผู้ป่วยจิตเวช อายุ 33 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ เมื่อวันที่ 5-6 ม.ค. 2564 หลัง พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เข้าแจ้งความที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้ชัยชนะต้องเดินทางไกลกว่า 1,800 กิโลเมตรจาก จ.ลำพูน เพื่อไปต่อสู้คดีที่ จ.นราธิวาส เป็นภาระอย่างมากสำหรับชัยชนะและครอบครัว

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น โดยเฉพาะกลั่นแกล้งให้ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกล

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ว่าที่ ร.ต.นราชัย พรธีระภัทร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายฟ้อง มีเนื้อความระบุว่า

ประเทศไทยไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า กษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องไม่ได้

จำเลยได้ทำผิดต่อกฎหมายรวม 4 กรรม โดยการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีชื่อที่คล้ายพระนามของรัชกาลที่ 10 ในโพสต์ด้วย
2. เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 โพสต์ข้อความบรรยายโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ “Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต” ซึ่งต้นโพสต์มีภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ปรากฏอยู่พร้อมข้อความถวายพระพรเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ
3. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
4. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเกี่ยวกับที่ดินและการสั่งทหารฆ่าประชาชน โดยมีการนำภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีภาพรัชกาลที่ 9 ปรากฏอยู่มาโพสต์ประกอบด้วย

ข้อความทั้งหมดเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจำเลยเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.1129/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ราว 08.00 น. ชัยชนะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบจำนวนแน่ชัด แต่มีรายชื่อในบันทึกจับกุมกว่า 25 นาย ทั้งจาก สภ.ลี้ และ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เข้าจับกุมตัวจากบ้านพักในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาสที่ 297/2564 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2564 ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังการจับกุมชัยชนะได้ถูกยึดโทรศัพท์มือถือไว้ และควบคุมตัวไปที่ สภ.ลี้

    ตำรวจได้ระบุในบันทึกจับกุมว่า ชุดจับกุมได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ซึ่งขอปกปิดนาม เพื่อขอรับสินบนนำจับ ช่วยระบุถึงที่อยู่ของชัยชนะ ทั้งที่เป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของเขาเอง เมื่อเดินทางไปถึงตำรวจชุดจับกุมได้พบมารดาของชัยชนะ ซึ่งแจ้งว่าชัยชนะนอนหลับอยู่ จึงให้เรียกเขาออกมา ก่อนแสดงหมายจับ

    ชั้นจับกุมชัยชนะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่ สภ.ลี้ เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่ในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น ตำรวจได้คุมตัวเดินทางด้วยรถตำรวจไปส่งตัวให้กับตำรวจชุดสืบสวนจาก สภ.สุไหงโก-ลก ที่เดินทางมารับผู้ต้องหาบริเวณจังหวัดนครปฐม เพื่อนำตัวไปยัง สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ห่างไปเป็นระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.ลี้ ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35298)
  • หลังจากชัยชนะถูกควบคุมตัวเดินทางถึง สภ.สุไหงโก-ลก ในช่วงเช้าตรู่ และได้พบทนายความ ร.ต.อ.วีรชัย พิเศษกุญชร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ได้เริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ

    พฤติการณ์ที่ชัยชนะถูกกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 13.41 น. พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อตรงกับชัยชนะโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาในเชิงลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย จำนวนทั้งหมด 4 ข้อความ โดยมีทั้งข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ข้อความระบุว่า “ควรมิควรแล้วแต่กระโปก ว่าซั่น” พร้อมแนบข่าวเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์, ข้อความวิพากษ์วิจารณ์โครงการศาสตร์พระราชา และการแสดงความคิดเห็นข้อความใต้โพสต์ของผู้อื่น เกี่ยวกับการสั่งทหารฆ่าประชาชน

    ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความทั้งหมดนำมารวมกันแล้ว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่ากษัตริย์ที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย จึงเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ชัยชนะได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับให้การเรื่องที่ตัวเขาเองมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ประเภทความพิการ 4 และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภท

    หลังการสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลไม่ทัน ทำให้ชัยชนะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีก 1 คืน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35298)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังชัยชนะครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ต่อศาลจังหวัดนราธิวาสผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบสวนพยานอีก 4 ปาก ทั้งยังคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

    ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังชัยชนะไว้ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน โดยใช้เงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ชัยชนะจึงได้รับการปล่อยตัว และต้องเดินทางกลับจังหวัดลำพูนเองต่อไป

    ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ยังไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อีกหลายคดี อาทิคดีของ “กัลยา” พนักงานบริษัทจากจังหวัดนนทบุรี

    ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ขอให้ตรวจสุขภาพจิตของชัยชนะ ไปยังโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้พื้นที่ซึ่งผู้ต้องหาอาศัยอยู่ เนื่องจากเขาได้ให้การเรื่องอาการจิตเภทของตน โดยมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และมีใบรับรองแพทย์ยืนยันประวัติการรักษาซึ่งยังไม่หายดี ชัยชนะจึงได้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง หลังจากเดินทางกลับจากนราธิวาส โดยต้องถูกกักตัวเฝ้าระวังโควิดอยู่ในโรงพยาบาลช่วงเวลาหนึ่งด้วย เนื่องจากเดินทางกลับมาพื้นที่เสี่ยง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนราธิวาส ลงวันที่ 18 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35298)
  • พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องชัยชนะต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่าชัยชนะได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเข้าข่ายเป็นความผิดจำนวน 4 ข้อความ ในวันที่ 5 และ 6 ม.ค. 2564

    ท้ายคำฟ้องอัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.1129/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564)
  • ชัยชนะพร้อมญาติเดินทางไปศาลเพื่อรายงานตัวตามสัญญาประกัน และรับทราบว่า อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จากนั้น ภายหลังศาลสอบคำให้การเบื้องต้น ชัยชนะและญาติได้แถลงต่อศาลถึงอาการป่วยจิตเภท มีประวัติการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลี้ และโรงพยาบาลลำพูนมาก่อน จำเลยจึงเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้

    ศาลเห็นว่าเพื่อให้ได้ความที่แน่ชัดเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 จึงให้มีหนังสือส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง โดยให้โรงพยาบาลรายงานผลตรวจและความเห็นของแพทย์กลับมาภายใน 90 วัน นับแต่วันเข้ารับการรักษา โดยศาลจะนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานภายหลังได้รับรายงานจากแพทย์แล้ว

    จากนั้น ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.1129/2564 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/42715)
  • ชัยชนะและครอบครัวเดินทางจากอำเภอลี้ ไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นครั้งที่ 4 นับจากถูกจับกุม โดยศาลได้แจ้งความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเห็นว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไป

    ฝ่ายจำเลยได้แถลงว่า ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งทนายความแล้ว แต่เนื่องจากทนายความติดว่าความที่ศาลอื่น แต่ทางจำเลยได้เตรียมคำให้การที่ประสงค์จะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยื่นต่อศาลแล้ว

    ฝ่ายจำเลยยังแจ้งต่อศาลว่า การเดินทางมาต่อสู้คดีนี้ จากจังหวัดลำพูนมายังนราธิวาส เป็นเรื่องลำบากสำหรับจำเลยอย่างยิ่ง อีกทั้งจำเลยยังมีปัญหาด้านสุขภาพ การเดินทางไกลยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่ทรุดโทรม จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้ลับหลังจำเลย และให้ทนายความที่จำเลยแต่งตั้งดำเนินการต่อสู้คดีต่อไป

    ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้เฉพาะในนัดตรวจพยานหลักฐานในครั้งต่อไป ซึ่งกำหนดนัดไว้เป็นวันที่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. แต่จำเลยยังต้องเดินทางมาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป

    ก่อนหน้านี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอโอนย้ายคดีจากศาลจังหวัดนราธิวาสไปยังศาลอาญา รัชดาฯ ในกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีและเดินทางไกล

    ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ต่อมาศาลฎีกายกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยสามารถเดินทางไปต่อสู้คดียังศาลจังหวัดนราธิวาสได้ตามปกติอยู่แล้ว อีกทั้งผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้ต่างก็พักอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนราธิวาส การต่อสู้คดีในชั้นศาลจึงยังคงต้องดำเนินต่อไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาส

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.1129/2564 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42715)
  • โจทก์และทนายจำเลยตกลงวันนัดสืบพยานในวันที่ 3-4 พ.ย. 2565
  • สืบพยานฝั่งโจทก์ได้ทั้งสิ้น 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา ภรรยาและแม่ของผู้กล่าวหา นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นักวิชาการ และพนักงานสอบสวน

    ภาพรวมการสืบพยานโจทก์ ผู้กล่าวหาเบิกความยืนยันว่า ทั้ง 4 ข้อความตามฟ้องนั้นเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มีเพียงข้อความที่ 1 เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 10 หรือพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อีกทั้งบางประเด็นผู้กล่าวหายังเบิกความไม่ตรงกับชั้นสอบสวนอีกด้วย ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นที่เหลือต่างก็เบิกความไม่สอดคล้องกัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51700)
  • ฝ่ายจำเลยสืบพยานไปได้ทั้งสิ้น 5 ปาก ได้แก่ แพทย์ผู้เคยทำการรักษาอาการทางจิตของจำเลย รวม 3 ปาก และเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ รวม 2 ปาก

    ภาพรวมการสืบพยานฝ่ายจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เบิกความว่า เอกสารหลักฐานซึ่งเป็นภาพบันทึกหน้าจอมาจากแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือ (ภาพแคปหน้าจอมือถือ) ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ได้สั่งพิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โดยตรง ไม่ปรากฏที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) และหมายเลข IP Address นอกจากนี้ทุกภาพยังผ่านการตัดต่อแก้ไขมาแล้ว ซึ่งมีจุดสังเกตหลายประการ เช่น ภาพมีกรอบสีดำ ขนาดภาพไม่ได้เป็นขนาดภาพจากการบันทึกหน้าจอโทรศัพท์ตามปกติ เป็นต้น

    ด้านแพทย์ผู้ให้การรักษาจำเลย รวม 3 ปาก จาก 3 โรงพยาบาลที่ให้การตรวจและรักษาอาการจิตเภทของจำเลย เบิกความไปในทางเดียวกันว่าจำเลยมีอาการเหม่อลอย สันโดษ หวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย เชื่อว่าตนเองสามารถติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวได้ โดยพยานทั้ง 3 ปากต่างก็วินิจฉัยตรงกันว่าจำเลยเป็น “ผู้ป่วยจิตเภท”

    หลังสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51700)
  • เวลา 09.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลออกพิจารณาคดี โดยวันนี้มีนัดหมายคดีอื่นในห้องพิจารณาเดียวกัน 3-4 คดี ชัยชนะเดินทางมาศาลล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากในพื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ฝนตกอย่างหนักติดต่อกันมาหลายคืน รวมถึงวันนี้ด้วย ส่งผลให้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ถนนบางสายจึงถูกตัดขาดไม่สามารถเดินทางผ่านไปได้

    เมื่อชัยชนะเดินทางมาถึง ทันทีที่เขาเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือทั้งสองข้างโดยทันที วันนี้ชัยชนะไม่ได้เดินทางมาพร้อมกับแม่เหมือนเช่นเคย เนื่องจากเธอต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.เชียงใหม่ เพราะล้มป่วยจากโรคกระดูกทับเส้น

    แม่ของชัยชนะจึงวานให้เพื่อนบ้านเดินทางมาดูแลชัยชนะแทน ต่อมา เวลา 10.30 น. ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลได้สั่งให้ผู้อื่นในห้องพิจารณาคดีที่ไม่ใช่คู่ความออกไปจากห้องทั้งหมด โดยอ้างว่าคดีของชัยชนะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ จากนั้นศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปว่า

    คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามฟ้องหรือไม่ จากการสืบพยานได้ข้อเท็จจริงว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดใช้รูปภาพและชื่อของจำเลยจริง แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

    ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานจำเลยได้เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลง หรือแก้ไขไปเป็นข้อมูลและหลักฐานเท็จได้ ซึ่งจำเลยได้เคยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า จำเลยมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองอยู่แล้วและได้โพสต์ข้อมูลส่วนตัวไว้ เช่น ชื่อ-สกุล ภาพถ่ายที่เห็นใบหน้า เป็นต้น

    ขณะที่จำเลยถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยมาตรวจสอบด้วย แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการเข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด

    อีกทั้งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณาคดี ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

    เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ตำรวจศาลได้ไขกุญแจมือให้ชัยชนะทันที เขาและผู้ดูแลจึงรีบเดินทางไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับ จ.ลำพูน ให้ทันรอบการเดินทางในเวลาเที่ยง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.1129/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1458/2565 ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51700)
  • โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำคุกจำเลย
  • ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต่อหน้าชัยชนะและครอบครัวที่เดินทางมาจากลำพูนเช่นทุกครั้ง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น เนื้อหาคำพิพากษามีดังนี้

    ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า พสิษฐ์เบิกความยืนยันว่า เมื่อได้รับข้อความจากเพื่อนให้เปิดดูบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว มีรูปจําเลยเป็นรูปโปรไฟล์ และพบการโพสต์ข้อความและภาพตามฟ้อง จึงสอบถามถึงตัวบุคคลที่ใช้ชื่อ นามสกุลและภาพดังกล่าว ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อนส่งภาพหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งมีชื่อและนามสกุลตรงกับชื่อจําเลย เชื่อว่าจําเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว แม้จําเลยจะเบิกความว่าบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องไม่ใช่ของจําเลย แต่ในชั้นสืบพยานจําเลย จําเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยัน ประกอบคําเบิกความของจําเลยให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

    เห็นว่า แม้จำเลยเคยเบิกความรับว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 1-2 ปี จําเลยเคยใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง แต่จําเลยปฏิเสธว่า ภาพโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ใช่บัญชีเฟซบุ๊กที่จําเลยเปิดใช้งาน จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนําพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

    ได้ความจาก ร.ต.อ.วีรชัย พิเศษกุญชร พนักงานสอบสวนว่า พยานขอตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับบัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กตามฟ้อง จากสํานักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ และเมื่อตํารวจยึดโทรศัพท์ของจําเลยเป็นของกลางไปตรวจสอบก็ไม่ปรากฏข้อมูลการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์มีเพียงภาพที่ผู้กล่าวหาแคปหน้าจอจากเฟซบุ๊กบนโทรศัพท์นํามาวางในโปรแกรมเวิร์ดแล้วพิมพ์ออกมาเท่านั้น

    ได้ความจากคําเบิกความของวรัญญูตา ยันอินทร์ นักเทคนิคคอมพิวเตอร์พยานจําเลยว่า ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือจะต้องจัดพิมพ์มาจากเว็บเบราว์เซอร์โดยตรง การแก้ไข ตัดต่อข้อความและภาพถ่ายกระทําได้ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ลําพังจากภาพโปรไฟล์และชื่อบัญชีใต้ภาพยังไม่อาจยืนยันได้ว่าบุคคลตามภาพและใช้ชื่อดังกล่าวเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่แท้จริง เนื่องจากการปลอมแปลงเฟซบุ๊กสามารถทําได้โดยง่าย

    พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.

    องค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้จัดทำคำพิพากษาประกอบด้วย ศุภชัย นารถพจนานนท์, ผจงธรณ์ วรินทรเวช และวสุพัชร์ จงเพิ่มวัฒนะผล

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีหมายเลขดำที่ มค.28/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 2317/2566 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/64849)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชัยชนะ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชัยชนะ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ภาธิณี บูรณะกิจไพบูลย์
  2. อธิรัตน์ ยงคะอักษร
  3. จิระพนธ์ วีระชาญชัย

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 21-12-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชัยชนะ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ศุภชัย นารถพจนานนท์
  2. ผจงธรณ์ วรินทรเวช
  3. วสุพัชร์ จงเพิ่มวัฒนะผล

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 15-12-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์