สรุปความสำคัญ

“ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกตำรวจ ปอท. จับกุมตามหมายจับของศาลอาญา และดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กชื่อ “John New World” ในช่วงปี 63 และ 64 พาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวม 5 โพสต์

คดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกก่อนที่จะออกหมายจับ อีกทั้งไม่ให้ก้องติดต่อทนายความ ญาติ หรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมในขณะถูกจับกุมและสอบปากคำ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 มิ.ย. 2564 อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังเป็นสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมจากห้องพักในกรุงเทพฯ ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 874/2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5)

การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปอท. โดยมีชุดจับกุมทั้งหมด 7 นาย นำโดย พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ รอง ผกก.3 บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ยังมีการนำหมายค้นออกโดยศาลอาญา เข้าตรวจค้นห้องพักของอุกฤษฏ์ ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีธนาคาร และสมุดโน้ต ก่อนจัดทำบันทึกการตรวจยึดและให้อุกฤษฏ์ลงลายมือชื่อ

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวอุกฤษฏ์ไปยัง บก.ปอท. เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวในช่วงบ่าย โดยเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อุกฤษฏ์ติดต่อใคร จึงไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาอุกฤษฏ์ว่า มาจากการโพสต์และทวิตข้อความในโลกออนไลน์ ซึ่งอุกฤษฏ์ได้ให้การรับสารภาพ โดยอุกฤษฏ์ให้ข้อมูลกับทนายความในเวลาต่อมาว่า ตนถูกพนักงานสอบสวนกล่าวกดดันและโน้มน้าวให้รับสารภาพ

ก่อนที่ในช่วงเย็นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวอุกฤษฏ์ไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยมีทนายความที่เพิ่งได้รับแจ้งเดินทางติดตามไป รวมทั้งนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพบว่าอุกฤษฏ์หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้ ก็ได้เดินทางติดตามไปยังสถานีตำรวจเช่นกัน

ช่วงเช้าของวันที่ 9 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้นำตัวอุกฤษฏ์จาก สน.ทุ่งสองห้อง กลับไปที่ บก.ปอท. เพื่อจะขอฝากขังทั้งสองคนต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม และ พ.ต.ท.พชร แสนชัยสกุลกิจ พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังอุกฤษฏ์เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

คำร้องฝากขังยังระบุถึงพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า อุกฤษฏ์ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อนามสกุลจริงของเขา โพสต์ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 รวมจำนวน 2 โพสต์ ในลักษณะใส่ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระประชวรด้วยโรคต่างๆ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อ และถูกด้อยค่าต่อประชาชน

คำร้องยังระบุด้วยว่าในการสอบสวน ผู้ต้องหา “ไม่มีและไม่ต้องการ” ให้มีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบปากคำ

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะเป็นการยากในการติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

ต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

จนเวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตามที่ขอ พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 29 ก.ค. 2564

แต่ในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างที่อุกฤษฏ์ได้รับการปล่อยตัวจาก บก.ปอท. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.บางแก้ว เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ และได้นำตัวขึ้นรถเดินทางไปยัง สภ.บางแก้ว

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30645)

ภูมิหลัง

  • อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
    นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับ "เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย" โดยจับไมค์ขึ้นปราศรัยบนเวทีอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้คาดคิด ถึง 2 คดี ใน 2 สถานีตำรวจ และถูกฟ้องใน 2 ศาล

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์